ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #51 : พระบัณฑูรใหญ่ พระบัณฑูรน้อย

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.32K
      2
      8 ธ.ค. 52

     
    เล่าเรื่องพระบัณฑูร (ใหญ่) หรือพระมหาอุปราช กับ พระบัณฑูรน้อย กรุงศรีอยุธยา และกรุงรัตนโกสินทร์ต่อไปอีกสักเล็กน้อย
                ในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ต้นมา ไม่ทราบว่าเคยมีพระบัณฑูร (ใหญ่) พระบัณฑูรน้อยหรือไม่ ปรากฏแน่ชัด แต่ในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา รัชกาลขุนหลวงสรศักดิ์ หรือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยามรินทร์ เพราะโปรดประทับ ณ พระที่นั่งนั้น รัชกาลนี้มีพระราชโอรสที่ประสูติแต่พระอัครมเหสี ๒ พระองค์
                พระองค์ใหญ่ คือ เจ้าฟ้าเพชร พระองค์เล็ก คือ เจ้าฟ้าพร
                ขุนหลวงสรศักดิ์ ทรงตั้งเจ้าฟ้าเพชรเป็นพระมหาอุปราช (พระบัณฑูรใหญ่) หรือกรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ วังหน้า และตั้งเจ้าฟ้าพรเป็นพระบัณฑูรน้อย
                ต่อมาเมื่อขุนหลวงสรศักดิ์สวรรคตแล้ว เจ้าฟ้าเพชรพระมหาอุปราช ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ออกพระนามตามที่เรียกกันทั่วไปว่า สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ เพราะโปรดประทับ ณ พระที่นั่งท้ายสระเพื่อทรงเบ็ด เจ้าฟ้าเพชรจึงทรงตั้งพระอนุชา พระบัณฑูรน้อยในแผ่นดินพระราชบิดา เป็นพระมหาอุปราช หรือ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ วังหน้า
                เรื่องเจ้าฟ้าเพชร เจ้าฟ้าพร นี้ ท่านมีเรื่องราวเกี่ยวพันกันมามาก เรียกว่า เป็นพี่น้องสนิท คู่ใจ คู่ตกทุกข์ได้ยากด้วยกันมาทีเดียว
                ตั้งแต่รัชกาลขุนหลวงสรศักดิ์ หรือที่ราษฎรเรียกกันว่า พระเจ้าเสือ เนื่องจากว่ากันว่าท่านดุร้ายมาตั้งแต่ยังเป็นหลวงสรศักดิ์ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
    เพนียดช้าง มองทางด้านพลับพลาที่ประทับ
    โขลงช้างในเพนียด มองเห็นพลับพลาที่ประทับทางซ้าย
                ในแผ่นดินพระราชบิดา พระบัณฑูรใหญ่พระบัณฑูรน้อย เคยรับพระราชอาญาด้วยกันมาครั้งหนึ่ง มีความพิสดารปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า ครั้งหนึ่งขุนหลวงสรศักดิ์เสด็จประพาสล้อมช้างเถื่อนในป่า โปรดให้พระบัณฑูรใหญ่ พระบัณฑูรน้อยจัดการแผ้วถางทางเสด็จ จึงที่ใดเป็นหลุมเป็นบึง พระบัณฑูรทั้งสองพระองค์ก็ให้จัดการถมทุบให้ดินแน่น แต่บังเอิญตรงที่หนึ่งทุบไม่แน่น ช้างพระที่นั่งของพระเจ้าแผ่นดินเกิดเหยียบถลำจมลงไปพาให้พระองค์ซวน ทำให้พระเจ้าเสือทรงพระพิโรธ ตรัสว่า ‘อ้ายพี่น้องสองคนนี้จะเป็นกบฎ หวังจะให้ช้างของกูล้มลงแล้วก็จะชวนกันฆ่ากูเสีย’ทรงเหลือบเห็นพระบัณฑูรใหญ่ พระบัณฑูรน้อยขับช้างตามท้ายช้างพระที่นั่งมา ก็ทรงเยื้องพระองค์ทรงพระแสงของ้าวเงื้อจะฟันพระเศียรพระบัณฑูรใหญ่ พระบัณฑูรน้อยตกพระทัยเอาด้ามพระแสงของ้าวของพระองค์กันพระเชษฐาไว้ได้ แล้วขับช้างทรงเข้ากันช้างพระเชษฐา พากันขับช้างแล่นหนีไปด้วยความกล้วพระราชอาชญาเป็นที่สุด
                ในหนังสือประวัติเชื้อสายของเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ (อู่) เล่าถึงตอนนี้ไว้ตามพระราชพงศาวดารว่า
                 “สมเด็จพระบรมราชปิตุรงค์ก็ยิ่งทรงพระพิโรธเป็นกำลัง จะไสพระคชาธารติดตามช้าง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ไปในทันทีทันใด ฝ่ายควาญท้ายช้างพระที่นั่ง เห็นว่าช้างทรงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองจะหนีไปมิทัน จึงเอาขอท้ายช้างเกี่ยวท้ายช้างพระที่นั่งเข้าไว้ให้ค่อยรอช้าลง พระคชาธารจะไล่ติดตามไปมิทัน จึงมีพระราชโองการตรัสร้องประกาศไปแก่ข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งปวงว่า ท่านทั้งหลายจงช่วยกันติดตามจับอ้ายขบถสองคนมาให้เราให้จงได้...ฯลฯ...”
                มีอรรถาธิบายว่า ควาญช้าง ท้ายพระที่นั่งที่ช่วยเหลือพระบัณฑูรใหญ่ พระบัณฑูรน้อยในครั้งกระนั้น คือหลวงทรงบาศ (เมฆ) ต่อมาเป็นเจ้าพระยาสุรสีห์พิศมาธิราช (เมฆ) ผู้เป็นบิดาของเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ (อู่) บรรพบุรุษของสกุลหลายสกุล คือ สุจริตกุล ทองอิน บุรณศิริ วิเศษกุล ศิริวัฒนกุล ภูมิรัตน์
                ต่อมา มีผู้นำพระองค์พระบัณฑูรใหญ่ พระบัณฑูรน้อย มาถวาย ณ ค่ายหลวง มีพระราชดำรัสสั่งให้ลงพระราชอาชญา เฆี่ยนองค์ละยก (๓๐ ที) และให้พันธนาการด้วยสังขลิกพันธ์ (โซ่ตรวนสำหรับจองจำเจ้านาย ซึ่งต้องพันด้วยผ้าขาวก่อนตามราชประเพณี) แล้วให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนรับเสด็จ เวลาเช้ายกหนึ่ง เย็นยกหนึ่ง ทุกวันไปจนกว่าจะเสด็จพระราชดำเนินกลับลงไปพระนคร
                ระหว่างรับพระราชอาชญาอยู่ที่ค่ายหลวง ก็มีนายผล ข้าหลวงเดิม เข้าไปเฝ้าเยี่ยมพระบัณฑูรทั้งสองพระองค์ ทรงปรึกษาหารือด้วยนายผล แล้วมีพระบัณฑูร ตรัสใช้ให้มหาดเล็กนำเรือเร็วรีบลงไปเฝ้าสมเด็จพระอัยกีกรมพระเทพามาตย์ ณ ตำหนักริมวัดดุสิต กราบมูลเหตุให้ทรงทราบทุกประการ
                สมเด็จพระอัยกี กรมพระเทพามาตย์ ในรัชกาลพระเจ้าเสือ คือ พระมเหสีเดิมของพระเพทราชา ซึ่งทรงเลี้ยงดูพระเจ้าเสือมาแต่ยังทรงพระเยาว์ คือเป็นแม่เลี้ยงนั่นเอง พระเจ้าเสือนี้ตามพระราชพงศาวดาร ว่าเป็นพะราชโอรสสมเด็จพระนารายณ์ฯ แต่ทรงยกให้พระเพทราชา แต่ครั้งยังเป็นขุนนางผู้ใหญ่รับไปเลี้ยงดูเป็นบุตรบุญธรรม พระอัครมเหสีเดิมของพระเพทราชา คือที่เจ้าฟ้าเพชร เจ้าฟ้าพรตรัสเรียกว่า สมเด็จพระอัยกี จึงทรงคุณูปการใหญ่หลวงแก่พระเจ้าเสือ ทรงเคารพนับถือเป็นอันมาก พระอิสริยยศ กรมพระเทพามาตย์ เป็นพระอิสริยยศของ พระพันปี พระบรมราชชนนี ในสมัยโบราณ กรมพระเทพามาตย์ แผ่นดินพระเจ้าเสือ หรือ ขุนหลวงสรศักดิ์ นี้ โดยทั่วไปเรียกกันว่า ‘เจ้าแม่วัดดุสิต’ เพราะเสด็จไปประทับทรงศีลอยู่ ณ พระตำหนักริมวัดดุสิต
                กรมพระเทพามาตย์ทรงทราบก็ทรงตกพระทัย รีบร้อนเสด็จลงมาเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวถึงที่ค่าย ขอพระราชทานอภัยโทษ ก็โปรดยกให้ ให้กรมพระเทพามาตย์นำทั้งสองพระองค์เสด็จกลับไปด้วย ต่อมาไม่ช้านาน เมื่อพระราชบิดาสิ้นความพิโรธแล้ว ก็เข้าเฝ้ารับราชการโดยปกติ
                ต่อมามีเรื่องให้พระเจ้าเสือกริ้วพระบัณฑูรใหญ่ จึงก่อนสวรรคต ทรงมอบราชสมบัติพระราชทานพระบัณฑูรน้อย แต่ครั้นเมื่อสวรรคตแล้ว พระบัณฑูรน้อย ก็กลับถวายราชสมบัติแก่พระเชษฐาพระบัณฑูรใหญ่
                พระบัณฑูรใหญ่ขึ้นครองราชย์ เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ที่มีพระนามเรียกกันโดยทั่วไปว่า พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ทรงตั้งพระบัณฑูรน้อย พระอนุชาคู่ทุกข์คู่ยาก เป็น พระมหาอุปราช หรือกรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ วังหน้า
                ซึ่งโดยราชประเพณีแล้วพระมหาอุปราช คือ ผู้ที่จะได้รับราชสมบัติต่อไป เนื่องจากเป็นที่สองรองจากพระเจ้าแผ่นดินอยู่แล้ว (หากไม่สวรรคตเสียก่อน พระเจ้าแผ่นดิน)
                แต่ครั้นพระเจ้าแผ่นดินครองราชย์นานเข้า (๒๕ ปี) ทรงมีพระราชโอรส เป็นเจ้าฟ้าที่โปรดปราน ก็คงจะแสดงให้ปรากฏพระราชประสงค์ที่จะให้พระราชโอรสได้สืบราชสมบัติต่อจากพระองค์
                ซึ่งกรมพระราชวังบวรฯ ต้องทรงไม่พอพระทัย ในที่นี้ต้องสรรเสริญ สมเด็จพระราชโอรส พระองค์ใหญ่ เจ้าฟ้านเรนทร์ กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ ซึ่งทรงเห็นว่า พระราชบิดาทรงได้รับราชสมบัติก็เพราะพระเจ้าอาถวายให้ จึงทรงปลีกพระองค์ออกทรงผนวชแล้วเลยไม่สึก
                ส่วนอีกสองพระองค์ คือเจ้าฟ้าอภัย และเจ้าฟ้าปรเมศร์ นั้น เลยทรงร้าวฉานกับกรมพระราชวังบวรฯ ผู้เป็นพระเจ้าอา
                ตรงนี้ก็คงทราบประวัติศาสตร์ และพระราชพงศาวดารกันดีอยู่แล้วว่า ก่อนพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระสวรรคต ทรงมอบราชสมบัติพระราชทานเจ้าฟ้าอภัย ทำให้เกิดศึกระหว่างอากับหลาน ผลสุดท้ายฝ่ายพระเจ้าอาชนะ เจ้าฟ้าทั้งสองพระองค์โดนประหารชีวิต
                พระเจ้าอา ผู้ทรงเป็นพระบัณฑูรน้อยในรัชกาลพระเจ้าเสือ พระราชบิดา และเป็นพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชกาลพระเจ้าท้ายสระ พระเชษฐาธิราช จึงได้ขึ้นครองราชสมบัติ พระนามที่รู้จักกันดี คือ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ (โกษฐ์ เป็นคำสะกดมาแต่โบราณ ในพจนานุกรมมีแต่คำว่า โกศ โกษ แปลว่า ที่ใส่ศพ และดอกไม้ตูม) ครองราชย์อยู่นานถึง ๒๖ ปี ตามประวัติศาสตร์ และพงศาวดาร ว่าเป็นรัชสมัยที่รุ่งเรืองที่สุด โดยเฉพาะทางศิลปะและการกวี
                คำว่า ‘ขุนหลวง’ นี้ เป็นคำเรียกพระเจ้าแผ่นดิน ในสมัยโบราณ แม้กรุงธนบุรี และต้นกรุงรัตนโกสินทร์ (ร.๑-๓) ก็เรียกกันว่า ‘ขุนหลวง’ เช่นในพระราชพงศาวดาร กล่าวถึง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชว่า ‘ขุนหลวงตาก’ แม้กรมพระราชวังบวรฯ ก็เรียกกัน ว่า ‘ขุนหลวงกรมพระราชวังบวรฯ’ ดังปรากฏในพระราชพงศาวดาร มีอยู่
                ในพงศาวดารกระซิบ ก็มีจดเอาไว้เมื่อเจ้าจอมแว่น หรือคุณเรือ จะกราบทูล เรื่อง เจ้าฟ้าบุญรอด (สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี) ทรงพระครรภ์ เจ้าจอมแว่น
    ก็กราบทูลกำชับเอากับ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ว่า
                 “ขุนหลวงเจ้าขา ดิฉันจะทูลความสักเรื่องหนึ่ง แต่ขุนหลวงอย่ากริ้วหนา”
                เวลานั้นราชาศัพท์คงจะยังไม่ลงรูปลงรอยนัก บางคำจึงยังคงใช้คำสุภาพอย่างผู้น้อยพูดกับผู้เป็นใหญ่กว่าโดยทั่วๆ ไป
                เล่าเรื่องพระบัณฑูรใหญ่ พระบัณฑูรน้อยกรุงศรีอยุธยา ยังไม่ถึงกรุงรัตนโกสินทร์
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×