ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #292 : พระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 249
      0
      20 เม.ย. 53

    ระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ลงวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๓ ซึ่งทรงมีกระแสพระราชดำรัสสั่งให้อาลักษณ์เขียนเพื่อทูลเกล้าฯถวายให้ทรงลงพระบรมนามาภิไธย แต่ยังไม่ทันจะได้ถวาย ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๓
            

           
               สี่ฉบับสุดท้าย ดังนี้
               ฉบับที่ ๓ "ถึงเจ้าพระยายมราช
               ได้รับหนังสือมีมายังกรมขุนสมมติอมรพันธุ์ที่ ๓๙๐/๗๒๔๖ ลงวันที่ ๑๘ เดือนนี้ เรื่องรถรางทับคนตายที่ถนนเจริญกรุง ริมปากตรอกท่าบริษัทเรือเมล์จีนสยาม ตำบลบางรัก เมื่อวันที่ ๑๖ เดือนนี้ นายเล็กคนขับหนี จับตัวยังไม่ได้นั้น ทราบแล้ว เป็นธรรมเนียมถ้ารถทับแล้วหนีรอดทุกคราวเช่นนี้ ไม่ได้ตัวเลยฤๅ จึงได้ๆใจกันหนัก"
               เรื่องรถรางทับคนนี้ เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๓ กรุงเทพฯ มีรถรางไฟฟ้าแล้วประมาณ ๑๖ ปี
               รถรางนั้นโดยปกติวิ่งช้าไม่สู้เร็วนัก เว้นแต่ตอนดึกเวลารถรางใกล้จะเลิกคือสองยามซึ่งรถรางต้องเข้าโรงเก็บ ตอนนั้นแหละคนขับจะเร่งความเร็ว เสียงล้อเหล็กกระทบรางเหล็กดังสนั่นหวั่นไหว เท้าก็กระทืบระฆังรัวเกร๊งๆเกร๊งๆเกร๊งๆไปตลอดระยะทาง ใครมีบ้านหรืออยู่ห้องแถวริมถนน หากหลับไปแล้วเป็นสะดุ้งผวาตื่นไปตามๆกัน หนักยิ่งกว่าอยู่แถวดอนเมืองแล้วหนวกหูเสียงเรือบินขึ้นลงพะเรอ
               คนสมัยโน้น เมื่อก่อน ๖๐-๗๐ ปี ชีวิตไม่เร่งร้อน ผู้ใหญ่ชอบนั่งรถรางเพราะแล่นช้าไปเรื่อยๆตามราง แต่ที่ค่อนกันว่าต้องนั่งแช่เย็นกว่าจะถึงจุดหมายปลายทางนั้น ก็เพราะรถรางต้องรอหลีก เนื่องจากรถรางมีรางเดียวเหมือนรถไฟ ไม่เหมือนตรงที่สวนกันแทบตลอดทุกกิโลเมตร แล้วยังหยุดรับคนอีกเป็นระยะเช่นเดียวกับรถเมล์ปัจจุบันนี้ อีตอนรอหลีกนี่สิ ไม่ได้หลีกกันตามเวลานัดหมายอย่างรถไฟดอก บางทีคันหนึ่งมารออยู่ที่หลีกแล้วเกือบครึ่งชั่วโมง คันสวนทางยังไม่มา คนขับ คนตั๋วลงไปนั่งซดโอเลี้ยงหมดถ้วย สูบบุหรี่อีก ๑ มวน สบายใจ คนนั่งก็นั่งอ่านหนังสือไปบ้าง บางคนก็นั่งหลับที่มาด้วยกันก็คุยกัน เพราะล้วนแต่วัยสูงๆด้วยกันแทบทั้งนั้น ตอนที่มีรถเมล์หรือรถประจำทางที่เรียกกันว่า รถเมล์ขาวนายเลิศขึ้นมาวิ่งบนถนนเป็นสายแรกนั้น หนุ่มๆสาวๆทั้งวัยรุ่น ไม่รุ่น หนีไปขึ้นรถนายเลิศกันหมด ทิ้งไว้แต่ตา (ยังไม่) แก่ ยาย (ยังไม่) แก่ กับพวกอาซิ้มที่ชอบขึ้นมาคราวละหลายๆคน แล้วแย่งกันออกสตางค์ค่าโดยสารเสียงล้งๆเล้งๆ (เพราะค่าโดยสารถูก)
               ว่าถึงคนโดนรถรางทับในพระราชหัตถเลขา ทั้งๆที่รถรางวิ่งช้า และโดยมากคนขับมักเหยียบระฆังบอกล่วงหน้ามาแต่ไกล ในพระราชหัตถเลขาว่า หนีทุกคราว แสดงว่า คงโดนกันบ่อยๆเหมือนกัน จึงน่าจะเป็นคนต่างจังหวัดบ้าง คนที่เห็นรถรางแล่นช้าแล้วประมาทวิ่งข้ามรางในระยะกระชั้นชิดบ้าง หรือบางทีอาจเดินเกะๆกะๆอยู่บนรางก็เป็นได้
    อย่างไรก็ตาม หากสังเกตดูในพระราชหัตถเลขา เรื่องชนแล้วหนีนี้ เห็นได้ว่าเป็นมาแต่ในสมัยกระโน้นแล้ว ไม่ใช่เพิ่งจะมาชนแล้วหนี ในสมัยนี้
               ฉบับที่ ๓ "ถึงกรมหลวงเทวะวงษ์วโรประการ
               ได้รับหนังสือมีมายังกรมขุนสมมติอมรพันธุ์ ที่ ๒๓๗/๖๐๙๒ ลงวันที่ ๑๘ เดือนนี้ เรื่องปลูกศาลาบ่อน้ำที่เมืองฮอมเบิค ว่า บัดนี้พระยาศรีธรรมศาส์นมีบอกมาว่า แฮร์วันเตอร์เลอบเค ตำแหน่ง เบอร์เกอมาสเตอร์ ของเมืองฮอมเบิค แจ้งว่า
               เมื่อลงมือปลูกสร้างศาลาเสร็จแล้ว จะมีการฉลองแลได้ทำบาญชีรายชื่อผู้เกี่ยวข้องแก่การนั้นมาขอตรา ๘ นาย พระยาศรีธรรมศาส์นเห็นว่าเป็นการล่วงลามมากอยู่ ถ้าจะให้ก็ควรให้แต่ ๓ นาย และการปลูกสร้างศาลานี้ มิสเตอร์ลอตซ์ รับแต่ที่จะรับหีบเครื่องไม้ที่ส่งจากกรุงเทพฯ ให้แก่เจ้าพนักงานของเมืองฮอมเบิค ส่วนการปลูกสร้างเป็นธุระมิวนิสิเปอลของเมืองฮอมเบิค แลว่ามิสเตอร์ลอตซ์แจ้งว่า มิวนิสิเปอลได้บอกว่า บ่อน้ำที่เจาะไว้แต่เดิม เอมเปอเรอได้ให้ผู้อำนวยการย้ายที่มาเจาะขึ้นใหม่ในที่ใกล้ๆกับบ่อที่เป็นส่วนของเอมเปอเรอให้เจาะเป็นคู่กัน ได้ใช้จ่ายเงินค่าย้ายบ่อ ๒๕,๐๐๐ มารค (จึง) ขอให้มิสเตอร์ลอตซ์ช่วยขอเงินใช้ให้แก่เมืองฮอมเบิคด้วย
               มิสเตอร์ลอตซ์ได้บอกให้มิวนิสิเปอลพูดมายังสถานทูต พระยาศรีธรรมศาส์นได้คอยฟังการเรื่องนี้ ยังหาได้รับคำชี้แจงจากมิวนิสิเปอลประการใดไม่ ส่งสำเนาใบบอกพระยาศรีธรรมศาส์น กับสำเนาคำแปลหนังสือเบอร์เกอมาสเตอร์มาด้วยนั้น ทราบแล้ว
               เรื่องราวมันจะลำบากเสียแล้ว ดูเข้าใจกันไปคนละทาง ๒ ทาง เห็นจะไม่จบง่ายๆ"
               สำหรับพระราชหัตถเลขา ฉบับที่ ๓ นี้ ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งถึงเรื่อง บ่อน้ำแร่ ที่โปรดฯให้สร้างขึ้น ลักษณะเป็นน้ำผุดขึ้นมาอย่างน้ำพุ โปรดฯให้สร้างที่เมืองฮอมเบิค ซึ่งเป็นเมืองที่มีน้ำแร่รักษาโรค และเป็นที่คนยุโรปพากันมาอาบและดื่มกิน เมืองนี้จึงสร้างโรงอาบน้ำให้คนมาอาบ มีโรงแรมที่พักรับรองรู้จักกันอย่างแพร่หลาย พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้เสด็จฯไปทรงรักษาพระองค์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๐ นายแพทย์ได้ถวายคำแนะนำให้เสด็จฯไปสรงน้ำแร่เมืองฮอมเบิคนี้ บังเอิญประจวบกับถึงวันพระบรมราชสมภพ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างบ่อน้ำแร่เป็นสาธารณประโยชน์ที่ทุ่งไม่ไกลจากโรงอาบน้ำนัก เพื่อเป็นพระราชอนุสรณ์
               บ่อน้ำพุนี้ เมื่อเจาะแล้วทางการเมืองฮอมเบิคได้เชิญเสด็จฯไปทรงเปิดบ่อ แต่ศาลาที่โปรดฯให้สร้างคู่กันยังไม่ทันสร้าง
               เรื่องบ่อน้ำพุนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงมีพระราชหัตถเลขาเล่าพระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี หรือสมเด็จหญิงน้อยว่า
              "...เวลาเที่ยงไปที่เปิดบ่อ แต่งตัวฟรอกโก๊ต บ่อนี้อยู่ข้างหลังไกซาวิลเลียมบาด เป็นทุ่งหญ้า ยังไม่ได้ทำสวนออกไปถึง เขาได้ลงมือเจาะแต่เดือนเมษายน ลักษณะที่เจาะก็เหมือนกับเจาะบ่อน้ำธรรมดา แต่ใช้ท่อทองแดง เจาะช่องตามข้างท่อให้น้ำซึมเข้ามา แล้วฝังถังเหล็กลงไปพ้นปากท่อเพื่อจะมิให้น้ำจืดเข้าไประคนกับน้ำสปริงนั้น ปากท่อทำเป็นรูปใบบัว น้ำเดือดพลั่งๆ แต่น้ำที่นี่เป็นน้ำเย็นทั้งนั้น ทดลองได้ความว่าเป็นน้ำอย่างแรง เขาตั้งกระโจมสามขาหุ้มผ้าสูงคร่อมอยู่ที่บ่อ แล้วปลูกพลับพลาจตุรมุขหลังหนึ่ง มีร้านสำหรับคนร้องเพลง
               มีคนไปประชุมกันเป็นอันมาก ทั้งผู้มีบรรดาศักดิ์แลราษฎร รอบกระโจมมีราษฎรเต็มไปทั้งนั้น เวลาแรกไปถึงร้องเพลงจบหนึ่งก่อน แล้วแมร์ตำบลฮอมเบิค อ่านแอดเดรส ให้ชื่อบ่อว่า น้ำพุ 'โกนิคจุฬาลงกรณ์' แล้วเชิญไปเยี่ยมที่บ่อนั้น ตักน้ำขึ้นมาให้ชิมด้วยถ้วยเงินใบใหญ่ แล้วกลับมาที่พลับพลา แมร์เรียกให้เชียร์ คือ ฮูเร แล้วร้องเพลงอีกบทหนึ่งเป็นสิ้นการเปิดบ่อเท่านั้น ถ้าเล่าเช่นนี้ดูเหมือนการนั้นเล็กน้อยเต็มที แต่ที่จริงอยู่ข้างเป็นการใหญ่
    เวลาบ่าย ๔ โมง แต่งตัวเต็มยศไปที่ประชุมให้พรที่ห้องในโฮเต็ล...ฯลฯ...แล้วจึงพร้อมกันไปถ่ายรูปรวมประมาณสัก ๗๐ คน เมื่อถ่ายรูปแล้วเลี้ยงน้ำชา"
               พระนามพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ ตัวสะกดการันต์ เขียนตามอาลักษณ์ว่า 'เทวะวงษ์วโรประการ'
               โดยเฉพาะในสมัยก่อนนั้น ตัวอักษร 'สอ' ๓ ตัว คือ ส ศ และ ษ คนโบราณจะใช้ตัว 'ษ' เป็นตัวการันต์เสมอ
               พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ พระนามเดิมพระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ เป็นพระเชษฐภราดา (พี่ชาย) ของ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในรัชกาลที่ ๘ ๙ และ สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงในรัชกาลที่ ๖ ๗ ขณะ พ.ศ.๒๔๕๓ นั้น ทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ และได้เป็นราชทูตพิเศษเสด็จไปยุโรป ทรงเป็นต้นราชสกุล 'เทวกุล ณ อยุธยา'
               กรมขุนสมมติอมรพันธุ์ พระนามเดิม คือ พระองค์เจ้าชายสวัสดิประวัติ ต้นราชสกุล 'สวัสดิกุล ณ อยุธยา'
               ในรัชกาลที่ ๕ โปรดฯให้เป็นกรมหมื่น และกรมขุน ตามลำดับ เป็นเสนาบดีตำแหน่งราชเลขานุการ แล้วเป็นอธิบดีกรมพระคลังข้างที่ด้วย โดยเหตุที่ทรงเป็นราชเลขานุการ จึงโปรดฯให้ตามเสด็จทุกครั้ง
              ถึงรัชกาลที่ ๖ เลื่อนเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมติอมรพันธุ์

             ถึงรัชกาลที่ ๖ เลื่อนเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมติอมรพันธุ์
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×