ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #63 : พระราชหัตถเลขา รัชกาลที่ 5

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.76K
      5
      9 ธ.ค. 52

    พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง พระองค์ท่านทรงเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทรงมีงานล้นพระหัตถ์ ไม่ว่าการปกครองบ้านเมือง ความทุกข์ความสุขของราษฎรทุกชั้นวรรณะย่อมขึ้นอยู่กับพระเจ้าแผ่นดินพระองค์เดียว

                แม้จะทรงมีพระราชภารกิจอันหนักหน่วง พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็ทรงมีพระราชอารมณ์ขันอยู่เป็นนิจ จะทรงว่ากล่าวหรือทรงใช้สอยท่านผู้ใด มักจะทรงเจือพระราชอารมณ์ขันไว้ด้วยเสมอ

                ดังเช่นในพระราชหัตถเลขาเกี่ยวกับการศึกษาของชาติ ที่พระราชทานไปยังเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เมื่อยังเป็นที่พระยาไพศาลศิลปศาสตร์ ตำแหน่งเจ้ากรมตรวจการศึกษาในกระทรวงธรรมการ (ปัจจุบันคือกระทรวงศึกษาธิการ) ฉบับหนึ่ง ดังนี้

     สวนดุสิต

                วันที่ ๑๙ กรกฎาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๙ ถึงพระยาไพศาล

                นี่เหลือที่จะอดกลั้นแล้ว รู้สึกคันอยู่ในเนื้อที่หนาๆ เช่น ซ่นเท้าเกาไม่ถึงก็ปานกัน คือ หนังสื6กรุงเทพฯเดลิเมล์ ออกเมื่อวานนี้ วันที่ ๑๘ แต่ในหนังสือนั้นเองลงวันที่ ๑๙ เล่าว่า มีคนไปจากเมืองไทยอยู่อเมริกาชื่อจีนเอง จีนแฉ่ง เป็นฝาแฝด ดังนี้ เขาเล่าสำหรับให้เป็นประโยชน์แก่คนไทย ซึ่งไม่มีใครรู้ ให้รู้ไว้ด้วยชาติอื่นภาษาอื่นเขารู้กันหมดเป็นเรื่องโด่งดัง แต่เราเจ้าของเองไม่รู้ เขามีสติปัญญาได้เรียนหนังสือฝรั่ง รู้ภาษาฝรั่งแปลได้ ได้กระทำสงเคราะห์ญาติชาติภูมิเช่นนี้

                เป็นน่าพิศวงด้วยนักเรียนชั้นแผ่นดินพระจุลจอมเกล้านี้ ความรู้หูตาแลความคิดช่างคับแคบราวกับรูเข็ม ไม่รู้ไม่เห็นการอะไรเกิน ๓ ปีขึ้นไป พูดไทยก็ไม่ชัดเป็นอันขาด เพราะถ้าจะพูดออกมาให้ชัด สำเนียงฝรั่งจะแปร่ง แลการที่คะเนเดาอะไรต่างๆ นั้นก็เกี่ยวกับด้วยภูมิปัญญา

                แต่เรื่องนี้พ่อนักเรียนชั้นใหม่ผิดแน่ละ เด็กอมมือมันก็รู้เรื่องคนแฝดคู่นี้ เพราะหนังสือเรื่องเมืองไทยจะไม่มีคนแฝดนี้ไม่ได้ คนไทยเราก็ได้ไปพบที่อเมริกา เขาชื่ออินคนหนึ่ง จันคนหนึ่ง แต่เพราะเรียกภาษาฝรั่ง อิน จัน ไม่ชัด จึงเป็นเอง แฉ่ง เมื่อเป็นเอง แฉ่ง ไปแล้ว หน้าตาก็สมเป็นเจ๊ก ก็ติดหางหนูให้เสียด้วย

                นี่แหละจะเป็นนักเรียนของพระยาไพศาลฤามิใช่ ไม่มีใครจำโนทย์โจทย์มา แต่มันคันไม่รู้จะเกาทางไหน ก็กล่าวโทษพระยาไพศาลไปตามที่เคย เคยกล่าวมาแล้วเรื่องเรียกชื่อตามสำเนียงฝรั่ง

                                                    พระบรมนามาภิไธย) สยามินทร์

                พระราชหัตถเลขา ฉบับนี้ ต้องอ่านสัก ๒-๓ ครั้งจึงจะ ซึ้ง

                สาเหตุมาจากทรงทอดพระเนตรพบบทความในหนังสือ (คงจะเป็นรายวัน) กรุงเทพฯเดลิเมล์ ซึ่งเป็นบทความที่แปลมาจากหนังสือฝรั่งอีกที เรื่องฝาแฝดอินจัน เป็นเหตุให้ทรงมีพระบรมราชกระแสหลายเรื่องเกี่ยวกับเรื่องไม่รู้จริงแล้วมักหลงตามฝรั่ง เชื่อฝรั่ง โดยเฉพาะที่ทรงค่อนเรื่อง พูดไทยไม่ชัด เพราะถ้าจะพูดไทยให้ชัด สำเนียงฝรั่งก็จะแปร่ง

                พระบรมราชกระแสนี้ เป็นพระบรมราชกระแส เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๓ เป็นเวลาถึง ๙๑ ปีมาแล้ว หากทรงมีพระชนมายุเสด็จอยู่จนปัจจุบันนี้ เห็นทีจะยิ่งทรงอดกลั้นไม่ไหวเป็นแน่

                เรื่องฝรั่งพูดไม่ชัด คนไทยพลอยเรียกตามไปด้วยนี้ ในพระราชหัตถเลขาพระราชทานพระยาไพศาลฯ เช่นเดียวกันอีกฉบับหนึ่ง มีความตอนหนึ่งทำให้สะดุดใจ

                ในพระราชหัตถเลขานั้นว่า

                 เช่น หัวลำโพง ฝรั่งเรียกไม่ชัด ไทยเราพลอยเรียกตามว่า วัวลำพอง นี่เป็นเรื่องที่ควรจะฟาดเคราะห์จริงๆ

                แสดงว่าที่จริงแล้วเรียกบริเวณที่ตั้งสถานีรถไฟหัวลำโพงว่า ทุ่งหัวลโพงมานานแล้ว เวลานั้นคงจะมีผู้ดัดจริตเรียกว่า วัวลำพองซึ่งพระองค์ท่านทรงเห็นว่าเป็นการเรียกตามฝรั่งซึ่งพูดไม่ชัด

                ที่สะดุดใจ ก็เพราะเคยอ่าน เรื่องหัวลำโพงของนักเขียนที่ท่านเป็นผู้สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับอดีต จำได้ว่าท่านลงความเห็นว่า หัวลำโพงนั้น เดิมทีเดียว เรียกว่า ทุ่งวัวลำพองแต่ต่อมาพวกจีนลากรถพูดไม่ชัด สมัยที่สร้างสถานีรถไฟแล้ว เลยกลายเป็น หัวลำโพงไปจนทุกวันนี้

                ในพระราชหัตถเลขา และความเห็นของท่านผู้นั้นจึงตรงข้ามกัน

                แต่สำหรับผู้เล่า ค่อนข้างเห็นคล้อยตามพระราชหัตถเลขามากกว่า

                เพราะ ทุ่งวัวลำพองดูจะเป็นคำตกแต่งตรงคำว่า ลำพองมากไปหน่อย ไฉนจึงไม่ใช้คำง่ายๆ อย่าง ทุ่งวัวดุ’ ‘ทุ่งวัวคะนองอะไรๆ เทือกนี้

                 ทุ่งหัวลำโพงจึงดูจะเข้าเค้ากว่า มีช่องทางให้เดาไปได้ว่า ที่ตรงนั้นอาจเป็นท้องทุ่งซึ่งหัวทุ่งมีต้นลำโพงขึ้นอยู่มาก ก็เลยเรียกว่า ทุ่งหัวลำโพง ดูจะเป็นไปได้มากกว่า

                ทีนี้เป็นหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณาของพระยาไพศาลศิลปศาสตร์

                 ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม

                พระราชหัตถเลขา ลงวันที่ ๑๙ เดือนนี้ พระราชทานพระบรมราชกระแสเรื่องหนังสือพิมพ์กรุงเทพฯเดลิเมล์ อวดอ้างทำเป็นทีหนึ่งว่าสงเคราะห์ญาติชาติภูมิ แต่กลับเป็นสำแดงความเขลาความคับแคบของตัวเองนั้น ข้าพระพุทธเจ้าได้รับทราบเกล้าฯทุกประการแล้ว พระมหากรุณาเป็นล้นเกล้าฯ

                ข้าพระพุทธเจ้าได้สืบทราบความตลอดว่า เอดิเตอร์ของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ เป็นนักเรียนโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบรุ่นก่อนข้าพระพุทธเจ้า ได้สอบไล่ประโยค ๒ ได้แต่รัตนโกสินทร์ ๑๐๘ แลได้ออกมารับราชการแล้วหลายกระทรวง ได้เคยอยู่กรมราชเลขานุการ แล้วในที่สุดไปอยู่กรมเจ้าท่า เที่ยวเร่ร่อนจับจดอยู่เช่นนี้ จนกระทั่งตกมาเป็นเอดิเตอร์หนังสือพิมพ์สยามออบเซอร์เวอร์ แล้วมาเป็นเอดิเตอร์หนังสือพิมพ์เดลิเมล์ รู้ภาษาอังกฤษบ้างเล็กน้อย ไม่ได้เคยเรียนในโรงเรียน แต่มีคนครึ่งชาติเป็นกำลังช่วยให้การแปลอยู่คนหนึ่ง เมื่อพบกับข้าพระพุทธเจ้า ก็ได้สารภาพว่า เป็นผู้กะให้แปลแลเป็นผู้ตรวจแก้เอง แต่พลอยตื้นไปตามผู้ช่วยจะขอลงแก้ไม่ให้เป็นการลวงเด็กที่เกิดขั้นหลังๆ ให้หลงผิดต่อไป

                คนเช่นนี้ข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้าฯ ว่าคงจะมีได้อีกหลายคน แต่เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ที่ได้เล่าเรียนทั้งหมดแล้ว หวังด้วยเกล้าฯ ว่าจะเป็นแต่ส่วนน้อยนิดเดียว ถ้ามีมากก็จะยิ่งเพิ่มความลำบากในการฝึกสอนเด็กชั้นเล็กๆ ต่อไปมิใช่น้อย เพราะนักเรียนว่าจะต้องเป็นผู้ได้อ่านได้ฟังเป็นลำดับไป ถ้าไปอ่านหรือฟังที่ผิดก็จะพลอยหลงผิดแลเขลาไปตามกันด้วย

                ความข้อนี้ข้าพระพุทธเจ้าได้มีวิตกอยู่มากยิ่งขยายการเล่าเรียนให้แพร่หลาย จำนวนครูจะต้องทวีขึ้นโดยรวดเร็ว ครูที่มีความรู้อ่อนคงจะมีมากต่อมาก การจัดจำต้องแลดูให้กว้างแลไกล ข้าพระพุทธเจ้าได้พยายามเต็มสติกำลังภายในหน้าที่ แลความสามารถที่จะทำได้ แม้กระนั้นพระราชอาญาก็คงไม่พ้นเกล้าฯ

                ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม

                ข้าพระพุทธเจ้า พระยาไพศาลศิลปศาสตร์

                ขอเดชะ

                นี้เป็นพระบรมราชกระแส และ คำกราบบังคมทูลเกี่ยวกับการศึกษาของชาติ ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งเคยถูกกล่าวหาว่า สมัยนั้นเจ้าอยากให้ราษฎรโง่เพื่อจะได้ปกครองง่าย

                พระยาไพศาลศิลปศาสตร์ ต่อมาได้เป็นเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ชื่อเสียงของท่านเป็นที่รู้จักกันดี เพราะท่านเป็นผู้แต่งเพลงกราวกีฬา ที่ขึ้นต้นว่า กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษ แก้กองกิเลสทำตนให้เป็นคน ฯลฯ

                ราชสกุล เทพหัสดินสืบลงมาจาก สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์

                สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ เป็นพระโอรสพระองค์ใหญ่ใน สมเด็จพระพี่นางพระองค์น้อยในรัชกาลที่ ๑ และเป็นพระเชษฐ์ภาดา (พี่ชาย) ของ สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๒

                สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ มีหม่อมห้ามเป็นชายาชื่อ ผ่องเป็นธิดาของเจ้าขรัวทองพี่ชายเจ้าขรัวเงิน เจ้าขรัวเงินก็คือพระชนกของเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพฯ และ สมเด็จพระศรีสุริเยนทราฯ

                สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพฯ กับคุณผ่อง จึงเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน มีธิดาด้วยกันองค์หนึ่งพระนามว่า หม่อมเจ้าฉิม

                หม่อมเจ้าฉิม ท่านสมรสตั้งแต่ครั้งแผ่นดินธนบุรี ท่านยังเป็นสามัญชนอยู่ เมื่อพระบิดาของท่านได้รับสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงฯ ท่านจึงได้เป็นหม่อมเจ้าตามฐานันดรศักดิ์ แต่สวามีของท่านมิได้เป็นเจ้า

                หม่อมเจ้าฉิม ท่านมีบุตรชาย ได้เป็นหม่อมราชวงศ์ชื่อ ช้างครั้งกระโน้นหม่อมราชวงศ์มักจะเรียกกันว่า เจ้าเพิ่งมีกฎเกณฑ์ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ให้เรียกลูกของหม่อมเจ้าว่า หม่อมราชวงศ์และเรียกลูกของหม่อมราชวงศ์ว่า หม่อมหลวงถือว่าเป็นราชนิกุล ไม่ใช่เจ้า

                หม่อมราชวงศ์ช้างท่านนี้ ในพระนิพนธ์ สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุขฯ เรื่องราชินิกุล รัชกาลที่ ๕ ท่านว่า เล่าลือกันมาแต่รัชกาลต้นๆ แล้วว่า ที่จริงแล้วเป็นโอรสในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพฯ กำเนิดแต่นางห้ามชาวนครราชสีมา ทว่าประทานให้เป็นบุตรของหม่อมเจ้าฉิม จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม

                ถึงรัชกาลที่ ๔ เมื่อโปรดเกล้าฯให้เป็นขุนนาง ก็โปรดฯให้เป็นพระยาเลยทีเดียว คือพระยาราชภักดีในกรมพระคลังมหาสมบัติ และทรงยกย่อมากกว่าขุนนางในชั้นเดียวกัน โปรดฯให้พระราชโอรสธิดาธิดายกย่องนับถือพระยาราชภักดี (ม.ร.ว.ช้าง) เป็นพิเศษ ถึงให้ไปลาโสกันต์ทุกพระองค์

                เมื่อมีพระราชบัญญัตินามสกุล พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ จึงพระราชทานนามสกุลแก่ผู้สืบสายลงมาจาก พระยาราชภักดี (ม.ร.ว.ช้าง) ว่า เทพหัสดิน ณ กรุงเทพ(ต่อมาเปลี่ยน ณ กรุงเทพ เป็น ณ อยุธยา)

                 เทพมาจาก พระนามสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์

                 หัสดินมาจาก นามของ ม.ร.ว.ช้าง

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×