ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    วิจารณ์นิยาย

    ลำดับตอนที่ #92 : กับดักรักสองโลก

    • อัปเดตล่าสุด 19 ม.ค. 56


    ลิงก์นิยาย http://writer.dek-d.com/pakjirab/story/view.php?id=866560

                นวนิยายแนวซึ้งกินใจของ มาโซคิส  เรื่อง กับดักรักสองโลก  เป็นนิยายขนาด 21 ตอนจบ  นำเสนอเรื่องราวของ
    นีลาน่า
      เงือกพรายสาวแสนสวยลูกสาวคนสุดท้องของไตรตรอน จ้าวสมุทร  ที่โชคชะตานำพาให้เธอต้องจากโลกบาดาลมายังโลกมนุษย์  จนมีเหตุให้ต้องมาอาศัยอยู่กับกันยวัฒน์  ชาวหนุ่มนักดนตรีผู้กำลังผิดหวังในความรัก  ความใกล้ชิดและความช่วยเหลือต่างๆ ที่ชายหนุ่มต้องร่วมปิดบังตัวตนที่แท้จริงของหญิงสาวต่างเผ่าพันธุ์ ผู้ซึ่งต้องใช้ชีวิตอยู่ในโลกใหม่ที่ไม่คุ้นเคย   ก่อให้เกิดความรักและผูกพันระหว่างกันขึ้น  แต่ความแตกต่างของชาติพันธุ์ทำให้เธอต้องกลับไปยังโลกที่จากมา  ขณะที่เขาตระหนักว่าไม่อาจปล่อยให้เธอจากไปได้  เรื่องราวความรักของทั้งคู่จะลงเอยเช่นไรก็ต้องติดตามต่อไป

                กับดักรักสองโลก  มิใช่นวนิยายแนวซึ้งกินใจแต่เพียงอย่างเดียว  แต่ มาโซคิส  ได้สร้างสีสันและความแปลกใหม่ให้กับเรื่องด้วยการผสานเข้ากับแนวแฟนตาซี  โดยเฉพาะการสร้างเงือกพราย  ตัวละครต่างเผ่าพันธุ์ขึ้น ขณะเดียวกันก็ได้สร้างโลกใหม่ขึ้นมาอีกใบหนึ่งคือโลกบาดาล และความรักต่างเผ่าพันธุ์นี้เองที่เป็นตัวแปรสำคัญที่สร้างเรื่องราวความรักที่ลึกซึ้งและน่าประทับใจขึ้น

                แม้ว่าเรื่องนี้จะมิใช่นิยายขนาดยาว  แต่เนื้อเรื่องกลับมีความซับซ้อนและน่าติดตาม  เนื่องจาก มาโซคิส   มิได้กำหนดให้เรื่องมีแต่เฉพาะโครงเรื่องหลัก (main plot)  ซึ่งเป็นเรื่องราวความรักระหว่างนีลาน่ากับกันยวัฒน์เท่านั้น  แต่ยังเพิ่มโครงเรื่องย่อย (sub-plot) ที่น่าสนใจไม่แพ้กันสอดแทรกไว้โดยตลอดเรื่อง  ซึ่งสร้างมิติและความน่าติดดามให้กับเรื่องได้เป็นอย่างดี  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวความรักระหว่างกันยวัฒน์กับพรีมาดา (คนรักเก่า)  หรือ ความรักสามเส้าระหว่างนีลาน่า  ไฮโรเทน (พรายหนุ่มที่หลงรักนีลาน่า) และ อียาน่า (พี่สาวของนีลาน่าที่หลงรักไฮโรเทน) รวมทั้งชะตากรรมของนีลาน่าที่ถูกกำหนดมาแต่กำเนิด  โครงเรื่องย่อยๆ เหล่านี้สอดผสานได้เป็นอย่างดีกับโครงเรื่องหลักที่วางแผนไว้  ซึ่งช่วยสร้างให้เกิดปมปัญหาในเรื่องขึ้นเป็นระยะๆ และในบางครั้งยังเป็นเสมือนตัวเร่งปฏิกิริยาให้ปมปัญหาที่สร้างขึ้นไว้ทวีความขมึงเกลียวมากขึ้น  จนนำไปสู่จุดสูงสุดของเรื่อง (Climax)  ก่อนที่จะพัฒนาไปสู่จุดจบของโครงเรื่องหลัก  นั่นคือความรักระหว่างนีลาน่ากับกันยวัฒน์  

                นอกจากนี้  นิยายเรื่องนี้ยังมีความแปลกจากนวนิยายส่วนใหญ่ที่นำเสนอไว้ในเว็บไซต์เด็กดีกล่าวคือ  ไม่มีชื่อบทและไม่มีการให้ภาพอิมเมจของตัวละคร ยกเว้นภาพของเงือกพรายสาว  การที่ มาโซคิส   ไม่เห็นความสำคัญของการให้อิมเมจตัวละครที่ชัดเจน  นับว่าเปิดโอกาสให้ผู้อ่านสามารถสร้างจินตนาตัวละครในเรื่องแต่ละตัวได้อย่างเสรี  โดยอาศัยบทบรรยายรูปร่างหน้าตาและบุคลิกลักษณะต่างๆ ที่ให้ไว้ในเรื่องเป็นสำคัญ    ในแง่นี้  ผู้วิจารณ์เห็นว่า มาโซคิส   ยังบรรยายภาพของตัวละครไม่ละเอียดมากพอที่จะเป็นข้อมูลให้ผู้อ่านสามารถสร้างจิตนาการตามไปได้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวละครรองไม่ว่าจะเป็น ไฮโรเทน  ไตรตรอน  อียาน่า  แฟรงค์  สมชาย อนิรุธ  และนาจา  จึงเห็นว่า มาโซคิส  ควรที่จะเพิ่มรายละเอียดในการบรรยายถึงตัวละครเหล่านี้เช่นเดียวกับที่บรรยายตัวละครเอก  เพื่อให้ผู้อ่านสามารถสร้างจิตนาการถึงตัวละครเหล่านั้นได้อย่างชัดเจนและสมบูรณ์ขึ้น

                ในแง่การเขียนพบว่า  มาโซคิส     มีความสามารถในการเขียนบทบรรยาย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบรรยายความรู้สึกภายในของตัวละคร  ซึ่งช่วยให้ผู้อ่านรับรู้ความรู้สึกต่างๆ ร่วมกับตัวละคร  ทั้งความรัก  ความสุข  ความเศร้า ความเหงา ความโกรธ  และความอิจฉาริษยาในใจ  ขณะเดียวกันบทสนทนาที่ปรากฏก็ช่วยเสริมและเติมเต็มให้ผู้อ่านรู้จักตัวตนและอุปนิสัยของตัวละครในเรื่องได้ชัดเจนมากขึ้น  แต่น่าเสียดายว่ามีคำผิดจำนวนมากพอสมควร จึงลดทอนความถูกต้องและสมบูรณ์ของเรื่องอย่างน่าเสียดาย   คำผิดที่พบ เช่น  เกล็ด  (เกล็ดปลา) เขียนเป็น  เกร็ด  (เกร็ดความรู้)  กฎ เขียนเป็น  กฏ  เวท  เขียนเป็น  เวทย์  ไข่มุก  เขียนเป็น  ไข่มุข  รำไร  เขียนเป็น ร่ำไร   คับข้องใจ  เขียนเป็น ขับข้องใจ   ม้าย  เขียนเป็น ม๊าย   แว้บ  เขียนเป็น  แว๊บ  ภารกิจ  เขียนเป็น  ภาระกิจ  เผ่าพันธุ์  เขียนเป็น เผ่าพันธ์   เฮ้ย  เขียนเป็น  เห้ย   ล็อบบี้  เขียนเป็น ล๊อบบี้  ล่วง  เขียนเป็น ล้วง  สาธารณชน  เขียนเป็น  สาธารณะชน  กิจจะลักษณะ  เขียนเป็น  กิจลักษณะ  ประณาม  เขียนเป็น  ประนาม  สังเกต เขียนเป็น  สังเกตุ  รีโมท  เขียนเป็น  รีโมทต์  หมุนติ้ว เขียนเป็น หมุนติว  เลศนัย  เขียนเป็น เลสนัย  ล็อก เขียนเป็น ล๊อก  เวทมนตร์ เขียนเป็น เวทมนต์  ขุ่นข้อง  เขียนเป็น  ขุ่นคล่อง  งามระหง  เขียนเป็น  งามระหงส์   ประจาน  เขียนเป็น  ประจาร  ขี้เหร่  เขียนเป็น  ขี้เหล่  หา หรือ ฮะ  เขียนเป็น ห๊ะ  เฮ่ เขียนเป็น เห้  ปรบมือ หรือ ตบมือ  เขียนเป็น  ตรบมือ   นอกจากนี้  บางครั้งยังมีการใช้คำขยายผิดด้วย  เช่น   ส่งสายตาหวาดหวั่นของบุคคลเบื้องหน้าไม่ลดราวาศอก   (ลดราวาศอก  หมายความว่า  เพราลง  ผ่อนปรนลง)  ในที่นี้ควรใช้คำขยายว่า  ไม่วางตา (หมายถึง  ไม่ละสายตา) แทน  หรือ  ความรู้สึกสูญเสีย  หดหู่ เศร้าหมองยังคงคละคลุ้งทั่วท้องสมุทร  (คละคลุ้ง หมายถึง  เหม็นฟุ้ง)  จึงควรใช้คำว่า  ปกคลุม (ปกคลุม หมายถึง  แผ่คลุมอยู่) แทน  และ ประโยคที่ว่า  พรายเฒ่าชั่งใจถ่วงน้ำหนัก  ใช้แค่  พรายเฒ่าชั่งใจ ก็พอ  เพราะชั่งใจ หมายถึง คิดเปรียบเทียบก่อนตัดสินใจ  อยู่แล้ว  หรือ วลีที่ว่า  กระเพาะดังเกรียวกราว  (เกรียวกราว  หมายถึง เสียงเอ็ดอึงพร้อมๆ กัน  อื้อฉาวไปทั่ว  เป็นที่โจษจัน และโดยปริยายหมายถึง  รับรู้โดยทั่วกัน) ควรใช้  กระเพาะดังโครกคราก (โครงคราก  หมายถึง เสียงอย่างท้องร้อง)  แทน 

    ข้อด้อยที่ปรากฏในเรื่องอีกประการหนึ่ง คือ ความไม่สมเหตุสมผลในบางเหตุการณ์  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  การที่   มาโซคิส   ระบุถึงเหตุผลประการสำคัญที่กันยวัฒน์ยังไม่สามารถแต่งงานกับพริมาดาได้ทั้งๆ ที่รักกันมานานแล้วก็คือ  เขาไม่สามารถเก็บเงินให้ได้ถึง 5 ล้านบาทก่อนที่จะแต่งงานกันได้  แต่เมื่ออ่านนวนิยายเรื่องนี้จนจบแล้ว  ผู้วิจารณ์กลับพบว่ากันยวัฒน์ไม่น่าจะมีปัญหาที่จะหาเงิน 5 ล้านมาเป็นค่าสินสอดไม่ได้   หากพิจารณาจากวิถีชีวิตของเขาแล้ว  เขาน่าจะมีเงินมากกว่า 5 ล้านบาทเสียด้วยซ้ำ  เพราะเขาอาศัยอยู่ในบ้านพักหลังหรูและขับรถคันหรู  เมื่ออกหักก็หลบไปรักษาใจที่โรงแรมในประเทศแถบขั่วโลก  ทั้งยังยอมจ่ายเงินมากถึง 10,000 ดอลลาร์เพื่อประมูลนีลาน่าอย่างไม่เสียดาย  รวมถึงเช่าเหมาลำเรือประมงในประเทศแถบขั่วโลกเพื่อออกตามหานีลาน่าในตอนจบเรื่อง  เหตุการณ์นี้จะสมเหตุสมผลมากขึ้น หาก มาโซคิส   ควรต้องเพิ่มเงินสินสอดในครั้งนี้ให้สูงขึ้นกว่านี้  อาจเพิ่มเป็นมากกว่า 10 ล้านก็ได้      และอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ไม่สมเหตุสมผล  คือการที่กันยวัฒน์ให้เหตุผลที่เขาจะต้องตัดใจจากพริมาดาจริงๆ เมื่อเธอหมั้นกับอนิรุธแล้ว คือ “การหมั้นหมายของหญิงสาวอันเป็นที่รักใกล้เข้ามาทุกที  คงเหลือเวลาอีกไม่กี่ชั่วโมงถัดจากนี้ เธอผู้นั้นจะตกเป็นของคนอื่นทั้งทางพฤตินัยและนิตินัยอย่างสิ้นเชิง  ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงแค่การหมั้นหมาย แต่สักขีพยานคงมีรับรู้ทั่วกันเกือบทั้งประเทศ”   การให้เหตุผลในครั้งไม่จำเป็นต้องระบุว่าเธอเป็นของเขาทั้งนิตินัยและพฤตินัย เนื่องจากจะสร้างความกังขาให้กับผู้อ่านได้   เพราะในทางกฎหมาย  การหมั้นหมายยังไม่นับว่าเป็นความสัมพันธ์กันในทางนิตินัย  ขณะเดียวกันในเรื่องก็ไม่มีตอนใดที่ระบุหรือมีเหตุการณ์บ่งชี้ว่าคนทั้งคู่มีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้งในเชิงพฤตินัยแล้วด้วย  ขณะเดียวกันการระบุว่าคนทั้งคู่มีความสัมพันธ์กันในเชิงนิตินัยและพฤตินัยแล้วนั้น  มักใช้กับการแต่งงานเป็นส่วนใหญ่  จึงเห็นว่าหาก มาโซคิส สร้างความสมเหตุสมผลให้กับทุกเหตุการณ์ที่สร้างขึ้นก็ช่วยให้นวนิยายเรื่องสมบูรณ์ขึ้น

    ------------------------

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×