ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #294 : ลายพระหัตถ์

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 310
      0
      20 เม.ย. 53

    ว่ าถึงพระราชหัตถเลขาในรัชกาลที่ ๕ เฉพาะที่ทรงบริหารราชการแผ่นดิน พระราชทานไปยังเจ้าพระยายมราช (ปั้น) เป็นฉบับสุดท้ายนั้น ลงวันที่ ๒ มิถุนายน ร.ศ.๑๒๙ (พ.ศ.๒๔๕๓) ทรงลงพระบรมนามาภิไธยว่า "สยามินทร์" (ดูภาพพระบรมนามาภิไธย ในรัชกาลที่ ๕ ประกอบ)
              ที่จริงตั้งใจจะเล่าเรื่องพระบรมนามาภิไธย "สยามินทร์" ซึ่งเคยมีผู้อ่านถามมาว่า เคยเห็น (คงจะอ่านเห็น) พระราชหัตถเลขาในรัชกาลที่ ๕ ฉบับหนึ่ง ลงพระบรมนามาภิไธยว่า "สยามินทร์" แต่เมื่อดูวันที่และ พ.ศ. ปรากฏว่า ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๘ - ก็พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จสวรรคต พ.ศ.๒๔๕๓ มิใช่หรือ หรือว่า พิมพ์ พ.ศ. ผิด
               หนังสือฉบับนั้น ไม่ได้พิมพ์ พ.ศ.ผิด แต่เป็นลายพระราชหัตถ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ทรงลง (เซ็น) พระบรมนามาภิไธย ว่า "สยามินทร์" เช่นเดียวกับ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์สืบต่อจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ
               ถ้าสังเกตลาย (เซ็น) พระบรมนามาภิไธย จะเห็นว่าคล้ายคลึงกันมาก ทว่าไม่เหมือนกันเสียทีเดียว โดยเฉพาะตัว 'ส' ข้างหน้า และ 'ร์' ท้ายพระบรมนามาภิไธย
               พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯทรงลงพระบรมนามาภิไธย "สยามินทร์" ท้ายพระราชหัตถเลขา เป็นเวลาหลายปี ต่อมาจึงทรงพระราชดำริ เปลี่ยนเป็น "ราม ร."
               ขอยกพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงฉบับสุดท้าย เป็นทางราชการถึงเจ้าพระยายมราช เสนาบดีกระทรวงนครบาล ดังที่เกริ่นแต่ต้นดังนี้
    "สวนดุสิต
               วันที่ ๒ มิถุนายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๙
    ถึงเจ้าพระยายมราชฯ
               ด้วยได้รับรายงานฉบับที่ ๑๗/๒๓๓๐ ลงวันที่วันนี้ เรื่องจีนหยุดงานนั้น แล้ว
               ตามรายงานฉบับนี้ต้องสังเกตว่ายังเป็นขาขึ้น การที่จับกุมนั้นจำเป็น แต่นึกวิตกว่าจะต้องจับมาก ที่คุมขังจะหายาก ได้จดหมายถึงจรูญฉบับหนึ่ง ให้ตระเตรียมสำหรับที่จะรับคุมขังพวกจีนด้วย แต่ทางที่จะชำระไต่สวนนั้น ถ้าเดินเถรตรงนัก เห็นจะเอาไว้ไม่ใคร่จะอยู่ จะต้องปราบปรามอย่างที่เคยปราบมา ต่อเห็นการสงบแล้วจึงพิพากษาปล่อย ถ้าพิพากษาปล่อยออกไปมากๆ ในระหว่างกำลังกำเริบ น่ากลัวจะเป็นเหตุให้กำเริบหนักขึ้น
    สยามินทร์"
               ทรงลงพระบรมนามาภิไธย "สยามินทร์"
               น่าจะต้องเล่าเรื่องราวในพระราชหัตถเลขาฉบับนี้ นอกเหนือจากยกมาเพื่อทราบกันว่าเป็นฉบับสุดท้ายในการทรงบริหารราชการแผ่นดินด้านนครบาล
               ขณะนั้นปลายรัชกาล เกิดมีพวกจีนนัดกันหยุดงาน โปรดฯสืบสวน ปรากฏว่าทั้งทางนครบาลและทางทหารสืบสวนมาได้ความตรงกันว่า เป็นพวกอั้งยี่ใหม่ เรียกตัวเองว่า พวก 'ป้ายเม้ง' พวกนี้คิดการใหญ่ เตรียมจะทำการใหญ่ในเร็วๆนี้ เรี่ยรายเงินได้เกือบล้านบาท สะสมซื้ออาวุธไว้มาก คิดกันจะตีบริษัทไฟฟ้า ดับไฟก่อน บริษัทไฟฟ้าคงจะรู้ตัว จึงไม่คิดจ้างเจ๊กต่อไป มีข่าวต่อไปว่า มีลูกระเบิดด้วย เพราะสั่งเข้ามาทีหนึ่งแล้ว เกิดศุลกากรจับได้ เลยแก้ตัวว่าจะส่งไปเมืองจีน
               ซึ่งต่อมาก็ปราบปรามและจับพวกอั้งยี่ได้มาก ก่อนจะทันลงมือก่อจลาจล โปรดฯให้เนรเทศพวกสำคัญๆ ที่ไม่สำคัญแท้นั้นให้ปล่อยไปเสียก่อนบ้าง
               ความทั้งหมดนี้สรุปรวมมาจากพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ ทรงพระราชทานถึงเจ้าพระยายมราชฯ ซึ่งหลังจากวันที่ ๒ มิถุนายน ร.ศ.๑๒๙ แล้ว ทรงมีไปพระราชทานทุกวัน จนกระทั่งถึงวันที่ ๑๒ มิถุนายน จับพวกอั้งยี่ได้ และจัดการเนรเทศพ้นพระราชอาณาจักร
               แสดงว่า แม้จะมิได้ทรงสั่งราชการเป็นทางราชการ ก็ยังทรงมีพระราชหัตถเลขา เอาพระราชหฤทัยใส่กำชับกำชาด้วยพระองค์เองตลอดไม่ว่างานราชการส่วนใด มิใช่แต่เพียงนครบาล ทว่าทุกกระทรวง ทุกกรม ดังเช่น พระราชหัตถเลขา ถึงเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) ผู้ซึ่งตรัสเรียกว่า 'ท่านกรมท่า' (กระทรวงต่างประเทศ) นั้นมีถึง ๑,๑๐๐ กว่าฉบับ ดังนี้จึงเห็นได้ว่า ทรงมีพระราชภารกิจบริหารราชการแผ่นดินทุกวัน กระทรวงนั้นบ้าง กระทรวงนี้บ้าง ต้องทรงมีพระราชหัตถเลขาทุกวันไม่มีเว้น
               หลังจากเรื่องอั้งยี่สงบแล้ว เสด็จฯเมืองเพชรบุรี เพื่อทอดพระเนตรการสร้างพระราชวัง ณ ตำบลบ้านปืน เสด็จประทับเมืองเพชรบุรี ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม ถึงกลางเดือนกันยายน ระหว่างนั้นทรงมีพระราชหัตถเลขาพระราชทานเสนาบดีและบุคคลต่างๆตลอดเวลา
               เสด็จฯกลับพระนคร กลางเดือนกันยายน ใกล้เฉลิมฉลองวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ ๒๐ กันยายน
    ครั้นถึงวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๓ เสด็จสวรรคต เวลา ๐.๔๕ นาฬิกา ขึ้นวันที่ ๒๓ ตามเวลาสากล
               รุ่งขึ้นเช้า พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาท ประชุมกัน โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จประทับเป็นประธาน ที่ประชุมพร้อมกันอัญเชิญสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบสนองพระองค์สมเด็จพระบรมชนกนาถต่อไป ตามธรรมเนียมโบราณราชประเพณี (เพราะธรรมเนียมอย่างยุโรปนั้น ทันทีที่พระมหากษัตริย์พระองค์ก่อนเสด็จสวรรคต ผู้ทรงอยู่ในฐานะพระรัชทายาท ก็จะขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ทันที ดังที่ทราบๆกันว่า พอเขาประกาศว่า พระมหากษัตริย์เสด็จสวรรคตแล้ว เขาก็จะ Long Live the King พระองค์ใหม่ติดต่อกันไปเลย)
               อย่างไรก็ตาม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ เมื่อทรงมีพระราชหัตถเลขาดำรัสสั่งถึงเจ้าพระยายมราช (ปั้น) เสนาบดีนครบาลวันที่ ๒๘ ตุลาคม เป็นฉบับแรกในรัชกาลของพระองค์ก็ยังทรงลงพระบรมนามาภิไธยว่า "วชิราวุธ" ดุจเมื่อยังทรงดำรงพระอิสริยยศ มกุฎราชกุมาร ดังนี้

              " พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
               วันที่ ๒๘ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๙
    ถึงเจ้าพระยายมราชฯ
               ได้รับหนังสือที่ ๔๐๑/๗๔๙๙ ลงวันที่ วันนี้ ส่งร่างประกาศที่จะให้ราษฎรมาถวายบังคมพระบรมศพ เดือนละ ๕ วัน ตั้งแต่วันที่ ๑ ถึงวันที่ ๕ เวลาบ่าย ๒ โมง ถึงบ่าย ๕ โมงทุกๆเดือน ตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายนไปจนกว่าจะถวายพระเพลิง แลว่าการที่กะเดือนละ ๕ วัน เพราะเห็นว่าเดือนละวันเดียวหรือ ๓ วันไม่พอนั้นทราบแล้ว ตามรูปประกาศที่ร่างมานั้นดีแล้ว แต่กำหนดให้มาเดือนละ ๕ วันนั้น เห็นว่าในเวลาเดือนแรกๆ คนคงจะมาก แต่พระบรมศพยังจะอยู่นาน เกรงว่านานไปเดือนหลังๆคนจะมาน้อยไป     จะเปนที่เสื่อมเสียพระเกียรติยศ เห็นว่าผู้ที่จะมาถวายบังคมพระบรมศพควรจะแบ่งเปน ๒ พวก เปนพวกทั่วไปพวกหนึ่ง พวกพิเศษพวกหนึ่ง พวกทั่วไปนั้น ตามแต่ผู้ใดจะมาไม่เลือกบุคคล กำหนดให้มาเดือนละ ๒ วัน คือวันที่ ๑ วันหนึ่ง วันที่ ๑๕ วันหนึ่ง กำหนดเวลาตั้งแต่ ๓ โมงเช้าจนบ่าย ๕ โมง ส่วนพวกพิเศษนั้น เช่น ทหารกองตระเวน นักเรียน ฝรั่ง จีน เป็นต้น ควรกำหนดวันให้วันหนึ่งต่างหาก พวกใดจะมาเมื่อไรให้นัดหมายกับกระทรวงเมือง ให้แก้ไขประกาศให้ลงรูปตามที่ว่ามานี้
    วชิราวุธ "
               จะเห็นได้ว่า สำนวนในลายพระราชหัตถ์นั้น ค่อยๆเปลี่ยนแปลงทันสมัยขึ้นสำหรับสมัยนั้น ทรงใช้คำว่า 'หรือ' แทน 'ฤๅ'
               พระราชหัตถเลขากระแสพระราชโองการถึงเจ้าพระยายมราชฯ ฉบับต่อไป ลงวันที่ ๓ พฤศจิกายน ทรงลงพระบรมนามาภิไธยว่า "สยามินทร์"
              " พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
    วันที่ ๓ พฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๙
    ถึงเจ้าพระยายมราช
               ได้รับหนังสือมีมายังกรมขุนสมมติอมรพันธ์ ที่ ๔๐๙/๗๖๑๗ ลงวันที่ ๒ เดือนนี้ส่งร่างประกาศกำหนดการทำบุญทั่วพระราชอาณาจักร มาขออนุญาตออกประกาศ แลว่าในวันที่ ๑๖ จะได้สั่งพ่อค้านายห้างปิดร้านวันหนึ่งนั้นดีแล้ว ให้ออกประกาศไป
    สยามินทร์ "
               ต่อมาอีกหลายปี จึงได้ทรงพระราชดำริ เปลี่ยนการทรงลงพระบรมนามาภิไธย จาก 'สยามินทร์' เป็น 'ราม.ร'
               ดังที่พบในพระราชหัตถเลขา พระราชทานถึงเจ้าพระยายมราชฯ ลงวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๖๒ (ทรงเปลี่ยนการบอกศักราชจาก ร.ศ. เป็น พ.ศ. ด้วย)

    หมายเหตุท้ายตอน
               ๑. เจ้าพระยายมราชฯ มีไปยาลน้อย เพราะพระยาหรือเจ้าพระยายมราชสมัยก่อนๆนั้น ราชทินนาม 'ยมราช' ของท่าน หมายถึงเสนาบดีกรมนครบาล หรือ 'เวียง' เป็น 'ยมราช' เฉยๆ ไม่มีสร้อย แต่เจ้าพระยายมราช (ปั้น) ในรัชกาลที่ ๕ นี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง โปรดเกล้าฯเพิ่มเกียรติยศ จารึกในหิรัญบัตรว่า
    "เจ้าพระยายมราช ชาติเสนางคนรินทร์...ฯลฯ..."
    สร้อยนามของท่านอีกยาวมาก แต่มักเรียกเพียงสร้อยวรรคแรกว่า "เจ้าพระยายมราช ชาติเสนางคนรินทร์"
               ๒. จรูญ ในพระราชหัตถเลขา คือ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร เดิม หม่อมเจ้าจรูญ พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ (พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร) หม่อมเจ้าจรูญเป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ในรัชกาลที่ ๕ ถึงรัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯสถาปนาเป็นพระองค์เจ้า และโปรดฯให้ไปเป็นเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส
               ๓. กรมขุนสมมติอมรพันธ์ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๔ ทรงเป็นเสนาบดี ตำแหน่งราชเลขานุการ และเป็นอธิบดีกรมพระคลังข้างที่ ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นกรมพระส
    มมติอมรพันธ์ เป็นสมุหมนตรี และเป็นเสนาบดีที่ปรึกษา ต้นราชสกุล สวัสดิกุล ณ อยุธยา

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×