ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    วิจารณ์นิยาย

    ลำดับตอนที่ #93 : TomBoy ห้ามใจไม่ให้เผลอรัก

    • อัปเดตล่าสุด 19 ม.ค. 56


    ลิงก์นิยาย http://writer.dek-d.com/givejup/story/view.php?id=838974

                TomBoy  ห้ามใจไม่ให้เผลอรัก  นวนิยายรักหวานแหวว  ผลงานของ ปิ่นโต  ขณะนี้โพสต์ถึงตอนที่ 15 แล้ว  เป็นเรื่องราวความรักของวอฟเฟิล สาวทอมบอยที่หลงรักจุ๊บแจง หญิงสาวที่เป็นเพื่อนสนิทของตนมาตั้งแต่รู้จักกันครั้งแรกขณะที่เรียนชั้น ม. 2   ก่อนที่จะเดินทางไปต่างประเทศ  เมื่อวอฟเฟิลกลับมาและพบกันอีกครั้ง และทั้งคู่เข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยเดียวกัน  วอฟเฟิลจะสามารถสานสัมพันธ์รักกับจุ๊บแจงได้หรือไม่  และความรักครั้งนี้จะกลายเป็นความรักข้างเดียวหรือไม่ก็ต้องตามลุ้นกันต่อไป

                นวนิยายเรื่องนี้ไม่ต่างจากนวนิยายแนวหวานแหววเรื่องอื่นๆ นัก  และยังมีข้อด้อยคล้ายๆ กัน  ไม่ว่าจะเป็นการเล่าเรื่องโดยผ่านบทสนทนาเป็นหลัก  นวนิยายเรื่องนี้ก็มีปริมาณของบทสนทนามากกว่าบทบรรยาย   การเขียนนวนิยายที่ดีควรมีสัดส่วนของบทบรรยายมากกว่าบทสนทนา  เนื่องจากบทบรรยายจะเป็นตัวจักรสำคัญในการดำเนินเรื่องเพื่อบรรยายเหตุการณ์  สถานที่ ฉาก บุคลิก ลักษณะ และนิสัยตัวละคร   จากการที่ ปิ่นโต เน้นจุดเด่นของเรื่องที่ความรู้สึกนึกคิดและอารมณ์ของของตัวละคร  ที่มักเป็นความรู้สึกที่ต้องซ่อนเร้นไว้ในใจ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ความรู้สึกพิเศษที่
    วอฟเฟิลมีให้กับจุ๊บแจง   วอลเฟิลยังไม่แน่ใจความรู้สึกที่จุ๊บแจงมีต่อตน ถ้าจะแสดงออกอย่างที่ใจคิดก็อาจจะเสียจุ๊บแจงไปตลอดกาลก็ได้  จึงเลือกที่จะซ่อนเร้นความรู้สึกรักไว้ในใจและคบเธอในฐานะเพื่อนสนิทต่อไป     ขณะเดียวกันจุ๊บแจงก็เริ่มมีความรู้สึกแปลกๆ ที่เกิดขึ้นเสมอเมื่อวอฟเฟิลเข้าใกล้  ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยๆ ในช่วงหลัง  หรือแม้แต่ตูมตามที่พยายามตามจีบจุ๊บแจงทั้งๆ ที่รู้ว่าเธอไม่รัก และรู้ทั้งรู้ว่าจุ๊บแจงกับวอฟเฟิลมีความรู้สึกตรงกัน  เพียงแต่ทั้งคู่ไม่กล้าแสดงออกให้อีกฝ่ายรับทราบ   ผู้วิจารณ์เห็นว่าหาก ปิ่นโต  สามารถนำเสนออารมณ์และความรู้สึกต่างๆ ของตัวละครผ่านบทบรรยายแทนบทสนทนาให้มากขึ้น  ก็จะถ่ายทอดความรู้สึกในใจและเหตุผลในความรักตัวละครได้หนักแน่นชัดเจนขึ้น  ขณะเดียวกันก็จะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจ  คล้อยตาม และเห็นใจตัวละครแต่ละตัวที่ต้องตกอยู่ในวังวนของความรักในครั้งนี้มากขึ้น  

                ประการต่อไป คือ  ความสมจริง  การสร้างจุดเริ่มต้นความรักของวอฟเฟิลที่มีต่อจุ๊บแจง  โดยให้เหตุผลพียงแค่ว่าวอฟเฟิลประทับใจในความสดใสน่ารักของจุ๊บแจงเท่านั้น  ดูไม่น่าจะเพียงพอที่จะทำให้วอฟเฟิลรักมั่นและผูกพันกับจุ๊บแจงได้มากถึงขนาดที่ว่า  แม้จะต้องเดินทางไปอยู่ต่างประเทศกับครอบครัวนานถึง 3 ปี  เมื่อกลับมาเมืองไทยก็หาโอกาสที่จะสานสัมพันธ์ในความรักนี้ต่อไป   โดยส่วนตัว  ผู้วิจารณ์เห็นว่า  ปิ่นโต  ควรจะต้องขยายการปูเรื่องในช่วงต้นให้มีความละเอียดมากขึ้น  โดยอาจจะต้องสร้างเหตุการณ์บางอย่างที่สำคัญพอที่เป็นจุดเริ่มต้นในความรักมั่นครั้งนี้  มากกว่าเท่าที่เล่าไว้ในเรื่องว่าทั้งคู่แค่พบกันในห้องเรียน และบางครั้งก็มาทำงานต่อที่บ้านของจุ๊บแจง   ขณะเดียวกันก็อาจต้องเพิ่มบทบรรยายความรู้สึกของวอฟเฟิลเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจเหตุผลหรือเข้าใจความประทับใจที่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงกลายเป็นรักแท้ที่ฝังใจวอฟเฟิลจนไม่อาจลืมจุ๊บแจงได้     นอกจากนี้  ความไม่สมจริงอีกเหตุการณ์หนึ่งคือ การให้จุ๊บแจงได้รับคัดเลือกเป็นนางเอกละครเวทีของคณะต้องแสดงบทจูบจริงๆบนเวที  ทั้งๆ ที่มีอาจารย์ของคณะเป็นผู้ควบคุมการแสดง  ผู้วิจารณ์เห็นว่า  แม้ว่าเนื้อหาของละครจะเป็นเรื่องราวความรักของวัยรุ่น แต่ไม่น่าที่กำหนดให้มีฉากที่พระเอกจะต้องจูบนางเองจริงๆ บนเวที  เพราะการแสดงดังกล่าวในสถานศึกษายังถือว่าเป็นความประพฤติล่อแหลมต่อศีลธรรมอันดีได้  และหากจะมีฉากดังกล่าวก็เป็นฉากที่แสดงหลอกๆ แทนการจูบจริงก็ได้

                ในประเด็นเกี่ยวกับพัฒนาการของเรื่อง พบว่าแม้ว่าเรื่องนี้จะเขียนถึงตอนที่ 15 แล้ว  แต่ดูเหมือนว่าเรื่องจะยังพัฒนาไปไม่มากนัก  เพราะเน้นอยู่เพียงแค่ชีวิตประจำวันของวอฟเฟิล จุ๊บแจง และเพื่อนๆ  ขณะเดียวกันเรื่องส่วนใหญ่ก็วนเวียนอยู่กับการแอบรัก  เข้าใจผิด  งอน หึง ง้อ และคืนดีระหว่างวอฟเฟิล  จุ๊บแจง และตูมตาม    ในที่นี่เห็นว่า  ปิ่นโต สามารถที่จะพัฒนาให้เรื่องน่าสนใจขึ้น โดยไม่ต้องวนอยู่ในประเด็นเดิมๆ ได้  หากมุ่งไปที่การสร้างและพัฒนาปมปัญหาที่สร้างขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งจะส่งผลให้เรื่องราวทวีความเข้มข้นขึ้น  ก่อนที่จะคลี่คลายปัญหา  เพื่อที่จะนำไปสู่ตอนจบของเรื่อง  ซึ่งเรื่องนี้เห็นว่า  ผู้เขียนได้สร้างปมปัญหาใหญ่ๆ ที่น่าสนใจไว้แล้วอย่างน้อย 2 ประการ คือ จุ๊บแจงจะยอมรับความรักที่ผิดไปจากค่านิยมของสังคมครั้งนี้ได้หรือไม่   กับ  ปมความรักสามเส้าระหว่าง วอฟเฟิล  จุ๊บแจง และตูมตาม  ก็จะทำให้เรื่องดูน่าติดตามและมีมิติมากกว่าที่จะสนใจเฉพาะประเด็นปัญหาย่อยๆ ที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันของตัวละครดังที่ปรากฏอยู่ตอนนี้  นอกจากนี้ยังเห็นว่า  ปิ่นโต  กำลังจะเปิดตัวคู่รักใหม่อีกหนึ่งคู่ คือตูมตามกับมินท์  แม้ว่าทั้งคู่จะเป็นคู่กัดกันก็ตาม  แต่ตอนนี้ทิศทางเรื่องเปลี่ยนไป  โดยมินท์เริ่มสงสารและเห็นใจตูมตามมากขึ้น  ขณะเดียวกันตูมตามก็เริ่มมองเห็นมินท์ในมุมมองอื่นที่ไม่เคยเห็นมาก่อน   ซึ่งดำเนินเรื่องของความรักของคนทั้งคู่ขนานไปพร้อมๆ กับโครงเรื่องหลักที่ตั้งใจไว้ก็น่าจะช่วยให้เรื่องมีความซับซ้อนมากขึ้น

                ประเด็นสุดท้ายที่จะกล่าวถึง คือ  คำผิด  พบว่าในนวนิยายเรื่องนี้มีคำผิดเป็นจำนวนมาก  เช่น  อุตส่าห์  เขียนเป็น  อุตสาห์  สเปค   เขียนเป็น เสป็ค  เขี้ยว เขียนเป็น เคี้ยว  ประบ่า  เขียนเป็น  ปะป่า  คอนเสิร์ต  เขียนเป็น  คอมเสริ์ต  รังเกียจ  เขียนเป็น รังเกลียด  พึมพำ  เขียนเป็น  พรึมพรำ  อ๋อ  เขียนเป็น  ออ  เหรอ / หรือ เขียนเป็น หรอ  พร้อมเพียง  เขียนเป็น พร้อมเพรียง  เออ เขียนเป็น  ออ   นี่ เขียนเป็น นิ   จับสลาก เขียนเป็น จับฉลาก  โคตร เขียนเป็น โครต  หอบแฮกๆ  เขียนเป็น  หอบแฮๆ  และ เป็นอย่างไร  หรือ เป็นไง  เขียนเป็น  เปงไง   นอกจากนี้จะพบว่า ปิ่นโต มักจะมีปัญหากับการเขียนคำที่ใช้วรรณยุกต์ตรี หรือไม้ตรี  เช่น  เนี้ย  เขียนเป็น เนี้ยะ  คร้าบ  เขียนเป็น คร๊าบ  ค้า  เขียนเป็น  ค๊า  นะ  เขียนเป็น น๊ะ   น้า เขียนเป็น  น๊า    ด้วยเหตุนี้จึงอยากฝากกฎง่ายที่จะช่วยได้คือ  ตัวอักษรในภาษาไทยที่จะสะกดกับวรรณยุกต์ตรี และจัตวา ได้มี 9 ตัวเท่านั้น  ซึ่งเป็นอักษรกลางทั้งหมด คือ ก จ ด ต ฎ ฏ บ ป และ อ  ตัวอักษรอื่นที่นอกเหนือจากนี้ไม่สามารถใช้ได้  อีกทั้งยังมีบางคำที่ใช้คำขยายผิดความหมาย เช่น  ถือของอีรุงตุงนัง (ในที่นี้คำว่าอีรุงตุงนัง  ก็ว่าสะกดผิดด้วยเขียนผิด  คำที่ถูกต้องเขียนว่า อีนุงตุงนัง  หมายถึง  พันกันยุ่ง หรือ รุงรัง) ควรใช้เป็น ถือของพะรุงพะรัง แทน (พะรุงพะรัง หมายถึง ระเกะระกะ หรือ ปะปนกันรุงรัง) เป็นต้น  ด้วยเหตุนี้จึงเห็นว่า  ปิ่นโต  จำเป็นต้องให้ความสำคัญในเรื่องการสะกดคำให้มากขึ้น  เพราะหากลงปริมาณคำผิดลงได้จะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับเรื่อง  ขณะเดียวกันจะช่วยให้เรื่องน่าอ่านมากขึ้นด้วย

    -----------------------

                

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×