ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #281 : "ยุครักมิตร-สนิทธรรม"

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 345
      1
      19 เม.ย. 53

    มีผู้ถามรวมทั้งให้ความเห็นมาว่า ตามที่คำทำนายซึ่งเชื่อกันว่าสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (โต) วัดระฆัง เป็นผู้ทำนายนั้น ว่าในยุครัชกาลที่ ๓ เป็น ‘ยุครักมิตร’ แล้วไฉนจึงมีผู้กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงรังเกียจฝรั่ง

    และว่าที่จริงแล้ว ยุครัชกาลที่ ๓ รักมิตร ยุครัชกาลที่ ๔ สนิทธรรม น่าจะรวมเป็นยุคเดียวกัน เพราะยุคของทั้งสองพระองค์นั้น ทั้งรักมิตรด้วยสนิทธรรมด้วย คือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ท่านก็สนิทธรรมเหมือนกัน ทรงสร้างวัดวาอารามมากมาย ส่งเสริมพระพุทธศาสนาดังที่ทราบ ๆ กับ ส่วนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ก็มิใช่เพียงสนิทธรรม ในรัชกาลของพระองค์ปรากฏว่าผูกมิตรกับนานาประเทศ (ว่าเฉพาะพวกฝรั่ง เพราะจีน และชาติทางเอเชียนั้นติดต่อค้าขายกันมานานแล้ว)

    ที่ผู้อ่านท่านนี้ถามและมีความเห็นมานั้น ก็น่าฟังและน่าคิด และดูจะถูกอยู่เหมือนกัน

    เวียงวัง
    ภาพฝรั่งวาดสองฟากแม่น้ำเจ้าพระยา โดยผู้วาดคงวาดอยู่ทางฟากกรุงธนบุรี แถว ๆ หน้าวัดประยุรวงศาวาสขึ้นมา ซึ่งเมื่อ ร.๒-ร.๔ เป็นท่าจอดเรือสำเภา และเรือกำปั่นฝรั่ง โปรดเกล้าฯให้พวกฝรั่งอยู่ทางฟากนี้ รวมทั้งที่พักของทูตต่าง ๆ ที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี ก็โปรดฯให้สร้างขึ้นฟากนี้ เป็นภาพวาดประมาณสมัย ร.๓ ซึ่งถ่ายลอกกันมาหลายสำเนา ลงพิมพ์ในหนังสือต่าง ๆ

    พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ นั้น โดยส่วนพระองค์แล้วไม่โปรดฝรั่งจริง ๆ เพราะตามที่ปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดาร และจดหมายเหตุต่าง ๆ มีข้อความทรงพระราชดำริ และพระราชปรารภว่า ฝรั่งส่วนมากมิได้เข้ามาค้าขายอย่างสุจริตใจ มักจะมีเรื่องการบ้านการเมืองเข้ามาแทรกแซง

    ส่วนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯนั้น แม้จะโปรดฝรั่งและธรรมเนียมบางอย่างของฝรั่ง ก็มิใช่เป็นการโปรดอย่างหลงใหล หากท่านทรงโอนอ่อนผ่อนตาม เช่นแต่งพระองค์อย่างฝรั่ง ศึกษาภาษาฝรั่งจนทรงได้ ทั้งอ่าน และเขียนตลอดจนตรัสภาษาฝรั่งคล่อง ก็เพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน ทั้งสิ้น มิใช่ ‘ตามก้น’ ฝรั่ง เพื่อประโยชน์ส่วนพระองค์เลย

    ว่าถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ในสมัยหนึ่งมีนักเขียนระดับที่ยกย่องกันว่าเป็น ‘ปราชญ์’ เคยเขียนตำหนิพระองค์ว่า ทรงปกครองบ้านเมืองอย่างพวกตามไม่ทันโลก พูดง่าย ๆ ก็คือ อย่างที่ฝรั่งเห็นว่าสยามยังป่าเถื่อน คับแคบ ไม่ยอมทำสัญญากับฝรั่ง และว่าเป็นการเคราะห์ดีที่สิ้นรัชกาลที่ ๓ ขึ้นรัชกาลที่ ๔ ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินทรงมีความศิวิไลซ์

    ต่อมาอีกนานมาก จึงได้มี ‘ปราชญ์’ ท่านอื่น ๆ เขียนบทความ และพระราชประวัติว่า

    “ที่ไม่โปรดฝรั่ง เพราะฝรั่งมักเข้ามาอย่างอวดดี บางทีก็ข่มขู่ดูแคลน และมักจะเอาเปรียบ หรือมิฉะนั้นก็หวังผลทางการเมือง”

    แต่ แม้ในทางส่วนพระองค์จะไม่โปรดฝรั่ง ทว่าสิ่งใด อันจะเป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองและไพร่ฟ้าแล้ว ก็ทรงยอมรับนับถือไม่ขัดขวาง เช่นโปรดฯให้ปลูกฝีกันไข้ทรพิษ โปรดฯ ให้พิมพ์หนังสือ เว้นแต่การพิมพ์เผยแพร่กฎหมาย เพราะทรงพระราชดำริว่า ราษฎรส่วนมากยังไม่รู้หนังสือเป็นหนทางให้พวกที่รู้หนังสือหาช่องทางเอาเปรียบแก่ราษฎรส่วนมากได้ พูดง่าย ๆ ว่าเวลานั้นยังไม่มีประโยชน์แก่ราษฎร หากแต่มีประโยชน์ต่อคนส่วนน้อย กลับจะเป็นอันตรายแก่ราษฎรที่รู้ไม่ทันเสียด้วยซ้ำไป

    อีกเรื่องหนึ่งที่ไม่รู้จะมีผู้ทราบ คือในสมัยรัชกาลที่ ๓ นั้นเอง เมื่อ พ.ศ.๒๓๘๐ โปรดฯ ให้ หลวงนายสิทธิ (ช่วง บุนนาค ซึ่งต่อมาคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ในรัชกาลที่ ๕) ทำการต่อเรือกลไฟอย่างฝรั่ง และเมื่อยังหาคนไทยเป็นนายเรือไม่ได้ ก็โปรดฯ จ้างกัปตันชาติอังกฤษ ชื่อ กัปตันตริกส์ (Triggs) เข้ารับราชการเป็นหัวหน้าฝ่ายเรือแบบฝรั่ง มีหน้าที่ควบคุมการเดินเรือ และสอนวิชาเดินเรือต่าง ๆ ในการนี้ โปรดฯ ให้จ้างฝรั่งชาติอังกฤษเป็นนายเรืออีก ๕ คน เป็นครั้งแรกในสมัยกรุงเทพฯรัตนโกสินทร์ ที่จ้างฝรั่งเข้ารับราชการ เป็นข้าราชการแห่งกรุงสยาม

    ทีนี้พ่อค้าฝรั่ง (อังกฤษ เชื้อชาติสก๊อต) คนแรกของกรุงเทพฯรัตนโกสินทร์ ซึ่งเมื่อเอ่ยชื่อคงมีผู้รู้จักกันดีอยู่ คือ นายฮันเตอร์ ที่คนไทยสมัยนั้นเรียกกันว่า ‘หันแตร’

    ฝรั่งผู้นี้เป็นต้นตอของการนำสินค้าจากเรือขึ้นมาขายบนบก โดยขอเช่าที่ดินสร้างตึกเป็นทั้งที่อยู่และโรงสินค้า ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า ‘ห้าง’ และเรียกฝรั่งเจ้าของ ‘ห้าง’ ว่า ‘นายห้าง’ แข่งกันกับพวก ‘เจ้าสัว’ จีน ซึ่งขายของอยู่ในเรือสำเภา ผู้ใดจะซื้อก็ขึ้นไปซื้อบนเรือสำเภา (ส่วนมากผู้ซื้อมักขึ้นไปซื้อเหมา เพื่อนำไปขายปลีกอีกทีหนึ่ง)

    เรื่องนายฮันเตอร์หรือ ‘หันแตร’ นี้ มีผู้เขียนเล่ากันไว้หลายสำนวน รวมทั้งใน ‘เวียงวัง’ ก็เคยเล่ามาบ้างแล้ว

    จึงจะสรุปว่า

    เดิมที ฮัตเตอร์ - หันแตร เข้ามาหาทางค้าขายเมื่อต้นรัชกาลที่ ๓ เสด็จขึ้นครองราชย์ไม่ถึงปี ได้นำปืนคาบศิลาเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวาย ๒๐๐ กระบอก เวลานั้นไทยกำลังเกิดศึกกับเจ้าอนุเมืองเวียงจันทน์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงทรงรับเอาไว้ แล้วโปรดฯ ตั้งให้ฮันเตอร์เป็น “หลวงอาวุธวิเศษประเทศพาณิช”

    เรื่องหันแตรเป็นหลวงอาวุธวิเศษฯนี้ ไม่สู้จะมีผู้ทราบกันเท่าใดนัก

    นายฮันเตอร์ - หันแตร เมื่อ ‘หว่าน’ พืชแล้วก็เริ่มกอบโกยตามวิสัยพ่อค้า

    ครั้นเมื่อร่ำรวยมั่งคั่งเป็นเศรษฐีขึ้นแล้ว ก็เริ่มเหิมเกริม ดูถูกดูหมิ่น คิดว่าเสนาบดีขุนนางทั้งหลายโง่กว่าตน แม้แต่พระเจ้าแผ่นดินก็คงจะทรงพระปรีชาสามารถไม่รู้เท่าทันตน

    จึงเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงขอให้ฮันเตอร์จัดซื้อเรือรบ และปืนไฟอย่างฝรั่งเข้ามาถวาย ฮันเตอร์รับปากแล้วก็หายเงียบไปหลายปี ทวงถามก็เอาแต่บ่ายเบี่ยง

    จนในที่สุด เมื่อได้เรือรบเข้ามา ปรากฏว่าเป็นเรือเก่าสนิมขึ้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงไม่โปรดฯ ให้ซื้อ ฮันเตอร์ก็โกรธฟ้องไปยังเจ้าเมืองอังกฤษ เมืองใหม่ คือ เมืองสิงคโปร์ ให้บังคับสยามให้ซื้อเรือให้ได้

    ในที่นี้ต้องเล่าไว้ด้วยว่า หมอบรัดเลย์ หรือที่คนไทยเรียกว่า ปลัดเลนั้นให้ความเห็นเข้าข้าง ฮันเตอร์ว่าไทยผิด เพราะไม่ต้องการเรือรบแล้ว จึง ‘เบี้ยว’

    แต่ เจ้าเมืองสิงคโปร์ตัดสินว่า ฮันเตอร์ผิด ฮันเตอร์จึงต้องนำเรือกลับไป แล้วไปขายให้ญวน คู่สงครามกับไทย

    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แม้จะกริ้วในความเหิมเกริมของฮันเตอร์หลายเรื่อง แต่ก็ยังโปรดฯ ให้อยู่ในพระราชอาณาจักร

    จนกระทั่ง พ.ศ.๒๓๘๐ ฮันเตอร์ก็ก่อเรื่องอีก

    ครั้งนี้นำเรือกลไฟ เข้ามาขายให้ในราคา ๒,๐๐๐ ชั่ง

    แต่ก็เหมือนเดิม คือเป็นเรือเก่า แล่นช้า จนแม้แต่ราษฎรก็ยังร้องว่า เร็วสู้เรือแปดพายสิบพายของเรายังไม่ได้

    ครั้นเจ้าพนักงานตกลงกันว่า ไม่ซื้อ

    ฮันเตอร์ก็โกรธ ว่ากันว่าถึงด่าเจ้าพระยาพระคลังว่า ไอ้อัปรีย์ แล้วว่าจะนำเรือเข้าไปผูกไว้หน้าพระตำหนักน้ำ เพราะพระเจ้าอยู่หัวรับสั่ง
    เมื่อความเข้าพระกรรณ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ก็ทรงขัดเคือง ครั้งนี้โปรดให้ไล่ฮันเตอร์ออกไปจากพระราชอาณาจักร เพราะเหิมเกริมกักขฬะหยาบช้ามาหลายต่อครั้งแล้ว

    ก่อนฮันเตอร์ลงเรือออกนอกพระราชอาณาจักรสยาม ยังพูดทิ้งท้ายไว้ว่า จะไปฟ้อง คอเวอนเมนต์ (รัฐบาล) อังกฤษให้นำกำปั่นรบเข้ามาชำระความ

    ครั้งก่อนฟ้องแค่เจ้าเมืองสิงคโปร์

    ครั้งนี้จะฟ้องถึงรัฐบาลอังกฤษ

    เป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ไม่ทรงวางพระราชหฤทัย ด้วยทรงเกรงว่า อาจจะเป็นต้นตอให้อังกฤษหาความเอา เพราะไล่คนของตนออกนอกพระราชอาณาจักร จึงได้โปรดฯให้สร้างป้อมที่เมืองนครเขื่อนขันธ์ (พระประแดง) ทำปีกกาขึ้นที่หน้าเมือง ส่วนเมืองสมุทรปราการก็โปรดฯให้ทำปีกกาเพิ่มเติม ทำทุ่นปักหลัก ขึงสายโซ่ข้ามแม่น้ำหลังป้อมผีเสื้อสมุทร ถมศิลาที่แหลมฟ้าผ่า ทำรั้วกะลาวนไว้ช่องแต่พอเรือเดินได้ ไว้ป้องกันและต่อสู้กับกำปั่นรบหรือเรือรบที่จะล่วงล้ำเข้ามา

    แต่รัฐบาลอังกฤษครั้งนั้น ก็หาได้ ‘บ้าจี้’ ตามนายฮันเตอร์ไม่ นายฮันเตอร์จึงต้องกลับไปอยู่สก๊อต ไม่ได้คืนกลับแผ่นดินสยามอีกจนตาย

    เป็นผลมาจากความเหิมเกริม เย่อหยิ่ง อวดดี ทั้งปราศจากความกตัญญูต่อผู้มีบุญคุณของนายฮันเตอร์เอง เมื่อมั่งคั่งใหญ่โตขึ้นก็ลืมตัววางอำนาจดูถูกดูแคลนผู้อื่น ท้ายที่สุดก็ต้องมีผู้ที่มีอำนาจเหนือตน ไล่ออกจากแผ่นดินอันตนอาศัยทำมาหากินจนมั่งคั่งร่ำรวยนั้น

    เมื่อนายฮันเตอร์ต้องออกจากพระราชอาณาจักรสยามนั้น ทิ้งนางทรัพย์ภรรยา และบุตรชายให้อยู่บ้านตึกหันแตร ซึ่งก็ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อยู่ต่อไปทั้งแม่ลูกอย่างสงบสุข

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×