ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #41 : พระมหาเจษฎาราชเจ้า

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 722
      3
      5 ก.ค. 52

    วันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ.๒๓๓๐ เป็นวันพระบรมมหาประสูติกาลแห่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า

    พระนาม พระมหาเจษฎาราชเจ้าเป็นพระนามถวายเฉลิมพระเกียรติขึ้นในรัชกาลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙

    สมเด็จพระมหาเจษฎาราชเจ้า ทรงเป็นสมเด็จพระบรมปิตุลา พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทางสมเด็จพระบรมชนกนาถ (คือเป็นพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) และทรงเป็นสมเด็จพระบรมไปยกาธิบดี (ตาทวด) ทางสมเด็จพระบรมราชชนนี (คือเป็นปู่สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี)

    พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงเคารพในพระบาทสมเด็จพระเจษฎามหาราชเจ้าเป็นอย่างยิ่ง

    เมื่อถึงวันพระบรมราชสมภพ หรือวันพระบรมมหาประสูติกาล ครบ ๑๐๐ ปี ในวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๒๙ จึงทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นการฉลองพระเดชพระคุณถวายเป็นการใหญ่

    พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ได้ทรงพระราชนิพนธ์พระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ขึ้น ๓ กัณฑ์ กัณฑ์ที่ ๑ ว่าด้วย เรื่องพระราชสันตติวงศ์ กัณฑ์ที่ ๒ ว่าด้วย พระบรมราชประวัติก่อนเสด็จดำรงสิริราชสมบัติ กัณฑ์ที่ ๓ ว่าด้วย พระบรมราชประวัติ เมื่อเสด็จดำรงสิริราชสมบัติ

    ได้ทรงพระราชนิพนธ์โคลงสี่สุภาพ แสดงพระราชดำริในการที่ทรงพระราชนิพนธ์พระธรรมเทศนาครั้งนี้ว่า
     ตูผู้แต่งเทศน์เอื้อน          อนุสรณ์นี้ฤา
    ชื่อจุฬาลงกรณ์                 เนื่องเชื้อ
    สำหรับแต่การจร              คราวหนึ่ง แลนา
    ย่นย่อพอแต่เนื้อ                 เรื่องตั้งฟังเองฯ

    ในการถวายพระธรรมเทศนาครั้งนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร ถวายเทศนาแสดงพระราชสันตติวงศ์แห่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ หม่อมเจ้าพระสถาพรพิริยพรต ถวายเทศนา บรรยายพระราชประวัติในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เมื่อยังมิได้เสด็จดำรงสิริราชสมบัติ

    และพระธรรมวโรดม (แดง) ถวายเทศนา บรรยายพระราชประวัติเมื่อเสด็จดำรงสิริราชสมบัติเป็นเวลา ๒๗ ปี

    พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากรนั้น สืบเนื่องอยู่ในพระวงศ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ พระนามเดิมว่า หม่อมเจ้ากระจ่าง ลดาวัลย์ พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูมินทรภักดี (พระองค์เจ้าลดาวัลย์) ทรงผนวชเณรตั้งแต่พระชันษา ๑๑ อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ตลอดมาจนสิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดฯ ให้เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ทรงได้รับเลื่อนพระยศเป็นพระองค์เจ้า และเลื่อนตำแหน่งทางสมณะเรื่อยมาจนกระทั่งเป็นเจ้าคณะใหญ่ ตำแหน่งสมเด็จพระพุฒาจารย์ กำลังจะได้เป็นพระสังฆราชเจ้าก็สิ้นพระชนม์เสียก่อน (ประสูติ พ.ศ.๒๓๘๕)

    หม่อมเจ้าพระสถาพรพิริยพรต สืบเนื่องในพระวงศ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เช่นเดียวกับพระองค์เจ้า พระอรุณฯ พระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนเจริญผลพูนสวัสดิ์ (พระองค์เจ้าชมพูนุท) ทรงผนวชสามเณรเมื่อพระชันษา ๑๕ แล้วอุปสมบทเป็นพระภิกษุ พระองค์เจ้าพระอรุณฯ ทรงเป็นพระกรรมวาจาจารย์ ท่านทรงเรียกพระองค์เจ้าพระอรุณฯว่า เสด็จพระองค์อรุณ

    ต่อมาหม่อมเจ้าพระสถาพรฯ ทรงได้รับเลื่อนยศเป็นพระองค์เจ้าพระสถาพรพิริยพรต แล้วเป็นพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ ในรัชกาลที่ ๖ ทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า เลื่อนพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า

    หรือสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์

    พระราชวงศ์ที่ทรงดำรงตำแหน่งพระสังฆราชในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ทรงเป็น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ๓ พระองค์ พระอิสริยยศก่อนทรงผนวช เป็นพระองค์เจ้า พระราชโอรสในวังหลวง และวังหน้า และเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวง ๒ พระองค์

    พระธรรมเทศนา พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงนั้น ขอเชิญมาลงแต่เฉพาะบางส่วน เริ่มแต่พระราชประวัติก่อนเสด็จดำรงสิริราชสมบัติ

    ข้อความในเครื่องหมายอัญประกาศเป็นพระราชนิพนธ์ ซึ่งคงสะกดการันต์ไว้ตามฉบับพิมพ์ในงานฉลองพระชันษา พระวิมาดาเธอฯ กรมพระสุทธาสินีนาฏฯ เสมอด้วยพระชนมายุแห่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ (พ.ศ.๒๔๖๙)

    บางส่วนในพระธรรมเทศนา กัณฑ์ที่ ๒

     พระองค์เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย แต่เมื่อยังเสด็จดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร สมเด็จพระบรมอรรคราโชรสแห่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ ซึ่งเสด็จดำรงราชมไหสุริยสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ในขณะนั้น กรมสมเด็จพระศรีสุลาไลยเป็นพระบรมราชชนนี ได้เสด็จประสูตร ณ พระราชวังเดิม ซึ่งเป็นพระราชวังเก่าแห่งเจ้ากรุงธนบุรี ณ ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝ่ายตะวันตก พระองค์ทรงพระเจริญขึ้นโดยลำดับ ได้รับพระมหากรุณาและพระเมตตา แห่งสมเด็จพระบรมไอยกาธิราชแต่ทรงพระเยาว์มา จนตลอดถึงเวลาพระชนมายุครบกำหนดโสกันต์

    ในขณะนั้นยังหาได้มีธรรมเนียมพระหน่อเจ้าต่างกรมโสกันต์ในพระบรมมหาราชวังดังในประจุบันนี้ไม่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ ทรงพระมหากรุณาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นพระราชนัดดา จึงโปรดเกล้าฯ ให้โสกันต์ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวังเป็นการพิเศษ แล้วก็ได้ทรงบรรพชา แลอุปสมบทเฉพาะพระภักตร์สมเด็จพระบรมไอยกาธิราชในวัดพระศรีรัตนศาสดารามทั้ง ๒ สมัย

     ยังหาได้มีธรรมเนียมพระหน่อเจ้าต่างกรมฯหมายถึง ก่อนหน้านั้นขึ้นไป ยังไม่เคยมีธรรมเนียมให้โอรสของเจ้าต่างกรม ซึ่งมักจะดำรงพระยศเป็นเพียงพระองค์เจ้า หรือหม่อมเจ้า ทรงโสภัณฑ์ในพระบรมมหาราชวัง มีเพียงพระราชโอรสในพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น จึงจะทรงโสกันต์ที่พระมหาประสาท เวลานั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงดำรงพระยศเพียงหม่อมเจ้า พระโอรสในเจ้าฟ้าต่างกรม

     พระเจ้าแผ่นดินใหญ่ขณะนั้นมีทั้งวังหลวงและวังหน้า เท่ากับมีพระเจ้าแผ่นดิน ๒ พระองค์ วังหลวงจึงเป็นพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ วังหน้าเท่ากับพระเจ้าแผ่นดินที่สองรองลงมา

     ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยได้เสด็จเถลิงถวัลยราชอุปราชาภิเศก เปนกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในท้ายรัชกาลที่ ๑ นั้น พระองค์ก็ได้ดำรงพระยศเปนพระเจ้าหลานเธอ แลได้รับราชการในพระบรมชนกนารถทั่วไป เปนที่ไว้วางพระราชหฤทัยอันสนิท ยิ่งกว่าพระราชโอรสพระองค์อื่น จนถึงสมัยเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์เสด็จสวรรคต ทรงมอบศิริราชสมบัติพระราชทานแด่ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย ในขณะนั้นมีหนังสือทิ้งกล่าวโทษ เจ้าฟ้าอภัยธิเบศร์กรมขุนกษัตรานุชิต ผู้เป็นพระราชโอรสแห่งเจ้ากรุงธนบุรี ว่าจะคิดประทุษฐร้ายต่อพระองค์ (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ-จุลลดาฯ) เมื่อได้ทรงทราบแล้วก็ทรงพระราชดำริห์ด้วยวิจารณปัญญาอันอุดม ทรงเห็นว่าพระบรมวงศานุวงศ์แลข้าราชการผู้อื่น จะไม่มีผู้ใดกอบด้วยสติปัญญา แลกล้าหาญ ซื่อตรง จงรักภักดีต่อพระองค์ยิ่งขึ้นไปกว่าพระเชษฐราโชรสพระองค์นี้ได้ ถ้าจะให้ผู้อื่นชำระเนื้อความจะยืดยาว ฤาเคลื่อนคลายไป ไม่เปนการจับมั่นทั่วถึงโดยรอบคอบ ก็จะเปนเหตุให้เกิดเสี้ยนสัตรูลุกลามมากไป ฤาเปนเชื้อสายให้เกิดเหตุอันตรายสืบไปภายน่า ด้วยเหตุว่าในเวลานั้นข้าราชการซึ่งเป็นคนเก่าได้ทำราชการมาแต่ครั้งเจ้ากรุงธนบุรี ก็ยังมีปะปนอยู่โดยมาก ที่มีความนิยมนับถือต่อพระบารมีพระบรมเดชานุภาพในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ทั่วหน้ากันก็จริงอยู่ แต่ที่มีความนิยมยินดีต่อพระบรมเดชานุภาพแลพระบารมีของพระองค์ก็มีโดยมาก ที่มีความนิยมยินดีต่อบุญบารมีของเชื้อวงศ์เจ้ากรุงธนบุรี อันเนื่องประพันธ์ด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ แล้วคิดเห็นว่า ถ้าได้เจ้านายเช่นนั้นเปนพระเจ้าแผ่นดินจะเปนอันได้ฉลองพระเดชพระคุณทั้งเจ้ากรุงธนบุรีที่เป็นเจ้าเก่านายแก่ แลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ ซึ่งเป็นเจ้าใหม่นายใหม่ทั้งสองฝ่าย ดังนี้ก็มีอยู่โดยมาก ที่คิดเห็นแก่ประโยชน์ตนที่จะได้โอกาศทำการทุจริต เพราะจะได้มีความชอบต่อผู้ซึ่งจะเป็นเจ้าแผ่นดินก็จะมีบ้าง จึ่งเปนการยากที่จะไว้วางพระราชหฤทัยในท่านผู้ใดผู้หนึ่ง ซึ่งจำเปนจะต้องให้ประกอบพร้อมทั้งสติปัญญาแลความกล้าหาญแลความจงรักภักดีทั้งสามประการ จึ่งจะสามารถที่จะชำระเสี้ยนสัตรู ทั้งนี้ให้สิ้นรากเง่า ระงับการจลาจล ซึ่งจะเกิดขึ้นในเวลาที่ตั้งพระราชธานีใหม่ ยังไม่มั่งคั่งสมบูรณ์ฉนั้น ให้ความสงบเรียบร้อยตั้งอยู่ไม่เปนที่เดือดร้อนแก่สมณาจารย์ประชาราษฎรภายในพระนคร แลไม่เปนที่หมิ่นประมาทแก่ราชดัษกรภายนอก ซึ่งจะพลอยซ้ำเติมได้

    เพราะทรงพระราชดำรัสเห็นการเปนข้อสำคัญยิ่งใหญ่ดังนี้ จึ่งทรงมอบให้พระบรมเชษฐราโชรส อันทรงทราบพระราชหฤทัยชัดว่าประกอบด้วยคุณสามประการดังพรรณนามาแล้วนั้น ให้ทรงพิจารณาข้อความทั้งปวง แต่ในเวลาซึ่งพระองค์ยังตั้งอยู่ในประถมวัย มีพระชนมายุเพียง ๒๓ พรรษา พระองค์ก็ได้ทรงพิจารณาตัดรอน เลือกฟันได้ตัวผู้ซึ่งมีความเห็นอันวิปริตทั้งหลายทั่วทุกคนมิได้เหลือหลง แล้วนำความขึ้นกราบทูลแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกนารถ จึ่งโปรดให้ลงโทษระงับเหตุการทั้งปวงได้โดยเร็วพลัน การก็เรียบร้อย มิได้มีเหตุอันตรายแก่ความสงบเรียบร้อยเกิดขึ้นอย่างหนึ่งอย่างใดได้อีก เปนความชอบอันยิ่งใหญ่ ซึ่งพระองค์ได้ทำไว้ในแผ่นดินเป็นประถม...”
    และ
     ...ก็แลในเวลารัชกาลที่ ๒ นั้น พระองค์ได้ทรงรับราชกิจน้อยใหญ่ให้สำเร็จไปเปนอันมากมิได้เว้นว่าง ในราชการซึ่งเปนการประจำนั้นพระองค์ได้ทรงบังคับบัญชาราชการในกรมท่าสิทธิ์ขาดทั่วไป แต่ในขณะนั้นราชการกรมท่าหาสู้จะมีคนต่างประเทศไปมาค้าขายมากนักไม่ ด้วยมิได้มีหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีกับนานาประเทศ ซึ่งจะเปนเหตุให้มีราชการมากเหมือนประจุบันนี้ พระราชทรัพย์ซึ่งจะจับจ่ายราชการแผ่นดินที่ได้แต่ค่านาอากร สมพักศรในพื้นบ้านพื้นเมืองก็มีน้อย ไม่พอที่จะจ่ายราชการ เพราะฉะนั้นพระเจ้าแผ่นดินจึงต้องทรงแต่งสำเภา บันทุกสินค้าออกไปค้าขายยังประเทศจีน เมื่อได้ประโยชน์กำไรก็พอได้มาเจือจานใช้ในราชการซึ่งจะรักษาพระนคร

    แลการแต่งสำเภาออกไปค้าขายเมืองจีนนี้ ตกเป็นน่าที่ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงจัดแต่งสำเภาหลวงตลอดมา จึ่งเปนพนักงานของพระองค์ที่จะต้องทรงขวนขวายหาพระราชทรัพย์ ถวายสมเด็จพระบรมชนกนารถ ที่จะได้ทรงใช้จ่ายในราชกิจทั้งปวง ถึงแม้ว่าเปนเวลาซึ่งการค้าขายมิได้บริบูรณ์ พระราชทรัพย์ซึ่งจะได้จากส่วนกำไรการค้าขายบกพร่องไม่พอจ่ายราชการพระองค์ก็ทรงพระอุสาหะขวนขวายมิให้เป็นที่ขุ่นเคืองฝ่าละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระบรมชนกนารถ ในเวลานั้นเจ้านายข้าราชการที่มีทุนรอนพอจะแต่งสำเภาไปค้าขายเมืองจีนได้ ก็ได้แต่งสำเภาไปค้าขายอยู่ด้วยกันโดยมาก พระองค์ก็ได้ทรงแต่งสำเภาไปค้าขายในส่วนของพระองค์อีกส่วนหนึ่งต่างหาก จึ่งถึงซึ่งความบริบูรณ์ด้วยทรัพย์พอที่จะฉลองพระเดชพระคุณ มิให้ขัดขวางในทางราชการได้...”

    เงินที่ได้จากการค้าสำเภาส่วนพระองค์นี้ ส่วนที่เหลือจากการฉลองพระเดชพระคุณสมเด็จพระบรมชนกนาถ ในรัชกาลของพระองค์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ โปรดฯให้บรรจุไว้ในถุงแดงเก็บไว้ในหีบข้างพระที่ เป็นที่มาของคำว่า พระคลังข้างที่มิได้ทรงนำออกใช้จ่าย จนใกล้สวรรคตจึงทรงมีพระราชดำรัสยกให้พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ต่อไปเก็บไว้ใช้สอยในราชการ จะได้เอาไว้ ไถ่บ้านไถ่เมือง

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×