คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #3 : เซวีน่า มหานครแห่งมนตรา
เคยมีคนกล่าวไว้ว่านิยายออนไลน์ในเว็บไซต์เด็กดีมีอยู่ 3 ยุคคือ ไวท์โรด หัวขโมยแห่งบารามอส และ เซวีน่า มหานครแห่งมนตรา โดยส่วนตัวเคยอ่านไวท์โรดมาบ้าง อ่าน หัวขโมยแห่งบารามอส จนจบ ก็เลยทำให้อยากรู้ว่า เซวีน่า มหานครแห่งมนตรา จะเป็นอย่างไร จึงตัดสินใจซื้อหนังสือชุดนี้มาอ่านพร้อมกันทีเดียว 5 เล่ม เมื่ออ่านจบก็เข้าใจแล้วว่าเหตุใดจึงมีผู้กล่าวไว้เช่นนั้น หากจะให้อธิบายตามความเข้าใจก็คงต้องบอกว่า ไวท์โรด นับเป็นงานนิยายออนไลน์ของเด็กไทยยุคแรกที่ได้รับการตีพิมพ์ และสามารถสร้างกระแสให้เป็นที่สนใจแก่สังคมในวงกว้างได้ ในขณะที่ หัวขโมยแห่งบารามอส เป็นเรื่องแต่งที่สร้างกระแสต่อการเขียนนิยายแฟนตาซีในรุ่นต่อๆ มา โดยเฉพาะเรื่องการแปลงร่างจากผู้ชายเป็นผู้หญิง และจากผู้หญิงเป็นผู้ชายของตัวละครเอก ส่วน เซวีน่า มหานครแห่งมนตรา ก็นับเป็นนิยายแฟนตาซีที่สามารถฉีกแนวแหวกกระแสออกมาทั้งจาก ไวท์โรด และ หัวขโมยแห่งบารามอส โดยสร้างทิศทางการนำเสนองานในแนวทางของตน แม้ว่าการดำเนินเรื่องยังอาศัยตัวละครเอกกลุ่มที่เป็นนักเรียนในโรงเรียนเวท แต่เรื่องราวที่ดำเนินไปนั้นแตกต่างจากนิยายแนวแฟนตาซีที่เขียนในช่วงเดียวกันอย่างมาก จนทำให้เรื่องนี้โดดเด่นและกลายเป็นที่ยอมรับของนักอ่านจำนวนมากได้ในเวลาไม่นานนัก
เมื่ออ่าน เซวีน่า มหานครแห่งมนตรา ทั้ง 5 เล่มจบลงก็เห็นว่าสามารถแบ่งกลุ่มเรื่องนี้ออกได้เป็น 3 ช่วง คือ เล่ม 1 ถึงเล่ม 3 จะเป็นการปูพื้นฐานเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของเซวีน่าผ่านการเรียนรู้ใหม่ร่วมกันระหว่าง เฟมีลล่า นางเอกของเรื่องกับผู้อ่าน อาจกล่าวได้ว่าเป็นความฉลาดของ กัลฐิดา (ผู้แต่ง) ที่กำหนดให้ เฟมีลล่า ต้องมาเติบโตและใช้ชีวิตอยู่ตามลำพังในมหานครเซเวน ซึ่งเป็นเมืองคู่ขนานของมหานครเซวีน่า ตั้งแต่อายุ 6 ขวบ และในวันเกิดครบ 15 ปี ก็มีเหตุให้เธอต้องกลับไปใช้ชีวิตในเซวีน่าอีกครั้ง การกลับไปใช้ชีวิตอยู่ในเซวีน่า เฟมีลล่าต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจกับทุกสิ่งของเซวีน่าซึ่งถือว่าเป็นสิ่งใหม่ทั้งหมด ทั้งจากการบอกเล่าของป้าเฟลามีนคนดู และจากของเหล่าผองเพื่อนในโรงเรียนและทั้งจากบทเรียนเกี่ยวกับรัฐต่างๆ ของเซวีน่าที่ประกอบไปด้วย 7 รัฐ และหนึ่งโซน ซึ่งโซนเป็นพื้นที่กลางระหว่างรัฐทั้งเจ็ด ความแปลกใหม่และน่าตื่นตาตื่นใจของเซวีน่าไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับเฟมีลล่าเท่านั้น แต่ยังเกิดกับผู้อ่านด้วย ดังนั้นจึงง่ายที่จะทำให้ผู้อ่านจะรู้สึกผูกพันและใกล้ชิดกับเฟมีลล่าไปโดยปริยาย การเรียนรู้แบบค่อยเป็นค่อยไปเช่นนี้ช่วยให้ผู้อ่านได้ทำความเข้าใจความซับซ้อนของเซวีน่าได้เป็นอย่างดี ในขณะเดียวกันก็ยังมีส่วนช่วยพัฒนาความคิดและความเข้าใจโลกในมุมมองต่างๆของผู้อ่านไปพร้อมๆกับการเติบโตของเฟมีลล่าด้วย
ช่วงที่ 2 คือ เล่มที่ 4 เป็นการกล่าวถึง เซกัน เมืองที่อยู่ในมิติเดียวกัน ในเล่มนี้ก็จะมีตัวละครของเซกัน 4 ตัวเพิ่มเข้ามา ซึ่งเป็นตัวแทนของเซกันที่จะเข้ามาเพื่อนำตัว โรเซร่า เดอ คลูนิ่ง กลับไปยังเมืองเซกัน ของตน เพื่อให้ช่วยปลูกต้นไม้อันจะช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับสภาวะอากาศและความอดอยากที่เกิดขึ้นในเซกันได้ ขณะเดียวกันก็ได้เฉลยความลับความสมบูรณ์ของเซวีน่า ที่คงสมบูรณ์อยู่ได้นั้นต้องอาศัย 3 ภูตแห่งตำนานช่วยด้วย ทั้ง เดอ กราฟ, เดอ คลูนิ่ง และ เดอ โอลี และในช่วงที่ 3 คือ เล่ม 5 ที่เน้นไปที่ประวัติของตระกูลฟรานเชสก้า ที่เป็นต้นตระกูลของลีโอ พระเอกของเรื่อง และยังได้เปิดเผยความลับของตระกูล โดยเฉพาะความลับเกี่ยวกับเรื่องผู้ควบคุมเวลาว่าแท้จริงแล้วยังต้องอาศัยชนเผ่าอีกเป็นจำนวนถึง 12 ชนเผ่าในการช่วยรักษาความลับและช่วยสร้างความสมดุลนี้ ขณะเดียวกันก็ยังไม่ทิ้งประเด็นที่เกี่ยวกับเซกันไป เพราะยังคงมีตัวละครสำคัญจากช่วงที่ 2 สองคนเดินทางมาปฏิบัติภารกิจครั้งใหม่ในเซวีน่าอีกครั้ง
แม้ว่าหนังสือทั้ง 5 เล่มจะแบ่งได้เป็น 3 ช่วง ดังที่อธิบายไปข้างต้น แต่หนังสือทั้งห้าเล่มนี้มีแนวคิดหลักที่ผู้ร้อยเชื่อมโยงในเรื่องราวทั้งหมดดำเนินและพัฒนาไปภายใต้แนวคิดนี้ นั่นคือ มุ่งอธิบายและชี้ให้เห็นถึงองค์ประกอบอันเป็นเหตุผลเบื้องหลังที่ทำให้มหานครเซวีน่า เป็นมหานครแห่งความสมบูรณ์แบบ ซึ่งกว่าที่เมืองนี้จะสมบูรณ์แบบได้เช่นนี้ก็ต้องอาศัยความเสียสละและความมุ่งมั่นทุ่มเทของคนจำนวนมากเพื่อช่วยกันธำรงให้เซวีน่าคงความสมบูรณ์อยู่ได้ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ก่อตั้งในยุคเริ่มแรกเมื่อ 3,000 ปีก่อน หรือผู้ที่รักษาต่อมา รวมถึงคนรุ่นปัจจุบันก็ต้องร่วมมือช่วยกันต่อไป การจะชี้ให้เห็นแต่เพียงว่าเซวีน่าเป็นนครแห่งความสมบูรณ์อย่างเดียวนั้น ผู้แต่งอาจจะเห็นว่ายังให้ภาพไม่ชัดเจน จึงนำเรื่องราวของเซกันมาประกอบเพื่อสร้างคู่เปรียบให้ผู้อ่านเข้าใจและเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น โดยส่วนตัวเห็นว่าในช่วงที่ผู้แต่งอธิบายและบรรยายถึงความเสื่อมสลายของเซกัน ดูเหมือนเป็นการพยายามนำเสนอความคิดในประเด็นเรื่องสภาวะโลกร้อนไปพร้อมกัน โดยใช้เซกันเป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม และในบางครั้งก็จงใจมากจนดูเหมือนเป็นการนำความเห็นของผู้แต่งไป “ใส่ปาก” ให้ตัวละครพูดเรื่องนี้ออกมาบ่อยครั้ง เช่น คำพูดของโยรา (ตัวละครที่เป็นชาวเซกัน) ที่ว่า “...ที่นี่คือเซกันของเรา แต่เป็นเซกันในอดีตนะ โยราพูดพลางเดินไปลูบใบไม้อย่างสนใจ เขาไม่เคยได้สัมผัสต้นไม้อย่างนี้มานานแล้ว เซกันในปัจจุบันต้นไม้คือของมีค่า ทุกต้นถูกเก็บไว้ในสถาบันที่ถูกดูแลและควบคุมอย่างดีเพื่อผลิตอากาศให้กับคนทั่วทั้งเซกัน...” (เล่ม 4 หน้า 365)
นอกจากนี้ มุมมองหรือแง่มุมความรัก นับเป็นประเด็นสำคัญอีกประการที่ผู้แต่งได้เสนอและสอดแทรกอยู่โดยตลอดทั้งเรื่อง ความรักที่ปรากฏนั้นมีหลากหลายแง่มุมม ทั้งความรักที่สูงส่งที่สุดคือ ความรักต่อแผ่นดินและบรรพบุรรุษ ไม่ว่าจะเป็นคูมีรา สัตว์เวท และภูต ต่างๆ ความรักระหว่างพ่อแม่ที่มีต่อลูก ความรักระหว่างหนุ่มสาว ทั้งความรักที่สมหวังและผิดหวัง ความรักและมิตรภาพระหว่างเพื่อน หรือแม้แต่ความจงรักภักดีระหว่างนายกับบ่าว ในมิติของความรักเหล่านี้บางครั้งยังมีเรื่องของบทบาทและหน้าที่มากำกับไว้อีกทอดหนึ่ง เช่น ลีโอ และ เฟมีลล่าที่ต้องแยกกันอยู่และแยกกันทำงาน เพราะต่างมีหน้าที่ เช่นเดียวกับตาและยายของเฟมีลล่า หรือแม้แต่ท่านดีดาเรน และท่านคูมีร่า ก็เช่นกัน
แม้ว่าเรื่องเซวีน่าจะยังคงวนเวียนอยู่ในวังวนของโรงเรียนเวทมนตร์ แต่การใช้เวทมนตร์ในที่นี้ได้มีการกำหนดกติกาว่า ผู้ใช้ต้องอาศัยพลังธาตุที่มีอยู่ในตัวจึงจะสามารถศึกษาและพัฒนาพลังเวทได้ และพลังธาตุนอกจากจะมีอยู่ในคนเกือบทุกคนในเซวีน่า ก็ยังมีอยู่ในพื้นดินของรัฐทั้ง 7 ด้วย ซึ่งพลังธาตุดังกล่าวแบ่งได้เป็น 7 ธาตุ เท่าจำนวนรัฐ คือ ศิลาเวท วารีเวท วาโยเวท อัคคีเวท พฤกษาเวท เวทแห่งแสง และเวทแห่งรัตติกาล แต่ละธาตุก็มีทั้งเสริมกันและข่มกัน จึงทำให้นึกไปถึงการดูดวงของไทยและจีนก็มีความสัมพันธ์กับธาตุต่างๆในดวงชะตาด้วยเช่นกัน แต่อาจจะแบ่งต่างกัน เช่น ไทยแบ่งเป็น ดิน น้ำ ลม ไฟ ขณะที่จีนแบ่งเป็น ดิน ไฟ ไม้ น้ำ และทอง นอกจากจะมีการกล่าวถึงพลังธาตุและการใช้พลังเวทแล้ว ยังมีการกล่าวถึงภูตและสัตว์เวทต่างๆด้วย อาจกล่าวได้ว่าผู้แต่งไม่เพียงแต่จะกล่าวถึงดินแดนที่อบอวลไปด้วยเวทมนตร์เท่านั้น แต่ยังขยายขอบเขตของเรื่องออกไปยังมหานครสมัยใหม่ที่นับว่ายังอยู่ในกรอบของแฟนตาซี ไม่ว่าจะเป็นมหานครเซเว่นที่กำลังเจริญรุ่งเรืองด้วยเทคโนโลยีและความทันสมัยต่างๆ และยังมีการกล่าวถึง เซกัน นครที่กำลังเผชิญกับภาวะวิกฤต หลังจากที่มีการพัฒนาทางเทคโนโลยีอย่างเต็มที่ ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น นครคู่ขนานเหล่านี้นับเป็นอีกทางหนึ่งที่ทำให้เรื่องนี้แตกต่างและฉีกแนวจากนิยายแนวโรงเรียนเวทมนตร์เรื่องอื่นที่ส่วนใหญ่ก็มักจะดำเนินเรื่องเพียงแต่เฉพาะในโรงเรียน หรือในกรอบของดินแดนเวทมนตร์แต่เพียงอย่างเดียว แต่การผสานแฟนตาซีแนวเวทมนตร์เข้ากับความล้ำสมัยของเทคโนโลยีต่างๆ ก็จะเห็นว่าในท้ายที่สุดแล้ว ผู้แต่งก็สามารถผสานความลงตัวของจุดเด่นของทั้งสองแนวเข้าไว้ด้วยกัน ดังจะเห็นได้อย่างชัดเจนในเล่มที่ 4 และ 5 ที่นครแห่งเวทมนตร์เซวีน่าต้องอาศัยความช่วยเหลือของชาวเซกันเพื่อช่วยทำให้เวลาของมหานครเซวีน่ากลับมาเป็นปกติดังเดิม เช่นเดียวกับที่เซกันก็ต้องอาศัยความช่วยเหลือของท่านดีดาเลน และ กราเตรา เดอ กราฟ จากเซวีน่าเพื่อช่วยฟื้นฟูเซกันให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ดังเดิมด้วยเช่นกัน
ถ้าจะกล่าวว่าเหตุใดเซวีน่าแหวกแนวออกมาจากนิยายแฟนตาซีเรื่องอื่นๆ ในยุคเดียวกัน ก็น่าจะมาจากปัจจัยในหลายส่วนประกอบกัน ในเรื่องของการนำเสนอแนวคิดที่โดดเด่นชัดเจน ทั้งในเรื่องของความสมบูรณ์แบบของนครรัฐ หรือแม้แต่มุมมองอันหลากหลายในเรื่องของความรัก ดังที่อธิบายไปแล้วข้างต้น ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้อ่านเห็นว่านิยายเรื่องนี้มีสาระความคิดที่ลุ่มลึก และมีมุมมองที่สามารถนำมาปรับใช้เพื่อทำความเข้าใจชีวิตและสังคมรอบตัวได้อย่างแท้จริง อีกทั้งในการนำเสนอแนวคิดและแง่มุมต่างๆ ที่สามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตจริงได้นั้น ผู้แต่งมิได้เสนอเพียงแต่ด้านที่สวยงาม สมบูรณ์ และมีความสุขเท่านั้น แต่ได้นำเสนอด้านที่อยู่ตรงข้ามความสวยงามและความสมบูรณ์นั้นอยู่เสมอ เพื่อที่จะได้แสดงให้เห็นถึงทั้งสองด้านของเหรียญ ซึ่งการนำเสนอด้วยวิธีดังกล่าวช่วยให้เข้าใจแนวคิดที่ต้องการนำเสนอได้ชัดเจนขึ้น
นอกจากการนำเสนอแนวคิดที่โดดเด่นแล้ว กัลฐิดายังมีความสามารถทางภาษาไทย ดังจะเห็นได้จากการบรรยายที่ทำได้อย่างลื่นไหลทั้งการบรรยายฉาก ท่าทางการต่อสู้ และตัวละคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบรรยายลักษณะนิสัยของตัวละครจะพบว่า แม้ในเรื่องนี้จะมีตัวละครเป็นจำนวนมาก คือมีมากกว่า 50 ตัว แต่ผู้แต่งก็สามารถสร้างความเป็นตัวตนให้กับตัวละครเหล่านั้นได้ ทั้งบุคลิก หน้าตา นิสัย ท่าทาง กิริยา และการพูด ต่างก็มีลักษณะเด่นเฉพาะตน ลักษณะดังกล่าวนี้เองที่เป็นตัวช่วยอีกทางหนึ่งที่ทำให้ผู้อ่านจดจำตัวละครแต่ละตัวได้ แต่สิ่งที่น่าเสียดายคือ การบรรยายรูปร่างของตัวละครในเรื่องนี้ ผู้อ่านจะรู้แค่ว่าตัวละครตัวนี้ตาสีอะไร ผมสีอะไร ผิวขาว สูง เตี้ย อ้วน หรือผอม เท่านั้น เนื่องจากผู้แต่งบรรยายเฉพาะกรอบโครงหน้าตาไว้อย่างกว้างๆ จนไม่สามารถที่จะใช้จินตนาการนึกภาพตัวละครออกมาได้อย่างชัดเจน แต่สิ่งที่มากำกับหน้าตาของตัวละครเหล่านี้ก็คือคำคุณศัพท์ที่มาขยายความเท่านั้น เช่น สวย หล่อ หรือบางครั้งก็ต้องอาศัยภาพวาดจากหน้าปกหนังสือเป็นตัวกำกับจินตนาการแทน ซึ่งจะต่างจากการบรรยายลักษณะนิสัยที่ผู้เขียนใส่ใจที่จะให้คำอธิบายอย่างละเอียดจนสามารถที่จะรับรู้และช่วยให้สามารถสร้างจินตนาการตามไปได้อย่างไม่ยากนัก
การวิจารณ์เรื่อง เซวีน่า มหานครแห่งมนตรา ในที่นี้ มิได้มุ่งยกย่องให้เห็นเฉพาะข้อดีหรือจุดเด่นเท่านั้น เพราะมีองค์ประกอบบางประการที่ยังถือเป็นข้อบกพร่องอยู่ด้วยเช่นกัน นับตั้งแต่การตั้งชื่อตัวละคร อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าเรื่องนี้มีตัวละครเป็นจำนวนมาก แม้ว่าผู้แต่งจะสามารถสร้างตัวละครให้แต่ละตัวมีความแตกต่างกันได้ทั้งรูปร่าง หน้าตา ท่าทาง และนิสัย แต่การตั้งชื่อตัวละครเพื่อให้แสดงความสัมพันธ์กันในระหว่างเครือญาติให้ใกล้เคียงกันนั้นก็เป็นสิ่งที่สร้างความสับสนให้ผู้อ่านอย่างมาก เช่น ครอบครัวเฟมีลล่า มีสมาชิกที่ชื่อคล้ายกัน คือ เฟมีลล่า บางครั้งก็มีคนเรียกว่า เฟมีล หรือ เฟรม แม่ของเธอชื่อ เฟรล่า แต่ขณะที่ปลอมตัวเป็นป้าที่เลี้ยงดูในช่วงที่เฟมีลล่าเดินทางมาถึงเซวีน่าใหม่ๆ ชื่อ เฟลามีน และมีตาชื่อ ฟาร์มี จนบางครั้งอ่านผ่านไปแล้วยังจะต้องย้อนกลับมาอ่านอีกครั้ง ว่าผู้เขียนต้องการหมายถึงตัวละครตัวใดกันแน่
แม้ว่าในการบรรยายนิสัยของตัวละคร ผู้แต่งจะทำได้อย่างดี แต่เมื่อตัวละครส่วนใหญ่ในเรื่องยังหนีไม่พ้นตัวละครแบบฉบับหรือตัวละครในขนบเดิมๆที่ว่าตัวละครเอกชายต้อง หล่อ เก่ง รวย (ในแง่ทรัพย์สินและความสามารถ) ในขณะที่ตัวละครเอกหญิงก็ต้องสวย รวย เก่ง ไม่แพ้กัน ซึ่งผู้เขียนเองก็คงไม่กล้าที่จะแหวกขนบเหล่านี้ออกมา แต่เรื่องนี้ยังมิใช่ประเด็นหลักที่จะกล่าวถึงในที่นี้ เพียงแต่ต้องการที่จะตั้งข้อสังเกตไว้เท่านั้นเอง แต่ประเด็นที่ต้องการกล่าวถึงก็คือความบังเอิญของตัวละคร จะเห็นได้ว่านับตั้งแต่เริ่มก่อสร้างเซวีน่าเมื่อ 3,000 ปีที่ผ่านมา ในช่วงเวลาดังกล่าวก็มีบุคคลที่เก่งมากในทุกรัฐรวมตัวกันอย่างพร้อมมูลแล้ว ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญทั้งในส่วนของเจ้าผู้ครองรัฐ สัตว์ภูต หรือผู้ถือครองอัญมณี ซึ่งดูจะเป็นความบังเอิญที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ เช่นเดียวกับสามพันปีให้หลัง คนที่มีความสามารถก็มีเหตุให้มารวมตัวกันอีกครั้งที่โรงเรียน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพื่อนร่วมชั้นของเฟมีลล่า ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือครองอัญมณี ที่ประกอบไปด้วย เฟมีลล่า ลีโอ และเพื่อนอีก 3 คน ซึ่งเท่ากับว่ามีผู้ถือครองอัญมณี 5 คนจาก 7 คน และบางครั้งก็ให้ทั้งเฟมีลล่าและลีโอ สามารถถือครองและใช้อัญมณีคนละ 2 ชิ้น ก็เท่ากับว่ามีผู้ถือครองอัญมณีครบทั้ง 7 ชิ้นพอดี หรือในกรณีที่มีผู้ครองแคว้นถึง 2 คนในรุ่นนี้ คือ ลีโอ กับ เซอร์รัส จึงนับเป็นเรื่องยากที่จะเชื่อได้ว่าคนเก่งระดับอัจฉริยะเช่นนี้จะมารวมตัวกันอย่างพร้อมมูลเช่นนี้ อีกทั้งพวกเขาทั้งหมดยังเรียนอยู่ชั้นเดียวกันอีก นี่กล่าวเฉพาะตัวอย่างของผู้ถือครองอัญมณีและเจ้าครองแคว้นเท่านั้น ยังไม่รวมถึงเพื่อนของเฟมีล่าที่ยังมีอีกหลายคนที่เป็นอัจฉริยะในด้านอื่นๆด้วย โดยส่วนตัวผู้วิจารณ์เห็นว่าผู้เขียนน่าจะกระจายตัวละครเก่งๆเหล่านี้ไปอยู่ในกลุ่มของรุ่นพี่ รุ่นน้องบ้างก็ได้ ไม่ใช่นำมารวมอยู่ในชั้นปีเดียวกันเกือบทั้งหมดเช่นนี้ ซึ่งดูจะเป็นเรื่องบังเอิญเกินกว่าจะเกิดขึ้นได้จริง
การสร้างคู่เปรียบระหว่าง ซีเลส อินดิโก้ กับเฟมีลล่า ที่ตลอดเรื่องตั้งแต่เล่ม 1 ถึง เล่ม 3 ผู้แต่งพยายามที่จะชี้ให้เห็นว่าคนทั้งคู่ต่างเป็นคนเก่งที่ต้องสูญเสียเหมือนกัน ดังนั้น เฟมีลล่าจึงเป็นคนที่จะสามารถจะเข้าใจซีเลสได้อย่างดีที่สุดและเป็นผู้เหมาะสมตามคำพยากรณ์ของท่านคูมีร่า ว่าจะเป็นผู้มาแก้ไขให้เซวีน่าเกิดความสมบูรณ์ แต่ผู้วิจารณ์เห็นบุคคลทั้งสองต่างกันอย่างสิ้นเชิง แม้ว่าทั้งคู่ต้องประสบเหตุการณ์บางอย่างในชีวิตคล้ายกัน แต่เฟมีลล่าไม่น่าจะเข้าใจความรู้สึกของซีเลสได้ เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา ซีเลสเป็นคนที่มีพร้อมสมบูรณ์ทุกด้านทั้งฐานะและความสามารถ กลับต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักของตนไปเรื่อยๆ จนก่อให้เกิดการบ่มเพาะความเกลียดชังให้ทบทวีคูณขึ้นตามกาลเวลาที่ผ่านไป จึงต่างจากเฟมีลล่าที่เริ่มจากผู้ที่ไม่มีอะไร (ตามความรู้สึกของเธอก่อนที่จะรู้ความจริง) และค่อยๆเพิ่มคนที่รักเธอมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันก็ได้พ่อ แม่ ตา ยาย และครอบครัวของเธอคืนกลับมา เฟมีลล่าจึงน่าที่จะเป็นทางกลับหรือด้านตรงข้ามของเซเลสมากกว่า หรือในตอนท้ายที่ผู้แต่งพยายามที่จะทำให้เราเชื่อว่าเฟมีลล่าเข้าใจความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของซีเลส เมื่อเขาเสีย ดีเลน่า หญิงอันเป็นที่รักไป เช่นเดียวกับเฟมีลล่าในขณะที่คิดว่าลีโอตายจากเธอไปแล้ว แต่การสูญเสียของคนทั้งคู่ก็ยังต่างกันอยู่ดี นั่นคือในขณะที่ซีเลสสูญเสียไปเขาไม่ได้รับรู้เหตุผลเบื้องหลังที่ ดีเลน่า ตัดสินใจยอมตายเพื่อจะกลายเป็นร่างภูต ในขณะที่เฟมีลล่ารับรู้ถึงความรักอันเต็มเปี่ยมของลีโอและพร้อมที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปด้วยสัญญาที่ว่า แม้ใครคนหนึ่งจะตายจากไป แต่คนที่เหลือจะต้องมีชีวิตอยู่ต่อไปให้ได้ เพื่อรักษาความรักของคนตายจากไปให้คงอยู่ ดังเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมดแล้วจึงทำให้ผู้วิจารณ์ไม่เชื่อหรือคล้อยตามผู้เขียนที่พยายามสื่อและชี้นำในประเด็นนี้ เพราะเห็นต่างมุมกันมาโดยตลอด
การสร้างปริศนานับเป็นความชื่นชอบที่ผู้แต่งนิยมนำมาใช้ในการดำเนินเรื่อง แต่ปริศนาที่ใช้นั้นบางครั้งก็เป็นปริศนาสากลที่ผู้อ่านสามารถเข้าไปมีส่วนในการร่วมขบคิดและค้นหาไปพร้อมๆกับตัวละคร เช่น การไขปริศนาในช่วงที่เฟมีลล่าเข้าไปอยู่ในบ้านที่เซวีน่าใหม่ๆ แต่ต่อมาเมื่อผู้แต่งใช้ปริศนาที่ซับซ้อนขึ้น ขณะเดียวกันก็พยายามที่จะกุมความลับต่างๆของเรื่องไว้ โดยค่อยๆเปิดออกมาทีละนิดๆ นั้น ในบางครั้งปริศนาที่ซับซ้อนเหล่านั้นก็มีแต่ผู้แต่งเท่านั้นมีสนุกกับการสร้างและการไขปริศนาแต่เพียงลำพัง โดยเฉพาะปริศนา 12 ชิ้น ในเล่มที่ 5 นั้น ผู้อ่านไม่สามารถทำหน้าที่เป็นหนึ่งในผู้ไขปริศนาได้ เพราะปริศนาที่สร้างขึ้นนั้นมิใช่ปริศนาสากล แต่เป็นปริศนาที่สร้างขึ้นบนเงื่อนไขของคำสัญญาระหว่าง ดีดาเรน กับผู้ถือครองความลับที่จะรู้กันเฉพาะสองฝ่ายเท่านั้น ในแง่นี้ ผู้อ่านจึงทำหน้าที่เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ที่เฝ้าดูเหตุการณ์และเรื่องราวที่เกิดขึ้นและกำลังดำเนินไปเท่านั้นเอง แต่ไม่ได้มีส่วนร่วมเหมือนอย่างในเล่มที่หนึ่ง และในบางครั้งการที่ผู้แต่งพยายามที่จะซ่อนเงื่อนงำหรือความลับต่างๆ ก็สร้างความสับสนและความงุนงงให้กับผู้อ่านได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความตั้งใจของ โยราเน่ เอ็ดกราด หรือ โยรา จากเซกันที่มีความปรารถนาบางประการในการเดินทางมายังเซวีน่าในครั้งที่สองนี้ จนบางครั้งก็ส่งผลให้โยรากลายเป็นคนไม่อยู่กับร่องกับรอย และมีบุคลิกที่สับสนด้วย
หากกล่าวโดยสรุปก็คงต้องยอมรับว่า เซวีน่า มหานครแห่งมนตรา นับเป็นนิยายแฟนตาซีที่น่าสนใจ เพราะไม่เพียงแต่จะสามารถแหวกออกมาจากนิยายแนวแฟนตาซีเรื่องอื่นในยุคนี้ได้ แต่กัลฐิดายังสามารถสร้างความเป็นเอกลักษณ์ให้กับนิยายเรื่องนี้ ทั้งในแง่แนวคิด และเรื่องราวที่นำเสนอ อีกทั้งยังมีความสามารถในเชิงภาษาบรรยาย สร้างเสน่ห์ให้กับเรื่องได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการสร้างชีวิตให้กับตัวละครทุกๆตัว จนทำให้ตัวละครบางตัวกลายเป็นที่รักและชื่นชอบของผู้อ่าน รวมทั้งการสร้างฉากต่อสู้ที่งดงามประดุจร่ายรำของเฟมีลล่าที่ต่างกันไปในทุกๆครั้ง ผู้วิจารณ์เชื่อว่าหากมีผู้นำนิยายเรื่องนี้ไปแปลเป็นภาษาต่างประเทศก็น่าที่จะสู้กับงานของนักเขียนแฟนตาซีจากต่างชาติได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสนุกสนานและน่าติดตามของเรื่อง ขณะเดียวกันผู้แต่งก็ยังสอดแทรกปรัชญาความคิดที่เป็นสากล ทั้งเรื่องการดูแลสมดุลของโลก และสิ่งแวดล้อม หรือแนวคิดที่เชื่อว่าโดยธรรมชาติ สิ่งต่างๆหรือเรื่องราวต่างๆในโลกจะมีสองด้านอยู่เสมอ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะพิจารณาจากแง่มุมใด ขณะเดียวกันก็ไม่ลืมที่จะนำเสนอเรื่องราวใกล้ตัวผู้อ่าน โดยเฉพาะประเด็นในเรื่องความรักในมิติต่างๆ จึงอาจกล่าวได้ว่า เซวีน่าให้ทั้งแง่คิดและความสนุกไปพร้อมๆกัน
----------------------------------
ความคิดเห็น