คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #91 : บทวิจารณ์ แสนดีที่รัก
ลิงก์นิยาย http://writer.dek-d.com/ornpassorn/writer/view.php?id=827819
แสนดีที่รัก เป็นนิยายแนวซึ้งกินใจ ผลงานของ อรภัสสร มีทั้งสิ้น 25 ตอนรวมบทส่งท้าย นิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องราวความรักระหว่างนีรดาหรือไนซ์เภสัชกรสาวแสนดีกับแทนไทวิศวกรและนักธุรกิจหนุ่มเจ้าของกิจการอสังหาริมทรัพย์ เรื่องเริ่มต้นด้วยความไม่ชอบหน้ากันของนีรดากับแทนไท แต่มีเหตุให้นีรดาต้องมาเป็นติวเตอร์ให้ทัชมนน้องสาวคนเดียวของแทนไท จนเธอต้องมาใช้ชีวิตอยู่ในบ้านร่วมกับเขาเป็นเวลานานหลายเดือน ช่วงเวลาดังกล่าวทำให้จากความไม่ชอบกลายเป็นความรักและความผูกพันกันในที่สุด แต่เรื่องราวความรักของคนทั้งคู่มิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะมีบททดสอบความรักในหลากหลายรูปแบบที่ทั้งสองคนจะต้องผ่านพ้นไปให้ได้
บทนำของเรื่องนับเป็นจุดเด่นที่น่าสนใจประการหนึ่ง เนื่องจาก อรภัสสร เปิดเรื่องด้วยการบรรยายความคิดถึงคนรักที่ต้องจากกันของตัวละครชายตัวหนึ่งและตัวละครหญิงตัวหนึ่ง แต่ประเด็นที่สำคัญคือ เวลาในการรอคอยของตัวละครทั้งสองมีความแตกต่างกันอย่างมาก ขณะที่คนรักของตัวละครชายหายไป 48 วัน 3 ชั่วโมง กับ 37 นาที แต่ตัวละครหญิงกลับเพิ่งจากคนรักมาเพียง 26 วัน 12 ชั่วโมง กับ 19 นาที การเปิดเรื่องเพียงเท่านี้ก่อให้เกิดคำถามในใจผู้อ่านหลายๆ ประการ อาทิ ตัวละครทั้งสองเป็นใคร มีความสัมพันธ์กันอย่างไร มีความสำคัญต่อเรื่องอย่างไร ตัวละครทั้งสองเป็นคนที่อีกฝ่ายกำลังนึกถึงอยู่หรือไม่ เหตุใดเวลาที่จากกันจึงต่างกันมากขนาดนี้ ตัวละครทั้งสองต้องจากกันด้วยสาเหตุใด และเรื่องราวความรักของทั้งสองจะลงเอยเช่นไร ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในใจผู้อ่านเหล่านี้ชวนให้ผู้อ่านต้องอ่านเรื่องนี้ต่อไปเพื่อแสวงหาคำตอบและคลี่คลายปัญหาที่คั่งค้างในใจเหล่านี้ ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบทนำได้กลับมากล่าวถึงอีกครั้งเป็นฉากเริ่มต้นของนิยายตอนที่ 22 และ 23 ตามลำดับ สำหรับคำถามต่างๆ ที่เกิดขึ้นในใจผู้อ่านตั้งแต่บทนำนั้น ผู้เขียนค่อยๆ คลี่คลายข้อสงสัยต่างเหล่านี้ได้อย่างครบถ้วน
หากพิจารณาเนื้อเรื่องโดยทั่วไปพบว่า นิยายเรื่องนี้ไม่ต่างจากนิยายเรื่องอื่นๆ ในแนวนี้เท่าใด เพราะเปิดเรื่องให้นางเอกและพระเอกมีเหตุให้มีเรื่องขัดเคืองใจและไม่ชอบหน้าซึ่งกันและกัน แต่เมื่อมีโอกาสได้ใกล้ชิดกันและได้เรียนรู้นิสัยใจคอกันมากขึ้น จากความเกลียดก็กลายเป็นความผูกพันและพัฒนาไปเป็นความรักในที่สุด แต่ อรภัสสร สร้างความน่าสนใจให้กับเรื่องโดยการสร้างบททดสอบความรักให้คนทั้งคู่ต้องฝ่าฟันในหลายลักษณะ ทั้งในรูปของอดีตคนรัก เช่น วายุ ผู้ที่นีรดาเคยตกหลุมรักก่อนที่จะกลายมาเป็นเพื่อนสนิทกันในปัจจุบัน คู่แข่งด้านความรักในปัจจุบันที่นีรดาต้องแข่งขันกับทั้งพลอยไพลินและพิมผกา หญิงสาวที่มาหลงรักแทนไท ขณะที่แทนไทกลับมีภัทรเพื่อนสนิทที่เป็นคู่แข่งทางด้านความรัก นอกจากนี้ยังมีปมจากอดีตทั้งของแทนไท ที่เห็นตัวอย่างของพลวัตร ลูกพี่ลูกน้องที่เขารักประดุจพี่ชายแท้ๆ ที่ความผิดหวังในความรักทำให้เขาตัดสินใจฆ่าตัวตาย จนเป็นเหตุให้แทนไทตั้งใจว่าจะไม่มีความให้รักกับหญิงสาวคนใด เพราะกลัวความผิดหวัง และเรื่องของพลวัตรนี้ยังก็ส่งผลต่อความเชื่อใจที่แทนไทมีต่อนีรดาด้วย จนเป็นเหตุให้นีรดายอมถอนตัวออกจากเข้าแข่งขันในเกมความรักครั้งนี้ บททดสอบที่ค่อยๆ เพิ่มเข้ามาเหล่านี้ส่งผลต่อการพัฒนาปมปัญหาของเรื่องให้เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ก่อนที่เรื่องจะคลี่คลายลงในตอนจบ ขณะเดียวกันก็ทำเรื่องราวเข้มข้น ทวีความน่าสนใจ และชวนให้ผู้อ่านติดตามบทสรุปของความรักของคนทั้งคู่ว่าจะลงเอยเช่นไร
จุดเด่นประการต่อไป คือ บทบรรยายและบทสนทนา ต้องยอมรับว่าในนิยายเรื่องนี้ต่างจากนิยายส่วนใหญ่ที่อยู่ในเด็กดี กล่าวคือ นิยายเรื่องนี้ไม่มีการลงภาพอิมเมจของตัวละครไว้ แต่ อรภัสสร สามารถทำให้ผู้อ่านจินตนาการตัวละครได้จากบทบรรยายที่อธิบายรูปร่างหน้าตาและลักษณะนิสัยของตัวละครไว้อย่างละเอียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งนีรดากับแทนไท นอกจากนี้ ผู้เขียนยังให้ความสำคัญกับการบรรยายความรู้สึกนึกคิดและความรู้สึกภายในของตัวละครด้วย เนื่องจากเนื้อเรื่องมากกว่าครึ่งเป็นการอธิบายโลกภายในของตัวละคร บทสนทนานั้น อรภัสสร สามารถเขียนเพื่อช่วยเสริมความสมจริงให้กับเรื่องได้เป็นอย่างดี จนทำให้ผู้อ่านเชื่อว่าตัวละครเหล่านี้ออกโลดเล่นอยู่จริงในโลกแห่งจินตนาการได้ อีกทั้ง อรภัสสร ยังให้ความสำคัญกับความถูกต้องในการสะกดคำเป็นอย่างมาก จึงแทบจะไม่พบคำผิดในเรื่องเลย ซึ่งเท่าที่พบมีคำที่สะกดผิดเพียงแค่ 3 คำเท่านั้น คือ กะพริบ เขียนเป็น กระพริบ ผลลัพธ์ เขียนเป็น ผลลัพท์ และ แว้บ เขียนเป็น แว๊บ และมีการใช้คำผิดความหมายเพียงแห่งเดียว คือ ย้ายความสนใจ ควรจะเขียนว่า หันเหความสนใจ หรือ เบี่ยงเบนความสนใจ มากกว่า
ความโดดเด่นที่พบประการสุดท้ายคือ อรภัสสร ได้สอดแทรกแง่มุมและแง่คิดดีๆ ให้กับผู้อ่าน โดยแฝงมากับคำพูด วิธีคิด และการดำเนินชีวิตของตัวละคร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเข้มแข็งและการมีทัศนคติเชิงบวกในการดำเนินชีวิต และมุมมองความรักในแง่มุมต่างๆ ของนีรดา และตัวละครอื่นๆ เพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่าแม้ในความเจ็บปวดที่เกิดจากความผิดหวังในความรัก ก็ยังมีแง่งามแฝงอยู่หากเราไม่ติดยึดอยู่แต่เพียงความเจ็บปวดและผิดหวังเท่านั้น นอกจากนี้ การที่ อรภัสสร เน้นย้ำเกี่ยวกับบทเพลง Flying Without Wings อยู่โดยตลอดทั้งเรื่อง บทเพลงนี้นับว่ามีความสำคัญกับเรื่องเป็นอย่างมาก เพราะไม่เพียงแต่จะเป็นเพลงที่นรีดาชื่นชอบมากเป็นพิเศษแล้ว แต่ความหมายดีๆ ในเนื้อเพลงยังเป็นทั้งสิ่งที่ช่วยปลอบประโลมใจผู้ที่มีความทุกข์จากความรักในชีวิตอย่างทัชมน ขณะเดียวกันยังเป็นเครื่องมือที่ทำให้แทนไทเข้มแข็งขึ้น จนกล้าที่จะยอมรับในความรักที่ตนมีต่อนีรดา และท้ายที่สุดยังใช้เพลงนี้บอกความรู้สึกของเขาให้นีรดารับทราบด้วย
อย่างไรก็ดี นิยายเรื่องนี้ยังข้อด้อยที่พบมี 2 ประเด็น ประการแรก คือ อรภัสสร มักใช้เหตุบังเอิญกับการสร้างเหตุการณ์หรือสถานการณ์ในเรื่องบ่อยครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงต้นที่ให้แทนไทและนีรดาบังเอิญพบกันบ่อยเกินไป จนยากที่จะเชื่อได้ว่าในช่วงเวลาเพียงไม่กี่วัน คนแปลกหน้าสองคนจะมีโอกาสบังเอิญมาเจอกันบ่อยเพียงนี้เชียวหรือ ทั้งๆ ที่ตัวละครทั้งสองไม่ได้มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในแวดวงเดียวกัน หรือมีความเชื่อมโยงทางอาชีพที่มีเหตุให้พบกันได้บ่อยๆ เช่นนี้ นอกจากนี้ ในช่วงท้ายเรื่อง อรภัสสร ก็ใช้เหตุบังเอิญในการสร้างความหวั่นไหวและความเจ็บช้ำให้กับนีรดาซ้ำๆ หลายๆ ครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้นีรดาบังเอิญได้ยินบทสนทนาเพียงส่วนหนึ่งของแทนไทที่กล่าวถึงตนเอง หรือให้เห็นฉากความสนิทสนมระหว่างแทนไทกับพิมผกา
ประการที่สอง คือ บางเหตุการณ์ยังมีความไม่สมจริงอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่แทนไทจ้าง วิชัย นักสืบให้สืบประวัติของนีรดาให้เขา ทั้งๆ ที่เขาทราบแต่เพียงชื่อของเธอเท่านั้น ซึ่งข้อมูลเพียงเท่านั้นไม่น่าเพียงพอให้สืบประวัติของเธอได้ และหากนักสืบคนนี้เก่งถึงเพียงนี้ การสืบหานีรดาที่หายตัวไปในตอนท้ายเรื่องก็น่าจะหาเจอได้ไม่ยากนัก และเหตุการณ์ในตอนที่รถของนีรดาสตาร์ทไม่ติด แต่นีรดายังโทรขอความช่วยเหลือจากวายุ ซึ่งในตอนต่อมา อรภัสสร ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่าวายุอาศัยและทำงานอยู่ที่เชียงใหม่ จะมากรุงเทพฯ เป็นครั้งคราวเท่านั้น และในขณะที่นีรดาต้องการความช่วยเหลือ วายุก็อยู่เชียใหม่ด้วย จึงคิดว่าหากนีรดาต้องการความช่วยเหลือจากเพื่อนที่อยู่ในกรุงเทพฯ จริงๆ น่าจะติดต่อจารุมนเพื่อนสนิทที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ มากกว่า
แม้ว่านิยายเรื่องนี้จะเป็นนิยายความรักที่ดำเนินเรื่องส่วนใหญ่อยู่บนความเจ้าแง่แสนงอนระหว่างพระเอกกับนางเอง แต่แง่คิดและมุมมองในการดำเนินชีวิตที่ผู้เขียนบรรจงสอดแทรกไว้ในเรื่องก็ช่วยให้นิยายเรื่องนี้มีแง่งามในความคิดที่ผู้อ่านสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตได้
------------------------
ความคิดเห็น