ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    วิจารณ์นิยาย

    ลำดับตอนที่ #39 : วีวิทช์ ...ปรารถนาแห่งแม่มด

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 187
      0
      9 ส.ค. 55

    ลิงก์นิยาย http://writer.dek-d.com/snowy_cat/story/view.php?id=202282


     นิยาย  วิวิทช์ ... ปรารถนาแห่งแม่มด  ของ snowy_cat  ที่ขณะนี้โพสต์ถึงบทที่  14  แล้วนั้น  นำเสนอเรื่องราวแนวรักเศร้าๆของ โซราปิย่า  เครเตอร์ส  สาวน้อยแม่มดที่ไม่ต้องการมีชีวิตอย่างแม่มด  ขณะเดียวกันก็ปราถนาที่จะใช้ชีวิตอยู่กับชายหนุ่มที่เป็นคนธรรมดาผู้เป็นเสมือนแสงสว่างท่ามกลางความมืดของเธอ  ทว่าวิถีแห่งแม่มดกลับเป็นอุปสรรคสกัดกั้นความฝันที่ปรารถนา

    ผู้วิจารณ์ต้องยอมรับว่าถ้าไม่มีคำโปรยของผู้แต่งในตอนต้นที่สรุปเรื่องย่อทั้งหมดไว้   ก็คงยังสับสนและไม่สามารถบอกได้ว่าผู้แต่งต้องการนำเสนอเรื่องนี้ไปในทิศทางใด  ที่เป็นเช่นนี้เพราะเนื้อหาทั้ง 14 บท  ยังเพิ่งจะเสนอให้เห็นแต่เพียงการปฏิเสธวิถีแห่งแม่มดของโซราปิย่า  ซึ่งมูลเหตุของการปฏิเสธครั้งนี้ก็ไม่เกี่ยวกับชายหนุ่มคนธรรมดาที่เธอหลงรักแต่อย่างใด   หากเกิดมาจากความผิดหวังใน ซิเอโล่  เวเนฟิซ ชายหนุ่มเชื้อสายแม่มดที่เป็นรักแรกของเธอ  จึงเห็นได้ว่าแม้จะยังไม่เปิดตัวพระเอก  แต่นางเอกของเราก็ปฏิเสธชีวิตแบบแม่มดอยู่ก่อนแล้ว  อีกทั้ง ผู้แต่งยังนำเสนอโครงเรื่องรอง (sub-plot) ที่เป็นอิสระจากโครงเรื่องหลักอีกเป็นจำนวนมาก  ทั้งเรื่องราวความรักสี่เส้าระหว่าง แมทเธียส  เกรซาเบอร์  ชายหนุ่มเจ้าเสน่ห์ กับบรรดาสาวๆอีก 3 คน คือ ไอลีน โทรว (เพื่อนสาวร่วมโรงเรียน) ราเน่ (หญิงสูงศักดิ์) และ พริมอร์ (ญาติผู้น้อง)   ความพยายามของ ซิเอโล่ ที่จะปรับความเข้าใจและฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างเขาและโซราปิย่าให้กลับมาดีดังเดิม   ความพยายามของลอมที่จะชักจูงให้โซราปิย่ายอมกลับเข้ามาอยู่ท่ามกลางพวกพ้องอันเปรียบเสมือนครอบครัวของเธออีกครั้ง  หรือแม้กระทั่งคำทำนายล่าสุดที่เกี่ยวกับการไล่ล่าลอม ผู้นำสูงสุดของกลุ่มแม่มดของโซราปิย่า  ดังนั้น  หากผู้แต่งยังไม่นำเสนอโครงเรื่องหลัก (plot) ที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น  โครงเรื่องย่อยจำนวนมากที่รายล้อมเหล่านี้จะงยิ่งดึงดูดความสนใจของผู้อ่านให้ไข้วเขวไปจากโครงเรื่องหลักที่ผู้แต่งต้องการนำเสนอไปอย่างน่าเสียดาย

    ประกอบกับความกล้าๆกลัวๆของผู้แต่งในการเปิดเผยชีวิตและตัวตนที่แท้จริงของโซราปิย่าและพวกพ้องของเธอในฐานะแม่มด เพราะตลอดมานำเสนอแต่เพียงลักษณะเฉพาะบางประการของแม่มดที่ผู้อ่านจะต้องคาดเดาเอง  จากการเก็บรวมรวมเศษเสี้ยวของข้อมูลที่ผู้แต่งทิ้งไว้  เพื่อนำมาอนุมานร่วมกับประสบการณ์ส่วนตนที่เคยรับรู้เกี่ยวกับแม่มดว่า  ตัวละครตัวใดเป็นแม่มดบ้าง  เช่น แม่มดมักจะมีสัตว์รับใช้เป็นแมวสีดำที่พูดและแปลงร่างเป็นมนุษย์ได้   ขณะที่ทำพิธีมักจะมีผู้ทำพิธี 13 คน ซึ่งก่อนทำพิธีจะมีการโรยเกลือไว้โดยรอบวงพิธี และนิยมใช้เทียนสีดำ  หรือการชุมนุมของแม่มดมักจะชุมนุมกันเดือนละครั้งในวันพระจันทร์เต็มดวง  และวันฮาโลวีนก็ถือว่าเป็นวันชุมนุมที่สำคัญหนึ่งของชาวแม่มด  และยังพบอีกว่าไม่มีตอนใดเลยของเรื่องที่ผู้เขียนจะบอกไว้ว่าคนกลุ่มนี้เป็นแม่มด     ทั้งๆที่ชื่อเรื่องก็ระบุไว้อย่างชัดเจนแล้วว่าเป็นเรื่องราวของแม่มด

    นอกจากนี้  ยังมีตัวละครบางตัวที่ผู้อ่านเองก็ไม่สามารถระบุได้ว่าพวกเขาควรจะจัดอยู่ในกลุ่มใด เช่น   แมทเธียส และ พริมอร์  ที่มีลักษณะบางอย่างที่ต่างจากคนธรรมดา และพวกเขาก็ดูถูกมนุษย์ด้วยเช่นกัน   ขณะเดียวกันพวกเขาก็มีลักษณะพิเศษแหมือนกับพวกของโซราปิย่า  เช่น มีผิวขาวกว่าคนปกติ  อ่านภาษาเวทมนตร์ได้  และมีกลิ่นแห่งความมืด แต่พวกเขาก็ไม่ใช่แม่มดในกลุ่มของโซราปิย่าอีกเช่นกัน   ทั้งยังมีเกรเกอรี่  เวลส์ เด็กชายที่มองเห็นร่างที่แท้จริงของอัสโทรว่าเป็นแมว  ทั้งๆที่เขายังอยู่ในร่างมนุษย์ และมองเห็นภาพในอนาคตได้  หรือ อเล็กซาน  คาร์วาล์ด  พี่ชายของเวลส์  ผู้ที่ทำให้โซราปิย่ารู้สึกว่าเธอถูกดูดเข้าไปในความเงียบขณะที่เข้าใกล้เขา  จึงคาดหวังว่าผู้แต่งจะเฉลยให้ทราบในบทต่อๆ ไปว่าแท้ที่จริงแล้วคนกลุ่มนี้คือใคร และมีความสำคัญกับเรื่องอย่างไร

    แม้ว่าการสร้างตัวละครยังขาดความชัดเจนในบางแง่  แต่ความหลากหลายของตัวละคร  ก็นับเป็นจุดเด่นของเรื่องนี้ที่ไม่อาจปฏิเสธได้   เพราะมีทั้งตัวละครที่อยู่ในเผ่าพันธุ์แม่มด  มนุษย์ธรรมดา  รวมไปถึงสัตว์รับใช้  จะพบว่า ผู้แต่งมักจะมอบบทให้ตัวละครกลุ่มแม่มดต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่หม่นเศร้า  ต่างจากมนุษย์ธรรมดา ที่เผชิญสถานการณ์ที่นำเสนออารมณ์ได้หลากหลายกว่า  ไม่ว่าจะรัก  โกรธ  หรือริษยา  และยังมีกลุ่มสัตว์รับใช้ที่แปลงร่างเป็นมนุษย์ได้  ก็ดูจะเป็นกลุ่มตัวละครที่สร้างสีสันให้กับเรื่องได้มากทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นควี  นกฮูกขี้หลีที่ชอบหนีนายตัวเองไปจีบสาว  อัสโทร ลูกแมวหนุ่มเจ้าปัญหาที่ชอบก่อความวุ่นวายให้กับซิเอโล  หรือแม้แต่เฮจิโซ่  นกสีดำที่ชอบยั่วแหย่ แมทเธียส  ผู้เป็นเจ้านายของตน 

    การสร้างปริศนาและความลับนับเป็นกลวิธีหลักที่ผู้แต่งนิยมใช้   จะพบว่าตัวละครเกือบทุกตัวต่างก็มีความลับเฉพาะตนซ่อนอยู่  ไม่ว่าจะเป็นการแลกอิสรภาพของเฟรเดอริค  เคอเรนซ์  ด้วยการสอบเข้า โกลเดน  แกรนเจอร์ มหาวิทยาลัยอันดับต้นของประเทศ    ความสำคัญของราเน่ ที่ทำให้แมทเธียส ต้องยอมปฏิบัติตามความปรารถนาทุกอย่างของเธอ และยกย่องให้เธอเป็นใหญ่กว่าใครทั้งปวง ในฐานะราชินีแห่งความบริสุทธิ์   ในขณะเดียวกันความสำคัญของพริมอร์ต่อแมทเธียส ก็มากจนกระทั่งเป็นเหตุให้แมทเธียสทะเลาะกับราเน่ (ผู้เป็นเสมือนทุกอย่างของเขา)  และเขาเองก็ยอมรับ ถ้าไม่มีเธอ (พริมอร์)  เขาคงตายไปนานแล้ว     หรือตัวตนที่แท้จริงของเด็กหนุ่มผม

    บลอนด์ ผู้มีนัยน์ตาสีชาที่ทำให้ เจสสิกา  เจ้าของร้านกาแฟที่โซราปิย่าทำงานอยู่หลงชอบ  ทั้งยังเป็นคนเดียวกับที่ทำให้โซราปิย่าได้รับสัมผัสแปลกๆ เมื่ออยู่ใกล้เขาด้วย  หรือแม้แต่ความเป็นมาของเกรเกอรี่ เด็กน้อยผู้มองเห็นอนาคตของการไล่ล่าผู้นำของโซราปิย่า  ผู้วิจารณ์เห็นว่าการสร้างความลับและปริศนานับเป็นลูกเล่นหนึ่งที่ช่วยสร้างเรื่องให้น่าติดตามและเพิ่มความตื่นเต้นมากขึ้น  แต่ผู้แต่งก็ควรที่จะคลี่คลายความลับที่สร้างไว้บ้างเพื่อให้ผู้อ่านมีส่วนรับรู้ความลับดังกล่าวด้วย   เพราะยิ่งผู้แต่งยังกุมความลับทั้งหมดไว้กับตัวเองมากเท่าไร  ก็ยิ่งเท่ากับเป็นการกันผู้อ่านให้อยู่นอกวงมากขึ้นเท่านั้น   และยิ่งผู้แต่งยังไม่เริ่มเฉลยความลับหรือคลี่คลายปริศนาที่สร้างไว้  วันหนึ่งอาจจะทำให้ผู้อ่านเบื่อที่จะเป็นเพียงผู้เฝ้าดูอยู่ห่างๆ  จนอาจจะเลิกติดตามอ่านต่อก็เป็นไปได้  

    ยิ่งไปกว่านั้นก็ยังเห็นว่าผู้แต่งมีความพยายามที่จะคุมบรรยายกาศโดยรวมของเรื่องให้เป็นไปในทางหม่นเศร้า   เพื่อให้สอดคล้องกับแนวเรื่องที่เน้นแนวรักเศร้าๆ  นับตั้งแต่เปิดเรื่องภาพด้วยความเจ็บปวดและสูญเสีย  อีกทั้งยังสร้างให้ตัวละครส่วนใหญ่ต้องประสบชะตากรรมที่บีบให้พบกับความเศร้าและความผิดหวังจากการสูญเสีย  นับตั้งแต่โซราปิย่า  ที่ต้องพบความจริงอันน่าผิดหวัง  จนผลักดันให้เธอตัดสินใจละทิ้งทั้ง ซิเอโล่  ชายหนุ่มที่เป็นรักแรกของเธอ  และหนีจากพวกพ้องอันเปรียบประดุจครอบครัวของเธอ  เช่นเดียวกับ ซิเอโล่ ที่เสียใจกับความเย็นชาและเฉยเมยที่โซราปิย่ามอบให้  ทั้งๆที่ตลอดเวลา 5 ปีที่จากกัน  เขาเฝ้าคิดถึงเธอและสัญญาสมัยเด็กที่ผูกพันเขาไว้กับเธอตลอดมา  หรือ  ไอลีน  โทรว  ที่ถูกรุมประณามและถูกทำร้าย  เนื่องมาจากเธอหลงรัก แมทเธียส  เกรซาเบอร์  ชายหนุ่มคู่รักของท่านราเน่  ขณะที่ชิคาเล่ หัวหน้ากลุ่มแม่มดของโซราปิย่า ก็ต้องสูญเสียพ่อของเธอไปจากการที่เขาปกป้องและช่วยชีวิตผู้นำของตน  และ  การ์ชาร์ หญิงสาวที่เปรียบเสมือพี่สาวของโซราปิย่า ที่ต้องอยู่รู้สึกอ้างว้างโดดเดี่ยวเพียงลำพัง  พร้อมกับต้องต้องเผชิญกับคำประณามที่ว่า เธอเป็นลูกของฆาตกร  การคุมบรรยากาศโดยรวมของเรื่องนับว่าเป็นแนวทางการเขียนประการสำคัญประการหนึ่ง   แต่หากผู้แต่งสร้างเรื่องให้มีแต่ความเศร้ามากจนเกินไป  ก็อาจจะสร้างความอึดอัดและกดดันให้ผู้อ่านต้องเผชิญกับอารมณ์เดิมๆซ้ำอยู่ตลอดเวลา  ด้วยเหตุนี้  ผู้เขียนจึงจำเป็นต้องใช้อย่างระมัดระวังโดยคุมให้อยู่ในความพอดี ไม่ให้มากจนเกินไป

    กลวิธีหนึ่งที่ผู้แต่งนำมาช่วยสร้างบรรยากาศความเศร้าก็คือ การบรรยายเพื่อถ่ายทอดความรู้สึกภายในของตัวละครผู้ประสบชะตากรรมเหล่านั้น  ในแง่นี้ ผู้แต่งนับว่ามีความสามารถในการบรรยายในระดับหนึ่ง  เพราะถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกต่างๆ ของตัวละครได้เป็นอย่างดี  ขณะเดียวกันก็มีความระมัดระวังในการเขียนด้วย เพราะจะพบคำผิดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น   เช่น กะพริบ เขียนเป็น  กระพริบ  ประหัตประหาร เขียนเป็น  ประหัดประหาร  เวทมนตร์ เขียนเป็น เวทมนต์  และ กลิ่นอาย เขียนเป็น กลิ่นไอ 

              ลักษณะเด่นอีกประการที่พบคือ  ผู้แต่งมักจะแทรกข้อคิด  คติในการดำเนินชีวิต และมุมมองในการแก้ปัญหาไว้เป็นระยะ ซึ่งสารความคิดดังกล่าวไม่เพียงแต่เป็นเครื่องกระตุ้นเตือนและชี้แนะแนวทางให้ตัวละครเท่านั้น  แต่แง่มุมความคิดเหล่านี้ยังเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านที่สามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตของตนได้ด้วยเช่นกัน ทั้งความคิดเรื่องการตัดสินผู้อื่นว่า เราก็ไม่ควรใช้ตาของผู้อื่นมามอง แต่ควรที่จะเรียนรู้ตัวตนของคนๆ นั้นด้วยตัวของเราเอง   หรือเรื่องราวของโชคชะตาว่า บางครั้งเราไม่สามารถที่จะหนีโชคชะตาได้  แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าสุดท้ายเราจะต้องเป็นทุกข์  แต่ความทุกข์ที่เกิดขึ้นก็เนื่องมาจากที่เราคิดเองต่างหาก  ถึงแม้จะมีอุปสรรคบ้าง  แต่ถ้าผ่านพ้นไปได้  เราก็จะพบความสุขที่เราเฝ้าหามาตลอดก็เป็นได้ 

             

              ส่วนข้อบกพร่องที่พบคือ  การเปลี่ยนฉาก หรือเปลี่ยนเหตุการณ์  บางครั้งผู้แต่งบรรยายเหตุการณ์ต่างกัน 2 เหตุการณ์ต่อเนื่องกันเป็นสถานการณ์เดียว  ซึ่งก็สร้างความสับสนให้ผู้อ่านได้  เช่น  บทที่ 9 (เปิดม่าน)  ในขณะที่โซราปิย่ากำลังรับรู้ถึงสาปสางและลางร้ายเกี่ยวกับผู้บูชาความมืด  ผู้แต่งก็นำฉากเหตุการณ์เกี่ยวกับตำนานมาต่อกันไปเป็นเนื้อเดียว  ด้วยเหตุนี้กว่าที่ผู้อ่านจะรู้ว่าตำนานที่กำลังอ่านอยู่นั้น ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของเรื่องผู้บูชาความมืด  แต่เป็นเรื่องราวของละครเวทีที่กำลังแสดงอยู่  ก็ต่อเมื่ออ่านมาถึงตอนที่บรรยายว่า ม่านสีแดงค่อยๆ ปลดลง  เสียงปรบมือเริ่มดังขึ้นๆ จนก้องไปทั่วโลกละคร    เช่นเดียวกับในบทที่ 11 (เด็กหนุ่มผมบลอนด์)  เพราะขณะที่เรื่องราวกำลังบรรยายถึงความเป็นไปในร้านกาแฟของเจสสิกา  อยู่ๆผู้แต่งก็ตัดฉากไปที่การสืบหาผู้เขียนประณามไอลีนอย่างเสียหายไว้ที่หน้าเว็บของชมรมหนังสือพิมพ์  จนดูประหนึ่งว่าคนกลุ่มนี้นั่งประชุมกันในร้านกาแฟแห่งนี้  ก่อนที่จะเฉลยว่าแท้ที่จริงแล้วเรื่องราวของชมรมหนังสือพิมพ์ทั้งหมดนี้เป็นเพียงความคิดคำนึงของโซราปิย่าเกี่ยวกับการประชุมในช่วงบ่ายที่ผ่านมาเท่านั้นเอง   ผู้วิจารณ์เห็นว่าการแก้ไขในประเด็นนี้ทำได้ไม่ยากนัก  เพียงแต่เว้นระยะห่างระหว่างเหตุการณ์ให้ห่างกันมากขึ้น  ก็จะช่วยให้ผู้อ่านทราบโดยนัยว่าเรื่องกำลังจะขึ้นเหตุการณ์ใหม่ หรือฉากใหม่แล้ว

     

    ----------------------------

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×