ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #288 : พระราชพงศาวดารรัชการที่ 4

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 432
      0
      19 เม.ย. 53

    จ้าจอมมารดากลีบ พระสนมโปรดปรานในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เสด็จสวรรคต พ.ศ.๒๔๐๘ พระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๔ บันทึกเอาไว้ว่า

            "เมื่อปีระกา (พ.ศ.๒๔๐๔) นั้น มีผู้กระซิบทูล (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ)ว่า กลีบมารดาพระองค์เจ้า ซึ่งเป็นนายเครื่อง ทำเสน่ห์ยาแฝด จึงได้โปรดฯให้พระยาพิไชยบุรินทรา พระยามณเฑียรบาล ตระลาการในพระบวรราชวังชำระ การครั้งนั้นตระลาการเห็นว่า พระอัธยาศัยไม่สู้กริ้วนัก ก็ชำระแต่พอเป็นราชการก็มิได้ความจริง จึงโปรดฯให้กลีบมารดาออกเสียจากที่นายเครื่อง ให้พระยาราชโยธา เข้ามากำกับเป็นนายเครื่อง เครื่องนั้นโปรดฯให้พวกพ่อครัวผู้ชายทำ ครั้นภายหลังทรงพระประชวรไม่สบาย เสวยพระกระยาหารไม่ได้ ก็ตรัสชักนำไปด้วยจะโปรดฯให้กลีบมารดาเข้ามาทำเครื่องใหม่ จึงพระยาพิไชยบุรินทรา ๑ หลวงเสนาพลสิทธิ์ ๑ หลวงเพชรชลาลัย ๑ จมื่นศรีบริรักษ์ ๑ จ่าการประกอบกิจ ๑ ท้าวพิพัฒนโภชา ๑ (แย้ม) ผู้ช่วย ๑ ขำภรรยาพระพรหมธิบาล (เสม) ๑ จึงเข้าชื่อกัน ทำเรื่องราว รับประกันกลีบมารดา ถ้าเป็นผู้ทำเสน่ห์ยาแฝดแน่แท้แล้วหรือกลับทำใหม่อีก ก็ให้เอาโทษผู้นายประกันถึงสิ้นชีวิตด้วย ขอให้กลีบมารดา เข้ามารับทำเครื่องใหม่จะได้เสวยพระกระยาหารได้ ทรงทราบทัณฑ์บนดังนั้นแล้วก็โปรดฯให้กลีบมารดาเข้ามาทำโทษ ดังเก่า"
             นายเครื่องก็คือผู้ประกอบพระกระยาหาร (เครื่องหรือเครื่องต้น) ถวาย
             ในพระราชพงศาวดารว่า ทรงพระประชวรมาช้านานถึง ๕ ปี คือตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๐๔-๒๔๐๘ ซึ่งตลอดเวลา เจ้าจอมมารดากลีบเป็นผู้ทำเครื่องถวาย
             ในพระราชพงศาวดารมีข้อความต่อไปว่า
            "ครั้นต่อมาถึงเดือน ๑ ปีฉลู (พ.ศ.๒๔๐๘) ทรงพระประชวรมากไป กลีบมารดาทำเครื่องแกงก๋วยเตี๋ยวให้เจ้าพนักงานตั้งถวาย พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงเสวยได้ ๒ ฉลองพระหัตถ์ ทรงเห็นเป็นขนอยู่ในชามพระเครื่องแกงก๋วยเตี๋ยว"
            ตอนนี้ไม่ได้บันทึกว่า เมื่อทอดพระเนตรเห็นแล้ว เกิดอะไรขึ้น
            พระราชพงศาวดาร บันทึกต่อไปเลยว่า
            "ครั้น ณ วันจันทร์ เดือน ๒ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีฉลู (คือห่างจากวันที่เสวยเครื่อง-แกงก๋วยเตี๋ยววันนั้น ประมาณ ๑ เดือน-จุลลดาฯ) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เสด็จฯขึ้นไปเยี่ยมประชวร พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ จึงกราบบังคมทูลว่า ทรงประชวร ครั้งนี้ มีความสงสัยในกลีบทำเสน่ห์ยาแฝดจึงทรงประชวรมากไป ขอรับพระราชทานข้าทูลละอองธุลีพระบาทในพระบรมมหาราชวัง เป็นตระลาการชำระให้ได้ความจริง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงทรงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้ พระยามณเฑียรบาล พระยาอนุชิตชาญไชย พระยาบริรักษราชา พระยาอัษฎาเรืองเดช พระพรหมธิบาลพระพรหมสุรินทร์ เป็นตระลาการชำระ
            ก็ได้ความว่า ทำเสน่ห์ยาแฝดจริง อ้ายช้าง อ้ายขนานแดง อ้ายโสมเป็นครู จึงให้ลูกขุนปรึกษาโทษว่า กลีบมารดา มีพระองค์เจ้าถึง ๑๒ พระองค์ ไม่มีความกตัญญูรู้พระเดชพระคุณมาคิดทรยศ
            อนึ่งอ้ายช้าง อ้ายโสม อ้ายขนานแดง ผู้เป็นครู น้อย แย้ม ขำ จ่าการประกอบกิจ ซึ่งเป็นญาติและรู้เห็นด้วย รวมทั้งสิ้น ๘ คน (ทั้ง ๘ คนนี้) ให้รับราชบาตรลงพระราชอาชญาเฆี่ยน แล้วให้ไปประหารชีวิตเสีย แต่พระยาพิไชยบุรินทรา จมื่นศรีบริรักษ์ หลวงเสนาพลสิทธิ์ เป็นแต่นายประกันทำตามพระราชอัธยาศัยไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วย ให้ถอดเสียจากที่ลงพระราชอาชญาจึงส่งไปคุก
            ยังอ้ายจันชุม อียา อีสุข อีอ่วม อีสุด อีป้อมก้อน อียิ้มแก้ว อีหนู ไม่ได้เป็นบ่าวทาส มารับอาสาให้กลีบมารดาใช้ และรู้เห็นด้วย ให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนแล้วส่งไปจำไว้ ณ คุก
            ครั้นลูกขุนปรึกษาโทษแล้วก็ทรงพระประชวรหนักลงถึงสวรรคต"
            ตั้งแต่วันโปรดเกล้าฯให้ตระลาการชำระ (วันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๔๐๔) ถึงวันสวรรคต (วันที่ ๗ มกราคม ๒๔๐๘) เป็นเวลาเพียง ๑๙ วัน คนโทษเหล่านี้จึงยังไม่ทันรับพระราชอาญา เพียงแต่จำคุกเอาไว้ก่อน
            ทว่า ครั้นการพระเมรุพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เรียบร้อยแล้ว
            พระราชพงศาวดาร ก็บันทึกว่า
           "พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงทรงพระราชดำริ สงสัยคลางแคลงอยู่ว่าการจะไม่จริง จึงทรงพระราชหัตถเลขาให้เนรเทศกลีบมารดา ๑ แย้ม ๑ ขำ ๑ (แย้มคือท้าวพิพัฒน์โภชา ขำ คือภรรยาพระพรหมธิบาล ทั้ง ๒ คนนี้ เป็นญาติของเจ้าจอมมารดากลีบ-จุลลดาฯ ไปอยู่เสียเมืองสุโขทัย อ้ายโสม อ้ายช้าง อ้ายขนานแดง หมอ ให้ส่งไปจำคุก จ่าการประกอบกิจ กับน้อย โปรดฯให้ยกโทษเสียปล่อยไป ส่วนพระยาพิไชยบุรินทรา หลวงเสนาพลสิทธิ์ จมื่นศรีบริรักษ์ ก็โปรดฯให้พ้นจากเวรจำ มิได้ตั้งขึ้นรับราชการอีก"
            'มิได้ตั้งขึ้นรับราชการอีก'
            คือ ตามธรรมเนียม เมื่อวังหน้าเสด็จสวรรคตแล้ว ข้าราชการวังหน้าต้องโอนเข้าสังกัดวังหลวง แต่ขุนนางวังหน้าทั้ง ๓ นี้ ถูกถอดตั้งแต่ก่อนวังหน้าสวรรคต เมื่อพ้นโทษแล้ว ก็มิได้ตั้งขึ้นโอนมารับราชการวังหลวงดังเช่นข้าราชการวังหน้าทั้งหลาย
            ทั้ง ๓ ท่านนี้ หากพิจารณาแล้ว ดูๆก็น่าสงสารอยู่ไม่น้อย เพราะที่กล้าเสี่ยงเอาชีวิตเข้าประกันก็ด้วยจงรักภักดีต่อเจ้านาย สงสารว่าท่านเสวยพระกระยาหารไม่ได้ แต่กลับมาพลอยต้องโทษ หรือบางทีอาจเป็นด้วยท่านคุ้นเคยนับถือกันกับเจ้าจอมมารดากลีบ ก็เป็นได้ เพราะเจ้าจอมมารดากลีบเป็นพระสนมเอกแต่ผู้เดียวที่ได้ขึ้นเฝ้าอยู่บนพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ซึ่งธรรมดาแล้ว โปรดประทับอย่างฝรั่ง มี 'บ๋อย' ผู้ชายเฝ้ารับใช้
           ในพระราชพงศาวดาร ที่เรียกเจ้าจอมมารดากลีบว่า 'กลีบมารดา' นั้น เพราะเมื่อต้องโทษ ยศศักดิ์ก็ต้องถูกถอด 'เจ้าจอมมารดา' ถือว่าเป็นยศศักดิ์ เมื่อเรียก จึงเรียกแต่ 'กลีบมารดา' ตัดคำว่า 'เจ้าจอม' ออกเสีย
            เช่นเดียวกับ เจ้านายเดิมทรงเป็นพระองค์เจ้าหรือหม่อมเจ้า หรือแม้แต่เจ้าฟ้า หากถูกลงพระราชอาญา 'ถอด' จากพระเกียรติยศ ตามธรรมเนียมต้องเรียกเจ้านายพระองค์นั้นว่า 'หม่อม'
            เรื่องเจ้าจอมมารดากลีบนี้ ได้ยินผู้ใหญ่สมัยก่อนๆท่านพูดกันว่า ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงแคลงพระทัยนั้น เพราะพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงพระประชวรมาช้านานถึง ๔-๕ ปี จึงทรงสงสัยว่า จะทรงประชวรด้วยพระโรควัณโรคภายใน ซึ่งชาววังหลวงก็เป็นโรคเรื้อรังโรคนี้กันมาก โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ โปรดแปรพระราชฐานไปประทับตามต่างจังหวัด เช่นทางอีสาน ชลบุรี ซึ่งอาจจะไม่ถูกกับพระโรค หรือทำให้เป็นพระโรค ประการหนึ่ง
            อีกประการหนึ่ง ที่ว่าทรงเห็นเส้นขนอยู่ในชามพระเครื่องนั้น เจ้าจอมมารดากลีบเป็นผู้ทำก็จริง แต่ก็มี เจ้าพนักงานเป็นผู้เชิญ ขึ้นถวาย คือต้องผ่านมือผู้อื่น อาจมีการกลั่นแกล้งกันก็เป็นได้
            เพราะเจ้าจอมมารดากลีบเป็นเจ้าจอมที่ทรงโปรดปรานออกหน้าออกตายิ่งกว่าผู้อื่นมาช้านาน จนมีพระโอรสธิดาถึง ๑๒ พระองค์ อาจเกิดการอิจฉาริษยากลั่นแกล้ง ด้วยในวังหน้านั้นมีเจ้าจอมพระสนมมากมาย
            "ท่านเสด็จไปหัวบ้านด้านเมืองที่ใด ก็ได้ลูกสาวเจ้าบ้านผ่านเมืองแลกรมการมาทุกที..."
            (จากพระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ
    พระราชทานไปยังราชทูต พ.ศ.๒๔๑๖)
            ดังนั้น เมื่อเสร็จงานพระเมรุ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ 'ยกประโยชน์ให้แก่จำเลย' พระราชทานอภัยโทษมิได้ประหารชีวิต

            เจ้าจอมมารดากลีบนั้น เข้าใจกันว่า คงจะเป็นธิดาของเจ้าบ้านผ่านเมือง หรือกรมการเมือง หรือบิดาเป็นผู้มีเชื้อสาย เมืองสุโขทัย เมื่อพระราชทานอภัยโทษแล้ว จึงโปรดฯให้ไปอยู่ ณ เมืองสุโขทัย

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×