ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #301 : กวีแห่งกรุงสยาม

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 811
      0
      20 เม.ย. 53

    เนื่องจากมีนักอ่านรุ่นใหม่หลายคนไม่เคยอ่านบทละคร เรื่องพระมะเหลเถไถ และบทละครเรื่องอุณรุทร้อยเรื่อง รวมทั้งบทละครเรื่องระเด่นลันได บางคนถึงถามมาว่าจะนำมาลงให้อ่านได้ไหม
               -นำมาลงทั้งหมดคงไม่ได้ เพราะแต่ละเรื่องยาวมากอยู่ ต้องหาอ่านเอง เข้าใจว่าอาจมีผู้ขอจากหอสมุดแห่งชาติพิมพ์แพร่หลายบ้างแล้ว อย่างไรก็ตามบทละครทั้ง ๓ เรื่องนี้ ผู้แต่งต่างเป็นกวีในสมัยรัชกาลที่ ๓ ถึงแม้เรื่องพระมะเหลเถไถจะเพิ่งมาแพร่หลายในหมู่ชาววังต้นรัชกาลที่ ๔ ซึ่งพากันท่องเล่น โดยจำจากผู้แต่งต่อๆกันมา แต่ก็สันนิษฐานว่าคุณสุวรรณผู้แต่งจะเริ่มแต่งตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๓ อันเป็นเวลาที่เริ่ม 'ฟุ้ง' ด้วยความเศร้าโศกเสียใจดังกล่าวมาแล้ว
               รัชสมัยรัชกาลที่ ๒ เป็นรัชสมัยกวีเฟื่องภายในราชสำนัก มีกวีสำคัญๆเกิดขึ้นหลายท่าน คนสำคัญที่สุด คือ สุนทรภู่ ดังที่ทราบและรู้จักกันดี
               ทว่าในสมัยรัชกาลที่ ๓ นั้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นสมัยแรกที่เกิด 'กวีอิสระ' 'แหวกแนว' ไปจากการแต่งวรรณกรรมแต่โบราณมา ที่จริงแล้วกวีท่านแรกที่ 'แหวกแนว' ไปจากแบบอย่าง คือ พระมหามนตรี (ทรัพย์) ผู้แต่งบทละครเรื่อง 'ระเด่นลันได' ส่วนบทละครเรื่อง 'พระมะเหลเถไถ' แต่งภายหลังจึงเพิ่งจะมาแพร่หลายในต้นรัชกาลที่ ๔
               เพื่อเปรียบเทียบถึงความแหวกแนวของบทละครทั้ง ๓ เรื่อง ขอคัดเพียงตอนต้นเรื่องมาลงตามคำขอ
               บทละครเรื่องพระมะเหลเถไถ (สะกดการันต์ตามเดิม)
                         ช้าปี่ เมื่อนั้น                            พระมะเหลเถไถมะไหลถา
                         สถิตยังแท่นทองกะโปลา            สุขาปาลากะเปเล
                         วันหนึ่งพระจึงมะหลึกตึก             มะเหลไถไพรพรึกมะลึกเข
                         แล้วจะไปเที่ยวชมมะลมเต          มะโลโตโปเปมะลูตู
                         ตริแล้วพระมะเหลจึงเป๋ป๋ะ           มะเลไตไคลคละมะหรูจู๋
                         จรจรัลตันตัดพลัดพลู                ไปสู่ปราสาทท้าวโปลาฯ ๖ คำ ฯ เพลงช้า
                  ร่าย  ครั้นถึงจึงเข้าตะหลุดตุด             ก้มเกล้าเค้าคุดกะหลาต๋า
                          มะเหลไถกราบไหว้ทั้งสองรา      จึงแจ้งกิจจามะเลาเตา   ด้วยบัดนี้ตัวข้ามะเหลเถ ไม่สบายถ่ายเทกะเหงาเก๋า จะขอลาสองราหน้าเง้าเค้า เที่ยวมะไลไปเป่าพนาวันฯ ๔ คำ ฯ
               เห็นได้ว่า ท่านแต่งเป็นบทละครมีทำนองลำนำกำกับตามแบบบทละคร แต่เป็นบทละครที่แหวกแนวด้วยการเล่นคำที่ไม่มีความหมาย ไม่เป็นภาษา ตามใจของผู้แต่ง แต่กลอนนั้นสัมผัสคล่องลื่นไม่ฝืดขัด แม้คำจะไม่เป็นภาษา ทว่า ก็ได้ความว่า พระมะเหลเถไถคิดจะไปเที่ยวป่า จึงไปลาพระบิดา คือท้าวไปลาที่ปราสาท ตามแบบหน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์ลาพ่อไปเที่ยวป่า แล้วตอนท้ายก็ไปได้นาง ยักษ์มาชิงนาง จึงรบกับยักษ์ เหมือนวรรณคดีบทละครเรื่องอื่นๆ ซึ่งซ้ำๆซากๆ (ซึ่ง) หากนักวิจารณ์นิยายละครโทรทัศน์สมัยนี้เกิดในสมัยนั้น ก็คงวิจารณ์ว่า 'น้ำเน่า' (ตามความหมายของ อาจารย์เจือ สตะเวทิน ผู้ให้กำเนิดคำนี้ หมายถึงนิ่งอยู่กับที่ไม่ไหลไปไหนจนเน่า)
               ก่อนถึงกวีแหวกแนว คนแรกแห่งกรุงสยาม ขอพูดถึง วรรณกรรมแหวกแนวของคุณสุวรรณ อีกเรื่องหนึ่งก่อนคือบทละครเรื่อง 'อุณรุทร้อยเรื่อง'
               เรื่องนี้ไม่สู้ดังเหมือนเรื่อง พระมะเหลเถไถ ซึ่งชาววังตั้งแต่รัชกาลที่ ๔-๕ ท่อง "พระมะเหลเถไถมะไหลถา สถิตยังแท่งทองกะโปลา สุขาปาลากะเปเล" กันได้คล่องแทบทุกคน ผู้เล่ามีญาติผู้ใหญ่รุ่นย่าที่เป็นชาววังไม่น้อยกว่าสิบท่าน แต่ละท่านล้วนท่องพระมะเหลเถไถได้ทั้งนั้น บางท่านท่องได้ยาว ท่องไปหัวร่อไปน้ำหมากหาไปขบขันภาษาเลอะๆเทอะๆของคุณสุวรรณ อย่างเช่น 'มะหรูจู๋' 'ตะหลุดตุด'
               บทละครเรื่องอุณรุทร้อยเรื่องตอนต้นว่าดังนี้
                         ช้าปี่ เมื่อนั้น พระอุณรุทผู้รุ่งรัศมี
                  สมสู่อยู่ด้วยนางจันที ภูมีตริตรึกนึกใน
                  แค้นด้วยอิเหนากุเรปัน กับนางสุวรรณมาลีศรีใส
                  เอานางจันสุดายาใจ ไปยกให้พระสมุทรบุตรระตู
                 เสียดายวงศ์อสัญแดหวา พระราชาเคืองแค้นแสนอดสู
                 เหม่เหม่อสุรินดูหมิ่นกู จะได้รู้ฤทธิ์กันในวันนี้ฯ
                 ปีนตลิ่ง ดำริพลางทางมีพจนารถ สั่งท้าวรันนุราชเรืองศรี
                 กับทั้งตำมะหงงเสนี จงจัดพลมนตรีอย่านานฯ ๒ คำ ฯ
                 ร่าย เมื่อนั้น กุมภกรรฐ์ คำนับรับบรรหาร
                กับพระคาวีปรีชาชาญ รับสั่งแล้วคลานออกมาฯ ๒ คำ ฯ
               บทละครเรื่องนี้ สมกับชื่อที่ว่า อุณรุทร้อยเรื่อง ซึ่งจะหมายความว่า อุณรุทรวมกับบทละครอีกร้อยเรื่อง หรือจะหมายความว่า นำบทละครอื่นๆมาร้อยเข้ากับเรื่องอุณรุท ก็ได้เช่นกัน
               คุณสุวรรณเธอแต่ง 'แหวกแนว' ด้วยการนำตัวละครในเรื่องจักรๆวงศ์ๆ ทุกเรื่องออกมา 'โลดเต้น' อยู่ในเรื่องเดียวกัน ซึ่งสำหรับชาววังหรือแม้แต่ชาวบ้านที่รู้จักตัวละครในเรื่องจักรๆวงศ์ๆ เหล่านี้เป็นอย่างดีใครได้ฟังหรือได้อ่านแล้ว ที่จะอดขบขันเสียได้เห็นจะไม่มี
               พระอุณรุทสมสู่อยู่ด้วยนางจันที ซึ่งเป็นตัวละคร มเหสีซ้ายของท้าวยศวิมล เป็นแม่เลี้ยงตัวร้ายของพระสังข์ทอง
               แต่แล้วพระอุณรุทกลับไปแค้นอิเหนา และนางสุวรรณมาลี ส่วนนางจันสุดานั้นเป็นนางเอกในเรื่องหลวิชัย-คาวี พระสมุทรนั้นก็เป็นพระเอกในเรื่องพระสมุทร แล้วไพล่ไปเหม่ๆเอากับอสุรินยักษ์ในเรื่องอะไรไม่ทราบ เพราะหลายต่อหลายเรื่องล้วนแต่ยักษ์เป็นผู้ร้ายทั้งนั้น
               เรื่องนี้ถ้าอ่านต่อไปจนจบ คนที่คุ้นกับเรื่องจักรๆวงศ์ๆรู้จักตัวละครในเรื่องเป็นอย่างดี ยิ่งอ่านก็จะยิ่งสนุก เพราะคุณสุวรรณเธอจับเอามา 'เล่น' ในเรื่องอุณรุทร้อยเรื่องของเธอ ดูเหมือนจะหมดแทบทุกตัวทีเดียว
               ทีนี้ก็มาถึงกวีฝีปากกล้า ซึ่งนับว่าเป็นท่านแรกที่แหวกวงการวรรณคดี ประเภทบทละครร้อง ที่สำคัญคือ สมัยนั้นเป็นสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ท่านกล้าแต่งเรื่องล้อเลียน วรรณคดีที่มีหน่อกษัตริย์เป็นพระเอก (เข้าใจกันว่า แม้คุณสุวรรณ ก็คงจะได้ความคิดเรื่องพระมะเหลเถไถ มาจากเรื่องระเด่นลันไดของพระมหามนตรี เพราะเรื่องระเด่นลันไดแต่งขึ้นก่อน)
               กวีท่านนี้ คือ พระมหามนตรี (ทรัพย์) จริงๆแล้วว่ากันว่า พระมหามนตรี (ทรัพย์) นับว่าเป็นกวีเอกท่านหนึ่ง แต่ชื่อเสียงไม่ดังเท่ากับงานบางชิ้น ซึ่ง 'ดัง' ไม่น้อยในสมัยรัชกาลที่ ๓ ต่อมาภายหลัง เมื่อมีผู้สนใจงานเด่นชิ้นหนึ่งของท่าน จึงได้มีผู้ใคร่ทราบประวัติ
               งานเด่นดังกล่าว คือบทละครเรื่อง 'ระเด่นลันได' ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า เป็นเรื่องล้อเลียนเรื่องอิเหนา วรรณคดีบทละครร้องในราชสำนักที่เฟื่องฟูอย่างที่สุด มาแต่ปลายสมัยอยุธยา
               ว่าที่จริงเรื่อง 'อิเหนา' นี้ก็ 'แหวกแนว' ออกไปจากเรื่องจักรๆวงศ์ๆ แต่ก่อนๆอยู่แล้ว เพราะเป็นเรื่องราชวงศ์ชวา ซึ่งว่ากันว่า มีความจริงอยู่บ้าง มิใช่เป็นเพียงนิทาน เรื่องอิเหนาเป็นเรื่องแขกชวา เรื่องระเด่นลันได ของพระมหามนตรี (ทรัพย์) ก็เป็นแขกแต่เป็นแขกฮินดู คนหนึ่งเป็นวณิพก เที่ยวสีซอขอทาน คนหนึ่งเป็นแขกเลี้ยงวัว มีเมียว่าเป็นหญิงชาวมลายู
               ที่ผู้ฟังผู้อ่านในสมัยนั้นสนุก ก็เพราะตัวละครของพระมหามนตรี มีตัวจริงทั้ง ๓ ตัว คือแขกลันได ขอทาน แขกประดู่มีคอกวัวเลี้ยงวัว ส่วนเมียนั้นชื่อนางประแดะ แขกลันไดอาศัยอยู่แถวๆโบสถ์พราหมณ์ เที่ยวสีซอขอทานอยู่แถวตลาดเสาชิงช้า ส่วนวัดมหรรณพาราม สมัยนั้นคงจะยังไม่ได้สร้าง เห็นจะเป็นที่ทางรกๆไปถึงแถวๆที่เรียกกันว่าสี่แยกคอกวัวเดี๋ยวนี้ ซึ่งครั้งกระนั้นคงเป็นคอกวัวของแขกประดู่นั่นเอง
                    ช้าปี่ มาจะกล่าวบทไป ถึงระเด่นลันไดอนาถา
               เสวยราชย์องค์เดียวเที่ยวรำภา ตามตลาดเสาชิงช้าหน้าโบสถ์พราหมณ์
               อยู่ปราสาทเสาคอดยอดด้วน กำแพงแก้วแล้วล้วนด้วยเรียวหนาม
               มีทหารหอนเห่าเฝ้าโมงยาม คอยปราบปรามประจามิตรที่คิดร้าย ฯ ๔ คำ ฯ
                    เที่ยวสีซอขอข้าวสารทุกบ้านช่อง เป็นเสบียงเลี้ยงท้องของถวาย
               ไม่มีใครชิงชังทั้งหญิงชาย ต่างฝากกายฝากตัวกลัวบารมี
               พอโพล้เพล้เวลาจะสายัณห์ ยุงชุมสุมควันแล้วเข้าที่
               บรรทมเหนือเสื่อลำแพนแท่นมณี ภูมีซบเซาเมากัญชา ฯ ๔ คำ ฯ
                     ร่าย ครั้นรุ่งแสงสุริยันตะวันโด่ง โก้งโค้งลงในอ่างแล้วล้างหน้า
               เสร็จเสวยข้าวดังกับหนังปลา ลงสระสรงคงคาในท้องคลอง
                     ชมตลาด กระโดดดำสามทีสีเหื่อไคล แล้วย่างขึ้นบันไดเข้าในห้อง
               ทรงสุคนธ์ปนละลายดินสอพอง ชโลมสองแก้มคางอย่างแมวคราว
               นุ่งกางเกงเข็มหลงอลงกรณ์ ผ้าทิพย์อาภรณ์พื้นขาว
               เจียระทดเสมียนละว้ามาแต่ลาว ดูราวกับหนังแขกเมื่อแรกมี
               สวมประคำดีควายตะพายย่าม หมดจดงดงามกว่าปันหยี
               กุมตระบองกันหมาจะราวี ถือซอจรลีมาตามทางฯ ๖ คำ ฯ
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×