คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #99 : Evil Demon Café พนักงานร้านนี้มีแต่ปิศาจ
นิยายเรื่อง Evil Demon Café พนักงานร้านนี้มีแต่ปิศาจ ของ N.S. Bloody นั้น ผู้เขียนได้ระบุว่าจะมีทั้งหมด 4 ภาค ซึ่งมีการดำเนินเรื่องที่แตกต่างกัน แต่ในปัจจุบันผู้เขียนยังแต่งภาคแรกที่มีชื่อภาคว่า “บุรุษปริศนากับงานใหม่” ได้เพียง 14 ตอน จึงวิจารณ์ได้เฉพาะที่โพสต์ภาคแรกเท่านั้น
ร้าน Evil Demon Café เป็นร้านที่เหมือนกับชื่อ คือมีพนักงานที่เป็นปิศาจ และลูกค้าที่เป็นมนุษย์บ้างปิศาจบ้าง อยู่ในโลกที่มนุษย์ยอมรับว่าปิศาจมีตัวตน อีกทั้งยังมีตลาดซื้อขายเนื้อและเลือดมนุษย์ สำหรับให้ปิศาจบริโภคกันอย่างถูกกฎหมายอีกด้วย (เนื้อมนุษย์ที่ซื้อขายกันเป็นของนักโทษประหาร จึงขอตั้งข้อสังเกตว่ามนุษย์ในเรื่องนี้คงจะทำผิดจนต้องประหารกันมากทีเดียว จึงมีเนื้อเพียงพอที่จะนำมาขายเป็นตลาดให้กับปิศาจได้)
อย่างไรก็ตาม เนื้อหาของนิยายเรื่องนี้ก็ไม่ได้เป็นเรื่องซีเรียส หรือเป็นนิยายแอ็คชั่น หรือสยองขวัญที่ต้องลุ้นระทึก แต่กลับเป็นเรื่องราวอลเวงภายในร้านกาแฟปิศาจที่ประกอบด้วยสมาชิกสุดเพี้ยน 6 คน ได้แก่ มิเนอร์ว่า แม่มดผู้จัดการร้านหน้าเงิน เธอควบตำแหน่งแม่ครัวด้วย แต่กลับทำกับข้าวไม่เป็นถ้าไม่ได้ใช้เวทมนตร์ เอส ผีหัวขาดวัยเด็กจอมซุ่มซ่าม ที่มักจะทำจานแตกและทำหัวของตัวเองหล่นอยู่เสมอ อากิระ ภูติน้ำแข็งผู้งดงาม เมื่อแต่งชุดประจำเผ่ายิ่งดูงดงามมากขึ้น แต่ติดที่ว่าเขาเป็นผู้ชายและยังเป็นจอมเจ้าชู้ วิกเตอร์ แวมไพร์ผู้ขยาดเพศหญิง ไม่ชอบแสง แต่หากอยู่ในที่ร่มจะชอบใส่เสื้อชายหาด โฮรุส มัมมี่หนุ่มผู้ทรงภูมิและไม่(ค่อย)พูดจา แต่จะสื่อสารทางสีหน้าและอักษรทราย และสมาชิกใหม่ เซซิล บุรุษปริศนา ผู้ต้องกลายเป็นพนักงานร้านนี้ เพราะทำถ้วยกาแฟของผู้จัดการร้านแตก
ผู้เขียนบรรยายลักษณะของตัวละครแต่ละตัวได้ชัดเจนทั้งรูปร่างหน้าตา ความสามารถ และนิสัย ทำให้ผู้เขียนสามารถนำสิ่งเหล่านี้มาสร้างความบันเทิงให้กับเนื้อเรื่องได้เป็นอย่างดี เช่น ปัญหาเรื่องการล้างจานที่น่าจะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่กลับเป็นปัญหาใหญ่ของร้านนี้ เพราะมัมมี่มีร่างกายเป็นทรายจึงล้างจานไม่ได้ ภูติน้ำแข็งเมื่อถูกน้ำ น้ำก็จะกลายเป็นน้ำแข็ง จึงล้างจานไม่ได้ ผีหัวขาดก็แสนจะซุ่มซ่าม ถ้าให้ล้างจาน จานก็คงจะแตกแน่ๆ ส่วนผู้จัดการ เธอไม่ลดตัวลงมาล้างจานแน่นอน เซซิลผู้มาใหม่ ก็ยังล้างจานไม่เป็น หน้าที่ล้างจานจึงตกเป็นของวิกเตอร์แต่เพียงผู้เดียว เมื่อมีปัญหาทำให้เขาต้องหายตัวไป การล้างจานจึงเป็นปัญหาใหญ่ของที่ร้าน ซึ่งก็สร้างความขบขันให้กับผู้อ่านได้เป็นอย่างดี
นิสัยของตัวละครก็เป็นอีกอย่างที่ทำให้นิยายเรื่องนี้สนุก ไม่ว่าจะเป็นวิกเตอร์กับอากิระ คู่หูเพื่อนสนิทแต่นิสัยต่างกันอย่างสุดขั้ว ที่เห็นชัดที่สุดคืออากิระเป็นจอมเจ้าชู้ แต่วิกเกอร์กลับเกลียดผู้หญิง เมื่อไปเที่ยวด้วยกัน วิกเตอร์จึงถูกลากไปอย่างไม่เต็มใจทุกครั้ง แต่เขาก็ต้องคอยช่วยเหลือเพื่อนที่หน้าตาสวยจนมีผู้ชายมารุมจีบทุกครั้งด้วยเช่นกัน บรรยากาศเช่นนี้จึงสร้างความเฮฮาและรู้สึกว่าตัวละครมีชีวิตขึ้นได้
เอส ผีหัวขาด ถึงแม้เขาจะซุ่มซ่าม หกล้ม จนมักจะทำจาน เครื่องดื่ม และหัวของตัวเอง ตกอยู่เสมอ ซึ่งก็สร้างความขบขันได้พอสมควรแล้ว แต่ตัวละครนี้ยังสร้างความสนุกสนานได้มากขึ้นอีกเมื่อเอสไม่ได้เป็นแค่เด็กซุ่มซ่าม แต่เขายังต่อปากต่อคำเก่ง เพราะท่าทีที่ดูบริสุทธิ์ไร้เดียงสาเหมือนเด็กๆ ถึงแม้จะพูดเรื่องที่ดูเหลือเชื่อ แต่เอสก็สามารถพูดจนพวกตัวเอกรอดจากการสอบสวนของตำรวจมาได้ ทั้งนี้ก็มีข้อเสียกับตัวละครอื่นๆ อยู่บ้าง เมื่อเอสนำความสามารถด้านการพูดมาใช้เถียงกับเซซิลหรือคนอื่นๆ แต่สำหรับผู้อ่านแล้ว ย่อมได้แต่ความสนุกสนานที่ได้อ่านลีลาของเด็กอายุมากคนนี้แน่นอน
นอกจากนี้ยังมีโฮรุสผู้ไม่ค่อยพูดจา และก็ไม่ค่อยมีใครในร้านพูดกับเขา มีเพียงมิเนอร์วาที่สื่อสารได้รู้เรื่อง แต่โฮรุสก็มีงานอดิเรกที่ตรงข้ามกับบุคลิกคือชอบซื้อวิกผม ส่วนมิเนอร์วาเองถึงแม้จะเป็นแม่มดปากร้ายและเห็นแก่เงิน แต่เธอก็เป็นหัวหน้าที่เป็นห่วงสวัสดิภาพของลูกน้องทั้งห้าอยู่เสมอ ซึ่งแสดงออกด้วยการพยายามช่วยเหลือวิกเตอร์ที่ถูกปิศาจเข้าสิง นอกจากนี้เธอยังมีมุมขำๆ เพราะเมื่อเธอใช้เวทมนตร์ไม่ได้ จะทำอะไรไม่เป็นเลย
ที่กล่าวมาทั้งหมดก็เพื่อให้เห็นว่า ผู้เขียนได้แสดงให้เห็นตัวละครในหลายด้าน ซึ่งทำให้ตัวละครดูมีความสมจริงมากขึ้น และทำให้อ่านได้สนุกขึ้นเมื่อพบด้านที่ตรงกันข้ามกับบุคลิกที่ตัวละครแสดงออกให้คนภายนอกเห็น จะมีก็เพียง เซซิล ซึ่งผู้เขียนยังตั้งใจปกปิดข้อมูลของตัวละครนี้เพื่อให้ผู้อ่านสนใจว่าเซซิลเป็นปิศาจแบบไหนกันแน่ มีเรื่องราวอะไรที่ทำให้เขาต้องหนีออกจากบ้านมาเป็นพนักงานที่ร้านนี้ และเขาจะมีมุม “รั่วๆ” เช่นเดียวกับเพื่อนๆ หรือไม่ เพราะเท่าที่อ่านมาทราบเพียงว่า เซซิลเป็นปิศาจที่อายุยืนยาวมาก และมีอาวุธจำนวนมากที่ต้องพกพาไปต่อสู้ ส่วนนิสัยคือมีความอยากรู้อยากเห็นมาก ถ้ามีอะไรที่เซซิลเห็นว่า “น่าสนใจ” เขาจะต้องเอาตัวเข้าไปข้องเกี่ยวกับเรื่องราวนั้นๆ ให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานในร้านกาแฟที่เต็มไปด้วยปิศาจ หรือการต่อสู้กับวิกเตอร์ แวมไพร์ที่ถูกปิศาจเข้าสิง
นอกจากนี้ ความสามารถของปิศาจทุกตัวที่ปรากฏในเรื่องที่แตกต่างกัน ได้แก่ เซซิลใช้อาวุธได้เป็นจำนวนมาก ใช้เวทมนตร์ได้บางอย่าง และมีความเร็วสูง วิกเตอร์มีความเร็วและพละกำลังมาก โฮรุสแปลงร่างเป็นทราย เคลื่อนที่เข้าไปในที่แคบได้ เอสสามารถใช้เส้นเอ็นในการบังคับสิ่งต่างๆ อากิระสามารถใช้พลังน้ำแข็ง และมิเนอร์วาสามารถใช้เวทมนตร์ของแม่มด จึงน่าสนใจว่าหากปิศาจเหล่านี้ได้ใช้ความสามารถของตนเข้าต่อสู้กัน ซึ่งในภาคแรกนี้มีการต่อสู้ให้เห็นชัดเจนไปแล้วหนึ่งคู่ คือการต่อสู้ระหว่างวิกเตอร์และเซซิล ก็แสดงให้เห็นว่า นอกจากการเขียนเรื่องตลกขำขันแล้ว ผู้เขียนเรื่องนี้ก็สามารถเขียนฉากต่อสู้ได้ดีเช่นกัน คือมีการบรรยายการเคลื่อนไหวและการใช้ความสามารถของตัวละครได้ชัดเจน และตัวละครแต่ละตัวก็มีความเก่งกาจทัดเทียมกัน ผู้อ่านจึงไม่สามารถเดาได้ว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ชนะ และสนุกที่ได้จินตนาการถึงตัวละครเวลาที่ใช้ความสามารถต่างๆ อย่างไรก็ตาม ขอตั้งข้อสังเกตว่า ตัวละครหลายตัวมีความสามารถคล้ายกับการ์ตูนญี่ปุ่นบางเรื่อง เช่น นูระ หลานจอมภูติ หรือ นารุโตะ นินจาจอมคาถา หากผู้เขียนจะสร้างตัวละครที่มีความสามารถไม่ซ้ำแบบใครขึ้นมาได้ก็คงจะดีมาก
ในส่วนของเนื้อเรื่องนั้น ถึงแม้ว่าเรื่องราวที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ความเฮฮาที่เกิดขึ้นภายในร้านกาแฟ แต่ผู้เขียนก็ได้ทิ้งเงื่อนงำหลายอย่างไว้ให้ผู้อ่านสนใจติดตาม ไม่ว่าจะเป็น ความลึกลับของเซซิลที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว ข่าวเรื่องการหลบหนีออกจากคุกของนักโทษปิศาจ ปิศาจที่เข้าสิงวิกเตอร์ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และปิศาจ เป็นต้น ซึ่งแต่ละปมที่ผู้เขียนทิ้งไว้ก็สามารถทำได้อย่างกลมกลืนกับเนื้อเรื่อง เช่น ข่าวนักโทษปิศาจ ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ที่ส่งมาที่ร้าน ต่อจากนั้นวิกเตอร์ที่เป็นแวมไพร์ก็ก่อเหตุฆ่าคน ในระยะแรกผู้อ่านจะไม่เอะใจ เพราะขึ้นชื่อว่าแวมไพร์ก็ต้องดูดเลือดคนอยู่แล้ว เมื่อสันนิษฐานว่าวิกเตอร์ถูกปิศาจเข้าสิง มิเนอร์วาจึงเดินทางไปขอยันต์ไล่วิญญาณที่โบสถ์ของมนุษย์ ก็เป็นเหตุผลที่เหมาะสมที่ทำให้ตัวละครต้องเดินทางไปยังสถานที่ใหม่ๆ เป็นต้น คาดว่าเรื่องราวเหล่านี้จะได้รับการสานต่อในภาคต่อๆ ไป อย่างไรก็ตาม เท่าที่อ่านมาพบว่า นิยายเรื่องนี้ดำเนินเรื่องโดยใช้ตัวละครเป็นกลวิธีหลัก จึงทำให้ผู้อ่านได้รู้จักตัวละครแต่ละคนเป็นอย่างดี แต่ยังมองไม่เห็นโครงเรื่องหลักที่ชัดเจนว่านิยายเรื่องนี้จะดำเนินเรื่องไปอย่างไร จากที่ผู้เขียนได้บอกว่าในสี่ภาคจะดำเนินเรื่องแตกต่างกัน น่าจะเป็นความคิดที่ดีที่ผู้อ่านจะได้พบกับนิยายหลายรสชาติ แต่ผู้เขียนก็ต้องใช้ความสามารถอย่างมากที่จะคุมโครงเรื่องหลักให้ดำเนินไปถึงจุดจบได้ ขอแนะนำผู้เขียนว่าอาจจะคลี่คลายปมปริศนาที่เกริ่นไว้ไปทีละเรื่องในแต่ละภาค และค่อยๆ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงเรื่องหลัก ซึ่งขอเดาว่าเป็นประวัติและเรื่องราวของเซซิล จนไปพบกับฉากจบในภาคสุดท้าย ก็คงจะจบเรื่องได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด
สุดท้ายเป็นเรื่องของการสะกดคำ ส่วนใหญ่นิยายเรื่องนี้ไม่ค่อยมีคำที่สะกดผิด บางคำที่มีเช่น น้ำแข็งใส ที่ถูกคือ น้ำแข็งไส ชีทเค้ก ที่ถูกคือ ชีสเค้ก มั๊ย ที่ถูกคือ มั้ย ว๊าว ที่ถูกคือ ว้าว เป็นต้น จึงขอให้ผู้เขียนตรวจการสะกดคำให้ถูกต้อง ก็จะทำให้นิยายเรื่องนี้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นอีก
ความคิดเห็น