คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #16 : The secret tale of the silver snowflake
The secret tale of the silver snowflake ของ rainforest ขณะนี้เพิ่งจะลงถึงตอนที่ 10 เท่านั้น เป็นการเสนอเรื่องราวของเจ้าหญิงเอลินน่า เมราเฟีย ที่ต้องหนีการตามล่าของกษัตริย์องค์ปัจจุบันที่ใช้กำลังยึดอำนาจและประหารพระบิดาและพี่น้องของเธอจนหมดสิ้น เธอต้องหนีมาอาศัยอยู่กับครอบครัวของเนอาร์ ชายคนรักที่ปกป้องเธอและเกล็ดหิมะสีเงินที่แสดงสิทธิ์การเป็นกษัตริย์แห่งโฟร์วาร์ดโดยสมบูรณ์ไว้จนตัวตาย
จาก 10 ตอนที่ได้อ่านนั้น ผู้วิจารณ์กำลังสงสัยว่า rainforest ได้ตั้งโครงเรื่องและแก่นเรื่องที่จะนำเสนอไว้ล่วงหน้าหรือไม่ เพราะในช่วงแรกนั้นเรื่องจะมีแนวของโศกนาฏกรรมที่เน้นความสูญเสียของนางเอกทั้งครอบครัวและคนรัก มิหนำซ้ำยังต้องหนีออกจากพระราชวังมาตกระกำลำบาก เพื่อหลบหนีการตามล่าของนักฆ่าและมือสังหารจากทั่วแผ่นดินที่กษัตริย์องค์ใหม่ส่งมา แต่ตั้งแต่ตอนที่ 3 เป็นต้นไป เรื่องก็เริ่มจะกลายเป็นเรื่องแนวโรงเรียนเวทมนตร์ยอดนิยมไปอีก เพราะนางเอกได้รับจดหมายเชิญให้ไปสอบเข้าโรงเรียนนานาศาสตร์โอฟอล์ก เนื่องจากมีพลังเวท ผลงาน และความสามารถมากพอจนมีคุณสมบัติเหมาะสม พอมาถึงตอนที่ 10 ก็เปิดตัวจอมมาร ที่มีเป้าหมายจะทำลายโรงเรียนนานาศาสตร์โอฟอล์ก ตอนนี้ผู้วิจารณ์เริ่มงงแล้วว่าแก่นเรื่องหลักที่ผู้เขียนอยากเสนอคืออะไร เพราะจุดเน้นในแต่ละตอนเริ่มแยกออกจากกันเรื่อยๆ จนมองไม่ออกว่าท้ายที่สุดแล้วอะไรสำคัญกว่ากัน หลบหนี แก้แค้น เรียนที่โอฟอล์ก หรือต้องกำจัดจอมมาร จึงอยากเสนอว่าผู้เขียนน่าจะเลือกแก่นเรื่องและโครงเรื่องหลัก อย่างใดอย่างหนึ่งให้ชัดเจนมากกว่านี้
นอกจากนี้ การสร้างตัวละครของผู้เขียนก็ยังไม่ชัดเจน มีข้อมูลของตัวละครที่ขัดกันหลายตอน อีกทั้งมีคำพูดหรือการกระทำของตัวละครบางตัวที่ดูไม่เหมาะกับอายุ โดยเฉพาะเรื่องราวความรักและการพลัดพรากระหว่างเอลินน่ากับเนอาร์ที่เกิดขึ้นขณะที่เขาทั้งคู่อายุประมาณ 8-9 ขวบ ซึ่งดูเหมือนว่าคำพูดและความคิดของทั้งสองมีวุฒิภาวะสูงกว่าที่ควรจะเป็นอย่างมาก ความคิดและคำพูดเช่นนี้น่าจะเหมาะกับตัวละครที่อายุมากกว่านี้ อย่างน้อยก็ 15 ปีขึ้นไป เช่น ฉากที่เอลินน่าหวนนึกไปถึงนาทีสุดท้ายที่เนอาร์กำลังจะจากไปว่า “เพราะหน้าที่กับความรักเป็นเหมือนเส้นขนานที่ไม่มีวันบรรจบ เพราะหน้าที่ทำให้เธอต้องทิ้งเขา เพราะสายเลือดบังคับให้เธอต้องทำเหมือนคนไม่มีหัวใจ แล้วเลือกที่จะมองข้ามเขาไป...ต้องทิ้งเขาไปแล้วไปตามเส้นทางที่มีคนขีดไว้ให้เราเดิน หน้าที่ของเธอคงจะมีเพียงแค่นั้น....” หรือ ฉากที่เนอาร์สั่งเสียเอลินน่าก่อนตายว่า “…ขอให้เจ้ามีความสุข พบแต่สิ่งดีๆ จากนี้และตลอดไป ข้ารักเจ้า รักมาก รักอย่างที่ข้าไม่เข้าใจว่าทำไมคนคนหนึ่งถึงรักผู้หญิงคนหนึ่งได้ขนาดนี้...ตราบใดที่ฟ้ายังมีแสงดารา ใจข้าก็ยังมีเจ้าอยู่ หากหาดทรายยังคู่ทะเล ข้าก็ยังอยู่ข้างเจ้า...” ผู้วิจารณ์คิดว่าเหตุผลที่ต้องกำกับให้เนอาร์และเอลินอายุเท่านี้ เพราะตอนต่อมาผู้เขียนกำหนดให้เอลินได้รับการทาบทามให้ไปสอบเข้าโรงเรียนนานาศาสตร์โอฟอล์ก อีกเหตุการณ์ที่เห็นว่าไม่เหมาะกับอายุของเอลินอย่างมากคือ การที่ผู้เขียนบรรยายว่า “…คนอย่างเอลิน่า เมราเฟียไม่เคยกลัวทหารเป็นกองพัน ไม่เคยบ่นเวลาต้องทำงานหนักๆ ไม่เคยว่าเวลาต้องวางแผนเศรษฐกิจของบ้านเมือง ไม่เคยหวาดกลัวคมดาบนับร้อยที่จะมาทางตน” การที่เด็กอายุ 8 ขวบต้องต่อสู้กับทหารเป็นกองพันนั้น แม้ว่าจะมีกำลังใจต่อสู้อย่างไร แต่พลังกายก็ไม่น่าเอื้อให้กระทำได้สำเร็จ และเหตุการณ์ที่ไม่น่าเป็นไปได้มากที่สุดคือการที่เอลินจะเป็นผู้วางแผนเศรษฐกิจ เพราะนั่นแสดงว่าต้องมีประสบการณ์วางแผนมาก่อนที่ราชวงศ์ของเธอจะโดนยึดอำนาจ คือตั้งแต่อายุไม่ถึง 8 ขวบ
การบรรยายเกี่ยวกับเนอันก็เช่นกัน ผู้วิจารณ์เห็นว่า rainforest อาจจะลืมไปแล้วว่า ในบทนำเปิดตัวเนอันว่าเป็น เด็กหนุ่มผิวขาว โครงหน้าดูดีจนไม่น่าเชื่อ ผมสีขาวปนเทา นัตน์ตาสีชาดูลึกลับน่าค้นหา แต่ตั้งแต่บทที่ 1 เป็นต้นมาลักษณะของเนอันที่เสนอไว้นั้นต่างจากในบทนำอย่างสิ้นเชิง จนดูเหมือนว่าเนอันในบทนำกับเนอันหลังจากนั้นเป็นคนละคนกันก็ว่าได้ เพราะเนอันคนใหม่มีเรือนผมสีน้ำตาลเข้ม นัยน์ตาสีชาขี้เล่น ผิวไม่จัดว่าขาวมากแต่ก็ไม่คล้ำจนเกินไป งี่เง่า และเถรตรง ในประเด็นเรื่องงี่เง่าและเถรตรงก็สะกิดใจอย่างมาก เพราะคนที่งี่เง่าและเถรตรง ไม่น่าจะเป็นคนที่กวนประสาทอย่างร้ายกาจได้เหมือนกับที่ผู้เขียนพยายามสร้างภาพให้เนอันเป็นมาโดยตลอด
ยิ่งไปกว่านั้น ความสมเหตุสมผลของเรื่องก็ดูอ่อนมาก เนื่องจากมีหลายตอนที่ดูเหมือนว่าผู้เขียนลืมข้อกำหนดที่ตนตั้งไว้เองในบทหรือตอนก่อนๆ ไม่ว่าจะเป็นการพยายามจะแสดงให้เห็นว่าเอลินต้องตกระกำลำบาก จนต้องเปลี่ยนชื่อเป็นเอลิน ฮาร์ไมล์ แทน เอลินน่า เมราเฟีย และต้องนอนบนกองฟาง อยู่ในบ้านที่ซอมซ่อประตูใกล้จะพัง เก้าอี้ก็ขาหัก เพื่อไม่ให้เป็นจุดสังเกตจากนักฆ่าและมือสังหารที่ถูกส่งมาตามล่าได้ จึงน่าแปลกที่ว่าคนที่พยายามปกปิดฐานะของตัวเองขนาดนี้แล้ว เหตุใดราชสำนักโอฟอล์กถึงส่งจดหมายเชิญเข้าโรงเรียนนานาศาสตร์โอฟอล์กมาถึงบ้านได้ถูกที่ และสามารถระบุได้ว่าเอลินเป็นผู้มีพลังเวท ผลงาน และความสามารถเหมาะสมได้ หรือตอนที่ต้องเดินทางจากบ้านไปเตรียมสอบเข้าโรงเรียนโอฟอล์กนั้น แทนที่จะเดินทางไปอย่างเงียบๆ เพื่อไม่ให้เป็นที่สังเกต แต่กลับใช้เกวียนเทียมม้าที่โดดเด่นมาก จนในฉากนั้นบรรยายไว้ว่า “หนึ่งในนั้นคือเกวียนเทียมม้าสีขาวที่เด่นเป็นสง่าอยู่ท่ามกลางเกวียนเทียมม้าเล่มอื่นๆ”
เช่นเดียวกับที่ระบุไว้ว่าเกล็ดหิมะสีเงินถือเป็นสมบัติของตระกูลเมสฟาของเนอัน ที่
เนอาร์ได้รับคำสั่งจากพ่อให้ดูแลให้ดีและต้องมอบให้เอลินต่อไป จึงทำให้สงสัยว่าเพราะเหตุใดของประจำตระกูลเมสฟา จึงกลายเป็นสมบัติที่แสดงความเป็นกษัตริย์แห่งโฟร์วาร์ดด้วย นอกจากนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเกล็ดหิมะสีเงินก็น่าที่จะต้องทราบประวัตินี้เช่นกัน ดังนั้น สถานที่ที่ไม่ปลอดภัยที่สุดในการซ่อนตัวก็น่าจะเป็นบ้านของตระกูลเมสฟานั่นเอง เพราะกษัตริย์องค์ปัจจุบันก็น่าที่จะต้องมาตามทวงเกล็ดหิมะสีเงินที่ตระกูลนี้ด้วยเช่นกัน แต่เหตุใดผู้เขียนยังเลือกให้เอลินน่าปลอมตัวและมาพักกับคนในตระกูลนี้และต้องใช้เวลานานถึง 3 ปี กว่าที่นักฆ่าจะตามเอลินน่าจนพบ
แต่อย่างไรก็ดี ผู้วิจารณ์เห็นว่า rainforest พยายามเลือกคำมาใช้ในภาษาบรรยาย ไม่ว่าจะเป็นการบรรยายบรรยากาศ ฉาก หรือตัวละครเพื่อช่วยสร้างจินตนาการให้ผู้อ่าน และก็สามารถบรรยายได้ดีจนเห็นภาพได้ แต่บทบรรยายบางตอนก็ยังอ่านสะดุดไม่ลื่น ซึ่งน่าจะมีสาเหตุมาจากผู้เขียนเลือกใช้ศัพท์บางคำที่สูงเกินหรือแปลกแยกจากคำอื่นๆในประโยคมากเกิน ไป เช่น “หากสิ่งที่ต่างออกไปคือทางที่ผ่านมาไม่เคยมีคราบน้ำตาแห่งความระทมทุกข์ แต่ครั้งนี้อัสสุชลจากนัยน์ตาสีเพลิงกำลังไหลรินออกมาอย่างไม่มีทีท่าว่าสิ้นสุดเมื่อใด” ในประโยคนี้ไม่เหมาะที่จะใช้คำว่าอัสสุชล น่าจะใช้คำว่าน้ำตาแทนดีกว่าเพื่อให้เข้ากับระดับของคำอื่นๆ ในประโยค หรือ “ซากมีดสั้นลอยคว้างในอากาศก่อนจะตกลงสู่พสุธาในทันใด” คำว่าพสุธาก็ควรจะใช้คำว่าพื้นดินก็พอแล้ว ทั้งนี้ การใช้ประโยคในลักษณะเช่นนี้จะปรากฏกระจายอยู่โดยตลอดเรื่อง
การที่ rainforest การพยายามย้ำให้เห็นภาพความทะเล้น ขี้เล่น และกวนประสาทอย่างเหลือร้ายของเนอัน เอลินที่ใจร้อน และเก่ง มักจะทนการกวนประสาทของเนอันไม่ได้จนต้องทะเลาะกันเป็นประจำ รวมทั้งความโหดและช่างแกล้งน้องของเนเรีย ผู้วิจารณ์เห็นว่า การที่ผู้เขียนสามารถสร้างบุคลิกและลักษณะนิสัยของตัวละครเหล่านี้อย่างชัดเจน จนผู้อ่านสามารถรับรู้ได้นั้นเป็นเรื่องดี แต่การเน้นภาพเหล่านี้มากเกินไปพบได้เกือบทุกตอน บางครั้งก็สร้างความเบื่อและรำคาญได้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้จึงเห็นว่าไม่ต้องให้เนอันออกมากวนประสาททุกคนตลอดเวลาก็ได้ หรือไม่ต้องให้เอลินกันเนอันทะเลาะกันทุกครั้งที่เจอหน้าบ้างก็ได้ เพราะบรรยายเพียง 2- 3 ฉากแรก ผู้อ่านก็จำบุคลิกอันเป็นเอกลักษณ์ของตัวละครเหล่านั้นได้แล้ว
ในกรณีของการสะกดคำของผู้เขียน ก็พบว่ามีคำผิดอยู่เป็นจำนวนมากเช่นกัน มีทั้งคำที่เขียนผิดเสมอๆ เช่น แซฟไฟร์ จะมีทั้งที่เขียนว่า ซัฟฟาย แซฟไฟร์ ซัฟฟายล์ แซฟไฟร์ส์ กะพริบตา เขียนเป็น กระพริบตา เจ๊ เขียนเป็น เจ้ สักพัก เขียนเป็น ซักพัก เวทมนตร์ เขียนเป็น เวทมนต์ และมีคำอื่นๆที่สะกดตกหล่นหรือมีพยัญชนะที่เกิดมาด้วย เช่น คคาถา วว่า โรงรม (โรงเรียน) หรือ รัติกาล (รัตติกาล) นอกจากนี้ยังมีการใช้คำผิดความหมายด้วย คำที่ชัดเจนที่สุดคือคำว่า “กบฏ” ในตอนที่ 2 เนื่องจากคำว่ากบฏจะใช้กับผู้ก่อการที่กระทำการไม่สำเร็จ แต่ในกรณีนี้สามารถกระทำสำเร็จ จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนคำไปใช้คำว่า “การใช้กำลังยึดอำนาจ” หรือ “ปฏิวัติ” แทนก็จะตรงกับความหมายที่ต้องการสื่อมากขึ้น อีกทั้งเห็นว่าผู้เขียนน่าจะเปลี่ยนคำว่า “คิง” เป็นกษัตริย์และตามด้วยชื่อมากกว่า เพราะแต่เดิมก็เรียกผู้ครองอาณาจักรว่ากษัตริย์และตามด้วยชื่อของพระองค์นั้นๆ อยู่แล้ว เช่น กษัตริย์นาธาน (พระราชบิดาของ
เอลิน่า)
ผู้วิจารณ์ขอเสนอว่าผู้เขียนควรหาโอกาสกลับไปอ่านทบทวนเรื่องที่เขียนมาตั้งแต่ต้นอีกครั้ง ก็น่าจะมองเห็นข้อบกพร่องต่างๆทั้งที่นำเสนอไว้แล้ว และมีอีกบางส่วนที่ไม่ได้เสนอไว้ในที่นี้ แล้วลองปรับแก้ดู ก็น่าจะทำให้เรื่องลื่นไหลและสมเหตุผลมากขึ้นกว่านี้
--------------------------------------
ความคิดเห็น