ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #39 : พระองค์เจ้าทินกร

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.15K
      3
      6 มิ.ย. 52

    พระอนุชาองค์สุดท้ายในสามพระองค์ คือพระองค์เจ้าทินกรนั้นท่านเป็นกวี เคยเล่าเรื่องของท่านไว้บ้างแล้ว เรื่องหนึ่งว่าท่านเป็นบรรพบุรุษของจิตรกรเอก เหม เวชกรผู้ซึ่งวาดภาพชายหญิงไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา จนกระทั่งเป็นต้นแบบมาจนทุกวันนี้ ภาพประกอบเรื่องขุนช้างขุนแผน ล้วนเป็นฝีมือของ เหม เวชกร

    ส่วนอีกเรื่องหนึ่งอยู่ในเรื่องคุณพุ่ม (บุษบาท่าเรือจ้าง) กวีหญิงผู้โด่งดังในสมัยรัชกาลที่ ๓

    จะว่าไปแล้ว สิทธิสตรีโดยเฉพาะสตรีชาวรั้วชาววังจะว่าเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยนั้นก็ว่าได้

    อย่างคุณพุ่ม เดิมเป็นชาววังตำแหน่งพนักงานพระแสง ซึ่งมีหน้าที่ใกล้ชิดพระเจ้าแผ่นดิน ต้องเป็นคนที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง เพราะต้องเชิญพระแสงตามเสด็จแต่บนที่ (ที่พระบรรทม เรียกกันสั้นๆ ว่า บนที่) ไปทรงบาตร เมื่อเสด็จกลับขึ้นหอพระต้องคลานผ่าน6เจ้านายฝ่ายใน ซึ่งเฝ้าอยู่ตลอดพระที่นั่งไพศาลทักษิณมาถวายพระแสงให้ทรงถือที่พระทวารา (ในรัชกาลที่ ๔ พระราชทานชื่อพระทวารานี้ว่า เทวราชมเหศร)

    ต่อมาคุณพุ่มกราบถวายบังคมลากลับไปอยู่บ้านบิดา อ้างว่าป่วยไม่สบาย บ้านพระยาราชมนตรี (ทู่) อยู่ตรงท่าช้างวังหลวงในปัจจุบันนี้ คุณพุ่มมีแพอยู่หน้าบ้านทำนองสโมสร ซึ่งมีผู้เข้าใจว่าเป็นบ้านเรือนของคุณพุ่มด้วย แต่ที่จริงแล้วคุณพุ่มไม่ได้นอนในแพนั้น แพเป็นเพียงที่ชุมนุมเล่นสักวาทำนองสโมสรดังกล่าว การเล่นสักวาและแต่งเพลงยาวในสมัยรัชกาลที่ ๓ เฟื่องฟูมาก โดยเฉพาะการชุมนุมที่แพของคุณพุ่มต้องเป็นสังคมชาวราชสำนักที่ ดังมากทีเดียว ถึงอย่างไรก็ต้องถึงพระกรรณพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ชายหนุ่มชั้นสูงที่มาชุมนุมเล่นสักวา ขณะนั้นล้วนแต่กำลังเป็นหนุ่มคะนอง สามพระองค์ทรงเป็นพระเจ้าน้องยาเธอในรัชกาลที่ ๓ คือ พระองค์เจ้าทินกร (กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์) สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ) พระองค์เจ้านวม (กรมหลวงวงศาธิราชสนิท)

    อีกสองท่าน ผู้หนึ่งคือ หลวงนายสิทธิ (ช่วง) (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์) บุตรชายใหญ่ของเจ้าพระยาพระคลัง (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ในรัชกาลที่ ๔) อีกผู้หนึ่งคือ พระสุริยภักดี (สนิท) บุตรชายใหญ่ของพระยาศรีพิพัฒน์ (ทัดหรือทัต)-(สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติในรัชกาลที่ ๔)

    ใน ๓ พระองค์ และ ๒ ท่าน นี้ พระองค์เจ้าทินกรสูงพระชันษากว่าเพื่อน ประสูติ พ.ศ.๒๓๔๔ ส่วน สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี พระองค์เจ้านวม และหลวงนายสิทธิ ประสูติและเกิดปีเดียวกัน (พ.ศ.๒๓๕๑)

    พระสุริยภักดี (สนิท) อายุน้อยที่สุด เกิด พ.ศ.๒๓๕๕

    พระสุริยภักดี เมื่อเกิดเรื่องส่งเพลงยาวถึงกันและกันกับเจ้าจอมอิ่ม จนต้องโทษนั้น พ.ศ.๒๔๘๑ อายุเพียง ๒๖-๒๗ ปี ระหว่างเริ่มเป็นหนุ่มคะนองเล่นสักวาในต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ อายุคงจะประมาณ ๑๙-๒๐ สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี พระองค์เจ้านวม และหลวงนายสิทธิ ก็คงประมาณ ๒๔-๒๕ ส่วนพระองค์เจ้าทินกรพระชันษาสูงกว่าท่านผู้อื่น เห็นจะประมาณ ๓๐

    เรื่องพระสุริยภักดี (สนิท) กับเจ้าจอมอิ่มเคยเล่ามาแล้ว

    ได้กล่าวถึง สิทธิสตรีในสมัยนั้น นอกจากคุณพุ่มแล้ว แม้สตรีชาวรั้วชาววังท่านอื่น หากจะกราบถวายบังคมลาออกไปอยู่บ้าน หรือไปมีสามีข้างนอก พระเจ้าแผ่นดินท่านก็ไม่ทรงว่า และเมื่อออกไปแล้ว จะไปประพฤติอย่างไรท่านก็ไม่ทรงสนพระทัย แต่สำหรับเรื่องราวนั้นคงจะเข้าพระกรรณอยู่บ้าง

    เช่นเจ้าจอมมารดาลูกจันทน์ ซึ่งเข้าใจว่าจะเป็นเจ้าจอมพระสนมท่านสุดท้าย เพราะหลังจากมีพระองค์เจ้าหญิงประสูติ พ.ศ.๒๓๖๖ คือ พระองค์เจ้าแม้นเขียนแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯก็เสด็จสวรรคต พ.ศ.๒๓๖๗ ถัดมาอีกปีเดียว แต่พระองค์เจ้าแม้นเขียนมิใช่พระราชธิดาองค์สุดท้าย พระราชธิดาองค์สุดท้ายประสูติ พ.ศ.๒๓๖๗ คือพระองค์เจ้ากนิษฐน้อยนารี ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาอัมพาหรืออำภา เป็นพระองค์ที่ ๕ ของเจ้าจอมมารดาอัมพา

    เจ้าจอมมารดาลูกจันทน์นี้ว่ากันว่าอายุเพียง ๑๘-๑๙ ปี รูปร่างหน้าตาสวยสดงดงาม

    เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ เสด็จสวรรคตแล้ว ว่ากันว่า กรมหลวงภูวเนตรฯ ทรงส่งเพลงยาวไป เกี้ยวเจ้าจอมมารดาลูกจันทน์จึงออกจากวังหลวงไปอยู่วังกรมหลวงภูวเนตรฯ

    การออกจากวังหลวงไปนั้น ไม่ทราบแน่ชัดว่าออกไปเฉยๆ หรือกราบถวายบังคมลา แต่น่าจะเดาว่าในฐานะของเจ้าจอมมารดา มีพระเจ้าลูกเธออยู่ๆ คงจะออกไปเฉยๆ ไม่ได้ เห็นจะต้องมีท้าวนางกราบทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เจ้าจอมมารดาลูกจันทน์จึงได้ไปเป็น หม่อมในพระองค์เจ้าทินกร

    อยู่ต่อมาพักหนึ่ง เจ้าจอมมารดาลูกจันทน์ก็ออกจากวังพระองค์เจ้าทินกร ย้ายไปอยู่วังกรมหมื่นพิทักษ์เทเวศร์ (พระองค์เจ้ากุญชร กรมพระพิทักษ์เทเวศร์) พระเชษฐาองค์กลาง

    ไม่นานนักก็ย้ายไปอยู่วัง กรมขุนพิพิธภูเบนทร์ (พระองค์เจ้าพนมวัน กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์) พระเชษฐาองค์ใหญ่

    ว่ากันว่า เจ้าจอมมารดาลูกจันทน์ ท่านเตร็ดเตร่ไปเรื่อยๆ แม้จะเป็นที่ทราบกันอยู่ แต่เมื่อออกมาจากวังแล้ว ท่านก็มี สิทธิสตรีเช่นเดียวกับคุณพุ่ม

    ตรงนี้อาจมีผู้ถามว่าแล้วพระสุริยภักดีและเจ้าจอมอิ่มทำไมจึงต้องพระราชอาญาถึงประหารชีวิตทั้งคู่

    เพราะมีผู้ฟ้องร้องขึ้นไปกราบบังคมทูล จึงได้โปรดฯให้ลูกขุนพิจารณาโทษ ลูกขุนพร้อมกันตัดสินโทษตามกฎมณเฑียรบาล ซึ่งกำหนดโทษไว้ว่า

     อนึ่ง ข้าเฝ้าทั้งปวงใช้หนังสือกาพย์ โคลงเข้าวัง สื่อชักคบค้ากำนัลสาวใช้ฝ่ายใน โทษถึงตาย

    อนึ่ง ข้าฝ่ายในคบผู้ชายหมู่นอกใช้หนังสือกาพย์โคลงไปมา โทษถึงตาย

    เสมอนางกำนัลสาวใช้ยังโทษถึงตาย นี่เป็นถึงเจ้าจอมในรัชกาลปัจจุบัน

    ส่วนเจ้าจอมมารดาลูกจันทน์นั้น เป็นเจ้าจอมในรัชกาลที่ล่วงแล้ว เมื่อออกไปก็ไปอยู่วังเจ้านาย พูดง่ายๆ ว่าถึงจะมีผัวใหม่ ก็ได้เจ้านายชั้นพระบรมวงศ์ บางทีจะโปรดฯพระราชทานให้ด้วยซ้ำไป เพราะเคยมีปรากฏแล้วเรื่องพระราชทานเจ้าจอมที่ยังสาวและมิได้มีพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลก่อนให้แก่พระบรมวงศ์

    เรื่องหญิงตามชายไปโดยสมัครใจ และภายหลัง หญิงเลิกราไปอยู่กับชายอื่นนี้ ถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯได้ทรงประกาศพระราชบัญญัติเรื่องลักพาความตอนหนึ่งว่า

    ‘...อนึ่ง หญิงซึ่งตามชายไปโดยความสมัครรักใคร่กันเอง บิดามารดามิได้ยอมยกให้ ไม่ได้แต่งมีทุนสินสอดอย่างนี้ ก็เชื่อว่าเป็นหญิงไม่ดี ชายจะถือว่าเป็นเมียไม่ได้ ก็เมื่อไม่สมัครอยู่กับชาย จะหนีกลับมาหาบิดามารดาแลญาติพี่น้องก็ดี จะตามชายอื่นไปก็ดี ชายที่เรียกว่าเป็นผัวนั้น จะตามฟ้องร้องเร่งรัดเอาตัวหรือจะเอาเบี้ยปรับแก่ชายชู้ใหม่ไม่ได้ เพราะมันมาฉันใดให้มันไปฉันนั้น...’

    ประกาศฉบับนี้ แม้จะทรงตำหนิผู้หญิงว่าไม่ดี แต่พิจารณาอีกแง่ดูจะเป็นการให้ สิทธิสตรีไม่น้อยทีเดียว

    ในสมัยก่อนโน้น คงจะมีการฟ้องร้องเกี่ยวกับลูกหลานหนีตามผู้ชายกันเสมอๆ  ประกาศเรื่องเกี่ยวกับการลักพา จึงมีความอีกตอนหนึ่งว่า

     บุตรหญิงของใครๆ จงระวังรักษาเอง จงหาผัวให้เป็นที่ชอบใจเร็วๆ เถิด ถ้าเกิดเหตุติดตามผู้ชายไป ก็จะต้องคงลงให้ถามตามใจหญิงสมัคร ผู้ลอบลักพาถ้าไม่ได้ขอสมาก็ให้มีเบี้ยละเมิด ของซึ่งหายในเวลาหญิงหนีตามชายไป (ถ้า) เจ้าทรัพย์สาบาลไว้ว่าหายไปเวลานั้น ผู้ลักพาก็ต้องใช้ ต้องเร่งรัดให้ใช้เจ้าของทรัพย์จนเต็ม หรือตามใจเจ้าทรัพย์ จะยอมลดยอมให้บ้าง (แต่) จะให้ว่ายิ่งกว่านี้ไปไม่ได้ เพราะบิดามารดาแลญาติผู้ใหญ่เลี้ยงบุตรหลานไม่ดี...

    เรื่องเจ้าจอมมารดาลูกจันทน์ในสมัยรัชกาลที่ ๓ คงจะ ดังอยู่ไม่น้อย เมื่อถึงรัชกาลที่ ๔ จึงทรงประกาศ มีพระบรมราชานุญาตให้เจ้าจอมพระสนมในรัชกาลก่อนๆ หรือแม้แต่ในรัชกาลของพระองค์ที่มิได้มีพระองค์เจ้าลูกยาเธอและลูกเธอ กราบถวายบังคมลาออกจากราชการได้ ให้กราบถวายบังคมลาโดยตรง แม้จะออกไป มีลูกมีผัวก็ไม่ทรงหวงห้าม แต่ ห้ามแต่อย่าให้สนสื่อหาชู้หาผัวแต่ตัวยังอยู่ในราชการด้วยอุบายทางใดทางหนึ่งก่อนกราบบังคมทูลพระกรุณาเป็นอันขาดทีเดียว เป็นดังนั้นจะเสียพระราชกำหนดสำหรับแผ่นดินไป...

    เล่าเรื่องเสียยืดยาว เพราะทั้งคุณพุ่มและเจ้าจอมมารดาลูกจันทน์มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกันกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ เอ่ยพระนามกรมหลวงภูวเนตรฯ ผู้รู้จักท่านคงมีไม่มากนัก นอกเสียจากผู้สนใจเรื่องกวี แต่ถ้าหากบอกว่า ท่านเป็นผู้ทรงนิพนธ์เรื่องแก้วหน้าม้าที่กำลังแข่งกันกระโดดโลดเต้นในจอโทรทัศน์สองช่องอยู่เวลานี้ และเป็นผู้ทรงนิพนธ์เรื่อง พระมณีพิชัย หรือ ส่วนมากเรียกว่า เรื่องนางยอพระกลิ่น (กินแมว) ก็คงจะร้องอ๋อไปตามๆ กัน

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×