คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #104 : หลงม่านฟ้า
หลงม่านฟ้า
http://my.dek-d.com/formelove-hadman/writer/view.php?id=891085
หลงม่านฟ้า นวนิยายขนาดยาว แนว อดีต ปัจจุบัน อนาคต ของ หัดมาร ขณะนี้โพสต์ถึงตอนที่ 14 ซึ่งเป็นเรื่องราวของ หนี่วา เทพผู้สร้าง ที่ทำผิดกฎสวรรค์ ด้วยการไปหลงรักและมีความสัมพันธ์กับ เสี่ยวทู่ ซึ่งเดิมเป็นดวงจิตที่หนี่วาสร้างกายหยายให้เป็นกระต่ายสีดำ ก่อนที่กลายร่างเป็นสตรีที่งดงามชวนให้ลุ่มหลงในภายหลัง ทั้งคู่ถูกเง็กเซียนฮ่องเต้ลงโทษให้ลงไปเกิดเป็นมนุษย์และจำกันไม่ได้ แต่หากทั้งคู่ตามหากันจนเจอและกลับมารักกันอีกครั้งก็จะพ้นผิดกลับมายังสวรรค์ได้อีกครั้ง และหนี่วาต้องลงไปแก้ไขกลียุคที่เกิดในโลกมนุษย์ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่เขาละทิ้งการงานด้วย แต่การลงไปเกิดในโลกมนุษย์ของทั้งคู่ต้องประสบอุปสรรค เนื่องจากองค์หญิงเฟยเทียนที่หลงรักหนี่วาสาปให้เสี่ยวทู่ตาบอด และหลงรักชายอื่นที่มิใช่หนี่วา เรื่องราวความรักของทั้งคู่จะลงเอยอย่างไรต้องติดตามต่อไป
ความน่าสนใจของนวนิยายเรื่องนี้อยู่ที่ การเปิดเรื่องของด้วยการลงทัณฑ์ของเง็กเซียนฮ่องเต้ที่มีต่อหนี่วาและเสี่ยวทู่ พร้อมคำสาปขององค์หญิงเฟยเทียน ทำให้เรื่องราวชวนติดตามว่าชีวิตของทั้งคู่จะดำเนินไปอย่างไร นอกจากนี้ ผู้เขียนยังมีการสร้างตัวแปรต่างๆ เพื่อเป็นอุปสรรคขัดขวางมิได้คนทั้งสองได้พบกันและจดจำกันได้ ทั้งยังเพิ่มความซับซ้อนให้กับนวนิยาย โดยการสร้างโครงเรื่องย่อย (sub-plot) ขึ้นมาอีกเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น ความรักสามเส้าระหว่าง จอมมารหยางเหว่ย หลางฟง (ปีศาจหมาป่า) ที่ต่างหลงรัก เฉินไป๋ทู่ (เสี่ยวทู่ขณะอยู่ในโลกมนุษย์) ชะตากรรมของเฉินไป๋ทู่ ที่มีผู้ทำนายว่า “เธอจะเกี่ยวพันกับมหาบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ 2 คน เธอจะกลายเป็นสตรีที่สูงส่งเหนือหญิงใดในโลกหล้า แต่เธอจะทำลายล้างแผ่นดินเช่นกัน” ความแค้นระหว่างอ๋องจีฟา (ชื่อของหนี่วาขณะที่อยู่ในโลกมนุษย์) กับสนมต๋าจี ผู้ที่ทำให้เขาต้องกำพร้าพ่อ และความแค้นระหว่างสนมต๋าจี (นางปีศาจจิ้งจอก) อดีตสนมของจอมมารหยางเหว่ยกับจอมมารหยางเหว่ย และการจะขึ้นเป็นใหญ่ทั้งในแผ่นดินมนุษย์และในโลกปีศาจของสนมต๋าจี
การที่นวนิยายมีโครงเรื่องย่อยจำนวนมากเช่นนี้จะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อผู้เขียนสามารถสร้างสมดุลทั้งระหว่างโครงเรื่องหลักกับโครงเรื่องย่อย และระหว่างโครงเรื่องย่อยต่างๆ ด้วยกัน แต่ใน หลงม่านฟ้า นั้น ผู้วิจารณ์เห็นว่า ผู้เขียนยังไม่สามารถสร้างความสมดุลดังกล่าวได้ เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะผู้วิจารณ์พบว่าจุดเน้นของเรื่องเคลื่อนไป จนท้ายที่สุดไม่สามารถชี้ชัดลงไปได้ว่าผู้เขียนต้องการเน้นในประเด็นใดกันแน่ ทั้งนี้เพราะขณะที่เปิดเรื่องด้วยโครงเรื่องหลัก ความรักมั่นระหว่างหนี่วากับเสี่ยวทู่ ซึ่งความรักของทั้งคู่เป็นเหตุผลสำคัญที่ก่อให้เกิดเรื่องราววุ่นวายในโลกมนุษย์ตามมาอีกเป็นจำนวนมาก และมีตัวแปรสำคัญคือคำสาปขององค์หญิงเฟยเทียน ซึ่งสอดคล้องกับคำทำนายโชคชะตาของเสี่ยวทู่ที่เกิดมาเป็นเฉินไป๋ทู่ในโลกมนุษย์
หากจุดเน้นของนวนิยายเรื่องนี้เมื่ออยู่ในโลกมนุษย์กลับกลายเป็นเรื่องราวความรักสามเส้าระหว่างเฉินไป๋ทู่ จอมมารหยางเหว่ย และหนี่วาในร่างของจีฟา ซึ่งดูเหมือนว่าผู้เขียนลำเอียงสนใจที่จะนำเสนอแต่เรื่องราวความรักและความสัมพันธ์ระหว่างเฉินไป๋ทู่กับจอมมารหยางเหว่ยมากกว่า ขณะที่จิตของเฉินไป๋ทู่จะมาพบและจดจำของหนี่วาในร่างของจีฟาได้ก็เฉพาะแต่ในฝัน หรือในขณะที่ดวงจิตออกจากร่างเท่านั้น รวมทั้งยังเน้นการบรรยายและสร้างเรื่องราวของจอมมารหยางเหว่ยมากกว่าที่จะกล่าวถึงเรื่องราวของจีฟาอีกด้วย จนดูประหนึ่งว่าจีฟาเป็นเพียงตัวประกอบมิใช่ตัวละครหลักอย่างที่ควรจะเป็น ผู้เขียนน่าจะหาโอกาสอ่านทบนวนิยายเรื่องนี้อีกครั้งว่า โครงเรื่องใดที่ต้องการใช้เป็นโครงเรื่องหลัก และสร้างให้โครงเรื่องดังกล่าวเด่นขึ้น หรือลดบทบาทของโครงเรื่องย่อยอื่นๆ ที่นำมาประกอบ
นอกจากนี้ การที่ผู้เขียนสร้างโครงเรื่องย่อยจำนวนมากเช่นนี้ ในด้านหนึ่งนับว่าเป็นประโยชน์ในการสร้างความซับซ้อนในกับนวนิยาย และชวนให้น่าสนใจและน่าติดตามยิ่งขึ้น เพราะโครงเรื่องย่อยที่สร้างขึ้นมานั้นต่างมีเรื่องราวและปมเรื่องที่สนุกและน่าติดตาม แต่ในอีกด้านหนึ่ง ผู้วิจารณ์เห็นว่า ผู้เขียนเริ่มเปิดปมในเรื่องไว้เป็นจำนวนมาก และแต่ละปมก็ค่อนข้างใหญ่และซับซ้อนมาก เช่น การลงทัณฑ์หนี่วากับเสี่ยวทู่ ชะตากรรมของไป๋ทู่ตามคำทำนาย ความลับของ
จอมมารหยางเหว่ยกับหญิงปริศนาที่เขารักฝังใจ ความรักและความแค้นระหว่างสนมต๋าจีกับจอมมารหยางเหว่ย ความแค้นและการแก้แค้นที่จีฟามีต่อสนมต๋าจี และ กลียุคที่เกิดขึ้นในโลกมนุษย์สมัยจักรพรรดิโจ้วหวาง ซึ่งบางปมสามารถที่จะสร้างเป็นนวนิยายเฉพาะเรื่องต่างหากได้เลย จึงน่าเป็นห่วงว่าผู้เขียนจะขมวดและคลี่คลายปมต่างๆ ที่สร้างขึ้นไปในทิศทางใดต่อไป
ในการสร้างตัวละครนั้น พบว่าแม้ว่าผู้เขียนจะสร้างตัวละครเป็นจำนวนมาก แต่ตัวละครที่สร้างขึ้นต่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตน และมีสีสันที่น่าสนใจ ชวนติดตาม ไม่ว่าจะเป็นเสี่ยวทู่ที่รัก เทิดทูน และเชื่อฟังหนี่วามาก แม้กระทั่งยอมรับโทษทัณฑ์ทั้งหมดแทนเขา จอมมารหยางเหวย ที่โหดเหี้ยม โหดร้าย เด็ดขาด แต่กลับอ่อนโยนเมื่ออยู่กับเฉินไป๋ทู่ จีฟา ฉลาด ลุ่มลึก เอาจริงเอาจัง รักและกตัญญูต่อครอบครัวอย่างมาก ขณะที่ หลางฟง รัก เอ็นดู และกป้อง เฉินไป๋ทู่ แม้ว่าตัวเองจะถูกลงทัณฑ์ก็ตาม แต่เขาก็ยัง ยกย่อบูชา เทิดทูน เชื่อฟัง และเกรงกลัวจอมมารด้วยเช่นกัน
ข้อพกพร่องหนึ่งที่พบในการสร้างตัวละครในเรื่องนี้คือ อายุของตัวละครกับพฤติกรรมบางอย่างของตัวละครบางตัวดูจะไม่สอดคล้องกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จีฟา และ เฉินไป๋ทู่ เพราะว่าความคิด หรือการวางตัวในบางเหตุการณ์ดูจะโตกว่าหรือลุ่มลึกกว่าอายุจริงที่ผู้เขียนกำหนดไว้ อาทิ การให้จีฟาอายุเพียง 10 ขวบ เท่าทันความคิดที่เต็มไปด้วยเล่ห์เลี่ยมของสนมต๋าจี เป็นผู้บัญชาการและออกคำสั่งบรรดาองครักษ์ต่างๆ ถึงการวางกำลังปกป้องตำหนักและพระมารดาด้วยตัวเอง หรือการให้จีฟาออกรบตั้งแต่อายุ 12 และเขายังมีความมั่นใจว่าจะสามารถเผด็จศึกครั้งนี้ได้อย่างรวดเร็ว เพราะว่าการออกบัญชาการการรบนั้น ผู้บัญชาการต้องมีทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิที่มากพอ จึงจะควบคุมและปกครองกองทัพได้ นอกจากนี้ ขณะที่เขาอายุเพียงเท่านี้ยังสืบรู้ความลับที่สนมต๋าจีที่ปกปิดมาได้นานหลายปีว่า แท้ที่จริงแล้วนางมิใช่มนุษย์ แต่เป็นปีศาจจิ้งจอกอีกด้วย แม้ว่าผู้เขียนจะสร้างให้จีฟามีพลังพิเศษลึกลับบางอย่างก็ตาม แต่ก็ยากที่จะทำให้ผู้อ่านเชื่อและคล้อยตามได้ เพราะเมื่ออ่านแล้วมักจะจินตนาการได้ว่าตัวละครทั้งสองนี้น่าจะอายุมากที่กำหนดสัก 3-5 ปี ในแง่นี้ ผู้วิจารณ์คิดว่าผู้เขียนก็น่าจะทราบปัญหาในประเด็นนี้ด้วยเช่นกัน ไม่เช่นนั้นผู้เขียนคงจะไม่พยายามตอกย้ำอายุของตัวละครสองตัวนี้ให้ผู้อ่านตระหนักอยู่ตลอดเวลา จึงเห็นว่าถ้าเพิ่มอายุตัวละครสองตัวนี้ให้เหมาะกับพฤติกรรมต่างๆ ที่ผู้เขียนจินตนาการไว้ก็ไม่น่าจะส่งผลต่อทิศทางและอารมณ์โดยรวมของเรื่องที่ผู้เขียนต้องการเสนอเท่าใดนัก
นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมบางอย่างของไป๋ทู่ที่ขัดกับลักษณะที่ผู้เขียนกำหนดให้ไป๋ทู่ตาบอดแต่กำเนิด และสามารถที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ รวมทั้งยังดำเนินชีวิตเยี่ยงคนปกติได้โดยอาศัยประสาทสัมผัสด้านอื่นๆ มาทดแทน แต่พฤติกรรมอย่างหนึ่งที่ไป๋ทู่ไม่น่าทำได้คือ การที่ไป๋ทู่เลียนแบบการวางตัวต่อหน้าข้าราชบริพารตามแบบจอมมาร โดยอาศัยการสังเกตและจดจำ เพราะทักษะเหล่านั้นเป็นการเรียนรู้ผ่านทางการมองเห็น จึงไม่น่าเชื่อว่าไป๋ทู่จะกระทำได้จริง สิ่งที่ไป๋ทู่น่าจะเรียนรู้ได้มากกว่านั้น ควรจะเป็นการเลียนแบบน้ำเสียง และจังหวะหรือลีลาการพูด มากกว่าเลียนแบบลักษณะท่าทางและการวางตัว
ในส่วนการเขียนนั้นเห็นว่า ผู้เขียนไม่มีปัญหาในการสร้างบทพรรณนา บทบรรยาย และบทสนทนาต่างๆ ซึ่งทำได้อย่างลื่นไหล ต่อเนื่อง และสอดคล้องไปกับเรื่องราวและตัวละครในแต่ละตอนได้เป็นอย่างดี ซึ่งสร้างความน่าอ่าน และน่าสนใจให้กับเรื่องได้ แต่สิ่งที่ยังเป็นปัญหาในการเขียนกลับอยู่ที่คำผิด ซึ่งมีให้เห็นเป็นระยะๆ ทั้งการเขียนวรรณยุกต์ผิดพลาด เช่น กรุ่มกริ่ม เขียนเป็น กรุมกริม กลั่นแกล้ง เขียนเป็น กลั้นแกล้ง ซุ่มตัว เขียนเป็น ซุ้มตัว หน้าท้องนูนป่อง เขียนเป็น หน้าท้องนูนป้อง บูดบึ้ง เขียนเป็น บูดบึง ผิดเพี้ยน เขียนเป็น ผิดเพี๊ยน เอื้อม เขียนเป็น เอือม ถามอยู่ปาวๆ เขียนเป็น ถามอยู่ป่าวๆ เอื้อมมือ เขียนเป็น เอือมมือ เฟี้ยว เขียนเป็น เฟี๊ยว ควานหา เขียนเป็น คว้านหา กระหน่ำ เขียนเป็น กระหนำ เลิ่กลั่ก เขียนเป็น เลิกลั่ก เทพไท้ เขียนเป็น เทพไท เดียวดาย เขียนเป็น เดี่ยวดาย ไอร้อนสุมกาย เขียนเป็น ไอร้อนสุ่มกาย เก็บงำ เขียนเป็น เก็บง้ำ หนวดเครารำไร เขียนเป็น หนวดเคราร่ำไร
นอกจากนี้ยังมีการสะกดผิด เช่น พระจันทร์ทรงกลด เขียนเป็น พระจันทร์ทรงกรด คุกคาม เขียนเป็น คุกคราม ตระการ เขียนเป็น ตระกาน พระสุรเสียง เขียนเป็น พระสุรัสเสียง เทิดทูน เขียนเป็น เทิดทูล สายฟ้าแปลบปลาบ เขียนเป็น สายฟ้าแปรบปราบ นางกำนัล เขียนเป็น นางกำนัน แพรพรรณ เขียนเป็น แพรภัณฑ์ บรรณาการ เขียนเป็น บัณณาการ (อำนาจที่ยิ่งใหญ่คอย)คานกัน เขียนเป็น ค้านกัน เปล่งเสียง เขียนเป็น แปร่งเสียง หว่านล้อม เขียนเป็น หวาดล้อม ไม่ทันกาล (ไม่ทันเวลา) เขียนเป็น ไม่ทันการ (ไม่พอดีกับงาน ไม่เหมาะแก่เวลา) อบอวล เขียนเป็น อบอวน ปวดใจแปลบ เขียนเป็น ปวดใจแปรบ สัญชาตญาณ เขียนเป็น สัญชาติญาณ กระดิกหางดิกๆ หรือ กระดิกหางดิ๊กๆ เขียนเป็น กระดิกหางหลิกๆ ปรนนิบัติ เขียนเป็น ปรนิบัติ สะอื้น เขียนเป็น สำอื้น ตะกอน เขียนเป็น
ตระกอน เชี่ยวกราก เขียนเป็น เชี่ยวกราด สะเปะสะปะ เขียนเป็น สะปัดสะเป ตะเกียกตะกาย เขียนเป็น ตระเกียก
ตระกาย ปะทุ เขียนเป็น ประทุ อิสริยยศ เขียนเป็น อิสริยศ ตะกุกตะกัก เขียนเป็น ตระกุกตระกัก อนุญาต เขียนเป็น อนุญาติ สังเกต เขียนเป็น สังเกตุ ตาแดงก่ำ เขียนเป็น ตาแดงกร่ำ กลัดกลุ้มใจ เขียนเป็น กลัดกลั้นใจ ศีรษะ เขียนเป็น ศรีษะ หลงใหล เขียนเป็น หลงไหล แผนการ เขียนเป็น แผนการณ์ ปรารถนา เขียนเป็น ปราถนา กลิ้งกลอก เขียนเป็น กลิ้งกรอก เคี่ยวเข็ญ เขียนเป็น เขี้ยวเข่น พิพาท เขียนเป็น พิพาก เสียวแปลบ เขียนเป็น เสียวแปรบ อีกทั้งยังมีการใช้คำที่ไม่เหมาะกับความ เช่น หยิบมือเล็กออกจากใบหน้า ควรเขียนว่า จับมือเล็กออกจากใบหน้า แทน และการใช้ลักษณนามผิด เช่น ปีศาจทุกตน เขียนเป็น ปีศาจทุกคน ด้วยเหตุนี้ ผู้วิจารณ์เห็นว่า หากผู้เขียนแก้ไขข้อผิดพลาดต่างๆ เหล่านี้ จะช่วยให้นวนิยายเรื่องนี้ถูกต้องสมบูรณ์และน่าอ่านยิ่งขึ้น
ความคิดเห็น