ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    คลังสรุปมหากาพย์ข้อสอบTU : by. BiwTigerPisces

    ลำดับตอนที่ #51 : [Sum ม.5 เทอม2] เก็งข้อสอบ 'อิลราชคำฉันท์' วรรณคดีมรดก

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 7.61K
      22
      16 ธ.ค. 57

    [.5 เทอม2 Sum] เก็งข้อสอบ อิลราชคำฉันท์

    By.Biw TigerPisces
    Special Thanks ที่ปรึกษาชั้นดี : Pump Vate Yanawut & Benny Ben

         ต้องขออธิบายไว้ก่อนว่า ในข้อสอบวรรณคดีมรดก สุดท้ายแล้ว ข้อที่จะใช้ ความรู้และทฤษฎี ที่เตรียมมาจริงๆ มีเพียง 30% ส่วนอีก 70% จะเป็นโจทย์ที่ใช้กับแรงมโนของแต่ละคนเป็นหลักทั้งนั้น แต่ยังไงเราก็อยากจะเก็บคะแนนประมาณ 30% ไว้ใช่มั้ยล่ะพรรคพวก ดังนั้นวันนี้ ดิชั้นจะมาเก็งว่า อี 30% พวกที่ใช้ความรู้ทฤษฎีมาช่วยเป็นหลักมากกว่าการวิเคราะห์(มโน) จะมีแนวทางการออกโจทย์แบบไหนบ้าง มาดูกันเลยค่ะ

    เคส1 : หักมุม ถามแบบแฟนพันธุ์แท้ ประวัติวรรณคดี แต่งที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร เพราะอะไร

    ประวัติผู้แต่ง

     พระยาศรีสุนทรโวหาร (ผัน สาลักษณ)

            พ.ศ. 2424 – พ.ศ. 2466 เกิด 24 มิถุนายน พ.ศ. 2424 เป็นบุตรของ พระยาศรีสุนทรโวหาร(พระยาศรีภูริปรีชา[กมล สาลักษณ]) สมุหพระอาลักษณ์

            ท่านผัน สาลักษณ เริ่มศึกษา ในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ แล้วบวชอยู่ ณ วัดบวรนิเวศ เมื่อ พ.ศ. 2438 ได้ลาสิขาบทเมื่อ พ.ศ. 2443 เข้าทำงานเป็นเสมียนเอกในกรมราชเลขานุการ ได้ชื่อว่า หลวงสารประเสริฐ และย้ายไปรับราชการเป็นนายอำเภอ

    และในช่วงปี พ..2456 ได้รับการแนะนำจากรัชกาลที่ 6 ให้แต่งหนังสือ จึงแต่งเรื่องงอิลราชคำฉันท์ถวาย เป็นที่โปรดแด่พระองค์มาก จึงได้รับการเลื่อนยศเป็น พระยาศรีสุนทรโวหาร ต่อมากลับเข้าทำงานในกรมอาลักษณ์ จนได้เป็นเจ้ากรมพระอาลักษณ์ ใน พ.ศ. 2459

    ไทม์ไลน์ การได้ยศ(ในสายอาชีพกวี)

    ผัน สาลักษณ ==> หลวงสารประเสริฐ ==> พระยาศรีสุนทรโวหาร

     

    งานนิพนธ์ที่ปรากฏชื่อ : ปัญจสิงขรคำกลอน (เป็นงานที่ทำให้ ร.6 เห็นแววความเป็นจินตกวี)  และ อิลราชคำฉันท์

     

    ประวัติเนื้อเรื่อง

         เริ่มจากที่ว่า ท่านรัชกาลที่ รำพึงรำพันว่า กวีตั้งแต่ รัชกาลที่ 5 ยันปัจจุบัน มีแต่พวกมีความคิดแบบฝรั่งจ๋ามากเกินไป เอะอะก็ครีเอทคำประหลาดๆ มาใส่ให้ดูวิลิศวิไลยากเกินกว่าจะอ่านไหว จึงเกิดความคิดจะเสาะหา  จินตกวี ที่ยังมีสเต็ปในการประพันธ์ที่สละสลวยแบบโบราณ มาแต่งเรื่องสักเรื่องให้จารึกไว้ว่า สมัยรัชกาลที่ 6 ก็ยังมีจินตกวีฝีมือดีอยู่นะเอ้อ

         และกวีที่เข้าพระเนตรของรัชกาลที่ 6 ในครั้งนี้ก็คือ หลวงสารประเสริฐ ผัน สาลักษณ (ตอนนั้นยังเป็นยศนี้) นั่นเอง

          ถัดจากที่ท่านผันได้รับคำแนะนำจาก รัชกาลที่ 6 ให้แต่งงานประพันธ์สักเรื่องเพื่อบันทึกลง พงศาวดารในรัชสมัย ก็ได้พบนิทานเรื่องอิลราช  จากหนังสือพระราชนิพนธ์ บ่อเกิดรามเกียรติ์ (ของรัชกาลที่ 6 นั่นแหละ) ซึ่งเนื้อหาอยู่ในอุตตรกัณฑ์แห่งรามายณะ เห็นว่าเอามาแต่งเป็นคำฉันท์ได้ จึงเขียนเรื่องขึ้นมาด้วยความอุตสาหะ โดยมีรัชกาลที่ 6 เป็นผู้ตรวจสอบ และคอยให้คำแนะนำในจุดที่ต้องใช้ข้อมูลในการแต่ง เช่น บทบรรยายพิธีอัศวเมธ

    อ้างอิงจาก : ๏ ใช่ปราชญ์อาจปรุงปรับสาร  เฉลิมเกียรติ์ภูบาล ธิเบศวร์กษัตริย์ฉัตรชัย

     (ที่รัชกาลที่ 6 คุ้นชินกับท่านผัน เพราะว่า ท่านรัชกาลที่ 6 เอง สนิทคุ้นเคยกับ พระยาศรีภูริปรีชา[กมล สาลักษณ] ผู้เป็นพ่อของท่านผันมาตั้งแต่ก่อนหน้า)

         ตลอดเวลาการแต่งหลวงสารประเสริฐก็รับคำแนะนำไปใช้เขียนเรื่องได้เป็นอย่างดี ครั้นแต่งจบ จึงได้เลื่อนยศเป็น พระยาศรีสุนทรโวหาร (ผัน สาลักษณ) ตามที่ปรากฏในหนังสือที่ทุกคนกำลังเรียนอยู่นี่เอง

     

    สรุปข้อมูลเบื้องต้นของเนื้อเรื่อง

         โอเค มาทำความเข้าใจกันอีกทีนะว่า สรุปแล้วอิเรื่องอิลราชคำฉันท์ มันอยู่ในมิติวรรณคดีที่เท่าไหร่

         อิลราชคำฉันท์นับเป็นนิทานที่ซ้อนอยู่ในนิทานอีกที (ประมาณว่า พวกแกอ่านแฮร์รี่พ็อตเตอร์ แล้วในแฮร์รี่พ็อตเตอร์ก็มีช็อตที่เฮอร์ไมโอนี่ได้หนังสือนิทานเรื่องราวสามพี่น้องที่ได้ของสามสิ่งอ่ะ)

         ซึ่งรอบนี้ก็หมายความว่า ถ้าคุณเปิดอ่านเรื่อง บ่อเกิดรามเกียรติ์ part อุตตรกัณฑ์แห่งรามายณะ คุณก็จะเจอเรื่องอิลราช(ที่ยังเป็นร้อยแก้ว) อยู่ในนั้น

         แล้วพอดี๊ที่ท่านผัน สาลักษณ เป็นคนเปิดเรื่องบ่อเกิดรามเกียรติ์ เจออิลราช เสร็จปุ๊บ ก็เอามาอะแด็ปเรื่องให้เป็น อิลราชคำฉันท์ ที่เรานั่งอ่านสอบกันในวันนี้นี่แหละ

    จุดมุ่งหมายที่แต่ง : ตามบัญชา(การแนะนำ)ของรัชกาลที่ 6 ที่อยากให้มีบทประพันธ์ดีๆ ไว้ใน Hall of Fame

    ผลพลอยได้ที่กวีได้จากการแต่ง : เลื่อนยศเป็นพระยาศรีสุนทรโวหาร (กวีไม่ได้คาดคิดไว้ด้วยซ้ำ)

    ประเภท : นิทาน

    รูปคำประพันธ์ : คำฉันท์ 17 แบบ จำนวน 329 บท

    สมัย : รัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 6

    ปีที่แต่ง : พ.ศ. 2456

    เคส2 : “เหตุผลอะไรที่ต้องใช้ พิธีอัศวเมธ”

         จำได้มั้ยว่า พระพรตที่เป็นคนแย้งว่า ไม่ควรใช้พิธีราชสูยะ(ราชสูโยดม) โชว์พาวนะครัชท่านพี่พระราม แล้วพระลักษมณ์ก็เสนอต่อเลยว่า เอางี้ดีมั้ย มันยังมีวิธีที่จะแสดงบารมีแบบไม่มั่นหน้าเกินไป นี่เลย พิธีอัศวเมธ
    ก็อาจจะถามราวๆ ว่า มีเหตุผลอะไรที่ ทำไมต้องใช้พิธีอัศวเมธล่ะจ๊ะ

    ตอบ :

    1. เพราะว่า พระรามมีบารมีกว้างไกลมากๆ ไม่ต้องทำพิธีโชว์พาว เจ้าพวกเมืองขึ้นมันก็ยอมสิโรราบอยู่แล้วน่า

    ๏ พระองค์ผู้ทรงอวตาร  ตราบจบจักรพาล
       โผอนมกุฎเกรงรณ

    ๏ ฤาควรกวนราชกังวล  มละด้าวมาดล
       ดำแหน่งทุเรศรัถยา 

    2. เพราะว่า พิธีอัศวเมธ เป็นพิธีที่เป็นที่นิยม ป็อปปูล่าร์มาช้านาน

    ๏ เป็นที่นิยมแก่ปวง  เทพทั่วแมนสรวง
       สรรเสริญประเสริฐสาธร

    ระวัง :
    อินทรรอนพฤตาสูร  เอิบอิศร์อันพูน  บำเพ็ญตบะบารมี
    พระผลาญมารมอดชีวี วชิรปาณี คะนึงในโทษอันทำ

    อวยอัศวเมธพลีกรรม เกลื่อนบาปบ่มบำ-  รุงบุญระบอบบำบวง <=== อันนี้หมายถึง ที่มาและประวัติของพิธีอัศวเมธ เป็นการเล่าว่า ทำไมพระอินทร์(ผู้เริ่มทำพิธีอัศวเมธองค์แรก)ตัดสินใจทำพิธีอัศวเมธ แล้วก็มีคนทำตามต่อๆ มา ไม่ใช่ เหตุผลที่พระรามจะเลือกใช้ (เพราะพระรามคงไม่เกี่ยวอะไรกับพระอินทร์โดยตรง)

    เคส3 : “ประวัติของพิธีอัศวเมธ คืออะไร”

    ตามข้อก่อนหน้าเลยค่ะ

    อินทรรอนพฤตาสูร  เอิบอิศร์อันพูน  บำเพ็ญตบะบารมี

    พระผลาญมารมอดชีวี วชิรปาณี คะนึงในโทษอันทำ

    อวยอัศวเมธพลีกรรม เกลื่อนบาปบ่มบำ-  รุงบุญระบอบบำบวง

       เรื่องมันเริ่มที่ว่า พระอินทร์ได้ไปปราบยักษ์ตนหนึ่งตายHa แต่ยักษ์ตนนั้นเป็นยักษ์ที่กำลังบำเพ็ญตบะบารมี พระอินทร์รู้สึกผิดบาปในใจเป็นอย่างมากที่กีดขวางทางสว่างของยักษ์ตนนั้น(เพราะถือว่าเป็นการฆ่านักบวช) ด้วยความร้อนใจ จึงเลือกทำพิธีอัศวเมธ (มีอีกชื่อว่า ปล่อยม้าอุปการ) แด่พระศิวะ (ที่ไม่เกี่ยวอะไรด้วยเลย) เพื่อความสบายใจ และพิธีนี้ก็ดันถูกใจพระศิวะพอดี พระศิวะเลยช่วยยืนยันอีกหนึ่งเสียงว่า บาปของพระอินทร์ได้ถูกชำระล้างด้วยพิธีอัศวเมธแล้ว
    (เมื่อทำพิธีอัศวเมธแล้ว ทำให้บาปกระเด็นไป 4 แห่ง คือ 1.น้ำป่า ทำให้น้ำท่วม 2.ดินเค็ม ทำให้ปลูกอะไรไม่ได้ 3.ผู้หญิงที่มีกำหนัดครบ3วัน กลายเป็นประจำเดือน 4.ผู้ที่ฆ่าพราหมณ์อันหาผิดมิได้)

    นี่คือคำพูดสรุปเรื่องราวเหตุการณ์ทั้งหมดในตำนาน พิธีอัศวเมธ เขียนโดยเพื่อนอิชั้น

    พระอินทร์ทำบาป ไปฆ่ายักษ์บำเพ็ญตบะ

    พระศิวะ : เรื่องของมึง กุไม่เกี่ยว

    //พระอินทร์ทำพิธีอัศวเมธ

    พระศิวะ : เหยแก มันเริ่ดมาก ชั้นจะช่วยยกบาปให้แก

    ประมาณนี้

    เกร็ดความรู้ รู้ก็ดี ไม่รู้ก็ได้ : มีความเชื่อว่า ถ้าทำพิธีอัศวเมธครบ 100 ครั้ง เจ้าภาพของงานจะได้กลายเป็นพระอินทร์ จึงจะเกิดปรากฏการณ์พระอินทร์มาขัดขวางพิธีอยู่บ่อยๆ //แย่งชิงตำแหน่งกันมันส์เลยทีเดียว

    เคส4 : “ตรงนี้ โวหารอะไรเหรอจ๊ะ?”

         บรรยายโวหาร : เจอเกือบทุกบทเท่าที่มีค่ะ ให้สังเกตตรงที่มั่นใจแน่ๆ ว่า ไม่ใช่บทเจรจาของตัวละคร และไม่ใช่บทลงดีเทลอลังการงานดาวล้านดวง ทำให้เนื้อเรื่องดำเนิน / ผู้อ่านเก๊ตว่าเรื่องถึงตรงไหนแล้ว ณ จุดจุดนั้น ก็นับเป็นบรรยาย เช่น

    ๏ อิลาสำเริงสู่          พุธคู่บคืนคาม
    ก็ทรงพระครรภ์ตาม  ปฏิพัทธ์กำหนัดเชิง

    ๏ ณ คราวพระเป็นหญิง  ธ ก็ยิ่งละเลิงเหลิง
    ตปาเถกิงเริง  ขณะเป็นบุรุษรม

    ฯลฯ

         พรรณนาโวหาร : อีบทไหนที่เน้นเขียนให้เห็นภาพสุดอลังการงานสร้างดาวล้านดวง แต่เนื้อเรื่องไม่ขยับ บทนั้นแหละพรรณนา

    เรืองรองพระมนทิรพิจิตร                 กลพิศพิมานบน

     ก่องแก้วและกาญจนระคน               รุจิเรขอลงกรณ์

    ฯลฯ

         เทศนาโวหาร : เท่าที่ปรากฏในเรื่อง จะเป็นฉากที่พระดาบสปลอบท้าวอิลราชเรื่องที่เสียลูกน้องไป และก็ตรงกับหลัก ไตรลักษณ์ ว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่มีสิ่งใดแน่นอน คงอยู่กับเราเสมอไป

    ๏ อันเกิดมาเป็นสภาพลัก-  ษณะมนุชก็จัก
    ตายแหล่ะแน่นัก  นะราชา ฯ

         สาธกโวหาร : บทที่การยกตัวอย่างประกอบ จะปรากฏตั้งแต่ตอนที่ยังอยู่ใน Part รามเกียรติ์ของช่วงแรก ที่พระลักษมณ์ยกเรื่องพิธีอัศวเมธมา และเริ่มเล่าประวัติของพิธีนี้

    ๏ เผยเผชิญพิชิตเชษฐ์ชักนำ  น้อมเกล้ากล่าวคำ
    คดีดำนานในบูรพ์

    อินทรรอนพฤตาสูร  เอิบอิศร์อันพูน 
    บำเพ็ญตบะบารมี

    พระผลาญมารมอดชีวี วชิรปาณี
    คะนึงในโทษอันทำ

    อวยอัศวเมธพลีกรรม เกลื่อนบาปบ่มบำ- 
    รุงบุญระบอบบำบวง

    เคส5 : “ตรงนี้ มีความงามวรรณศิลป์ / โวหารภาพพจน์อย่างไรเหรอจ๊ะ?”
    เช่น ตรงไหนมีอุปมา ตรงไหนมีอุปมานิทัศน์ ฯลฯ

    อุปมา
    อันที่จะเป็นอุปมาของจริง ข้อความหลังคีย์เวิร์ดต้องเป็นสิ่งที่ไม่ได้อยู่โคจรตรงนั้น แบบ ภาพครุฑดูมีพลังราวกับจะกระโจนออกมาได้ สมัยนั้นยังไม่มี 4D Max ค่ะ อีคำที่อยู่หลังคำว่า ราวกับ แมร่งไม่ใช่เรื่องจริง ณ จุดนั้น ถึงจะเป็นอุปมาได้

    คีย์เวิร์ด

    อุปมา

    อุปมา หลอก(ระวังไว้)

    เปรียบ

    ๏ ปราการก็ปรากฎสุเม-  รุสิเนรุเปรียบสม
    นางจรัลและโดรณสดม-  ภอธึกทะงันเงย

    ๏ อวยพรพิพัฒน์พ้น  ภยเวทวราคม
    นอกนี้่ฤเปรียบสม  ศิขรินทรงามงอน

    (มันแปลว่า ไม่สามารถยกภูเขาลูกใดมาเปรียบเทียบประชันความงามกับภูเขาลูกนี้ได้ เปรียบเทียบครั้งนี้จึงแปลว่า compare ไม่ใช่ as if )

    เพียง

    เพียงนารายณ์อวตารบำราญอริบำราบ
    เถลิงรัชทวีลาภ  วิไล (เปรียบเทียบว่า ท่านรัชกาลที่6 เป็นดั่งพระนารายณ์อวตารลงมา)

    ๏ ภาพครุฑก็ยุดอุรคแผ่  กรเพียงจะผาดผยอง
    เทพนมขนัดกษณะมอง  มรุเทพทิพาลัย

    ๏ พรรณพฤกษทรงผล
      ตะละต้นจะอ่อนเอียง
    พวงย้อยระย้า
    เพียง  จะเผด็จสะดวกดาย
    (ต้นไม้โค้งเป็นซุ้มสวยงาม ไม่รกชัฏ ราวกับรู้ตัวว่าจะต้องเป็นทางผ่านให้กับกษัตริย์)

    ๏ แซ่ซ้องผสานสุน-
      ทรศัพทจับใจ
    เพียงพาทยพิณไพ-  เราะประโลมฤดีดี



    ๏ ริมทางโรงทานคั่นเคียง  อะคร้าวกล่าวเพียง
    คือกัลปพฤกษ์นึกสม

    (เพียงในที่นี้แปลว่า ขอกล่าวเพียงแค่ว่า และ
    สังเกตคำว่า คือ ในที่นี้คือ is am are มีต้นกัลปพฤกษ์ตั้งอยู่ตรงนั้นจริงๆ ไม่ได้เปรียบเทียบว่า ราวกับมีต้นไม้ตั้งไว้ ริมทางตามวรรณคดีมันต้องมีต้นไม้อยู่แล้ววววว)

    ดุจ / ประดุจ

    ๏ พลม้าพลาหกผยอง  ดุจล่องจะลอยสวรรค์
    พลรถก็ล้วนรถสุพรรณ  ระแทะธุชปลิวปลาย

    ๏ ไม้ไล่สล้างชม
      ขณะลมกระพือวัง-
    เวงเสียงก็เสียดดัง 
    ดุจซอผสานสาย

    ๏ ไม้ใบตระกาลบัตร
      ดุจจัดประจงสรร
    สอดสีสลับกัน  ระดะรุกขรายเรียง

    ๏ อิลเหลือจะตระหนก
      มนะหนักบมิเบา
    กระอุแด
    ดุจเอา  สุรอัคนิลน ฯ

    ๏ สูข้าประสาทสู
      จรสู่พนาระหง
    เกษมแสนณแดนดง  ดุจในพระนันทวัน
    (ป่านี้อลังการ ราวกับระนันทวันที่เป็นสวนในสวรรค์)

    ๏ แซ่ศัพท์ผสานดุริยสัง-
      คิตพาทยเภรี
    สรบสิ่งประดาประดุจศรี  สุรโลกชะลอลง
    (กิตติศัพท์ขจรไกล ยิ่งใหญ่มากบารมี ราวกับจะทำให้โลกทั้งโลกนี้โลกสวรรค์หมุนช้าลงได้)

    ๏ ลาพุธเข้า  เนาพระนคร
    คืนดุจก่อน  กาลนิยม


    ๏ ขณะคืนพระองค์จริง  กิจหญิงบแม่นเหมือน
    มนโมหะฟั่นเฟือน  ดุจใช่หทัยเดียว
    (ดุจ
    = เป็นเหมือนไม่ใช่ใจเดียวกัน เป็นเรื่องจริงตามที่พระอุมาว่าเอาไว้)

    ๏ กลายกลับสลับกัน  ก็นิรันตร์ระหว่างมา
    ประดุจพระวาจา  พระอุมาประสาทสรรพ์ ฯ
    (ประดุจรอบนี้ แปลว่า เป็นไปดั่งที่พระอุมาว่าเอาไว้)


     

    ปาน
    / ปน
    / ปปาน

    ๏ แง่งเงื้อมชะง่อนงาม  ก็วะวามวิไลปูน
    ปนรัตนไพฑูร-  ยพิพิธประภากร
    (งามราวกับเพชรนิลจินดา)

    ปานก้อนพระไกรลาส  วรนาถมเหศร
    ส้องเสพสถาพร  สิริสุนทรารมณ์
    (ก้อนเมฆที่มีแสงลอดผ่านนั้น ดูดีมีออร่า ราวกับเป็นเขาไกรลาส)

    ๏ ชั้นฉัตรสกาวทุกุลพัสตร์
      รุจิรัตน์อลังการ
    เขนยขนนระคนบุษ
    ปปาน  รสทิพย์ประเทืองใจ

    ๏ แผ่พระกฤษฎาภินิหาร  ใดราชฤาปาน
    ฤาปูนพระเดชนฤบดี (เป็นคำ adj. ขยายความมากกว่า)

    ๏ เราชะล่าละลาบละล้วงก็
    ปาน
    ฉะนี้แหละจึงประจักษ์วิการ  วิกลเป็น
    (ปาน ในที่นี้ = ป่านฉะนี้)



    ๏ ผิวถ้วนกำหนดหมาย  วรกายก็แปลงปาน
    ปฏิรูปบุราณกาล  ประลุเดือนก็เคลื่อนคลาย
    (ปาน ในที่นี้ = เป็น is am are)

    เล่ห์ / ประเล่ห์

    ๏ รักษ์ราษฎร์ก็เล่หปิยบุตร  นรสุดประสาทสม
    ซ้องศัพท์เกริกกิติอุดม  วรเดชกระเดื่องแดน

    ๏ วุ้งเวิ้งชะวากผา  ฆนแผ่นศิลาสลอน

    ช่องชานชโลทร  ชลเผ่นกระเซ็นสาย
    ปรอยปรอยประเล่ห์เห-  มอุทกพะพร่างพรายซาบซ่านสราญกาย  กระอุร้อนก็ผ่อนซา

    (หยาดน้ำกระเซ็นระยิบระยับ ราวกับ เป็นประกายที่สะท้อนจากทองคำ)

     

    ราว

    ๏ คณะสาวสะคราญผู้  บริพารก็ห้อมมา
    พิศราวกะดารา  กรล้อมบุหลันฉาย

    เช่น

    ๏ จงกินรีเป็น  พิศเช่นสุรางค์สวรรค์
    เหมห้องคุหาสน์บรร-  พตลึงสราญภิรมย์

    ดัง


    ไม่มี

    ๏ เงินทองของเสวยเนยนม  ทักษิณาปรารมภ์
    ก็ลุดังเจตน์จงปอง

    ๏ ประพันธ์ฉันทพากย์พรรณนา
      อิลราชอิลา
    ก็ลุดังจิตจงเพียร
    ดัง ในที่นี้แปลว่า ตาม
    = เขียนได้เสร็จตามที่ตั้งใจไว้ ไม่ใช่ เขียนเสร็จเปรียบดั่งที่ตั้งใจไว้ (???)

    พ่าง

    ๏ ล่องล่องมาลุตแล่นพาน  พ่างแข่งคัคนานต์
    ก็คือจะคู่ควรคง

     

     

    อุปลักษณ์ (เปรียบเป็น เปรียบคือ)

    อุปลักษณ์จริง

    อุปลักษณ์ หลอก
    สังเกตได้จาก คำที่ตามหลังคำว่า เป็น คือ
    มีค่าเป็นสถานะจริงๆ ที่เป็นอยู่  ไม่ได้ยกมาเปรียบ

    คือป่าผิไร้คณะพยัคฆ์  จะพำนักอะไรครอง
    นาวาจะคลาชล ณ คลอง  ขณะแล้งจะลอยไฉน

    ๏ ริมทางโรงทานคั่นเคียง  อะคร้าวกล่าวเพียง 
    คือกัลปพฤกษ์นึกสม

    ๏ พระคุณพระคือสายชล  ชื่นแช่มชมผล
    พระชุบพระย้อมย่อมเย็น
     

    ๏ ปาง ราชปรารภกิจใน  พลีกรรม์อันไกร
    คือราชสูโยดม

    ๏ พลคชก็คือสุรคเชน-  ทรไอยราอินทร์
    ชำนนชำนาญชำนะอริน-  ทรล้วนชโลมมัน

    เป็นที่นิยมแก่ปวง  เทพทั่วแมนสรวง
    สรรเสริญประเสริฐสาธร

    ๏ บมิเป็นอิลราช  วิปลาสอิลา
    คณะราชบริพา-  รประดาจรดล

    ๏ ขณะเป็นกษัตรีย์  กิจที่กระทำปวง
    บุรกาลก็ดาลดวง  หฤทัยลืมเลือน

    ๏ จงกินรีเป็น  พิศเช่นสุรางค์สวรรค์
    เหมห้องคุหาสน์บรร-  พตลึงสราญภิรมย์

    ๏ อันเกิดมาเป็นสภาพลัก-  ษณะมนุชก็จัก
    ตายแหล่ะแน่นัก  นะราชา ฯ

    ๏ ณ คราวพระเป็นหญิง  ธ ก็ยิ่งละเลิงเหลิง
    ตปาเถกิงเริง  ขณะเป็นบุรุษรม

     

    บุคคลวัต / บุคลาธิษฐาน
    หอยุทธ์ก็เย้ยริปุประยุทธ์  อริยลณพาเหียร
    เหือดเหี้ยมกำแหงหิริระเมียร  มลฮึกอหังการ
    (หอปราการไปเย้ยฝ่ายศัตรูว่างั้นเหอะ
    =_=)

    ๏ แม่
    นกก็ปกโป-  ดกป้อนผลาหาร
    ปีกป้องประคอง
    ปาน  จะประเล้าประโลมเป็น
    (นกทำกิริยา เล้าโลม แบบคนได้ด้วยนะคะ)
    //ความจริงอันนี้ไม่แน่ใจว่าเป็นอุปมาหรือไม่ แต่ตามหลักการออกข้อสอบ บทนี้จะโดดเด่นด้านบุคคลวัตมากกว่า ดังนั้นไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นอุปมาหรือไม่นะจ๊ะ

    สัญลักษณ์
    ผาณิตผิชิดมด  ฤจะอดบอาจจะมี
    แม่เหล็กฤเหล็กดี  อยยั่วก็พัวก็พัน

    อธิพจน์
    ๏ เริงร้องคะนองนิกรพล  ผิวเพิกไผทเอียง
    เอิกอึงอุฆษสุรก็เพียง  ปฐพีถล่มลาญ
    ๏ เพียงผลาญแผ่นพื้นภพพัง  นฤโฆษอันดัง
    ในแดนในด้าวดงดอน
    ๏ พื้นภพอำเภอภพ  ก็ประสบเสมอสวรรค์
    อยู่ชั่วนิรันดร์กัลป์  อวสานประมาณประเมิน


    อุปมานิทัศน์ (การเปรียบเทียบแบบยาววว)

    ๏ กรรมร้อนบห่อนกรุ่น  เพราะพิรุณประโปรยประปราย
    กองเพลิงเถกิงกราย  ติณแห้งบแหนงบหนี

    ๏ ผาณิตผิชิดมด  ฤจะอดบอาจจะมี
    แม่เหล็กฤเหล็กดี  อยยั่วก็พัวก็พัน

    ๏ พื้นภพอำเภอภพ  ก็ประสบเสมอสวรรค์
    อยู่ชั่วนิรันดร์กัลป์  อวสานประมาณประเมิน


    ปฏิพากย์ (คำที่มีความหมายตรงข้ามมาอยู่ด้วยกัน)
    ๏ จะทุกข์ฤสุขดัง  ดนุยังผดุงผะดา
    จอมนาฏสนมผา-  สุกใจไฉนมี

    ๏ ทุกเหล่าจะเร่าร้อน  อุระข้อนและโศกี
    มิรู้จะร้ายดี  จรล่านิรารมย์

    ๏ จำกุประกอบเกื้อ  อิลเอื้อและอุดหนุน
    ละบาประบายบุญ  บุรรูปดำรงคง

    เคส6 : “ตรงนี้ รสวรรณคดีอะไรเหรอจ๊ะ”

    ถามแบบนี้แมร่งอย่างกะจะซื้อป๊อปคอร์นหน้าโรงหนัง

    เสาวรจนี (ชมความงาม) จะมีชมความงาม 3 รอบ ได้แก่

    1.ชมปราสาท (ยกมาแค่ตัวอย่างนะ)

    เรืองรองพระมนทิรพิจิตร                 กลพิศพิมานบน

     ก่องแก้วและกาญจนระคน               รุจิเรขอลงกรณ์

    ช่อฟ้าก็เฟื้อยกลจะฟัด                      ดลฟากทิฆัมพร

    บราลีพิไลพิศบวร                               นถศูลสล้างลอย

    2. ชมธรรมชาติ                           

    สลาบโรยก็หล่นลอย                            กระแสสร้อยสลายพวง

    สะพราดพันธุปลาปวง                          ประเนืองน่านเฉนียนนอง

    ฉวัดว่ายเฉวียนวน                                กระโดดพ่นละอองฟอง

    ระเมียรมัจฉะคลอครอง                          บคลาดคู่คระไลลอย 

    3. ชมความงามนางอิลา

    ๏ อิลาเลอพิลาสลักษณ์  พิมลพักตรโสภางค์

    จำเริญจิตบจืดจาง         ประจักษ์เนตรประเจิดนวล

    ๏ เสน่ห์หนักสลักจิต      กำเริบฤทธิเรรวน

    พระพรหมจรรยรัญจวน  จำนงแนบถนอมโฉม

    ๏ ตระบัดจรประจากห้วง  ละหานล่วงประลองโลม

    สมรแม่เสมือนโสม          สำรวยร่างสำอางค์องค์

     

    นารีปราโมทย์

    ไม่มีตรงๆคือ พระดาบสเขาเน้นการกระทำมากกว่าคำพูด….มีแต่บทอัศจรรย์ไปเลย….

    เพราะ นารีปราโมทย์ มีความหมายว่า บทโอ้โล้ม บทอัศจรรย์ก็อาจจะนับเป็นหนึ่งในบทเกี้ยวนางได้เช่นกัน

    เอาเป็นว่า ถ้าถามหาบทนารีปราโมทย์จริงๆ ก็เอาบทอัศจรรย์ไปประเคนเลยละกันค่ะ


    พิโรธวาทัง

    ฉากพระอิศวรกริ้วเมื่อเห็นนางอิลามาสารภาพว่า เมื่อกี้ฉากที่ท่านสวีทวี้ดวิ้วกัน เห็นหมดเลย

    ๏ องค์อิลาก็คลาประณตพระเพ็ญ
    สวัสดิ์ประสบพระเนตรพระเห็น  ก็
    กริ้วกราด

    เหม่อิลาชะล่าไฉนประพาส
    บ กลัว บ เกรงกระทำอุอาจ  อหังการ์

    เราแหละสาปและสรรฉะนี้แหละสา
    กะใจละเจ้าแน่ะนางอิลา  จะทำไฉน ฯ

     

    สัลลาปังคพิไสย

    ฉากที่พระดาบสคิดไว้ว่า แย่ละ ถ้าพูดตามจริงว่า เอ็งน่ะ โดนสาปให้สลับเพศอยู่นะ ส่วนบริวารเอ็งก็กลายเป็นกินรีไปมีปั๋วกันหมดแล้ว ท้าวอิลราชคงจะเศร้ามาก ไม่บอกตามจริงดีกว่า
    คงโศกเหลือแสนพิลาปครวญ  ทุมนสอุระหวน
    เราจะอำยวน  ยุบลลวง

    ฉากที่ท้าวอิลราชได้ฟัง(เรื่องที่พระดาบสเมคขึ้น)ว่า ทหารของตนโดนหินถล่มทับตายเรียบไปแล้ว
    เสียดายทหารหาญ  รณชาญอมาตย์มวล
    และเสวกาควร  ฤจะมามลายชนม์

    ทุกเหล่าจะเร่าร้อน  อุระข้อนและโศกี
    มิรู้จะร้ายดี  จรล่านิรารมย์

    มิวายสบายบาน  สุขศานต์เสน่ห์สนม
    พรั่งพร้อมประนมคม  คณะนาฏบำเรอเสนอ

    ๏ แรมเวียงนิเวศน์เนา  พนเขาขนัดเฌอ
    เคราะห์กรรมกระทำเออ  ก็อเนจอนาถใจ

    ฉากที่ชาวเมืองเริ่มหวีดร้องว่า เจ้าเมืองกูหายยยย โฮฮฮฮ
    ๏ ปางราชนิราศวรนิเวศน์  ทิววาระนานครัน

    ชาวกรุงละลุงจิตรำพัน  พจน์ถึงคะนึงครวญ

    จมนาฏสนมนิทรละล้า  ก็พะว้าพะวังหวน
    หวังเห็นพระเพ็ญพิภพรวน  อุระร้าวผะผ่าวใจ

    ๏ ต่างหวังและตั้งกมลคอย  ก็ละห้อยคระโหยหลวง
    สร้อยเศร้าและเหงาหทยปวง  นรปราศธิราชครอง

    ฉากที่ท้าวอิลราช(ในสภาพยังติดคำสาป) เห็นบรรดาม้าที่จะต้องมาเป็นเครื่องสังเวยเพื่อทำพิธี ก็รู้สึกขอโทษ
    ๏ องค์อิลราชา  ทศนาดุรงค์เรือง
    คร่าวในหทัยเคือง 
    มนครุ่นและขุ่นตรอม

     

    เคส7 : “บทบูชานี้ คุณสมบัติแบบนี้ เป็นใครกันแน่”

    ยิ่งกว่าแฟนพันธุ์แท้ค่ะ

    ในเรื่องอิลราชคำฉันท์ จะมีบทบูชา สรรเสริญ สดุดีกลอรี่ออฟก็อดอยู่หลายจุดมาก ไม่ว่าจะบทนำ บทเปิดตัว ช่วงทำพิธีอัศวเมธ และบทส่งท้ายของเรื่อง และด้วยภาษาอันแสนอลังการ ถ้าลองเอาบทบูชาทุกจุดมาคละรวมกัน คุณอาจจะเดาไม่ออกเลยว่า นี่บูชาใครอยู่วะ ดังนั้น เรามาดูกันเลยดีกว่าว่า ในแต่ละบทบูชา มีสิทธิ์เป็นใครบ้าง

    ลำดับ

    พระนาม

    ตัวอย่างกลอนบูชา

    ตำแหน่งที่ปรากฏ

    1

    พระรัตนตรัย

    ๏ ข้าขอเทิดทศนัขประณามคุณพระศรี

        สรรเพชญพระผู้มี  พระภาค

    ๏ อีกธรรมาภิสมัยพระไตรปิฏกวากย์

        ทรงคุณคะนึงมาก  ประมาณ

    ๏ นบสงฆ์สาวกพุทธ์พิสุทธิ์อริยญาณ

         นาบุญญบุญบาน  บโรย

    บทเปิดเรื่อง

    2

    พระบาทสมเด็จ
    พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่
    6)

    ๏ อีกองค์อาทิกวีพิรียุตมโดย

        ดำรงดำรับโปรย  ประพันธ์

    ๏ ผู้เริ่มรังพจมานตระการกมลกรรณ

       ก้มกราบพระคุณขันธ์  คเณศ

    ๏ สรวมชีพอัญชลินาถพระบาทนฤเบศ

       มงกุฎกษัตริย์เกษตร  สยาม

    ที่หกรัชสมัยก็ไกรกิตติพระนาม

       ทรงคุณคามภี-  รภาพ

    เพียงนารายณ์อวตารบำราญอริบำราบ

       เถลิงรัชทวีลาภ  วิไล (ระวังอันนี้ไว้)

    ๏ เปรื่องปรีชาวิทยุตมาภรณ์ไท

        ธารสัตย์กระพัดใน  กมล

    ๏ บำรุงรัฐสุขวัฒนานิกรชน

       ทั่วรัฐมณฑล  บำเทิง

    ๏ สรวมเดชไตรรตนาวรากรเถกิง

        เกินโกฏิประกายเพลิง  พิโรจน์

    ๏ รังรักษ์ไทอธิราชพระบาทนฤโทษ

        เสพสิ่งประเสริฐโสต-  ถิผล

    ๏ จุ่งเจริญด้วยสุขนันท์พระพรรณก็ถกล

       ทีฆายุเพิ่มพล  พิบูล

    ๏ ข้าบาทรังรจนานิทานอิลทูล

        แทบบาทบดินทร์สูร  สราญฯฯ

     

    ๏ ข้าบาทบพิตรมหิศร  สัตยาสาทร

       ภักดีต่อใต้บทมาลย์

    ๏ ใช่ปราชญ์อาจปรุงปรับสาร  เฉลิมเกียรติ์ภูบาล

       ธิเบศวร์กษัตริย์ฉัตรชัย

    ๏ พระมงกุฏเกล้าเกศไทย  ที่หกรัชสมัย

        มหิทธิเดโชผล

    ๏ พระคุณพระคือสายชล  ชื่นแช่มชมผล

        พระชุบพระย้อมย่อมเย็น

    ๏ พระการุณภาพบำเพ็ญ  แผ่หล้าเล็งเห็น

        ประจักษ์แก่จิตนิจกาล

    ๏ เดชะสุจริตไตรทวาร  จุ่งพลันบันดาล

        ได้เสพแต่สรรพ์สวัสดี ฯฯ

    บทเปิดเรื่อง
    กับ
    บทส่งท้าย

    3

    พระราม

    ๏ แถลงปางรามจันทราวตาร  เสร็จมล้างเหล่าพาล

       พินาศด้วยพระบารมี

    ๏ มลายเข็ญเย็นทั่วธาตรี  ถวัลยรัชรมย์ชัยศรี

       อยุูธเยศเกศกรุง

    ๏ สมภาร พระเอื้ออำรุง  สมโภชผดุง

       พระเดชกระเดื่องแดนไตร

    ๏ ปาง ราชปรารภกิจใน  พลีกรรม์อันไกร

       คือราชสูโยดม

    โดยเบื้องบรมราชนิยม  ขัตติยสมาคม

       ร้อยเอ็ดมาเอื้อเอาภาร

    แผ่พระกฤษฎาภินิหาร  ใดราชฤาปาน

       ฤาปูนพระเดชนฤบดี

     

    พระองค์ผู้ทรงอวตาร  ตราบจบจักรพาล

       โผอนมกุฎเกรงรณ

    ๏ ฤาควรกวนราชกังวล  มละด้าวมาดล

       ดำแหน่งทุเรศรัถยา 

    ช่วงบทเปิดของเรื่อง

    4

    ท้าวอิลราช

    ๏ ยังมีบรมนฤปนาถ  อิลราชสมัญขาน

       ทรงพลหิรัฐสุรฐาน  สุประเทศสถาพร

    ๏ โอรสพระกรรทมประชา  ปติพรหมบุตรขจร

       เจิดคุณธรรมมิกบวร       ทศพิธเพียบเพ็ญ

    เมตตาประชากรสโม-  สรสุขสลายเข็ญ

       ทั่วรัฐมณฑลก็เย็น      สิรราษฎร์สเริงรมย์

    รักษ์ราษฎร์ก็เล่หปิยบุตร  นรสุดประสาทสม

       ซ้องศัพท์เกริกกิติอุดม      วรเดชกระเดื่องแดน

    ปราบได้ณไกวลประเทศ  ทศทิศก็เกรงแกลน

       กลอกเกล้าและหนาวภยมิแคลน  วรฤทธิเรืองรณ

    ช่วงแนะนำเมือง

     

    เคส8 : เน้นคำสรรพนาม “กลอนบทนี้ หมายถึง ตัวละครตัวใด”

    ไม่ต้องมานั่งบูชาละ ถ้ามาในรูปแบบนี้จริงๆ รอบนี้จะเน้นคำสรรพนามล้วนๆ มาดูกันดีกว่าว่าใครเป็นใคร

    ชื่อตัวละคร

    คำสรรพนามแทนตัว

    พระอิศวร หรือ พระศิวะ

    อิศเรศ

    พระศุลี

    ฤๅสาย (ในหนังสือแปลให้ว่า กษัตริย์
    ใช่แล้วล่ะ กษัตริย์บนสวรรค์ไงล่ะคุณ)

    บรเมศวร์



    วรเทพทวิองค์


    ชไมมเหศวร์
    (ในอีทิสัง)

     

    พระอุมาเทวี

    ชาย
    อร

    พระนารายณ์

    หริรักษ์

    พระศรีสังขกร

    พระอินทร์

    วชิรปาณี

    ท้าวอิลราช

    โพธิสุภาร
    ท้าว ธ
    โอรส (ในบท อาสูรโอรสแสน  นิราศแคว้นอนาถครัน)
     จอมจุฑาธุชธำรง

    นางอิลา

    กษัตรีย์
    อนุช

    พระมหามุนีกรรทมพรหมบุตร

    พระบิดา

    สสพินทุ์
    (ลูกชายคนโต ตั้งแต่ก่อนออกป่า)

    ปิ่นพระกุมาร
    เอกปิยบุตร

    ปุรุรพ
    (ลูกชายคนเล็ก
    ที่ได้จากพระพุธดาบส
    )

    พระชายชม
    พระหน่อนาถ
    หน่อพุธ
    พระองค์เอก อุรส

    พระราม

    รามจันทราวตาร
    พระองค์ผู้ทรงอวตาร
    หริรักษ์จักรี

    ยักษ์

    พาล

     

    เคสอื่นๆ ที่แนะนำให้อ่านจากในหนังสือเอง (หนังสือสรุปไว้ค่อนข้างดีอยู่แล้ว)

    คำศัพท์ ที่ต้องแปลไทยเป็นไทยอีกที โดยเฉพาะคำที่แปลว่า ช้าง ม้า (เห็นว่าน่าจะออกนะ)

    เช่น 

    คำไวพจน์ ช้าง
    • หัสดี
    • กุญชร
    • คช
    • กรี
    • ดำริ
    • คชินทร์
    • คชาธาร
    • หัตถี
    • คเชนทร์
    • หัสดินทร์
    • กรินทร์
    • ไอยรา
    • สาร
    • วารณ
    • คชา

     

    คำไวพจน์ ม้า
    • พาชี
    • สินธพ
    • อาชาไนย
    • ไหย

     

    • อัศว
    • แสะ
    • ดุรงค์
    • มโนมัย
    • อาชา
    • อัศวะ
     
       
     

    ทฤษฎี ฉันทลักษณ์แห่งฉันท์ 17 แบบ (มีข่าวมาว่ามีโอกาสออกสูง ท่องสัมผัส พยางค์ ครุลหุมาให้ครบละกันนะ แต่ถ้าอันนี้ออกคงจะหวีดร้องกันทั่วบ้านทั่วเมืองกันเลยทีเดียว)

    ๏ ความเหมาะสมของฉันท์ กับอารมณ์ในฉากนั้น (เช่น วสันตดิลกฉันท์ ใช้ชมธรรมชาติ)
    หรือถ้าอยากจะจำว่า กลอนบทนี้ แปลออกว่ามาถึงช็อตนี้ของเรื่อง มันจะใช้ฉันท์อะไร(วะ)มีสูตรจำที่อิชั้นคิดขึ้น(แบบสุกเอาเผากิน)อยู่ค่ะ ซึ่งด้วยความหยาบโลนของสูตรจึงขอแปะเป็นลิ้งค์แทนนะจ๊ะ 

    สูตรจำหน้า 1   :    สูตรจำหน้า 2   :    สูตรจำหน้า 3

     

    ขอให้ทุกท่านรอดพ้นจากวรรณคดีสุดอะเมซิ่ง นามว่า อิลราชคำฉันท์ ไปด้วยกันนะคะ

    ปล
    .สรุปนี้จะออกมาไม่ได้เลยถ้าขาด ปั๊ม ละก็ เบนนี่ ที่ช่วยให้ข้อมูล + ตรวจสอบ ขอบใจแกสองคนมากๆ =/\=


    ขอขอบคุณ

    เพื่อนๆ TU76 ที่ช่วยตรวจสอบกัน

    หนังสือประกอบการเรียน วิชา วรรคดีมรดก เทอม2

    http://soi-yuedee.blogspot.com/2013/02/blog-post_6342.html

    http://topicstock.pantip.com/writer/topicstock/W2188995/W2188995.html

    https://sites.google.com/site/khruphrphili/

    http://www.tlcthai.com/education/knowledge-online/15903.html

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×