ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #272 : เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ปฐมจุลจอมเกล้า เมื่อ พ.ศ. 2436

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 754
      0
      19 เม.ย. 53

    ระองค์เจ้าศรีวิลัยลักษณ์ฯ นั้นได้ทรงกรมก่อน โปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นกรมขุนสุพรรณภาควดี เท่ากับเจ้าฟ้าทรงกรม เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๖ ทรงกรมได้เพียงปีเดียวก็สิ้นพระชนม์ พ.ศ.๒๔๔๗
    สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ฯ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร
    สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ นรินทรเทพยกุมารี พระอิสริยยศ สูงสุดในรัชกาลที่ ๘ คือ “สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ฯ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร”

    เมื่อเชิญพระศพ กรมขุนสุพรรณภาควดี ขึ้นไปพระราชทานเพลิง ณ บางปะอิน ก็ให้บังเอิญสมเด็จเจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร ทรงพระประชวร และสิ้นพระชนม์ลงที่พระราชวังบางปะอินนั้นเอง ดังที่ในเรื่อง ‘สี่แผ่นดิน’ กล่าวว่า “เชิญพระศพพระเจ้าลูกเธอพระองค์หนึ่งขึ้นไป แล้วก็กลับต้องเชิญพระศพอีกพระองค์หนึ่งลงมา”

    เมื่อสรงน้ำพระศพ ประดิษฐานพระโกศแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าสถาปนากรม เป็น สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์ ดังกล่าว

    ว่าถึงพระนามทรงกรม แต่ไหนแต่ไรมาแล้ว หากโปรดฯให้ทรงกรมพร้อมกัน มักจะพระราชทานพระนามกรมคล้องจองกันเป็นชุด

    หรือ ถ้าเป็นเจ้าฟ้าร่วมพระชนนี ก็พระราชทานให้คล้องจองกันตามลำดับเช่นกัน

    ในการพระราชทานพระนามทรงกรมของพระราชธิดาทั้งสองพระองค์นั้น จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าพระนามกรมใดขึ้นก่อนก็คล้องจองกัน คือ “สุพรรณภาควดี พิจิตรเจษฎ์จันทร์” หรือ “พิจิตรเจษฎ์จันทร์ สุพรรณภาควดี”

    สำหรับพระนามกรมกรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์นั้น ต่อมา สมเด็จเจ้าฟ้า พระราชธิดา พระราชโอรสในพระอัครชายาเธอทั้ง ๓ พระองค์ ได้ทรงกรมเป็นกรมขุนทุกพระองค์เรียงตามลำดับพระชันษา โปรดฯ พระราชทานพระนามกรมคล้องจองกันดังนี้

    “พิจิตรเจษฎ์จันทร์ สวรรคโลกลักษณวดี

    ลพบุรีราเมศวร์ อู่ทองเขตขัตติยนารี

    ศรีสัชนาลัยสุรกัญญา”

    ซึ่งก็เคยข้องใจอยู่ว่า กรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา (สมเด็จเจ้าฟ้ามาลินีนพดารา) นั้น ท่านเป็นองค์พี่ กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี (สมเด็จเจ้าฟ้านิภานภดล) ท่านเป็นองค์น้อง แต่พระนามกรมของน้องกลับขึ้นก่อนพี่

     

    สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ฯ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์
    สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตนสุขุมขัตติยกัลยาวดี พระอิสริยยศ สุดท้ายในรัชกาลที่ ๖ คือ “สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ฯ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์”

    เมื่อถามย่า ย่าว่า สามองค์แรกท่านได้ทรงกรมในรัชกาลที่ ๕ แต่สององค์หลังได้ทรงกรมในรัชกาลที่ ๖ เมื่อในรัชกาลที่ ๕ พระราชทานพระนามกรมคล้องจองต่อกัน ๓ พระองค์ ครั้นในรัชกาลที่ ๖ ทรงพระราชทานเป็นชุดเฉพาะผู้หญิง คือ “พิจิตรเจษฎ์จันทร์ สวรรคโลกลักษณวดี ศรีสัชนาลัยสุรกัญญา อู่ทองเขตขัตติยนารี” เว้นให้กรมขุนลพบุรีราเมศวร์ ซึ่งเป็นพระองค์ชายเพียงพระองค์เดียวโดดเดี่ยวอยู่ ทว่าเมื่อจับเข้าชุดกันโดยให้ ‘อู่ทองฯ’ ขึ้นก่อน ‘ศรีสัชนาลัย’ แล้วชาววังก็ท่องจำกันคล่องปากเรื่อยมาทั้ง ๕ พระองค์

    สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าที่ปรากฏพระฉายาลักษณ์ในภาพ ๒ พระองค์ คือ สมเด็จเจ้าฟ้าจันทราฯ (กรมขุนพิจิตรฯ) และสมเด็จเจ้าฟ้าเยาวมาลย์ฯ (กรมขุนสวรรคโลกฯ) นั้น เป็นเจ้าฟ้าชั้นโท หรือชั้น ‘สมเด็จ’ ชาววังออกพระนามกันว่า ‘สมเด็จหญิงใหญ่’ ‘สมเด็จหญิงเล็ก’ จนมาถึง ‘สมเด็จหญิงกลาง’ ‘สมเด็จหญิงน้อย’ ตามลำดับ

    ส่วนสมเด็จเจ้าฟ้าอีกสองพระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ (ประทับกลางในภาพหมู่) นั้น เป็นเจ้าฟ้าชั้นเอก หรือ ชั้น ‘ทูลกระหม่อม’

    สมเด็จเจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงสถาปนาเป็นกรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์ ชาววังออกพระนามกันว่า ‘ทูลกระหม่อมหญิง’

    ส่วนที่ออกพระนามว่า ‘ทูลกระหม่อมหญิงใหญ่’ นั้น คือ สมเด็จเจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ใน สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินี (ซึ่งสิ้นพระชนม์พระชันษาเพียง ๑๐ พรรษา ถึงรัชกาลที่ ๖ ทรงสถาปนาพระอัฐิเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระเทพนารีรัตน์)

    สำหรับสมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ ชาววังออกพระนามว่า ‘ทูลกระหม่อมฟ้าหญิง’ เป็นพิเศษ ที่ว่าเป็นพิเศษ เพราะเจ้าฟ้าชั้นเอกโดยทั่วไปก็เรียกกันว่า ‘ทูลกระหม่อม’ (หรือ ‘ทูนกระหม่อม’) แต่มีอยู่สองพระองค์ที่ยกย่องพระเกียรติยศเป็นพิเศษ ออกพระนามกันว่า ‘ทูลกระหม่อมฟ้า’ คือ ‘ทูลกระหม่อมฟ้าชายใหญ่’ หมายถึงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ (เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ พระองค์หนึ่ง และ ‘ทูลกระหม่อมฟ้าหญิง’ หมายถึงสมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์

    เจ้าคุณพระประยุรวงศ์
    เจ้าคุณจอมมารดาแพ เป็นเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ ในรัชกาลที่ ๖ ภาพนี้ ฉายเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๖ อายุประมาณ ๒๑ เมื่อโปรดฯให้เป็น ‘ผู้นำ’ สตรีแต่งกายแบบใหม่

    ที่ยกย่องพระเกียรติยศเป็นพิเศษ เพราะพระองค์เป็นพระราชธิดาประสูติแต่พระครรภ์สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี (พระอิสริยยศพระราชินีเวลานั้น) ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชเทวี ทรงยกพระราชทานให้เป็นพระราชธิดาบุญธรรมในพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี ต่อมา พระนางเจ้าฯ พระวรราชเทวี ทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ‘ทูลกระหม่อมฟ้าหญิง’ จึงทรงเรียก สมเด็จแม่แท้ ๆ ว่า ‘สมเด็จป้า’ และเรียกสมเด็จน้าว่า ‘สมเด็จแม่’

    คือทรงเป็นพระราชธิดา แต่พระองค์เดียว ในสมเด็จพระราชินีถึง ๒ พระองค์

    ผู้ที่มิได้เป็นเจ้านายราชตระกูลในภาพหมู่ มี ๒ ท่าน คือ เจ้าคุณจอมมารดาแพ ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ ซึ่งต่อไปนี้จะออกนามท่านว่า เจ้าคุณพระประยุรวงศ์

    อีกท่านหนึ่ง คือ เจ้าจอมมารดาเจ้าดารารัศมี ต่อมาปลายรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นเจ้าในพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงพระอิสริยยศเป็นพระราชชายาเจ้าดารารัศมี พระภรรยาเจ้าลำดับที่ ๕ ต่อไปจะออกพระนามท่านว่าพระราชชายาฯ

    เจ้าคุณพระประยุรวงศ์นั้น ถึงแม้ท่านจะมิได้เป็นเจ้า ทว่าก็ทราบกันดีว่าท่านเป็นพระสนมเอก ‘คู่ทุกข์คู่ยาก’ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง แต่ยังทรงดำรงพระยศสมเด็จเจ้าฟ้าลูกยาเธอ เมื่อต้นรัชกาลที่ ๕ ปู่ของท่านคือเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินทั่วพระราชอาณาจักร และเป็นผู้ประคับประคองพระบรมราชวงศ์มาแต่ในรัชกาลที่ ๓ และ ๔ ส่วนเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ ก็เป็นสมุหพระกลาโหมในรัชกาลที่ ๕ นั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดท่าน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ต้องทรงสู่ขอจากปู่และบิดาของท่าน และทรงรับเป็นสะใภ้หลวง

    หากโบราณราชประเพณี มิได้มีกฎมณเฑียรบาลตราเอาไว้ เจ้าคุณพระประยุรวงศ์ อาจได้ดำรงพระยศเป็นพระมเหสี

    ด้วยความสำคัญของท่านดังนี้ ทั้งอายุของท่านก็มากเกือบเท่าพระชนมายุพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงท่านจึงเป็นที่นับถือของเจ้านายที่ทรงเป็นพระภรรยาเจ้า และพระเจ้าน้องยาเธอ ซึ่งตรัสเรียกท่านว่า ‘คุณพี่’ ทุกพระองค์

    พระราชชายาเจ้าดารารัศมี
    เจ้าจอมมารดา เจ้าดารารัศมี สถาปนาขึ้นเป็นพระราชชายา เจ้าดารารัศมี พ.ศ.๒๔๕๑ ปลายรัชกาลที่ ๕ ในภาพฉายประมาณ พ.ศ.๒๔๓๒ ชนมายุ ๑๗-๑๘ ทรงอุ้มพระราชธิดา พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี (วิมลนาค-นพีสี)

    เจ้าคุณพระประยุรวงศ์นี้ เล่ากันมามากว่า ท่านเป็นคน ‘แข็ง’ และเป็นคนกล้า แม้แต่ขัดพระราชหฤทัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็ทรงเกรงใจ ดังสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงเล่าไว้ในประวัติของท่านตอนหนึ่งว่า ครั้งหนึ่งท่าน ‘งอน’ พระเจ้าอยู่หัว ท่านว่า “ต่อไปนี้จะไม่เหยียบแผ่นดินพระจุลจอมเกล้า” ดังนั้น เมื่อท่านจะลงจากตำหนักไปที่ใดในพระบรมมหาราชวัง ท่านก็ขึ้นนั่งเก้าอี้ให้คนหามไป ท่านทำดังนี้อยู่พักใหญ่ จนหาย ‘งอน’

    จมื่นมานิตย์นเรศร์ ข้าราชสำนักในรัชกาลที่ ๖ เล่าไว้ในบทความ กล่าวถึงการเข้าไปอยู่ในวังของกุลสตรีสมัยก่อนโน้น ซึ่งแล้วแต่ว่าจะขึ้นกับเจ้านายพระองค์ใดว่า

    “อีกตำหนักหนึ่ง ซึ่งไม่ถึงขั้นพระมเหสี แต่เบ่งรัศมีไม่น้อย คือตำหนักเจ้าคุณจอมมารดาแพ พระสนมเอก ข้าหลวงตำหนักนี้เกิงกล้าสามารถ เพราะเลี้ยงลูกขุนนางชาวฟากข้างโน้น อันหมายถึงพวกชาวบ้านสมเด็จเจ้าพระยาธนบุรี เจ้าคุณจอมมารดาแพ ต่อมาท่านได้รับสถาปนาเป็นเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ ท่านเจ้ายศเจ้าอย่าง ท่านเก่งในทางสมาคม ชอบเลี้ยงนก เล่นต้นไม้และหรูหรา ข้าหลวงจึงเก่งกล้าสามารถ ตามท่านอาจเรียกได้ว่าเจ้าชู้ แต่งตัวฉูดฉาด ไว้ผมทัดยาว ชอบทัดดอกไม้ หรือห้อยดอกไม้เช่นจำปา มะลิมัดเป็นช่อ ท่านเองก็ชอบหรือโปรดอย่างนั้น”

    พระราชชายาฯ ก็มีผู้เขียนเล่าพระประวัติเอาไว้หลายสำนวน เมื่อแรกเสด็จเข้ามาถวายตัว โปรดฯให้เป็นเจ้าจอมพระสนมเอก เมื่อพระชันษา ๑๗ พ.ศ.๒๔๓๒ ประสูติพระราชธิดา พระองค์หนึ่ง สมเด็จพระบรมชนกนาถ พระราชทานพระนามว่า ‘วิมลนาคนพีสี’ มีคำว่า ‘นาค’ เพราะตามตำนานว่าถิ่นฐานอันเป็นบ้านเมืองทางเหนือนั้นสืบลงมาจากเมืองนาคพันธุสิงหนวัติ ส่วน ‘นาพีสี’ คงจะมาจากคำ ‘นพบุรีศรีนครพิงค์’ อันเป็นชื่อนครเชียงใหม่

    พระเจ้าลูกเธอพระองค์นี้ เจริญพระชันษาเพียง ๔ พรรษา ก็สิ้นพระชนม์ สมเด็จพระบรมชนกนาถจึงได้ทรงมีรับสั่งแก่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ว่า

    “ฉันผิดไปแล้ว ลูกเขาควรจะเป็นเจ้าฟ้า แต่ฉันลืมตั้ง จึงตาย”

    ถึงปลายรัชกาล พ.ศ.๒๔๕๑ เมื่อพระราชชายาฯ กราบถวายบังคมทูลลา เสด็จไปทรงเยือนนครเชียงใหม่ หลังจากเสด็จจากมาถึง ๒๐ กว่าปี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นเจ้าในพระบรมราชวงศ์ ดำรงพระยศ พระราชชายาฯ พระภรรยาเจ้าลำดับที่ ๕

    เมื่อสถาปนานั้น บรรดาเจ้านายทั้งหลาย คงจะทรงบังเกิดความไม่สนิทพระทัยนัก ด้วยธรรมเนียมไทยต้องกราบกราน ต้องพูดจาทูลฝ่าพระบาท หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล จึงทรงเล่าไว้ในพระนิพนธ์ เรื่องพระราชชายาว่า สมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯ ตรัสบอกแก่พระธิดาว่า

    “กราบเจ้าป้าลงกับพื้นเถิดลูก ว่าถือเชื้อสายท่านก็เป็นถึงพระธิดาพระเจ้านครเชียงใหม่ ว่าถึงพระคุณสมบัติก็เห็นกันมานานนักหนาแล้ว ว่าทรงมีพระคุณสมบัติประเสริฐ สมควรแก่การกราบไหว้”

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×