คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #102 : รากเหง้า
รากเหง้า เป็นนวนิยายแนว อดีต ปัจจุบัน อนาคต ของ อ. อกาลิโก ขณะนี้โพสต์ถึงตอนที่ 9 แล้ว เป็นเรื่องราวความผูกพันและชะตาชีวิตของคนในครอบครัวของยายบัว ซึ่งเรื่องเล่าย้อนกลับไปในอดีตตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ของเธอว่า สมาชิกในครอบครัวแต่ละคนมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร ตั้งแต่ในวัยเด็ก จนกระทั่งแต่ละคนต่างแยกย้ายไปมีครอบครัวของตน ทั้ง พ่อแก้ว แม่มาลี พี่สามทั้งสาม คือ พี่เอ้ย พี่ผัด พี่จงจิต และ บารมี น้องชายคนเล็ก
แม้ว่าเรื่องราวในขณะนี้จะยังดำเนินไปในช่วงของการเปิดเรื่อง ซึ่งเป็นการปูพื้นให้ผู้อ่านได้รู้จักกับครอบครัวของบัว โดยให้คุณยายบัวทำหน้าที่เล่าเรื่องราวชีวิตของคนในตระกูลของเธอให้ลูกๆ หลานๆ ฟัง โดยค่อยๆ เปิดเรื่องราวชีวิตของคนในรุ่นพ่อแม่ เริ่มตั้งแต่พ่อแก้วและแม่มาลีในช่วงที่แม่มาลีตั้งท้องลูกคนที่ 5 ก็คือบารมี ที่คลอดออกมาเป็นลูกชายคนเดียวสมใจ และเล่าถึงช่วงชีวิตวัยเด็กของลูกๆ ทั้ง 5 ก่อนที่ลูกสาวทั้ง 4 จะมีแฟนและต่างแต่งงานแยกไปมีครอบครัวของตนเอง คงเหลือแต่บารมีที่ยังอยู่กับพ่อแม่เท่านั้น แต่ยังมีข้อบกพร่องที่ชัดเจนที่พบในหลายประเด็น คือ
ประเด็นแรกคือ ความสมจริงในการแต่งเรื่องเล่าย้อนยุค การแต่งเรื่องย้อนยุค สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรกคือ ความสมจริงของเรื่อง เพราะว่าเรื่องราวในอดีตเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว จึงมีข้อมูลและข้อเท็จจริงเป็นจำนวนมากที่จะช่วยสนับสนุนให้ผู้เขียนสร้างเรื่องเล่าย้อนยุคให้ได้บรรยากาศและในยุคสมัยนั้น แต่ในนิยายเรื่องนี้ ยังมีเหตุการณ์บางตอนที่ยังไม่อาจสร้างให้ผู้อ่านเชื่อว่าสมจริงได้ แม้ว่าในช่วงต้นของเรื่อง อ. อกาลิโก ตั้งใจที่จะปูให้เรื่องให้ย้อนกลับไปในช่วง พ.ศ. 2500 ซึ่งเห็นความพยายามที่จะสร้างบรรยากาศแห่งยุคสมัยให้ผู้อ่านคล้อยตาม ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวถึงค่าเงิน หรือรัฐบาลออกกฎหมายเรื่องการศึกษาภาคบังคับในปี 2508 แต่ข้อมูลที่ให้บางครั้งอาจจำเป็นต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องราวในช่วงต้นที่ อ. อกาลิโก เขียนให้เห็นว่าอาชีพชาวนาเป็นอาชีพที่ไม่ร่ำรวย เป็นหนี้เป็นสิน สู้การเป็นพ่อค้าไม่ดี และชาวนาก็อยากที่จะเลิกทำอาชีพนี้ นับว่าขัดแย้งกับบริบทที่เป็นจริงของยุคสมัยเป็นอย่างยิ่ง เพราะในช่วงเวลานั้น ประเทศไทยเริ่มมีนโยบายพัฒนาประเทศด้วยการออกแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (2504-2509) ซึ่งนโยบายหลักที่รัฐบาลเน้นก็คือ การสนับสนุนภาคเกษตรกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปลูกข้าวของชาวนา เพราะข้าวนับว่าเป็นสินค้าออกสำคัญที่ทำรายได้ให้กับประเทศในสมัยนั้นอย่างมาก
นอกจากนี้ ในการบรรยายบรรยากาศของฉากย้อนยุค บางครั้งยังมีเหตุการณ์ที่แปลกแยกจากยุคสมัยแทรกอยู่เป็นระยะๆ เช่น การที่ให้เอ้ยจับบารมีมาแต่งหน้า และบอกน้องๆ ว่าให้บารมีปากสีแดงตามโทรทัศน์นั้น เพราะโทรทัศน์สีในประเทศไทยเริ่มในทศวรรษที่ 2510-2519 ไม่ได้เกิดในยุค 2500 หรือการที่ผู้เขียนบรรยายให้เด็กหญิงยากจนในชนบทยุค 2500 ถักโครเชต์เล่นเวลาพัก ซึ่งโครเชต์ในยุคนั้นยังเป็นของฟุ่มเฟือยที่มีราคาแพง เพราะไหมพรมและเข็มถักเป็นของนำเข้าจากต่างประเทศ อีกประการหนึ่งคือ การกล่าวถึงค่าเงิน บางครั้งก็ถูกบางครั้งก็แพง เช่น บางครั้งผู้เขียนก็เขียนว่าสมุดราคาเล่มละ 50 สตางค์แพงมาก แต่เมื่อพ่อทำงานมีเงินเหลือ 1,000 บาท ก็บอกว่าเงินเหลือไม่พอใช้ ทั้งๆ ที่ ในสมัยนั้นใครที่มีเงิน 1,000 บาทนับว่าเป็นคนรวยได้แล้ว เพราะเทียบง่ายๆ ว่าราคาทองในยุคนั้นเพียงบาทละ 400 บาทเท่านั้นเอง ดังนั้น การจะแต่งเรื่องย้อนยุคให้สมจริง ผู้เขียนจำเป็นต้องศึกษาข้อมูล บริบททางประวัติศาสตร์และสังคม เพื่อสร้างชีวิต ความเป็นอยู่ และเรื่องราวได้อย่างถูกต้องแม่นยำ จนเรื่องที่แต่งขึ้นนั้นได้รับการยอมรับว่าเป็นเรื่องย้อนยุคจริงๆ
ประการต่อมา คือ แก่นเรื่องหลัก ที่ดูยังไม่มีปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดว่า อ. อกาลิโล จะให้เรื่องดำเนินไปในทิศทางใด ขณะนี้จับได้แค่ว่าเป็นการเล่าถึงประวัติชีวิตและเรื่องราวของคนในครอบครัวของบัวไปเรื่อยๆ เท่านั้น การเปิดเรื่องในช่วงแรกด้วยการปูพื้นตัวละครต่างๆ อย่างยืดยาว โดยยังไม่สร้างปมขัดแย้ง และพัฒนาปมขัดแย้งใดๆ ที่เร้าความสนใจของผู้อ่านเช่นนี้ ยกเว้นการเปิดปมอาฆาตของนางพรายเท่านั้น อาจจะทำให้คนอ่านเบื่อและเลิกอ่านเรื่องต่อได้ จึงเห็นว่าในช่วงแรกอาจจะตัดเรื่องการเรียนและการไปโรงเรียนของบัวและบารมีออกก็ได้ เพราะเรื่องราวในช่วงนี้ไม่ได้มีความสำคัญต่อการพัฒนาเรื่องในช่วงต่อไปมากนัก เนื่องจากผู้แต่งก็ไม่ได้สร้างให้ชีวิตของตัวละครสองตัวที่ได้เรียนหนังสือนั้น มีชีวิตแตกต่างจากพี่ๆ อีก 3 คนที่ไม่ได้เรียนแต่อย่างใด
การไม่บรรยายสถานที่นับเป็นข้อบกพร่องที่พบอีกประการหนึ่ง จากการอ่านเรื่องราวมาจนถึงตอนที่ 9 แล้วพบว่า ฉากหลักที่ผู้เขียนควรสร้างความชัดเจนให้กับผู้อ่านคือ ครอบครัวของบัว เพราะว่าเรื่องราวส่วนใหญ่ในตอนต้นเกิดขึ้นที่นั่น และการอธิบายฉากที่ชัดเจนสร้างจินตภาพของผู้อ่านได้มากขึ้น เนื่องจากการให้ภูมิหลังของตัวละครจะช่วยเสริมจินตนาการให้เห็นภาพความแร้นแค้น ยากจนของครอบครัวนี้ได้อย่างที่ผู้เขียนตั้งใจ แต่การที่ผู้เขียนไม่ระบุตำแหน่งของที่อยู่ว่าตั้งอยู่ในส่วนใดของประเทศอย่างชัดเจนเช่นนี้ สร้างความสับสนให้ผู้อ่านเป็นอย่างมาก เมื่อผู้เขียนไม่บอก ผู้อ่านก็ต้องคาดเดาเอาเอง โดยอาศัยข้อมูลและบริบทรอบๆ ต่างๆ ที่ผู้เขียนให้ไว้ แต่ภาพที่ปรากฏก็เลื่อนไหลไปเรื่อยๆ บางครั้งก็รู้สึกว่าครอบครัวนี้น่าจะอยู่ในภาคอีสาน เพราะตัวละครกินข้าวเหนียว แต่ก็ไม่แน่ใจเพราะบางครั้งก็บอกว่ากินน้ำพริกหนุ่ม กับไข่ต้ม ซึ่งก็ชวนให้คิดว่าน่าจะอยู่ภาคเหนือได้ แต่ต่อมาเมื่อให้พ่อนำข้าวไปขาย แล้วเจ้าของโรงสีให้ปลาทู 100 ตัว เพื่อใช้แทนการลดจำนวนข้าวที่ติดไว้แทน การชวนให้คิดว่าบ้านน่าจะอยู่ภาคกลางและติดทะเล แต่บริบทอื่นๆ ก็ไม่เอื้ออีก เพราะบางครั้งพ่อก็เข้าไปหาของป่าใกล้ๆ บ้าน ก็ที่บริบทรอบข้างเปลี่ยนไปบ่อยๆ เช่นนี้ ก็ยิ่งทำให้ภาพความแร้นแค้นและยากจนของครอบครัวบัวที่ผู้เขียนต้องการสร้างพร่าเลือนไปพร้อมกันด้วย เนื่องจากครอบครัวบัวดูจะจนก็แต่เพียงจากการบอกเล่าของผู้เขียนเท่านั้น แต่ถ้าพิจารณาจากสภาพทั่วไปที่ผู้เขียนบรรยายไว้ก็พบว่า ครอบครัวของบัวก็พอมีพอกิน ไม่ร่ำรวย แต่ก็ไม่ถึงกับยากจนแร้นแค้นมากเท่าที่ผู้เขียนต้องการ
ประเด็นสุดท้าย คือ การเขียน ผู้วิจารณ์เห็นว่า อ. อกาลิโกไม่มีปัญหาในเรื่องของการเขียนบทบรรยายและบทสนทนา แต่สิ่งที่อยากให้ผู้เขียนตัดออกในการบรรยายคือ การใส่คำขยายความไว้ในวงเล็บ ปัญหานี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการอธิบายความ หรือแทรกมุมมองดังกล่าวไว้ในความคิดหรือคำพูดของตัวละครตัวหนึ่งตัวใดได้เลย หรืออาจแทรกไว้ในคำบรรยายของผู้เล่าเรื่องก็ได้ ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านอ่านเรื่องได้อย่างลื่นไหล และไม่สะดุดเป็นระยะๆ เช่นนี้ หรือคำอธิบายในวงเล็บบางแห่งอาจตัดทิ้งไปเลยก็ได้ เช่น ไปโรงพาบาล (ออกเสียงไม่ถูกเพราะไม่ได้เรียนหนังสือ) เพราะประโยคที่ใช้เป็นภาษาพูด ไม่จำเป็นต้องออกเสียงถูกต้องตามภาษาเขียนก็ได้ และผู้อ่านทราบอยู่แล้วว่าตัวละครที่พูดไม่ได้เรียนหนังสือ จึงไม่แปลกที่จะออกเสียงผิดได้
ปัญหาสำคัญในการเขียนที่ อ.. อกาลิโก จำเป็นต้องรีบแก้ไขโดยด่วน คือ การสะกดคำ เพราะว่ามีคำผิดเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีสาเหตุจาก 2 ประการหลักๆ คือ การใช้วรรณยุกต์ผิด เช่น เถอะ เขียนเป็น เถ่อะ เปรอะเปื้อน เขียนเป็น เปร่อะเปือน ไอ้ เขียนเป็น ไอ่ เรือน เขียนเป็น เรื่อน ชาย เขียนเป็น ช่าย ไพเราะ เขียนเป็น ไพเร่าะ ไม้ เขียนเป็น ไม่ อ้าว เขียนเป็น อ่าว ชาวไร่ เขียนเป็น ช่าวไร เหงื่อ เขียนเป็น เหงื้อ แนะนำ เขียนเป็น แน่ะนำ จังหวะ เขียนเป็น จังหว่ะ เยอะ เขียนเป็น เย่อะ อั๊วะ เขียนเป็น อ้วะ แก๊ง เขียนเป็น แก้ง เปรอะ เขียนเป็น เปร่อะ เที่ยว เขียนเป็น เทียว แก่ เขียนเป็น แก รุ่งเรือง เขียนเป็น รุ่งเรื่อง หมั่นไส้ เขียนเป็น หมันไส้ ทะเลาะ เขียนเป็น ทะเล่าะ เลอะเทอะ เขียนเป็น เล่อะเท่อะ แวะ เขียนเป็น แว่ะ
การสะกดผิดอีกสาเหตุหนึ่งคือ การไม่ทราบว่าคำที่ถูกสะกดอย่างไร เช่น มโนสำนึก เขียนเป็น มโนนึก
ฝ้าฟาง เขียนเป็น ฟ่าฟาง สาบาน เขียนเป็น สาบาญ ทุกข์ เขียนเป็น ทุก โบสถ์ เขียนเป็น โบส ขี้เกียจ เขียนเป็น
ขี้เกิยจ เถลไถล เขียนเป็น ถะเหลถะไหล / ทะเหลทะไหล ขมวด เขียนเป็น ขะมวด ศีรษะ เขียนเป็น ศรีษะ เฆี่ยน เขียนเป็น เคี่ยน จ้า เขียนเป็น จร้า เซ็งแซ่ เขียนเป็น แซงแซ่ เฒ่า หรือ เถ้าแก่ เขียนเป็น เถ้า ต่างๆ นานา เขียนเป็น ต่างๆ นาๆ ขื่อ เขียนเป็น คื่อ ลาบ เขียนเป็น ลาป บำรุง เขียนเป็น บำรูง ทิด เขียนเป็น ทิต ฮึด เขียนเป็น หึด ธนบัตร เขียนเป็น ธนบัติ กบาล เขียนเป็น กระบาน กล้าแดด เขียนเป็น กล่ำแดด สัมภาระ เขียนเป็น สัมพาระ
สะท้าน เขียนเป็น สะท้าย แย้ม เขียนเป็น แย้ อาถรรพ์ เขียนเป็น อาธรรพ์ รวดร้าว เขียนเป็น รวดร้าย หรือ เขียนเป็น รื้อ สังขาร เขียนเป็น สังขาน ยี่หระ เขียนเป็น ยี่หร่า พิเรนทร์ เขียนเป็น พิเรน ทะนุถนอม เขียนเป็น ถะนุถนอม มรรคทายก เขียนเป็น มัคทายก รื่นหู เขียนเป็น ลื่นหู ว้าย เขียนเป็น ว๊าย ระคนกลัว เขียนเป็น ประคนกลัว และ
ตาถลน เขียนเป็น ตาถะโหลน
ทั้งนี้เห็นว่าเรื่องยังเพิ่งเขียนในช่วงต้น อ. อกาลิโก ลองกลับไปทบทวนและปรับแก้งานอีกครั้ง ก็ไม่น่าที่จะเสียเวลามากนัก และจะช่วยให้ผลงานน่าอ่านและสมบูรณ์มากขึ้นด้วย
--------------------------------
ความคิดเห็น