ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    วิจารณ์นิยาย

    ลำดับตอนที่ #113 : Black Merchant – ลันซ่าพ่อค้าแห่งกรีนยาร์ด

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 83
      0
      11 มิ.ย. 57

    Black Merchant – ลันซ่าพ่อค้าแห่งกรีนยาร์ด
    http://writer.dek-d.com/claymask/writer/view.php?id=967329


            นวนิยายแฟนตาซีเรื่อง Black Merchant – ลันซ่าพ่อค้าแห่งกรีนยาร์ด ผลงานของ Claymark เป็นเรื่องราวชองลันซ่า พ่อค้ามืดที่มีความเป็นมาลึกลับแห่งกรีนยาร์ด  ที่ต้องเข้าไปพัวพันกับการชิงบัลลังก์ของอาณาจักรต่างๆ ในมุดโด ขณะเดียวกันก็สอดแทรกเรื่องราวความรักระหว่างลันซ่ากับแอรีส  เพื่อนสาวรู้ใจที่เติบโตมาด้วยกันตั้งแต่เด็ก และความรักระหว่างลันซ่ากับท่านหญิงแอนเดรีย  ผู้นำตระกูลลาสทรอน  ขณะนี้โพสต์ถึงตอนที่ 16

                 Black Merchant – ลันซ่าพ่อค้าแห่งกรีนยาร์ด  มีความน่าติดตามและมีมิติที่น่าสนใจ  เนื่องจากในเรื่องมิได้มีเพียงแต่โครงเรื่องหลัก (main plot) ที่เป็นเรื่องราวอดีตที่ลึกลับ และการเข้าไปพัวพันกับสงครามแย่งชิงบัลลังก์ครั้งนี้ของลันซ่าเท่านั้น  แต่ Claymark ยังได้สร้างโครงเรื่องย่อย (sub-plot)  จำนวนมากที่เกี่ยวกับตัวละครและความเป็นมาของเมืองและอาณาจักรต่างๆ ที่มีความน่าสนใจไม่แพ้กับเรื่องราวของลันซ่าไปพร้อมกันด้วย  เนื่องจากระหว่างที่ลันซ่าเดินทางไปทั่วอาณาจักร  เขาได้ติดต่อสัมพันธ์กับผู้คนเป็นจำนวนมาก  ซึ่งมีทั้งมิตรและศัตรู   ผู้อ่านจึงได้เห็นแล้วเข้าใจประวัติความเป็นมาและเรื่องราวความเป็นไปของอาณาจักรและตัวละครอื่นๆ  ที่นอกเหนือจากลันซ่า ไม่ว่าจะเป็น ความขัดแย้งระหว่างตระกูลรอบส์ กับตระกูลลาสทรอน ของ แอนเดรีย คนรักของลันซ่า   เรื่องราวของกษัตริย์ทีดอน และเจ้าชายเวอร์ดี้ แห่งกรีนยาร์ด หรือ ลูกศิษย์ทั้งสี่ของการิส พ่อค้าในตำนานที่เป็นอาจารย์ของลันซ่า  และ อาณาจักรนีมุสทิส แห่งดินแดนทางตอนใต้  ซึ่งเป็นอาณาจักรเดียวที่กษัตริย์ทีดอนไม่เคยปราบได้  หรือเรื่องราวของมังกรเทรกอน จ้าวแห่งมังกรทั้งปวง ซึ่งมีความผูกพันราชวงศ์โกล์ดเฟรม  เจ้าของ “ดวงตาสยบมังกร” ซึ่งโครงเรื่องย่อยเหล่านี้ทำหน้าที่ช่วยสนับสนุนให้โครงเรื่องหลักมีความน่าใจและน่าติดตามมากยิ่งขึ้น 

                นอกจากนี้  Claymark  ยังสามารถสร้างความน่าติดตามให้กับนวนิยายเรื่องนี้ได้อย่างน่าสนใจในหลายๆ วิธี  ไม่ว่าจะเป็นการสร้างปริศนา และ คำทำนาย เพื่อสร้างความน่าติดตามให้กับเรื่อง  เช่น ปริศนาแผนที่สมบัติเก่าที่ต้องนำผ้าคลุมทั้ง 4 ผืนที่กระจายอยู่กับทายาททั้งสี่ของตระกูลนาริสตันมาต่อกันก็จะเปิดเผยความลับของมังกรเทรกอนได้  หรือความลับที่มาของตัวละครต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ลันซ่า  โกลโด้ (เพื่อนรวมอาจารย์กับลันซ่า) และ ลูกแก้วคำทำนายของแม่เฒ่าทูเรที่ปรากฏบัลลังก์กุหลาบแห่งกรีนยาร์ด หลังจากที่ลันซ่าและเจ้าหญิงแอนเดรียจับมือกัน  การวางแผนการต่างๆ ก็นับเป็นการสร้างความน่าสนใจอีกประการให้กับเรื่อง  ทั้งการสร้างแผนการในการดำเนินการของลันซ่า เพื่อให้บรรลุจุดประสงค์ของตน   หรืออีกวิธีการหนึ่ง คือ การวางแผนกลศึกและการชิงไหวชิงพริบระหว่างอาณาจักรอยู่เป็นระยะๆ  ที่มีการวางแผนซ้อนแผนกันอยู่เสมอๆ   ยิ่งไปกว่านั้น     Claymark  ยังสร้างความน่าสนใจด้วย  การทิ้งท้ายตอนจบของเรื่องในแต่ละตอนไว้อย่างน่าสนใจ และชวนให้ติดตาม  เพราะมักจะทิ้งค้างให้ผู้อ่านอยากทราบตอนต่อไปว่าเรื่องราวหรือเหตุการณ์จะดำเนินไปในทิศทางใด

    ความโดดเด่นอีกประการในเรื่องนี้คือ   การสร้างตัวละคร  พบว่าในเรื่องมีตัวละครเป็นจำนวนมาก  แต่ทว่า Claymark  สามารถสร้างให้ตัวละครแต่ละลักษณะเด่นเฉพาะตัวและเอกลักษณ์ได้อย่างน่าสนใจ  ซึ่งช่วยให้ผู้อ่านจดจำตัวละครเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันตัวละครที่สร้างขึ้นมีการผสมผสานทั้งด้านดีและไม่ดีคละเคล้ากันไป ซึ่งหลายครั้ง Claymark ใช้เรื่องราวของตัวละครเป็นอุทาหรณ์สอนผู้อ่านได้พร้อมกันด้วย  ไม่ว่าจะเป็นการที่  โยฮัน พ่อของแอนเดรีย ยอมรับว่าเขาเสียใจที่แม่ของ
    แอนเดรียตายหลังจากคลอดเธอไม่นาน  จนเขามิอาจทำใจอยู่ใกล้ชิดกับแอนเดรียได้  แต่ท้ายที่สุดเมื่อเขาทำใจยอมรับความจริงได้ เขาก็พร้อมที่จะแก้ไขความผิดพลาดที่ตนได้ละเลยบุตรสาวไปเป็นเวลานาน   ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าตัวละครหลากหลายมิติที่สร้างขึ้นนี้ช่วยสร้างให้เรื่องราวมีความเข้มข้นและน่าติดตามมากขึ้น

    ข้อดีอีกประการของนวนิยายเรื่องนี้คือ การใช้ภาษา ซึ่ง Claymark  ใช้ภาษาได้เป็นอย่างดี  โดยเฉพาะในการสร้างบทบรรยายและบทสนทนา  ซึ่งนับเป็นหัวใจของเรื่อง  จะพบว่าในบทบรรยาย  Claymark  ก็สามารถที่จะช่วยสร้างจินตนาการให้ผู้อ่านเข้าใจถึงอาณาจักรต่างๆ ชีวิตความเป็นอยู่  และ มังกรโบราณต่างๆ   รวมทั้งเรื่องราวการต่อสู้ในสงครามครั้งต่างๆ ได้อย่างเห็นภาพต่างๆ เหล่านี้ได้  ขณะเดียวกันบทสนทนาที่สร้างขึ้น  สร้างความลื่นไหลให้กับเรื่อง และช่วยส่งให้ตัวละครและเรื่องราวมีชีวิตและมีมิติมากขึ้น  จึงช่วยสร้างให้เรื่องราวน่าติดตาม

    ด้วยกลวิธีหลากหลายที่ Claymark  เลือกมาใช้ในการสร้างเรื่อง  จึงช่วยให้นวนิยายเรื่องนี้มิได้เป็นเรื่องที่เน้นแฟนตาซีแนวผจญภัยเท่านั้น  แต่ยังเป็นการผสมผสานเข้ากับการชิงไหวชิงพริบระหว่างเมืองและอาณาจักรต่างๆ ท่ามกลางกลิ่นอายสงคราม  ขณะเดียวกันก็สอดแทรกเรื่องราวความรักของตัวละครไปได้อย่างลงตัว 

    แต่ในอีกด้านหนึ่งก็พบว่า  การที่นวนิยาเรื่องนี้มีความซับซ้อนอย่างมาก  จึงทำให้มีตัวละครมีจำนวนมาก   แม้ว่า Claymark  จะช่วยผู้อ่านด้วยการการแบ่งกลุ่มตัวละครออกเป็นกลุ่มตระกูล  แต่ก็ยังพบว่า  แต่ละตระกูลมีโครงสร้างภายในตระกูลที่ซับซ้อน   เพราะไม่ได้มีแต่เพียงตระกูลหลักเท่านั้น  ในบางตระกูลยังมีคนนอกตระกูลด้วย เช่น ตระกูลพรีเอนด์ เป็นตระกูลหลัก  ตระกูลรอง (ลูกนอกสมรส) คือ บลูซี  และในแต่ละตระกูลจะมีทหารและอัศวินคู่ใจอีกจำนวนหนึ่ง ยิ่งทำให้ปริมาณตัวละครและเรื่องราวยิ่งซับซ้อนมากขึ้นไปอีก  จึงเห็นว่า Claymark  อาจจะลดตัวละครที่ไม่จำเป็นต่อเรื่องลงบ้างก็ได้  โดยเฉพาะตัวละครบางตัวที่ออกมาช่วงสั้นๆ   ก็จะช่วยลดความสับสนให้ผู้อ่านได้ 

    แม้ว่า Claymark จะสร้างตัวละครแต่ละตัวได้อย่างมีเอกลักษณ์และช่วยให้จดจำได้ง่าย  แต่ด้วยปริมาณของตัวละครที่ค่อนข้างมากแล้ว  และเรื่องราวของแต่ละตระกูลยังมีรายละเอียดที่ซับซ้อน  ซึ่งอาจเป็นข้อด้อยที่สร้างความสับสนให้กับผู้อ่านได้  เนื่องจากพบว่าในขณะที่ Claymark เขียนเล่าถึงเรื่องราวในแต่ละตระกูลจะมีการให้รายละเอียดในเรื่องของตระกูลหลัก ที่ตั้งของตระกูล  สัญลักษณ์ประจำตระกูล  ความโดดเด่นของตระกูล  ประวัติศาสตร์และความเป็นมาของตระกูล  สมาชิกในตระกูล  และ ตระกูลย่อย  ซึ่งผู้อ่านต้องมีสมาธิในการอ่านอย่างมาก ไม่เช่นนั้นอาจะเกิดความสับสนได้ง่ายขณะที่อ่าน  (ผู้วิจารณ์ยอมรับว่าขณะนี้อ่านได้ทำแผนผังตระกูลเหล่านี้  เพื่อช่วยจำถึงจะช่วยไม่ให้สับสนได้)  อาทิ การจะจดจำตัวละครสักตัวเพื่อให้เข้าใจความซับซ้อนของเรื่อง  เช่น ท่านหญิงแอนเดรีย  ผู้อ่านต้องต้องจำให้ได้ว่าเธอเป็นลูกสาวของลอร์ดโยฮัน  เป็นคนของตระกูลลาสทรอน  เป็นผู้ปกครองลาสทรอน ซึ่งเป็นตระกูลทางเหนือของไฮแลนด์ สัญลักษณ์ประจำตระกูลคือ ค้อนและทั่ง  ทรัพยากรที่สำคัญคือ เหล็ก  หลังศึกมฤตยูเขียว รวมอาณาจักรร่วมกับพันธมิตร 2 ตระกูลคือ กับ ตระกูลพรีเอนด์ (สัญลักษณ์คือ ฉลาม ทรัพยากร เกลือ ปกครองเวสท์แลนด์)  และตระกูลกรีนยาร์ด (สัญลักษณ์คือกุหลาบ  ทรัพยากรคือ ไม้ ปกครองกรีนยาร์ด)  ซึ่งร่วมกันต่อต้าน มังกร หรือ ราชวงศ์โกล์ดเฟลม   และยังมีศัตรูคู่อาฆาตคือ รอบส์ (อินทรีย์) ที่ปกครองนาโคเปีย  ด้วยเหตุนี้  หาก Claymark  จะช่วยลดความสับสนให้ผู้อ่าน อาจจะตัดในเรื่องของสัญลักษณ์ประจำตระกูล หรือ ทรัพยากรออกไปก็ได้  และกล่าวถึงเฉพาะชื่อตระกูลอย่างเดียวก็พอ (เพราะบ่อยครั้งที่ Claymark จะใช้สลับระหว่างชื่อตระกูล กับสัญลักษณ์ของตระกูล ในการกล่าวถึงตัวละคร)  และเท่าที่สำรวจขณะนี้ก็มีจำนวนตระกูลหลักมากถึง  9 แล้ว  อันได้แก่ นาวิสตัน (หมูป่า) พรีเอนด์ (ฉลาม) รอบส์ (อินทรีย์) ลาสทรอน (ค้อนและทั่ง)  กรีนยาร์ด (กุหลาบ)  นีมุสทิส (แมลงป่องชูหางสีเหลือง)  เรดแฟรงค์ (สิงโต) โกล์ดเฟลม (มังกร) และตระกูลหมาป่า  นอกจากนี้ยังมีตระกูลเล็กๆ อีก เช่น บลาสท์ (น้ำไหลในหุบเขา)  รวมทั้งยังมีตระกูลของพวกลูกนอกสมรสอีก ไม่ว่าจะเป็น ร็อค  และ บลูซี  ทั้งนี้ยังไม่รวมพวกพ่อค้าในสมาพันธ์พ่อค้า (และสัญลักษณ์หลังผ้าคลุมพ่อค้าที่แตกต่างกันออกไป และสัญลักษณ์เหล่านั้นต่างมีความหมายในตัวเองด้วย) และอัศวินมังกร (แบ่งตามสีและเผ่าพันธุ์มังกรของตน)

    ข้อด้อยอีกประการที่ลดทอนความสมบูรณ์ของเรื่องคือ คำผิด ที่พบบ้างประปราย  จึงเห็นว่า Claymark  น่าจะกลับไปทบทวนเรื่องอีกครั้ง เพื่อแก้ไขคำผิดต่างๆ อีกครั้ง  คำผิดที่พบ เช่น พิภพ เขียนเป็น ภิภพ โสเภณี เขียนเป็น โสเพณี เหม่อลอย เขียนเป็น เหมื่อลอย  ลาดตระเวน เขียนเป็น ลาดตระเวน  เกียรติ  เขียนเป็น เกียรติ์  สังเกต  เขียนเป็น  สังเกตุ   ถาโถม เขียนเป็น ถ่าโถม  กลยุทธ์  เขียนเป็น  กลยุทธ  สังเกตการณ์ เขียนเป็น  สังเกตุการณ์  โน้ต  เขียนเป็น โน๊ส  กฎ เขียนเป็น กฏ  นายอาลักษณ์ เขียนเป็น  นายอารักษณ์ เสน่ห์  เขียนเป็น สเน่ห์  ประจัญ เขียนเป็น ประจัน ผูกพัน เขียนเป็น  ผูกพันธ์  ถนอม เขียนเป็น  ถนอน  สัญชาตญาณ เขียนเป็น สัญชาติญาณ  นานาพันธุ์ หรือ นานาพรรณ  เขียนเป็น  นานาพันธ์  ผุพัง  เขียนเป็น  ผุผัง เสบียง เขียนเป็น สเบียง  กะทันหัน  เขียนเป็น  กระทันหัน  อุปโลกน์  เขียนเป็น อุปโลก  คำนวณ เขียนเป็น คำนวน ราชันย์ เขียนเป็น ราชันต์  แบล็กร็อค เขียนเป็น  แบล๊กร๊อค  อากัปกิริยา เขียนเป็น อากับกิริยา  จอมเวท เขียนเป็น  จอมเวทย์  อนุญาต เขียนเป็น  อนุญาติ  อิสรภาพ เขียนเป็น อิสระภาพ  เวทมนตร์ เขียนเป็น เวทย์มนต์  คณิกา เขียนเป็น คนิกา  เกียรติยศ เขียนเป็น เกียรติ์ยศ ตะกละตะกลาม เขียนเป็น ตะกละตะกราม  น่าจะ เขียนเป็น หน้าจะ  คนโท เขียนเป็น คณโฑ  ปรารถนา เขียนเป็น ปราถนา  ผลุนผลัน เขียนเป็น ผลุนผัน  พาณิชย์ เขียนเป็น พานิช  ภารกิจ เขียนเป็น ภาระกิจ  อสุนี  เขียนเป็น อสุนีย์  มอดไหม้ เขียนเป็น  ม้อดไหม้  ทูต เขียนเป็น  ฑูต  และ บางครั้ง เขียนเป็น บ้างครั้ง

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×