ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    วิจารณ์นิยาย

    ลำดับตอนที่ #11 : Hexagon

    • อัปเดตล่าสุด 9 ส.ค. 55


     ลิงก์นิยาย http://writer.dek-d.com/Bellatony/story/view.php?id=525687

                นิยายออนไลน์เรื่อง Hexagon ของ Black king kite เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่นักเขียนมาขอให้วิจารณ์ ขณะที่ผมเขียนบทวิจารณ์นี้ Hexagon ลงถึงตอนที่ 31 ผู้แต่งได้ระบุว่านิยายเรื่องนี้เป็นแนวดาร์กไซไฟแฟนตาซี สาเหตุที่ผมเลือกอ่านนิยายเรื่องนี้เพราะตรงกับแนวที่ตนเองชอบคือไซไฟและแฟนตาซี โดยเฉพาะอย่างยิ่งไซไฟหรือวิทยาศาสตร์นั้น ในเว็บไซต์เด็กดีไม่ค่อยจะมีนิยายแนวนี้มากนัก

     

                เมื่อได้อ่านชื่อ Hexagon ที่แปลว่าหกเหลี่ยม   ในครั้งแรก ผมนึกไปถึงตึกกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ที่เป็นรูปห้าเหลี่ยมจึงได้ชื่อว่า Pentagon ในภาพยนตร์จากฮอลลีวู้ดหลายเรื่องจะแสดงให้เห็นความพยายามของผู้ก่อการร้ายฝ่ายต่างๆ (บางทีก็เป็นมนุษย์ต่างดาว) ในการทำลายตึกนี้ เพราะถ้าทำลายได้ก็จะข่มขวัญอเมริกาหรือชาวโลกได้ทันที แต่ก็ไม่เคยทำลายได้สำเร็จ

               

                นิยายเรื่อง “หกเหลี่ยม” นี้ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาเช่นกัน และมีบรรยากาศของภาพยนตร์แนวแอ็คชั่นไซไฟอย่างเต็มที่ บวกกับกลิ่นอายของเกมคอมพิวเตอร์และการ์ตูนญี่ปุ่นหลายต่อหลายเรื่อง เวลาที่อ่านก็จะรู้สึกได้ว่า “อ๋อ เรื่องนั้นไง เรื่องนี้ไง” อยู่เกือบตลอดเวลา ถึงแม้ว่าจะนำมาผสมผสานในเนื้อเรื่องได้โดยที่ไม่รู้สึกว่าลอกเลียนแบบ แต่ผมก็ยังไม่เห็นว่านิยายเรื่อง Hexagon นี้สามารถหลอมรวมแรงบันดาลใจจากเรื่องต่างๆ จนมีเอกลักษณ์เป็นของตนเองได้ชัดเจนเท่าไรนัก

     

                เนื้อเรื่องของนิยายคือการที่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้เรียกตัวละครหลักทั้งหกที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเพื่อก่อตั้งเป็นหน่วย “Hexagon” เพื่อ “ความมั่นคงของรัฐ” ผ่านการปฏิบัติการต่างๆ ตามที่จะได้รับคำสั่งมา ตัวละครทั้งหมดนั้นคือ (ข้อความแนะนำตัวละครทั้งหมดเป็นของผู้เขียน)

     

                - อัจฉริยะไอคิว 200  (ฮารุ มิสุโนะ)จบมหาลัยตั้งแต่อายุ  15  ทำงานให้กระทรวงการต่างประเทศมาตั้งแต่เรียนจบ  เรื่องทุกเรื่องถ้าผ่านไปไม่นานสามารถจำได้ทั้งหมด  โดยไม่ต้องท่องจำ           

                - ฮูลิแกน  เรย์   ตำนานมีชีวิตของนักโจรกรรม  โด่งดังมากว่าร้อยปี  ไม่มีใครรู้ตัวจริง ไม่เคยมีใครจับได้  เคลื่อนไหวในเงามืดราวกับนักมายากลในยามราตรี

                - นักแปรธาตุแห่งศตวรรษที่ 21  (โช คาลเลอร์) ผู้อยู่เบื้องหลังการคิดค้นพัฒนาเครื่องมือทางการทหารและสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ  โค้ดเนมว่า  Shockolate

                - นักฆ่าองค์กรลับระดับรัฐบาลโลก  (ทอร์ช รีโนว่า) ชายที่ถูกเลี้ยงมาอย่างเครื่องจักรสังหาร  ฆ่าคนตามคำสั่งโดยไม่กะพริบตา

                - อดีตนักกีฬาของ  N.B.A (เคน เทอร์เนอร์)ได้ชื่อกระฉ่อนว่าชอบบุกเดี่ยว  ไม่แคร์เพื่อนฝูง  มีดีที่ความสามารถ

                - ดาราฮอลลีวู้ดหน้าใหม่ (โจว เอลทัน) แจ้งเกิดจากการเป็นไอดอลใสบริสุทธิ์  เล่นหนังมาแล้ว  5  เรื่อง อยู่ในช่วงโด่งดัง  มีข่าวกับดาราหนุ่มมากหน้าหลายตา

     
     

                จะเห็นได้ว่าตัวละครเอกทั้งหกมีความแตกต่างกันอย่างมาก เท่าที่อ่านมาได้ถึงตอนที่ 31 ผู้เขียนยังไม่เฉลยเสียทีเดียวว่าเพราะเหตุใดรัฐบาลจึงเลือกเอาคนเหล่านี้มารวมไว้ในกลุ่มเดียวกัน  ทั้งที่บางคนเช่นดาราฮอลลีวู้ดหรือนักบาสเกตบอลก็ไม่น่าจะทำอะไรได้มากนัก แต่ก็มีการบอกใบ้เป็นนัยๆ เช่น นักบาสฯ สามารถปาระเบิดได้แม่นหรือดาราสามารถร้องเพลงสะกดผู้คนได้ดี ทว่าข้อมูลเพียงเท่านี้ยังไม่เพียงพอที่จะปักใจเชื่อได้ว่า “ต้องเป็นพวกเขาเท่านั้นถึงจะเป็นหน่วย Hexagon ได้” อย่างไรก็ตามอาจมีการเฉลยเมื่อเรื่องราวดำเนินไปมากกว่านี้

                แต่จุดหนึ่งที่ผมยังต้องตั้งคำถามคือการเลือกตัดสินใจเข้าหน่วยนี้ของตัวละครสามคน ได้แก่ โจว เคน และโช ดูเหมือนว่าพวกเขาจะไม่ค่อยมีเหตุผลที่ชัดเจนในการเลือกเข้าหน่วยนี้เท่าไรนัก เพราะไม่มีใครรู้ว่าเข้ามาแล้วจะต้องทำงานอะไร อีกทั้งทั้งสามยังมีงานหลักที่ดูน่าจะมีอนาคตมากกว่า โจวเป็นดาราฮอลลีวู้ดชื่อเสียงโด่งดัง และต่อมาผู้เขียนเล่าว่าที่เธอมาเป็นดาราก็เพราะต้องการตามหาพี่ชายเพียงคนเดียว   เคนก็เป็นนักบาสเกตบอลใน NBA ถึงแม้ว่าจะมีข่าวลือว่าเขาล้มมวย  แต่นั่นก็ไม่น่าจะทำให้รายได้ของเขาลดลง และจากอดีตที่ทำให้เขาคิดถึงแต่ตนเองก็ไม่น่าจะถึงกับทำให้เขายอมสละชีวิตที่สุขสบายได้   ส่วนโชก็เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีความสามารถสูงจนได้รับความเชื่อถือถึงแม้จะทดลองล้มเหลวมาแล้วไม่รู้กี่ครั้ง   เพราะอะไรพวกเขาสามคนจึงต้องเลือกมาอยู่หน่วย Hexagon โดยไม่ได้ถูกบังคับ  ส่วนอีกสามคนได้แก่เรย์ ทอร์ช และฮารุ นั้น พอจะเข้าใจได้ว่าพวกเขามีคุณสมบัติสอดคล้องกับหน้าที่ในหน่วย Hexagon เรย์กับทอร์ชเป็นคนในด้านมืดที่มีความสามารถด้านการต่อสู้ ส่วนฮารุถึงแม้ว่าจะไม่มีศักยภาพทางกายมากนัก แต่ความสามารถด้านการแฮ็กคอมพิวเตอร์และการจดจำที่ไม่เป็นรองใครก็คงทำให้หาคนอื่นเทียบได้ยาก

                ผมเกิดคำถามขึ้นในใจว่าหากเคน โจว และโช ไม่เลือกที่จะเข้าหน่วยนี้ เรื่อง Hexagon จะดำเนินเรื่องอย่างไร หากใครสักคนปฏิเสธ หน่วยนี้ก็ไม่อาจจะถือกำเนิดขึ้นมาได้ และยิ่งมีการย้ำในเรื่องบ่อยๆ ว่า “ต้องเป็นหกคนนี้เท่านั้น” หากพวกเขาไม่เอาด้วย ก็เท่ากับว่าหน่วยนี้ก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งก็ตีความอีกแง่ได้ว่า หน่วยนี้ไม่จำเป็นต้องมีใช่หรือไม่ โดยเฉพาะในช่วงหลังจากแนะนำตัวละครแล้ว มีตัวละครอีกกลุ่มที่มีลักษณะคล้ายกับกลุ่มของพวกตัวเอกมาก   และสังกัดกับ DIA (Development Integrity Agency) เช่นเดียวกับหน่วย Hexagonแต่แตกต่างกันตรงที่ DIA ฟูมฟักเลี้ยงดูพวกเขามาตั้งแต่เด็ก ผมคิดในใจว่า ถ้าไม่มี Hexagon ก็ยังมีหน่วยนี้แทนได้ ซึ่งเท่ากับว่า Hexagon คงไม่มีความสำคัญเท่าไรกระมัง



                นิยายเรื่องนี้เป็นแนวไซไฟแฟนตาซีที่มีการดำเนินเรื่องแบบภาพยนตร์ ผสมผสานกับเกมและการ์ตูน ผู้อ่านจึงไม่อาจปฏิเสธความเหนือจริงของเนื้อเรื่องได้ ผู้ที่จะอ่านนิยายเรื่องนี้จำเป็นต้องยอมรับการยิงปืนแม่นดุจจับวาง ความสามารถของสมองสุดอัจฉริยะ ฝีมือดาบที่พลิ้วไหวดุจสายน้ำและรุนแรงกว่ากระสุนปืน สัมผัสที่แหลมคมและอื่นๆ อีกมาก แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้น นิยายประเภทนี้ก็ยังต้องมีเหตุผลในโลกหรือจักรวาลของตนเองเช่นกันจึงจะทำให้ผู้อ่านเชื่อได้ว่าเรื่องนี้ “สมจริง”  ความไม่สมเหตุสมผลในเรื่อง Hexagon เห็นได้ชัดมากที่สุดจากความบังเอิญ เริ่มจากโชบังเอิญเป็นผู้สร้างยานอวกาศสุดแกร่งที่สร้างจากโลหะผสมและนาโนแมชชีน ฮารุบังเอิญเป็นผู้สร้างโปรแกรมในยานลำนั้น ต่อมาเมื่อกลุ่มตัวเอกและกลุ่มคู่แข่งต้องฝึกในโปรแกรมเสมือนจริง ฮารุบังเอิญเป็นผู้สร้างโปรแกรมเสมือนจริงนั้น ประโยค “คิดว่าใครเป็นคนสร้างกันล่ะ” ถูกใช้จนเฝือ หากผู้เขียนต้องการแสดงให้ผู้อ่านเห็นความเก่งของตัวละคร อาจสร้างสถานการณ์ให้โชและฮารุต้องสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมา เช่นเดียวกับที่โชสร้างหุ่นยนต์บินตัวเล็ก และฮารุสร้างโปรแกรมขึ้นมาใหม่ดังที่ผู้เขียนบรรยายไว้ในช่วงหลัง แต่ผมเห็นว่ายังมีสถานการณ์เช่นนี้น้อยเกินไป ผู้เขียนน่าจะให้โชและฮารุได้ใช้ความสามารถที่สร้างสรรค์มากขึ้นกว่านี้

                นอกจากนี้ความไม่สมเหตุสมผลยังเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่ตัวละครที่ชื่อจิงซ์ต้องเสียชีวิต   เป็นไปได้อย่างไรที่ตึกของหน่วยงานราชการที่เป็นที่พักของบุคคลที่เป็นทรัพยากรสำคัญของทีมที่น่าจะมีศักยภาพเท่ากันหรืออาจเหนือกว่า Hexagon ด้วยซ้ำ  จะละเลยด้านความปลอดภัยจนปล่อยให้เกิดการวางระเบิดขึ้นเช่นนั้น และการปล่อยน้ำเพื่อดับเพลิงยังมีรหัสผ่านป้องกันไว้อีก หากเป็นระบบที่ป้องกันผู้บุกรุกจะมีรหัสผ่านก็พอเข้าใจ แต่นี่คือระบบป้องกันเพลิงไหม้ที่น่าจะปล่อยน้ำได้ทันทีเมื่อตรวจจับอุณหภูมิได้ว่าสูงกว่าที่กำหนด  ไม่อย่างนั้นแล้วจะมีรหัสผ่านไปเพื่ออะไร

                Hexagon เป็นนิยายที่ได้รับแรงบันดาลใจจากหลายสิ่งหลายอย่าง เช่น เกม การ์ตูน และภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียง การได้รับแรงบันดาลใจนั้นไม่ใช่สิ่งที่ผิด และผู้เขียนก็ไม่ได้ลอกเลียนแบบสิ่งเหล่านั้นในนิยายของตนเอง ทว่าการนำแรงบันดาลใจมาประยุกต์ใช้ในงานของตนเองนั้นยังไม่แนบเนียนเพียงพอ ผู้อ่านจะรู้สึกถึงความ “โดด” อยู่แทบจะตลอดเวลา เช่น โช คาลเลอร์ เป็นตัวละครที่อ่านปุ๊บก็รู้ว่าได้รับแรงบันดาลใจจาก The Hulk เพราะความเป็นนักวิทยาศาสตร์ร่างใหญ่แรงเยอะ และมีมันสมองอัจฉริยะ  เปรียบได้กับฮัลค์ที่ได้รับสติปัญญาจาก ดร. แบนเนอร์ (ทั้งสองมีร่างกายเดียวกัน แต่ฮัลค์จะปรากฏตัวเมื่อ ดร. แบนเนอร์หัวใจเต้นแรง)โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโชมีดวงตาสีเขียวเหมือนฮัลค์ด้วยแล้ว ก็รู้สึกว่าผู้เขียนจงใจเกินไปหรือเปล่า

                นอกจากนี้ยังมีเรื่องของแสงเลเซอร์ที่หั่นร่างกายของทหารเป็นลูกเต๋าในตอนแรกสุด ที่เหมือนกับภาพยนตร์เรื่อง Resident Evil หรือช่วง “ภาคอวกาศ” ที่เหล่าตัวละครต้องได้พบกับสัตว์ประหลาดจากการทดลองเปลี่ยนพันธุกรรม “เซลล์ที” ดูช่างเหมือนกับเกม Resident Evil มาก แม้แต่ชื่อของเซลล์ยังเป็นชื่อเดียวกัน และมีซอมบี้กับสัตว์ประหลาดที่ให้ความรู้สึกเหมือนกันจนเกินไป ยังไม่นับรวมก่อนหน้านี้ที่ตัวละครอย่างทอร์ชหรือเรย์ที่ใช้ปืนเก่ง ก็มีการใช้ปืนคู่และสรรพอาวุธจำนวนมากเหมือนกับภาพยนตร์ของจอห์น วู และ The Matrix

                ผมคิดว่าผู้เขียนน่าจะหลอมรวมแรงบันดาลใจต่างๆ ลงในนิยายของตนให้มีความกลมกลืนมากกว่านี้   ส่วนชื่อและลักษณะของตัวประหลาด แม้แต่บรรยากาศของการต่อสู้และการใช้อาวุธของตัวละคร ก็ไม่จำเป็นต้องให้ความรู้สึกเหมือนต้นแบบอย่างไม่ผิดเพี้ยน แต่จะทำอย่างไรให้นิยายมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง มีภาพยนตร์ เกม นิยายหรือการ์ตูน หลายเรื่องที่ได้รับแรงบันดาลใจในทำนองนี้   แต่พวกเขาสามารถหลอมรวมแรงบันดาลใจในผลงานของตนได้ เช่น การ์ตูนเรื่องไยบะ ของโกโช อาโอยามา ที่เห็นได้ชัดว่าไยบะมีผมทรงเดียวกับโกคู ตัวละครเอกในเรื่องดรากอนบอล และโอนิมารู ตัวร้ายของเรื่อง ก็มีหน้าตาที่เหมือนกับพิคโคโล ตัวร้ายของเรื่องดรากอนบอลเช่นกัน แต่โกโชก็สามารถสร้างเอกลักษณ์ของตนเองได้จากลายเส้นที่ดูแล้วรู้ได้ทันทีว่าใครวาด และเนื้อเรื่องที่เป็นการรวบรวมลูกแก้วกายสิทธิ์ที่มีความสามารถต่างๆ มาต่อสู้และใช้ในการผจญภัย  เมื่ออ่านไยบะจึงไม่รู้สึกว่าอ่านดรากอนบอล แต่ก็ยังคงรู้ว่าเรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องใด

                The Incredible Hulk ตัวละครต้นแบบของโช คาลเลอร์ ก็ได้รับแรงบันดาลใจจากนวนิยายเรื่อง Strange Case of Dr. Jekyll and Mr. Hyde ซึ่งมิสเตอร์ไฮด์เป็นบุคลิกแฝงที่ซ่อนตัวอยู่ใน ดร. เจคกิล แต่เรื่องราวของฮัลค์ก็แต่งได้อย่างมีเอกลักษณ์ของตนเองจนได้รับความนิยมอย่างยาวนาน โดยที่ผู้อ่านไม่รู้สึกว่ากำลังอ่านเรื่องเดียวกับ Dr. Jekyll and Mr. Hyde

                ภาพยนตร์และเกมเรื่อง Resident Evil ที่ผู้เขียนนำมาใช้ก็ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์ชุด Living Dead แต่ Resident Evil ก็มีความแตกต่างจาก Living Dead หลายอย่าง รวมทั้งประเด็นแฝงที่ต้องการนำเสนอLiving Dead จะแฝงเรื่องของจิตใจที่โหดเหี้ยมของผู้คนเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์เลวร้ายและการต่อต้านทุนนิยม แต่ Resident Evil จะพูดถึงการทดลองทางวิทยาศาสตร์กับมนุษย์ที่เกิดจากความละโมบของมนุษย์ และลักษณะของผีดิบหรือซอมบี้ ที่ Resident Evil เพิ่มสัตว์ประหลาดเข้ามาหลายอย่าง   แม้แต่ซอมบี้เองก็มีลักษณะที่แตกต่างจาก Living Dead   แต่เหล่าซอมบี้และสัตว์ประหลาดใน Hexagon อ่านแล้วไม่รู้สึกว่าแตกต่างจาก Resident Evil ถึงแม้ว่าผู้เขียนจะบรรยายลักษณะภายนอกไม่เหมือนกัน แต่บรรยากาศโดยรวมแล้วก็ยังไม่แตกต่างอยู่นั่นเอง ผู้เขียนคงต้องกลับไปทบทวนว่าซอมบี้และสัตว์ประหลาดในเรื่อง Hexagon จะปรากฏตัวด้วยเหตุผลอะไร นอกจากการ นำเข้าจาก Resident Evil เพื่อให้เหล่าตัวละครได้แสดงฝีมือ

               

                สิ่งที่ต้องขอชมเชยในนิยายเรื่อง Hexagon คือความกระชับ ผู้เขียนสามารถกำหนดบุคลิกของตัวละครแต่ละตัวได้ชัดเจน ผู้อ่านสามารถจับคู่เหมือนระหว่างตัวละครทั้งหกได้แก่ โชคู่กับฮารุในด้านความอัจฉริยะ เรย์คู่กับทอร์ชในด้านการต่อสู้ และเคนคู่กับโจวในแง่ส่วนเกินของกลุ่ม ซึ่งทำให้ผู้อ่านติดตามอ่านเพราะเกิดคำถามว่าเคนกับโจวจะได้รับการบรรจุในหน่วยเพื่ออะไร ตัวละครทั้งหกต้องเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ที่ถูกแบ่งออกเป็นช่วงๆ หรือภาค ซึ่งผมลองแบ่งด้วยตนเองตามที่ปรากฏคือมีสามภาค ได้แก่ภาคแนะนำตัว ภาคเผชิญหน้ากลุ่มเหมือน และภาคอวกาศ การแบ่งเช่นนี้ทำให้ผู้อ่านไม่รู้สึกว่านิยายยืดยาวเกินไปเพราะมีการจบลงเป็นช่วงๆ พร้อมทั้งการคลี่คลายโครงเรื่องหลักและการเล่าอดีตของตัวละครไประหว่างทาง ก็ถือว่าเป็นวิธีการดำเนินเรื่องที่ดี

                ผู้เขียนพยายามบรรยายนิยายเรื่อง Hexagon ให้มีภาษาที่สละสลวย ซึ่งต้องขอแสดงความชื่นชม แต่การบรรยายฉากบางช่วงยังทำให้ผู้อ่านสับสน เช่นการต่อสู้ของเรย์และทอร์ชกับฝ่ายตรงข้ามในช่วงแรกๆ นั้น ถึงแม้จะมีถ้อยคำบรรยายจำนวนมากแต่อ่านแล้วกลับไม่รู้ว่าใครกำลังสู้กับใครในลักษณะอย่างไร ผู้เขียนมักจะแยกแยะตัวละครด้วยสีตา สีผม และ “ร่างหนา ร่างบาง ร่างสูง” เช่นเดียวกับนิยายออนไลน์เรื่องอื่นๆ ซึ่งถ้าใช้บ่อยครั้งเกินไปก็อาจทำให้ผู้อ่านสับสนว่าใครเป็นใคร เพราะตัวละครที่ผู้เขียนบรรยายว่า “ร่างหนา ร่างบาง ร่างสูง” ก็ไม่ได้มีเพียงคนเดียว นอกจากนี้ยังมีการแยกแยะตัวละครด้วยสีของลูกกระสุน ที่ทำให้ผู้อ่านรู้สึกสับสนเช่นกัน ผมขอแนะนำว่าผู้เขียนควรสลับมาใช้การบรรยายโดยใช้ชื่อตัวละคร และบอกว่าพวกเขาทำอะไรโดยตรงให้มากขึ้น อย่างไรก็ตามใน “ภาคอวกาศ” อ่านแล้วรู้สึกเข้าใจมากขึ้น ผู้เขียนอาจได้ปรับปรุงส่วนนี้แล้ว

                นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการสะกดผิดอยู่บ้าง เช่น การใช้ “คะ ค่ะ” “วะ ว่ะ” “นิหนา” (คำที่ถูกต้องคือ “นี่นา”) “โผล่ง (คำที่ถูกต้องคือ โพล่ง เท่าที่อ่านพบว่าผู้เขียนสะกดผิดทุกครั้ง คาดว่าจะไม่ทราบจริงๆ ว่าใช้อย่างไร จึงขอแนะนำว่าให้ผู้เขียนไปศึกษาการสะกดให้ถูกต้องด้วยก็จะทำให้เรื่องสมบูรณ์มากขึ้น

               

               

                 

               

               

               

               

               

               

     

               

     

               

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×