คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #14 : [Sum1] สรุปแบบไฟลน Alexander : ฉบับไทย ไม่ต้องแปลอีก!!
สรุปแบบไฟลน Alexander ฉบับไทย ไม่ต้องแปลอีก!!
By.Biw TigerPisces
(บทนี้ทำยาก ขอเครดิตตัวเองหน่อย)
เอาล่ะ เชื่อว่านี่คือประเด็นที่ทุกคนกำลังหวีดร้องและหิวกระหายที่สุดในตอนนี้ นั่นคือ หนังสือนอกเวลา Alexander the Great
ไม่ใช่แค่อ่านไม่ออก เพราะต่อให้อ่านออก วิธีเล่าเรื่องในหนังสือก็น่าตบคนเขียนซะให้ดิ้น ทำให้แม้แต่อิชั้นเองก็ไม่สามารถจะเข้าใจได้ว่าเนื้อเรื่องจริงๆ เป็นยังไง
ดังนั้น เลยลองหาในเน็ตดู และรวบรวมข้อมูล สรุปให้เป็นฉบับภาษาไทยเลยดีกว่า ซึ่งจะไม่เรียงตามบทในตอน (เพราะจะทำให้เนื้อเรื่องงงกว่าเดิม) เน้นแต่ข้อมูลรายละเอียด โอเค้?
ส่วนเวลาเข้าห้องสอบ ก็แปลกลับเป็นภาษาอังกฤษเอาเองละกันนะ!!
http://kon-mee-klass.blogspot.com/2011/09/1_30.html
นี่คือเนื้อเรื่องในบทที่1 ที่มีคนแปลไว้ หากน่าเสียดาย เขากลับหายเข้ากลีบเมฆและไม่มาทำต่อ...
ต่อมาในบทถัดไป
1.ช่วงทรงพระเยาว์
พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ ทรงเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าฟิลิปแห่งมาซิโดเนียกับพระนางโอลิมเปียสเจ้าหญิงแห่งอิพิรุส พระองค์ประสูติที่กรุงเบลลา เมืองหลวงของมาซิโดเนีย ในวันที่ 20 กรกฎาคม ปีที่ 356 ก่อนคริสตกาล พระองค์ทรงมีพระอนุชาต่างมารดาหนึ่งพระองค์คือเจ้าชายฟิลิปโดยในครั้งนั้นมาซิโดเนียเป็นเพียงแคว้นเล็ก ๆ ทางตอนเหนือที่ถูกชาวกรีกมองว่าล้าหลังและป่าเถื่อน
อาจารย์คนแรก คือ ลีโอนิดัส เป็นอาจารย์สายโซตัส ซาดิสม์ โหด เน้นฝึกสายพลัง ถ้าฝึกไม่เสร็จไม่ให้กินข้าว ทำให้พระองค์ทรงพระแองกรี้อันไลค์นักแล
อาจารย์คนที่2 คือ นักปราชญ์นาม อริสโตเติล (Aristotle) ผู้เป็นศิษย์ของปรัชญาเมธีเพลโต มาเป็นพระอาจารย์ให้พระโอรส เน้นสอนทางทฤษฎีมากกว่า ทำให้พระองค์ปลาบปลื้มอาจารย์คนนี้มาก
และเมื่อไปเรียน ทำให้พระองค์มีมิตรสหายกลุ่มหนึ่ง นามว่า
ปโตเลมี , เพอร์ดิสซัส , เซเลเคียส , เนียซัส และที่สนิทที่สุดเห็นจะเป็น เฮฟาอีสเทียน
ครั้งหนึ่งเมื่อทรงเป็น วัยรุ่น พระองค์ได้ปราบพยศม้าสีดำดุร้ายที่ไม่มีใครเอาชนะได้สำเร็จ และใช้เป็นอาชาคู่พระทัย ชื่อว่า บูเซฟาลัส แล้วม้านี้ก็กลายเป็นม้าคู่ใจใช้รบตลอดมา เมื่อพระเจ้าฟิลิปทราบเรื่อง ได้ตรัสว่า “ลูกข้า ดินแดนมาซิโดเนียนี้คงไม่กว้างใหญ่พอสำหรับเจ้าเสียแล้ว”
ในเวลานั้น พระเจ้าฟิลิปได้รวบรวมดินแดนทางตอนเหนือของกรีกและชนเผ่าต่าง ๆ เข้าด้วยกัน จากนั้นพระองค์ได้เคลื่อนทัพลงสู่ทางใต้ เพื่อพิชิตหัวเมืองต่างๆของกรีก
มีชื่อสงครามรอบนี้ว่า Battle of Chaeronea
ในเวลานั้นเจ้าชายอเล็กซานเดอร์ซึ่งเจริญพระชันษาแล้ว ทรงมีความปรารถนาจะเป็นผู้พิชิตในการศึกบ้าง โดยพระองค์เคยตรัสกับ เฮฟาอีสเทียน พระสหายสนิท เมื่อทราบว่าพระบิดายึดนครข้าศึกได้อีกแห่งหนึ่งว่า “พระบิดาไม่ยอมเปิดโอกาสให้ข้าได้เป็นผู้พิชิตบ้างเลย” จวบจนกระทั่งสงครามครั้งสุดท้ายในปีที่ 338 ก่อนคริสตกาล ระหว่างเหล่าพันธมิตรกรีก กับกองทัพมาซิโดเนียที่ทุ่งบีโอเชีย เจ้าชายอเล็กซานเดอร์จึงได้มีโอกาสแสดงพระปรีชาสามารถในการศึกของพระองค์
ต่อมา พระเจ้าฟิลิปผู้มีรักแท้มากครั้ง ได้ไปปิ๊ง เออรี่ไดซ์ ธิดาของเมืองขึ้นเมืองหนึ่ง ทำให้ภรรเมียหลวง หรือแม่ของอเล็กซานเดอร์โซแองกรี้ + งอน ตัดสินใจเก็บกระเป๋ากลับเมืองเอพิรุสของตัวเองไป
กระทั่งถึงงานแต่งงานของพระเจ้าฟิลิปกับนางคนนี้ ในปีที่ 336 ก่อนคริสตกาล พระเจ้าฟิลิปถูกลอบปลงพระชนม์โดยชายชื่อ เปาซาเนียส อดีตราชองครักษ์ของพระองค์และอาจเป็นคู่รักเก่าของพระองค์ด้วย (ในสมัยกรีกโบราณการมีรสนิยมแบบไบเซ็กช่วลถือเป็นเรื่องปกติ) ด้วยเหตุผลที่ไม่แน่ชัด แต่นักประวัติศาสตร์บางคนก็เชื่อว่าพระนางโอลิมเปียสเองเป็นผู้บงการเนื่อง จากทรงโกรธพระสวามีที่มีพระชายาหลายองค์และต้องการให้พระโอรสของพระนางขึ้น ครองราชย์โดยเร็ว
2.ศึกชิงบัลลังก์ + วางแผนบุกเปอร์เซีย
ความวุ่นวายย่อมเกิดขึ้น ศึกจอมนาง เอ้ย จอมอุปราชชิงบัลลังก์ก็เปิดฉากขึ้น มีชื่อผู้สมัครดังนี้
หมายเลข1 เออร์ริดัส (เป็นพี่ชายต่างแม่ของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์) ซึ่งเคยมีกรณีไม่ถูกคอกับพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ด้วยแอบปิ๊ง ธิดาเมืองคาเรียนในเวลาเดียวกัน
หมายเลข2 อาททาลัส (เป็นลุงของเออรี่ไดซ์ ภรรเมียคนสุดท้ายของบิดา)
หมายเลข3 พระเอกของเรื่อง พระเจ้าอเล็กซานเดอร์น่ะเอง
ตอนอวสานของซีรี่ส์ศึกชิงบัลลังก์ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ก็ชนะไป ด้วยเหตุที่ว่าสองคนก่อนหน้าถูกข้าศึกลอบสังหารทีละคน หมดคู่แข่ง...
จากการขึ้นครองบัลลงก์ทำให้กรีก ส่วนสปาร์ต้า ไม่พอใจแน่ๆ
หลังจากขึ้นครองราชย์แล้ว พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ทรงปราบปรามหัวเมืองกรีกที่แข็งข้อนั่นคือ
สปาร์ต้า , ทราเซียน , ทีเบส จนราบคาบ จากนั้นพระองค์จึงวางแผนเตรียมทำศึกกับจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ที่สุดขณะนั้น นั่นคือ จักรวรรดิเปอร์เซีย โดยในตอนนั้น จักรวรรดิเปอร์เซียพระเจ้าดาเรียสที่สาม (Darius III) ครอบครองดินแดนเกือบทั้งหมดของเอเซียตะวันตกเฉียงใต้และแอฟริกาเหนือ ในปีที่ 334 ก่อนคริสตกาล กษัตริย์หนุ่มอเล็กซานเดอร์ ทรงนำกองทัพมาซิโดเนียซึ่งประกอบด้วย
ทหารราบ 43,000 นาย (จากเมือง อิลลีเรีย กับ ทราซ)
ทหารม้าอีก 6,000 นาย (จากเมือง เทสซารี)
พลเรือรบ (จากเมือง เอเธนส์)
นักธนู (จากเมือง ครีท)
เคลื่อนทัพ ข้ามช่องแคบที่คั่นระหว่างยุโรปและเอเชีย ที่มีชื่อว่า Hellespont (ตอนนี้เรียกกันว่า Dardanelles) และจากเรือพระที่นั่ง อเล็กซานเดอร์ขว้างหอกของพระองค์ลงสู่ชายหาด ทันทีที่พระบาทของพระองค์แตะผืนดิน พระองค์ดึงหอกนั้นออกจากทราย และประกาศว่านี่คือดินแดนที่พระองค์จะต้องเอาชนะด้วยหอกด้ามนี้ จากนั้นพระองค์ได้แวะที่ซากกรุงทรอย โดยพระองค์และเฮฟาอีสเทียน พระสหายที่ทรงสนิทและรักมากที่สุด ได้เข้าไปเคารพหลุมศพที่เชื่อว่าเป็นของ อาคิลลิส วีรบุรุษแห่งสงครามทรอย
(ตอนนี้ก็เข้ามาที่เอเชียแล้วน่ะเอง)
3.ปะทะเปอร์เซีย1 (ศึกที่แม่น้ำกรานิคัส)
เดือนพฤษภาคม ปีเดียวกันนั้น ฝ่ายเปอร์เซียได้ส่งกองทหารม้าจำนวน 16,000 นาย และทหารราบอีก 18,000 นาย มาตั้งรับที่ริมฝั่งแม่น้ำกรานิคัส ซึ่งเวลานั้นเป็นช่วงหน้าแล้งน้ำแห้ง
เหตุการณ์ยิ่งชุลมุน เมื่อ เมมมอน หัวหน้าทัพฝ่ายหนึ่งของฝ่ายอเล็กซานเดอร์ เกิดไม่เห็นด้วยที่จะสู้ เลยแตกคอ ไม่ทำตามอะไรอีกต่อไป (แต่สุดท้ายก็ถูกข้าศึกโจมตีจบชีพตรงนั้น)
อเล็กซานเดอร์สั่งให้ทหารบุกลงไปในแม่น้ำและไต่ขึ้นฝั่งตรงข้ามที่สูงชัน ขณะที่พวกเปอร์เซีย รออยู่ข้างบน แม้จะอยู่ในที่ตั้งที่เสียเปรียบ แต่แหลนยาว 5 เมตรของทหารมาซิโดเนียก็ช่วยป้องกันการโจมตีของข้าศึกได้ เมื่อขึ้นฝั่งแล้ว อเล็กซานเดอร์ก็ทรงม้าศึกบูเซฟาลัส นำหน้าทหารเข้าโจมตีทัพเปอร์เซีย จนแตกพ่ายไป
"Phalanx" สไตล์การรบที่เพอร์เฟ็คท์ของกองทัพมาซีโดเนียน
แผน การรบที่เรียกได้ว่ามีชื่อเสียงที่สุดของชาวมาซีโดเนียน เรียกกันว่า "Phalanx" สร้างขึ้นโดยพระเจ้าฟิลิป การรบนี้ใช้ทหารแบบ 16*16 ยืนรวมตัวกัน ทุกคนถือโล่ และ Sarisses ซึ่งก็คือ หอกที่มีความยาวถึง 20 ฟุต ทำจากไม้คอร์เนล แถวหลังของกองทัพจะถือหอกชี้ขึ้นฟ้า ส่วนแถวหน้าชี้หอกไปทางด้านหน้า และเมื่อเคลื่อนตัว กองทัพจะเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน ไม่มีแตกแถว ซึ่งนอกจากสไตล์การรบแบบ "Phalanx" อเล็กซานเดอร์ได้เพิ่มวิธีการรบ อย่างการใช้ไฟ นักธนู และการรบบนหลังม้า และด้วยสไตล์การรบที่เด่นเป็นเอกลักษณ์เช่นนี้ ทำให้กองทหารของพระองค์ยิ่งใหญ่เหนือใคร ที่สำคัญคือตามปกติแล้ว ชาวมาซีโดเนียนจะหยุดรบในช่วงเก็บเกี่ยว แต่อเล็กซานเดอร์ทรงจ่ายเงินพวกทหารให้รบอย่างเต็มเวลา และนั่นทำให้กองทหารของพระองค์ต้องผ่านการฝึกปรืออย่างเข้มงวด และกลายเป็นมืออาชีพด้านการรบยิ่งกว่าทหารจากดินแดนใด
กลยุทธ์มัดใจ
นอกจากนี้ ในการรบ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ จะออกนำหน้าไพร่พลในการรบทุกครั้ง หลังการศึกพระองค์จะเสด็จเยี่ยมทหารที่บาดเจ็บทุกคนอย่างใกล้ชิดและตรัสกับพวกเขาเป็นรายตัว พระกรุณาของพระองค์ทำให้เหล่าทหารจงรักภักดีต่อพระองค์มาก
จากการบาดเจ็บพอประมาณของอเล็กซานเดอร์ ทำให้ได้เปิดตัว คุณชายหมอ เอ้ย หมอประจำตัวของพระองค์ นามว่า เคลตัส
หลังจากชัยชนะที่กรานิคัสพระองค์ได้บุกลึกเลียบชายฝั่งของจักรวรรดิทำสงครามย่อยกับกองทหารเปอร์เซียที่ตั้งมั่นตามบริเวณนั้น และปลดปล่อยบรรดานครกรีกที่ถูกพวกเปอร์เซียยึดครองไว้ทั้งหมด โดยนครเหล่านั้นต้องยอมขึ้นแก่พระองค์ หลังจากนั้น พระองค์ได้ละทิ้งชายฝั่งและมุ่งหน้าเข้าไปในแผ่นดิน
เหตุการณ์คั่น
ผู้แก้ปมกอร์ดิอุส
จาก การบอกเล่าของพวก Phrygians ซึ่งตอนนี้อาศัยอยู่ในตอนกลางของประเทศตุรกี พวกเขามีตำนานซึ่งพยากรณ์โดยนักพยากรณ์ชื่อดัง ที่ว่าผู้ที่จะเป็นกษัตริย์ก็คือชายคนแรกที่นั่งเกวียนเข้ามาในเมือง และบุคคลผู้นี้ก็คือ กอร์ดิอุส (Gordius) ชาวนาผู้ยากจน หลังการสถาปนา กอร์ดิอุสได้อุทิศเกวียนที่เขานั่งมาแก่เทพเจ้าซีอุส และผูกมันไว้กับเสาด้านนอกวัดศักดิ์สิทธิ์ เชือกที่เขาผูกนั้นเป็นเชือกที่ว่ากันว่าเหนียวแน่นทนนาน และเชื่อกันว่าใครที่แก้ปมเชือกได้จะได้ครอบครองเอเชียทั้งทวีป อเล็กซานเดอร์ไม่พลาดโอกาสนี้อย่างแน่นอน แต่เมื่อพบว่าเชือกนั้นเหนียวแน่นกว่าที่พระองค์คิด ด้วยความโกรธจัด พระองค์ใช้ดาบตัดมันขาดออกจากกัน พร้อมประกาศว่า "ข้าคลายปมมันได้แล้ว" ("I have loosed it!") (ก็แหงละ พระองค์ตัดขาดเลยนี่นา - - ") หลังจากนั้น ปมกอร์ดิอุสได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของปัญหาที่ต้องแก้ไขด้วยวิธีที่รวดเร็ว และไม่เน้นกรอบประเพณีนัก
3.ปะทะเปอร์เซีย2 ศึกที่อิสซัส
เมื่อพระเจ้าดาริอุสที่ 3 แห่งเปอร์เซีย ทราบเรื่อง จึงทรงระดมไพร่พล 80,000 นาย เพื่อทำศึกกับกองทัพมาซิโดเนีย ในฤดูใบไม้ร่วงของปีที่ 333 ก่อนคริสตกาล ทัพทั้งสองพบกันที่ อิสซัส (ปัจจุบันอยู่บริเวณพรมแดนตุรกีกับซีเรีย) โดยฝ่ายอเล็กซานเดอร์มีทหารไม่ถึง 50,000 คน เท่านั้น และเมื่อการรบเริ่มขึ้น กองทหาร(ฝ่ายที่ใช้กลยุทธ์ Phalanx)ของมาซิโดเนียสามารถตรึงทัพเปอร์เซียเอาไว้ได้
อเล็กซานเดอร์ทรงนำกองทหารม้าพุ่งเข้าโจมตีกองรถศึกที่ดาริอุสประทับอยู่ เมื่อเห็นข้าศึกตรงเข้ามา พระองค์จึงรีบเสด็จหนีทันที และในที่สุดทัพเปอร์เซียก็พ่ายแพ้ยับเยินอีกครั้ง ชัยชนะครั้งนี้ทำให้ชาวเปอร์เซียรู้แล้วว่า กษัตริย์หนุ่มวัย 23 พรรษาแห่งมาซิโดเนียผู้นี้ ได้กลายเป็นภัยคุกคามจักรวรรดิอย่างแท้จริง
หลังจากนั้นพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ได้นำกองทัพลงใต้มุ่งสู่ชายฝั่งเมดิเตอร์เรเนียน บรรดานครพันธมิตรของเปอร์เซียต่างยอมจำนนแต่โดยดี เว้นแต่นครไทร์ ซึ่งเป็นฐานทัพเรือสำคัญของเปอร์เซีย พระองค์ได้สั่งกองทัพเข้าโจมตีนครไทร์ซึ่งเป็นเกาะที่ตั้งห่างจากชายฝั่งถึง 1 กิโลเมตร พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ได้มีพระบัญชาให้ไพร่พลถมดินทำเป็นถนนจนไปถึงเกาะซึ่งใช้เวลานานถึง 7 เดือน ในที่สุดทัพมาซิโดเนีย ก็เข้าเมืองได้ มีทหารข้าศึกถูกสังหารมากกว่า 7,000 คน ชายหนุ่ม 2,000 คน ถูกประหารโดยการตรึงกางเขน และอีก 30,000 คน ถูกขายเป็นทาส
ฮัลโหล อเล็กซานเดรีย at อียิปต์
เมื่อถึงปีที่ 331 ก่อนคริสตกาล กองทัพของพระองค์มาถึงอียิปต์และทำลายกองทัพเปอร์เซียที่นั่นจนย่อยยับ ชาวอียิปต์ซึ่งต่อต้านพวกเปอร์เซียยินดีกับการมาของพระองค์ พวกเขายกย่องให้พระองค์เป็นฟาโรห์ของอียิปต์ และอเล็กซานเดอร์ได้เข้าไปนมัสการวิหารของ สุริยเทพรา อีกด้วย กล่าวกันว่าพระองค์ทรงเชื่ออย่างแท้จริงว่า พระองค์สืบสายเลือดมาจากเทพเจ้ารา ก่อนออกจากอียิปต์ อเล็กซานเดอร์ได้สร้างเมืองท่าชื่ออเล็กซานเดรียทิ้งไว้ ปัจจุบันอเล็กซานเดรีย ยังคงเป็นเมืองท่าสำคัญบนฝั่งแอฟริกาเหนือ
4.ปะทะเปอร์เซีย3 ศึกที่กัวกาเมล่า
ในเวลานั้นเอง ทางเปอร์เซียยื่นข้อเสนอขอสงบศึก โดยดาริอุสได้ส่งพระราชธิดามาถวาย(อ้าว อีนี่ขายลูกตัวเอง //อินจัด) แต่อเล็กซานเดอร์ทรงปฏิเสธ พระเจ้าดาริอุสจึงต้องทำสงครามอีกครั้ง
โดยในครั้งนี้ พระองค์ได้ระดมทหารม้าถึง 50,000 นาย และทหารราบอีกมากกว่า 250,000 นาย พร้อมทั้งรถศึกนับพัน โดยพระองค์ได้ตั้งทัพรอที่ กัวกาเมลา (ปัจจุบันอยู่ในอิรัก) ขณะที่อเล็กซานเดอร์พร้อมกับทหารราบราว 50,000 นายและทหารม้าอีก 8,000 นาย กำลังจะไปถึง
กองทัพทั้งสองฝ่ายพบกันในวันที่ 1ตุลาคม ของ ปีที่ 331 ก่อนคริสตกาล เมื่อเห็นกองทัพมหาศาลของข้าศึก พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ทรงตกตะลึงไปชั่วขณะ ก่อนจะสั่งให้รั้งทัพรอเข้าโจมตีในวันรุ่งขึ้น พระองค์ได้วางแผนการศึกกับเหล่าแม่ทัพและเข้าบรรทมทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ข้อสรุป เหล่าแม่ทัพแทบจะไม่มีใครหลับตาลงแม้แต่คนเดียว
(เขาว่ากันว่า เมื่อเราต้องเป็นฝ่ายรอ ไม่ว่าจะรอด้วยวิธีแบบไหนก็ไม่มีผลต่อสถานการณ์ ดังนั้น จะรอแบบชิลๆ หรือรอแบบกระวนกระวายไปด้วยก็ไม่ต่างกัน)
ขณะเดียวกัน ทางฝ่ายเปอร์เซีย เมื่อทราบว่ากองทัพข้าศึกมาถึงแล้ว พระเจ้าดาริอุสและกองทัพของพระองค์ได้เฝ้าระวังเตรียมรับการโจมตีตลอดทั้งคืน พระเจ้าดาริอุส ไม่กล้าเสี่ยงเข้าโจมตี แม้ว่าจะมีกำลังมากกว่า เพราะเกรงว่าอาจถูกกลลวงได้
จวบจนตอนสายของวันรุ่งขึ้น อเล็กซานเดอร์ก็ทรงตื่นบรรทม และพบว่าแม่ทัพทุกคนมาเฝ้ารอรับเสด็จแต่เช้าแล้ว หลังจากแจกแจงแผนการศึก กองทัพมาซิโดเนียก็เคลื่อนพลทันที ขณะที่ทหารเปอร์เซีย 300,000 คน เริ่มอ่อนล้าจากการระวังตัวมาทั้งคืน อเล็กซานเดอร์ทรงตัดสินใจเข้าโจมตีกลางทัพของเปอร์เซียซึ่งพระเจ้าดาริอุสประทับอยู่ เมื่อเห็นข้าศึกรุกเข้ามา ดาริอุสจึงเคลื่อนย้ายรถศึกไปทางปีกซ้าย ทัพมาซิโดเนียได้เคลื่อนกำลังเข้ามาตัดปีกซ้ายของทัพเปอร์เซีย ขาดจากกองทัพส่วนใหญ่ และก่อนที่กองหนุนจะมาถึง
กองทหารม้ามาซิโดเนียที่นำโดยอเล็กซานเดอร์ก็เข้าถึงกองรถศึกของดาริอุส และเมื่อเป็นเช่นนี้ พระเจ้าดาริอุสจึงตัดสินพระทัยเสด็จหนีอีกครั้ง เมื่อเจ้าอยู่หัวของตนหนีไป เหล่าแม่ทัพเปอร์เซียก็เสียขวัญและแตกทัพกระจัดกระจายไปในที่สุด
มือที่สาม ปรากฏแว้ว
ชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ที่กัวกาเมลา ทำให้ฝ่ายเปอร์เซียไม่คิดจะสู้กับพระองค์อีก อเล็กซานเดอร์นำกองทัพของพระองค์ไปถึงนครบาบิโลนและเคลื่อนทัพต่อจนถึงเปอร์เซโปลิส เมืองหลวงของจักรวรรดิเปอร์เซีย
เมื่อเข้าเมืองได้ พระองค์ปล่อยให้ไพร่พลปล้นชิงและเผาทำลายบ้านเมืองพร้อมทั้งสังหารพลเมืองอย่างเหี้ยมโหด ทั้งนี้อาจเพื่อเป็นการล้างแค้นที่เปอร์เซีย เคยยกทัพไปโจมตีกรีกมาก่อน จากนั้นพระองค์ได้ส่งกองทัพไล่ตามพระเจ้าดาริอุสซึ่งยังเสด็จหนีอยู่ แต่ในเวลาต่อมาก็ถูก เบสซุส เจ้าผู้ครองแบคเตรียซึ่งเป็นแคว้นหนึ่งของเปอร์เซียจับตัวเอาไว้ จากนั้นเบสซุสได้ประกาศตนเป็นผู้ปกครองเปอร์เซียคนใหม่ (//เอาเข้าไป)
อเล็กซานเดอร์นำทัพเข้าโจมตีกองทัพแบคเตรียจนแตกพ่าย และในเวลาต่อมาเบสซุสก็ถูกจับตัวได้ พระองค์สั่งให้นำตัวไปเปลือยกายและแขวนประจานก่อนจะประหารชีวิตโดยการสับเป็นท่อน ๆ แต่สงครามยังหาสงบไม่ เนื่องจากได้มีขุนนางแบคเตรีย อีกคนหนึ่งนามว่า สปิทาเมนิส ได้ร่วมมือกับเหล่าชนเผ่าเร่ร่อนจากทุ่งหญ้าสเตปป์ เข้าลอบโจมตีกองทัพของพระองค์หลายครั้ง ตอนนี้ เหล่าทหารกรีกที่อ่อนล้าจากการทำศึกและจากบ้านมานานต่างทูลขอร้องให้พระองค์ส่งตัวกลับบ้าน เมื่อกองทัพของพระองค์ลดจำนวนลงมาก อเล็กซานเดอร์จึงสั่งให้เกณฑ์พลเพิ่มจากชนพื้นเมืองแบคเตรีย แต่แม้จะเป็นไพร่พลที่มาจากฝ่ายศัตรู แต่เหล่าทหารใหม่ก็จงรักภักดีต่อพระองค์มาก ซึ่งแสดงถึงพระอัจฉริยภาพในการปกครองของพระองค์
หลังจากนั้นอเล็กซานเดอร์จึงยกทัพเข้าไปยังเขตเทือกเขาทางตอนเหนือ เพื่อตามล่าศัตรู(ดาเรียส) ในช่วงนี้มีบันทึกว่าพระนิสัยของพระองค์เริ่มแปรเปลี่ยนโดยทรงมีพระอารมณ์ร้ายและเหี้ยมโหดมากขึ้น พระองค์ทรงนำเครื่องแต่งกายแบบและขนบธรรมเนียมเปอร์เซียเข้ามาปรับใช้ (เพื่ออะไรไม่ทราบได้ รู้แต่ว่าเป็นสีม่วงๆ) ทำให้พวกทหารชาวกรีกและมาซิโดเนียเริ่มไม่พอใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ทรงให้เหล่าทหารหมอบกรานเวลาเข้าเฝ้า เนื่องจากตามประเพณีกรีกนั้น การหมอบกรานจะใช้กับเทพเจ้าเท่านั้น นอกจากนี้ในเวลานั้นได้มีผู้นำขันทีรูปงามนามว่า บาโกอุสขึ้นถวายพระองค์ ซึ่งพระองค์ก็ทรงโปรดมาก แม้ว่ารสนิยมทางเพศเยี่ยงนี้จะเป้นของที่รับกันได้ในสังคมกรีกยุคนั้น แต่กิริยาของขันทีผู้นี้อาจไม่เป็นที่พอใจของเหล่านายทัพก็เป็นได้
จุดจบของดาเรียส
แบบที่1 : ทหารมาซิโดเนียพบพระเจ้าดาริอุสประชวรหนักใกล้สิ้นพระชนม์ ในเกวียนเก่าๆเล่มหนึ่ง อเล็กซานเดอร์จีงรีบเสด็จมา และพบว่าดาริอุสได้สิ้นพระชนม์แล้ว พระองค์ทรงแสดงความเสียพระทัยที่เห็นพระเจ้าดาริอุสสิ้นพระชนม์อย่างน่าอนาถเยี่ยงนี้ บางทีพระองค์อาจจะทรงทำเพื่อซื้อน้ำใจชาวเปอร์เซียก็เป็นได้
แบบที่2 : หลบหนีจากหลังม้า หนีไปพร้อมคนสนิท (ซึ่งภายหลังหักหลังและลอบสังหารพระองค์)
สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้พระเจ้าอเล็กซานเดอร์เริ่มระแวงเหล่าทหารที่ไม่พอใจว่าคิดกระด้างกระเดื่องและได้ทรงประหารทหารจำนวนมากรวมทั้งพระสหายเก่าแก่กลุ่มหนึ่งด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เหล่าไพร่พลชาวมาซิโดเนียและกรีกที่ตามเสด็จมาแต่เดิมเริ่มหมางเมินพระองค์ ต่อมาในช่วงต้นปีที่ 327 ก่อนคริสตกาล พันธมิตรของสปิทาเมนิสก็ตัดศรีษะของสปิทาเมอุสมาถวายพระองค์ พร้อมข้อเสนอยอมจำนน ในช่วงนั้นพระองค์ได้รับตัวพระธิดาของเจ้านครที่ยอมจำนนผู้หนึ่ง นามว่าเจ้าหญิง ร็อกซาน่า / โรซานน์ มาเป็นชายา เพื่อป้องกันหัวเมืองเหล่านั้นแข็งข้อ กล่าวกันว่าพระองค์หลงไหลชายาองค์นี้มากและมีโอรสกับนางหนึ่งองค์ ซึ่งหลังจากการอภิเษกครั้งนี้ผ่านไปไม่นาน พระองค์ก็สามารถยุติสงครามในเอเชียกลางที่นานถึง 2 ปีลงได้สำเร็จ
หลังจากได้ชัยชนะเหนือเปอร์เซียน อเล็กซานเดอร์กลายเป็นกษัตริย์ผู้มีอำนาจเหนือทวีปเอเชียพระองค์ทรงยึดเมืองหลวงของเปอร์เซีย "บาบิโลน" และปกครองด้วยหลักการของพระองค์เอง
5.ไปแอ่วที่อินเดีย (ศึกที่ริมฝั่งแม่น้ำเจลัม)
ตามเสต็ปที่เรื่องย่อมไม่จบง่ายๆ แม้จะบุกเปอร์เซียเสร็จแล้ว ก็ยังมิวายยังมิอยากกลับมาซีร์โดเนียดีๆ ทำให้เป้าหมายที่อเล็กซานเดอร์ต้องการไปต่อคือเข้าสู่อินเดีย โดยกองทัพมาซิโดเนียยกมาถึงเทือกเขาฮินดุกุช
และเอาชนะยึดครองดินแดนแห่งนี้ กษัตริย์พอร์รัส / โพรุส แห่งอินเดีย (แคว้น ปัญจาบของปากีสถาน) กองทัพอินเดียที่ประกอบด้วยทหารกว่า 50,000 นาย และทีมหลักช้างศึกอีก 500 ตัว ได้ตั้งมั่นรอทัพของมาซิโดเนีย ที่ริมฝั่งแม่น้ำเจลัม
ขณะที่กองทัพมาซิโดเนียจำนวน 70,000 นาย กำลังยกใกล้เข้ามา อเล็กซานเดอร์สั่งให้กองทัพเคลื่อนพลข้ามน้ำ ในตอนกลางคืน ท่ามกลางสายฝนที่ตกกระหน่ำ เพื่อไม่ให้ข้าศึกรู้ตัว แนวป่าตามริมแม่น้ำช่วยกำบังทัพมาซิโดเนียได้เป็นอย่างดี และในตอนเช้ามืดก่อนฟ้าสาง ทัพมาซิโดเนียก็เข้าโจมตีทัพอินเดีย
แม้จะถูกโจมตีกะทันหัน แต่ช้างศึกของอินเดียก็ทำการรบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่ดินโคลนที่เกิดจากฝน ทำให้ทหารมาซิโดเนียขาดความคล่องตัวในการรบ อีกทั้งช้างศึกยังสร้างความหวาดกลัวให้เหล่าทหารและมาที่ไม่เคยเห็นช้างมาก่อนด้วย ทำให้ทหารมาซิโดเนีย ตกใจจนคุมสติไม่อยู่ พวกเข้าทำร้ายทุกคนที่เข้าใกล้จนเกิดความปั่นป่วนทั้งแนวรบ
เหตุการณ์พลิกล็อคในครึ่งหลัง ช้างศึกของพระเจ้าโพรัส ก็ถูกแหลนของทหารมาซิโดเนียแทงได้รับบาดเจ็บสาหัสจนสลัดพระเจ้าโพรัสตกลงมาได้รับบาดเจ็บ ทหารมาซิโดเนีย ตรงเข้าจับตัวพระองค์ไว้ และสถานการณ์ก็กลับเป็นทัพมาซิโดเนียได้รับชัยชนะอีกครั้งหนึ่ง พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ทรงไว้ชีวิตกษัตริย์โพรัสและให้ปกครองแคว้นปัญจาบต่อไป โดยมีกองทัพมาซิโดเนียคอยควบคุม
ทหารของพระองค์เหน็ดเหนื่อย และต้องการจะเดินทางกลับประเทศ เพื่อพบกับความสุขที่ไม่เคยมีมายาวนาน ในที่สุด อเล็กซานเดอร์ก็ยอมแพ้ต่อทหารของพระองค์เอง และเดินทางกลับประเทศ
พูดง่ายๆ ก็คือ กองทัพของอเล็กซานเดอร์ยังไม่สามารถยึดเอเชียได้เรียบร้อยทั้งหมดน่ะเอง
(แต่แม้ว่าพระองค์จะไม่สามารถพิชิตทวีปเอเชียได้สำเร็จ ความยิ่งใหญ่ของพระองค์ก็ตราตรึงอยู่ในใจของคนทั่วโลกมากอยู่แล้ว)
6.กลับกันเหอะ
การตัดสินใจที่จะเดินทางกลับเปอร์เซียด้วยทิศทางใหม่เป็นการตัดสินใจผิดที่สุดของพระองค์
ฉากซึ้งกินใจ
ระหว่างการเดินทัพครั้งนี้ได้มีทหารผู้หนึ่งไปหาน้ำมาได้และนำใส่หมวกเหล็กมาถวายพระองค์ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ ไม่ยอมดื่มน้ำนั้น เมื่อทหารต่างก็อดน้ำ พระองค์ได้เทน้ำนั้นลงพื้นและประกาศว่า “ข้าจะร่วมในความกระหายกับพวกเจ้า” เมื่อเหล่าไพร่พลเห็นดังนั้นจึงมีกำลังใจกัดฟันเดินทางต่อจนพ้นเขตทะเลทราย
แต่สุดท้ายทหารกว่า 60,000 นายต้องเสียชีวิตที่ทะเลทราย Gedrosan ทะเลทรายที่ร้อนที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และการเดินทางครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของอเล็กซานเดอร์เช่นกัน
ในปีที่ 324 ก่อนคริสตกาล เมื่อเดินทางมาถึงเปอร์เซีย พระองค์ได้มีรับสั่งให้เกณฑ์ชายหนุ่มเชื้อสายขุนนางเปอร์เซียจำนวน 30,000 คน เข้ารับการฝึกยุทธวิธีรบแบบกรีก เพื่อมาทดแทนทหารมาซิโดเนียที่ล้มหายตายจากไป นอกจากนี้พระองค์ยังได้จัดให้มีการแต่งงานระหว่างทหารกรีก 10,000 คน กับหญิงสาวเปอร์เซีย 10,000 คน และนายทหารกับหญิงเปอร์เซียชั้นสูงอีก 80 คู่ ส่วนพระองค์เองก็ได้อภิเษกสมรสกับพระธิดาของกษัตริย์ดาริอุส นามว่า เจ้าหญิงบาร์สิน่าด้วย ทั้งนี้เพื่อผูกสัมพันธ์ระหว่างมาซิโดเนียกับเปอร์เซีย ในปีเดียวกันนั้นเอง เฮฟาอีสเทียนพระสหายสนิทได้ล้มป่วยและเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ อเล็กซานเดอร์ทรงโศกเศร้ามากและได้สั่งให้จับหมอผู้รักษาไปตรึงกางเขน ในช่วงนี้พระพลานามัยของพระองค์แย่ลงมากกว่าเดิม ทั้งอาการบาดเจ็บจากแผลธนูและพิษสุราเรื้อรัง อันเป็นผลมาจากการที่ทรงดื่มหนักมาตลอด นอกจากนี้พระอารมณ์ยังแปรปรวนและเหี้ยมโหดยิ่งขึ้น
ยังจะสงครามต่อ
ในปีที่ 323 ก่อนคริสตกาล อเล็กซานเดอร์ได้เสด็จมายังนครบาบิโลน พระองค์สั่งให้ระดมพลโดยมีแผนการณ์จะทำสงครามกับพวกอาหรับและอาณาจักรคาเธจ แต่ทว่าอเล็กซานเดอร์ได้ทรงพระประชวรกะทันหัน พระอาการทรุดหนักลงอย่างรวดเร็ว ข่าวลือแพร่ไปทั่วกองทัพว่าเจ้าเหนือหัวจะสวรรคต ทำให้เหล่าทหารต่างตื่นตระหนก แม้ว่าพระองค์จะทรงมีพระนิสัยที่แปรปรวนในระยะหลังบ้าง แต่เหล่าทหารจำนวนมากทั้งที่เป็นชาวมาซิโดเนียและชนชาติอื่นๆก็ยังรักและเคารพพระองค์อยู่ บรรดาไพร่พลต่างขอเข้าเฝ้าเยี่ยมพระอาการ พระองค์ให้ทหารทุกคนเดินผ่านที่ประทับเข้ามาทำความเคารพ หัวใจของเหล่าทหารต่างโศกเศร้าเมื่อทราบข่าวร้าย แม้จะตรัสอันใดไม่ได้แต่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ก็พยายามแสดงให้เหล่าทหารทราบว่าพระองค์ยังจำพวกเขาได้ทุกคน และแล้วในวันที่ 10 มิถุนายน ปีที่ 323 ก่อนคริสตกาล อเล็กซานเดอร์ก็เสด็จสวรรคต
7.เหตุการณ์หลังจากที่อเล็กซานเดอร์เสด็จสวรรคต
ทางด้านมาซิโดเนีย เจ้าหญิงร็อกซาน่าพระชายาเอกของพระองค์ได้สังหารพระธิดาบาร์สิน่าของกษัตริย์เปอร์เซียผู้เป็นพระชายารองของอเล็กซานเดอร์อย่างเหี้ยมโหด ก่อนจะพาพระโอรสหนีไปอยู่กับพระนางโอลิมเปียสพระมารดาของอเล็กซานเดอร์
ต่างฝ่ายในสำนัก แม้จะไปเมืองอื่น ก็แอบแวบกลับมา พยายามเรียกร้องสิทธิในบัลลังก์และขัดแย้งกับนายพลคาสซานเดอร์ แม่ทัพผู้ดูแลมาซิโดเนียจนกลายเป็นสงครามกลางเมืองและในที่สุด ทั้งพระนางโอลิมเปียส สุดท้ายเจ้าหญิงร็อกซาน่าและพระโอรสก็ถูกปลงพระชนม์จนหมดสิ้น และเป็นอันสิ้นสุดราชวงศ์ของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ลง
แม้พระองค์จะทรงมีพระชนมายุสั้นเพียง 33 พรรษา และอาณาจักรของพระองค์แตกสลายในเวลาอันรวดเร็ว แต่พระนามของพระองค์ก็ได้รับการจารึกเอาไว้ในประวัติศาสตร์มาจนทุกวันนี้ การสงครามของพระองค์ส่งผลให้อารยธรรมกรีกแพร่มายังดินแดนตะวันออก ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในหลายด้าน ทั้งด้านศิลปะและปรัชญา พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ทรงได้รับการยกย่องเยี่งเทพเจ้าในตำนานโบราณ แต่พระองค์ก็คือมนุษย์ปุถุชนธรรมดาผู้หนึ่งที่มีทั้งด้านมืดและสว่าง เพียงแต่แสงสว่างของพระองค์ทรงเจิดจรัสมากกว่า และนั่นก็คือสาเหตุที่พระนามของพระองค์เกริกไกรมาจนทุกวันนี้
ขอขอบคุณ
หนังสือ Alexander the Great
http://www.komkid.com/อเล็กซานเดอร์-มหาราชมาซ/
http://www.dek-d.com/board/view/1574781/
http://writer.dek-d.com/xxxcontrolxxx/story/viewlongc.php?id=331225&chapter=4
(มีต่อนะจ๊ะ)
ความคิดเห็น