ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    วิจารณ์นิยาย

    ลำดับตอนที่ #18 : หล่อโหดอย่างนาย ต้องเจอ สวยแสบอย่างฉัน

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 173
      0
      9 ส.ค. 55

    ลิงก์นิยาย http://writer.dek-d.com/kutur/story/view.php?id=489118

              งานขนาดยาวแนวสบายๆ คลายเครียดของ  ปอบจอมจุ้น  เรื่อง หล่อโหดอย่างนาย  ต้องเจอ สวยแสบอย่างฉัน  ที่ขณะนี้โพสต์ถึงตอนที่ 30 แล้ว  เรื่องนี้ยังไม่ต่างจากผลงานเรื่องอื่นในแนวนี้มากนัก  นั่นคือ ยังคงนำเสนอเรื่องราวชีวิตและความรักของเด็กนักเรียนชั้นมัธยมปลาย ซึ่งตัวเอกทั้งหญิงและชายเป็นนักเลงอันดับหนึ่งของโรงเรียน   และยังคงนำเสนอตัวละครในแบบฉบับที่ยังคงเป็นหนุ่มหล่อ  สาวสวยอยู่นั่นเอง
     

              เรื่อง หล่อโหดอย่างนาย  ต้องเจอ สวยแสบอย่างฉัน  กล่าวถึงความรักของ สึคึชิโน 
    โคยูกิ เด็กนักเรียนสาวลูกครึ่งไทยญี่ปุ่นชั้นมัธยมปลายโรงเรียนโคโดฮะ ที่แอบหลงรักทาคาฮาชิ  โนโซมิ หรือ โชยุ เด็กนักเรียนชายโรงเรียนเดียวกัน  แต่เขาปฏิเสธเมื่อเธอไปสารภาพรักขณะที่เรียนอยู่ชั้นมัธยมต้น จนเธออับอายถึงกับต้องย้ายโรงเรียนหนี  เมื่อทั้งสองได้กลับมาพบกันอีกครั้ง  โคยูกิจึงแสดงอย่างชัดเจนว่าเธอไม่ชอบโนโซมิ แม้ว่าแท้ที่จริงแล้วเธอก็ยังคงแอบหลงรักเขาอยู่ก็ตาม  ต่างจากโนโซมิที่เขากลับเป็นฝ่ายตกหลุมรักเธอเมื่อมาพบกันอีกครั้ง  จนเขาต้องสืบหาสาเหตุที่เธอไม่ชอบหน้าเขา  และได้พบความจริงว่าเธอคือผู้หญิงที่ครั้งหนึ่งเขาเคยปฏิเสธอย่างไม่มีเยื่อใย ดังนั้น  ผู้อ่านจึงต้องร่วมติดตามความรักของคนทั้งคู่ว่าจะลงเอยเช่นไร


              ผู้เขียนกำหนดให้ทั้งโนโซมิและโคยูกิเป็นนักเลงอันดับหนึ่งของโรงเรียน และสามารถนำเสนอบุคลิกลักษณะอันโดดเด่นของคนทั้งคู่ออกมาได้อย่างชัดเจน  แต่บางครั้งก็เน้นบุคลิกท่าทางเพื่อแสดงว่าโคยูกิเป็นนักเลงมากเกินไป  จนดูคล้ายว่าเธอเป็นอันธพาลมากกว่า โดยเฉพาะฉากที่โคยูกิทะเลาะกับผู้หญิงแปลกหน้าเพียงเพื่อแย่งซื้อ  super choco อันสุดท้ายที่เหลืออยู่ในร้าน  แต่บางครั้งก็กลับให้โคยูกิที่ไม่เคยเกรงกลัวใครมาโดยตลอด กลายเป็นคนยอมคนขึ้นมาอย่างไม่มีเหตุอันควร  โดยเฉพาะฉากที่ทามากิ  ผู้ซึ่งเป็นแฟนเก่าของโนโซมิ พาพวกมาดักทำร้าย  โคยูกิก็ยอมยืนเฉยๆ ปล่อยให้ตัวเองถูกรุมทำร้าย  และเมื่อถูกทามากิขู่ให้ยอมเลิกเป็นแฟนกับโนโซมิ  เธอก็ยอมตัดใจจากเขาง่ายๆ อย่างไม่น่าเชื่อ  เหตุที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะผู้เขียนต้องการสร้างอุปสรรคในเส้นทางรักที่มีแนวโน้มว่าจะสดใสของคนทั้งคู่ให้สะดุดลง  ขณะเดียวกันก็เป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะใช้เพื่อเปลี่ยนฉากของเรื่องจากประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศไทย  เพราะคำสัญญาณที่โคยูกิให้ไว้กับทามากิว่า แกไม่ต้องพูดเรื่องอะไรทั้งนั้น  เรื่องทาคาฮาชิ  ฉันสัญญาว่าหลังจากนี้จะไม่ไปยุ่งกับมันเพราะเมื่อสอบเสร็จฉันก็จะกลับไปเมืองไทยแล้ว ....

              นอกจากนี้ ผู้เขียนมักจะสร้างเหตุการณ์สำคัญๆในเรื่องระหว่างโคยูกิกับโนโซมิด้วยเหตุบังเอิญมากเกินไป  นับตั้งแต่โนโซมิมาเข้าโรงเรียนมัธยมปลายที่เดียวกับโคยูกิ  ทั้งๆที่โคยูกิก็ลาออกจากโรงเรียนเดิมเพื่อไม่ได้ต้องพบหน้าเขาอีกเป็นครั้งที่สอง  และทั้งคู่ก็เรียนอยู่ห้องเดียวกันด้วย  หรือการที่ทั้งสองเป็นลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่น และบังเอิญมีแม่เป็นคนพัทลุงเหมือนกัน  ยิ่งไปกว่านั้นยังมีความบังเอิญครั้งสำคัญที่ดูไม่น่าเป็นไปได้เลย ก็คือ  ทั้งคู่เป็นคู่หมั้นกันมาตั้งแต่เกิด  เพราะแม่ของทั้งสองเป็นเพื่อนรักกัน    โดยความเป็นจริง หากแม่เป็นเพื่อนรักกันอยู่แล้ว  และต่างก็ต้องจากบ้านเกิดมาอยู่ที่ญี่ปุ่นด้วยกัน  ก็น่าจะได้ติดต่อ  ไปมาหาสู่ และผูกสัมพันธ์สร้างความสนิทสนมระหว่างครอบครัวทั้งสอง  เพราะลูกๆ ต่างก็เป็นคู่หมั้นกันอยู่แล้ว  เมื่อโคยูกิและโนโซมิก็อยู่โรงเรียนเดียวกัน ตั้งแต่ชั้นมัธยมต้นและมัธยมปลาย บ้านของทั้งคู่ก็ไม่น่าอยู่ห่างกันมาก จะไม่เคยไปเยี่ยมเยียนกันสักครั้งเลยหรือ   

              นับเป็นความฉลาดที่ผู้เขียนเลือกถ่ายทอดเรื่องราวผ่านมุมมองของตัวละครเอก โดยให้ทั้งโคยูกิ  โนโซมิ เคตะ และ มินาซ ผลัดกันมาเล่าเหตุการณ์ในแต่ละวันของพวกเขาให้ฟัง  จึงช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจถึงอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอกต่อเหตุการณ์ต่างๆ ได้มากกว่าการถ่ายทอดผ่านสายตาของผู้เขียน  ผู้วิจารณ์ยอมรับว่าผู้เขียนสามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกได้อย่างดี  จนผู้อ่านสามารถรับรู้ได้ราวกับอยู่ร่วมในเหตุการณ์นั้นด้วย  ทว่าการนำเสนอด้วยวิธีการเช่นนี้ก็มีข้อเสียเช่นกัน  โดยเฉพาะเมื่อบทบรรยายถ่ายทอดด้วยการเล่า  ผู้เขียนจึงใช้ภาษาพูดเป็นส่วนใหญ่ในบทบรรยาย  การเขียนเช่นนี้ส่งผลให้บทบรรยายส่วนใหญ่มีลักษณะเหมือนบทสนทนามากยิ่งขึ้น  จะต่างกันก็เพียงแต่ไม่มีเครื่องหมายคำพูด (.....)กำกับเท่านั้น   ลักษณะเช่นนี้กลับยิ่งช่วยเพิ่มสัดส่วนของบทสนทนาให้มากขึ้น ทั้งๆที่ปริมาณบทสนทนาในเรื่องนี้ก็มีมากเกินไปอยู่แล้ว   เช่น สวัสดีค่าทุกคน ฉันชื่อ  สึคึชิโน่  โคยูกิ  อายุ 16 ปีค่า อยากบอกความลับน้า ^^ คือว่า ฉันเป็นลูกครึ่งไทยกะญี่ปุ่นค่ะ ^^ (ลับตรงไหนว่ะ) แม่เป็นคนไทย ส่วนป๊ะป๋าเป็นคนญี่ปุ่นค่ะ  แม่ฉันมีบ้านอยู่ที่พัทลุงค่ะ แต่ฉันไม่เคยไปหรอก (ซะเมื่อไหร่ อิอิ ^^) ฉันเกิดที่เมืองไทยแต่มาโตที่ญี่ปุ่น ก็เลยพูดภาษาไทยได้นิสสสนึงเอ๊งงงง -_- ตอนนี้นะ ฉันก็เรียนอยู่มัธยมโคโดฮะ ปีสองห้องสามค่ะ ห้องที่แสบ เฮี้ยว จนคุณครูฝ่ายปกครองต้องส่ายหน้า (และศีรษะ) ไปมา  เนื่องจากพวกเราทำดีเกินไป ^-^  ผู้เขียนควรปรับภาษาพูดในบทบรรยายเป็นภาษาเขียน ก็จะช่วยให้ผู้อ่านแยกส่วนของบทบรรยายออกจากบทสนทนาได้ชัดเจนขึ้น  
     

              ผู้วิจารณ์พบว่าลักษณะร่วมกันจนอาจกลายเป็นลักษณะเฉพาะของงานแนวนี้ที่พบบ่อยครั้ง คือ การเขียนที่เน้นความสนุกสนานด้วยการให้ตัวละครแซวตัวเอง  ตัวละครแซวกันเอง และตัวละครแซวนักเขียน  แต่วิธีการเขียนเช่นนี้ถ้าใช้บ่อยครั้งเกินไป  จนผู้อ่านสามารถจับทางผู้เขียนได้  ก็จะลดความรู้สึกสนุกสนานลง  และบางครั้งยังอาจสร้างความรำคาญให้ด้วย  โดยเฉพาะเมื่อแซวหรือเขียนออกนอกเรื่องมากเกินไป   เช่น ฉันพูดขึ้นพร้อมกับกระชากสมุดการบ้านของมินาซมาด้วยความรวดเร็วปานสายฟ้าแลบ  ทั้งที่มินาซก็ยังทำไม่เสร็จเลย นิสัยดีจริงๆ เลยฉัน ให้ตายซิ ใครสั่งใครสอนว่ะเนี่ย  ส่วนเพื่อนๆ ในห้องก็พากันตกใจเกินเหตุเพราะว่าฉันขยันเรียน (เรียกมันเป็นความภาคภูมิใจได้ไหมเนี่ย) เนื่องจากว่าฉันไม่เคยทำการบ้านเลย ถ้ามินาซไม่ทำส่งให้ฉันไม่เคยทำเลย  ผลการเรียนของฉันเลยอยู่ในระดับที่ดีเกินไปมาก ถึงมากที่สุด  ดีเท่าไหร่แล้วล่ะ  ที่เค้าไม่เชิญ (สุภาพไปมั้ง) แหะๆ ไม่ก็ได้ออกจากโรงเรียนไปน่ะ..... 

    ลักษณะที่สอง คือ การใช้อีโมติคอนจำนวนมากที่กระจายอยู่ในประโยคที่ใกล้ๆกัน   จนบางครั้งอีโมติคอนเหล่านี้ดูประหนึ่งว่าจะทำหน้าที่เป็นเครื่องหมายแสดงการจบประโยค เช่นเดียวกับเครื่องหมาย  full stop (.) ในประโยคภาษาอังกฤษ เช่น  

     

              เอ่อ  ทาคาฮาชิ เราขอคุยอะไรด้วยหน่อยได้ไหม ^///^ “

                -------------

    ผมพูดขึ้นอย่างคนอารมณ์ดี .... แต่ยัยนี่ดันเรียกตัวให้อยู่ซะงั้น _*_

    วันนี้ท่าทางเธอจะมีโชคนะ ....เดี๋ยวฉันดูดวงให้ ^^ ”

    ---------------------

    อยากได้เบอร์ฉันเหรอ วาคาบะ ^^ “

    อือ เอามาซิจะได้ดูดวงให้ แม่นด้วยนะ ขอบอก ^^”

     

    หรือ แม้ในบทบรรยายก็มีการใช้ลักษณะนี้เช่นกัน  อาทิ

     

    วันนี้ไปโรงเรียนแต่เช้าซะด้วย  สงสัยจะตื่นเต้นที่จะได้เป็นนางเอก อิอิ ^_^
    จูเลียตเชียวนะ ^O^ (ส่วนเมื่องวานที่บอกว่าจะไม่เล่นอ่ะ ปากแข็งไปอย่างนั้นเองแหละค่ะ ที่จริงดีใจเกือบตาย ^^) ......จะหลบก็ไม่ทันแล้วด้วย  Y_Y

     

    แม้ว่าอิโมติคอนเป็นการสร้างสรรค์ใหม่ของภาษาออนไลน์ที่น่าสนใจมาก  แต่ถ้าใช้มากเกินไป  ก็อาจทำให้ลดคุณภาพและความน่าสนุกของเรื่องลงได้เหมือนกัน

     

              ลักษณะที่สาม คือ  การนำเสนอเรื่องโดยอาศัยรูปแบบของบทสนทนาเป็นหลัก  งานแนวนี้ส่วนใหญ่จะมีสัดส่วนของบทสนทนาต่อบทบรรยาย ประมาณ 80 ต่อ 20 ทั้งๆที่ในความเป็นจริงการเขียนนิยายจำเป็นต้องมีสัดส่วนของบทบรรยายมากกว่าบทสนทนา หรืออย่างน้อยก็ไล่เลี่ยกัน  ในเรื่องนี้ก็เช่นกันคือมีสัดส่วนของบทสนทนามากกว่าครึ่งของเนื้อเรื่อง   และบางตอนมีแนวโน้มว่าบทสนทนาจะมีปริมาณเพิ่มมากจนเกือบถึง 90 ต่อ 10   เช่น ตอนที่ 8  ตอนที่ 12  ตอนที่ 17 ตอนที่ 21 ตอนที่ 29  เพราะแทบจะไม่มีบทบรรยายปรากฏให้เห็นเลย  

              ในแง่ของการใช้ภาษานั้น ผู้เขียนมีทักษะการใช้ภาษาอยู่ในเกณฑ์ดีทีเดียว  จึงไม่ค่อยพบคำผิดมากนัก คำผิดที่พบอยู่ประปราย เช่น เขียนคำว่า ฮะ เป็น ห๊า เหรอ เป็น หรอ  เนี้ย เป็น เนี๊ย และ กะพริบ เป็น กระพริบ ขณะเดียวกันผู้เขียนก็ไม่ค่อยมีปัญหาด้านภาษาเหมือนนักเขียนรุ่นใหม่หลายคน โดยเฉพาะความสับสนในการใช้รูปและเสียงวรรณยุกต์   ผู้วิจารณ์พบว่าส่วนใหญ่ผู้เขียนจะใช้รูปและเสียงวรรณยุกต์ได้ถูกต้อง  ในเรื่องนี้มีคำอุทาน คำสร้อยและคำสบถ อยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งมักจะไม่ได้เป็นคำที่ใช้อย่างแพร่หลายหรือคุ้นเคยกันทั่วไป คำเหล่านี้ส่วนใหญ่มักมีจะเป็นคำที่มีรูปวรรณยุกต์กำกับเสียงอยู่เสมอ ซึ่งผู้เขียนก็ใช้ได้ถูกต้อง

              ข้อสังเกตประการสุดท้ายคือ  ผู้เขียนมักจะสอดแทรกเนื้อเพลงในเนื้อเรื่อง  ทั้งให้ตัวละครร้องให้ตัวเองฟัง  ตัวละครร้องให้กันฟัง  หรือเป็นการฟังเพลง  ในบางฉากการใช้เพลงเข้ามาเป็นตัวถ่ายทอดอารมณ์ของตัวละครนั้นนับว่าน่าสนใจและสามารถที่จะส่งความรู้สึกของตัวละครมายังผู้อ่านได้ชัดเจนขึ้น  หรือการให้นางเอกร้องเพลงของนักร้องชาวใต้เป็นภาษาใต้ก็ช่วยสร้างความแปลกใหม่และเพิ่มสีสันให้กับเรื่องด้วยเช่นกัน  ทว่าการใช้เพลงในตอนต้นและตอนท้ายในบางตอนนั้น  บางครั้งก็สามารถตัดออกได้บ้าง   โดยเฉพาะตอนต้นๆ ที่ดูเหมือนว่าผู้เขียนยังไม่ทราบว่าจะใช้วิธีการใดเพื่อเปิดและปิดเรื่องในแต่ละตอน  จึงใช้เพลงเข้ามาเป็นตัวช่วย   ก็นับว่าเป็นวิธีที่น่าสนใจ แต่ต้องใช้อย่างระมัดระวังเช่นกัน

     

    -----------------------------

               

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×