คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #1 : วัฒนธรรมการแยกขยะเมืองญี่ปุ่น
เมื่อเดินไปตามซอกเล็กซอยน้อยที่ลัดเลาะผ่านหน้าบ้านหลังบ้าน อย่างเช่นในเมืองเกียวโต ก็ยากที่จะเห็นถังขยะพูนล้น หรือถุงขยะวางรอคนเก็บแรมวันแรมคืน (หรือแรมเดือน-อย่างบ้านเรา)เขาทำกันอย่างไร มีระบบระเบียบหรือกำหนดกฎเกณฑ์อะไร ถึงได้สามารถควบคุม "ขยะ" ไม่ให้เป็นสิ่งที่น่า "แขยง" จนถึงขั้น "ขยาด" อย่างที่เป็นอยู่ในบ้านเมืองเรา
เรื่องขยะที่จะเล่าต่อไปนี้ มาจากประสบการณ์และข้อสังเกตส่วนตัวของข้าพเจ้า ตลอดเวลาที่พำนักพักพิงอยู่ในจังหวัดโอซากา อำเภอมิโน เป็นเวลารวมทั้งสิ้น 6 ปี ในที่พักแห่งเดียวกันโดยตลอด แม้ช่วงเวลาจะไม่ต่อเนื่องกันก็ตาม
ขยะแยกประเภท
|
ถังขยะในญี่ปุ่นแบ่งย่อยหลายประเภทสร้างความงงงวยให้กับคนต่างชาติ ผู้ที่ไปพำนักอยู่ในญี่ปุ่นใหม่ๆ มักจะประสบปัญหาความละเอียดลออถี่ถ้วน (แบบญี่ปุ่น) ในเรื่องขยะ เริ่มตั้งแต่การแยกขยะ ซึ่งก็ต้องค่อยๆ เรียนรู้ไปเรื่อยๆ คนญี่ปุ่นเองก็ใช่ว่าจะแยกขยะกันได้ง่ายๆ บางทีเมื่อไปไถ่ถามเพื่อนบ้านญี่ปุ่นว่า ของอย่างนั้นๆ ที่ต้องการจะทิ้ง ถือเป็นขยะอะไร จะต้องทิ้งวันไหน ทิ้งอย่างไร คนญี่ปุ่นก็ส่ายหน้าเหมือนกัน แต่ทุกคนก็พยายามจะทำหน้าที่รับผิดชอบขยะของตนอย่างเต็มที่ ก่อนที่จะทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล มูลฝอย หรืออะไรก็ตามที่ประสงค์จะทิ้ง นั้น ผู้ทิ้งจะต้องรู้จักลักษณะและธรรมชาติของขยะแต่ละชิ้น และจำแนกแยกแยะอย่างละเอียดถี่ถ้วน เริ่มตั้งแต่
ประเภทใหญ่ๆ คือ
- ขยะเผาได้ (burnable garbage/ combustible)
- ขยะเผาไม่ได้ (unburnable garbage/incombustible)
ขยะเผาได้ คือ ขยะจากในครัว (ขยะเศษอาหาร) และขยะเล็กๆ น้อยๆ ในบ้าน ในชีวิตประจำวัน ขยะประเภทนี้นอกจากจะมีธรรมชาติเป็นวัสดุที่เผาไฟได้แล้ว ยังต้องมีขนาดไม่ใหญ่เกินไป คือ ต้องบรรจุลงได้ในถุงพลาสติกเนื้อหนา ขนาด 2 ลิตร หรือ 3 ลิตร ซึ่งเป็นถุงขยะมาตรฐานที่รัฐหรือเทศบาลญี่ปุ่นกำหนดใช้ทั่วประเทศ ถ้าเป็นขยะที่เผาได้แต่ขนาดใหญ่
เกินจะบรรจุลงถุงมาตรฐานนี้ ก็จะถือเป็นขยะขนาดใหญ่ ต้องแยกออกไปต่างหาก หรือซื้อถุงขยะขนาดใหญ่ ประเภทถุงดำเนื้อหนา มาบรรจุให้เรียบร้อย
|
ขยะเผาไม่ได้ ก็คือ พวกขวดแก้ว ภาชนะแก้ว กระป๋องเครื่องดื่ม กระป๋องเหล็กวิลาส (เช่นกระป๋องบรรจุอาหาร) ขวดพลาสติกทั้งชนิดบาง (pet bottle) และพลาสติกหนา เช่น ขวดบรรจุเครื่องสำอาง น้ำยาซักล้างซักฟอก โฟมและเม็ดพลาสติก ภาชนะที่ใช้บรรจุสารเคมี ยา กระป๋องฉีดแบบสเปรย์ ของใช้ที่ทำจากยาง เครื่องหนัง แผ่นซีดี แผ่นดิสเก็ต ม้วนเทป บันทึกภาพและเทปบันทึกเสียง ฯลฯ
ถ้าเป็นขยะที่มีส่วนประกอบทั้งที่เผาได้และเผาไม่ได้ ก็จะต้องถือเป็นขยะเผาไม่ได้ ขยะประเภทนี้ต้องจ่ายเงินซื้อถุงขยะที่มีข้อความระบุหน้าถุงชัดเจนว่า "ขยะเผาไม่ได้" (undurnable garbage) ซึ่งราคานับว่าไม่ถูกเลย
ขยะประเภทที่สาม คือ ขยะขนาดใหญ่ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องเรือน ที่นอนหมอนมุ้ง ไปจนถึงรถจักรยาน จักรเย็บผ้า ฯลฯ ขยะประเภทนี้ อาจมีทั้งที่เผาได้และเผาไม่ได้ แต่ที่ต้องแยกประเภทออกมาก็เพราะรถเก็บขยะบรรทุกไปไม่ได้ หรือเอาไปเผารวมกับขยะธรรมดาจากครัวเรือนไม่ได้
นอกจากขยะสามประเภทนี้แล้ว ก็ยังจำแนกออกเป็นขยะมีพิษหรือขยะอันตราย เช่น พวกภาชนะบรรจุสารเคมีที่เป็นพิษ ขยะติดเชื้อ (ขยะโรงพยาบาล) กระป๋องที่มีหัวฉีดแบบสเปรย์ ซึ่งอาจระเบิดได้ และขยะที่ถือเป็นวัตถุระเบิด เช่น ดอกไม้ไฟ แก๊สกระป๋อง รวมทั้งแบตเตอรี่ (dry cell) หลอดฟลูออเรสเซนต์ และขยะประเภทของมีคม เช่น มีด เศษแก้ว เศษวัสดุ
แหลมคมต่างๆ ฯลฯ
ขยะอีกประเภทหนึ่งคือขยะที่นำไปหมุนเวียนใช้ในการผลิตใหม่ได้ (recycle) เช่น กระดาษชนิดต่างๆ ตั้งแต่หนังสือพิมพ์ หนังสือเล่ม นิตยสาร ไปจนถึงกล่องกระดาษ ลังกระดาษ กระดาษเคลือบมัน เช่นพวกกล่องนม กล่องน้ำผลไม้ และขวดพลาสติก ขวดเครื่องดื่ม กระป๋องเครื่องดื่มที่เป็นอะลูมิเนียมบาง (บีบได้) ขยะเหล่านี้ถือเป็นขยะรีไซเคิล แต่ในการทิ้งขยะประเภทนี้จะต้องแยกย่อยลงไปอีก ไม่ทิ้งรวมกัน และถือว่าเป็นความรับผิดชอบ (หรือเป็นผลประโยชน์) ของบริษัทผู้ผลิตที่ใช้วัสดุประเภทนี้
|
ขยะประเภทสุดท้ายคือ ขยะที่ต้องแจ้งหน่วยงานพิเศษของรัฐหรือเทศบาลให้มาเก็บ หรือนำไปส่งที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบ เช่น คอมพิวเตอร์และวัสดุอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เครื่องดนตรีขนาดใหญ่ รถจักรยานยนต์และมอเตอร์ไซค์ รวมทั้งรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ และซากสัตว์ ฯลฯ
การจำแนกขยะเหล่านี้ เกี่ยวเนื่องกับวิธีการบรรจุเพื่อนำไปทิ้ง ถุงหรือภาชนะที่ใช้บรรจุ วันเวลาและสถานที่ทิ้ง ตลอดจนรายละเอียดปลีกย่อยบางประการ เช่น การผูกป้ายสำหรับทิ้ง ขยะบางประเภท (ป้ายเหล่านี้ต้องซื้อจากซุปเปอร์มาร์เก็ต มีราคาต่างๆ ตามลักษณะและขนาดของขยะที่จะทิ้ง) ถ้าผู้ทิ้งขยะทำไม่ถูกวิธี หรือจำแนกประเภทไม่ถูกต้อง ทิ้งผิดวันเวลา ทิ้ง
ผิดสถานที่ ฯลฯ ก็อาจเกิดปัญหา เช่น ถูกตักเตือนจากเทศบาลไปจนถึงขั้นถูกปรับหรืออาจเป็นการลงโทษทางสังคม เช่น เพื่อนบ้านติฉินนินทา ฟ้องเทศบาลหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ
กำหนดวันเวลาทิ้งขยะ และพื้นที่ทิ้งขยะ
วันเวลาที่รถเก็บขยะจะมารับขยะแต่ละประเภทไปกำจัดนั้น กำหนดไว้แน่นอนชัดเจนและตายตัว ในเอกสารประชาสัมพันธ์ของอำเภอ รวมทั้งแผ่นพับ แผ่นปลิว และปฏิทินตารางวันเวลาในแต่ละปี เอกสารปึกใหญ่นี้ ทางอำเภอจะแจกให้ทุกครัวเรือนในเขตอำเภออย่างทั่วถึง พร้อมทั้งแจกตะกร้าพลาสติกสองใบ สีเขียวและฟ้าสดใส ให้คนที่มาอยู่ใหม่ เหมือนเป็นของขวัญจากเทศบาล แต่เมื่อเก่าหรือขาดชำรุดแล้ว ก็ต้องหาซื้อเอาเอง ไม่แจกให้อีกแล้ว
นอกจากนั้น ก็จะให้คูปองขนาดโปสการ์ดหนึ่งใบ สำหรับไปแลกถุงขยะฟรีจากร้านค้าในบริเวณที่พักอาศัยของแต่ละบ้าน ถุงฟรีนี้เป็นพลาสติกเนื้อหนาแต่ใส มีขนาดจุ 2 ลิตรและ 3 ลิตร ใช้สำหรับขยะเผาได้เท่านั้น
แต่ละปีจะได้รับโปสการ์ดหนึ่งใบ แลกถุงขยะได้ 104 ถุง รวมกันทั้งสองขนาด แล้วแต่ความต้องการเฉพาะครัวเรือน ว่าต้องการชนิดเล็กชนิดใหญ่อย่างละกี่ใบ จำนวนกำหนด 104 ใบนั้นก็คำนวณง่ายๆ คือ เทศบาลอนุญาตให้ทิ้งขยะประเภทนี้ได้สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ครั้งละ 1 ถุง ถ้าบ้านไหนผลิตขยะปริมาณมาก จะทิ้งมากกว่านั้น ก็ย่อมได้ แต่ก็ต้องหาซื้อถุงขยะมาเพิ่มเอง
บ้านที่มีขยะน้อย ก็อาจจะมีถุงขยะเหลือสะสม หรือแจกเพื่อนบ้านได้ ดังบ้านของข้าพเจ้า ซึ่งอยู่คนเดียว และไม่ค่อยขยันทำกับข้าวเท่าไรนัก ในตำบลโอโนะฮาระ ตะวันออก อำเภอมิโน กำหนดให้ทิ้งขยะ ขยะเผาได้จำพวกขยะครัวและขยะทั่วไปในวันอังคารและวันศุกร์ ก่อน 09.00 น. รถเก็บขยะจะมาถึงจุดทิ้งขยะประมาณ
|
วันพุธที่สองและพุธที่สี่ของเดือน กำหนดเป็นวันทิ้งขยะประเภทขวดแก้ว และกระป๋องเครื่องดื่ม (glass/can)
วันพฤหัสบดีที่สองและที่สี่ของเดือน เป็นวันทิ้งขยะขนาดใหญ่
วันจันทร์ที่สามของเดือน เป็นวันทิ้งขยะรีไซเคิล ประเภทหนังสือพิมพ์ กล่องกระดาษ ลังกระดาษ รวมทั้งเสื้อผ้าชำรุดหรือใช้ไม่ได้แล้ว (แต่ถ้าเป็นเสื้อผ้าที่ยังมีสภาพดี เจ้าของอาจเอาไปบริจาคตามจุดรับบริจาคต่างๆ ก็ได้ หรือเอาไปขายให้แหล่งรับซื้อที่จะนำเอาไปซ่อมแซมและขายต่อก็ได้ ทั้งนี้ ก็แล้วแต่ความอุตสาหะหรือจิตศรัทธา หรือประสงค์จะได้ทรัพย์คืนมา บ้างสักนิดหน่อย) วันทิ้งขยะกระดาษนี้ ถ้าเกิดมีฝนตกตอนเช้าก็จะเลื่อนไปเป็นจันทร์ที่สี่ คืออีกสัปดาห์หนึ่ง
กำหนดวันเวลาทิ้งขยะเหล่านี้ ต้องกำหนดจดจำกันให้แม่นยำ หรือเอาแผ่นพับ/ ปฏิทิน ติดข้างฝาไว้ให้ชัดเจน ที่จริงถ้าจะพลาดวันไปบ้าง ก็คงไม่ถึงกับเดือดร้อนนัก แต่จะทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้เอาขยะประเภทไหนก็ตามไปกองทิ้ง (หรือแอบทิ้ง) ไว้ ข้ามวันข้ามคืนหรือผิดวันเวลา เป็นได้เกิดเรื่องแน่นอน
จุดทิ้งขยะสำหรับอาคารที่ข้าพเจ้าพักอาศัยนั้น มีขนาดค่อนข้างเล็ก ราวๆ หนึ่งตารางเมตร เป็นพื้นซีเมนต์และก่อขอบขึ้นมาสามด้าน สูงประมาณเอว ด้านหน้าเปิดให้เดินเข้าไปทิ้งขยะ
ได้สะดวก ทางด้านซ้ายและขวา มีถังแบบถังน้ำมัน วางไว้ในแนวนอนและมีฝาเลื่อนเปิดปิดได้ สำหรับใส่ถุงขยะ แต่ถ้าสองถังนี้เต็มแล้ว ก็เอาถุงขยะวางไว้ตรงพื้นที่ว่างระหว่างสองถังนี้ได้
คนที่เอาขยะมาทิ้งก่อนเวลาเก็บขยะ จะต้องใส่ไว้ในถัง มิฉะนั้น ตอนกลางคืนหรือเช้ามืด อาจมีอีกาดำตัวใหญ่กว่าอีกาบ้านเราสักเท่าครึ่ง มาจิกทึ้งถุงจนขยะเรี่ยราดเลอะเทอะ และผู้ที่ ใช้พื้นที่บริเวณนั้นคนใดคนหนึ่งก็จะต้องรับผิดชอบ (หรือทนไม่ได้ มาเก็บกวาดให้เกลี้ยงเกลาขยะประเภทขวดแก้ว และกระป๋องเครื่องดื่ม จะทิ้งแยกกัน ในตะกร้าขนาดใหญ่สองใบที่เจ้าหน้าที่จะมาวางไว้ก่อนวันทิ้งขยะดังกล่าว เมื่อเก็บขยะขึ้นรถไปแล้ว พนักงานเก็บขยะก็จะคว่ำตะกร้าซ้อนไว้ในบริเวณทิ้งขยะนั้นเอง จนกว่าจะถึงวันเก็บครั้งต่อไป
ขยะขนาดใหญ่ ก็จะทิ้งไว้ในพื้นที่เดียวกันนี้ ส่วน ขยะรีไซเคิล โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่างๆ อาจจะวางไว้ในบริเวณตัวอาคาร เช่นใต้บันไดทางขึ้นชั้นล่างสุด หรือข้างผนังตึก เพื่อไม่ให้เปียกฝนหรือปลิวกระจัดกระจาย หนังสือทุกชนิดต้องมัดหรือใส่ถุงหิ้ว ให้ยกไปได้ง่าย กล่องหรือลังกระดาษแข็งต้องฉีกหรือตัด หรือพับให้เป็นชิ้นขนาดเล็กและมัดไว้ให้เรียบร้อยเช่นเดียวกัน ส่วนเสื้อผ้าก็ต้องใส่ถุงให้เรียบร้อย
ขยะที่เป็นขวดพลาสติกชนิดบาง บีบให้แตกหรือฉีกได้ รวมทั้งภาชนะบรรจุอาหารที่เป็นพลาสติกอย่างบาง และภาชนะประเภทโฟม ต้องเอาไปทิ้งที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตใกล้บ้าน ซึ่งจะตั้งถังหรือภาชนะรับขยะขนาดใหญ่ไว้เป็นประจำ แยกเป็นถังสำหรับขยะพลาสติก ขยะโฟม และกล่องนมภาชนะที่กลายเป็นขยะเหล่านี้ต้องล้างมาให้เรียบร้อย (แต่ไม่ถึงขั้นต้องขัดถูให้สะอาดหมดจด) เช่นเดียวกับการทิ้งขยะในจุดทิ้งขยะตามอาคารที่พัก ก็ต้องล้างขวด เทน้ำในกระป๋องทิ้งหมดเกลี้ยง บีบกระป๋องให้แบน ฯลฯ
|
กระป๋องเครื่องดื่มชนิดต่างๆ ที่กดจากตู้ซื้อชนิดหยอดเงิน ตามริมถนนหรือในพื้นที่สาธารณะบางแห่ง ก็จะทิ้งได้ในถังหรือภาชนะที่จัดไว้แถวๆ ตู้ที่ซื้อนั้นเอง แต่ขยะอื่นๆ จะแอบเอาไปหยอดทิ้งไม่ได้ เพราะเขาทำช่องที่จะทิ้งให้มีขนาดเท่ากับกระป๋องพอดี จะยัดเยียดสิ่งอื่นลงไปคงลำบาก หรือไม่ก็มีคนมาเห็นเสียก่อนในระหว่างปฏิบัติการถังขยะจะโปร่งใสมองเห็นขยะข้างใน จะได้ทิ้งถูกประเภท
พื้นที่ทิ้งขยะของอาคารพักอาศัยนี้ อาจมีเนื้อที่และลักษณะต่างๆ กันไป ตามจำนวนของคนพักอาศัยในบริเวณที่ใช้พื้นที่ทิ้งขยะร่วมกัน บางแห่งที่เป็นอาคารขนาดใหญ่ มีห้องพักเป็น
ร้อยๆ ห้อง อาจล้อมรั้วตาข่ายโปร่งและสูง มีประตูปิดเปิด หรือถ้าเป็นอาคารเล็กๆ สองสามหลังรวมกัน ก็อาจเป็นพื้นที่ขนาดเล็กแบบอาคารที่พักของข้าพเจ้า แต่ใช้ตาข่ายคลุม เพื่อไม่ให้ถุงขยะกระจัดกระจายเรี่ยราด
จุดทิ้งขยะเหล่านี้เป็นความรับผิดชอบของเจ้าของอาคาร แต่ในการรักษาความสะอาดเรียบร้อย เป็นหน้าที่ของผู้พักอาศัยร่วมกัน กลุ่มอาคารบางแห่งอาจจ้างคนทำงานพิเศษในตอนเช้า
วันเก็บขยะ ทำหน้าที่จัดให้เรียบร้อยก่อนรถเก็บขยะจะมา รวมทั้งกวาดและชำระล้างเป็นครั้งคราว คนทำงานพิเศษเหล่านี้ บางทีก็จะเป็นคนชราในบริเวณแถบนั้น มารับจ้างทำงานเล็กๆ น้อยๆ เพื่อเป็นการออกกำลัง มากกว่าจะหวังค่าจ้าง ในจุดทิ้งขยะของข้าพเจ้า สามีภรรยาคู่หนึ่งขับรถมาปฏิบัติงานตั้งแต่เช้า เป็นประจำ ได้ทักทายปราศรัยกันจนคุ้นเคย (ด้วยภาษาญี่ปุ่นกระท่อนกระแท่นของข้าพเจ้า และภาษาอังกฤษสี่ห้าคำของผู้ชราทั้งสอง) บางทีผู้เฒ่าก็บ่น
|
ให้ฟังนิดหน่อย ว่ามีคนทิ้งขยะที่ใส่ในถุงพลาสติกอย่างบางที่มาจากร้านขายของหรือซุปเปอร์มาร์เก็ต แล้วถุงก็แตก ทำให้ต้องเก็บขยะที่เรี่ยราดกระจัดกระจายและล้างพื้นให้สะอาดดูเหมือนการบ่นนี้ไม่ได้เป็นเพราะเหนื่อยหรือไม่อยากทำงาน แต่เป็นเพราะรังเกียจคนที่ไม่รับผิดชอบปฏิบัติตามกฎระเบียบร่วมกันของชุมชน
ข้าพเจ้าเคยนำถุงขยะไปทิ้งผิดที่ คือบริเวณทิ้งขยะ ตรงถนนหน้าบ้าน ฝั่งตรงกันข้าม เพราะเข้าใจผิดว่าเป็นเขตของอาคารที่พักอยู่ ตกตอนเย็นเจ้าหน้าที่เทศบาลก็มาเคาะประตู แจ้งให้
ทราบว่าข้าพเจ้าทำผิดระเบียบ และเพื่อนบ้านตึกตรงข้าม (เจ้าของพื้นที่ทิ้งขยะ) เป็นผู้โทรศัพท์ไปแจ้ง แต่จะยังไม่ถูกปรับ ถือว่าเป็นการตักเตือนแต่หลังจากนั้น ข้าพเจ้าก็ไม่เคยทิ้งขยะผิดที่อีกเลย นอกจากในกรณีที่เพื่อนฝูงจากเมืองไทย มีแก่ใจแอบเอาขยะในบ้านไปทิ้งตามจุดต่างๆ ตามความเข้าใจ (แบบไทยๆ) หรือทิ้งผิดวัน ผิดเวลา เป็นเหตุให้เจ้าของบ้าน (คือข้าพเจ้า) ต้องตะเกียกตะกายตามไปเก็บคืนมา และเพื่อนฝูงก็ตั้งข้อกล่าวหาว่าข้าพเจ้าเป็นโรคหวงขยะ
รถเก็บขยะในพื้นที่แต่ละอำเภอจะมาเก็บตามวันตามเวลา ไม่มีล่าช้า ไม่มีวันหยุดพักผ่อนพักร้อนพักหนาวใดๆ ทั้งสิ้น รถที่เก็บขยะครัวหรือขยะทั่วไป มักเป็นรถบรรทุกขนาดเล็ก (pick up) ปกปิดมิดชิด พนักงานที่นั่งมาข้างคนขับจะสวมถุงมือลงมาหิ้วถุงขยะ (แน่นอนว่าขนาดเดียวกันและผูกมัดรัดถุงเรียบร้อย) โยนขึ้นรถ ปิดท้ายรถ กลับขึ้นไปนั่งข้างคนขับ แล้วก็ออกไปอย่างรวดเร็วเหมือนตอนมาไม่มีการห้อยโหน ไม่มีถุงขยะผูกรุงรังหรือเปิดโร่อย่างท้าทาย ให้เป็นที่หวาดเสียวแก่คนที่ขับรถตามหลัง ว่าขยะจะหล่นลงมาบนหน้ารถของตนในนาทีใดนาทีหนึ่ง ...เหมือนในบ้านเรา...
ในวันเก็บขยะขวดและกระป๋อง รถจะมีขนาดค่อนข้างใหญ่ เพราะในบางเขตข้าพเจ้าเคยเห็นรถจักรยานบรรทุกขยะกระป๋องเครื่องดื่ม ที่ใส่ถุงตาข่ายขนาดใหญ่ เข้าใจว่าคนขี่จักรยานคงต้องจูงไป (แต่ก็ไม่แน่นัก เพราะคนญี่ปุ่นทั่วไปขี่จักรยานชำนาญมาก)รถขนขยะชนิดลำลองแบบนี้คงเกิดจากการที่ทางเขตเทศบาลหรืออำเภอ พยายามเก็บขยะในพื้นที่ของตนให้หมดจดเรียบร้อยและตรงตามกำหนดเวลา เข้าได้ถึงทุกพื้นที่ เช่นเดียวกับ
รถเก็บขยะที่เป็นรถบรรทุกเล็ก ซึ่งเข้าได้ในตรอกซอกซอยทุกแห่งแม้ว่าคนญี่ปุ่นจะไม่ได้ตั้งถังขยะตามหน้าบ้านแต่ละบ้านก็ตามรถขนาดใหญ่หรือรถที่มีเครื่องบดขยะในตัว จะเห็นออกวิ่งปฏิบัติงานอยู่บ้างก็ในเขตกลางเมืองบางแห่งแต่ก็ไม่ได้เห็นบ่อยนัก โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งรัด จะไม่มีรถขยะประเภท
ไหนออกมาวิ่งแย่งพื้นผิวจราจรกับรถประเภทอื่นๆ เลย
พนักงานเก็บขยะ ที่นั่งคู่มากับคนขับ จะแต่งตัวทะมัดทะแมงรัดกุม ส่วนมากมีถุงมือซึ่งจะใส่เมื่อเวลาลงมาเก็บถุงขยะโยนขึ้นรถ เก็บเสร็จก็จะถอดถุงมือกลับขึ้นไปนั่งประจำที่ รถก็จะถอยหลังหรือเดินหน้าออกไปปฏิบัติงานในจุดต่อไปอย่างรวดเร็ว กระฉับกระเฉงขยะประเภทนี้มีปริมาณมากและเก็บเดือนละสองครั้งเท่านั้น ไม่มีการอ้อยอิ่งชมนกชมไม้ หรือเลือกสรรขยะว่าถุงไหนจะทิ้งถุงไหนจะวางไว้สำหรับมาเก็บวันหลัง แต่ก็ไม่ใช่ว่าเขาจะเก็บขยะโยนขึ้นรถโดยไม่ใช้ความสังเกต เพราะถ้ามีการทิ้งขยะผิดประเภท หรือผิดวัน หรือแม้แต่ผิดระเบียบ เช่นไม่ผูกป้ายทิ้งขยะ ที่มีราคาตามชนิดและขนาดของขยะประเภทพิเศษ
เขาก็จะไม่เก็บขึ้นรถ (และอาจไปรายงานเจ้าหน้าที่เทศบาลมาดำเนินการต่อ)
|
รถที่มาเก็บขยะรีไซเคิลประเภทกระดาษ หนังสือ เอกสาร และกล่องหรือลังกระดาษแข็ง เท่าที่เคยเห็นจะเป็นรถบรรทุกแบบเปิด พนักงาน (ข้อลำล่ำสันเพราะขยะกระดาษนั้น หนักกว่าที่คนทั่วไปคิด) จะยกขึ้นรถเป็นมัดๆ หนังสือพิมพ์ที่มีสมาชิกบอกรับนั้น เวลาพนักงานส่งหนังสือพิมพ์มาเก็บเงินรายเดือน มักจะแจกถุงพลาสติกขนาดพอดีที่จะใส่หนังสือพิมพ์ได้ และรับน้ำหนักกระดาษได้
รถเก็บขยะประเภทนี้ก็จะสะอาดและไม่มีเศษกระดาษปลิวเกลื่อนกระจายเมื่อเวลาแล่นไปตามถนน ...เหมือนบ้านเรา (อีกแล้ว) และข้าพเจ้าก็ยังไม่เคยเห็นใครในแถวบ้านที่พัก ขายกระดาษไม่ว่าประเภทใด ไม่เคยเห็นรถสามล้อแดงรับซื้อขยะไม่ว่าชนิดไหน โดยเฉพาะลังกระดาษหรือกล่องกระดาษซึ่งตามซุปเปอร์มาร์เก็ตจะวางลัง (ที่เคยใช้บรรจุสินค้า) พับใส่กล่องใหญ่ๆ ไว้ให้ลูกค้าเลือกหยิบเอาไปใช้ได้ตามใจชอบ แถมยังวางแถบกระดาษกาวเอาไว้ให้สำหรับประกอบกลับคืน
เป็นลังเรียบร้อย บรรจุของได้เลย ถ้าต้องการ หรือจะหอบหิ้วกลับไปประกอบที่บ้านก็แล้วแต่สะดวก เพียงแต่อย่าเอาม้วนกระดาษกาวของเขากลับไปบ้านด้วยเท่านั้นแล้วอย่างนี้ รถรับซื้อกระดาษใช้แล้ว จะไปหาขยะมาจากไหน และข้อสำคัญจะเอาไปขายใครได้
ข้าพเจ้าเคยไปยืนคอยรถประจำทาง และเห็นรถมาเก็บขยะในถังบริเวณป้ายรถ ซึ่งไม่มีถุงขยะบรรจุ เพราะเป็นขยะที่คนคอยรถหรือคนที่ผ่านไปมา ทิ้งเอาไว้ พนักงานก็จะยกถังขยะเทใส่ท้ายรถ เก็บขยะที่อาจตกหล่นอยู่ตามพื้น รวมทั้งก้นบุหรี่ เศษกระดาษชิ้นเล็กชิ้นน้อย ใส่รถไปจนหมด แม้จะไม่ถึงขั้นกวาดพื้นให้ (เพราะเป็นหน้าที่ของหน่วยอื่นที่จะมาล้างถนน
เป็นครั้งคราว) งานเหล่านี้ทำอย่างแคล่วคล่อง ชำนิชำนาญและรวดเร็ว สรุปลงได้ในคำเดียวว่า "ประสิทธิภาพ" ขยะพลาสติกหรือขยะภาชนะโฟม ที่ทิ้งในถังหน้าซุปเปอร์มาเก็ต เป็นหน้าที่ของพนักงานในร้านจะต้องมีเวรผลัดกันมาถ่ายขยะออกใส่ถุงตาข่ายใหญ่ แยกชนิด และนำไปกำจัดต่อไป
ถังขยะหน้าซุปเปอร์มาร์เก็ตเหล่านี้ จะต้องพร้อมให้คนทิ้งขยะได้เสมอ ไม่ใช่ปล่อยไว้พูนล้น เพราะถือว่าร้านค้าหรือบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าที่ทำให้เกิดขยะแต่ละประเภท จะต้องรับผิดชอบขยะที่มาจากแหล่งผลิตของตน ฉะนั้น ร้านขายกล้องถ่ายรูปและฟิล์ม ก็จะต้องรับผิดชอบกับแบตเตอรี่หรือชิ้นส่วนของสินค้าที่จำหน่าย บริษัทขายเครื่องไฟฟ้าจะต้องรับหน้าที่เก็บสินค้า (เมื่อวันก่อน) ของตนที่กลายเป็นขยะ (ของวันนี้) ไปแล้ว และป้ายที่คนทิ้งขยะต้องซื้อมาผูกกับขยะบางประเภท ในราคาต่างๆ กันตามชนิดและขนาดของขยะ ก็คือค่าขนขยะที่เทศบาลถือว่าเป็นความรับผิดชอบของผู้ผลิต ไม่ใช่ขยะธรรมดาสามัญที่เกิดจากการดำรงชีวิตประจำวัน ถ้าไม่อยากจ่ายค่าป้ายผูกขยะก็ต้องแจ้งให้บริษัทผู้ผลิตมารับคืนเอาไป (ถ้าบริษัทยอมรับคืน) และขยะเหล่านี้ โดยเฉพาะพวกเครื่องไฟฟ้าจะต้องเก็บลงกล่องเดิมก่อนที่จะนำไปวางทิ้งหรือส่งคืน รวมทั้งหลอดไฟชนิดต่างๆ ด้วยเหตุนี้ เมื่อซื้อของพวกนี้มา จึงโยนกล่องทิ้งไปไม่ได้ง่ายๆ จนกว่าจะแน่ใจว่า ไม่ต้องการกล่องบรรจุเหล่านั้นแน่นอน ไม่ว่าในวันนี้หรือวันหน้า
กิจกรรมเก็บขยะประเภท "สิ่งที่เจ้าของไม่ต้องการ"
|
อันที่จริง ขยะ ก็หมายถึงสิ่งของที่เจ้าของผู้ครอบครองทั้งหลายไม่ต้องการ แต่ขยะบางชนิด เจ้าของไม่ต้องการใช้และไม่ต้องเก็บไว้อีกต่อไป (เพราะซื้อหามาจนเต็มบ้าน หรือซื้อใหม่อยู่เนืองๆ) เช่น เครื่องไฟฟ้าขนาดย่อม ประเภท เตาปิ้งขนมปัง วิทยุ เครื่องเสียงขนาดเล็ก พัดลม หม้อหุงข้าว ไปจนถึงเตาแก๊ส (ขนาดเล็ก) รวมทั้งเครื่องเรือน อาทิ เก้าอี้ โต๊ะ ชั้นวางของ
วางหนังสือ ฯลฯ เหล่านี้ถือเป็นขยะใหญ่ที่ไม่ใช่ "สิ่งสกปรกน่ารังเกียจเมื่อพบเห็นหรือนึกถึง" หรือขยะในความหมายของ "สิ่งปฏิกูล" (ตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน) เจ้าของไม่อยากครอบครองต่อไปแล้ว แต่คนอื่นอาจจะถือเป็นของต้องประสงค์ก็ได้
ในวันพฤหัสบดีที่สองและที่สี่ของเดือน จะเป็นวันเก็บขยะใหญ่ (incombustible) และขยะเผาไม่ได้ (unburnable) ซึ่งในสมัยที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังรุ่งเรือง รัฐบาลสนับสนุนให้ผู้คนทิ้งขยะใหญ่ประเภทนี้ปีละครั้งสองครั้ง เช่น ในช่วงเดือนกรกฎาคม และธันวาคม ซึ่งเป็นระยะที่รัฐและบริษัทเอกชน จะแจกโบนัสประจำฤดูร้อนและฤดูหนาว เครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องเรือนที่ยังมีสภาพดีหรือค่อนข้างดี จะวางทิ้งไว้ล่วงหน้าก่อนวันเก็บขยะใหญ่ประจำฤดู สักสองสามวัน และคนที่อยากจะได้ของใช้ (ที่ยังไม่อยู่ในสภาพเป็น "ขยะ") เหล่านี้ ก็อาจจะมาเลือกขนเอาไปได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องกังวลว่าใครจะมาดูถูกดูแคลน เรียกว่าเป็นการหมุนเวียนใช้ของให้คุ้มค่า และทำให้บริษัทผู้ผลิตสามารถขายสินค้าในประเทศได้ ไม่อย่างนั้นก็คงจะขายไม่ออกหรือขายได้น้อยจนอยู่ไม่ได้ กิจกรรมการเก็บ "ขยะชั้นดี" แบบนี้ เป็นความบันเทิงใจอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะของบรรดานักเรียน นักศึกษา และคนต่างชาติ (ซึ่งมักจะมีรายได้น้อยกว่าคนญี่ปุ่นในระดับเดียวกัน)
เพื่อนฝูงจากเมืองไทยของข้าพเจ้า ถ้าบังเอิญมาเยี่ยมเยียนในช่วงนี้ ก็มักจะออกเดินสำรวจขยะกันเป็นที่ครึกครื้น และพากันเก็บอะไรต่อมิอะไรเข้ามาสะสมไว้ในบ้านข้าพเจ้า เป็นเหตุให้ข้าพเจ้าต้องขนเอาไปทิ้งในตอนเย็นหรือวันรุ่งขึ้น ไม่ใช่เพราะรังเกียจของทิ้งแล้ว (ซึ่งบางชิ้นสภาพดีกว่าของในบ้านเสียอีก) แต่เพราะของในบ้านไม่ได้ทิ้งออกไป จึงไม่มีเนื้อที่จะมาสะสมของดีได้ฟรีประเภทนี้ แต่ในช่วงหลังเศรษฐกิจฟองสบู่แตก (ประมาณ ค.ศ.1995 เป็นต้นมา) กิจกรรมนี้ก็แทบจะหมดไป เพราะไม่มีใครยอมทิ้งกันง่ายๆ แต่จะเก็บเอาไปวางขายในตลาดแบกะดิน หรือ flee market ตามลานของศูนย์การค้า ในวันเสาร์อาทิตย์หรือวันหยุดของฤดูร้อน ส่วนขยะใหญ่ประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น โทรทัศน์ วิทยุ เตาปิ้งขนมปัง หรือเครื่องเรือนชิ้นใหญ่ๆ นั้น ปัจจุบันนี้ เทศบาลห้ามเอามาวางทิ้งกันง่ายๆ แต่จะต้องไปซื้อป้ายจากซุปเปอร์มาร์เก็ต ราคาต่างกันตามขนาดของสิ่งที่จะทิ้ง เช่น 300 เยน, 500 เยน และ 800 เยน เอามาผูกไว้กับของที่จะทิ้ง ไม่อย่างนั้น รถเก็บขยะก็จะไม่เก็บเอาไป อีกสักสองสามวัน เจ้าของก็จะต้องมาเก็บ ถ้าไม่เก็บ ก็จะเป็นที่เดือดร้อนในหมู่ผู้ร่วมใช้สถานที่ทิ้งขยะอีกเช่นกัน ความบันเทิงของผู้เลือสรร "ขยะที่เจ้าของไม่พึงประสงค์จะครอบครองต่อไป" จึงหมดไปในปัจจุบัน และยังก่อให้เกิดสถานการณ์แอบทิ้งขยะใหญ่ เช่น รถจักรยาน และเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก ไว้ในจุดลับตาต่างๆกลายเป็นข้อวิวาทะระหว่างประชาชนผู้เสียภาษีกับรัฐบาลท้องถิ่นหรือเทศบาล
สิ่งที่ได้เห็น และสิ่งที่ไม่ได้เห็น
|
เป็นกฎการทิ้งและแยกขยะของแต่ละชุมชน
แน่นอนว่าประเทศญี่ปุ่นไม่ใช่เมืองสวรรค์ที่ปราศจากขยะโดยสิ้นเชิง ตามตรอกซอกซอยลึกลับซับซ้อนบางแห่ง หรือแม้แต่ตามป้ายรถประจำทางบางครั้ง ก็ยังมีขยะหกหล่นเกลื่อนกลาด หรือในจุดทิ้งขยะบางแห่งก็อาจมีคนมักง่าย ทิ้งขยะในถุงอย่างบางที่แตกง่าย เกลื่อนกลาดอุจาดตา หรือแม้กระทั่งการแอบโยนจักรยานทิ้งลงไปในลำน้ำบางจุดที่ลับหูลับตาคน (โดย
เฉพาะในเมืองโอซากา ที่ประชากรมีบุคลิกหลายอย่างคล้ายคลึงกับประชากรของกรุงเทพฯ อย่างน่าพิศวง) แต่เมื่อเทียบกับเมืองใหญ่น้อยรวมทั้งชนบท ในประเทศอื่นๆ อีกหลายแห่งที่ข้าพเจ้าได้เคยพบเห็นมา รวมทั้งประเทศไทยอันเป็นที่อาศัยถาวร ญี่ปุ่นก็เป็นเมืองที่สะอาดปราศจากขยะ อย่างน่าประหลาดใจว่า เขาทำกันอย่างไร แน่นอนว่า ไม่ใช่เพราะ "ญี่ปุ่นเขารวยมาก" อย่างที่มีคนชอบพูดเสมอๆ แต่ข้าพเจ้าคิดว่า น่าจะเป็นเพราะประชากรมีระเบียบวินัย ที่ฝึกฝนกับมาหลายรุ่นหลายชั่วอายุ และฝึกกันมาตั้งแต่เด็กจนแก่ สิ่งที่ฝึกก็คือ ความรับผิดชอบ ทุกคนรับผิดชอบในส่วนของตน และรัฐก็รับผิดชอบในส่วนของรัฐ (เช่นการเก็บขยะ, การกำจัดขยะ และความเอาจริงเอาจังใน "เรื่องขยะ") เมื่อประสานกันเข้าทุกคนทุกฝ่าย ระเบียบวินัยก็กลายเป็นระบบชีวิตประจำวัน ที่ทุกคนปฏิบัติเหมือนๆ กันเป็นของธรรมดา
เมื่อมีงานเทศกาลฤดูร้อนในลานสนามขนาดใหญ่ หน้าปราสาทฮิเมจิ เมืองฮิเมจิ (อันเป็นปราสาทแห่งแรกของญี่ปุ่นที่ยูเนสโกประกาศให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม) งานมีตลอดวัน
ตั้งแต่เช้าจนหกโมงเย็น ผู้คนไปร่วมงานมากมายนับหมื่นคน ข้าพเจ้าคิด (เอาเอง ตามประสาเคยชินกับบ้านเมืองไทย) ว่า พอเลิกงาน คงต้องเก็บขยะกันหน้ามืด ไม่ก็คงมีเศษกระดาษ เศษขนม เปลือกผลไม้ เกลื่อนสนาม แต่หลังหกโมงเย็น เมื่อผู้คนทยอยกันออกจากบริเวณงานจนบางตา ข้าพเจ้าก็เห็นว่า สนามกว้างใหญ่ไพศาลนั้น สะอาดโล่งเรียบ เกือบจะเหมือนก่อนเริ่มงาน บรรดาขยะต่างๆ นานาประเภทนั้น บรรจุรวมไว้ในถุงขยะหรือถุงตาข่ายขนาดใหญ่ ทางมุมหนึ่งของสนาม พร้อมจะขนไปกำจัดได้ทันที นี่ไม่ใช่เรื่องของ "เงิน" หรือ แม้แต่ "กฎหมาย" แต่เป็นเรื่องของ "คน" ที่ฝึกฝนแล้วในแง่ของความรับผิดชอบและหน้าที่ร่วมกันในสังคม ขยะเมืองญี่ปุ่นจึงไม่ใช่เป็นเพียง "สิ่งปฏิกูล น่ารังเกียจ" หากยังเป็นภาพสะท้อนถึงผู้คนและวัฒนธรรมในสังคมญี่ปุ่น อย่างน่าสนใจยิ่ง
เป็นยังไงบ้างครับคงจะได้ความรู้กันไปไม่มากก็น้อยสำหรับการจัดการเกี่ยวกับขยะในประเทศญี่ปุ่นซึงเป็นสิ่งที่ดีมากสำหรับใครที่ยังชอบทิ้งขยะไม่เป็นที่ควรที่จะเอาเป็นตัวอย่างเป็นอย่างมากนะครับ สำหรับคราวน่าจะเป็นเรื่องอะไรนั้นคงต้องคอยติดตามกันนะครับ
ข้อมูลจากเวปhttp://www.arukithai.com/th/otherInfo/detail.asp?idCat=59
http://www.ohayo-japan.com/Info/info1.asp
ความคิดเห็น