ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    วิจารณ์นิยาย

    ลำดับตอนที่ #37 : The Manhunt Rising : เปิดตำนานคนล่าคน

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 230
      0
      9 ส.ค. 55

    ลิงก์นิยาย http://writer.dek-d.com/ChoasM/story/view.php?id=624432

               The Manhunt Rising : เปิดตำนานคนล่าคน  นับเป็นนิยายแนวฆาตกรรมระทึกขวัญเรื่องใหม่  ของ Necrodarkman ที่เพิ่งเขียนไปเพียง 6 ตอนเท่านั้น  เป็นเรื่องราวของ มากิตะ เวลเบิร์ก หนุ่มนักศึกษาแพทย์ลูกครึ่งอเมริกัน-ญี่ปุ่น  ผู้มีชีวิตวัยเด็กที่บีบคั้น จนผลักดันให้เขากลายเป็นฆาตกรต่อเนื่องในที่สุด

              นักเขียนไทยมักจะไม่ค่อยเขียนงานในแนวนี้มากเท่าใดนัก  นั่นอาจจะเป็นเพราะการนำเสนอเรื่องราวแนวนี้ให้สมจริงนับเป็นเรื่องยาก  ผู้เขียนต้องอาศัยทั้งประสบการณ์ในการอ่านหนังสือหรือดูภาพยนตร์แนวนี้มามากพอ จนสามารถที่จะมองเห็นและเข้าใจคุณสมบัติและองค์ประกอบเฉพาะของการสร้างเรื่องสไตล์นี้อย่างชัดเจน ขณะเดียวกันผู้แต่ง ก็จำเป็นต้องการศึกษาข้อมูลประกอบในด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียด เพื่อเป็นพื้นฐานในการสร้างความสมจริงให้กับเรื่องและตัวละครที่นำเสนอ   

    เมื่อ  Necrodarkman  เริ่มด้วยการเขียนงานในแนวนี้เลย  โดยที่ผู้แต่งเองก็ประกาศยอมรับไว้อย่างชัดเจนว่าเป็น แนวที่ไม่ถนัดเลย  แต่ไม่ว่าอย่างไรก็จะเขียนให้จบให้ได้ จึงไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใดเรื่อง The Manhunt Rising : เปิดตำนานคนล่าคน  จึงขาดความสมจริงในเกือบจะทุกองค์ประกอบของเรื่อง  การสร้างตัวละครเอก   ผู้วิจารณ์เห็นว่าจุดเปลี่ยนที่ผลักดันให้คนธรรมดาคนหนึ่งกลายเป็นฆาตกรโรคจิต นับเป็นองค์ประกอบประการสำคัญที่สุดของเรื่องแนวนี้   และจากภูมิหลังของเด็กชายมากิตะ เวลเบิร์ก  ไม่ได้แสดงให้เห็นแนวโน้มดังกล่าวไว้อย่างชัดเจน ว่าเมื่อเติบโตขึ้นเขาจะสามารถเปลี่ยนเป็นฆาตกรโรคจิตได้  ไม่ว่าผู้แต่งจะพยายามกำหนดสถานการณ์ให้เขากลายเป็นเหยื่อที่ถูกทำร้ายมาโดยตลอด ทั้งจากแม่  เพื่อนที่โรงเรียน เจ้าของและผู้ดูแลสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า หรือ แม้แต่เกือบจะถูกลุงยิงตาย หากป้าไม่สละชีวิตตนเองเพื่อปกป้องเขาไว้  จะเห็นได้ว่าเมื่อเรื่องยังขาดรายละเอียดที่แสดงให้เห็นถึงความกดดันและความรุนแรงที่มากิตะถูกทำร้ายอย่างต่อเนื่อง  รวมไปถึงอารมณ์  ความรู้สึกต่างๆที่เกิดขึ้นกับเขาขณะที่ถูกทำร้าย  ไม่ว่าจะเป็นความหวาดกลัว ความอับอาย  ความโกรธแค้น หรือแม้แต่ความเจ็บช้ำ  และตลอดเวลาที่ถูกทำร้าย มีเพียงครั้งเดียวที่เขาแสดงความโกรธถึงขั้นที่พร้อมที่จะฆ่าผู้ที่ทำร้ายเขา  นั่นคือ ขณะที่ถูกเพื่อนที่โรงเรียนแกล้งและคิดว่า มีครั้งหนึ่งทีผมอยากจะเอาส้อมแทงมันให้รู้แล้วรู้รอด เพราะว่ามันกับพวกจับผมแก้ผ้ากลางโรงอาหาร  ถ้าไม่ติดว่าผมต้องรีบเอาเสื้อผ้าคืน  ผมคงเอาส้อมกระซวกมันเรียงคนไปแล้ว...  ทั้งๆที่เหตุการณ์ที่น่ากระตุ้นความโกรธแค้นได้มากกว่า  น่าจะเป็นฉากที่ป้ายอมตายเพื่อปกป้องเขา  และหลังจากนั้นก็ไม่มีเหตุการณ์ตอนใดที่แสดงแนวโน้มว่ามากิตะต้องตกอยู่ในสภาพที่ถูกกดดันทางด้านจิตใจอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง ทั้งในภาวะปกติ  ในภาวะจิตใต้สำนึก หรือแม้แต่จิตไร้สำนึก จนเป็นเหตุให้เขากลายเป็นฆาตกรโรคจิตได้

    นอกจากนี้  เหตุผลแรกที่ผู้แต่งกำหนดให้มากิตะเปลี่ยนจากคนธรรมดาไปเป็นฆาตกรคือ  การป้องกันตัวเมื่อถูกลุงหลอกไปฆ่าเพื่อหวังฮุบสมบัติทั้งหมดของเขา เหตุผลนี้ยังพอจะน่าเชื่อได้   เพราะมีคนอีกเป็นจำนวนมากที่กลายเป็นฆาตกรเมื่อต้องปกป้องชีวิตของตัวเองและบุคคลอันเป็นที่รัก   แต่เมื่อผู้แต่งยกระดับการฆ่าครั้งนี้โดยเปลี่ยนจากการป้องกันตัวธรรมดา  ให้มากิตะกลายร่างเป็นฆาตกรโรคจิตเพียงแค่ได้ยินเสียงลุงกรีดร้องแสดงความเจ็บปวดและหวาดกลัว  ตั้งแต่ครั้งแรกที่เขาใช้ค้อนทุบขาเพื่อทำให้ลุงเสียหลักล้มลง    เพราะเขารู้สึกว่าเสียงที่ได้ยินนั้นเป็นเสียงดนตรีออร์เคสตราอันไพเราะที่อยากจะบรรเลงต่อไปอย่างไม่รู้จบ  ด้วยการสร้างความเจ็บปวดให้ลุงร้องต่อไปเรื่อยๆ  อาจกล่าวได้ว่าเสียงร้องนี้เองที่ปลุกเร้าสัญญาตญาณใฝ่ต่ำของเขาให้ตื่นขึ้นมา   ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ก็ไม่มีเหตุการณ์ตอนใดบ่งชี้มาก่อนเลยว่ามากิตะเป็นคนสองบุคลิก  และบุคลิกด้านดำมืดที่ซ่อนตัวอยู่นี้ชื่นชอบและหลงใหลเสียงร้องที่แสดงความหวาดกลัวและความเจ็บปวด  แม้ว่าผู้เขียนจะพยายามชี้ให้เห็นว่ามากิตะเห็นการฆ่าอยู่ทุกวันในโรงฆ่าสัตว์  จนคิดว่าการฆ่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา  แต่ในความเป็นจริง  การมองก็ไม่เหมือนกับการลงมือเชือดเอง  หากผู้เขียนปรับให้มากิตะชื่นชอบการฆ่าสัตว์ และหลงใหลเสียงกรีดร้องที่แสดงความเจ็บปวดของสัตว์ว่าเป็นเสียงที่ช่วยบำบัดหรือบรรเทาความเจ็บปวดในจิตใจของเขา  ก็พอที่จะทำให้ผู้อ่านเชื่อได้ว่า  มากิตะมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นฆาตกรโรคจิตแฝงอยู่แล้ว และรอเวลาที่จะเปิดเผยตัวตนอีกด้านหนึ่งออกมาเท่านั้นเอง   ในแง่นี้ จึงเห็นว่าเหตุผลแวดล้อมของการสร้างให้มากิตะเป็นฆาตกรโรคจิตนั้นยังอ่อนอยู่มาก     

    เช่นเดียวกับการสร้างให้มากิตะกลายเป็นฆาตกรต่อเนื่อง  (serial murderer)  ผู้วิจารณ์เห็นว่าผู้แต่งอาจจะยังขาดความจัดเจนเกี่ยวกับการสร้างตัวละครประเภทนี้   เพราะลักษณะฆาตกรต่อเนื่องของมากิตะเป็นเพียงการเพิ่มจำนวนของเหยื่อที่เขาฆ่าไปเรื่อยๆ  โดยที่เขายังไม่ได้แสดงให้เห็นถึงลักษณะเฉพาะของฆาตกรต่อเนื่อง  ที่ส่วนใหญ่จะมีสูตรหรือรูปแบบการฆ่าเฉพาะตน  จนทำให้ผู้อื่นที่รู้เห็นหรือมีส่วนเกี่ยวเนื่อง ระบุได้ว่าศพของเหยื่อเหล่านี้เป็นฝีมือของฆาตกรคนเดียวกัน  แต่มากิตะกลับเปลี่ยนวิธีการฆ่าในทุกครั้งที่ลงมือ  การฆ่าเหยื่อ 3 รายที่ผ่านมา  เขาใช้วิธีฆ่าต่างกัน  เขาฆ่าลุงโดยวิธีการชำแหละเช่นดียวกับการฆ่าสัตว์ในโรงฆ่าสัตว์  เขาฆ่าแม่โดยใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาช่วยเลือกใช้เครื่องมือในการฆ่า และฆ่าน้องสาวต่างพ่อวัยขวบเศษด้วยการนำไปใส่ไว้ในเครื่องซักผ้าที่กำลังทำงาน  ในแง่นี้ชี้ให้เห็นว่าผู้แต่งพยายามที่จะสร้างรูปแบบการฆ่าที่เน้นความทารุณโหดร้ายเพื่อสร้างความสะใจ  มากกว่าที่จะสร้างความสมจริงหรือแสดงให้เห็นชั้นเชิงหรือศิลปะฆาตกรรมของฆาตกร  ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดเด่นของเรื่องแนวนี้

    นอกจากนี้  ลักษณะเด่นอีกประการของฆาตกรต่อเนื่องส่วนใหญ่คือ  ฆาตกรมักจะมีจุดประสงค์ในการฆ่าที่ชัดเจน และจะยึดเป็นหลักประจำใจไว้ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง  เช่น  ฆาตกรจากภาพยนตร์เรื่อง SEVEN  จะฆ่าเฉพาะผู้ที่ทำผิดบาปขั้นปฐมทั้ง 7 ตามความเชื่อทางศาสนาคริสต์  หรือ ฆาตกรในเรื่อง นักฆ่าล่ากระดูก (The Bone Collector) ผลของเจฟเฟอรี่ย์  ดีเวย์  ก็จะฆ่าเพื่อสะสมกระดูกของเหยื่อ  หรือเด็กซ์เตอร์ มอร์แกน ฆาตกรต่อเนื่องจากเรื่อง หรือว่าผมฆ่า (Darkly Dreaming Dexter) ของเจฟฟ์ ลินด์เซย์ ผู้มีกฎหลักประจำใจว่า เขาฆ่าเฉพาะคนเลวเท่านั้น  แต่ในกรณีของมากิตะ   เขาเปลี่ยนจุดประสงค์ในการฆ่าอยู่ตลอดเวลา   จนมิอาจระบุว่าเหตุผลในการฆ่าที่แท้จริงของเขาได้ว่าคืออะไร  ความชอบธรรมแรกที่มากิตะกล่อมตนเองขณะที่จะลงมือฆ่าลุงคือ ทุกคนมาหาเขาก็มุ่งเอาผลประโยชน์ทั้งสิ้น  ดังนั้น เขาจะทำลายล้างทุกคนที่เข้าหาเขา  โดยเริ่มจากลุงก่อน  แต่ก่อนที่เขาจะลงมือฆ่าแม่  เขากลับเปลี่ยนจากจุดประสงค์ตั้งต้นของตนไปเป็นการปฏิญาณตนต่อพระเจ้าหลังจากที่ได้อ่านคัมภีร์ไบเบิลที่เพิ่งยืมมาจากห้องสมุดว่า ข้าจะจองล้างจองผลาญ  ผู้คนที่ไร้ซึ่งความรักและความจริงใจ  ข้าจะนำความวิบัติไปสาปส่งพวกมันจนถึงที่สุด  ตราบจนลมหายใจสุดท้ายของข้า   ต่อมาหลังจากที่แม็คเคนซ์  คลูเวอร์  ตำรวจ FBI ผู้ดูแลคดีฆาตกรรมแม่และทารกอย่างโหดร้าย (แม่และน้องสาวที่มากิตะฆ่า) ออกมาประกาศว่าจะตามจับฆาตกรมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้ได้  คำพูดของนายตำรวจผู้นี้ทำให้มากิตะปรับเปลี่ยนจุดประสงค์ในการฆ่าอีกครั้ง  เพราะเขารู้สึกว่า เมื่อโลกยังไม่เห็นถึงประโยชน์กับการกระทำของเขา  เขาก็ไม่อาจนิ่งดูดาย  เขาต้องเร่งมือพิพากษาคนชั่ว  และเปลี่ยนแปลงโลกไปสู่โลกใหม่  ที่ปราศจากศัตรูของพระเจ้า  การปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์ในการฆ่าของมากิตะเช่นนี้  ดูประหนึ่งว่าผู้แต่งพยายามจะสร้างเงื่อนไขในการฆ่าของมากิตะให้สามารถขยายวงเหยื่อให้กว้างออกไป ขณะเดียวกันก็สร้างความชอบธรรมให้กับการฆ่าของมากิตะเพิ่มขึ้น  ซึ่งต่อจากนี้ไปอาจมีแนวโน้มว่ามากิตะจะฆ่าบุคคลอื่นที่ไม่ได้เคยเป็นผู้ทำร้ายเขาในอดีตก็เป็นได้  เช่นเดียวกับที่เขาเพิ่งฆ่าน้องสาววัยขวบเศษผู้บริสุทธิ์ไปก่อนหน้านี้แล้ว   ดังนั้นจึงเห็นว่าหากผู้แต่งปูพื้นให้มากิตะเป็นผู้ที่มีศรัทธาต่อคริสต์ศาสนาอย่างแรงกล้ามาตั้งแต่ต้น   และจะมุ่งฆ่าผู้ไร้ซึ่งความรัก ขาดความจริงใจ และผู้ที่กระทำชั่ว เพื่อเปลี่ยนแปลงโลกไปสู่โลกใหม่  โดยไม่ต้องระบุว่าเขาจะฆ่าเฉพาะผู้ที่เคยทำร้ายเขามาก่อน  ก็จะช่วยแก้ปัญหาในเรื่องนี้ได้   แม้เขาจะฆ่าบุคคลอื่นที่ไม่เคยทำร้ายเขามาก่อนก็ไม่ผิดเงื่อนไขที่ตั้งไว้ด้วยเช่นกัน 

    การเลือกอเมริกาเป็นฉากสำคัญของเรื่อง  นับเป็นข้อด้อยประการสำคัญที่ส่งผลให้เรื่องนี้ขาดความสมจริงยิ่งขึ้น  ผู้วิจารณ์พบว่ามีหลายฉากที่แสดงให้เห็นว่าผู้แต่งไม่คุ้นและไม่ทราบเกี่ยวกับกฎระเบียบ และวิถีความเป็นอยู่ของชาวอเมริกันอย่างแท้จริง  จึงส่งผลให้หลายเหตุการณ์ที่นำเสนอขัดแย้งกับความเป็นจริง   เช่น  ฉากที่มากิตะสืบหาที่อยู่แม่ด้วยการโทรศัพท์ถามเจ้าหน้าที่สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าที่เขาเคยอยู่เพียงครั้งเดียวก็ได้ข้อมูลที่ต้องการอย่างครบถ้วน  โดยอ้างเพียงแค่ว่าเขาอยากรับเด็กชายมากิตะไปเลี้ยง  ก็สามารถที่จะหลอกล่อเพื่อสอบถามที่อยู่ใหม่ของแม่ได้แล้ว  ทั้งๆที่ในความเป็นจริงข้อมูลเหล่านี้ถือว่าเป็นความลับที่จะไม่เปิดเผยให้ผู้อื่นทราบง่ายๆ  เพราะแม้แต่ตำรวจที่ต้องการข้อมูลเหล่านี้ก็ยังต้องขอหมายศาลเพื่อยื่นให้เจ้าหน้าที่ประจำสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าก่อนที่จะได้ทราบข้อมูลเฉพาะเหล่านี้ได้

     เช่นเดียวกับฉากที่ลุงฆ่าป้าตาย  แม้ว่าลุงจะให้มากิตะเป็นพยานเท็จว่าเขาทำปืนลั่นไปถูกป้าขณะที่ล้างปืนก็ตาม  แต่การฆ่าคนโดยประมาทเช่นนี้ ในอเมริกาถือว่าเป็นความผิดอาญา  ซึ่งจำเลยต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม  ถึงแม้ท้ายที่สุดจะไม่ถูกตัดสินลงโทษจำคุก  แต่ก็ไม่ใช่เป็นเพียงการลงบันทึกไว้ดังที่ผู้แต่งระบุเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้  ผู้แต่งจึงควรต้องศึกษาเรื่องเกี่ยวกับคดีความหรือกฎหมายเบื้องต้นของอเมริกาเพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการสร้างความสมจริงให้กับเรื่องที่ตนแต่งด้วย

     นอกจากนี้  ฉากที่มากิตะสามารถแอบเข้าไปในบ้านใหม่ของแม่ก็ดูง่ายดายเกินไป  แม้จะบรรยายไว้ว่าแม่อาศัยอยู่ในย่านคนรวยระดับเจ้าของธรุกิจ  บ้านในละแวกนั้นไม่ต้องมีรั้วเพราะไม่มีขโมย   แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าบ้านเหล่านี้ไม่มีระบบป้องกันความปลอดภัยที่ดี  จึงยากที่จะเชื่อว่ามากิตะจะสามารถเล็ดลอดเข้าบ้านได้ง่ายดาย เพียงแค่หากุญแจสำรองที่ซ่อนไว้ใต้กระถางต้นไม้หน้าบ้านก็เปิดประตูเข้าบ้านได้เลย  เพราะจากประสบการณ์ทั้งจากการอ่านหนังสือและการชมภาพยนตร์ที่มีฉากในอเมริกา  จะเห็นอย่างชัดเจนว่าบ้านต่างๆโดยเฉพาะในย่านคนรวยจะมีระบบรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดและแน่นหนามากกว่านี้  เช่นอาจจะมีล็อกสองชั้น มีรหัสไฟฟ้าเปิดประตู  มีหมาเลี้ยงในบ้าน มีรีโมตเปิดประตูบ้านจากในรถ  ทั้งนี้คงเป็นเพราะผู้เขียนยังมีประสบการณ์น้อยและไม่สนใจความสมจริงนัก นอกจากนี้  บางย่านยังมีการเชื่อมต่อสัญญาณกันขโมยไปยังสถานีตำรวจในท้องที่ ในกรณีที่เจ้าของบ้านไม่อยู่บ้านด้วย  หรือบางแห่งก็ยังมีตำรวจสายตรวจออกลาดตระเวนดูแลความปลอดภัยให้กับบ้านในย่านธุรกิจ โดยปกติย่านธุรกิจะเป็นบ้านในเมืองซึ่งมักเป็นอพาร์ตเมนท์หรูๆมากกว่า  ดังนั้น  วิธีแก้ไขข้อบกพร่องประเด็นนี้ที่ง่ายที่สุดคือ ผู้แต่งควรสมมุติฉากของเรื่องขึ้นมาใหม่  โดยไม่จำแป็นต้องใช้สถานที่ที่มีอยู่จริง  หรือหากยังต้องการใช้สถานที่ที่มีอยู่จริง ก็จำป็นต้องศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่แห่งนั้นให้มากขึ้น  หรือเลือกใช้สถานที่ที่ตนคุ้นเคยเป็นอย่างดีแทน 

              หากตัดประเด็นข้อบกพร่องในการเขียนที่เกิดจากความไม่สันทัดกับแนวเรื่องในลักษณะนี้ออกไป  ก็พบว่าผู้แต่งฉลาดที่เลือกใช้มุมมองของบุรุษที่หนึ่ง ผม มาเป็นมุมมองหลักในการบรรยายเรื่อง  เพราะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจเหตุผล อารมณ์ และความรู้สึกต่างๆที่เกิดขึ้นกับตัวละครเอกมากิตะได้เป็นอย่างดี  ขณะเดียวกัน  ผู้แต่งก็มีความสามารถในการบรรยายและพรรณนาความ ซึ่งช่วยให้ผู้อ่านสามารถสร้างจินตภาพตามที่ตัวละครบรรยายได้ไม่ยากนัก  และคำผิดก็ไม่ค่อยพบในเรื่องมากนัก  ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจในการเขียนในระดับหนึ่ง

              ยิ่งไปกว่านั้น  ผู้แต่งยังแสดงให้เห็นถึงความเอาจริงเอาจังในการค้นข้อมูลเพื่อนำมาสร้างความน่าเชื่อถือให้กับเรื่อง  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง   ฉากที่มากิตะเข้าใจสรรพคุณและวิธีการใช้ยาและสารเคมีบางชนิดเพื่อเป็นเครื่องมือฆาตกรรม  ไม่ว่าจะเป็นการลนไฟปรอทที่อยู่บริเวณปลายเทอร์โมมิเตอร์วัดไข้ด้านหนึ่งให้แตก เพื่ออาศัยคุณสมบัติของปรอททำให้เสียงหายไปตลอดกาลเพียงแค่หยดสารปรอทเหลวเข้าไปในลำคอ  หรือการเลือกใช้ยาสลบ  Isofluane เพราะเป็นยาสลบที่ออกฤทธิ์เร็วภายใน 10-30 วินาทีหลังจากสูดดม  และมีระยะเวลาออกฤทธิ์นานถึง 4-6 ชั่วโมง  แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้แต่งไม่สามารถอธิบายได้ก็คือเหตุใดมากิตะจึงเลือกนำ PGO-vir  จำนวน 60 เม็ดใส่ไว้ในกาน้ำตั้งไฟ และนำไปกรอกปากแม่   จากข้อมูลเกี่ยวกับ PGO-vir ก็สามารถตอบข้อสงสัยได้เพียงประการเดียวว่า เหตุใดมากิตะจึงใช้ยาในปริมาณ 60 เม็ด  ก็เพราะว่าเป็นขนาดบรรจุของยา 1 ขวดเท่านั้นเอง  แต่ในสรรพคุณและข้อควรระวังของการใช้ยาก็ไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดที่ระบุถึงเกี่ยวกับการนำยาไปต้มด้วยความร้อนเลย  จะมีก็แต่คำเตือนว่าหากใช้ยาปริมาณมากจะก่อให้เกิดอันตรายกับตับและไต  และอาจจะเกิดปฏิกิริยาที่ผิวหนังแบบรุนแรงจนถึงชีวิตได้   แต่ในเมื่อมากิตะเองก็เลือกใช้ HCI  (กรดไฮโดรคลอริก) ซึ่งเป็นกรดที่มีประสิทธิภาพในการกัดกร่อนสูงมาเทราดบริเวณใบหน้าของแม่  ซึ่งน่าจะมีผลต่อผิวหนังที่รุนแรงและรวดเร็วกว่าการใช้ PGO-vir อยู่แล้ว  จึงไม่ทราบของผู้แต่งว่าเหตุผลใดที่นำ PGO-vir มาใช้ในการฆ่าครั้งนี้ 

    หาก Necrodarkman ยังคงมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเขียนงานในแนวนี้ต่อไป  ในเบื้องต้นขอแนะนำให้ศึกษาผลงานในแนวนี้เพิ่มขึ้น  เพื่อที่จะสามารถเข้าใจลักษณะเฉพาะของงานแนวนี้ก่อน   แล้วจึงนำมาปรับใช้พื่อให้เหมาะสมกับเรื่องของตนต่อไป  สำหรับผลงานในแนวนี้ที่พอนึกออกในขณะนี้ก็มีผลงานเกี่ยวกับฆาตกรรมต่อเนื่อง อย่างผลงานระดับตำนาน เรื่อง Hannibal และ Silence of the Lambs ของ โทมัส แฮร์ริส (Thomas Harris)   นอกจากนั้นยังมีนิยายเรื่อง เดอะโพเอ็ต ฆาตกรกวี (The Poet) ผลงานของ ไมเคิล  คอนเนลลี่ (Michael Connelly) รวมไปถึงเรื่องที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น ไม่ว่าจะเป็น นักฆ่าล่ากระดูก (The Bone Collector) หรือว่าผมฆ่า (Darkly Dreaming Dexter) และภาพยนตร์เรื่อง SEVEN ที่จัดว่าเป็นตำนานเช่นกัน

    --------------------------------

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×