ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #66 : พระราชวังดุสิต

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 572
      0
      9 ธ.ค. 52

     เมื่อ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงสร้างพระที่นั่งวิมานเมฆ และพระที่นั่งอัมพรสถาน ในพระราชวังดุสิต (ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อแรกสร้างโปรดฯให้เรียกว่า วังสวนดุสิตเพราะสร้างขึ้นเพื่อเสด็จประพาสด้วยพระราชทรัพย์ส่วนในพระองค์ มิใช่เงินหลวงสำหรับราชการแผ่นดิน แต่ต่อมาทรงพระราชดำริว่าการสร้างวังสวนดุสิตก็เท่ากับเป็นการขยายเขตพระนครจึงโปรดเกล้าฯให้สร้างพระที่นั่งอนันตสมาคมขึ้นเช่นเดียวกับในพระบรมมหาราชวัง และประกาศให้เรียกว่า พระราชวังสวนดุสิตต่อมาอีกในรัชกาลที่ ๖ โปรดฯให้ประกาศเรียกใหม่ว่า พระราชวังดุสิตเมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๕๙)

                ตั้งแต่เริ่มสร้างพระราชวังและพระที่นั่งวิมานเมฆผู้ที่นับว่าเป็น หัวเรี่ยวหัวแรง สำคัญคือ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพสาตรศุภกิจ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ ต้นราชสกุล ทองแถม ณ อยุธยา) และเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (ม.ร.ว.เย็น อิศรเสนา) ต่อมาเมื่อสร้างพระที่นั่งอัมพรสถาน จึงเพิ่ม พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์) ขึ้นอีกท่านหนึ่ง

                ตั้งแต่เริ่มสร้างพระราชวัง (ต้นร.ศ.๑๑๘ หรือ พ.ศ.๒๔๔๒) จนกระทั่งสร้างพระที่นั่งอัมพรสถานเสร็จเฉลิมพระที่นั่ง เป็นเวลาถึง ๑๑ ปี (ร.ศ.๑๒๙ หรือ พ.ศ.๒๔๕๓) จึงทรงมีพระราชหัตถเลขา พระราชทานไปยัง เจ้าพระยาวรพงศ์ฯ และ พระยาบุรุษฯ มากมายหลายฉบับ ฉบับสุดท้ายถึง พระยาวรพงศ์ฯ ลงวันที่ ๑๔ สิงหาคม ร.ศ.๑๒๙ ต่อจากนั้นอีกเพียง ๑๓๐ วัน (๒๓ ตุลาคม ร.ศ.๑๒๙) ก็เสด็จสวรรคต

    พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ ในเครื่องแบบเต็มยศ จางวางมหาดเล็ก เมื่อโปรดเกล้าฯพระราชทานบรรดาศักดิ์พระยา

                ในจำนวนพระการหัตถเลขาที่พระราชทานไปยังเจ้าพระยาฯและพระยาฯทั้งสองท่าน ตั้งแต่ท่านแรกยังเป็น เจ้าหมื่นเสมอใจราช ท่านหลังเป็นเจ้าหมื่นสรรเพชภักดี หลายฉบับแสดงถึง พระราชอารมณ์ขันใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง แม้ว่าบางทีจะมีกริ้วๆ อยู่บ้าง

                เช่น พระราชหัตถเลขา ลงวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ร.ศ.๑๒๑ เป็นต้น

                 “ถึงเสมอใจ

                ถนนสามเสนนั้นจะเปลี่ยนต้นโศกปลูกต้นผักโขม ฤา ยังไร เหนปลูกมาสักสามสี่เดือนแล้ว เดี๋ยวนี้โตดีขึ้นมาก ต้นที่เชิงตพานญวนสูงท่วมคอกแลกิ่งก้านก็จะหุ้มคอกมิดต่ำกว่าต้นโศกอยู่อีกหน่อยหนึ่ง แต่เหนจะร่มดีกว่าต้นโศก เหนลงไว้ที่อื่นก็อีกหลายต้น แต่ยังไม่ทั่ว ถ้าทดลองเหนว่าได้จริงก็ควรจะเปลี่ยนต้นมขามที่ถนนราชดำเนินเสียด้วย

                สยามินทร์

                พระราชหัตถเลขา พระราชทานพระยาบุรุษฯ อีกฉบับหนึ่ง ลงวันที่ ๓๑ มกราคม ร.ศ.๑๒๕ ทรงให้พระยาบุรุษฯ ทูลเตือน พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพสาตรฯมิให้ทรงลืมเรื่องที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงตรัสสั่งพระเจ้าน้องยาเธอไว้หลายเรื่อง จึงทรงพระราชดำริว่าเพื่อกันไม่ให้พระเจ้าน้องยาเธอ ทรงลืมให้กำกับเรื่องราวเป็นเรื่องๆ ไว้กับเวลาสวดพระพุทธคุณและพระธรรมคุณ ซึ่งทุกคนต้องจำได้ขึ้นใจอยู่แล้ว

                 “ได้คัดสำเนาคำถวายพระหนทางดุ๊กส่งมาไว้จะได้เตือน เพราะงานแกมากกว่าพระยาสุขุมในชั้นนี้ ประเดี๋ยวจะเอาไปลืมเสีย

                สยามินทร์

                 “สำเนาคำถวายพระหนทางดุ๊ก

                ๑. อรห คือตู้สำหรับปรัศจิมภาค เข้าใจว่า ๑๒ แผ่น นับว่าโขอยู่ไม่ใช่เล่น
                ๒. สัมมาสัมพุทโธ ตู้สำหรับห้องชั้นต่ำซึ่งจะเปลี่ยนตู้ไม้มโฮกินี
                ๓. วิชชาจรณสัมปันโน ตู้ในห้องนางเอิบนางเอื้อนชั้นบน
                ๔. สุคโต ตู้ในห้องนางเอิบนางเอื้อนชั้นล่าง
                ๕. โลกวิทู ตู้หน้าห้องเล็กข้างนางเอิบนางเอื้อนทั้งแถบ
                ๖. อนุตตโร ปุริสทัมมสารถิ กรอบรูปต่างๆ ซึ่งจะต้องซ่อม
                ๗. สัตถะ เทวมนุสสาน กรอบรูปถ่ายทั้งปวงที่ให้เลนซ์ไปทำ
                ๘. พุทโธ ตีนกระถางต่างๆ ซึ่งทำด้วยไม้ดำ
                ๙. ภควา ไม้สำหรับทำกรอบ แลที่จะต้องทำกรอบสำหรับเข้ารูปลิโทกราฟ
                รวม ๙ ประการเท่ากับนวะอรหาทิคุณ

    นายคะนัง เงาะมหาดเล็ก แต่งเครื่องละครเป็น เจ้าเงาะแสดงในวันเฉลิมพระที่นั่งอัมพรสถาน

                ของทั้ง ๙ อย่างนี้ ต้องใช้เจ๊กทำทั้งสิ้น วันนี้วันแรม ๓ ค่ำ ฯลฯ...คือมีวันอีก ๑๐ วัน จะถึงตรุษจีน ถ้าพอถึง ๑๑ แล้ว ดุ๊กอย่าไปเขี่ยมืออ้ายเจ๊กมันเลย มันไม่ทำงาน...ฯลฯ...ขอให้เร่งงานให้ได้มาตั้งให้เรียบร้อย อย่าให้ต้องเหะหะกันกำลังงาน เหมือนงานคนอื่น เขาจะได้ชมว่าเราช่างคิด

                ยังธรรมคุณมีต่อไป ถ้าจะทรงฟังอีกก็ได้
                ๑. สวากขาโต ภควตา ธัมโม กระถางที่สำหรับจะตั้งสวนสวรรค์ เกี่ยวกับเจ๊กอีกเหมือนกัน แต่เป็นส่วนที่ไม่แล้วก็ทนเอาได้ จึงได้กันมาลงไว้ในพวกที่ ๒
                ๒. สันทิฏฐิโก ดอกพิกุลเงินพิกุลทอง
                ๓. อกาลิโก เครื่องลครอั้ายคะนัง
                ๔. เอหิปัสสิโก กำไลหัวตะปู
                ๕. โอปนยิโก กรอบผ้าญี่ปุ่นซึ่งจะต้องใช้แผ่นใหญ่แต่ ๒ แผ่น เล็ก ๖ ฤา ๘ งดการที่เหลือจากนั้นไว้เสียได้
                ๖. ปัจจัตต เวทิตัพโพ วิญญหิ ซึ่งไม่อยากจะเตือน

                แต่เพื่อให้จบสวากขาโต จึงกล่าวลงไว้ คือ รูปที่รับว่าจะเอามา และการกะตกแต่งไฟในสวนแง่เต๋ง...ฯลฯ...ฯลฯ...จบคำถวายพระหนทางเท่านี้แลฯ

                พระราชหัตถเลขาพระราชทานพระยาบุรุษฯนี้ เป็นเรื่องการตกแต่งพระที่นั่งอัมพรสถาน เตรียมการจะเฉลิมพระที่นั่ง ซึ่งในพระราชพิธีจะต้องทรงโปรยดอกพิกุลเงิน พิกุลทอง ที่ทรงเตือนกำกับไว้กับ สันทิฏฐิโก

                และในวันเฉลิมพระที่นั่งนั้น จะโปรดฯให้นายนะนังเงาะมหาดเล็ก รำละครเป็นตัวเจ้าเงาะในเรื่องสังข์ทองด้วยทรงเตือนกำกับไว้ใน อกาลิโกและในวันนั้นจะพระราชทานกำไลหัวตะปูแก่เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ที่ทรงเตือนกำกับไว้ใน เอหิปัสสโก

                 ‘ดุ๊กคือ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพสาตรศุภกิจ เป็นพระนามฉายาซึ่ง พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงตั้งสัพยอกและเป็นพระองค์เดียวที่ตรัสเรียกดังนั้น

                นางเอิบนางเอื้อน คือพระสนมเอกสองท่าน ในสกุลบุนนาค ธิดาเจ้าพระสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) และท่านผู้8หญิงอู่

                ธิดาเจ้าพระยาสุรพันธุ์ฯ เข้ารับราชการเป็นเจ้าจอมพระสนมใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ๕ ท่าน ทุกท่านชื่ออักษร หมด จึงเรียกล้อๆ กันว่า เจ้าจอมก๊กอ.คือ อ่อน เอี่ยม เอิบ อาบ และเอื้อน

                เจ้าจอมมารดาเอิบ เป็นท่านเดียวที่มีพระองค์เจ้าลูกเธอ ๒ พระองค์ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพ และ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอดิศัยสุริยาภา

                สมเด็จฯ กรมพระยาดำรง ตรัสเล่าว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง พระราชทานพระนามพระราชธิดาทั้งสองพระองค์ เป็นการเล่นอักษร ตาม ก๊ก

                เจ้าจอมเอี่ยม เจ้าจอมเอิบ และ เจ้าจอมเอื้อน โปรดฯให้เป็นพระสนมเอก เจ้าจอมมารดาอ่อน เจ้าจอมเอี่ยม และเจ้าจอมเอิบได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฯ ชั้น ท.จ.ว. (ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ) เจ้าจอมเอื้อน ได้รับพระราชทานชั้น ท.จ.ว. (ทุติยจุลจอมเกล้า)

                ชั้นท.จ.ว. นั้นเป็นชั้นสูงสุด สำหรับสามัญชน (ทั่วไป) สมัยก่อนหากเป็นเอกภรรยาของเจ้าพระยา (หรือแม้แต่พระยาบางท่าน) มีสิทธิใช้คำนำหน้านามว่า ท่านผู้หญิงส่วนผู้มีบรรดาศักดิ์ นำนามอยู่แล้ว เช่น หม่อมเจ้า หรือหม่อมเอกในเจ้านาย พระราชวงศ์ ไม่ใช่ท่านผู้หญิง ใช้คำย่อของเครื่องราชฯตามหลังนาม เช่น หม่อมเจ้าเม้า ทองแถม ณ อยุธยา ท.จ.ว. เป็นต้น

                แต่หม่อมราชวงศ์ หม่อมหลวงนั้น นับว่าเป็นราชนิกูล มิใช่เจ้า เมื่อได้รับพระราชทานเครื่องราชฯ ถึงชั้น ท.จ.ว. ซึ่งถือว่าสูงกว่า ต้องเปลี่ยนคำนำหน้านามใช้ ท่านผู้หญิงยกตัวอย่าง เช่น ท่านผู้หญิงแฉล้ม กุญชร ท่านเป็นหม่อมหลวง อยู่ก่อนเมื่อได้รับพระราชทาน ตรา(ตติยจุลจอมเกล้า) ท่านใช้ว่า ม.ล.แฉล้ม กุญชร ต.จ.เมื่อได้รับพระราชทาน ตราท.จ. ก็ยังใช้อย่างเดิม ต่อเมื่อได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้น ท.จ.ว. จึงได้เปลี่ยนเป็น ท่านผู้หญิงแฉล้ม กุญชร

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×