ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    วิจารณ์นิยาย

    ลำดับตอนที่ #13 : CHangE ภารกิจรักร้าย เปลี่ยนคุณชายให้กลายเป็นเกย์ !?!

    • อัปเดตล่าสุด 9 ส.ค. 55


    ลิงก์นิยาย http://writer.dek-d.com/logokit/story/view.php?id=448850

                CHangE  ภารกิจรักร้าย  เปลี่ยนคุณชายให้กลายเป็นเกย์ !?!  นิยายแนวรักหวานแหววขนาดยาว 33 ตอนจบ ของ องค์หญิงต๊อกแต๊ก  เป็นเรื่องราวของภารกิจที่แสนแปลกที่ครอบครัวตระกูลผักรับจ้างกะเทยคนหนึ่งให้เปลี่ยนชายที่เธอแอบหลงรักให้เป็นเกย์   เพื่อให้รักของเธอสมหวัง

              ความน่าสนใจของนิยายเรื่องนี้คือการติดตามว่าครอบครัวตระกูลผักที่ประกอบไปด้วย ขึ้นฉ่าย (พี่ชาย) กุยช่าย (นางเอก) และ หัวหอม (น้องสาว) จะสามารถปฏิบัติภารกิจที่รับจ้างมาเพื่อเปลี่ยนให้ดัชมิลค์ (พระเอก) จากชายแท้ให้กลายเป็นเกย์ได้จริงหรือไม่  และใช้วิธีการใดเพื่อเปลี่ยนแปลง   เมื่ออ่านเรื่องจบลง สิ่งหนึ่งที่รับรู้ได้คือผู้เขียนมุ่งเน้นความฮามากกว่าความสมเหตุผล  เนื่องจากวิธีการที่ครอบครัวนางเอกใช้เพื่อเปลี่ยนพระเอกนั้นไม่สามารถที่จะเปลี่ยนผู้ชายให้กลายเป็นเกย์ได้อย่างแท้จริง  ไม่ว่าจะเป็นการให้กุยช่ายไปสารภาพว่าแอบหลงรักดัชมิลค์มาตั้งแต่วันปฐมนิเทศ  การมอมเหล้าดัชมิลค์เพื่อเปิดโอกาสให้กับเจ๊ชมพู (เกย์ที่ว่าจ้าง) มีโอกาสได้อยู่กับดัชมิลค์ตามลำพัง  หรือการพาไปดูชีวิตของสาวคาบาเร่ต์เพื่อให้ดัชมิลค์สัมผัสกับชีวิตของกะเทยมากขึ้น จะได้เบี่ยงเบนง่ายขึ้น  เช่นเดียวกับการให้ติดโปสเตอร์ผู้ชายสวย เผื่อดัชมิลค์จะเปลี่ยนใจมาหลงชอบผู้ชายสวยแทนผู้หญิง

              ด้วยความตั้งใจของผู้เขียนที่เน้นความฮาและความสนุกของเรื่องเป็นสำคัญ  จึงส่งผลต่อโครงเรื่องโดยรวม  เนื่องจากในเรื่องนี้มีการผสานของแนวเรื่องย่อยๆ ที่ต่างกันหลายแนว เริ่มตั้งแต่การรับจ้างปฏิบัติภารกิจเปลี่ยนผู้ชายให้เป็นเกย์  ซึ่งเป็นแก่นเรื่องหลัก ต่อมามีการผสานเข้ากับเรื่องย่อยของความรักสามเส้าครั้งแล้วครั้งเล่าในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะเป็นคู่ที่หนึ่งระหว่างดัชมิลค์  มินมิน และไอติม  คู่ที่ 2  ดัชมิลค์  กุยช่าย และไอติม  คู่ที่ 3  ดัชมิลค์  มินมิน และกุยช่าย  คู่ที่ 4 ไอติม มินมิน และ กุยช่าย  คู่ที่ 5 ดัชมิลค์ เจ๊ชมพู และ กุยช่าย และ คู่ที่ 6 กุยช่าย  ดัชมิลค์ และซิตร้า  ซึ่งรักสามเส้าจำนวนมากที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาสั้นๆเช่นนี้ ยากจะเกิดขึ้นได้จริง นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มความเข้มข้นในตอนจบด้วยปัญหาความไม่เหมาะสมในเรื่องชาติตระกูลระหว่างพระเอกลูกคนรวยกับนางเอกลูกคนจนที่ถูกพ่อพระเอกกีดกัน   ขณะเดียวกันพ่อกลับส่งเสริมให้ดัชมิลค์รักกับซิตร้า ผู้หญิงที่เหมาะสมคู่ควรทั้งชาติตระกูลและฐานะ  จนทำให้นางเอกต้องยอมรับคำท้าเพื่อพิสูจน์รักแท้ที่มีต่อพระเอก  เมื่อโครงเรื่องย่อยแต่ละแนวมีความโดดเด่นในตัวเองอย่างชัดเจน  จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะไปกลบแก่นเรื่องหลักที่ผู้เขียนตั้งใจเสนอไปอย่างน่าเสียดาย  จะเห็นได้ว่าเมื่อผ่านไปครึ่งเรื่องภารกิจหลักที่นิยายเรื่องนี้เน้นมาตั้งแต่ต้นถูกกลบด้วยเรื่องราวความรัก ความผิดหวัง และความไม่เข้าใจกันที่แสนวุ่นวายของพระเอกและนางเอกแทน  ภารกิจหลักของเรื่องที่วางไว้ตั้งแต่ต้นจึงกลายเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่ทำให้กุยช่ายได้รู้จักดัชมิลค์  จนพัฒนากลายมาเป็นความรักในภายหลังเท่านั้น

              นอกจากนี้  ผู้วิจารณ์เห็นว่าสิ่งสำคัญที่เป็นปัญหาของผู้เขียนอย่างเห็นได้ชัด คือ ผู้เขียนลืมตัวละครที่ตัวเองสร้างขึ้นมา  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขึ้นฉ่าย กับหัวหอม  ตัวละครทั้งสองมีบทบาทเพียงช่วงต้นของเรื่องเท่านั้น คือปรากฏอยู่จนถึงประมาณตอนที่ 8 แล้วก็หายไป  และอาจจะมีการพูดถึงบ้างแต่ก็เพียง 1-2 ประโยค ราวกับว่าขึ้นฉ่ายกับหัวหอมกลับไปอยู่บ้านที่สุพรรณบุรีกับแม่ มากกว่าที่จะอยู่ร่วมกับกุยช่ายในบ้านที่กรุงเทพฯ   หากพิจารณาจากโครงเรื่องหลักที่ผู้เขียนวางไว้ ตัวละครทั้งสามนั้นควรที่จะอยู่ร่วมกันเพื่อช่วยกับปฏิบัติภารกิจให้สำเร็จลุล่วง เนื่องจากตอนเปิดเรื่องผู้เขียนก็เน้นให้เห็นว่าพี่น้องทั้งสามคนนี้เป็นตัวจักรสำคัญของบริษัทรับจ้างสารพัดตระกูลผักที่จะสร้างสีสันให้กับเรื่องด้วยการทำภารกิจอันพิลึกพิลั่นนี้ แต่เมื่อเรื่องเปลี่ยนจุดเน้นจากการปฏิบัติภารกิจไปเป็นเรื่องความรักระหว่างกุยช่ายกับดัชมิลค์  ทั้งขึ้นฉ่ายและหัวหอมก็ถูดลดบทบาทหายไป  ประกอบกับในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ผู้เขียนก็สร้าง ลั่นฟ้า ตัวละครใหม่อีกตัวเพิ่มเข้ามา  โดยให้ลั่นฟ้าเพื่อนสมัยเด็กของนางเอกที่สุพรรณบุรี ย้ายมาอยู่กรุงเทพฯและมาเรียนที่เดียวกับนางเอก อีกทั้งผู้เขียนยังโอนภารกิจต่างๆที่ทั้งสามพี่น้องเริ่มต้นไว้มาให้กับกุยช่ายและลั่นฟ้า   โดยให้ลั่นฟ้ามีบทบาทสำคัญในการเชื่อมต่อไปยังความรักของกุยช่ายและดัชมิลค์ นั่นอาจเป็นเพราะผู้เขียนสนุกกับการสร้างสีสันให้กับตัวละครตัวนี้ เช่นเดียวกับที่ผู้อ่านก็ชื่นชอบบุคลิกภาพอันโดดเด่นของลั่นฟ้าด้วยเช่นกัน  เมื่อเป็นเช่นนั้น  ผู้เขียนก็น่าจะมีวิธีกำจัดขึ้นฉ่ายและหัวหอมอย่างแนบเนียนมากกว่านี้  เช่น อาจจะสร้างเหตุการณ์ให้ทั้งสองต้องกลับไปอยู่กับพ่อแม่ที่สุพรรณบุรี  เพราะมีลั่นฟ้ามาอยู่เป็นเพื่อนกุยช่ายแล้วก็ได้  ไม่ใช่ปล่อยให้ตัวละครสำคัญของเรื่องหายไปเสียเฉยๆ ดังที่เป็นอยู่ 

     ขณะเดียวกันก็พบว่าผู้เขียนสร้างตัวละครบางตัวขึ้นมา เพื่อสร้างความตลกขบขันหรือสร้างความตื่นเต้นให้กับเนื้อเรื่องอย่างไม่มีที่มาที่ไปด้วยเช่นกัน  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปิดตัวแม่ของกุยช่ายนั้น  ผู้วิจารณ์เห็นว่าผู้เขียนต้องการสร้างความขบขันเท่านั้น โดยเฉพาะการให้แม่ขี่ควายไปส่งกุยช่ายที่หน้าโรงเรียน พร้อมทั้งโบกมือให้กับคนดูรอบๆตัว  ราวกับเพิ่งจะได้รับตำแหน่งนางงาม   แม้ว่าในช่วงหลังๆ ผู้เขียนได้เพิ่มบทให้แม่ทำหน้าที่ปลอบใจกุยช่ายยามทะเลาะกับดัชมิลค์  แต่ที่จริงนั้นไม่ต้องเพิ่มบทของแม่เพื่อทำหน้าที่นี้ก็ได้   เพราะมีทั้งขึ้นฉ่าย หัวหอม หรือแม้แต่ลั่นฟ้าซึ่งสามารถทำหน้าที่ปลอบใจกุยช่ายได้อยู่แล้ว   การเพิ่มบทแม่เข้ามาจึงดูเป็นการจงใจมากเกินไป  เช่นเดียวกับการเปิดตัวซิตร้า และพ่อของดัชมิลค์ในช่วงท้ายเรื่อง  ก็น่าจะเป็นไปเพื่อสร้างอุปสรรคให้กับความรักของกุยช่ายและดัชมิลค์เท่านั้น  แม้ว่าผู้เขียนอาจจะเห็นว่าตัวละครทั้งสองช่วยสร้างความเข้มข้นและสีสันให้กับเรื่องได้  แต่ผู้วิจารณ์เห็นว่าการเพิ่มบทพ่อของดัชมิลค์เช่นนี้กลับทำให้เรื่องขาดความสมจริงอย่างมาก  เนื่องจากนักธุรกิจระดับนั้นไม่น่าที่จะลงมายุ่งกับความรักที่เพิ่งเริ่มต้นของลูกชายวัยรุ่น  จนถึงต้องมาประกาศหน้าเสาธงว่าขอเชิญทุกคนในโรงเรียนร่วมงาน ศึกแย่งลูกชายฉัน   ด้วยการนำม้าแข่งฝีเท้าจัดของตน   มาวิ่งแข่งกับควายของนางเอกในท้องนาที่สุพรรณบุรีบ้านเกิด

              ในแง่ความถูกต้องของการใช้ภาษา  ผู้วิจารณ์เห็นว่าหากผู้เขียนลดการแซวตัวเองของตัวละคร หรือการนินทาตัวละครตัวอื่น ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะที่ตัวละครคิดในใจ หรือลดการพูดกับตัวเองลงบ้างก็จะดีกว่านี้  เพราะผู้เขียนใช้วิธีการนี้เพื่อสร้างอารมณ์ให้กับเรื่องมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ขัน โกรธ ประชดประชันหรือรัก จนกลายเป็นสูตรสำเร็จที่ผู้อ่านจับได้ วิธีการดังกล่าวบางครั้งก็ดูเฝือ ยิ่งกว่านั้นยังสร้างความรำคาญให้กับผู้อ่านด้วย เนื่องจากประโยคแซวตัวเอง บ่น หรือ นินทาต่างๆที่เพิ่มเข้ามานั้น มีความยาวมากกว่าประโยคสนทนา หรือบทบรรยายที่ผู้เขียนต้องการสื่อความเสียด้วยซ้ำ เช่น พวกนั้นอยู่ด้วยแล้วไม่สนุก...อึดอัดด้วย  ฉันอยากอยู่กับเธอ ^^” TT[]TT ทำไมนายถึงพูดแบบนั้นได้อย่างน่าตาเฉย  ไม่รู้ตัวบ้างหรือไงว่ามันทำหัวใจฉันมันเต้นแทบไม่เป็นจังหวะอยู่แล้ว  อ๊ากก ทำไมกุยช่ายแปลกไป ~ T^Y ไม่นะ  ถ้าจะพูดแบบนั้นเอาค้อนมาทุบหัวฉันแล้วลากเข้าถ้ำไปฆ่าหมกป่าเลยดีกว่า TT__TT” หรือ ไม่น่า  ฉันกลัวหายใจไม่ออก TT[]TT”      ดัชมิลค์มองหน้าฉันแล้วหัวเราะก่อนที่จะยกมือฟาดหัวฉันทีหนึ่ง โอ๊ย ไอ้เถื่อน~!! แรงนายไม่ใช่มดๆ ตีมายิ่งกว่าควายขวิดอีก TT[]TT ถ้าหัวหลุดจะว่าอย่างไรย่ะ  ทำไมหัวฉันมันน่าฟาดนักรึไงเนี่ย  มีแต่คนตบเอา ตบเอา  ผู้วิจารณ์เห็นว่าน่าจะเป็นเพราะผู้เขียนต้องการเพิ่มบทบรรยายให้มากขึ้น  เพื่อไม้ให้เนื้อเรื่องเป็นเพียงบทสนทนาที่เรียงต่อกันเท่านั้น แต่บทบรรยายส่วนใหญ่ที่เพิ่มเข้ามานั้นก็มีวิธีการเขียนเช่นเดียวกับบทสนทนา จะต่างกันก็เพียงผู้เขียนไม่ใส่เครื่องหมายอัญประกาศ (      )  เพื่อแสดงให้เห็นว่านี่คือบทสนทนาเท่านั้นเอง 

    ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่าผู้เขียนนิยมใช้อีโมติคอนแสดงสีหน้าตัวละครในเกือบทุกประโยค การใช้อีโมติคอนจำนวนมากติดต่อกันเช่นนี้อาจส่งผลเสียต่อเรื่องได้  เพราะทำให้ดูรกด้วยอีโมติคอนฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น  วิธีแก้ง่ายที่สุดคือตัดอีโมติดคอนบางตัวที่ไม่จำเป็นออก  โดยเฉพาะอีโมติคอนที่อยู่ระหว่างประโยคสองประโยค ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้เนื้อความเสียไปแต่อย่างใด  ต่เช่น พี่กับกุยช่ายไปปรึกษากันแล้ว =_=^ แล้วทำไมไม่เรียกฉันไปปรึกษาด้วยล่ะ หรือ โอบาม่าช่วยหนูด้วย TT[]TT หมอนั่นเห็นฉันแล้ว หรือ  ฉันรู้สึกหมั่นไส้เหลือเกิน = =^ รัศมีความหล่ออะไรของแก  เช่นเดียวกับ sound effect  ที่ผู้เขียนใช้อย่างฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็นและสามารถตัดออกได้เหมือนกัน เช่น เชอะ :P โฮกก ฉันพึ่งโดนเจ้าดัชมิลค์มันหักหลังมาแท้ๆ ยังไม่อยากจะเห็นหน้าเลยสักกะนิ๊ด ฮึ่ยๆ หรือ กร๊ากๆฮ่าๆๆอุ๊บ :Xฉันเผลอหัวเราะเสียงดังจนดัชมิลค์หันมามอง ว้าย~แย่แล้ว >< ทำอะไรลงไปเนี่ย กรี๊ด ฉันหันหลังจะวิ่งหนีไป..... ในบางกรณีผู้เขียนน่าจะใช้บทบรรยายแทนอีโมติคอนบางตัวได้   โดยเฉพาะอย่างยิ่งประโยคที่มีแต่ตัวอีโมติคอนล้วนๆ   ถ้าเปลี่ยนเป็นการบรรยายแทนน่าจะสื่อความได้ดีกว่า เพราะบางครั้งผู้อ่านก็ไม่แน่ใจว่าตัวอีโมติคอนที่ใช้นั้น  ผู้เขียนต้องการสื่อความว่าอย่างไรกันแน่ เช่น “=[]=” หรือ “=___=^” หรือ “= _=”

    ในแง่ของการสะกดคำนั้น  ผู้เขียนยังช้คำผิดความหมายหลายแห่ง เช่น ปวดบ้องหู  ควรจะเปลี่ยนเป็น ปวดหู  เพราะคำว่าบ้องหู มักใช้กับคำว่า ตบบ้องหู (คือส่วนด้านนอกของหู) มากกว่า  หรือ ได้ยินเสียงมันเต้นไหม ตุ๊บตั๊บ ตุ๊บตั๊บ หมายความว่าเรายังมีชีวิตอยู่ใช่ไหม ควรจะเปลี่ยนเป็น ได้ยินเสียงมันเต้นไหม ติ๊กตั๊ก ติ๊กตั๊ก หมายความว่าเรายังมีชีวิตอยู่ใช่ไหม (ติ๊กตั๊กหรือตึกตัก คือ เสียงเต้นของหัวใจ  ตุ๊บตั๊บ น่าจะเป็นเสียงของการใช้มือตีหรือตบลงไป)  และยังมีคำสะกดผิดอยู่หลายคำ เช่น  แป๊บ เป็น  แปบ   ฮะ -  ห๊ะ  กะทันหัน - กระทันหัน   สุพรรณ  -  สุพรรณ์   เลศนัย - เลศนัยต์

    ยิ่งไปกว่านั้น ความสม่ำเสมอของการดำเนินเรื่องก็เป็นปัญหาสำคัญด้วย จะเห็นได้ว่าบางครั้งผู้เขียนมุ่งเน้นการสร้างความสนุกให้กับเนื้อเรื่องมากเกินไป จนลืมเหตุการณ์หรือเรื่องราวที่ปูพื้นไว้  โดยเฉพาะฉากที่กุยช่ายคุยกับลั่นฟ้าหลังจากที่ถูกเจ๊ชมพูและพวกซ้อมจนสะบักสะบอมในห้องเก็บของ  ในตอนที่ 23 (หมาหัวเน่า) นั้น  บางครั้งก็บรรยายว่ากุยช่ายบาดเจ็บมากจนแทบจะทรงตัวไม่ได้  ขณะเดียวกันก็ดูว่ามีแรงมากจนสามารถทะเลาะกับลั่นฟ้าได้เหมือนคนปกติ จนคนอ่านก็สับสนเหมือนกันว่าตกลงผู้เขียนต้องการให้กุยช่ายเจ็บหรือไม่เจ็บกันแน่    

              ด้วยเหตุนี้จึงเห็นว่าหากผู้เขียนพยายามคุมการเขียนให้อยู่ในโครงเรื่องที่กำหนดไว้ตั้งแต่เริ่มแรก  โดยพยายามไม่ให้อารมณ์ของตัวละครและของเหตุการณ์ต่างๆในเรื่อง หรือ ความต้องการที่จะสร้างสีสันและความสนุกให้กับเรื่องกลายเป็นประเด็นนำมากเกินไป  เรื่องก็จะอยู่ในกรอบโครงตามที่ตั้งใจไว้  แทนที่จะมีบางฉากบางตอนดูล้นหรือผิดแปลกแตกแยกจากโครงเรื่องหลักที่วางไว้อย่างชัดเจน  ขณะเดียวกันก็ควรลดความฟุ่มเฟือยต่างๆดังที่กล่าวไว้ข้างต้น    ก็น่าจะทำให้นิยายเรื่องนี้กระชับมากขึ้น

     

    --------------------------------------

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×