ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    วิจารณ์นิยาย

    ลำดับตอนที่ #15 : ร้ายสุดขั้ว ชั่วสุดขีด ยกกำลัง 2

    • อัปเดตล่าสุด 9 ส.ค. 55



    ลิงก์นิยาย http://writer.dek-d.com/prem2009/story/view.php?id=536213

    นิยายหมวดสบายๆคลายเครียด เรื่อง ร้ายสุดขั้ว  ชั่วสุดขีด  ยกกำลัง 2   ของ เปรม 2009 แตกต่างจากนิยายเรื่องอื่นตรงที่ผู้เขียนได้แรงบันดาลใจมาจากนิยายเรื่อง ร้ายสุดขั้ว ชั่วสุดขีด เล่ม 1-4 ของใบสน  จนแต่งเรื่องนี้เพื่อจะเป็นภาคลูกๆ ของตัวละครต่อจากเรื่องดังกล่าว  ขณะนี้นิยายโพสต์ถึงตอนที่ 24  แต่เรื่องราวจริงๆ เพิ่งดำเนินไปถึงบทที่ 21 เป็นเรื่องราวชีวิตและความรักของแก๊งนักเรียนชั้นมัธยมของโรงเรียนแห่งหนึ่ง  ที่แบ่งออกเป็นแก๊งคนที่ชั่วที่สุด หรือ แก๊งพี่ชายและแก๊งน้องชาย  และแฟนสาวของสมาชิกแก๊งพี่ชายจะเรียกว่าแก๊งพี่สาว ส่วนแฟนสาวของแก๊งน้องชายก็คือแก๊งน้องสาว
      ซึ่งเนื้อเรื่องหลักนั้นเน้นที่แก๊งน้องชายและแก๊งน้องสาว

    เมื่อนิยายเรื่องนี้นำเสนอชีวิตของแก๊งนักเรียนชายชั้นมัธยม  จึงหนีไม่พ้นเรื่องของความรุนแรงและการยกพวกตีกัน  ซึ่งก็ยอมรับได้ในกรอบของเนื้อหาที่นำเสนอ  แม้เรื่องราวจะเป็นเรื่องของแก๊งเด็กซ่าในโรงเรียน  แต่ผู้เขียนก็นำเสนอภาพชีวิตอันเป็นปกติสามัญของพวกเขาในมุมอื่นด้วยนอกเหนือจากการทะเลาะวิวาท  ข้อดีประการหนึ่ง คือ การเสนอฉากความรุนแรงของการยกพวกตีกันระหว่างโรงเรียนของกลุ่มนักเรียนชาย มีน้อยและไม่รุนแรงมากนัก 

    ขณะเดียวกัน  ผู้วิจารณ์ก็ไม่ทราบว่าผู้เขียนมีเหตุผลใดที่นำเสนอฉากการตบตีและทะเลาะวิวาทของนักเรียนหญิงบ่อยครั้ง และรุนแรงมากกว่ากลุ่มนักเรียนชาย   การทะเลาะตบตีส่วนใหญ่จะมีสาเหตุสำคัญเพียงประการเดียว คือความอิจฉาที่อีกฝ่ายได้อยู่ใกล้ชิดกับผู้ชายที่ตนสนใจ   ผู้ที่เริ่มลงมือกระทำรุนแรงมักจะเป็นเพียงผู้ที่แอบรักนักเรียนชายบางคนอยู่ และอิจฉาที่อีกฝ่ายมีโอกาสได้ใกล้ชิดมากกว่าตน  โดยเฉพาะแพทและพวก จะอิจฉาเรย์และเพื่อนของเธอ กลุ่มของเรย์จะถูกรุมทำร้ายทุกครั้งที่พบหน้ากัน  จนดูราวกับว่าการกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องปกติสามัญที่สามารถเกิดขึ้นได้ภายในโรงเรียน  โดยไม่มีมาตรการป้องกันใดๆ เลย  เมื่อผู้เขียนเองก็ไม่ได้เน้นฉากการทะเลาะวิวาทแม้จะเป็นการเสนอเรื่องของแก๊งเด็กนักเรียนชาย ดังที่กล่าวถึงแล้วข้างต้น  ผู้เขียนก็ไม่ควรต้องเน้นฉากการทะเลาะกันของนักเรียนหญิงด้วยเช่นกัน  ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงควรจะตัดฉากเหล่านั้นออกบ้าง  หรือถ้าจำเป็นต้องมี ก็ควรลดความรุนแรงลง โดยไม่จำเป็นต้องอธิบายรายละเอียดของการตบตี  หรืออาจจะเพียงบรรยายให้เห็นภาพกว้างของการทะเลาะกัน  ดังเช่นการทะเลาะของแก๊งน้องชายในช่วงต้นก็ได้ 

                ความโดดเด่นของเรื่องนี้คือ ผู้เขียนสามารถที่จะสร้างลักษณะนิสัยและบุคลิกลักษณะของตัวละครแต่ละตัวได้อย่างชัดเจนและโดดเด่น   จนผู้อ่านจำตัวละครได้เป็นอย่างดี  ทั้งๆที่ตัวละครในเรื่องมีมากกว่า 10 ตัว  และตัวละครเหล่านี้ยังช่วยสร้างสีสันให้กับเรื่องอีกด้วย  แต่สิ่งหนึ่งที่ยังติดใจอยู่คือ  แม้ว่าผู้เขียนจะกำหนดให้เซฟ และเซียน เป็นคนยุติธรรมและมีน้ำใจ  ไม่สามารถทนเห็นคนที่อ่อนแอกว่าถูกรังแกได้  แต่ในกรณีที่ทั้งสองคนตัดสินใจมีเรื่องทะเลาะวิวาทกันนับตั้งแต่วันแรกที่ย้ายโรงเรียนมานั้น เหมาะสมแล้วหรือ   เพราะก่อนหน้านี้  ผู้เขียนเองก็บรรยายไว้อย่างละเอียดว่าทั้งเซฟและเซียนเสียใจมากที่ต้องถูกไล่ออกจากโรงเรียนเดิมเพราะเหตุทะเลาะวิวาท  และดีใจที่มีโอกาสได้เรียนในโรงเรียนใหม่นี้  ซึ่งเงื่อนไขของการเข้าเรียนคือการเป็นนักเรียนทุน  การทะเลาะวิวาทในโรงเรียนนั้นน่าจะเป็นข้อห้ามลำดับต้นๆ ที่นักเรียนทุนไม่สามารถละเมิดได้  จึงเห็นว่าเหตุผลที่จะทำให้ทั้งคู่ยอมละเมิดกฎน่าจะใหญ่หรือสำคัญกว่านี้  เช่นการป้องกันตัว หรือการปกป้องคนในครอบครัวของตนเมื่อถูกทำร้ายน่าจะเหมาะสมกว่า

              ข้อบกพร่องอีกประการที่พบคือ  เรื่องนี้มีบทสนทนาเรียงต่อกันเป็นจำนวนมากจนดูว่าน่าจะเป็นบทละครมากกว่านิยาย  หากเทียบสัดส่วนระหว่างบทสนทนากับบทบรรยายจะพบว่ามีจำนวนบทสนทนามากกว่า 80% ของเนื้อเรื่อง   ผู้เขียนสามารถแก้ข้อบกพร่องนี้ด้วยการเพิ่มปริมาณบทบรรยายให้มากขึ้น  บางตอนไม่จำเป็นต้องเขียนเป็นบทสนทนาแต่ใช้บทบรรยายอธิบายเนื้อความในส่วนนั้นแทนก็ได้  เช่น ฉากที่แม่ปลุกฟ้า  ไม่ต้องทำเสียงแม่ตะโกน และฟ้าขานรับ  แต่เปลี่ยนเป็นการบรรยายว่า ทุกวันแม่ต้องปลุกเขาและพ่อเงินเป็นประจำอย่างไร   หรือเปลี่ยนบทสนทนาในฉากที่เซฟ  เซียน และ เซลล์ไปรายงานตัวกับอาจารย์ที่โรงเรียนใหม่   เป็นการคิดคำนึงของตัวละครตัวหนึ่งตัวใดก็ได้  ว่าก่อนเข้าห้องเรียนได้ไปรายงานตัว และอาจารย์มีปฏิกิริยากับพวกเขาอย่างไร

     นอกจากนี้  ผู้วิจารณ์เห็นว่า ผู้เขียนไม่จำเป็นต้องใส่ชื่อตัวละครนั้นไว้ในวงเล็บเพื่อจะบอกผู้อ่านว่าตอนนี้กำลังจะกล่าวถึงบทของตัวละครตัวใด  เช่น (sean) (nanfha talk) หรือ (kay talk)  เนื่องจากเนื้อความในตอนนั้นๆ สามารถสื่อความให้ผู้อ่านทราบอยู่แล้วว่าขณะนี้กำลังนำเสนอเรื่องของใคร  จึงควรจะตัดการบอกใบ้ในลักษณะนี้ออกไป   เช่นเดียวกับการตัดประโยคต่อว่าหรือแซวผู้เขียนเองที่เพิ่มเข้ามา เช่น ในที่สุด - -ฉัน น้ำค้าง ปลื้ม เซียน เซลล์ และก็เดนท์ ก็มาถึงโรงอาหารสักที หลังไอ้เปรม มันแต่งให้เจออะไรต่างๆ มาตลอดทาง เฮ้อเซ็งกะแกเลย ไอ้เปรม  กูหิวข้าวแล้วนะ แต่งให้พวกฉันได้กินข้าวก่อนจะได้ไหม แล้วค่อยมีเรื่อง  หรือ ผู้เขียนแซวตัวละคร เช่น ตอนผมส่องกระจกพึ่งรู้นะเนี่ย  แต่งแบบนี้ก็หล่อเหมือนกัน ฮิๆๆ (แหวะ --- พี่เปรม) หรือตัวละครแซวกันเอง เช่น   ผู้หญิงมักชอบคนหน้าตาดี ^^” (รวมเจ๊ด้วยหรือเปล่า) หรือ แต่เสียงเธอดังสุดยอดเลย ดังมาก (ลืมเปล่า  ว่านี่โรงพยาบาลนะ) รวมทั้งคำขยายบางคำที่อยู่ในวงเล็บก็สามารถตัดออกได้โดยไม่ทำให้ประโยคเสียความ  เช่น อยู่แต่หน้าประตูบ้าน (ที่นอนประจำ) กับห้องครัว (คลังอาหารของมัน)   หากมีคำขยายที่ผู้เขียนเห็นว่าจำเป็นสำหรับเนื้อความที่ต้องการสื่อ ก็ไม่จำเป็นต้องใส่ไว้ในวงเล็บ  แต่ควรเขียนเป็นส่วนหนึ่งของประโยคนั้นๆได้เลย  เช่น ฉันจึงต้องออกแนวโหดๆไว้  เพื่อพวกมันจะได้เชื่อฟังกันบ้าง (แต่โดยมากมันไม่ค่อยเชื่อ)   หรือ หลังจากเซียนที่โดนเจ๊เซฟบังคับให้รอจ่ายเงิน (แสนแพง) กับ รอรับยา (แสนนาน) ก็จะรีบตรงกลับบ้านทันที

              การใช้ภาษาให้ถูกต้อง นับเป็นหลักสำคัญสำหรับผู้ที่ปรารถนาจะเป็นนักเขียน เนื่องจากผลงานเขียนเหล่านี้เผยแพร่ไปยังผู้อ่านจำนวนมาก  หากมีผู้อ่านที่เชื่อว่าผู้เขียนใช้ภาษาได้อย่างถูกต้อง ก็จะกลายเป็นการส่งต่อภาษาเขียนที่ผิดพลาดต่อไป   ผู้วิจารณ์พบว่าเรื่องนี้มีคำที่เขียนผิดเป็นจำนวนมาก  อาจกล่าวว่าพบคำผิดเกือบทุกประโยคก็ว่าได้   ด้วยเหตุนี้  ปัญหาสำคัญของผู้เขียนจึงอยู่ที่การสะกดคำ นับตั้งแต่ การเขียนชื่อเฉพาะของตัวละครที่สับสน เช่น มีทั้งที่เขียนว่า เฟริสท์ และ เฟริส   หรือ นามสกุลของเซฟ เขียนทั้ง  วิสุทวัฒน์ และ วิสุทธวัฒน์    ส่วนคำอื่นๆที่สะกดผิด  ก็เช่น เผลอ เป็น เผอ   เหรอ เป็น หรอ    นา เป็น หนา    อารมณ์ เป็น อารมย์   มอเตอร์ไซค์ เป็น มอเตอร์ไซด์   โกรธ เป็น โกธร    อุตส่าห์ เป็น อุส่าห์   รถเมล์ เป็น รถเมย์   ช่างเถอะ เป็น ชั่งเถอะ   น่า เป็น หน้า    งั้น เป็น นั้น   โคตร เป็น โครต   เปื้อน เป็น เปลื้อน   อยาก เป็น ยาก เพิ่ง เป็น พึ่ง  และ  โธ่ เป็น โถ 

    อีกทั้ง  ผู้เขียนยังสับสนมากในการใช้วรรณยุกต์  เพราะมีการใช้รูปวรรณยุกต์ผิดเป็นจำนวนมาก เช่น  นะคะ เป็น นะค่ะ   คะ กับ ค่ะ (มักใช้สลับกันบ่อยมาก)  และ  เจ๊ เป็น เจ้    ในบางกรณีการเลือกใช้คำผิดเช่นนี้ส่งผลให้เนื้อความที่ต้องการจะสื่อผิดเพี้ยนไปด้วย  เช่น กลั้น เป็น กลั่น   นั่น เป็น นั้น   นั้น เป็น นั่น    นี่ เป็น นี้    นี้ เป็น นี่   และ   ดื้อ   เป็น   ดื่อ 

    ยิ่งไปกว่านั้น  ผู้วิจารณ์พบว่าผู้เขียนมีปัญหากับการใช้รูปวรรณยุกต์ตรีมากที่สุด  และมักจะพบว่าใช้ผิดบ่อยครั้ง  เช่น การใช้รูปวรรณยุกต์ตรีกับพยัญชนะที่ไม่สามารถใช้ได้  ตามหลักการใช้ภาษาไทยกำหนดว่ารูปวรรณยุกต์ตรีจะใช้ได้เฉพาะกับพยัญชนะที่เป็นอักษรกลางเท่านั้น  (อักษรกลาง คือ ก จ ด ต ฎ ฏ บ ป และ อ) คำที่พบว่าเขียนผิดเสมอคือ  ห๊า  (คำที่ถูกคือ ฮะ  หรือ  ฮ้า )  และ โว๊ยวาย (คำที่ถูกคือ โวยวาย)  เนี๊ย (คำที่ถูกคือ เนี่ย)   หน๊อย  (คำที่ถูกคือ หนอย)  พลั๊ว (คำที่ถูกคือ พลั่ว)   นอกจากนี้   ผู้เขียนยังสับสนระหว่างการใช้รูปวรรณยุกต์ตรี (  ๊ ) กับการใช้ไม้ไต่คู้ (  ็ )   ตามหลักการใช้ภาษาไทยนั้น  ไม้ไต่คู้จะใช้กับคำที่ต้องการออกเสียงสั้น   ในที่นี้พบว่าผู้เขียนจะเขียนคำว่า แป๊บ  เป็น แป็บ   และ  แก๊ง  เป็น แก็ง    

     วิธีการปรับแก้ความผิดพลาดที่ง่ายที่สุดในเรื่องของการสะกดคำก็คือ ผู้เขียนควรจะตรวจสอบคำที่ไม่แน่ใจว่าเขียนอย่างไรจากพจนานุกรม  หรือขอคำแนะนำจากอาจารย์ภาษาไทยเกี่ยวกับหลักการใช้ภาษา  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการใช้รูปวรรณยุกต์ และการใช้ไม้ไต่คู้  เพื่อที่จะเข้าใจได้ชัดเจน แม่นยำและไม่สับสนอีกต่อไปในอนาคต

     

    ----------------------------

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×