ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #250 : คำนำพระนามพระบรมวงศานุวงศ์

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 543
      0
      17 เม.ย. 53

     มีผู้ถามกันมาหลายรายเกี่ยวกับเรื่องพระองค์เจ้าหลานเธอ โดยเฉพาะ คุณวีระจิตต์ วนรักษ์ ได้ตัดบทความที่อ้างถึงบทความเวียงวังในสกุลไทยกำกับมาด้วย

                ซึ่งที่ว่าพระองค์เจ้ามี ๒ ชั้น คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า และ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้า นั้น คงไม่ถูกต้อง คุณวีระจิตต์จำได้ว่าเคยอ่านบทความในเวียงวังว่ามี ๒ ชั้น คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า และ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า ซึ่งไม่ได้รวมถึงพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าในปัจจุบันที่ออกพระนามว่าพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทุกพระองค์ ส่วนพระเจ้าวรวงศ์เธอและพระวรวงศ์เธอนั้น เป็นการแบ่งเกียรติยศพระหลานเธอในรัชกาลที่ล่วงแล้วมา

    หม่อมเจ้าจุลจักรพงศ์ พระราชนัดดาในรัชกาลที่ ๕ พระบิดาเป็นเจ้าฟ้า
    หม่อมมารดาเป็นสามัญชน ประสูติในรัชกาลที่ ๕ (พ.ศ.๒๔๕๐)
    ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯให้เลื่อนพระยศเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ
    พระองค์เจ้า เป็นพิเศษ หากมีโอรสธิดา เป็น หม่อมราชวงศ์ และ
    พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล พระราชนัดดา ในรัชกาลที่ ๕ พระบิดาเป็นเจ้าฟ้า
    พระมารดาเป็นพระองค์เจ้า ประสูติในรัชกาลที่ ๖ (พ.ศ.๒๔๕๓
    หลังจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เสด็จสวรรคตเพียง ๔ เดือน)
    พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ
    พระองค์เจ้า หากมีพระโอรสธิดา เป็นหม่อมเจ้า

                เพราะคำนำพระนามว่าพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้า หรือพระหลานเธอ พระองค์เจ้า ใช้ในแผ่นดินของสมเด็จพระบรมอัยกาธิราชของพระเจ้าหลานเธอนั้นๆทุกรัชกาล เมื่อขึ้นแผ่นดินใหม่พระสถานภาพราชสัมพันธ์กับพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ย่อมเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น ในรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ จึงโปรดฯให้เปลี่ยนคำนำพระนาม “พระหลานเธอ พระองค์เจ้า” ในรัชกาลที่ ๕ เป็น พระวรวงศ์เธอ ดังในประกาศเรื่องคำนำพระนามพระบรมวงศานุวงศ์ดังนี้

    ประกาศ

    คำนำพระนามพระบรมวงศานุวงศ์

                สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า คำนำพระนามพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งใช้มาแต่ก่อนนั้น บัดนี้สมควรที่จะเปลี่ยนแปลงตามรัชกาล เพราะฉะนั้นตั้งแต่บัดนี้ไปให้เปลี่ยนคำนำพระนามพระบรมวงศานุวงศ์ดังต่อไปนี้

    ฝ่ายหน้า
    ...................    ฯลฯ    ..................
    พระหลานเธอ   เปลี่ยนเป็น  พระวรวงศ์เธอ
    ฝ่ายใน
    ....................    ฯลฯ    ...................
    พระหลานเธอ  เปลี่ยนเป็น  พระวรวงศ์เธอ

                แต่ต่อมาอีก ๓ เดือน ในรัชกาลของพระองค์ โปรดเกล้าฯให้ยกพระหลานเธอในรัชกาลที่ ๕ ที่พระมารดาเป็นเจ้าตั้งแต่หม่อมเจ้าขึ้นไปให้มียศสูงกว่าพระวรวงศ์เธอ เป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ ดังประการต่อไปนี้

    ประกาศ

    ยกพระวรวงศ์เธอ เป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ

                มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า ทรงพระราชดำริว่า พระโอรสธิดาในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ ซึ่งมารดาเป็นพระองค์เจ้าแลหม่อมเจ้า ที่มีอยู่ในเวลานี้ สมควรจะมีพระยศสูงกว่าพระวรวงศ์เธอ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงศ์บริพัตร ในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์วรพินิจ กับทั้งหม่อมเจ้าที่ร่วมครรภ์อันอยู่แลจะมีต่อไป

    พระองค์เจ้าจุมภฏพงศ์บริพัตร
    ในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ
    กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
    ประสูติแต่พระมารดา หม่อมเจ้า
    (ประสูติ พ.ศ.๒๔๔๗) เป็น
    พระเจ้าวรวงศ์เธอ
    พระองค์เจ้า
    พระโอรสธิดาเป็นหม่อมเจ้า

                แลพระโอรสในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนลพบุรีราเมศวร์ ที่ประสูติใหม่แลที่จะมีร่วมครรภ์ต่อไป ให้มีคำนำพระนามว่าพระเจ้าวรวงศ์เธอ ให้ทรงศักดินา ๔๐๐๐ มีกรมทรงศักดินา ๑๑๐๐๐ มีบุตรให้มีบรรดาศักดิ์เป็นหม่อมเจ้า

                พระเจ้าวรวงศ์เธอฯ ทรงศักดินา ๔๐๐๐ มีโอรสธิดาเป็นหม่อมเจ้า

                พระวรวงศ์เธอฯ ทรงศักดินา ๓๐๐๐ มีโอรสธิดาเป็นหม่อมราชวงศ์

                ดังนั้น การแบ่งพระเกียรติยศพระองค์เจ้าจึงเริ่มขึ้นแต่ในรัชกาลที่ ๖ เฉพาะพระเจ้าหลานเธอ และพระหลานเธอในแผ่นดินก่อนๆ

                ส่วนในรัชกาลปัจจุบันนั้นพระองค์เจ้าหลานเธอ มีคำนำพระนามว่า “พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้า” ทุกพระองค์ดังเช่นที่เคยใช้ในแผ่นดินรัชกาลก่อนๆกล่าวมาแล้ว

                ขอเล่าถึงพระเจ้าหลานเธอตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ เป็นต้นมา

                ในรัชกาลที่ ๑ ที่โปรดเกล้าฯ ให้ใช้คำนำพระนามว่าพระเจ้าหลานเธอ (และสมเด็จพระเจ้าหลานเธอสำหรับเจ้าฟ้า) นั้น โปรดฯให้ใช้สำหรับพระภาคินัย (ลูกของพี่สาว น้องสาว) และพระภาติยะ (ลูกของพี่ชาย น้องชาย)

                สำหรับพระราชนัดดา ยังไม่มีที่มีอิทธิยยศพระองค์เจ้า มีแต่เพียงชั้นหม่อมเจ้า ซึ่งเรียกกันในสมัยโน้นว่า “เจ้า” เฉยๆ

                แต่เมื่อออกพระนามในการพระราชพิธีต่างๆหรือออกพระนามกันเองก็ใช้ว่าพระหลานเธอบ้าง พระเจ้าหลานเธอบ้างมิได้โปรดเกล้าฯเป็นทางราชการ

                พระเจ้าหลานเธอในรัชกาลที่ ๑ จึงมีทั้งหลานน้า (พระโอรสธิดาในสมเด็จพระพี่นาง ๒ พระองค์) หลานลุง (พระโอรสธิดาในสมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ มหาสุรสิงหนาท) หลานปู่ (ปูน้อย) (พระโอรสธิดาในกรมพระราชวังหลัง)

    พระองค์เจ้า สุขุมาภินันท์
    ในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ
    กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
    หม่อมมารดาสามัญชน
    จึงเป็นพระวรวงศ์เธอ
    พระองค์เจ้า มีโอรสธิดา
    เป็นหม่อมราชวงศ์

                ในรัชกาลที่ ๒ ไม่ทรงมีพระราชนัดดา (หลานปู่) ซึ่งโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นพระองค์เจ้าในแผ่นดินของพระองค์ มีแต่พระภาติยะ (หลานอา) ซึ่งเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ มหาเสนานุรักษ์ ซึ่งโปรดฯให้ใช้ว่า พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้า

                ในรัชกาลที่ ๓ ทรงมีพระราชนัดดาที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นพระองค์เจ้า พระองค์เดียวคือหม่อมเจ้าโสมนัส โปรดฯให้ใช้คำนำพระนามว่า พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี ส่วนพระราชนัดดาที่เป็นหม่อมเจ้า คนทั้งหลายยกย่องเมื่อออกพระนามว่า พระหลานเธอเจ้านั้น เจ้านี้ ดังเช่นในรัชกาลที่ ๒

                ในรัชกาลที่ ๔ ทรงมีพระราชนัดดาที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระองค์เจ้าหลานเธอเพียง ๒ องค์ เป็นพระโอรสในกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ และพระธิดาในกรมหมื่นวิศนุนาถนิภาธรเสด็จในกรม ทั้ง ๒ พระองค์ เป็นพระราชโอรสประสูติก่อนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงผนวชร่วมเจ้าจอมมารดาเดียวกัน

                ในรัชกาลที่ ๕ ทรงมีทั้งพระภาติยะ (หลานลุง) และพระราชนัดดา (หลานปู่) เป็นพระองค์เจ้าหลายพระองค์ ใช้คำนำพระนามในรัชกาลของพระองค์ว่า “พระหลานเธอ” ทั้งพระราชนัดดา และพระนาม

                ในรัชกาลที่ ๖ จึงโปรดฯให้เปลี่ยนเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอและพระวรวงศ์เธอตามพระเกียรติยศดังกล่าวมาแล้ว

    หมายเหตุ

                พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนลพบุรีราเมศวร์ ที่ประสูติใหม่ ตามประกาศยกพระวรวงศ์เธอ เป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอนั้น คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภานุพันธุ์ยุคล ซึ่งประสูติภายหลังพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จสวรรคตเพียงเดือนเดียว

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×