ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #223 : ต้นนามสี่กั๊กพระยาศรี

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 418
      1
      16 เม.ย. 53

      เป็นอันว่าพระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) ต้นนามสี่กั๊กพระยาศรี (หรือสี่แยกพระยาศรี) นั้น ท่านเป็นเขยมอญ สมรสกับลูกสาวมอญ (เจ้าพระยารามจตุรงค์) จึงมาตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณถิ่นมอญที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพระราชทานให้พวกมอญที่อพยพตามเสด็จมาจากกรุงศรีอยุธยาได้อยู่อาศัย

                พระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) เป็นคนโปรดในรัชกาลที่ ๓ มาแต่ยังทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ ๒

                ครั้นรัชกาลที่ ๓ เสด็จขึ้นครองราชย์ได้ ๘ ปี เกิดเพลิงไหม้ขึ้นภายในกำแพงพระนคร ตั้งแต่หอกลอง (ที่ตั้งหอกลองอยู่หน้าวัดพระเชตุพนฯ ตรงที่เป็นกรมการรักษาดินแดน ซึ่งสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์เป็นหับเผยและคุกเก่า) ไฟลุกลามขึ้นไปตลอดสองฟากคลองแต่สะพานช้างบ้านหม้อ ถึงบ้านพระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) หยุดตรงสะพานมอญอันเป็นกระท่อมห้อมหอเล็กๆน้อยๆจึงรื้อออกง่าย (ความพรรณนาอยู่ในบทต้นๆของบุญบรรพ์บรรพ ๒)

                ครั้งนั้นวังเจ้านายและขุนนางถูกไฟไหม้มอดหลายหลัง รวมทั้งวังของกรมหมื่นสุนทรธิบดี (พระองค์เจ้ากล้วยไม้)  ซึ่งสิ้นพระชนม์ในไฟ กับโอรสอีก ๑ องค์ และข้าคนบริวาร ๖ คน

                เวลานั้นไกลออกไปจากพระบรมมหาราชวัง ยังมีที่ดินรกเป็นป่าอยู่อีกมาก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯจึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินแถบอื่นให้บรรดาผู้ที่บ้านเรือนถูกไฟไหม้ แต่สำหรับพระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) ผู้เป็นคนโปรดรับราชการใกล้ชิดพระยุคลบาท ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินบ้านเรือนที่ถูกไฟไหม้ใกล้เคียงกัน ๖ หลัง ให้รวมกันกับที่ดินบ้านเรือนเดิมของพระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) ดังนั้น ที่ดินบ้านเรือนของท่านจึงใหญ่โตกว้างขวาง มีบริวารพวกพ้องอยู่ด้วยเป็นอันมาก เกือบเท่าวังเจ้านายทีเดียว

    สะพานมอญในสมัยกลางรัชกาลที่ ๕
    ที่เห็นกำแพงขาวซ้ายมือ คือวังสราญรมย์
    และเห็นเจดีย์วัดราชบพิธฟากตรงข้าม
    คลองหลอด (หรือคลองคูเมืองธนบุรี)

                พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ โปรดปรานพระยาศรีสหเทพฯ นอกจากพระยาศรีสหเทพ  (ทองเพ็ง) เป็นผู้มีลายมืองาม เขียนหนังสือได้รวดเร็วขณะมีรับสั่งบอกให้จดโคลงกลอนพระราชนิพนธ์ต่างๆ ทรงใช้สอยสนิทสนม ถึงโปรดให้เลื่อนเครื่องเสวยพระราชทานเนืองๆ

                อีกประการหนึ่ง ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงยกย่องให้เป็นขุนคลังแก้วของพระองค์นั้น

                เนื่องมาจาก สมัยก่อนหน้านั้นยังไม่มีการเก็บภาษีไม้ขอนสัก แต่มีการค้าขายไม้ขอนสักที่ตัดแล้วล่องลงมาตามลำน้ำ

                หากมีพระราชประสงค์ ๑ หรือต้องการใช้ในราชการ ๑ เป็นหน้าที่ของเจ้ากรมพระคลังในขวา ให้จัดซื้อตามราคาในท้องตลาด

                ครั้งหนึ่งทรงมีพระราชประสงค์ไม้ขอนสักมาใช้ในการสร้างพระอุโบสถ โปรดฯให้เจ้ากรมพระคลังในขวา จัดหาซื้อ ก็หาซื้อไม่ได้

                (ตรงนี้ต้องหยุดสังเกตสักนิดว่า แม้ทรงเป็นถึง 'เจ้าชีวิต' หากรีดนาทาเร้นบังคับเอาจริงๆก็ต้องได้ดังพระราชประสงค์ แต่เมื่อเป็นสินค้าอันราษฎรซื้อขายกัน เมื่อเขาไม่ต้องการขายตามราคาอันราษฎรซื้อขายกัน เมื่อเขาไม่ต้องการขายตามราคาในท้องตลาดก็ไปบังคับซื้อจากเขาไม่ได้)

                พระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) จึงได้ทำเรื่องราวขึ้นทูลเกล้าฯถวาย ขอพระราชทานทำภาษีไม้ขอนสัก โดยมีข้อตกลงของเจ้าภาษีว่า

                ประการหนึ่ง หากต้องพระราชประสงค์ไม้ขอนสักในการพระราชกิจสร้างวัดวาอาราม ซึ่งต้องใช้ไม้ขอนสักใหญ่โตนั้น เจ้าภาษีจะทูลเกล้าฯถวาย โดยไม่ขอรับพระราชทานค่าขอนไม้สักนั้น

                ประการที่สอง หากเป็นไม้ขอนสักใช้ในราชการที่พระคลังในขวาจัดซื้อ ก็จะซื้อได้ตามอัตราพิกัดอันกำหนดไว้แล้ว โดยไม่มีการขึ้นลงตามท้องตลาดเป็นอันขาด

                เจ้าภาษีขอถวายเงินพระคลังปีละ ๔๐๐ ชั่งไม่ให้ขาด

                พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงมีขุนนางที่จงรักภักดีต่อพระองค์เป็นที่ยิ่ง จนกระทั่งแม้เมื่อเสด็จสวรรคตแล้ว ก็ยังช่วยกันรักษาพระราชปณิธานของพระองค์เอาไว้ เช่นการอัญเชิญสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ เสด็จขึ้นครองราชย์สนองพระราชปณิธาน เป็นต้น

                ขุนนางที่โปรดปรานใกล้ชิด พระองค์นั้นก็มีสองพี่น้อง พระญาติสนิท คือเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ผู้เป็นทั้งพระสหายและพระญาติ กับพระยาศรีพิพัฒน์ (ทัด) และพระยาพิพัฒน์โกษา (บุญศรี) ข้าหลวงเดิม เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) พระยาราชสุภาวดี (โต) ข้าหลวงเดิมที่ตรัสเรียกว่า 'เจ๊สัวเหยียบหัวตะเภา' และอีกท่านหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในปลายรัชกาล ซึ่งมีพระราชดำรัสเสมือนฝากแผ่นดินไว้ให้ดูแล คือ พระยาสุริยวงศ์มนตรี (ช่วง บุนนาค) จางวางมหาดเล็กในขณะนั้น

                (ซึ่งในรัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯให้เป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ถึงรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯตั้งให้เป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ผู้สำเร็จราชการทั่วพระราชอาณาจักร คืออาญาสิทธิประหารชีวิตผู้ต้องโทษได้)

                แต่พระศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) ผู้ทรงยกย่องว่าเป็นขุนคลังแก้วนั้น ถึงแก่อนิจกรรมเสียตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๘๘ (เสด็จครองราชย์ได้ ๒๒ ปี)

                พ.ศ.๒๓๘๘ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงต้องศูนย์เสียบุคคลอันเป็นที่สนิทเสน่หาใกล้ชิดพระองค์ ถึง ๒ ครั้งในเวลาไล่เลี่ยกัน

                หนึ่งคือ พระราชธิดาสุดเสน่หาอย่างยิ่ง คือ กรมหมื่นอับสรสุดาเทพ (พระองค์เจ้าวิลาส) สิ้นพระชนม์ พระชันษา เพียง ๓๕ พรรษา

                และพระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) ถึงอนิจกรรมเมื่ออายุเพียง ๕๓ ปี

                นับว่าพระชนม์และอายุยังน้อย (พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ขณะนั้นพระชนมายุ ๕๙-๖๐ พรรษา) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงทรงพระโทมนัสอาลัย น้อยพระราชหฤทัยว่า ถึงทรงตั้งพระบรมราชปุจฉา แล้วโปรดให้เชิญไปตั้งในพระอุโบสถวัดพระเชตุพน (เวลานั้นสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส พระองค์เจ้าวาสุกรี ทรงเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะกลาง ประทับอยู่ ณ วัดพระเชตุพนและยังทรง กรมเป็นกรมหมื่นนุชิตชิโนรส)

                แล้วพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ มีรับสั่งให้ประชุมคณะเถรานุเถระ ๖๐ รูป มีกรมหมื่นนุชิตชิโนรส เป็นประธานคณะสงฆ์นั้น ให้ช่วยกันวิสัชนา พระบรมราชปุจฉา

                ความในพระบรมราชปุจฉา สรุปโดยย่อข้างต้นว่า ทรงมีพระบารมีแก่กล้าจนได้เป็นพระมหากษัตริย์ ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา  สมณพราหมณาจารย์ อาณาประชาราษฎร์จนร่มเย็นสงบสุข ปราศจากศึกสงคราม เปรียบดังแผ่นดินพระมหาจักรพรรดิ ซึ่งประกอบด้วยเบญจมพละ หรือแก้ว ๕ ประการ อันมี บ่อแก้ว (พระราชมนตรี) ๑ ช้างแก้ว ๑ นางแก้ว (กรมหมื่นอับสรสุดาเทพ) ๑ ขุนพลแก้ว (เจ้าพระยาบดินทรเดชา) ๑ และขุนคลังแก้ว (พระยาศรีสหเทพ) ๑

                จึงมีพระบรมราชปุจฉาว่า การที่ทั้งนางแก้ว และขุนคลังแก้ว มาด่วนสิ้นพระชนม์และสิ้นอายุไป แต่พระชนม์และอายุยังน้อยนั้น เหลืออยู่แต่บ่อแก้ว และขุนพลแก้วนั้น เป็นเพราะพระองค์ทรงมี "บุรพอกุศลกรรม" (คือทำบาปอะไรไว้แต่ชาติปางก่อน) ประการใด จึงได้ตามมาทันให้พระองค์ต้องทรงเศร้าเปล่าเปลี่ยวพระราชหฤทัยดังนี้

                ซึ่งกรมหมื่นนุชิตชิโนรสพร้อมด้วยคณะสงฆ์ ก็ได้ถวายพระพรวิสัชนาตอบโดยสรุปว่า

                บุรพกรรมอันใดในพระองค์นั้นหาได้มีไม่ การที่พระราชธิดา และเสวกามาตย์ ถึงแก่สิ้นพระชนม์และอายุขัยนั้นติดเนื่องมาแต่อดีตชาติของท่านทั้งสอง เปรียบได้ดังสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งทรงมีพระราหุลเถรเจ้า เป็นพระพุทธปิโยรส ๑ มีพระสารีบุตรมหาเถราว่า เป็นอัครมหาพุทธสาวก ๑ ท่านทั้งสองนี้ต่างก็เสด็จดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานไปก่อนสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฉันใด ก็คล้ายกันกับการที่พระราชธิดา และอำมาตย์มนตรีได้ล่วงชีพไปสู่ปรโลภ ก่อนสมเด็จพระบรมธรรมิกมหาราชาธิราชเจ้า ฉันนี้

                ว่าที่จริงการที่มีพระบรมราชปุจฉานั้น เห็นจะทรงมีพระราชประสงค์ให้ถวายคำปลอบพระทัยนั่นเอง

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×