ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #59 : วัง ต้นรัตนโกสินทร์

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 663
      0
      8 ธ.ค. 52

    วังภายในเวียงหรือกรุงหรือเกาะรัตนโกสินทร์ ในยุคต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งท่านนับว่ายุคต้นนั้นคือตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๓ เป็นเวลา ๖๙ ปี (รัชกาลที่ ๑ ครองราชย์ ๒๗ ปี รัชกาลที่ ๒ ครองราชย์ ๑๕ ปี รัชกาลที่ ๓ ครองราชย์ ๒๗ ปี เท่ากับรัชกาลที่ ๑)

                วังของสมเด็จฯกรมพระยาเดชาดิศร (พระองค์เจ้ามั่ง) พ่อมั่งของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ นั้น แรกเริ่มทีเดียวท่านสร้างวังอยู่ตรงที่บ้านเดิมของขรัวตาของท่านคือเจ้าพระยาพระคลัง (หน)

                เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ผู้แต่งเรื่องสามก๊ก และราชาธิราช ด้วยสำนวนไทยที่ไม่มีผู้ใดเสมอเหมือนนั่นแหละ ธิดาของท่านชื่อนิ่ม ได้ถวายตัวในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ตั้งแต่ยังทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ในรัชกาลที่ ๑ มีพระองค์เจ้าเพียงพระองค์เดียว คือ พระองค์เจ้าชายมั่ง ซึ่งผู้ใหญ่เล่าๆ กันว่า พระนามนั้นมาแต่คำว่า มั่งมี

                เมื่อเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ถึงแก่อสัญกรรมใน ร.๑ (พ.ศ.๒๓๔๘) พระองค์เจ้ามั่ง พระชันษา ๘ ขวบ ทรงได้รับมรดกจากขรัวตาของท่าน เมื่อเสด็จออกวังในรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ จึงโปรดฯให้สร้างวังในที่บ้านเดิมของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) นั้น

                ที่วังเดิมของพระองค์เจ้ามั่ง-สมเด็จฯกรมพระยาเดชาดิศร อยู่ริมแม่น้ำใต้วัดพระเชตุพน เหนือเขตโรงเรียนราชินี ต้องหลับตาลบภาพในปัจจุบันออก นึกวาดภาพริมแม่น้ำที่ยังมีกำแพงเมืองและประตูเมืองล้อมรอบกรุงอยู่ท่าเตียนนั้นอยู่นอกกำแพงเมือง วังอยู่ภายในกำแพง

                สมเด็จฯกรมพระยาเดชาฯ ประสูติในรัชกาลที่ ๑ ทรงเจริญพระวัยเป็นหนุ่มในกลางรัชกาลที่ ๒ ได้ทรงกรมในปลายรัชกาลที่ ๒ ถึงรัชกาลที่ ๓ ในระยะกลางและปลาย ทรงเป็นพระบรมวงศ์อาวุโส เลื่อนขึ้นเป็นกรมขุนในพระนามทรงกรมเดิม คือ กรมขุนเดชอดิศร

                ท่านเสด็จอยู่วังบ้านเก่าจนถึงรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ โปรดฯให้สร้างวังขึ้นที่ริมถนนมหาชัย ใกล้ประตู (เมือง) สะพานหัน (สะพานหันเวลานั้นคือสะพานข้ามคลองคูเมือง มีประตูเมืองและป้อม) วังทั้งสามดังกล่าว คือตรงที่เป็นย่านการค้าวังบูรพาในปัจจุบัน

                แล้วโปรดฯ ให้เจ้านาย ๓ พระองค์ เสด็จไปประทับ คือ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนเดชอดิศร (พระยศขณะนั้น) ประทับวังใต้ พระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหมื่นนรินทรเทพประทับวังกลาง พระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหมื่นนเรนทร์บริรักษ์ ประทับวังเหนือ เพื่อรักษาพระนครทางด้านตะวันออกนี้ โดยมีพระเจ้าน้องยาเธอกรมขุนเดชฯ ทรงเป็นประธานการรักษาพระนคร

                พระสัมพันธวงศ์เธอ ทั้งสองพระองค์ เป็นพระโอรสในกรมหลวงนรินทรเทวีพระน้องนางเธอ ในรัชกาลที่ ๑ แต่เดิมประทับอยู่วังริมวัดโพธิ์ ตรงที่เป็นวิหารพระนอนในปัจจุบัน ซึ่งเป็นวังประทับเดิมของพระมารดา ในรัชกาลที่ ๓ เมื่อสร้างวังดังกล่าวพระราชทานแล้ว ก็โปรดฯให้ขยายเขตวัดโพธิ์ สร้างวิหารพระนอนดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

                สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร เสด็จอยู่วัง ๑ ใน ๓ ดังกล่าวจนสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๔ หม่อมเจ้าในกรมอยู่ต่อมาถึงรัชกาลที่ ๕ ตำหนักในวังทั้ง ๓ เพียงตำหนักไม้บ้างประกอบปูนเล็กๆ น้อยๆ บ้างทรุดโทรม ไม่มีเจ้านายผู้ใหญ่ประทับอยู่รักษา จึงโปรดฯให้รวมที่วังสร้างวังบูรพาภิรมย์ พระราชทาน

    สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมหลวงภาณุพันธ์วงศ์วรเดช (สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุขฯ ในรัชกาลที่ ๗)

                เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ขรัวตา สมเด็จฯกรมพระยาเดชาดิศรนี้ ท่านสืบเชื้อสายมาแต่ขุนนางเก่าครั้งกรุงศรีอยุธยา ในแผ่นดินกรุงธนบุรี รับราชการมีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงสรวิชิต ในปลายแผ่นดินธนบุรี เป็นกำลังสำคัญของพระเจ้าหลานเธอ กรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ (กรมพระราชวังหลัง) แต่ครั้งยังเป็นพระยาสุริยอภัยแผ่นดินธนบุรี

                ในรัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยาพิพัฒโกษา

                จดหมายเหตุเรื่องลำดับเสนาบดี ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์จดไว้ว่า

                 ทรงเห็นว่าหลวงสรวิชิต นายด่านเมืองอุทัยธานีชื่อหม่อมหน เข้ามารับราชการอยู่ที่กรุงธนบุรี เป็นคนมีความสวามิภักดิ์ ได้แต่งคนเอากิจราชการสอดหนังสือลับไปถวายถึงด่านพระจาฤก แล้วก็ได้ไปรับเสด็จถึงทุ่งแสนแสบ มีความชอบหลายอย่าง ทั้งสีปากเรียบเรียงหนังสือก็ดี จึงโปรดฯตั้งให้เป็นที่ พระยาพิพัฒโกษา ครั้งโปรดฯให้ พระยาพระคลัง (สน) (ซึ่งอยู่ในตำแหน่งหน้าที่เจ้าพระยา แต่ยังไม่ทันได้เป็นเจ้าพระยา-จุลลดาฯ) เป็นพระยาศรีอัครราชแล้ว จึงโปรดฯตั้งพระยาพิพัฒโกษา เป็นเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เจ้าพระยาพระคลัง (หน) มีบุตรมาก ไม่ได้ทำราชการ ที่ทราบชื่อ คือ นายเกต นายทัดเป็นจินตกวี และเป็นครูพิณพาทย์ บุตรหญิงที่ปรากฏ คือเจ้าจอมมารดานิ่ม เป็นเจ้าจอมมารดาสมเด็จฯกรมพระยาเดชาดิศรในรัชกาลที่ ๒ เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ถึงอสัญกรรมในรัชกาลที่ ๑ พ.ศ.๒๓๔๘ ในปีนั้นเจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน) เจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค) ถึงอสัญกรรมในปีเดียวกันทั้ง ๓ คน (หนังสือที่ว่า เจ้าพระยาพระคลัง (หน) แต่งที่นับถือกันมาก คือ เรื่องสามก๊ก ๑ กลอนเทศน์มหาชาติกัณฑ์กุมาร ๑ บทกากีที่ร้องมโหรี ๑)

                เจ้าพระยารัตนาพิพิธ ชื่อสน เป็นต้นสกุล สนธิรัตน์คนละคนกับพระยาพระคลัง (สน)

                ในหนังสือลำดับเสนาบดี กล่าวถึงเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ไว้ว่า สีปากดีนอกจาก สีปากหรือ ฝีปากดีแล้ว ท่านยังเป็นคนเฉียบแหลม มีความจำแม่นยำอีกด้วย น.ม.ส. (พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส) ทรงเล่าถึงเรื่องราวของท่านที่เล่ากันต่อๆ มาว่า

                เมื่อครั้งยังเป็นพระยาพิพัฒน์โกษา วันหนึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงมีพระราชดำรัสให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ร่างสารตราฉบับหนึ่ง เจ้าพระพระคลัง (หน) รับรับสั่งแล้วก็ไปลืมเสีย ต่อมาอีกสองสามวันตรัสเตือนว่า โปรดให้ร่างสารตราจนป่านนี้ยังไม่แล้วอีกหรือ เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตกใจลนลานหยิบสมุดออกพลิกอ่านร่างถวาย ตรัสว่าดีแล้ว แต่จะต้องแก้สักแห่งสองแห่ง แล้วยื่นพระหัตถ์รับสมุด สมุดเปล่าทั้งเล่มไม่มีตัวหนังสือเลย ทรงเอาสมุดฟาดศีรษะเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตรัสว่าให้ไปเขียนมาใหม่ ให้เหมือนกับที่อ่านปากเปล่าถวาย ถ้าไม่เหมือนจะลงพระราชอาญา เจ้าพระยาพระคลัง (หน) กลับไปเขียนร่างสารตราลงในสมุดเล่มเดียวกันแล้วกลับเข้าไปอ่านถวาย ทรงฟังตลอดแล้วตรัสว่า เหมือนกับที่อ่านถวายปากเปล่า เป็นอันว่าแก้ตัวพ้นโทษได้

                สมเด็จฯกรมพระยาเดชาดิศร นั้น อาจเรียกได้ว่า พระองค์ท่านเป็นอย่างที่ว่า เชื้อไม่ทิ้งแถวในรัชกาลที่ ๒ ได้ทรงกำกับกรมพระอาลักษณ์จนตลอดรัชกาลที่ ๓ ทรงพระนิพนธ์ฉันท์และโคลงไว้ไม่น้อย ในรัชกาลที่ ๓ เมื่อทรงมีพระราชประสงค์จะจารึกโคลงโลกนิติลงในแผ่นศิลา ณ วัดพระเชตุพน ได้โปรดฯให้ สมเด็จฯกรมพระยาเดชาดิศร พ่อมั่งของพระองค์ ทรงรวบรวม โคลงโลกนิติพี่ทรงพระนิพนธ์ จนพากันท่องจำติดปากติดใจกันมาเรื่อยมีอยู่หลายบท เช่น

                เจ็ดวันเว้นดีดซ้อม ดนตรี
    อกขรห้าวันหนี เนิ่นช้า
    สามวันจากนารี เป็นอื่น
    วันหนึ่งเว้นล้างหน้า อับเศร้าศรีหมองฯ

                เสียสินสงวนศักดิ์ไว้ วงศ์หงส์
    เสียศักดิ์สู้ประสงค์ สิ่งรู้
    เสียรู้เร่งดำรง ความสัตย์ ไว้นา
    เสียสัตย์อย่าเสียสู้ ชีพม้วยมรณาฯ

                ห้ามเพลิงไว้อย่าให้ มีควัน
    ห้ามสุริยแสงจันทร์ ส่องไซร้
    ห้ามอายุให้หัน คืนเล่า
    ห้ามดั่งนี้ห้ามได้ จึงห้ามนินทาฯ

                ยังมีอีกหลายบท เช่น เพื่อนกินสิ้นทรัพย์แล้ว แหนงหนี ฯลฯ” “รักกันอยู่ขอบฟ้า เขาเขียว ฯลฯล้วนแต่ยกมาอ้างกันอยู่เสมอ แต่ที่เห็นว่าปราชญ์เก่าท่านช่างสังเกตธรรมชาติรอบตัวนำมาเปรียบเปรยได้อย่างแนบเนียน น่าจะเป็นโคลงโลกนิติบทนี้

                นาคีมีพิษเพี้ยง สุริโย
    เลื้อยบ่ทำเดโช แช่มช้า
    พิษน้อยหยิ่งโยโส แมลงป่อง
    ชูแต่หางเองอ้า อวดอ้างฤทธี

                ซึ่งรู้สึกว่า ท่านเปรียบเปรยได้อย่างเจ็บแสบยิ่งกว่าบทใดๆ ที่มีการเปรียบเปรยแกมเย้ยหยันทำนองเดียวกันนี้

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×