ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #8 : วังสวนกุหลาบ

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 2.35K
      5
      5 มิ.ย. 52

    พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ขณะนี้ประทับ ณ พระตำหนักสวนกุหลาบวังสวนกุหลาบ วังนี้อยู่ที่ไหน เคยได้ยินแต่โรงเรียนตำหนักสวนกุหลาบที่ว่าอยู่ในพระบรมมหาราชวัง-

    เป็นคำถามจากผู้อ่านผู้ใช้นามแฝงว่า คนขี้สงสัย

     วังสวนกุหลาบ อยู่ริมถนนใบพรหรือถนนอู่ทอง เป็นวังของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้า อัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ซึ่งเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๖ ใน ๗ พระองค์ที่ประสูติแต่ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ

    เดิมทีเดียว พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงกะจะสร้างวังพระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นี้ที่ริมแม่น้ำใต้ปากคลองตลาด แต่ครั้นเมื่อเสด็จกลับจากทรงศึกษาในยุโรปแล้ว กลับทรงมีพระราชประสงค์จะให้เสด็จประทับใกล้ชิดเพื่อทรงศึกษาราชการจากพระองค์เอง จึงโปรดให้สร้างพระตำหนักชั่วคราวในเขตวังสวนดุสิต (ในรัชกาลที่ ๕ โปรดให้เรียกเพียง วังสวนดุสิตไม่โปรดให้เรียกพระราชวัง เพราะเงินที่จ่ายซื้อที่ดินและสร้างพระที่นั่ง ก่อสร้างสิ่งต่างๆ เป็นเงินพระคลังข้างที่คือเงินส่วนพระองค์ พระมหากษัตริย์ มิใช่เงินใช้จ่ายในแผ่นดิน แต่ถึงรัชกาลที่ ๖ โปรดให้เรียกว่า พระราชวังเพราะเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์)

    พระราชทานชื่อตำหนักว่า พระตำหนักสวนกุหลาบ

    สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมา เสด็จประทับ ณ พระตำหนักสวนกุหลาบเรื่อยมา ต่อมาจึงกลายเป็นวังสวนกุหลาบ

    พระรูปฉายต้นรัชกาลที่ ๖ ทรงยืน จากซ้าย สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯเจ้าอยู่หัว (สมเด็จพระพันปีหลวง) สมเด็จฯเจ้าฟ้า กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ สมเด็จฯเจ้าฟ้า กรมหลวงเพชรบูรณ์อินทราชัย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับพื้น จากซ้าย

    พระตำหนักสวนกุหลาบในพระบรมราชวัง ก่อนบูรณะในรัชกาลปัจจุบัน

    เข้าใจว่า ตรงที่สร้างพระตำหนักสวนกุหลาบอาจเคยเป็นสวนกุหลาบจริงๆ ก็ได้ เพราะพระราชวังสวนดุสิตขณะนั้น มีอาณาเขตกว้างขวาง รวมสวนสุนันทาซึ่งยังมิได้สร้างอะไรด้วยแล้ว ก็ยังเป็นที่ว่างเปล่าอยู่มาก

    หรืออีกนัยหนึ่งสมัยเมื่อพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงยังทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ พระบรมชนกนาถ โปรดให้สร้างพระตำหนักในบริเวณที่เคยเป็นสวนกุหลาบในพระบรมมหาราชวัง และพระราชทานชื่อว่า พระตำหนักสวนกุหลาบ ด้วยพระราชประสงค์จะให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ทรงศึกษาราชการใกล้ชิดพระองค์

    สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมา ทรงเยาว์พระชันษากว่าสมเด็จฯเจ้าฟ้า กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ถึง ๗ พรรษา สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกฯ นั้นในปลายรัชกาลที่ ๕ ทรงอยู่ในฐานะรัชทายาทสืบราชบัลลังก์ ต่อจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ (สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรวุธ) เป็นอันดับแรก ตามคำกราบบังคมทูลขอพระราชทานพรพิเศษของสมเด็จพระศรีพัชรินทรฯ ขอให้การสืบราชบัลลังก์อยู่ในสายพระราชโอรสของพระองค์ก่อน ต่อเมื่อหมดองค์ผู้จะสืบต่อแล้ว จึงให้เป็นไปในสายพระมเหสีพระองค์อื่นตามลำดับพระเกียรติพระมเหสี

    ทว่าเมื่อสมเด็จฯเจ้าฟ้า กรมหลวงพิษณุโลกฯ เสด็จกลับมาจากประเทศรัสเซีย ทรงนำหม่อมชาวรัสเซียมาด้วย แม้ว่าขณะนั้นรัสเซียยังมีพระมหากษัตริย์ ทั้งพระเจ้าซาร์แห่งรัสเซียก็ทรงสนิทสนมกันดีกับพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง แต่การที่พระราชโอรสซึ่งเป็นที่โปรดปรานที่สุดและเป็นความหวังมีชายาเป็น นางต่างด้าวก็ทำให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงผิดหวังและไม่พอพระราชหฤทัย

    จึงเป็นไปได้ว่า ประจวบกับ สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมาเสด็จกลับจากทรงศึกษาในระยะนั้นพอดี จึงทรงตั้งพระราชหฤทัย จะฝึกสอน สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมา หากมีความจำเป็นต้องเสด็จขึ้นครองราชย์ เพราะขณะนั้นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช พระชันษาเกือบจะสามสิบพรรษาแล้วก็ยังมิได้มีพระชายาหม่อมห้าม จึงยังไม่ทรงมีพระโอรสที่จะเป็นพระรัชทายาทต่อจากพระองค์

    สำหรับพระตำหนักสวนกุหลาบในพระบรมมหาราชวังนั้น มีประวัติความเป็นมาว่า

    เดิมทีพระบรมมหาราชวังในรัชกาลที่ ๑ มีเนื้อที่เพียง ๑๓๒ ไร่ อาณาเขตด้านใต้หมดเพียงป้อมอนันตคีรี ด้านถนนสนามชัย ตัดตรงไปยังป้อมสัตบรรพต (ตามแผนที่พระบรมมหาราชวัง) พื้นที่ระหว่างกำแพงวังกับวัดโพธิ์นั้นเหลืออยู่ ๒๖ ไร่กว่าๆ โปรดฯให้เจ้านายขุนนางสร้างบ้านเรือนอยู่

    ต่อมาในรัชกาลที่ ๒ บริเวณวังหลวงคับแคบ เพราะนางในพระสนมกำนัลผู้คนมากขึ้น จึงโปรดฯ ให้ขยับขยาย พระราชทานที่ดินให้เจ้านายขุนนางย้ายไปอยู่ที่อื่น ขยายพระบรมมหาราชวัง ออกไปอีก ๒๐ ไร่ บริเวณที่ขยายตั้งแต่ป้อมอนันตคีรี ไปถึงป้อมสัตบรรพตนั้นมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมทะแยงด้านไม่เท่ากัน สร้างป้อมมณีประการตรงมุมด้านสนามชัย และป้อมภูผาสุทัศน์ อีกมุมหนึ่ง

    ในรัชกาลที่ ๒ หลังจากขยายสวนขวา และสร้างปราสาทราชมณเฑียร ขยายเขตด้านใต้สร้างตำหนักและเรือนฝ่ายในเพิ่มแล้ว ยังมีที่เหลืออยู่บ้างจึงโปรดฯให้ทำสวนกุหลาบสำหรับเก็บออกใช้ในราชการ เวลานั้นกุหลาบเป็นดอกไม้สำคัญ โดยเฉพาะกลีบกุหลาบต้องใช้แซมในการร้อยมาลัยขาดไม่ได้ กุหลาบมอญนั้นกลิ่นหอมมาก ใช้ลอยอบน้ำทำเครื่องหอม ขาดไม่ได้เช่นกัน

    สวนกุหลาบในพระบรมมหาราชวังจึงเกิดขึ้นแต่ในรัชกาลที่ ๒ เป็นต้นมา

    ถึงรัชกาลที่ ๓ สวนกุหลาบก็ยังมีอยู่ แต่โปรดฯให้แบ่งที่สร้างคลังศุภรัตน์ใช้เก็บสบงจีวรของหลวง ซึ่งคงจะสร้างเป็นตึกแบบเก๋งจีนตามความนิยมในสมัยรัชกาลที่ ๓ ส่วนที่เหลือก็ยังคงเป็นสวนกุหลาบ

    จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงสร้างหมู่พระที่นั่งราชมณเฑียร คือพระอภิวนิเวศน์ขึ้นใหม่ และพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ทรงลาผนวช (เณร) แล้วนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงมีพระราชประสงค์จะให้พระราชโอรส ประทับใกล้พระองค์เพื่อจะได้ทรงฝึกหัดงานราชการจากพระองค์ จึงโปรดฯให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงคลังศุภรัตน์เดิมให้รัชกาลที่ ๓ เป็นพระตำหนักพระราชทานให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอประทับ พระราชทานชื่อว่า พระตำหนักสวนกุหลาบ ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กันกับพระอภินาวนิเวศน์ที่ประทับ

    เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จขึ้นครองราชย์ พระตำหนักสวนกุหลาบก็ว่างอยู่ระยะหนึ่ง

    ต่อมา ในรัชกาลที่ ๕ นั้นจึงได้โปรดฯให้ใช้เป็นโรงเรียนสอนหนังสือ และฝึกสอนผู้ที่จะเข้ารับราชการเป็นทหารในกรมทหารมหาดเล็ก เรียกว่า โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ

    ซึ่งในที่สุด ก็โปรดฯให้เป็นโรงเรียนสำหรับสอนและฝึกหัดราชการทั่วไป ไม่จำกัดแต่เฉพาะผู้ที่จะเข้าเป็นทหารในกรมทหารมหาดเล็ก

    โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ นี้ ต่อมาได้ขยับขยายออกไปอยู่นอกพระบรมมหาราชวัง และใช้ชื่อว่า โรงเรียนสวนกุหลาบตัดคำว่า พระตำหนักออก

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×