ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #284 : ราชทูต เซอร์จอห์น เบาริ่ง 2

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 308
      0
      19 เม.ย. 53

    สำ หรับ Sir John Bowring อัครราชทูตอังกฤษนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสว่า ผิดแปลกจากทูตอังกฤษที่เคยเข้ามาก่อนหน้านี้ ด้วยเป็นผู้เชิญรับสั่งเป็นราชทูตเข้ามาแทนพระองค์จากสมเด็จพระราชินีประเทศอังกฤษโดยตรงทีเดียว Sir John Bowring จึงได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณและความสนิทสนมเป็นพิเศษ บันทึกของ Sir John Bowring จึงเป็นบันทึกที่มีสารประโยชน์ทำให้ได้ทราบความเป็นไปทั้งสภาพชาวบ้านและเรื่องราวในพระราชสำนัก เรื่องราวในส่วนพระองค์หลายต่อหลายเรื่อง

                เมื่อ Sir John Bowring ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เข้าไปเฝ้าฯในพระราชฐานชั้นในวังหลวงนั้น เล่าถึงการดูละครในไว้อย่างละเอียดว่า
                "ในทันใดนั้น ตัวละครแต่งตัวอย่างทรงเครื่องต้นคลานออกมา ๔ คน แล้วขึ้นนั่งยังที่ซึ่งยกขึ้นเป็นเตียงสูงกว่าพื้น ที่พื้นใกล้กับขาเตียงนั้นมีผู้หญิงแก่อย่างที่น่าเกลียดคนหนึ่งเป็นคนบอกบทด้วยเสียงอันดัง ผู้หญิงแก่น่าเกลียดคนนี้ ประเดี๋ยวๆก็คลานออกมาบ่อยๆช่วยจัดเสื้อผ้าและอุบะให้แก่พวกตัวละคร
                หัวหน้าตัวละครนั้น สมมุติว่าเป็นตัวพระเจ้าแผ่นดินกับพระมเหสีและมีนางกำนัลสองคน พวกที่เกี่ยวข้องกับการเล่นละครนี้ไม่ต่ำกว่าจำนวน ๑๐๐ คน ตัวละครนั้นแต่งตัวอย่างโบราณ สวยงามทุกคน เครื่องแต่งตัวคล้ายๆในรูปภาพจีนโบราณ
                เรื่องละครนั้นมีคนบอกบทให้ร้อง มีเครื่องดนตรีรับ ตัวละครทุกคนเป็นเด็กผู้หญิงซึ่งมีอายุไม่เกินกว่า ๑๕-๑๖ ปี สักคนเดียว เขาพูดกันว่า พวกตัวละครนี้เลือกคัดเอามาจากพวกเจ้าจอม ซึ่งว่าจำนวนเจ้าจอมที่มีอยู่ในพระบรมมหาราชวังไม่ต่ำกว่า ๖๐๐ คน และในหมู่พวกเจ้าจอมนั้น ว่ามีบ่าวคนใช้ที่อยู่ในพระบรมมหาราชวังด้วยประมาณ ๒,๔๐๐ คน หัวหน้าที่บังคับพวกผู้หญิงเหล่านี้ เป็นกุลสตรีผู้หนึ่งที่มีวงศ์ตระกูลอันสูงศักดิ์อยู่ในแผ่นดิน (คงจะเป็นเจ้าคุณหญิงแขในสกุลบุนนาค น้องสาวของสมเด็จพระยา บรมมหาศรีสุริยวงศ์ - คุณชายช่วงซึ่งเรียกกันว่าเจ้าคุณตำหนักใหญ่ ตำหนักใหม่นั้นเข้าใจกันว่า น่าจะเป็นตำหนักที่พระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าฯโปรดฯ ให้สร้างต่อเติมจากพระตำหนักตึกที่สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีเคยประทับ เพื่อพระราชทาน สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี- จุลลดาฯ) ภายในส่วนที่พวกผู้หญิงอยู่นั้นห้ามไม่ให้ผู้ชายเข้าไป
                เรื่องละครที่เล่นนั้น เป็นเรื่องพระเจ้าแผ่นดินชวนพระมเหสีสรงน้ำ พระมเหสีกับนางกำนัลได้ทะเลาะหึงกันขึ้น การที่แสดงความโกรธ นั้นได้แสดงโดยไม่ยอมรับอุบะดอกไม้ต่อเมื่อดีกันแล้ว จึงยอมรับเอาพวงดอกไม้ที่ให้ แล้วพระเจ้าแผ่นดินกับพระมเหสีเสด็จไปเที่ยว ประพาสป่า เกณฑ์พวกบ้านนอกให้ไปถางทางที่จะเสด็จ แล้วก็มีพวกต่างภาษาแต่งตัวแปลกๆมาเฝ้าหลายพวกแล้วก็แห่กลับ ละครนั้นรำช้า มีจังหวะงามดี แล้วมีเจ้าแผ่นดิน ๒ องค์ต่อสู้รำดาบรบต่อกัน
                สรุปรวมการที่ดูละครทั้งหมดให้นึกออกเบื่อรำคาญ ด้วยดูแวววาวเห็นเป็นอย่างเดียวกันไปหมด แต่ว่าพวกคนไทยนั่งดูสนุกอยู่ได้ จนถึงเวลาสามยามสิบทุ่ม ในเวลาที่ละครเล่นอยู่นั้น พระเจ้าแผ่นดินทรงพระอักษรร่างประกาศอยู่ที่เฉลียงหน้าโรงละคร ประเดี๋ยวๆก็มีรับสั่งให้มหาดเล็กตัวโปรดมาถามและพูดกันกับเรา ทรงชี้แจงเล่าเรื่องละครด้วยพระองค์เองกับมิสเตอร์ฮันเตอร์ และรับสั่งว่าเมียของเจ้าก็เล่นละครได้ดีดังพวกนี้เหมือนกัน จะสั่งมาให้เล่นละครให้ดูสักหนหนึ่งจะได้หรือไม่..."
                มิสเตอร์ฮันเตอร์ ตามในบันทึกของ Sir John Bowring นี้คือ Robert Hunter ที่คนไทยสมัยนั้นเรียกกันว่า หันแตร หรือหันแกรแน่ๆ
                แต่ไม่เป็นที่แน่ใจว่า Robert Hunter-หันแตร พ่อ หรือ Robert Hunter-หันแตรลูก กันแน่ เพราะในจดหมายเหตุเรื่อง เซอร์เจมส์บรุค เข้ามาทำสัญญาในรัชกาลที่ ๓ พ.ศ.๒๓๙๓ นั้น มีกล่าวเอาไว้อย่างชัดเจนว่า
                "มิสหันแตรเข้ามาอยู่ที่กรุงฯ หลายปี จนได้ฝรั่งชาติพุทเกตที่กรุงฯ เป็นภรรยา เกิดบุตรใหญ่แล้วมิสหันแตรขอลาให้บุตรออกไปเรียนหนังสือที่เมืองวิลาศ เจ้าพนักงานก็ตามใจมิได้ขัดขวาง"
                แสดงว่า Robert Hunter (หันแตร-พ่อ) มีบุตรชายกับอำแดงทรัพย์ ซึ่งมีเชื้อสายฝรั่งโปรตุเกสซึ่งเข้ารีตว่า แองเจลิน่า และเกิดบุตรชายด้วยกันผู้หนึ่งซึ่งเมื่อเติบโตคงจะรุ่นหนุ่มแล้ว จึงขออนุญาตส่งไปเรียนหนังสือที่อังกฤษ บุตรชายผู้นี้ชื่อเดียวกับพ่อว่า Robert Hunter
                เหตุผลหนึ่งซึ่งทำให้น่าสันนิษฐานว่า มิสเตอร์ฮันเตอร์ ในบันทึกของ Sir John Bowring น่าจะเป็นคนลูก ซึ่งสันนิษฐานอีกเหมือนกันว่าเมื่อพ่อถูกไล่ออกไปแล้ว นาย Robert Hunter ลูกคงจะกลับมาอยู่กับมารดา หรืออาจจะกลับมาอยู่กรุงฯ ก่อนหน้านี้แล้วก็เป็นได้ เพราะในจดหมายเหตุหนังสือบางกอกรีคอร์เดอร์ รายวันของหมอบรัดเลออกข่าวเมื่อ Bobert Hunter (ไม่ได้บอกว่าพ่อหรือลูก) ถึงแก่กรรม พ.ศ.๒๔๐๘ นั้นว่า
                "ณ วันพุธ เดือน ๕ แรม ๙ ค่ำ ปีฉลู สัปตศก มิศเตอร์โรเบิด หันแตร ผู้เป็นล่ามและเสมียนในเจ้าพระยาศรีสุริยวงษ ถึงแก่อนิจกำม์ที่บ้านเขา มีข่าวว่าถึงแก่กำม์เพราะกินสุรา ได้ยินว่าเขาอดได้ถึง ๕ เดือนแล้ว มิได้รับประทานเลยเมื่อก่อนตายได้ ๕ วัน มีคนอังกฤษที่เป็นเพื่อนกันสองสามคนมาเยี่ยม เขาเห็นเหล้าฝรั่งเศสนั้นตั้งอยู่ ๒-๓ ขวด ยังหาได้เปิดออกไม่ มิศหันแตรตั้งใจจะไม่กิน แต่คนนั้นมาชักชวนให้กิน มิศหันแตรขัดเขามิได้ จึงเปิดออกให้เขากิน ตั้งแต่นั้น มิศหันแตรก็กินบ่อย ใจก็วุ่นวายไป เมื่อใกล้จะตายก็ลงท้องนัก"
                ตามข่าวนี้ หากหมายถึงหันแตรผู้พ่อ ดูค่อนข้างจะเป็นไปได้ยาก ที่ผู้เคยเป็นนายห้างใหญ่โตอย่างหันแตร จะย้อนกลับไปเป็นเสมียน ของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ผู้ซึ่งเคยเป็นไม้เบื่อไม้เมากับหันแตรแต่ในรัชกาลที่ ๓ ทว่าหากเป็นลูกชายแล้วอาจเป็นได้ เพราะ Robert Hunter ลูกนั้น มีเชื้อสายไทย แม่เป็นไทย หากนับอายุตอนตายก็ประมาณ ๔๐ กว่า หันแตรผู้พ่อสมมุติว่าเมื่อเข้ามา พ.ศ.๒๓๖๗ อายุประมาณ ๓๐ ถึง พ.ศ.๒๓๙๗ ตอน Sir John Bowring เข้ามา อายุเห็นจะเข้า ๖๐ กว่า แล้วก็เป็นคนดื่มสุราจัด คนขี้เมาแก่ๆ จะเข้าไปเป็นล่ามเสนาบดี และเข้าไปเฝ้าฯ ใกล้ชิดพระเจ้าแผ่นดินได้อย่างไร อีกประการหนึ่ง คนติดเหล้าแก่จนปูนนี้ อดเพียงเดือนเดียวก็น่าจะเป็นอย่างที่เรียกกันว่า 'ลงแดง' คงไม่อดไปได้ถึง ๕ เดือน หากเป็นคนหนุ่มก็มีทางเป็นไปได้
                ในบรรดาผู้เขียนเรื่องราวของหันแตรผู้พ่อนั้น มีอยู่ท่านเดียวคือ นายแพทย์วิบูล วิจิตวาทการ ที่เขียนเล่าถึงหันแตรว่า    "หลังจากออก จากกรุงฯ กลับไปอังกฤษแล้ว ก็ไปตายที่อังกฤษเมื่อ พ.ศ.๒๓๙๑ และลูกชายชื่อเดียวกันกับพ่อที่อยู่เมืองไทยกับแม่นั้น เมื่อเติบโตก็ไปเป็นเสมียนและล่ามของอัครมหาเสนาบดีรัชกาลที่ ๔"
                และว่านอกจากชื่อเดียวกับพ่อแล้ว ยังขี้เมาเหมือนกันอีกด้วย ในที่สุดเลยมาจนตกน้ำตาย ซึ่งตอนที่ว่าตายนี้ขัดกันกับข่าวรายวัน ของหมอบรัดเล
                เล่าเรื่องหันแตรยืดยาวก็เพราะข้องใจที่ผู้เขียนเรื่องหันแตรหลายท่านว่า หันแตรผู้พ่อหวนกลับมาอยู่เมืองไทยในรัชกาลที่ ๔ ซึ่งคงนำมาจากบันทึกของ Sir John Bowring ดังกล่าวที่ว่ามิสเตอร์ฮันเตอร์เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯอยู่ด้วย ขณะ Sir John Bowring เข้าเฝ้าฯ
                บันทึกอีกตอนหนึ่งของ Sir John Bowring เล่าถึงเรื่องพระมเหสีและพระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯว่า

                "มีรับสั่งว่ามีพระราชประสงค์จะทรงชักนำให้พระสนมเอกรู้จักคุ้นเคยกับพวกเรา แต่พระสนมเอกผู้นี้มิได้เป็นเจ้า จึงออกรับแขกเมือง ไม่ได้ เวลานี้ไม่มีมเหสีมาตั้งแต่สมเด็จพระนางเจ้าสิ้นพระชนม์แล้ว ข้าพเจ้าได้ยินข่าวว่าพวกขุนนาง จะตกลงกันเลือกตั้งพระมเหสีขึ้นนานแล้ว แต่พวกวังหน้ากับพระกลาโหมไม่ตกลงเห็นด้วย จึงยังไม่ได้ตั้งพระมเหสี พระองค์ใหม่..."

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×