ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #58 : พ่อมั่ง ในจดหมายพระราชกระแสฯ

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 648
      1
      8 ธ.ค. 52

    พ่อมั่งขา

                พ่อจงเป็นเชฐมัตตัญญู พ่อจงรู้วารน้ำจิต และอธิบายของข้าผู้พี่ อันขันธะทุพพลภาพมากอยู่แล้ว

                ด้วยแผ่นดินศรีอยุธยา ทรงพระเจ้าแผ่นดิน ๒ พระองค์แล้ว กับพี่ด้วยอีกคนหนึ่ง เป็น ๓ ตั้งแต่แผ่นดินล้นเกล้าล้นกระหม่อมสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ท่านได้ปราบดาภิเษกปีขาลนั้นมาได้ ๕ ปี ถึงปีมะแมพี่จึงเกิด

                ตั้งแต่จำความได้มา จนอายุได้ ๒๒ ปี ได้บวชในแผ่นดินนั้น ต่ออายุ ๒๓ จึงสิ้นแผ่นดินไป

                มาเป็นแผ่นดินของล้นเกล้าล้นกระหม่อมอีก ๑๖ ปี จึงมาเป็นแผ่นดินของพี่

                พระสงฆ์ผู้เป็นสงฆรัตนในกรุงศรีอยุธยาก็เห็นนุ่งสบงทรงจีวรเป็นลูกบวบทั้งสิ้นด้วยกัน แต่พม่ารามัญที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอยู่นั้นแหละ เห็นครองผ้าผิดกับพระภิกษุของเรา จึงเรียกกันว่า พระมอญ

                เดี๋ยวนี้พระไทยก็ห่มผ้าเป็นมอญ

                โดยอัตโนมัติปัญญาของพี่ เห็นว่าถ้าล้นเกล้าล้นกระหม่อมยังเสด็จอยู่ ก็เห็นจะให้ประชุมพระราชาคณะ ได้ว่ากล่าวกันให้เห็นว่าควรไม่ควรนานแล้ว นี่พี่กลัวจะเป็นบาปเป็นบุญ เป็นคุณเป็นโทษ พระสงฆ์จะแตกร้าวกันไป จึงมิได้ว่ากล่าว

                แต่ใจนั้นรักแต่อย่างบุราณอย่างเดียวนั้น และสืบไปเบื้องหน้าพระภิกษุไทยซึ่งห่มผ้าเป็นมอญนั้นศูนย์ไปพี่เห็นว่าจะควรกับศรีอยุธยา

                ก็ถ้าแม้นกลับมากขึ้นอีกด้วยเหตุอันใดอันหนึ่ง ชื่อของพี่ผู้ได้เป็นเจ้าแผ่นดิน ก็มีแต่จะเสียไป เขาจะว่าเป็นเมืองมอญเมืองพม่าไปเสียมาแต่ครั้งแผ่นดินนั้น นี่แลเป็นความวิตกของพี่มากนักหนา

                ให้พ่อเห็นแก่พี่ ช่วยเอาขึ้นแจ้งกับกรมหมื่นนุชิตชิโนรส เธอเป็นบรมญาติอันใหญ่ ทรงไว้ซึ่งผ้ากาสาวพัตร์ ทั้งรู้พระสัทธรรมของพระเจ้าเป็นอันมาก แล้วก็เป็นพระภิกษุศรีอยุธยา พี่มีจีวรอยู่ผืนหนึ่ง ให้พ่อช่วยถวายกรมหมื่นนุชิต ถ้าเธอจะรับเอาไว้ครองได้ ก็ให้ถวายเธอเถิด ถ้าเธอมิรับไว้ครองแล้ว ก็ให้เอาคืนมาเสีย

                เมื่อ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวรพระอาการมากอยู่ในปีสองปี จวนจะเสด็จสวรรคต

                ทรงพระราชวิตกกังวล หรือพูดง่ายๆ ว่าเป็นห่วงอยู่สามเรื่อง อันล้วนแต่เป็นเรื่องของบ้านเมือง คือหนึ่ง เรื่องผู้ปกครองแผ่นดินต่อจากพระองค์ ปัญหาข้อนี้ทรง สั่งเสียข้าราชการผู้ใหญ่ที่ทำราชการงานแผ่นดินด้วยกันมากับพระองค์ โปรดให้เลือกพระเจ้าแผ่นดิน ตามแต่ใจจะพร้อมเพรียงกัน ทรงคืนแผ่นดินให้ ให้เลือกผู้ที่จะรักษาแผ่นดินไว้ได้

                พระราชวิตก ข้อที่สอง ทรงเป็นห่วงเรื่องฝรั่ง ซึ่งต่างก็กำลังเข้ามาแสวงหาเมืองขึ้น ศึกสงครามรอบประเทศนั้นให้รัชกาลของพระองค์ได้ทรงจัดการจนเรียบร้อยหมดแล้ว เหลือแต่ฝรั่ง ทรง สั่งเสียว่าอย่าให้เสียทีได้

                พระราชวิตกข้อที่สาม คือเรื่องพระสงฆ์ห่มผ้าแหวกแบบเดียวกับพระสงฆ์มอญ พม่า ดังปรากฏอยู่ในพระราชกระแสที่อัญเชิญมานี้

                เมื่อ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงตั้งคณะสงฆ์ธรรมยุตกนิกาย หรือเรียกสั้นๆ ว่า ธรรมยุตขณะทรงผนวชใน พ.ศ.๒๓๗๒ หลังจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เสด็จขึ้นครองราชย์เพียง ๕ ปี โปรดให้พระสงฆ์คณะธรรมยุต ครองจีวรแหวกอกอย่างเดียวกับพระภิกษุมอญ พม่า

                เรื่องพระภิกษุครองจีวรคลุมแบบเก่า กับครองจีวรแหวกแบบอย่างพระมอญนี้ จะแตกต่างกันอย่างไรก็ไม่ทราบ

                แต่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ท่านทรงพระราชวิตกด้วยเรื่องจะเสื่อมเสียเกียรติยศแผ่นดิน ดังความในพระราชกระแสข้างต้น

                ว่าที่จริงแล้วมีผู้วิจารณ์ไว้ว่า จะเป็นมหานิกาย หรือธรรมยุต ก็ใช้พระไตรปิฎกฉบับเดียวกัน ไม่ว่าหลักธรรม คำสอน อรรถกดาฎีกา ตลอดจนพระวินัยส่วนใหญ่ ท่านว่าเพียงพระวินัยส่วนน้อยเท่านั้นที่ธรรมยุตเคร่งครัดกว่า

                พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงมิได้ทรงขัดขวางสมเด็จพระราชอนุชา เมื่อทรงตั้งคณะธรรมยุตโดยเหตุผลว่า พระสงฆ์ทั่วไปในขณะนั้น พระวินัยหย่อนยาน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ก็ยังทรงเป็นพระอ่อนวัยอ่อนอาวุโสเหลือกำลังของพระองค์ที่จะจัดการให้อยู่ในระเบียบพระวินัยได้ จึงทรงตั้งเป็นคณะเล็กๆ พอที่พระองค์จะสอนได้

                เรื่อง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงตั้งคณะธรรมยุตในรัชกาลที่ ๓ นี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงพระราชวิจารณ์ไว้ใน พระราชหัตถเลขา พระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ พระองค์แรกไว้ว่า

                 เป็นการต่อสู้มิใช่เล่น

                คงจะทรงหมายถึงต่อสู้เป็นนัยกับ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ แบบรู้ว่าไม่ชอบก็อย่าชอบ อะไรอย่างนั้น

                พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ พระชนมายุสูงกว่า สมเด็จพระราชอนุชา ถึง ๑๗ พรรษา เรียกว่าเป็นผู้ใหญ่กว่ามาก ทรงขันติอดกลั้นด้วยเรื่องพระสงฆ์ห่มอย่างมอญ พม่า อยู่ถึง ๒๑ ปี จนจวบจะสวรรคต จึงได้ตัดสินพระราชหฤทัย พูด

                ในท้ายจดหมายพระราชกระแส พระราชพงศาวดารจดไว้ว่า

                 จดหมายกระแสพระราชโองการฉบับนี้ ทรงพระกรุณาโปรดให้ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าอรณพ เขียนออกมา ณ วันอังคาร เดือน ๓ แรม ๒ ค่ำ ปีจอโทศก เพลาตี ๒ ทุ่มเศษ(พ.ศ. ๒๓๙๓)

                 พระองค์เจ้าอรณพคือ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอรรณพ พระราชโอรสลำดับที่ ๓๒ ใน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอุดมรัตนราษี ต้นราชสกุล อรรณพ ณ อยุธยา) เป็นพระราชโอรส ที่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ โปรดปรานมากพระองค์หนึ่ง ทรงสร้าง วัด มหรรณทราราม พระราชทาน

                 พ่อมั่งในจดหมายพระราชกระแสพระราชโองการ นั้น คือ พระองค์เจ้ามั่งพระราชโอรสลำดับที่ ๑๕ ใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒

                พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ นั้น พูดตามภาษาสามัญก็ต้องว่า ท่านเป็นพี่ใหญ่ในรัชกาลของท่าน

                น้องชายรองจากท่าน ที่พระชันษาอ่อนกว่า ๔ ๕ และ ๖ ปีตามลำดับ คือ พระองค์เจ้ากล้วยไม้ (กรมหมื่นสุนทรธิบดี) ต้นราชสกุล กล้วยไม้ ณ อยุธยาพระองค์เจ้ากุสุมา ต้นราชสกุล กุสุมา ณ อยุธยาและ พระองค์เจ้ามั่ง (กรมสมเด็จพระเดชาดิศร หรือ สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร) ต้นราชสกุล เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา

                สองพระองค์แรกสิ้นพระชนม์เสียแต่ในต้นรัชกาลที่ ๓ จึงคงทรงพระชนม์อยู่ถึงรัชกาลที่ ๔ เพียงพระองค์เจ้ามั่ง

                 พ่อมั่งของ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ท่านจึงเป็นพี่ใหญ่ของพระราชโอรสธิดาใน พระบาทสมเด็จพระพุทธ6เลิศหล้าฯ รองลงมาจาก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงนับถือ

                 เชฐมัตตัญญูแปลว่าพี่ใหญ่หรือ ผู้ใหญ่ ผู้รู้ผิดรู้ถูก

                 พ่อมั่งนี้ในรัชกาลที่ ๓ ทรงกรมเป็น กรมหมื่นและกรมขุน เดชอดิศร

                 พ่อมั่งจะไปกราบทูล กรมหมื่นนุชิตชิโนรส ว่ากระไรไม่ปรากฏ ปรากฏแต่ว่า เมื่อรับพระราชทานจีวรแล้ว กรมหมื่นนุชิตฯ ท่านก็ทรงครองทันที และทรงครองแบบภิกษุศรีอยุธา ตลอดพระชนมชีพ

                พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ท่านตรัสเรียกว่า แผ่นดินศรีอยุธยาหมายถึง กรุงรัตนโกสินทร์นั่นเอง เมื่อ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จปราบดาภิเษก พระราชพงศาวดารจดไว้ว่า

                 ณ กรุงเทพมหานคร บวรทวาราวดีศรีอยุธยา มหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมพระราชนิเวศมหาสฐาน

                 กรมหมื่นนุชิตชิโนรสเป็นพระราชโอรสลำดับที่ ๒๘ ใน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ รัชกาลที่ ๑ พระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าวาสุกรีทรงผนวชตั้งแต่สามเณร พระชันษาสูงกว่าพระองค์เจ้ามั่ง ๒-๓ พรรษา จึงปรากฏว่าทรงชอบพอกันมาก

                ในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ โปรดให้ทรงกรมเป็นกรมหมื่นนุชิตชิโนรส ทรงแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะหนกลาง ปกครองสงฆ์ในเขตกรุงเทพฯ ทั้งหมด ทรงเป็นที่เคารพยำเกรงของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เนื่องจากทรงศักดิ์ชั้นอา และยังทรงเป็นพระเถระผู้ใหญ่ ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ ทรงสถาปนาเป็น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส

                ทั้ง สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ และ สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร ในครั้งนั้น เป็น ผู้ถวายคำแนะนำ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เมื่อ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯไปทูลปรึกษา เรื่องสิทธิในราชสมบัติ ว่า ไม่ใช่เวลาควรจะปรารถนา อย่าห่วงราชสมบัติดีกว่า

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×