ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #245 : เล่าเรื่องเมืองเชียงใหม่

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 559
      3
      17 เม.ย. 53

    ไหนๆเลี้ยวขึ้นเหนือเล่าถึงเวียงวัง (หรือน่าจะเป็นเวียงคุ้ม) ของนครเชียงใหม่แล้ว ก็น่าจะเล่าต่ออีกเล็กน้อย พอให้ผู้ที่ไม่เคยทราบเรื่องราวได้ทราบบ้าง

                เพราะเมืองเชียงใหม่เมื่อยังเป็นประเทศราชของไทยแต่ก่อนโน้น เป็นเมืองของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี พระมเหสี อิสริยยศ ลำดับที่ ๕ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กรุงเทพฯรัตนโกสินทร์

    พระราชชายา เจ้าดารารัศมี
    เมื่อแรกถวายตัว

                อีกประการหนึ่ง เมืองเชียงใหม่นั้นเคยรุ่งเรืองมาในระยะเดียวกันกับเมืองสุโขทัย ตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหงราชวงศ์พระร่วง ก่อนกรุงศรีอยุธยา

                ประวัติเมืองเชียงใหม่ ทราบกันเป็นส่วนมากแล้วว่า สร้างมาครบ ๗๐๐ ปีพอดี เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๙ นี้เอง กษัตริย์ผู้สร้างคือพ่อขุนเม็งราย (หรือปัจจุบันนี้เรียกกันว่าพญามังราย - พ่อขุนมังราย)

                ผู้เล่ามิได้มีความรู้ภาษาเหนือ โดยเฉพาะภาษาโบราณ ทราบแต่เพียงฉาบฉวยเฉพาะสำเนียงการพูดว่าแตกต่างกัน คนเชียงใหม่สำเนียงเป็นไปอย่างหนึ่ง คนลำปางไปอีกอย่างหนึ่ง ลำพูน ก็ไปอีกอย่าง  แต่โดยพื้นๆแล้วเป็นภาษาเดียวกัน

                เมื่อยังเด็กอายุสักสิบขวบ เวลานั้นเป็นระยะที่ละครศิลปากร ซึ่งมักเรียกกันว่า ‘ละครหลวงวิจิตร’ เพราะหลวงวิจิตรวาทการ ท่านเป็นผู้ประพันธ์ (เข้าใจว่าท่านจะเป็นอธิบดีกรมศิลปากรด้วย) กำลังเฟื่องฟู ท่านแต่งเรื่องให้แสดง มีทั้งอิงประวัติศาสตร์ และสมัยใหม่ (ยุคนั้น) ทว่ามักมีเนื้อหาปลุกใจให้รักชาติ เพลงแต่ละเพลงที่ท่านแต่งประกอบเรื่องก็ดังมาก วิทยุกระจายเสียงนำมาออกอากาศ ผู้คนเด็กเล็กร้องกันเกร่อ

                มีอยู่เรื่องหนึ่ง คือเรื่องพระนางจิรประภา ซึ่งขึ้นครองเชียงใหม่ ต่อจากพระเมืองเกษเกล้า ทว่าครองอยู่เพียง ๒ ปี ก็สิ้นพระชนม์ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ซึ่งเป็นหลานตาของพระเบื้องเกษเกล้า และพระนางจิรประภา อยู่ที่เมืองหลวงพระบาง จึงเสด็จมาครองเชียงใหม่ ครองอยู่ได้แค่ ๒ ปีอีกเหมือนกัน ทางเมืองหลวงพระบางล้างช้างพระบิดาของพระเจ้าไชยเชษฐาฯ สิ้นพระชนม์ลง พระเจ้าไชยเชษฐาฯ ก็เลยเสด็จกลับไปครองเมืองหลวงพระบาง ก็คราวนี้แหละ ที่ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตจากนครเชียงใหม่สู่เมืองหลวงพระบางด้วย

                สมัยพระนางจิรประภาระหว่าง พ.ศ.๒๐๘๘ - ๒๐๘๙ ตรงกับสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิครองราชย์ได้ประมาณ ๑๖ ปี (สมเด็จพระมหาจักรพรรดิครองราชย์ ๒๗ ปี) เวลานั้นพม่าเริ่มรุกรานนครเชียงใหม่ พระนางจิรประภาจึงดำริกับพระเมืองเกษเกล้า จะขอพึ่งไทย

                ยังจำได้ว่าละครของหลวงวิจิตรฯ นั้น มีอยู่ฉากหนึ่ง พระเมืองเกษเกล้าถูกลอบปลงพระชนม์ในที่บรรทมโดยพวกที่ฝักฝ่ายพม่า

                พระนางจิรประภา ครองเมืองอยู่ไม่ถึง ๒ ปี ก็สิ้นพระชนม์ พระเจ้าไชยเชษฐาฯ ครองต่ออีก ๒ ปี ก็เสด็จกลับล้านช้างดังกล่าว ผู้ครองต่อคือ พระเจ้าเมกุฏ (หรือท้าวเมก) ครองอยู่ ๓ ปีก็เสียแก่พม่า กษัตริย์พม่าที่ได้เชียงใหม่ก็คือ บุเรงนอง ผู้ชนะสิบทิศ นั่นเอง (พ.ศ.๒๑๐๗) ส่วนไทยกรุงศรีอยุธยา เสียแก่พม่าก่อนหน้านั้นแล้ว (คือ พ.ศ.๒๐๙๘ - ๒๐๙๙) สมัยสมเด็จพระมหินทราธิราช

                เวียงวัง มิใช่สารคดี บางทีจึงเล่าเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาไปเรื่อย

                ทีนี้กลับมา เรื่อง เม็งราย หรือ เมงราย หรือ มังราย เสียที

                คือมีเพลงประกอบละครเรื่องพระนางจิรประภาอยู่เพลงหนึ่ง เนื้อเพลงจำได้เป็นตอนๆเพราะกาลเวลาล่วงมาถึง ๖๐ กว่าปีแล้ว ที่ละเอาไว้ก็คือที่ลืมเนื้อ

                “พิงคนคร สมนามกรนครเชียงใหม่ รุ่งเรืองช้านานเป็นเมืองโบราณ แต่ยังสดใส...พ่อขุนเม็งรายมาสร้างขึ้นไว้ พ่อขุนรามคำแหง ช่วยดัดช่วยแปลง บ้านเมืองให้ใหม่ อันเมืองเชียงใหม่ หัวใจสยาม ขึ้นชื่อลือนามมิ่งขวัญของไทย ดอกไม้ก็สวย บ้านเมืองก็งามสมศักดิ์สมนาม ของลานนาไทย”

                เวลานั้นเรียกว่า ลานนาไทย ยังไม่เป็นล้านนาไทย ส่วนล้านช้าง บางทีก็เรียกว่าล้านช้าง บางทีก็เรียก ลานช้าง ตามแต่ถนัด

    พระราชชายา เจ้าดารารัศมี
    ทรงสยายพระเกศายาว

                สำหรับเม็งรายหรือเมงรายที่ท่านใช้ว่าเม็งหรือเมง อาจจะเพื่อมิให้เหมือนกับ ‘มังราย’ อันเป็นชื่อพม่า ซึ่งเวลานั้นชื่อ ‘มังราย’ ดังมากทุกคนไม่ว่าเด็กเล็กหนุ่มสาวเฒ่าชรารู้จักกันทั้งนั้น เพราะเป็นชื่อพระเอกละครเรื่อง ‘เลือดสุพรรณ’ ของหลวงวิจิตรฯ อีกนั่นแหละ โดยเฉพาะเพลงสำคัญในเรื่องที่ดวงจันทร์นางเอก ร้องครวญว่า

                “มังรายยอดชายของจันทร์ มาด่วนดับชีวันทิ้งจันทร์ไว้แดเดียว...” นั้น มีพวกอารมณ์ขันร้ายๆ แปลงเป็น ‘มาด่วนดับชีวัน ทิ้งตังค์ไว้แดงเดียว’ ร้องกันให้เกร่อไปทั้งเมือง

                อย่างไรก็ตามเรื่อง เม็งราย เมงราย และมังราย อันเป็นพระนายของพ่อขุนผู้ทรงสร้างเมืองเชียงใหม่ และเป็นต้นราชวงศ์มังราย (เขียนตามที่เขียนกันในปัจจุบัน) ดังที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงข้อสันนิษฐานของผู้เล่าเท่านั้น

                เมืองเชียงใหม่  เมื่อแรกสร้าง พ่อขุนมังรายท่านให้ชื่อว่า เมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ราชวงศ์มังรายนับตั้งแต่ พ่อขุนมังรายเป็นต้นมา รวม ๒๑ องค์ เป็นนางพญา ๒ องค์ คือองค์ที่ ๑๘ พระนางจิรประภา และองค์ที่ ๒๑ องค์สุดท้าย พม่าให้ครอง คือ พระนางวิสุทธเทวี ต่อจากพระเจ้าเมกุฏ

                จากนี้ก็สิ้นราชวงศ์มังราย ตกอยู่ในอำนาจพม่า  พม่าจัดให้ขุนนางพม่าบ้าง เจ้าพม่าบ้าง บางทีก็เจ้าเมืองที่เป็นเมืองขึ้นพม่า เช่นเจ้าเมืองน่าน ขึ้นครองเชียงใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๑๒๑ - ๒๓๑๗ เป็นเวลาถึง ๒๑๖ ปี

                จึงได้มีวีรบุรุษชาวเมืองลำปางที่ชื่อ หนานทิพย์ช้าง (อนุสาวรีย์ที่เมืองลำปางจารึกว่า พ่อเจ้าทิพย์ช้าง) และโอรสที่ ๓ คือ เจ้าฟ้าชายแก้ว ‘พื้นม่าน’ (หมายถึงขบถหรือกู้อิสรภาพจากพม่า) ซึ่งไทยได้เข้าช่วยเหลือตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ถึงรัชสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

                เจ้ากาวิละ โอรสใหญ่ของเจ้าฟ้าชายแก้ว ได้เป็นกำลังสำคัญในการ ‘พื้นม่าน’ จนหลุดจากอำนาจพม่า ซึ่งเมื่อเจ้ากาวิละได้สถาปนาเป็นพระเจ้ากาวิละ แห่งราชวงศ์ ‘ทิพย์จักราธิวงศ์’  ครองเมืองเชียงใหม่แล้ว

                ได้ประทานโอวาทแก่อนุชาทั้ง ๖ องค์ และผู้สืบสายราชวงศ์ เสนาอำมาตย์ทั้งหลายความตอนหนึ่งว่า

                “อันล่วงแล้วมาภายหลังแต่ ‘เช่น’ (ภาษาเหนือหมายถึงชั่วอายุคน) พระอัยกา (พ่อเจ้าทิพย์ช้าง) และพระบิดา (เจ้าฟ้าชายแก้ว) แห่งเรา ได้เป็นข้าม่าน เป็นเมืองขึ้นม่าน ม่านข่มเห็ง คะเนงร้าย หาหว่างสุขยาวนานบ่มิได้ (ม่าน คือพม่า ภาษาพื้นเมืองชาวเหนือเรียกชนชาติกพม่าว่า ม่าน) แต่มาถึงเช่นเราทั้งหลายเป็นลูกเป็นเต้านี้ พระองค์เราเป็นเจ้าเป็นพี่ ยินเบื่อยินหน่าย (เบื่อหน่ายพม่า) จึงพื้นม่านแล้วเอาน้องนุ่งทั้งมวลไปเป็นข้ามหากษัตริย์เจ้า ณ กรุงศรีอยุธยา (แม้ขึ้นกรุงธนบุรี กรุงรัตนโกสินทร์แล้ว ก็ยังเรียกไทยและพวกไทยว่า กรุงศรีอยุธยา) เราทั้งหลาย และข้าเจ้าไพร่ไทย จึงได้อยู่เย็นเป็นสุขกุอย่าง (ทุกอย่าง) ได้อยู่ ได้กิน ได้ทำบุญทำทาน พระมหากษัตริย์ก็ชุบเลี้ยงเราทั้งหลาย หิ้ว (ให้) เป็นเจ้าเจียกเงินขันดำ หื้อถึงฐานันดรศักดิ์ อันเป็นกษัตริย์เมืองไทย เป็นใหญ่เป็น ‘ไทย’ เป็นใหญ่ในล้านนา ๕๗ หัวเมือง (หมายถึงได้เป็นประเทศราช เป็นใหญ่ใน ๕๗ หัวเมือง ดินแดนล้านนาไทย)”

                ข้อความนี้ คัดมาจากในหนังสืออนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงเจ้าฉมชบา วรรณรัตน์

                ซึ่งบอกที่มาว่า เจ้าหลวงเชียงใหม่ ธรรมลังกา (อนุชาของพระเจ้ากาวิละ) ผู้ครองนครองค์ที่ ๒ ได้บันทึกเอาไว้ด้วยอักษรพื้นเมือง ตกทอดมาถึงพระเจ้ามโหตรประเทศ (โอรสของเจ้าหลวงธรรมลังกา) ผู้เป็นเจ้าครองนครองค์ที่ ๕ ต่อมาตกทอดลงมาถึงเจ้าอุปราชน้อยปัญญาโอรสของพระเจ้ามโหตรประเทศ

                ต่อมา พ.ศ.๒๕๗๘ เจ้าน้อยปิงเมือง ณ เชียงใหม่ บุตรชายของเจ้าอุปราชน้อยปัญญา ได้คัดลอกออกมาเป็นอักษรไทยกลาง

                เป็นอันว่านครเชียงใหม่ แต่แรกตั้ง พ.ศ.๑๘๓๙ ถึง พ.ศ.๒๔๘๒ มีราชวงศ์เจ้าผู้ครองนคร เพียง ๒ ราชวงศ์ คือราชวงศ์มังราย จนกระทั่งตกอยู่ในอำนาจพม่า จนกระทั่งกลายเป็นเมืองร้างอยู่หลายปี จึงมีราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ ฟื้นฟูเชียงใหม่ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง องค์แรกเป็นเจ้าครองนครตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๒๕ (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงสถาปนาให้เป็นพระเจ้าบรมราชาธิบดีกาวิละ) ถึง พ.ศ.๒๔๘๒ มีเจ้าผู้ครองนคร รวม ๙ องค์

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×