ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    วิจารณ์นิยาย

    ลำดับตอนที่ #10 : Rosa Diary บันทึกรักกุหลาบป่า

    • อัปเดตล่าสุด 9 ส.ค. 55



    ลิงก์นิยาย http://writer.dek-d.com/faery/story/view.php?id=645605

    ก่อนอื่นคงต้องบอกว่าเหตุผลที่สนใจเรื่อง
    Rosa Diary บันทึกรักกุหลาบป่า ของ faery  เพราะรู้สึกอยากช่วยตอบคำถามที่เขียนไว้ในบรรทัดแรกๆของบทนำว่า สงสัยมากเลยว่าทำไมตอนต้นๆ คนเยอะมาก  แต่ตอนหลังๆ เงียบชะมัด  ใครจะไม่อ่านต่อบอกเหตุผลเราหน่อยนะคะ  วิจารณ์ก็ได้จะได้ปรับปรุงถูก   เนื่องจากเรื่องที่โพสต์ไว้ขณะนี้แบ่งได้เป็น 2 ตอนใหญ่ๆ คือช่วงแรก มี 28 ตอน และช่วง Rosa 2  เพิ่งเขียนถึงตอนที่ 2 ดังนั้นการวิจารณ์ในครั้งนี้จึงเลือกที่จะกล่าวถึงเฉพาะช่วงแรกที่มี 28 ตอนเท่านั้น

    ใน 28 ตอนที่ผ่านมานำเสนอเหตุการณ์ที่ซ้อนกันใน 2 ช่วงเวลา คือ ช่วงอดีตที่เสนอเรื่องราวความรักสามเส้าของเพื่อนรักสามคน เจราดิส  ดาเฟียน่า และ วิลเฟร็ด ที่ต้องจบชีวิตลงเพราะความโลภของเจ้าครองแคว้นดาเลมัสที่อยากได้สมบัติและอำนาจ  ซึ่งท้ายที่สุดเขาและอาณาจักรที่สร้างไว้ก็ต้องล่มสลาย  ด้วยฝีมือของวิลเฟร็ดเจ้าแห่งมนตราที่ตัดสินใจฆ่าตัวตายเพื่อสาปแช่งและกักขังดวงวิญญาณแห่งความโลภเหล่านั้นให้คงอยู่ ณ ดินแดนแห่งนี้ตลอดกาล จนกลายเป็นต้นกำเนิดของบันทึกกุหลาบป่า และเหตุการณ์ในช่วงปัจจุบันที่ทั้งสามคนมาเกิดใหม่และได้พบกันอีกครั้ง ในนามของ โรส เซเรสติน และ รีฟา ขณะเดียวกันวิญญาณที่ถูกกักขังไว้เหล่านั้นก็เริ่มที่จะออกอาละวาดและกลับมาแก้แค้นอีกครั้ง  จึงต้องมาคอยลุ้นกันว่าเหตุการณ์ในโลกปัจจุบันนี้จะซ้ำรอยเรื่องราวในอดีตอีกครั้งหรือไม่

    ผู้วิจารณ์ยอมรับว่าในช่วงต้น faery เปิดเรื่องด้วยภาพความฝัน 3 เหตุการณ์ของคน 3 คน ได้อย่างน่าสนใจ  และอาศัยความฝันเป็นตัวดำเนินเรื่องในช่วงต้นได้อย่างน่าติดตามว่าความฝันเหล่านั้นจะนำไปสู่เรื่องราวอันเป็นต้นกำเนิดของโศกนาฏกรรมเหล่านี้อย่างไร  นอกจากนี้ยังกระตุ้นให้ผู้อ่านสนใจว่าตัวละครต่างๆที่อยู่ในความฝันเหล่านั้นมีความผูกพันกันเช่นไร   นิยายเรื่องนี้ไม่เพียงแต่เสนอเรื่องราวมิตรภาพของเพื่อนรักสามคนที่มีความผูกพันกันมาตั้งแต่ชาติภพก่อนเป็นแก่นเรื่องหลักเท่านั้น  แต่ยังมีประเด็นของการกลับมาแก้แค้นของวิญญาณพยาบาทเป็นแก่นเรื่องรองที่กระตุ้นให้เรื่องราวมีความซับซ้อนและเร้าใจยิ่งขึ้น

    ความน่าสนใจอีกประการหนึ่งคือการใช้เรื่องของ มิติเพื่อสร้างความแปลกใหม่ให้กับเรื่อง  เพราะการเล่นกับ มิติ ของ faery นั้นไม่ได้เล่นเฉพาะมิติของเวลา หรือมิติของสถานที่เพียงอย่างเดียว  แต่ faery เลือกผสานทั้งมิติของเวลาและสถานที่เข้าด้วยกัน  ในมิติของเวลานั้นเป็นการย้อนกลับไปกลับมาระหว่างเรื่องราวในอดีตที่ขนานไปกับเรื่องราวในปัจจุบัน  โดยอาศัยความฝันและเรื่องราวในบันทึกของวิลเฟร็ดเป็นตัวดำเนินเรื่อง  ขณะที่มิติของสถานที่กลับมีความซับซ้อนมากกว่านั้น  กล่าวคือ เป็นทั้งสถานที่ในอดีต คือ แคว้นดาเลมัส  ที่เป็นส่วนหนึ่งของเมืองเซรียา ของรีฟา และเมืองดาฟารีน ของ เซเรสติน  ในปัจจุบัน  และยังเชื่อมโยงไปถึงโลกต่างมิติอันเป็นบ้านของโรสที่อยู่ในเมืองไทยอีกด้วย เรื่องราวที่เกิดขึ้นในสถานที่ต่างๆนั้นมักจะผูกพันกับตัวละครที่เป็นตัวแทนของสถานที่นั้นๆ อย่างแนบแน่น

    ความซับซ้อนที่ตั้งเป็นเงื่อนไขในการดำเนินเรื่องครั้งนี้นับว่าความท้าทายความสามารถของผู้เขียนเป็นอย่างมาก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างสมดุลให้กับเหตุการณ์ในช่วงเวลาและในสถานที่ต่างๆ ที่กำหนด  ผู้วิจารณ์เห็นว่าความซับซ้อนที่ faery สร้างขึ้นมานั้นกลายเป็นดาบสองคม  เพราะถ้าเรียงร้อยได้อย่างลงตัวก็จะทำให้เรื่องนี้มีความโดดเด่นมากขึ้น  แต่หากไม่สามารถผสานความซับซ้อนนี้ได้  ก็จะกลายเป็นจุดอ่อนของเรื่องไปในทันที    ในเรื่องนี้  faery ยังไม่สามารถทำให้มิติของเวลาและมิติของสถานที่ที่สร้างขึ้นสอดผสานกันอย่างกลมเกลียวและลื่นไหล  บางครั้งยังแบ่งกันเป็นช่วงๆขาดจากกันเป็นตอนๆ   หรือเหตุการณ์บางอย่างก็สามารถตัดออกได้  เนื่องจากไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเรื่อง  เมื่อเสริมเข้ามากลับยิ่งสร้างความแปลกแยกให้กับเรื่องมากเกินไป โดยเฉพาะฉากการไปเที่ยวกลางคืนในกรุงเทพฯของรีฟาและเซเรสติน ที่ faery มุ่งจะวิจารณ์การปฏิบัติตัวอันไม่หมาะสมของนักเที่ยวในสถานบันเทิงยามราตรี ซึ่งไม่เกี่ยวกับทั้งแก่นเรื่องหลักและแก่นเรื่องรอง

    ในเรื่องนี้ผู้วิจารณ์เห็นว่าการที่ faery กำหนดให้โรสเป็นนักเรียนสาวมัธยมมาจากเมืองไทยนั้นสร้างความแปลกแยกและไม่สมจริงให้กับเรื่องอย่างมาก  และคิดว่าถ้าให้โรสมาจากเมืองอื่น อาจเป็นเมืองสมมุติเมืองใดก็ได้ที่ไม่ใช่เมืองไทยก็จะช่วยให้เรื่องลื่นไหลมากกว่านี้ เพราะเมื่อกำหนดให้โรสมาจากเมืองไทย  ความโดดเด่นของความเป็นตัวละครที่แทนความเป็นไทยก็น่าจะมีผลต่อการดำเนินเรื่องด้วยเช่นกัน  แต่เท่าที่อ่านมาความเป็นคนไทย  หรือฉากเมืองไทยที่นำเสนอก็ไม่ได้ส่งผลต่อแก่นเรื่องหรือโครงเรื่องหลักใดๆ เลย  ช่วงที่เดินทางมาเมืองไทยก็เป็นเพียงจะสร้างความสนุกอันเกิดจากความเปิ่นและไม่รู้ของเซเรสตินในบางเรื่องเท่านั้น เช่น ไม่รู้จักวิธีใช้ห้องน้ำ  ลิฟต์ หรือ ขึ้นรถแท็กซี่  หรือการให้รีฟาและเซเรสตินเดินทางข้ามมิติมาโผล่ในห้องน้ำหญิงของโรงเรียนแห่งหนึ่ง  ขณะเดียวกันเมื่อโรสเป็นคนไทยต้องข้ามมิติไปอยู่ที่มิติของรีฟาและเซเรสติน  ปฏิกิริยาของคนที่นั่นที่มีต่อโรสก็น่าจะมีอะไรที่สะดุดใจมากกว่านี้  เพราะโรสน่าจะมีรูปร่าง หน้าตา บุคลิก ท่าทางที่ต่างออกไปอย่างมาก  ถึงแม้ว่ารีฟาจะใช้เวทมนตร์ช่วยให้โรสฟังและพูดภาษาของเขาออกก็ตาม  เพราะไม่น่าจะเคยมีคนจากมิติอื่นเคยข้ามไปที่นั่นบ่อยนัก  อีกทั้งวิถีชีวิตของทั้งสองมิติต่างกันอย่างมาก  โดยเฉพาะเมื่อมิตินั้นคล้ายกับยุโรปในช่วงยุคกลางที่ยังมีกองทหารม้า  คนสัญจรไปมาด้วยการเดิน ขี่ม้า หรือใช้เกวียน  ในขณะที่เมืองไทยอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 21 มีความเจริญทางด้านเทคโนโลยีต่างๆก็พัฒนาไปสูงมากแล้ว  การปรับตัวของตัวละครทั้งสองฝ่ายไม่น่าจะรวดเร็วดังที่ปรากฏในเรื่อง โดยเฉพาะการปรับตัวของโรสที่ทำตัวกลมกลืนกับชีวิตในมิติใหม่ได้เร็วมาก ทั้งๆที่อยู่ในเมืองไทยแท้ๆ เธอยังทำตัวแปลกแยกจากสังคม และชอบอยู่ตามลำพังคนเดียวอยู่เลย  โรสจึงน่าจะเป็นตัวละครที่มีปัญหาในการปรับตัวมากที่สุด

    เมื่อเรื่องมีความซับซ้อนมากเช่นนี้  ผู้อ่านยังถูกกระหน่ำด้วยการเขียนที่ชวนสับสนเข้าไปอีก  เพราะผู้เขียนจะดำเนินเรื่องโดยการแทรกเรื่องราวในปัจจุบันเข้ากับอดีตทั้งที่เป็นความฝัน และเรื่องราวในบันทึก   ขณะเดียวกันก็ยังมีการย้อนไปมาระหว่างเมืองไทย เมืองเซรียา เมืองดาฟารีน และบางครั้งยังย้อนกลับไปยังอาณาจักรดาเลมัสสมัยโบราณด้วย ขณะเดียวกัน faery กลับไม่ช่วยสร้างความกระจ่างให้ผู้อ่าน  ด้วยการแยกให้เห็นว่าขณะนี้กำลังเปลี่ยนฉากใหม่ หรือเปลี่ยนเหตุการณ์ใหม่แล้ว  ตลอดทั้งเรื่อง faery จะเขียนเรื่องต่อเนื่องกันไปหมด  โดยคาดหวังให้ผู้อ่านทราบเองว่าตอนนี้เปลี่ยนฉากแล้ว  หรือเปลี่ยนตัวละครผู้ดำเนินเรื่องแล้ว  การเขียนเช่นนี้สร้างความสับสนอย่างมาก  โดยเฉพาะฉากความฝันที่ให้โรส  รีฟา และ เซเรสติน ฝันพร้อมกัน  การจะแยกว่าใครฝันก็ยากอยู่แล้ว  และยังต้องจำอีกว่าความฝันของแต่ละคนนั้นเป็นเรื่องราวในอดีตของใคร   ดังนั้น  หาก faery สามารถสร้างความชัดเจนประเด็นนี้ได้ก็จะช่วยผู้อ่านได้มาก

    นอกจากนี้  ความไม่คงที่ของบุคลิกตัวละคร โดยเฉพาะเมื่อผู้เขียนกล่าวถึงประวัติของตัวละครไว้ในตอนที่ 17  ยิ่งชวนให้มึนงงว่าจริงๆแล้วตัวละครควรมีบุคลิก ลักษณะ และนิสัยอย่างไรกันแน่  เพราะตัวละครส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นไปตามที่กำหนดไว้เท่าใดนัก  เมื่ออ่านๆไปจะรู้สึกว่าตัวละครในเรื่องสามารถจะปรับเปลี่ยนบุคลิกลักษณะตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนั้นๆ  เช่น โรส ที่บอกว่าเป็นเด็กเรียบร้อย เป็นผู้ใหญ่เกินวัย และควบคุมตัวเองได้ดี  แต่เมื่อเรื่องดำเนินไปเรื่อยๆ โรสก็เปลี่ยนบุคลิกไปจนแทบจะไม่เหลือบุคลิกที่ผู้เขียนตั้งใจไว้เลย  เพราะโรสกลายเป็นคนเอาแต่ใจตัวเอง  ห้าว เก่งกล้า มีความสามารถที่ซ่อนไว้มากมายไม่ว่าจะมีพลังเวทในการรักษา  สามารถต่อสู้ด้วยมือเปล่าได้อย่างดี ขี่ม้าได้ภายในครึ่งวัน  จนเรฟนอฟพี่ชายของรีฟาเห็นโรสเป็นม้าดีดกะโหลก  และแทบจะไม่มีเหตุการณ์ตอนใดที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้ใหญ่เกินตัว และการควบคุมตัวเองได้ดีอยู่เลย     ไม่เพียงแต่ตัวละครที่ให้ประวัติไว้เท่านั้น  ตัวละครที่ไม่ได้เล่าถึงประวัติในตอนที่ 17 ก็มีความไม่คงที่เช่นกัน  โดยเฉพาะแอสเทลล่า  จะเห็นได้ว่าในตอนแรก faery บอกไว้ชัดเจนว่าแอสเทลล่าร่างกายอ่อนแอมาก  ต้องมีพี่เลี้ยงดูแลเป็นพิเศษ  แต่หลังจากนั้นจะพบฉากที่แอสเทลล่าวิ่งเล่นอยู่บ่อยครั้ง  จนอดสงสัยไม่ได้ว่าแท้จริงแล้วแอสเทลล่าอ่อนแอหรือแข็งแรงกันแน่

    ผู้วิจารณ์เห็นว่าเหตุผลหลักๆที่ทำให้คนอ่านสนใจเข้ามาอ่านเพียงช่วงแรกๆ และหายไปนั้น    ไม่เพียงมีสาเหตุมาจากความซับซ้อนในประเด็นต่างๆ ที่กล่าวถึงข้างต้นที่สร้างความสับสนให้กับผู้อ่านเท่านั้น  แต่ความเยิ่นเย้อของเนื้อเรื่องก็นับเป็นเหตุผลสำคัญ  โดยส่วนตัวเห็นว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นตลอดทั้ง 28 ตอนยังเป็นเพียงช่วงเกริ่นเรื่องเท่านั้น  ยังไม่ได้เข้าไปยังแก่นเรื่องที่ต้องการเสนอ  เพราะเรื่องราวที่นำเสนอมาถึงตอนนี้ไม่ได้ช่วยสร้างความชัดเจนให้แก่ผู้อ่านเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ของมิตรภาพและความรักของเหตุการณ์ในอดีต     ความโหดร้ายและความโลภของเจ้าครองแคว้นดาเลมัสในอดีต   การพัฒนาความสัมพันธ์ของโรส รีฟา และ เซเรสติน ในปัจจุบัน  การกลับมาแก้แค้นของดวงวิญญาณที่ถูกจองจำ  หรือแม้กระทั่งความลับในครอบครัวของรีฟา  ผู้วิจารณ์จึงเห็นว่า faery น่าจะดำเนินเรื่องให้กระชับมากขึ้น  อาจทำได้โดยแบ่งจุดเน้นเป็นช่วงๆก็ได้ว่าระหว่างตอนนี้ถึงตอนนี้จะนำเสนอเหตุการณ์ใด  เพื่อให้ภาพที่ชัดเจนมากขึ้นไม่ใช่นำเสนอแต่เพียงภาพที่พร่าเลือนอย่างที่เป็นอยู่

    ยิ่งไปกว่านั้น  faery ก็มีปัญหาเรื่องการสะกดคำผิดด้วยเช่นกัน  การสะกดผิดนั้นมีทั้งการเขียนชื่อเฉพาะผิด และบ่อยครั้งยังพบว่ามีการเขียนผิดซ้ำๆ เช่น ดาเลมัส ก็เขียนเป็นดาเรมัส  วิลเฟร็ด ก็เขียนเป็นวิลเฟรด หรือเซเรสติน ก็เขียนเป็น เซเรวติน    บางครั้ง faery เขียนชื่อตัวละครผิดตัวเลยก็มี  แทนที่จะกล่าวถึงวิลเฟร็ด ก็เขียนว่าเรฟฟอน (การอธิบายถึงตัวละคร ดาเฟียน่า ในตอนที่ 17)  ทำให้ผู้อ่านฉงนด้วยเช่นกัน   รวมทั้งยังมีการใช้สรรพนามผิดในบางแห่งซึ่งชวนให้งงได้  เช่น  เหตุการณ์ที่รีฟาพบกับโรสครั้งแรก  รีฟาขอให้โรสแสดงตัวเป็นเพื่อนของเขาเพื่อจะได้สมกับข้ออ้างที่ว่าเขาบอกกับอามิเอลว่ามาพบเพื่อน  แต่ตลอดเวลาที่พูดถึงอามิเอลกลับใช้สรรพนามแทนว่า เขา แทนที่จะเป็นคำว่า เธอ ทั้งตอน จนผู้อ่านเริ่มไม่แน่ใจว่าอามิเอลเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายกันแน่  นอกจากนี้ในเรื่องยังมีคำผิดจำนวนมาก  จะเห็นว่าคำบางคำเขียนผิดจากความไม่รู้เช่น เวทมนต์ ซึ่งคำที่ถูกต้องเขียนว่า เวทมนตร์  หรือ กะพริบตา เขียนเป็นกระพริบตา และ แท็กซี่  เขียนเป็น แทรกซี่  บางคำก็พบว่าสะกดคำเดียวกันในหลายรูป เช่น ฌาณ  มีทั้งที่เขียนว่า ชาณญ์  ฌาณ และ ฌาน  ซึ่งผู้วิจารณ์เห็นว่า  faery ควรที่จะเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ด้วย 

    ผู้วิจารณ์เห็นว่าหาก faery สามารถเขียนเรื่องให้กระชับขึ้น ตรงจุด และมุ่งตรงยังแก่นเรื่องโดยไม่สนใจเหตุการณ์ประกอบเล็กๆ มากนัก   และผสานความซับซ้อนอันเป็นเงื่อนไขสำคัญในการดำเนินเรื่องให้สอดคล้องมากขึ้น   รวมทั้งบีบให้ตัวละครเดินตามกรอบที่ตั้งไว้มากกว่าที่จะปล่อยให้ตัวละครเป็นอิสระ  จนต้องปรับเปลี่ยนความสามารถและบุคลิกไปตามเหตุการณ์มากเกินไปเหมือนที่ผ่านมา  นอกจากนี้ควรตรวจสอบความถูกต้องของตัวสะกดให้มากขึ้นก็น่าจะช่วยตอบคำถามที่ faery ตั้งไว้ได้

     

    -----------------------------------------

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน
    นิยายแฟร์ 2024

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×