ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    วิจารณ์นิยาย

    ลำดับตอนที่ #31 : Parallel World :: Era :: Dimension of time

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 235
      0
      10 พ.ค. 53

      

    Parallel World :: Era :: Dimension of time  นิยายแนวแฟนตาซีของ ถนนคัดเดิ้ล  ขณะนี้เขียนถึงตอนที่ 11 นิยายเรื่องนี้แปลกกว่านิยายเรื่องอื่น  เพราะช่วยกันแต่งสองคน คือ B1 และ B2 ซึ่งเหมือนกับว่าแบ่งกันเขียนคนละตอน  จึงยากที่จะทำให้เรื่องโดยองค์รวมหลอมกันได้แนบสนิทเหมือนมีผู้เขียนคนเดียว   แต่ B1 และ B2 ก็สามารถเขียนออกมารวมกันเป็นหนึ่งเดียวในนามของ ถนนคัดเดิ้ล ได้เป็นอย่างดี  เพราะเรื่องราวดำเนินไปอย่างลื่นไหล  จนไม่สะดุดใจเลยว่ามีผู้แต่งสองคน 

    นิยายแฟนตาซีเรื่องนี้เน้นที่ความลึกลับของประวัติความเป็นมาของคาเรลิน และมาการีน สองสาวฝาแฝดที่อยู่มาวันหนึ่งก็ประสบเหตุที่ทำให้พวกเธอต้องพลัดหลงไปอยู่ในดินแดนที่ไม่คุ้นเคย  แต่ทว่าดินแดนที่ไม่คุ้นเคยแห่งนี้กลับกลายเป็นสถานที่ที่กุมความลับที่ผูกพันกับประวัติความเป็นมาในอดีตและโชคชะตาของพวกเธอไว้อย่างเหนียวแน่น  ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ต้องติดตามอ่านต่อไป

    นิยายเรื่องนี้วางโครงเรื่อง (plot) ได้อย่างน่าสนใจ  เพราะผู้แต่งอาศัยความลับเป็นเครื่องกระตุ้นความสนใจผู้อ่าน   โดยสอดแทรกความลับต่างๆ ไว้เป็นระยะๆ จึงทำให้เรื่องไม่น่าเบื่อ และยังทิ้งประเด็นไว้ให้ผู้อ่านขบคิด ขณะเดียวกันก็เริ่มคลี่คลายความลับที่ทิ้งไว้บ้าง  เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้อ่านคาดเดาเหตุการณ์ต่างๆในเรื่องไปพร้อมกันด้วย  ไม่ว่าจะเป็นประวัติความเป็นมาของคาเรลินและมาการีน  ความลับของพระราชินีและพระธิดาแห่งบาลอส  ซึ่งอาจจะเกี่ยวพันกับความเป็นมาของคาเรลินและมาการีนก็ได้ หรือภารกิจของฟีเรลและฟาเรนขณะที่มาอยู่ที่บาลอส  ซึ่งความลับต่างๆก็เริ่มทวีความเข้มข้นมากขึ้น

    ขณะเดียวกัน ผู้แต่งสร้างตัวละครเอกได้อย่างโดดเด่น ตัวละครแต่ละตัวต่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตน ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างหน้าตาหรืออุปนิสัยต่างๆ  โดยเฉพาะคาเรลินกับมาการีน  แม้ว่าจะเป็นฝาแฝดเหมือนที่มีอายุห่างกันประมาณ 5 นาที  แต่ผู้แต่งกลับสร้างให้ทั้งคู่มีความต่างกันโดยสิ้นเชิง ทั้งสีตา ลักษณะนิสัยและรสนิยม  ซึ่งช่วยให้ผู้อ่านสามารถแยกตัวละครทั้งสองได้อย่างง่ายดาย

    นอกจากนี้  ผู้แต่งยังให้ความสำคัญกับบทบรรยาย  ซึ่งมีส่วนช่วยให้ผู้อ่านสามารถสร้างจินตนาการได้อย่างดีมาก ผู้แต่งบรรยายได้อย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นตัวละคร ฉาก หรือบรรยากาศต่างๆ ในเรื่อง  แต่บางครั้งก็พบว่าผู้แต่งตั้งใจมากเกินไป  จนก่อให้เกิดความลักลั่นของระดับภาษาที่เลือกมาบรรยายด้วย เช่น  กลางดึกขณะที่ศศิธรลอยเคว้งกลางท้องฟ้าผู้วิจารณ์เห็นว่าหากต้องการใช้คำว่าศศิธร ก็ควรเปลี่ยนท้องฟ้า เป็น นภากาศ หรือ ท้องนภา  แต่ถ้ายังคงใช้คำว่า ท้องฟ้า ตามเดิม ก็ควรเปลี่ยน ศศิธร เเป็น ดวงจันทร์    ที่แปลกมากคือเลือกใช้คำว่า เคว้ง ปรกติจะเป็นคำคู่คือเคว้งคว้าง ซึ่งให้ภาพที่ไม่ค่อยโรแมนติกนัก  ในกรณีที่ใช้คำว่า เคว้ง จะไม่ได้หมายถึง การลอยอยู่โดดเดี่ยว แต่หมายถึง ไร้ทิศทาง ปราศจากจุดหมาย บางประโยคก็เลือกใช้คำผิดความหมาย เช่น ฝักดาบที่ไม่เคยเผยคมคาย (คมคาย แปลว่า ท่วงท่าดี เฉียบแหลม และมีไหวพริบ มักจะใช้ขยายบุคลิกภาพของบุคคล เช่น หน้าตาคมคาย หรือ หน้าตาคมสัน หรือใช้คำว่า คมคาย เมื่อเปรียบความคิด / สำนวนโวหาร เช่น ความคิดของเขาคมคายกว่าคนอื่น  ถ้อยคำสำนวนนักเขียนคนนี้คมคายน่าสนใจ)  ควรเปลี่ยนเป็น ฝักดาบที่ไม่เคยเผยคม (คม หมายถึง บางจนบาดได้  มักใช้ขยายอาวุธ หรือใช้คู่กับ แหลม เป็นแหลมคม เมื่อเปรียบเทียบความคิด สติปัญญา )  ปัญหาก้อนโตก็คือ... ควรเปลี่ยนเป็น ปัญหาใหญ่ก็คือ...  เพราะลักษณะนามของปัญหาไม่ใช้ ก้อน และไม่ใช้คำว่าโตเป็นคำวิเศษณ์ขยาย ปัญหา ด้วย หรือ ผมสีเหลืองปะแล่มนี่ไม่ใช่คนที่นี่แน่นอน (เพราะคำว่าปะแล่มจะใช้ขยายรสชาติอาหาร เช่น หวานปะแล่มๆ หมายถึงหวานไม่มาก หวานอ่อนๆ)  ควรเปลี่ยนเป็น ผมสีออกเหลืองนี่ไม่ใช่คนที่นี่แน่นอน

    ขณะที่อ่านนั้น ผู้วิจารณ์สะดุดใจชื่อเรื่องเป็นลำดับแรก  เพราะชื่อเรื่องประกอบขึ้นจากคำ 3 คำ ที่เป็นอิสระจากกัน  คือ Parallel World   Era และ Dimension of time  (โลกคู่ขนาน ยุคสมัย - มิติเวลา)  ซึ่งทั้งสามคำนับเป็นคำสำคัญ (key word) ของเรื่อง โดยส่วนตัวเห็นว่าทั้งสามคำแม้จะมีความสำคัญอย่างไร  แต่การตั้งชื่อเรื่อง ผู้แต่งก็น่าจะเลือกคำ หรือกลุ่มคำที่สามารถที่จะสื่อความในฐานะตัวแทนของเรื่อง หรือถ้าเห็นว่าทั้งสามคำนี้ไม่อาจตัดใจทิ้งได้ก็น่าจะนำมาเรียงกันให้อยู่ในรูปของกลุ่มคำที่สามารถสื่อความได้ในระดับหนึ่ง เช่น  Era of Parallel World: Dimension of time ก็จะช่วยทำให้ชื่อเรื่องน่าสนใจ และดูเป็นชื่อเรื่องมากกว่าที่จะเอาคำสำคัญมาเรียงต่อกันเช่นนี้

    ประการต่อมาคือ  การตั้งชื่อบท  ผู้แต่งจะตั้งชื่อเป็นภาษาอังกฤษและมีคำแปลภาษาไทยประกอบ  บางบทชื่อภาษาไทยและภาษาอังกฤษมีความหมายคล้ายกัน เช่น life [not] Normal (ที่ถูกต้องน่าจะเขียนว่า [It isn’t] normal life หรือ [ab]normal life มากกว่า) /ชีวิตที่ (ไม่) ปกติ หรือ Intrusion to forbidden/สถานที่ต้องห้าม (ชื่อนี้แปลก intrusion แปลว่า การรุกราน ล่วงล้ำ forbidden แปลว่า ต้องห้าม  ชื่อนี้จึงน่าจะหมายถึงการล่วงล้ำเข้าไปในสถานที่ต้องห้าม และการใช้บุพบท to กับ forbidden ก็แปลก เพราะ forbidden เป็นคำขยาย ไม่ใช่นาม ถ้าใช้ว่า to forbidden palace  forbidden place  forbidden world ก็อาจจะเป็นไปได้)  แต่ชื่อบทส่วนใหญ่กลับมีความหมายที่ต่างกัน เช่น Sense of Melting/แลกเปลี่ยน  Elysium of both/เข้าครัว The Casual Encounter?/พลาดท่า หรือ Puzzles Person/เมื่อคาเรลินเป็นหวัด  ทั้งนี้อาจเป็นเพราะชื่อบทภาษาไทยเป็นการแปลแบบขยายความโดยอาศัยเนื้อเรื่องในบทนั้นๆ  ด้วยเหตุนี้ ผู้วิจารณ์เห็นว่าเพื่อลดความสับสนของผู้อ่าน  ผู้แต่งควรตัดสินใจให้เด็ดขาดว่าจะเลือกใช้ชื่อบทเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาไทย

                นิยายเรื่องนี้ยังมีข้อมูลผิดพลาด 2 ประการ   คือ ประการแรก  การให้คาราลีนเล็มกิ่งดอกแดฟโฟดิล และเล็มกิ่งนาซิสซัส   ความจริงแดฟโฟดิลเป็นชื่อสามัญของดอกนาซิสซัส ซึ่งเป็นชื่อเรียกในทางพฤกษศาสตร์ และต้นแดฟโฟดิลหรือนาซิสซัสนี้จะประกอบด้วยใบ (คล้ายใบหญ้าคา) และดอก  ไม่มีส่วนที่เป็นกิ่งเหมือนดอกไม้บางชนิด ซึ่งสามารถตกแต่งด้วยการเล็มกิ่งได้ ดอกไม้ในกลุ่มแดฟโฟดิล จะมีหลากหลายชนิดมากมีแตกต่างกัน เช่น Hortus Third มี 26 ชนิด (species) และ Daffodils for North American Gardens มี 50 -100 ชนิด (species)  

              ประการที่สอง คือ  เจ้าหญิงราเชลรีน่าเป็นโรคเลือดไหลไม่หยุด โดยผู้แต่งระบุว่าเป็นโรคลูคีเมียนั้น  ในความจริงโรคเลือดไหลไม่หยุดเรียกว่า ฮีโมฟีเลีย เกิดจากการที่ร่างกายขาดโปรตีนบางชนิดในเลือดจึงทำให้เลือดไม่แข็งตัว  ในขณะที่ ลูคีเมีย คือ มะเร็งเม็ดเลือดขาว เกิดมาจากความผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือด ทำให้มีการสร้างเม็ดเลือดชนิดผิดปกติขึ้นมามากเกินไป  เม็ดเลือดที่ผิดปกตินี้จะไปรบกวนการสร้างเม็ดเลือดปกติ ทำให้เม็ดเลือดดีมีน้อยลง

              นอกจากนี้ข้อมูลผิดพลาดแล้ว  นิยายเรื่องนี้ยังมีความไม่สมเหตุผลในหลายตอน เช่น แหวนของคาเรลินและสร้อยของมาการีนหายไปตั้งแต่วันแรกที่ฟื้นขึ้นมาที่ชายแดนก่อนเข้าเมืองเอธิโอเปีย  แต่เหตุใดผู้แต่งถึงให้มาการีนชวนคาเรลินไปหาของทั้งสองสิ่งที่ปราสาทด้านตะวันตกในเมืองบาลอส  เพราะหาอย่างไรก็ไม่มีทางพบ  อีกทั้งกษัตริย์เอเดรส แห่งบาลอส ทรงทราบได้อย่างไรว่าคาเรลินและมาการีนกำลังหาแหวนและสร้อยอยู่  จึงสามารถบอกได้ว่าของทั้งสองสิ่งอยู่ที่เมืองทีฟ  ทั้งๆ ที่คาเรลินและมาการีนก็ไม่เคยบอกใครว่ากำลังหาอะไรอยู่

      หรือการให้คาเรลินและมาการีน ปลอมตัวเป็นเจ้าหญิงของเอธิโอเปียแทนเจ้าหญิงราเชลรีน่า ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบถึงความสัมพันธ์ระหว่างเมือง  กษัตริย์แห่งเอธิโอเปียไม่กลัวว่าจะถูกลงโทษบ้างหรือถ้าทางบาลอสทราบความจริงว่าส่งเจ้าหญิงปลอมมาให้ และการส่งเจ้าหญิงไปบาลอสก็ไม่ได้ส่งไปเพื่อเป็นตัวประกัน แต่เป็นมาตรการรักษาความปลอดภัยให้แก่รัชทายาทของเมืองต่างๆ เหตุใดกษัตริย์เอธิโอเปียจึงส่งใครก็ไม่รู้ไปแทนพระราชธิดาของตน  ขณะเดียวกันก็ยังสงสัยต่อไปอีกว่าจะไม่มีผู้ใดรู้เรื่องของเจ้าหญิงเอธิโอเปียเลยหรือว่ามีกี่พระองค์กันแน่   เพราะเอธิโอเปียไม่ใช่เมืองเล็กๆ ที่อยู่ห่างไกลความเจริญเสียจนไม่มีผู้ใดทราบข่าวภายในเมือง  แต่เอธิโอเปียเป็นดินแดนการค้าสำคัญ  และยังเป็นเมืองพันธมิตรและดินแดนก็อยู่ติดกันน่าจะได้รับความสนใจมาก โดยเฉพาะข่าวการประสูติของเจ้าหญิง  ดังนั้นในเมืองบาลอสจะไม่มีผู้ใดสงสัยเรื่องนี้เลยหรือ  หากคนในบาลอสไม่รู้เรื่องนี้  เจ้าหญิงและเจ้าชายจากเมืองอื่นๆก็น่าจะสงสัยบ้าง 

              ยิ่งไปกว่านั้น   การที่ผู้แต่งคุ้นเคยกับความเป็นคนไทย  จนลืมไปว่าเรื่องราวในแต่งขึ้นนี้กล่าวถึงดินแดนสมมุติที่ไม่มีความเกี่ยวพันใดๆกับเมืองไทยเลย  เมื่อสอดแทรกมุกตลกที่เกี่ยวกับเมืองไทยหรือภาษาไทย ซึ่งผู้แต่งอาจเห็นว่าจะช่วยเพิ่มสีสันให้กับเรื่องและสื่อกับผู้อ่านได้  แต่มุกตลกเหล่านี้กลับก่อให้เกิดความแปลกแยกมากกว่าสร้างความขบขัน  เช่น บทที่ 2 กล่าวถึงประเพณีสงกรานต์ ในฉากที่ลินสาดน้ำแมรี่ โดยบรรยายว่า  กรี๊ดเด็กหญิงแมรี่ก้มมองสภาพที่ดูไม่ได้ของตัวเองอย่างสะอิดสะเอียน  หลังจากที่ลินคว้าถังใส่น้ำที่มีเศษฝุ่นลอยเต็มถัง  ราดใส่ร่างเจ้าหล่อนเข้าอย่างจังฉลองสงกรานต์ล่วงหน้า หรือบทที่ 9  การแปลงชื่อตัวละครบางตัวเป็นชื่อภาษาไทย เช่น โบว์เรีย แปลงเป็น บัวลอย มิเกล แปลงเป็น มันแกว และ  ชาลี แปลงเป็น ชานชลา  หรือ บทที่ 11 ที่กล่าวถึงดาวลูกไก่ ซึ่งจู่ๆผู้เขียนก็แทรกเข้ามาในเรื่อง โดยบรรยายว่า

     

    คาเรลินส่งสายตานิ่งๆแฝงความไม่เข้าใจไปทางมาการีนที่ยังชี้โบ้ชี้เบ้ไปที่เตาผิงเก่าๆนั่นเหมือนเดิม  คนถูกถามทางสายตายิ้มแป้น  ดึงแขนคาเรลินให้ลุกขึ้น  พาเดินไปที่เตาผิงใกล้ๆ  แต่เธอก็ไม่เข้าใจอยู่ดี

    ลูกเจี้ยบจะกระโดดลงกองไฟเวอร์ชั่นใหม่หรือ?

    แล้วเธอจะกลายเป็นดาวดวงที่เจ็ด  อะไรแบบนี้  แต่ว่าไฟมันมอดหมดแล้วนี่  แล้วเตาผิงนั่นก็สกปรกมากด้วย

     

              ข้อบกพร่องประการสุดท้าย คือ คำผิด  ซึ่งพบอยู่ประปราย เช่น อนุญาต เขียนเป็น อนุญาติ  กะพริบตา เขียนเป็น กระพริบตา ภูต เขียนเป็น ภูติ กฎ เขียนเป็น กฏ สนทนา เขียนเป็น สนธนา เวท เขียนเป็น เวทย์  อุตส่าห์ เขียนเป็น อุตส่า  เวทมนตร์ เขียนเป็น เวทย์มนต์  จักรพรรดิ เขียนเป็น จักรพรรดิ์  มั้ย  เขียนเป็น มั๊ย    มามี้ เขียนเป็น มามี๊  ชี้โบ๊ชี้เบ๊ เขียนเป็น  ชี้โบ้ชี้เบ้  ลูกเจี๊ยบ เขียนเป็น ลูกเจี้ยบ หรือเลือกใช้คำผิดเพราะเป็นคำที่มีความหมายคล้ายๆกัน  เช่น ราดน้ำ ควรเป็น สาดน้ำ  

              ท้ายที่สุด  ผู้วิจารณ์เห็นว่าผู้แต่งควรอ่านทวนตั้งแต่ต้นเรื่องอีกครั้งก็จะพบคำผิด และความลักลั่นในการเลือกใช้คำ  รวมทั้งความไม่สมจริงและข้อผิดพลาดบางประการที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น  ขณะนี้เรื่องเพิ่งดำเนินมาเพียงแค่ช่วงต้นเท่านั้น  จึงสามารถปรับแก้ได้ไม่ยากนัก จะช่วยให้นิยายเรื่องนี้มีความสมบูรณ์มากขึ้น

     

    --------------------

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×