ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #99 : พระยาศรีสหเทพ

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 609
      0
      10 เม.ย. 53

    เมื่อเอ่ยถึงสี่กั๊กพระยาศรี หรือบางทีเรียกกันสั้นๆ ว่าสี่กั๊ก คนกรุงเทพฯส่วนมากแล้วรู้จักกันดี และคนส่วนมากอีกเหมือนกัน โดยเฉพาะคนที่มีอายุประมาณ ๖๐ ขึ้นไป หรือถึงแม้คนหนุ่มสาวรุ่นหลังๆ ก็คงได้อ่านทราบจากหนังสือเล่าเรื่องเก่าๆ มาบ้างว่า อันชื่อสี่แยกที่เรียกกันว่า สี่กั๊กพระยาศรีนี้ มาจากราชทินนามของพระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) ขุนคลังแก้วในรัชกาลที่ ๓ เนื่องจากเคหสถานของท่านในสมัยรัชกาลที่ ๓ ตั้งอยู่ตรงนั้น เมื่อสร้างถนนในรัชกาลที่ ๔ มีถนนสองสายตัดกับตรงบริเวณบ้านของท่าน ชาวบ้านจึงเรียกสี่แยกนั้นว่า สี่กั๊กพระยาศรี
    สะพานมอญ ภาพถ่ายในสมัยรัชกาลที่ ๖ เปลี่ยนราวสะพานเป็นเหล็กดัด

                ทว่าคงมีผู้ทราบน้อยคนว่า พระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) เป็นหลานตาของเจ้าพระยารามจตุรงค์ หรือพระยารามัญวงษ์ (รามัญวงศ์) หรือบางคนในสมัยกรุงธนบุรีเรียกท่านว่า จักรีมอญ

                และทางฝ่ายบิดาของพระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) นั้น เป็นน้องชายร่วมบิดาทว่าต่างมารดากันกับเจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค) ต้นสกุล บุนนาค

                พระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) จึงมีเชื้อสายแขกเปอร์เซียทางบิดา และมีเชื้อสายมอญทางมารดา

                พระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) นี้เป็นที่โปรดปรานในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯอย่างยิ่ง ตรัสเรียกว่า เจ้าศรีทองเพ็งบ้าง เจ้าศรีบ้าง เป็นที่ทราบกันทั่วไป เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า รัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุลแก่ลูกหลานของพระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) จึงพระราชทานว่า ศรีเพ็ญโดยทรงประสมต้นราชทินนามกับท้ายชื่อจริงเข้าด้วยกัน

                เคยเล่าแล้วว่า ที่พระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) ได้ชื่อว่า ขุนคลังแก้วในรัชกาลที่ ๓ นั้น มิใช่ท่านเรียกเอง หรือชาวบ้านเรียก หากแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ ทรงยกย่อง ตามที่ปรากฏในพระบรมราชปุจฉา เมื่อครั้งพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวิลาส กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงพระอาลัยโทมนัสมาก จึงทรงตั้งพระบรมราชปุจฉาในที่ประชุมพระสงฆ์ราชาคณะเถรานุเถระ ๖๐ รูป ว่าเพราะเหตุใด นางแก้วในรัชกาลของพระองค์จึงสิ้นพระชนม์ แต่พระชนม์ยังน้อยเพียงสามสิบกว่า รวมทั้ง ขุนคลังแก้วของพระองค์ ซึ่งเพิ่งสิ้นชีวิตไปก่อนหน้านี้ไม่นานนัก

                ในพระบรมราชปุจฉา ตอนหนึ่งว่า

                 โยมมีเบญจพละ ๕ ประการ คือ ๑. มีบ่อแก้ว ๒. มีช้างแก้ว ๓. มีนางแก้ว ๔. มีขุนพลแก้ว ๕. มีขุนคลังแก้ว

                ๑. ที่โยมว่ามีบ่อแก้วนั้นคืออ้ายภู่ (พระยาราชมนตรี ชื่อเดิมว่า ภู่เป็นข้าหลวงเดิมในรัชกาลที่ ๓ เป็นบิดาของ คุณพุ่ม บุษบาท่าเรือ และเป็นต้นสกุล ภมรมนตรี-จุลลดาฯ)

                ๒. ที่โยมว่ามีช้างแก้วนั้น คือ พระยาช้างเผือกของปู่และบิดาของโยมเอง

                ๓. ที่โยมว่ามีนางแก้วนั้น คือโยมมีพระราชธิดาพระองค์ ๑ ทรงพระนามว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวิลาศกรมหมื่นอัปษรสุดาเทพ เป็นพระราชปิยธิดาเสน่หาอเนกผลของพระราชบิดา

                ๔. ที่โยมว่ามี ขุนพลแก้ว นั้น คือ พี่บดินทรเดชา (เจ้าพระยาบดินทรเดชา นามเดิมสิงห์ ต้นสกุล สิงหเสนี-จุลลดาฯ)

                ๕. ที่โยมว่ามีขุนคลังแก้วนั้น คือเจ้าศรีทองเพ็ง

                บัดนี้นางแก้วกับขุนคลังแก้วมาล่วงลับดับเบญจขันธ์สังขารไปสู่ปรโลกแต่พระชนม์และอายุยังน้อย ยังบ่มิสมควรจะถึงซึ่งกาลกิริยาตายฉะนี้เล่าทั้งสองคน ยังเหลืออยู่แต่บ่อแก้วคือ ไอ้ภู่ กับขุนพลแก้วคือพี่บดินทรเท่านั้น เป็นที่เปล่าเปลี่ยวเศร้าใจของโยมยิ่งนักหนา หรือว่าโยมจะมีบุพพอกุศลกรรมอยู่บ้างประการใด ในบุเรชาติปางก่อนบ้างจึงได้มาตามทันในปัจจุบันชาตินี้...”

                ทรงรำพันพรรณา อ่านแล้วน่าสงสารท่านไม่น้อย

                จะเล่าถึงทางบิดาของพระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) ก่อน บิดาของท่านชื่อนายทองขวัญ บุตรชายของหลวงรักษ์เสนา (จำรัส) หลวงรักษ์เสนา (จำรัส) เป็นน้องชายต่างมารดากับเจ้าพระยามหาเสนา (นุนนาค)

                บิดาของเจ้าพระยามหาเสนา และหลวงรักษ์เสนาคือพระยาจ่าแสนยากร (เสนหรือเสพ) อธิบดีกรมมหาดไทยวังหน้า (กรมพระราชวังบวรฯ เจ้าฟ้าอุทุมพร) สมัยอยุธยาเรียกขานกันว่า จักรีวังหน้า

                นายทองขวัญ จึงเป็นหลานลุงของเจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค) และเป็นลูกผู้น้องของสมเด็จพระเจ้าพระยามหาประยุรวงศ์ กับสมเด็จเจ้าพระยามหาพิชัยญาติ

                สำหรับนายทองขวัญนั้น แรกเริ่มเดิมทีเป็นศิษย์ของสมเด็จพระบรมมหาชนกแต่ครั้งอยุธยา ครั้งกรุงแตกได้ติดตามสมเด็จพระปฐมฯ ไปยังเมืองพิษณุโลก และอยู่ปรนนิบัติจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ ได้ร่วมกับกรมหลวงจักรเจษฐา (พระนามเดิมว่าลา พระราชอนุชาต่างพระชนนีในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ) เชิญพระอัฐิมาถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ แต่ครั้งยังทรงรับราชการในกรุงธนบุรี

                จึงนับว่า นางทองขวัญเป็นข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ

                ออกจะแปลกอยู่ที่นายทองขวัญ ผู้ซึ่งเป็นข้าหลวงเดิม ได้รับใช้ใกล้ชิดพระองค์ในรัชกาลที่ ๑ แม้ไปรบทัพจับศึกเมืองเขมรก็ตามเสด็จไปด้วย ถึงกับโปรดตั้งให้เป็นว่าที่พระยาราชนิกุล (ขณะป่วยเป็นหลวงราชเสนาอยู่)

                ทว่ามาแต่งงานกับธิดาของเจ้าพระยารามจตุรงค์ (ต่อไปจะเรียกว่าพระยารามัญวงศ์ ตามปากชาวบ้าน) ซึ่งถูกประหารชีวิตเมื่อสิ้นพระราชวงศ์กรุงธนบุรี โดยขอตายไม่ยอมอยู่รับราชการ ดังที่ทราบๆ กันอยู่

                ธิดาของพระยารามัญวงศ์ผู้นี้ชื่อ ทองขอนชื่อคล้องจองกันกับทองขวัญผู้สามี สมรสกันในรัชกาลที่ ๑

                สมัยกรุงธนบุรีนั้น พวกมอญกลุ่มพระยารามัญวงศ์ และท้าวทรงกันดาล (ทองมอญ) ว่าอยู่ในคลองด้านหลังพระราชวังธนบุรี จึงเรียกกันว่าคลองมอญ เพราะเหตุดังนี้ ในสมัยรัชกาลที่ ๑ คงจะโปรดฯ ให้ย้ายข้ามฟากมาบ้าง จึงปรากฏว่าบ้านเดิมของท่านทองขอนเมื่อสมรสกับนายทองขวัญ อยู่ตรงที่เชิงสะพานมอญกว้างยาวถึงด้านละ ๓-๔ เส้น (สะพานมอญ สร้างในรัชกาลที่ ๓ โดยพระยาศรีสหเทพ บุตรชาย นายทองขวัญท่านทองขอน เกณฑ์พวกมอญพวกพ้องท่านทองขอนสร้าง จึงเรียกกันว่า สะพานมอญมาจนทุกวันนี้)

                ไหนๆ เล่าเรื่องท่านทองขอนธิดาของพระยารามัญวงศ์แล้ว ขอเล่าเรื่องตัวพระยารามัญวงศ์เพิ่มเติมอีกสักนิด

                ตามที่ปรากฏในหนังสือวงศ์ตระกูล ซึ่งพระยาสัจจาภิรมย์อุดมราชภักดี (สรวง ศรีเพ็ญ) เล่าเอาไว้นั้น ได้เล่าถึงเรื่องพระยารามัญวงศ์ ว่า

                 นายชำนาญ (ทองขวัญ) ได้แต่งงานกับทองขอนบุตรีพระยานครอินทร์ พระยานครอินทร์นี้ เมื่อครั้งแผ่นดินพระที่นั่งสุริยามรินทร์รัชกาลที่ ๓๓ แห่งพระนครศรีอยุธยา (พระเจ้าเอกทัศน์) ได้เป็นที่สมิงนระเดชะ ชื่อตัวว่า มะทอเปิ้น เป็นนายกองรามัญ กรมอาษาทะมาตย์ ต่อมาในรัชกาลพระเจ้าตากสิน ได้ตั้งให้เป็นพระยานครอินทร์ แล้วเลื่อนให้เป็นพระยาและเจ้าพระยารามจตุรงค์ หรือบางแห่งก็เรียกว่า พระยารามัญวงษ์ (จักรีมอญ ก็เรียกกัน) นามตัวของท่านว่าชื่อ มะโดด หรือมะซอน...มะซอนผู้นี้แหละที่เป็นทหารคู่พระทัยของพระเจ้าตากสิน และได้ตายพร้อมกันกับพระเจ้าตากสิน...”

                ชื่อตัวของเจ้าพระยารามจตุรงค์ หรือพระยารามัญวงศ์นี้ ดูจำกัดมาหลายชื่อ มะทอเปิ้นคงเป็นชื่อมอญ มะโดดหรือ มะซอนอาจเป็นชื่อใหม่หรืออาจจำกันมาผิดเพี้ยนไปบ้าง

                ในหนังสือราชินิกุล รัชกาลที่ ๓ พระนิพนธ์สมเด็จพระบรมราชปิตุลาบรมพงศาภิมุขฯ ว่า เจ้าพระยารามจตุรงค์ชื่อเดิมว่า ซวนแต่ครั้นในหนังสือราชินิกุล รัชกาลที่ ๕ พระนิพนธ์พระองค์เดียวกัน (อาจเรียงพิมพ์ผิด) เป็น ชวน

              ทว่าอย่างไรก็ตาม นามเดิมของท่านจะว่ากระไรก็แล้วแต่ ที่แน่นอนคือ ท่านเป็น เจ้าพระยารามจตุรงค์ ว่าที่จักรี จึงเรียกกันว่า จักรีมอญ อย่างแน่นอน ส่วนที่เรียกกันว่า พระยารามัญวงศ์ นั้น เรียกตามบรรดาศักดิ์ก่อนเป็นเจ้าพระยารามจตุรงค์ แล้วคงจะเลยติดปาก เพราะยังไม่คุ้นกับบรรดาศักดิ์ใหม่
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×