ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #283 : ราชทูต เซอร์จอหน์ เบาริ่ง

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 461
      0
      19 เม.ย. 53

    เล่า เล่าต่อไปถึงเรื่องฝรั่งที่เริ่มเข้ามามีสัมพันธไมตรีทางการทูตกับพระราชอาณาจักรสยาม
               ว่าเฉพาะอังกฤษก่อน

               เท้าความว่า ทูตอังกฤษเข้ามาตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๒ ถึงต้นรัชกาลที่ ๔ สี่คนด้วยกัน
               พ.ศ.๒๓๖๕ ปลายรัชกาลที่ ๒ นายจอห์น ครอเฟอร์ด (John Crawfurd) ที่ไทยเรียกว่า การะฝัด
               พ.ศ.๒๓๖๘ ต้นรัชกาลที่ ๓ ร้อยเอก เฮนรี่ เบอร์นี่ (Henry Burney) ที่ไทยเรียกว่า หันตรี บารน
               พ.ศ.๒๓๙๓ อีก ๒๕ ปีต่อมา ปลายรัชกาลที่ ๓ เซอร์ เจมส์ บรุค (Sir James Brooke) ที่ไทยเรียกว่า เย สัปรุษ
               พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เสด็จสวรรคต ใน พ.ศ.๒๓๙๔
               ครั้น พ.ศ.๒๓๙๘ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เสด็จครองราชย์ได้ ๕ ปี
               จึงมีราชทูตอังกฤษเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีอีก ราชทูตผู้นี้คือ เซอร์ จอห์น เบาริ่ง (Sir John Bowring)
               ท่านผู้นี้คนไทยเรียกว่า เซอร์ ยอน เบาริ่ง ตามลิ้นไทย ไม่ผิดเพี้ยนจากชื่อภาษาอังกฤษเท่าใดนัก
               เซอร์ จอห์น เบาริ่ง เข้ามาเป็นราชทูตได้รับความสำเร็จโดยสมบูรณ์ พระราชอาณาจักรสยามได้เจรจาทำสนธิสัญญา กับประเทศอังกฤษ สนธิสัญญานั้นมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีคือ สนธิสัญญาเบาริ่ง
               พระราชอาณาจักรสยามขณะนั้น เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า มีพระเจ้าแผ่นดิน ๒ พระองค์คู่กัน พระฐานะของ 'วังหน้า' มิใช่เพียงพระมหาอุปราช หากแต่เป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่ ๒
               ดังนั้น เมื่อเริ่มทำสนธิสัญญานี้ จึงจดลงเป็นภาษาอังกฤษว่า
               "Treaty of Friendship and Commerce between Her Majesty and the Kings of Siam, Signed in Bangkok, April 18, 1855"
               และในสนธิสัญญา มีข้อความเริ่มต้นว่า
               "Her Majesty The Queen of the United Kingdom of Great Britain and Treland and all is dependencies, and Their Majestics Phra Bard Somdetch Pra Paramendr Maha Mongkut Phra Chom Klan Chau Yu Hua, (พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - จุลลดาฯ)
               The first King of Siam, and Phra Bard Somdetch Phra Pawarendr Ramesr Mahiswaresr Phra Pin Klaw Chaw Yu Hua, (พระบาทสมเด็จพระปวเรนทรราเมศร มหิศวรเรศร พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว - จุลลดาฯ) The second King of Siam."
               ก่อนหน้าที่ จอห์น เบาริ่ง จะเข้ามาเป็นราชทูตนั้น เมื่อข่าวเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯแพร่ไป เดิมทีทางอังกฤษจะส่ง Sir James Brooke คนเก่าเข้ามาอีกครั้ง แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงขอให้เลื่อนการส่งทูตเข้ามาก่อน จนกว่าจะถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว ซึ่งกว่าจะตระเตรียมราชพิธี จนถึงถวายพระเพลิง ก็เป็นเวลาเกือบ ๒ ปี ทางอังกฤษอาจมีความขัดข้องในการส่ง เจมส์ บรุค เข้ามาในครั้งนี้ จึงเปลี่ยนเป็น Sir John Bowring ผู้เป็นขุนนาง Knight และเป็น Doctor of Law เข้ามาแทน
               การที่ Sir John Bowring เข้ามาเป็นราชทูต จนได้ทำสนธิสัญญากันครั้งนี้ ทำให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงส่งราชทูตไทยไปเจริญสัมพันธไมตรี ได้เข้าเฝ้าฯ พระนางเจ้าวิคตอเรีย และพระนางเจ้าฯ ก็ได้ส่งราชทูตเข้ามาอีกครั้งหนึ่ง เป็นราชสัมพันธไมตรี ระหว่างกษัตริย์ต่อกษัตริย์ นอกจากการเจริญสัมพันธไมตรี "Treaty of Friend and Commerce"
               ตั้งแต่ Sir John Bowring เข้ามาถึงกรุงเทพฯ รัตนโกสินทร์ หรือที่ฝรั่งทั่วไปเรียกว่า Bangkok นั้น ท่านเซอร์ได้บันทึกรายวันเอาไว้ตั้งแต่วันที่ ๒๔ มีนาคม ถึงวันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๓๙๓ เป็นเวลา ๑ เดือนเต็มๆ
               บันทึกนี้ มีสาระเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ของสังคมตั้งแต่ในพระบรมมหาราชวัง พระบวรราชวังลงมาถึงขุนนาง ผู้คนระดับชาวบ้าน และยังมีอรรถรสต่างๆ โดยเฉพาะก็อ่านสนุก ควบคู่กันไปกับนานาสาระ (แปลเป็นภาษาไทย พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๕๖ โดยท่านผู้ใช้นามแปลว่า นายเพ่ง พ.ป. บุนนาค)
               ดังจะขออนุญาตยกมาลง ณ ที่นี้เพียงบางตอน
               ราชทูตเข้าเฝ้าฯ ตั้งแต่รัชกาลก่อนๆนั้น ได้เข้าเฝ้าเป็นทางราชการ แต่ในท้องพระโรง ซึ่งมีราชทูตบันทึกเอาไว้หลายคน เช่น เฮนรี่ เบอร์นีย์ (พันตรี บารนี)
               แต่สำหรับ เซอร์ จอห์น เบาริ่ง นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดปราน ได้เข้าเฝ้าฯ เป็นการ 'ไปรเวท' ในพระบรมมหาราชวัง และพระบวรราชวัง
               บันทึกของเซอร์จอห์น เมื่อโปรดฯให้เข้าเฝ้าฯในพระบรมมหาราชวังฝ่ายใน จดเอาไว้ว่า
               "คืนวันนี้ พวกเราไปเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินสิบเจ็ดคน เอาโคมฉายไปจุดถวายให้ทอดพระเนตร ซึ่งเราเอามาด้วยในเรือกำปั่นของเรา พระเจ้าแผ่นดินได้ทรงพกนาฬิกาที่ข้าพเจ้าถวายในนามของพระนางราชินีอังกฤษ นาฬิกาพกนี้ไม่ใช่เป็นของแปลกใหม่ที่พึ่งมี เพราะได้เคยทรงใช้เคยมีอยู่แต่ก่อนแล้ว รับสั่งโปรดนาฬิกาเรือนนี้ เพราะมีปฏิทินเลื่อนหมุนไปได้เอง
               แล้วมีรับสั่งถามพวกเราว่า อยากจะได้เห็นพระมหามงกุฎสำหรับพระเจ้าแผ่นดินสยามหรือไม่ เมื่อพวกเรากราบทูลตอบว่า อยากจะได้เห็นแล้ว จึงมีรับสั่งให้ขุนนางคนหนึ่งไปเชิญพระมหามงกุฎมาให้พวกเราดู และมีรับสั่งว่า พระมหามงกุฎนี้ได้ทรงต่อกันมาแต่พระบรมอัยกาธิราช เป็นรูปมียอดแหลม หนักอยู่ราวสี่ปอนด์อังกฤษ ประดับหุ้มเต็มไปด้วยเพชรอันสวยงาม และเพชรเม็ดยอดนั้นเป็นเพชรเม็ดใหญ่งามนัก และมีจรหูสองข้างลงไปทำด้วยทองคำประดับเพชร พระมหามงกุฎนั้น ในเวลาที่สวมทรงเข้าแล้ว ต้องผูกรัดด้วยเชือกใต้คาง และได้ทรงลองสวมด้วยพระองค์เองให้พวกเราดู แล้วรับสั่งว่า พระเจ้าแผ่นดินสยาม เวลาที่ทรงสวมมงกุฎเมื่อราชาภิเษก ต้องทำพิธีด้วยพราหมณ์ที่มีเกียรติยศสูงสุด...ฯลฯ...ฯลฯ...
                พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานการ์ด พระบรมนามาภิไธย ให้แก่พวกเราทุกคนที่ไปเฝ้า และทรงรินเมรัย (ไวน์) พระราชทานให้คนละถ้วยทุกคน แล้วรับสั่งถามถึงชื่อและหน้าที่ทุกคน...ฯลฯ...แล้วมีรับสั่งถามว่า พวกเราอยากดูละครและเต้นรำหรือไม่ เมื่อเรากราบทูลว่า อยากจะขอพระราชทานดูแล้ว ก็ทรงพาพวกเราเข้าไปในพระราชวังชั้นใน เป็นที่โรงกว้างมีโคมและเทียนจุดอยู่เป็นอันมาก ตะเกียงนั้นใช้ไส้ลอยในน้ำมันมะพร้าวจุดไฟ"
                พระเจ้าแผ่นดินเสด็จขึ้นไปประทับอยู่ที่ตรงกับฉากหน้าโรงละคร (ต่อไปอธิบายว่า คือเป็นเฉลียงที่ประทับ ข้างหน้าโรงละครซึ่งคงแต่งด้วยฉาก-จุลลดาฯ)

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×