ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    วิจารณ์นิยาย

    ลำดับตอนที่ #43 : โรงเรียนแห่งผู้สืบทอด ตอน ปริศนาองค์ราชันย์ที่หายไป

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 179
      0
      12 พ.ย. 53

      

    โรงเรียนแห่งผู้สืบทอด  ของ  Li.o.Nize  นับเป็นนิยายแฟนตาซีแนวโรงเรียนเวทมนตร์ขนาดยาวอีกเรื่องหนึ่ง  ขณะนี้ยังอยู่ช่วงเปิดเรื่องในตอนแรก คือ ตอน ปริศนาองค์ราชันย์ที่หายไป   ซึ่งเพิ่งโพสไว้เพียง 13 ตอนเท่านั้น  เรื่องราวในตอนนี้เป็นการเปิดตัวคณะผู้สืบทอดคณะใหม่ทั้ง  8 คน ที่ได้รับการเลือกสรรอย่างดีจากกระจกเวท  เพื่อที่จะมารับการสอนจากเหล่าผู้สืบทอดคณะเดิมที่โรงเรียนแห่งผู้สืบทอดแห่งนี้   กับภารกิจแรกที่พวกเขาต้องกระทำสำเร็จเพื่อให้ผ่านการทดสอบก็คือ การสืบหาองค์ราชันย์ที่หายไปเมื่อ 5 ปีก่อน  และการทดสอบที่แข่งกับเวลาในครั้งนี้กำลังเริ่มต้นเปิดฉากขึ้นแล้ว

    นิยายเรื่องนี้แม้จะเปิดเรื่องคล้ายกับนิยายแฟนตาซีแนวโรงเรียนเวทมนตร์เรื่องอื่นๆ  คือการให้กลุ่มตัวเอกต้องมีเหตุให้มาเข้าเรียนในโรงเรียนผู้วิเศษ เพื่อที่จะต้องไปปฏิบัติภารกิจหรือกระทำการบางอย่างที่มีความสำคัญ  แต่  Li.o.Nize  ก็พยายามที่จะเลี่ยงการบรรยายถึงการเล่าเรียนของกลุ่มผู้สืบทอดคณะนี้อยู่ตลอดเวลา  หรือหากจำเป็นต้องเล่าก็เป็นการเล่าอย่างรวบรัดไม่ลงรายละเอียด  วิธีการดังกล่าวที่ Li.o.Nize   เลือกใช้นั้น ทางหนึ่งก็ช่วยลดความน่าเบื่อของผู้ที่อ่านงานแนวนี้ได้ เพราะไม่ต้องเสียเวลาอ่านซ้ำในเรื่องเดิมๆ ที่คุ้นเคยอยู่แล้ว โดยเฉพาะการฝึกฝนและการเล่าเรียนของกลุ่มตัวเองเหล่านี้  แต่วิธีการนี้ก็มีจุดอ่อนด้วยเช่นกัน เพราะ  Li.o.Nize  ให้รายละเอียดในส่วนนี้น้อยเกินไป  จนทำให้ผู้อ่านไม่สามารถที่จะทราบเรื่องราว ความเป็นไป  รวมไปถึงลักษณะเฉพาะและพลังพิเศษของผู้สืบทอดคณะใหม่นี้ จนสามารถที่จะแยกแยะและจดจำตัวละครแต่ละตัวเหล่านี้ได้

    ข้อด้อยเช่นนี้อาจจะเกิดเนื่องมากที่ผู้แต่งมุ่งให้ความสำคัญกับตัวละครตัวหนึ่งตัวใดมากเกินไป  จนละเลยตัวละครอื่นๆ  เมื่ออ่านจบ 13 ตอนพบว่า เฟร์เดอร์  ผู้สืบทอดแห่งจิต  นับเป็นตัวละครที่รับการกล่าวถึงมากที่สุด  ที่เป็นเช่นนั้นเพราะเขาเป็นตัวละครพิเศษที่แปลกแยกจากกลุ่ม   เขาเป็นเสมือนบุคคลภายนอกเพียงคนเดียวที่มาจากโลกมนุษย์  ในขณะที่คนอื่นๆ เป็นพลเมืองของอาณาจักรโกลคันเลน หรือไม่ก็เป็นสมาชิกของชนเผ่าปีศาจผู้ศักดิ์สิทธิ์    โดยส่วนตัวเห็นว่าการเลือกใช้เฟร์เดอร์เป็นผู้เล่าเรื่องนั้นนับว่าสมเหตุสมผล  เพราะเขาก็เปรียบเสมือนตัวแทนของผู้อ่านที่ก้าวเข้าไปในโลกใหม่ที่ไม่รู้จัก  จึงต้องศึกษา  เรียนรู้ และทำความเข้าใจกับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ นี้    แต่ผู้แต่งก็ต้องไม่ลืมว่า  ผู้อ่านก็ไม่รู้จักตัวละครอื่นๆ ในเรื่องด้วยเช่นกัน  การทำความรู้จักกับตัวละครใหม่ๆเหล่านี้ก็เหมือนกับการทำความรู้จักเพื่อนใหม่  ยิ่งเรารู้จักตัวตนของเขามากเท่าใด  ความทรงจำ ความผูกพันที่มีต่อกันก็จะเพิ่มมากขึ้น  ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้นับเป็นเสน่ห์สำคัญประการหนึ่งของการแต่งเรื่องเลยทีเดียว   ในทางกลับกัน  เมื่อใดก็ตามที่ผู้อ่านรู้สึกว่าไม่รู้จักตัวละครเหล่านี้เลยไม่ว่าด้านใด  จึงไม่แปลกที่เราจะไม่รู้สึกประทับใจหรือแทบจะไม่สามารถจดจำเรื่องราวใดของตัวละครหรือผู้สืบทอดคนอื่นๆได้เลย  ดังนั้นจึงอยากเสนอให้ผู้แต่งเพิ่มรายละเอียดเกี่ยวกับตัวละครให้มากขึ้นกว่าเพียงแค่บอกชื่อ สีผม สีตา  นิสัยบางอย่าง  และตำแหน่ง เท่านั้น  ก็จะช่วยสร้างความผูกพันระหว่างผู้อ่านกับตัวละครและเรื่อราวที่ดำเนินไปได้มากขึ้น

              นอกจากนี้ยังมีข้อผิดพลาดอีกประการที่พบก็คือ  คำผิด  ซึ่งมีจากหลายสาเหตุ  ประการแรก คือ การใช้วรรณยุกต์ผิด  เช่น  ปั๊ด เขียนเป็น ปั้ด (เดี๋ยวปั๊ด)  ส่ายหน้า เขียนเป็น สายหน้า  อ้า เขียนเป็น อ่า (เปิดอ้ากว้าง) แย่ง เขียนเป็น แย้ง  ตะไคร่น้ำ เขียนเป็น ตะไคร้น้ำ  ไร้ เขียนแป็น ไร (ร่างไร้วิญญาณ) เยื่อ เขียนเป็น เยื้อ (เนื้อเยื่อ)  คล่อง เขียนเป็น คล้อง ยืน เขียนเป็น ยื่น  ล้วง เขียนเป็น ล่วง (ล้วงมือ) นี่ เขียนเป็น นี้ (นี่อะไร) ล้อเขียนเป็น ล่อ  ประการที่สอง คือ การสะกดคำผิด ช่น นี่ค่ะ เขียนเป็น หนิค่ะ  เหรอ / หรือ เขียนเป็น หรอ เวท เขียนเป็น  เวทย์   ปรากฏ เขียนเป็น ปรากฎ คณะ  เขียนเป็น ขณะ (คณะผู้สืบทอด)  ผนัง เขียนเป็น พนัง  สบาย เขียนเป็น สะบาย  อนุญาต  เขียนเป็น  อนุญาติ  เตาผิง เขียนเป็น เตาพิง หยิบ เขียนเป็น ยิบ ครุ่นคิด เขียนเป็น คุนคิด ลักพาตัว เขียนเป็น ลับพาตัว โผล่ เขียนเป็น โพล่  ตกแต่ง เขียนเป็น ตบแต่ง และประการสุดท้าย คือ การใช้คำผิดความหมาย เช่น  ช่าง  เขียนเป็น  ชั่ง (ช่าง หมายถึง  คำกล่าวแสดงความสนสัย  คาดไม่ถึง หรือ ผู้ชำนาญในการฝีมือ หรือ ปล่อง  วางธระ และ ชั่ง หมายถึง กำทำให้รู้น้ำหนัก) ประโยค เหลียวตาไปมอง น่าจะเปลี่ยนเป็น เหลียวหน้าไปมอง (เหลียว หมายถึง เอี้ยวคอไปมอง) หรือ เหลือบตาไปมอง (เหลือบ หมายถึง ชำเลืองมอง  หรือ ชายตาดู) 

              ด้วยเนื้อหาที่เพิ่งเริ่มต้นจึงเป็นเพียงเกริ่นนำเรื่องเท่านั้น  ยังไม่ได้ดำเนินไปถึงส่วนที่เป็นเนื้อหาจริงๆ  ซึ่งทำให้มีประเด็นที่จะกล่าวถึงได้ไม่มากนัก  ในแง่นี้มีประเด็นเกี่ยวกับเนื้อเรื่องตอนที่ยังไม่ชัดเจนนัก อันก่อให้เกิดข้อสงสัยค้างคาใจ  โดยเฉพาะเรื่องของโรงเรียนแห่งผู้สืบทอดที่บรรยายว่าเพิ่งจะเปิดเป็นครั้งแรกในรอบ 100 ปี เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเกิดข้อสงสัยว่าถ้าเพิ่งจะเปิดปีนี้เป็นปีแรก  เหตุใดจึงมีนักเรียนชั้นสูงในโรงเรียนด้วย   หรือว่าผู้แต่งต้องการจะบอกเพียงว่าที่เพิ่งเปิดนั้นคือชั้นเรียนของผู้สืบทอดเท่านั้น   นอกจากนี้ยังเห็นว่าสถานที่ฝึกสอนผู้สืบทอดทั้ง 8 คนนี้ไม่จำเป็นต้องมีขนาดใหญ่ถึงกับเป็นโรงเรียนก็ได้  เพราะพวกเขาทั้ง 8 คนนี้ถึงแม้ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน  แต่ก็ผู้ที่มีห้องเรียน  อาจารย์ ห้องรับประทานอาหาร หรือแม้กระทั่งหอพักเฉพาะ  ซึ่งแยกออกมาจากนักเรียนปกติโดยสิ้นเชิง   และนักเรียนในโรงเรียนส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยมีส่วนร่วมกับกิจกรรมใดๆ ของกลุ่มผู้สืบทอดเหล่านี้เลย ขณะเดียวกัน  ฉากของโรงเรียนก็มิได้ถือว่าเป็นฉากที่สำคัญกับเรื่องสักเท่าใดด้วยเช่นกัน    เนื่องจากผู้แต่งก็ไม่ค่อยจะให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนในโรงเรียนอยู่แล้ว  จะมีแค่กล่าวถึงฉากบางฉากในโรงเรียนก็เพื่อที่จะเชื่อมโยงไปยังเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับภารกิจที่พวกเขาได้รับมอบหมายเท่านั้น เช่น  ผู้สืบทอดบางคนถูกทำร้ายตามสถานที่ต่างๆในโรงเรียน เพื่อแย่งชิงกล่องโรลอท ที่เป็นเครื่องคุ้มกันอาณาจักร ซึ่งผู้สืบทอดแต่ละคนครอบครองอยู่  หรือ การฝึกพลังที่ลานด้านนอกโรงเรียน   จากนั้นเมื่อเปิดเรื่องมาไม่นาน  พวกเขาก็ต้องเดินทางไปทำภารกิจตามที่ได้รับมอบหมายยังอาณาจักรอื่นซึ่งอยู่ภายนอกโรงเรียนอยู่ดี   จึงเห็นว่าอาจจะลดขนาดโรงเรียนลงเหลือชั้นเรียนเฉพาะกิจก็น่าจะทำได้

              ในส่วนภารกิจแรกที่ใช้ทดสอบความสามารถของผู้วิเศษนั้น  แม้ว่าจะมีความสำคัญทั้งต่อชื่อเสียง  ความน่าเชื่อถือของผู้สืบทอดชุดใหม่แล้ว  ยังมีความสำคัญต่อความมั่นคงของอาณาจักรด้วย  เพราะนอกจากจะช่วยเหลือราชันย์ที่สูญหายไปแล้ว  ยังเป็นการขัดขวางแผนการของชนเผ่าปีศาจผู้ศักดิ์สิทธิ์ผู้หวังอาศัยกล่องโรลอทมายึดครองอาณาจักรแห่งนี้ ทว่าภารกิจนี้ดูจะเกินความสามารถของพวกมือใหม่เหล่านี้ไปหรือไม่  เพราะหากพิจารณาเหตุผลแวดล้อมที่  Li.o.Nize  กำหนดจะพบว่า  พวกเขาทั้ง 8 เป็นพวกมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มฝึกวิชาได้เพียง 2 เดือน ทั้งๆที่หลักสูตรที่ต้องเรียนให้จบนั้นกินเวลานานถึง 3 ปี  เรียกได้ว่าพวกเขายังเรียนได้ไม่ถึง 1 ใน 10 ของความรู้ทั้งหมด  นี่ยังไม่ได้นับความชำนาญที่ต้องอาศัยการฝึกฝนอย่างหนักในระยะเวลาหนึ่งด้วย  แม้ว่าพวกเขาจะเป็นผู้ที่ได้การคัดสรรมาเป็นอย่างดี และเป็นบุคคลในคำทำนายที่ว่าจะสามารถปฏิบัติภารกิจนี้ได้สำเร็จ  แต่ด้วยความรู้ที่มีอยู่น้อยนิด  และข้อจำกัดในเรื่องของเวลาที่ต้องทำให้สำเร็จภายใน 15 ก่อนที่จะถึงวันพระจันทร์ทั้งสองจะเต็มดวง  จึงเกิดข้อสังสัยว่าพวกเขาจะสามารถปฏิบัติภารกิจนี้สำเร็จโดยลำพังได้อย่างไร  แม้ว่าจะบอกว่าเหล่าอาจารย์ก็พยายามสืบหาข้อมูลจากดินแดนปีศาจมาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว   เพราะศัตรูที่พวกเขาต้องเผชิญมิใช่คนธรรมดา  แต่เป็นชนเผ่าปีศาจผู้ศักดิ์สิทธิ์  ที่เป็นศัตรูตัวฉกาจของอาณาจักรแห่งนี้   ซึ่งก่อนหน้านี้กว่าที่จะเอาชนะได้ก็ต้องใช้เวลาต่อสู้กันนานกว่า  9 ปี   ประเด็นนี้นับว่ามีความน่าสนใจที่จะต้องรอดูกันต่อไปว่า  Li.o.Nize  จะพัฒนาเนื้อเรื่องเพื่ออธิบายให้ผู้อ่านคล้อยตามได้สมเหตุสมผลเพียงใด

              ในเบื้องต้นนี้ก็คงเป็นเพียงแค่เสนอให้  Li.o.Nize   ให้ใส่ใจในเรื่องความถูกต้องของการสะกดคำมากกว่านี้   ขณะเดียวกันก็ควรให้ความสนใจตัวละครอื่นๆที่นอกเหนือจาก เฟร์เดอร์ เพิ่มมากขึ้นด้วย ก็จะช่วยให้ผู้อ่านไม่รู้สึกว่าผู้สืบทอดที่เหลืออีก 7 คนถูกทอดทิ้งดังเช่นในช่วงต้นนี้ 

     

    -----------------

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×