ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    วิจารณ์นิยาย

    ลำดับตอนที่ #108 : The Woman in Black ชุดดำสยอง จ้องสิงร่าง

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 88
      0
      9 ธ.ค. 56

    The Woman in Black ชุดดำสยอง  จ้องสิงร่าง

     

                The Woman in Black ชุดดำสยอง จ้องสิงร่าง   นวนิยายแนวระทึกขวัญขนาด 29 ตอนจบ ของ Nan-a (Alice) Hwang   นำเสนอเรื่องราวของเด็กนักเรียนมัธยมปลาย 8 คน คือ อลิซ  ไรท์,  จาง  เหมยลี่,  เวโรนิก้า  เซนโคว่า,  เอมิลี่  เพจ,  แพทริก คอบป์,  ไรอัน  เฟนน์, จีโอวานี่  เซรุตติ   และ เกเบรียล  ฟิชเชอร์  ขณะที่ไปทัศนศึกษาที่เมืองซาเล็ม ซึ่งเป็นเมืองมีประวัติศาสตร์เกี่ยวกับแม่มดและการล่าแม่มดมายาวนาน  ได้เล่นวีเจอร์  บอร์ด (เกมส์กระดานที่ใช้ติดต่อกับวิญญาณคนตาย)  เมื่อเดินทางกลับมายังบ้านที่เมืองจอร์จทาว์น  ปรากฏว่าสมาชิกในกลุ่มเริ่มถูกตามล่าและถูกฆ่าไปที่ละคน โดยซาร่าห์  กู๊ดแมน  ผู้หญิงชุดดำวิญญาณอดีตแม่มดซึ่งถูกฆ่าที่เมืองซาเล็ม   ทางเดียวที่พวกเขาจะเอาชีวิตรอดจากเรื่องเหนือธรรมชาติครั้งนี้ได้ คือ การกำจัดซาร่าห์ก่อนที่จะกลายเป็นฝ่ายถูกฆ่าเสียเอง

                นวนิยายเรื่องนี้ดำเนินเรื่องได้อย่างน่าสนใจ  ละมีความโดดเด่นในเรื่องของจังหวะเวลาที่ผู้เขียนวางไว้ได้อย่างเหมาะเจาะลงตัว ในตอนต้นเรื่องซึ่งเป็นการปูเรื่องจะดำเนินไปอย่างเรื่อยๆ ไม่เร่งรีบมากนัก  แต่เมื่อเริ่มการไล่ล่าของ     ซาร่าห์จังหวะของเรื่องก็เปลี่ยนไป  โดยจะมีความสั้น  กระชั้น  กระชับไว และรวดเร็วขึ้น  ซึ่งจะสอดคล้องไปกับเนื้อเรื่องที่ทวีคามเข้มข้นและรุนแรงมากขึ้นตามเวลาที่ผ่านไป  หรือตามจำนวนเหยื่อที่ถูกกำจัด  นอกจากนี้  ผู้เขียนยังเล่นกับการใช้จังหวะเวลาในการสร้างความน่าสนใจและความน่าตื่นเต้นให้กับเรื่องด้วย  ไม่ว่าจะเป็นการทอดระยะเวลาเพื่อกระตุ้นเร้าความอยากรู้และเฝ้ารอของคนอ่าน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการจบตอนที่มักจะทิ้งเรื่องให้หยุดไว้ในจังหวะเวลาสำคัญของในแต่ละเหตุการณ์  เช่น  ความเป็นหรือความตายของตัวละคร  ขณะเดียวกันเมื่อต้องการสร้างความตื่นเต้นระทึกขวัญสั่นประสาท  โดยเฉพาะฉากการไล่ล่าที่ซาร่าห์ออกล่าเหยื่อ  เวลาและเนื้อเรื่องในช่วงนั้นก็จะสั้น  กระชับ  ทำให้ผู้อ่านร่วมลุ้นระทึกไปพร้อมๆ กับตัวละครด้วย    นอกจากนี้  ผู้เขียนยังเพิ่มความน่าติดตามให้กับเรื่อง  โดยมักจะสร้างเรื่องล่อหลอกให้ผู้อ่านหลงทางอยู่บ่อยครั้ง  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  การเล่นกันประเด็นเหยื่อที่ถูกซาร่าห์สิงจริงๆ คือใคร  ซึ่งผู้เขียนหักมุมในประเด็นนี้หลายครั้ง  จนทำให้ผู้อ่านต้องตามอ่านจนถึงบรรทัดเกือบสุดท้ายก่อนจบจริงๆ  ผู้เขียนถึงจะเฉลยว่า  เหยื่อที่ซาร่าห์หมายตาไว้ตั้งแต่แรก  แท้ที่จริงแล้วใคร

    แม้ว่านวนิยายเรื่องนี้จะเป็นแนวระทึกขวัญ  แต่ผู้เขียนก็ไม่ได้มุ่งเน้นให้ตัวละครและผู้อ่านต้องอยู่ในสภาวะที่ตึงเครียด  สั่นประสาท  และหวาดผวาวิญญาณของซาร่าห์เพียงอย่างเดียว  แต่ในเรื่องยังสอดแทรกอารมณ์ต่างๆ คละเคล้ากันไปอย่างหลากหลาย  ทั้งมิตรภาพของเพื่อน  ความรักระหว่างคู่รัก  ความรักของพ่อแม่  ความรู้สึกผิด  ความเศร้าเสียใจ  ความกลัว ความโกรธ  และบางครั้งยังแทรกมุขตลกไว้ด้วย  นับว่าเป็นนวนิยายที่ครบรสเรื่องหนึ่ง   

      The Woman in Black ชุดดำสยอง จ้องสิงร่าง   นับเป็นนวนิยายที่ดำเนินตามเค้าโครงของภาพยนตร์สยองขวัญของฮอลลีวูด  ที่เน้นความสยดสยองในการฆ่าของวิญญาณแค้นในการฆ่าเหยื่อผู้บริสุทธิ์ที่มักจะทวีความรุนแรงมากขึ้น  ในเรื่องอาจกล่าวได้ว่า  ผู้เขียนได้นำวิธีการฆ่าเหยื่ออย่างสุดสยอง (ที่มักพบในเรื่องราวสยองขวัญต่างๆ) มารวบรวมไว้   ทั้งการให้รถบรรทุกชนจนอวัยวะภายในไหลออกมา  การให้ตกตึกลงมาจนร่างและสมองแหลกเหลว  การให้เหยื่อท้องโป่งจนท้องแตกและมีสัตว์ประหลาดจำนวนมากออกมาจากท้อง  การหักคอจนหมุดได้ 360 องศา  การเผาทั้งเป็น  การควักหัวใจขณะที่เหยือยยังมีชีวิต  หรือ การดึงส่วนหัวให้หลุดจากลำตัว   อีกทั้ง นวนิยายเรื่องนี้ยังจบเหมือนกับตอนจบของภาพยนตร์แนวสยองขวัญส่วนใหญ่ด้วย ที่มักจะจบเรื่องเมื่อวิญญาณร้ายถูกกำจัดโดยตัวละครที่เหลือรอด  แทนที่จะจบเรื่องโดยพัฒนาเรื่องไปให้สุดว่า  ตัวละครที่เหลือรอดเหล่านี้จะดำเนินชีวิตอยู่ต่อไปในสังคมได้อย่างไร  หลังจากที่ผ่านเหตุการณ์อันเลวร้ายเหล่านี้มาแล้ว  อีกทั้งรูปคดีของทางตำรวจจะเป็นเช่นไร  เพราะจากเหตุการณ์ในครั้งนี้มีเหยื่อที่ถูกวิญญาณ
    ซาร่าห์ฆ่าตายมากถึง 12 คน  และนับว่าเป็นคดีสะเทือนขวัญ  และผู้ตายในครั้งนี้ยังรวมถึงนายอำเภอ  ผู้ช่วยนายอำเภอ  และตำรวจสาวที่มาสืบคดีนี้ด้วย   และผู้ตายอย่างน้อย  2 คนก็ถูกผู้ที่รอดชีวิตเพียงหนึ่งเดียวฆ่าจริงๆ   แม้จะอ้างว่าป้องกันตัว  และตอนนั้นคนเหล่านี้ถูกผีสิงก็ตาม 

    การสร้างตัวละครพบว่า   ผู้เขียนสามารถที่จะสร้างให้ตัวละครแต่ละตัวมีลักษณะเด่นเฉพาะของตนอย่างชัดเจน จนทำให้ผู้อ่านจดจำและแยกแยะว่าใครเป็นใคร  ทั้งรูปร่างหน้าตา  บุคลิกภาพ  นิสัย และความชอบต่างๆ  แม้ว่าตัวละครส่วนใหญ่จะมีบทไม่มากนักเมื่อเทียบกับตัวละครที่เป็นผู้ดำเนินเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น อลิซ  จีโอวานี่ เวโรนิก้า  หรือ
    ซาร่าห์   อย่างไรก็ดี  ผู้เขียนก็ได้เฉลี่ยให้ตัวละครแต่ละตัวมีความสำคัญทั้งต่อเรื่องและในบทบาทของตนในสัดส่วนที่พอเหมาะกับความยาวของเรื่อง

    ในแง่ของการเขียนนั้นพบว่า  ผู้เขียนมีทักษะในการเขียนทั้งบทบรรยายและบทสนทนาได้เป็นอย่างดี  ทั้งการใช้คำ  การขยายความ และการใช้คำเพื่อสร้างจินตนาการให้ผู้อ่าน  จึงทำให้เรื่องราวดำเนินไปอย่างลื่นไหล ส่งผลให้เรื่องราวน่าติดตาม   อีกทั้งนวนิยายเรื่องนี้มีการ rewrite เป็นครั้งที่สองแล้วจึงพบคำผิดประปราย  เช่น ล็อบบี้ เขียนเป็น ล๊อบบี้  ปรารถนา เขียนเป็น ปราถนา  กฎ เขียนเป็น กฏ  กะพริบตา เขียนเป็น  กระพริบตา ล็อก  เขียนเป็น ล๊อก  กะทันหัน เขียนเป็น กระทันหัน  เวทมนตร์  เขียนเป็น เวทย์มนต์   ออฟฟิศ  เขียนเป็น ออฟฟิซ   หากผู้เขียนแก้ไขคำผิดเหล่านี้ได้ก็จะช่วยให้เรื่องนี้มีความถูกต้องและสมบูรณ์มากขึ้น

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×