ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #74 : พระพี่เลี้ยงในพระเจ้าแผ่นดิน

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.26K
      2
      9 เม.ย. 53

    พระเจ้าแผ่นดินแต่ละรัชกาล ทรงมีเจ้าจอมพระสนมและข้าราชบริพารขุนน้ำขุนนางมากมาย ซึ่งก็มีที่ทรงพระมหากรุณาโปรดปรานมากและน้อยตลอดจนไม่โปรดเลย

                ในที่นี้จะเล่าถึงคนโปรดบางท่านเว้นแต่เจ้าจอมพระสนมที่มีผู้เล่ากันมามากแล้ว คนโปรดบางท่านนั้นก็มีทั้งหญิงและชาย ซึ่งปรากฏชื่อและเรื่องราวเล่าขานกันต่อๆ มา

                ในรัชกาลที่ ๑ นั้น มีขุนนางขุนศึกเป็นที่โปรดปรานหลายอย่าง โดยเฉพาะท่านที่กล้าศึกสงครามคือ รบเก่งแต่มิได้ปรากฏว่าโปรดปรานผู้ใดจนมีเรื่องเล่าขานเป็นพิเศษ

                มีแต่ฝ่ายสตรีท่านหนึ่ง ซึ่งมิได้เป็นเจ้าจอมพระสนม หากแต่เป็นพระพี่เลี้ยงมาตั้งแต่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ยังทรงพระเยาว์ อยู่ในเคหสถาน ณ กรุงศรีอยุธยา

    พระองค์เจ้ายี่เข่ง (ฉายจากพระรูปปั้น)

                สตรีท่านนั้นปรากฏนามว่า ชื่อ ฉิม

                ชื่อ ฉิมอีกแล้ว เพราะท่านเป็นธิดาคนโตของเจ้าพระยายมราช (ฉ่ำ) ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ (เจ้าฟ้าเพชร หรือพระบัณฑูรใหญ่ในแผ่นดินพระเจ้าเสือ)

                ดังที่เคยเล่ามาแล้วว่า ในสมัยโน้น ลูกคนโตไม่ว่าชายหรือหญิง บิดามารดามักเรียกว่า พ่อฉิม หรือ แม่ฉิม เหมือนที่สมัยต่อมาเรียกลูกชายลูกสาวคนโตว่าพ่อใหญ่ แม่ใหญ่ ฉะนั้น ในสมัยโบราณจึงมีคนชื่อฉิมกันมากมาย

                ท่านฉิมผู้นี้เคยเป็นพระพี่เลี้ยงใน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ดังกล่าว อาจจะในฐานะอยู่บ้านใกล้เรือนเคียง ท่านฉิมรักและเอ็นดูอย่างน้องจึงมาเล่นด้วยและช่วยเลี้ยงดู อาบน้ำป้อนข้าวทำนองนั้น

                หรือสันนิษฐานอีกนัยหนึ่ง หลังแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ เกิดเรื่องเกิดราวขึ้นเพราะพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ทรงมอบราชสมบัติ พระราชทานพระราชโอรส แทนที่จะพระราชทานกรมพระราชวังบวรฯ วังหน้า (เจ้าฟ้าพร) ซึ่งเป็นพี่น้องตกทุกข์ได้ยากด้วยกันมา และในแผ่นดินของ สมเด็จพระชนกนาถ ก็ทรงเป็นพระบัณฑูรใหญ่ พระบัณฑูรน้อยคู่กันมาด้วย จึงเป็นเหตุให้เกิดศึกระหว่างอากับหลาน ในที่สุดเจ้าฟ้าพรได้ราชสมบัติ ขึ้นครองราชย์เป็น สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ เมื่อสวรรคตแล้วออกพระนามกันว่าพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (โบราณเขียนว่า) โกษฐ์บางแห่งก็ว่า โกฐความหมายเดียวกัน หมายถึงโกศบรรจุศพ) เพราะเป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์สุดท้ายแห่งกรุงศรีอยุธยาที่พระบรมศพได้ทรงพระบรมโกศ) ซึ่งคงเรียกกันอย่างนี้มาแต่แผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวอุทุมพร (ขุนหลวงหาวัด)

                เจ้าพระยายมราช (ฉ่ำ) เป็นขุนนางในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ อาจจะไม่เป็นที่โปรดปรานในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ หรือไม่ก็อาจจะถึงแก่อสัญกรรมแล้ว ท่านฉิมจึงได้มาเป็นพระพี่เลี้ยง ใน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ซึ่งตามพระราชประวัติสมเด็จพระบรมมหาชนก นั้นปรากฏว่าก็เป็นสกุลใหญ่อยู่ในกรุงศรีอยุธยา

                อย่างไรก็ตามท่านฉิมท่านเป็นพระพี่เลี้ยงที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ โปรดปรานมาก โดยเฉพาะเมื่อท่านอาบน้ำทาขมิ้นถวาย โปรดว่าทาขมิ้นเก่ง สวยงามเหลืองลออ (การทาขมิ้นให้เด็กในสมัยก่อนไม่ใช่ง่ายๆ ขณะอาบน้ำบางทีต้องใช้ส้มมะขามเปียกขัดก่อน ล้างส้มมะขามออกแล้ว จึง ลงขมิ้นคือเอาขมิ้นผสมน้ำลูบไล้ทั่วหน้าทั่วตัวจนขมิ้นแห้งติดผิวเหลืองอร่าม ต้องรู้จักวิธีทา ขมิ้นจึงจะขึ้นนวลเหลืองเนียนไปกับผิว ไม่กระดำกระด่าง)

                และเพราะเหตุที่ท่านทาขมิ้นเก่งนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เมื่อทรงพระเยาว์ จึงตั้งฉายานามของท่านว่า พี่สีจันทน์และทรงเรียกดังนั้นเรื่อยมา จนกระทั่งเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว โปรดฯ พระราชทานความดีความชอบให้ท่านเป็น เจ้าคุณบวรโภชน์ก็ยังทรงเรียกท่านว่า พี่สีจันทน์

                 พี่สีจันทน์เป็นสตรีคนแรกในประเทศสยามที่มีบรรดาศักดิ์ เจ้าคุณและได้รับพระราชทานเครื่องยศ เทียบเท่าเสนาบดี มีหีบหมากพานรอง ๑ กาน้ำ ถาดรอง ๑ ขันน้ำล้างหน้า ๑ กระโถนเล็ก ๑ ล้วนเป็นทองคำ โต๊ะเท้าช้าง สำรับคาวหวานเงินคู่ ๑ ขันน้ำใหญ่ กระโถนใหญ่ ถมดำตะทองคำ ๑ แคร่กันยาคานหาม มีโขลนหาม ๔ ในพระราชวัง หากออกนอกวัง ก็จ่ายเลกผู้ชายให้หามเดือนละ ๔ คน

                พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ โปรดปรานเจ้าคุณบวรโภชน์มาก ต่อหน้าตรัสเรียว่า พี่สีจันทน์ลับหลังทรงเรียกกับใครต่อใครอย่างทรงพระเมตตาขบขันว่า ยายสีจันทน์

                 ยายสีจันทน์จะทำอย่างไร ท่านก็ไม่ทรงว่ากล่าวเจ้าคุณบวรโภชน์ ก็เป็นเหมือนคนแก่ทั้งหลายชอบทำบุญสุนทาน โดยเฉพาะการปฏิสังขรณ์วัดบวรโภชน์ ซึ่งเป็นวัดที่ท่านบิดาของท่านสร้างไว้ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ได้รับพระราชทานชื่อว่า วัดบวรโภชน์ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงนำมาเป็นนามบรรดาศักดิ์พระราชทานแก่ท่าน

                เมื่อท่านขัดสนเงินทอง ท่านก็ขายเครื่องยศเอาเงินไปทำบุญ และพอทราบข่าวว่ามีผู้ไปกราบทูลฟ้อง ยังไม่ทันรับสั่งให้หา ท่านก็ตุบตับขึ้นไปเฝ้าฯเสียก่อน ตัดพ้อต่อว่าพระเจ้าอยู่หัวเป็นความว่า

                ธรรมดาเมื่อผู้ให้สิ่งของแก่ผู้มีคุณนั้น ให้แล้วก็ต้องแล้วกัน ไม่เคยเห็นใครเอาคืน เพราะเข้าใจอย่างนี้ ท่านอยากทำบุญก็เลยเอาไปยุบขายทำบุญหมดแล้ว ถ้าจะทรงเรียกคืน ก็คงไม่มีจะทูลเกล้าฯถวาย จะขอรับพระราชอาญาแทน แต่ถึงสิ้นชีวิตก็คงไม่ได้เนื้อทองเนื้อเงินมาชดใช้ในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท

                ทั้งบริภาษ ตัดพ้อต่อว่า และประชด ตามประสาคนแก่

                พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ นอกจากไม่กริ้วแล้ว ยังทรงขบขัน มีพระราชดำรัสว่า

                 ใครเขาไปทวงไปถาม เอาทองเอาหยองที่ไหนมาคืนเล่า เมื่อขายทองเงินไปเสียหมดแล้วก็แล้วกันไปเท่านั้นเอง เมื่อขายเนื้อทองเนื้อเงินไปท่าวัดแล้วไม่พอ ฉันจะให้เงินตราอีกแก่พี่สีจันทน์

                แล้วก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินอีก ๕๐ ชั่ง ให้ พี่สีจันทน์นำไปทำบุญสร้างวัดตามศรัทธา

                เรื่องราวของเจ้าคุณบวรโภชน์ ผู้ชรากับพระเจ้าแผ่นดินในรัชกาลที่ ๑ คล้ายๆ กันกับเรื่องของพระองค์เจ้ายี่เข่งในรัชกาลที่ ๕

                พระองค์เจ้ายี่เข่งเดิมท่านเป็นหม่อมเจ้าพระธิดาใน พระเจ้าราชวรวงศ์เธอชั้น ๑ พระองค์เจ้าเพชรหึง

                พระนาม เพชรหึงมาจากเหตุในวันประสูติ เกิดลมพายุรุนแรงที่คนโบราณเรียกกันว่า ลมเพชรหึงถึงขนาดพัดพระตำหนักแพวังหน้าที่ผูกไว้หลุดลอย บังเอิญเจ้าจอมมารดาชูประสูติพระองค์เจ้าชายในวันนั้น พระราชบิดาจึงพระราชทานพระนามว่า พระองค์เจ้าเพชรหึง

                 พระองค์ยี่เข่งท่านทรงรับราชการฝ่ายในในพระบรมมหาราชวัง เริ่มแต่เป็นพนักงานนมัสการมาแต่รัชกาลที่ ๔ ถึงรัชกาลที่ ๕ ทรงเป็นทั้งพนักงานนมัสการ และโปรดฯให้รับราชการเป็นผู้ถือรับสั่งเข้านอกออกใน ต่อมาโปรดฯให้เป็นพนักงานในการพระโอสถ และการอื่นๆ อันเป็นการที่จะรักษาพยาบาลให้ทรงสบาย ต่อมาเมื่อพระชนมายุสูง ทรงทำหน้าที่คล้ายๆ แม่บ้านตลอดจนเป็นผู้รับพระบรมราชโองการ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ออกไปแจ้งยังเจ้านายหรือข้าราชการฝ่ายหน้า

                พระองค์เจ้ายี่เข่ง นั้นว่ากันว่า ทรงดุและเข้มงวด แต่เมื่อทรงพระชราแล้ว มักจะทรงเป็นที่แอบขบขัน แอบล้อกันในหมู่เจ้านาย ไม่มีองค์ใดถือสา แม้แต่พระองค์พระเจ้าแผ่นดินเอง

                ดังเรื่อง เมื่อทรงเป็นพนักงานพระโอสถทรงมีหน้าที่ถวายยาแด่พระเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงท่านเสวยพระโอสถยาก ก็ทรงรีรออยู่ พระองค์ยี่เข่งก็ทรงคว้าไม้บรรทัดบนโต๊ะทรงพระอักษร ขู่ว่าจะลงพระอาญาหากไม่รีบเสวยพระโอสถเสียโดยเร็ว

                เรื่องนี้เป็นที่ทรงขบขันพระราชหฤทัยใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงมาก ทรงเล่าพระราชทานข้างในว่า ฉันไม่กินยา เจ้าเข่งแกจะตีฉัน

                ในจดหมายเหตุรายวัย ของ สมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดีเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช มกุฎราชกุมารพระองค์แรกในรัชกาลที่ ๕) ก็มีที่ทรงบันทึกไว้ถึง เจ้าเข่งว่า

                 “...รับสั่งใช้ให้เราไปเชิญหีบพระมหาสังข์ เราไปเชิญกับเจ้าเข่ง แกบ่นใหญ่ ว่าเรายังเด็กนักไม่ควรจะทรงใช้ แกต้องอุ้มเราขึ้นหยิบ...”

                (เวลานั้น สมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดีฯ เพิ่งมีพระชนมายุ ๕ ขวบ ๗ เดือน)

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×