ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    วิจารณ์นิยาย

    ลำดับตอนที่ #103 : The Tale of Pangerrics ตำนานคัมภีร์มหัศจรรย์

    • อัปเดตล่าสุด 15 ก.ค. 56


    วรรณกรรมเยาวชน เรื่อง The Tale of Pangerrics ตำนานคัมภีร์มหัศจรรย์  ผลงานของ B.S. SKILLA   ขณะนี้โพสต์ถึงตอนที่ 10 แล้ว  วรรณกรรมเรื่องนี้เป็นเรื่องราวของ อัลเทล  มินดูรินส์  เด็กชายชาวมนุษย์เพียงหนึ่งเดียวที่เติบโตมาในหมู่บ้านของคนแคระ  โดยมีโนเรอิน  พ่อบุญธรรมที่เก็บเขามาเลี้ยงตั้งแต่ยังเป็นทารก  การผจญภัยของเขาและผองเพื่อนเริ่มต้นขึ้นเมื่อโนเรอินเสียชีวิต และหมู่บ้านถูกทำลาย จากพวกออร์ค  สมุนของลูเฟียส  จอมปีศาจแห่ง
    ทิเนออน   ต่อมา อัลเทลไปพัวพันกับสงครามครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นไปทั่วทั้งดินแดนของคนแคระ  มนุษย์ และอาจเลยไปถึงดินแดนของเอลฟ์   เพราะลูเฟียส  จอมปีศาจส่งสมุนของตนไปเสาะแสวงหา “คัมภีร์พันเจอร์ริดส์” ซึ่งเป็นคัมภีร์อาญาเวทที่ใช้จองจำและขับไล่สิ่งชั่วร้าย เพื่อทำลายทิ้ง  เรื่องราวจะดำเนินต่อไปอย่างไร  เมื่ออัลเทลกลายเป็นผู้ถือครอง “คัมภีร์พันเจอร์ริดส์”  เพราะมีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่จะถือครองคัมภีร์นี้ได้   

    เรื่อง The Tale of Pangerrics ตำนานคัมภีร์มหัศจรรย์   เปิดฉากมาได้น่าสนใจและน่าติดตาม  ทั้งการสร้างปมและพัฒนาปมปัญหา ที่เกี่ยวกับการตามหาคัมภีร์ของจอมปีศาจ  โดยส่งสมุนไปค้นหาและโจมตีเมืองต่างๆ ทั่วดินแดน  ขณะเดียวกัน  B.S. SKILLA ยังได้สร้างตัวละครที่มีลักษณะและบุคลิกภาพเฉพาะตัวที่โดดเด่น  ซึ่งช่วยให้ผู้อ่านจดจำได้ง่าย  ไม่ว่าจะเป็น อัลเทล  มินดูรินส์  เด็กชายชาวมนุษย์ที่เติบโตและถูกเลี้ยงดูมาโดยคนแคระ  แต่มีนิสัยทะเยอทะยานและหุนหันพลันแล่น  แต่รักพวกพ้อง  รูอิส  เพื่อนใหม่ของอัลเทลที่มาจากหมู่บ้าน  เป็นผู้ที่รู้เรื่องโลกภายนอกมากกว่าพวก
    อัลเทลเพราะติดตามพ่อไปค้าขายในดินแดนอื่นๆ   หรือ เจ้าชายฮอล์เบิร์ช  ที่ต้องพิสูจน์ว่าพระองค์เหมาะสมที่จะเป็นกษัตริย์ของอาณาจักรได้หรือไม่  ด้วยสงครามครั้งใหญ่กับจอมปีศาจ  หรือ ฟาราเลียส  อดีตพ่อมดดำ ที่ขณะนี้กลับตัวเป็นพ่อมดขาว และมาเสนอตัวที่จะช่วยเหลือกษัตริย์ของพวกมนุษย์ต่อสู่กับสมุนของจอมปีศาจ

    แต่เมื่อพิจารณาโครงเรื่องที่ B.S. SKILLA  เสนอไว้ 14 ตอนนั้น  ผู้วิจารณ์เห็นว่าลำดับและการดำเนินเรื่องของวรรณกรรมเยาวชนเรื่องนี้  ไปคล้ายกับ The Lord of the Ring  วรรณกรรมระดับโลก  ผลงานของ เจ. อาร์ อาร์ โทลคีน. (J.J.R. Tolkien)   อยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ลำดับเวลาของเหตุการณ์ต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเรื่องที่หมู่บ้านคนแคระ  แต่ต่างกันที่ตัวเอกในเรื่อง The Lord of the Ring  เป็นคนแคระไม่ได้เป็นมนุษย์เหมือนวรรณกรรมเรื่องนี้   ต่อมา อัลเทล  พร้อมเพื่อคนแคระอีก 3 คนออกเดินทาง  ในเรื่องนี้อัลเทลก็เดินทางพร้อมเพื่อนคนแคระอีก 3 คนเช่นกัน  ระหว่างนั้น
    อัลเทลกลายเป็นผู้ถือครอง “คัมภีร์พันเจอร์ริดส์”  ซึ่งเป็นที่ต้องการของจอมปีศาจ และ ในเรื่อง
    The Lord of the Ring 
    โฟรโด ก็เป็นทายาทผู้ถือครอง “แหวน” ซึ่งเป็นที่ต้องการของจอมปีศาจเช่นกัน  ในระหว่างทาง อัลเทล ได้พบกับฟาราเลียส  อดีตพ่อมดดำ ที่กลับตัวเป็นพ่อมดขาว  ผู้มาช่วยเหลือให้รอดพ้นจากป่าอาถรรพ์ได้  เช่นเดียวกับโฟรโดที่ได้รับความช่วยเหลือจากแกนดัล์ฟพ่อมดเทา     อีกทั้ง  อัลเทลยังได้เจ้าชายฮอล์เบิร์ช  องค์รัชทายาทแห่งนครเฟอร์นาเดน  ดินแดนมนุษย์ทางตอนเหนือ ที่ปลอมตัวออกมาท่องเที่ยว  เช่นเดียวกับ โฟรโด ที่ได้พบกับสไตเกอร์ หรืออารากอร์น บุตรแห่ง
    อาราธอร์น ผู้นำแห่งเหล่าดูเนไดน์ แห่งดินแดนเหนือ   ซึ่งเจ้าชายหนุ่มทั้งสองต้องต่อสู้กับสมุนของจอมปีศาจ และมีแนวโน้มว่าจะแพ้  เจ้าชายทั้งสองเรื่องจึงต้องส่งคนไปขอความช่วยเหลือจากพวกเอลฟ์   ทั้งนี้คงต้องรอพิจารณาต่อไปว่า  การดำเนินเรื่องของวรรณกรรมทั้งสองเรื่องจะยังคงพ้องกันต่อไป  หรือว่า 
    The Tale of Pangerrics ตำนานคัมภีร์มหัศจรรย์  จะดำเนินเรื่องแตกต่างจากกัน  จนเรื่องที่จะเกิดขึ้นต่อไปเป็นลักษณ์เฉพาะตนของวรรณกรรมเรื่องนี้อย่างไร

    B.S. SKILLA    นับว่ามีทักษะในการเขียนในระดับดี  ทั้งการเขียนบทบรรยาย ที่สามารถบรรยายให้ผู้อ่านเห็นหมู่บ้านริเอเคน  ของคนแคระ  ใต้เงาหุบเขาไวท์เมาเทนส์  ในยามสงบ   ซึ่งตรงกันข้ามกับการบรรยายถึงซากของหมู่บ้านเมื่อถูกพวกออร์คโจมตี    หรือบรรยายถึงบรรยากาศและความน่าสะพรึงกลัวของป่า “ทมิฬรุกขชาติ” ป่าอาถรรพ์    และยังเขียนบทสนทนาได้อย่างรื่นไหล และน่าติดตาม  ซึ่งบทสนทนาดังกล่าวสร้างให้ตัวละครต่างๆ ในเรื่องมีชีวิตออกมามีชีวิตและโลดแล่นไปในโลกจินตนาการนี้ได้อย่างสมจริง

    แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าในวรรณกรรมเรื่องนี้ยังมีคำผิดอยู่จำนวนหนึ่ง  ซึ่งลดทอนความน่าอ่านและความสมบูรณ์ของเรื่องลงอย่างน่าเสียดาย   จึงเสนอคำผิดไว้เพื่อให้ผู้เขียนนำไปปรับแก้ในเรื่องต่อไป  คือ ซื่อสัตย์  เขียนว่า  ซื่อสัตว์  ฝุ่นละออง  เขียนว่า  ฝุ่นละลอง  สำลัก เขียนว่า  สำรัก  เคลื่อนไหว เขียนว่า  เคลื่อนไหล  ทรมาน  เขียนว่า ทรมาณ  ตะกละ  เขียนว่า ตระกระ  มูมมาม  เขียนว่า  มุมมาม  สมญานาม เขียนว่า  สมยานาม  อาภรณ์  เขียนว่า  อาภร  สันชาตญาณ  เขียนว่า  สัญชาติญาณ  เวทมนตร์ เขียนว่า เวทย์มนต์  สัญจร  เขียนว่า  สันจร   คำสาป เขียนว่า คำสาบ  หยุดตรง  เขียนว่า หยุดตง ขรุขระ  เขียนว่า ขลุขละ  ตะกุกตะกัก หรือ อึกอัก เขียนว่า กระอุกกระอัก  ประพาส  เขียนว่า ประภาส  เปียกปอน  เขียนว่า เปียกปอนด์  เป็นนัย  เขียนว่า เป็นนัยน์ (นัยน์ หมายถึง นัยน์ตา)  เมื่อครู่  เขียนว่า  เมื่อคู่  เจ้าปีศาจ  หมายถึง  เจาปีศาจ  ไม่น่ารื่นหู  เขียนว่า  ไม่น่าชื่นหู  เกียรติ  เขียนว่า  เกียตริ  บัลลังก์  เขียนว่า  บัลลังค์  กังวล  เขียนว่า  กังวน  นั่งเท้าคาง  เขียนว่า  นั่งค้ำคาง  ทุรกันดาร เขียนว่า  ทุระกันดาน  เชี่ยวชาญ  เขียนว่า  เชียวชาญ  นอกจากนี้ยังมีการใช้คำขยายผิดด้วย เช่น   กองเพลิงกัมปนาท  ควรใช้คำว่า กองเพลิงขนาดมหึมา    เพราะคำว่า  กัมปนาท  หมายถึง เสียงบันลือ  เสียงหวั่นไหว ดินแดนอันดาษดื่นโหดร้าย  ดาษดื่น หมายถึง หลากหลาย มีทั่วไป  แต่ในประโยคนี้ผู้เขียนต้องการหมายถึง
     “ทิเนออน” ซึ่งเป็นดินแดนเพียงหนึ่งเดียว จึงใช้คำว่า “ดาษดื่น” ไม่ได้  พวกเขาตะบันเท้าหนีมา  ควรใช้คำว่า พวกเขาวิ่งหนีมา  แผ่นดินที่เจียรไปด้วยตำนาน  ควรใช้ว่า แผ่นดินที่เต็มไปด้วยตำนาน  สัมผัสถึงกลิ่นอายความเป็นมาของแผ่นดิน  ควรใช้ว่า  สัมผัสถึงประวัติความเป็นมาของแผ่นดิน   รีบเดินอย่างกระเสือกกระสน   (กระเสือกกระสน หมายถึง  ดิ้นรน  ดิ้นรนให้พ้นความทุกข์) ควรใช้ว่า  รีบเดินอย่างกระวีกระวาด หรือ รีบเดินอย่างกระตือรือร้น

    ข้อเสนอแนะอีกประการหนึ่งสำหรับวรรณกรรมเรื่องนี้  คือ  B.S. SKILLA    ไม่ควรเล่าถึงตำนานของ อัลเทล
    มินดูรินส์  ในบทคั่น  เนื่องจากว่าขณะที่เล่าในบทคั่น  ผู้เขียนก็ไม่สามารถเล่าถึงเรื่อราวของอัลเทลอย่างละเอียดได้  ไม่เช่นนั้นจะเป็นการเฉลยเรื่องราวของวรรณกรรมเรื่องนี้ตั้งแต่ต้น  จึงแก้ไขด้วยการเลือกใช้คำที่ทำให้เรื่องดูคลุมเครือ  วกวน   มากกว่าที่จะเล่าว่าตำนานของอัลเทลเป็นอย่างไร  จึงเห็นว่าหากผู้เขียนต้องการเล่าตำนานของอัลเทล  ควรใส่ไว้ในบนสรุปช่วงท้ายเรื่อง  เมื่อเรื่องราวในวรรณกรรมคลี่คลายไปแล้ว  ก็สามารถเล่ารายละเอียดเกี่ยวกับตำนานของอัลเทลได้เช่นกัน  นอกจากนี้  ผู้วิจารณ์เห็นว่ายังมีเรื่องราวในบทคั่นอื่นๆ ไม่เฉพาะแต่เรื่องของอัลเทลเท่านั้น  ไม่ควรที่จะแยกออกมาเป็นตอนต่างหากจากเนื้อเรื่องเช่นนี้ แต่ผู้เขียนควรที่จะแทรกเกร็ดและเรื่องราวเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของเรื่อง ก็จะช่วยให้วรรณกรรมเรื่องนี้น่าอ่านและน่าติดตามเพิ่มมากขึ้น   เช่น  ตำนานนอร์ท  อาจจะให้ฟาราเลียส เล่าให้พวกอัลเทลฟังก็ได้  หรือ ตำนานเกี่ยวกับเฟอร์นาเดน  อาจจะให้เจ้าชายฮอล์เบิร์ช  เล่าขณะที่ย้อนคิดถึงความรุ่งเรืองในอดีตของอาณาจักรของตนก็ได้   ในกรณีนี้ก็จะช่วยทำให้เรื่องราวที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอทั้งหมดรวมกันเป็นเนื้อเดียวกัน  ไม่แยกกันอย่างเป็นเอกเทศเหมือนอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้  

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×