ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #218 : ราชรัฐ

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 353
      0
      16 เม.ย. 53

     ‘เวียงวัง’ สัปดาห์นี้ ขอเลี้ยวไปเล่าถึงเวียงวังแห่งราชสำนักสุลต่าน ราชรัฐใกล้ๆกันนี้

                คำว่า ‘ราชรัฐ’ นี้เรียกเอาเอง

                เพราะเหตุผล (เอาเอง อีกเหมือนกัน) ว่า รัฐทั้ง ๙ ใน ๑๓ รัฐ ของสหพันธรัฐมาเลเซียนั้น ต่างก็ยังมีสุลต่าน หรือรายา เป็นพระราชาครองรัฐอยู่

                รัฐทั้ง ๙ รัฐสุลต่าน คือ ยะโฮร์ เคดะห์ (ไทรบุรี) กลันตัน ปาหัง เนกรีเซมบิลัน เปรัค เปอลิส (ปลิศ) เซลังงอ ตรังกานู

                อนุสนธิที่ทำให้เล่าเวียงวัง ตอนนี้ขึ้นมา ก็เนื่องมาจากข่าวอภิเษกสมรสของสุภาพสตรีไทยกับมกุฎราชกุมารรัฐกลันตัน

                ที่จริงแล้วคนอายุ ๖๕ ปีขึ้นไป คงจะยังจำกันได้ว่า เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๕ สุภาพสตรีไทยผู้หนึ่งก็เคยได้อภิเษกสมรสกับสุลต่านหรือรายาแห่งรัฐเปอลิส (หรือปลิศ) มาแล้ว

                สุภาพสตรีผู้นั้น คือนางสาวไทย ประจำปี พ.ศ.๒๔๘๒ นางสาวเรียม เพศยนาวิน ซึ่งเมื่ออภิเษกสมรสแล้ว ได้อิสริยศเป็นรานีซุตพัตราฯ ตวนกูมาเรียม

    นางสาวไทย พ.ศ.๒๔๘๒
    นางสาวเรียม เพศยนาวิน หรือ
    รานี มาเรียม

                มาเรียม นั้นว่าเป็นชื่อเดิมของเธอ ซึ่งเป็นอิสลาม เมื่อใช้ชื่อไทย จึงใช้ว่า ‘เรียม’ สั้นๆ แต่เมื่อเข้าประกวดแล้ว ต่อมาเมื่อออก พ.ร.บ. วัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ.๒๔๘๕ จึงต้องเปลี่ยนชื่อเป็น ‘เรียมรมย์’ แต่เมื่อผ่านช่วงนั้นไปแล้ว จึงกลับมาใช้ชื่อ ‘เรียม’ ตามเดิม

                รานีตวนกูมาเรียม หรือนางสาวเรียมเพศยนาวิน เป็นนางสาวไทย ประจำปี พ.ศ.๒๔๘๒

                การประกวดนางสาวไทยนั้นเริ่มแรกตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๗ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ เพียง ๒ ปี ประกวดเนื่องในงานฉลองรัฐธรรมนูญ

                ขอเล่าสำหรับผู้อ่านที่มิได้อ่านเรื่อง ‘ครองบ้าน ครัวเดียว’ ซึ่งบรรยายถึงงานฉลองรัฐธรรมนูญปีแรก พอได้ทราบว่า

                ในวันที่ ๑๐ ธันวาคม มีการแห่รัฐธรรมนูญ (ก็รัฐธรรมนูญที่วางอยู่บนพานบนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกลางแยกถนนราชดำเนินกลางนั่นแหละ

                เริ่มต้นก็แห่ออกจากโรงพิธีท้องสนามหลวง (ไม่ทราบจริงๆว่าทำพิธีอะไรกันบ้าง อาจจะสวดชยันโตให้มีอายุยืนนานก็เป็นได้) แห่ไปลงเรือยนต์หลวงที่ท่าวัดราชาธิวาส ขึ้นไปทางเหนือ แล้วกลับลำล่องลงมาถึงปากคลองวัดเลียบ แห่กลับมาหยุดที่ท่าราชวรดิษ แล้วเชิญพานขึ้นประดิษฐานไว้เหนือบุษบกบนเรือศรีที่ทอดทุ่นอยู่กลางแม่น้ำ

                หนังสือพิมพ์สมัยนั้น เรียกว่า “เรือทรงรัฐธรรมนูญ’

                เล่ากันมาว่า ราษฎรสมัยนั้นไม่รู้จักกันว่าคืออะไร เห็นแห่เแหน และวางไว้บนบุษบก อย่างเป็นที่เคารพสักการะ ก็พากันกราบไหว้ที่อยู่ในเรือในแพหมอบกราบได้ ก็หมอบกราบกันทีเดียว

                การมหรสพต่างๆมีทั้งที่ท้องสนามหลวงและในพระราชอุทยานสราญรมย์

                หันกลับมาเล่าเรื่องนางสาวไทย ซึ่งตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๗ - พ.ศ.๒๔๘๑ รวม ๕ คน ยังเรียกกันว่า นางสาวสยาม

                การประกวดนางสาวสยาม รัฐบาลสมัยนั้นเห็นว่าเป็นสีสันของงานฉลองรัฐธรรมนูญ จึงจัดให้มีการประกวดคู่กันกับงานฉลองฯ ทุกปี

    การแต่งกายของผู้เข้าประกวดนางสาวไทย
    พ.ศ.๒๔๘๒-๘๓

                สุภาพสตรีผู้เข้าประกวดในยุคแรกๆนั้น ต้องมีผู้หลักผู้ใหญ่ขอต่อบิดามารดาผู้ปกครอง และมิใช่จะได้รับการยินยอมง่ายๆ ผู้เข้าประกวดนั้น ก็ถือว่ามีเกียรติ ยิ่งหากได้รับเลือกเป็นนางสาวสยาม หรือรองก็ยิ่งนับว่าเป็นเกียรติยศของตนและครอบครัว รัฐบาลยกย่องให้ออกงานสำคัญๆของบ้านเมือง

                สมัยก่อนๆนั้น คัดเลือกจากสาวงามที่เข้าประกวดเกือบทั่วทั้งประเทศ โดยส่วนมากผู้ว่าราชการจังหวัดขอตัวนางงามของจังหวัดนั้นๆ

                นางสาวสยามทั้ง ๕ พ.ศ. ประกอบด้วย นางสาวกันยา เทียนสว่าง พ.ศ.๒๔๗๗

                นางสาววณี เลาหเกียรติ พ.ศ.๒๔๗๘

                สอง พ.ศ.แรกนี้ กำหนดให้แต่งกายนุ่งจีบ ห่มผ้าตาด

                ครั้น พ.ศ.๒๔๗๙ เปลี่ยนเป็นนุ่งผ้าลายโจงกระเบน ห่มผ้าสไบ คือ

                นางสาววงเดือน ภูมิรัตน์ พ.ศ.๒๔๗๙

                นางสาวมยุรี วิชัยวัฒนะ พ.ศ.๒๔๘๐

                และ นางสาวพิศมัย โชติวุฒิ พ.ศ.๒๔๘๑

                ทั้ง ๕ นี้ เป็นนางสาวสยาม

                ครั้นถึง พ.ศ.๒๔๘๒ ปีที่ นางสาวเรียม เพศยนาวิน เข้าประกวด รัฐบาลให้เปลี่ยนชื่อประเทศสยาม เป็นประเทศไทย

                นางสาวเรียม เพศยนาวิน จึงเป็นนางสาวไทยคนแรก ประจำปี พ.ศ.๒๔๘๒ เปลี่ยนการแต่งกาย จากนุ่งผ้าโจงห่มสไบ เป็นสวมเสื้อเป็นชุดติดกับกางเกงขาสั้น เสื้อนั้นคล้องคอแบบเสื้อราตรี เปิดหลังพอสมควร กางเกงขาสั้นสูงกว่าเข่าเล็กน้อย ปลายบานแบบกางเกงกีฬาสมัยนั้น

                ก็ฮือฮากันว่าสมัยใหม่ น่าดูกว่านุ่งจีบ นุ่งโจง งดงามแต่ไม่โป๊ สมกับสุภาพสตรี

                นางสาวไทย ต่อมา นางสาวสว่างจิต คฤหานนท์ เป็นนางสาวไทยคนที่ ๒ พ.ศ.๒๔๘๓

                ทั้งนางสาวสยามและนางสาวไทย รุ่นแรกนี้ก็ ๗ คนด้วยกัน

                แล้วก็เว้นงานฉลองรัฐธรรมนูญไปถึง ๘ ปี ด้วยประเทศไทย จำต้องเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ ๒

                แต่เมื่อเข้าสู่สงครามโลกในระยะแรก ประเทศไทย ยังไม่โดนทิ้งระเบิด ใน พ.ศ.๒๔๘๕ นั้น กรุงเทพฯ จึงออกจะสนุกกันอยู่มาก แม้น้ำท่วมก็ยังสนุก ขณะนั้นรัฐบาล (โดยนายกรัฐมนตรี ซึ่งเรียกกันว่า ‘ท่านผู้นำ’ ตามอย่าง ฮิตเล่อร์ จอมเผด็จการ ท่านผู้นำของเยอรมัน) ก็กำลัง ‘เล่น’ เรื่องวัฒนธรรมอยู่ มีการเปลี่ยนแปลงสรรพนาม และการพูดจาลงท้ายคำรับคำขาน ตลอดจนอีกหลายอย่างหลายเรื่อง เรื่องหนึ่งคือเรียกผู้หญิงว่า ‘ดอกไม้ของชาติ’ ดังนั้น ปลาย พ.ศ.๒๔๘๕ ท่านจึงให้จัดงานฉลองรัฐธรรมนูญขึ้นในบริเวณถนนราชดำเนินกลาง ปิดถนนตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าฯ ถึงสะพานผ่านพิภพฯ แล้วให้จัดประกวดดอกไม้ของชาติ ขึ้นที่ศาลาเฉลิมไทย ซึ่งเพิ่งจะสร้างเสร็จ ยังไม่ทันเรียบร้อยดี ยังเป็นตึกดำๆไม่ทันทาสีด้วยซ้ำไป

                ที่จำได้แม่น เพราะเวลานั้นอยู่บ้านหลังอาคาร ๑๐ ใกล้ๆ จึงวิ่งเข้าวิ่งออกไปแอบดูทุกคืน

                ‘ดอกไม้ของชาติ’ ประกวดอยู่ปีเดียวก็เลิก เพราะระเบิดลงจนไม่สามารถจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญได้อีกต่อไป ดอกไม้ของชาติจึงมีเพียงคนเดียว จำได้แม่นว่า ชื่อ นางสาวปิยฉัตร เสียใจที่จำนามสกุลของเธอไม่ได้เสียแล้ว

                ทีนี้มาว่าถึงรัฐกลันตัน และรัฐเปอลิส (ปลิศ) แถมท้ายสักนิด

                รัฐกลันตัน สมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯ ทรงอธิบายไว้ว่า

                “เมืองไทรบุรี เมืองปัตตานี เป็นเมืองขึ้นของไทยมาแต่ดึกดำบรรพ์ ส่วนเมืองตรังกานูเพิ่งตั้งเมื่อครั้งกรุงธนบุรี และยอมเป็นเมืองประเทศราช ขึ้นกรุงเทพฯ เมื่อในรัชกาลที่ ๑ นี้ ส่วนเมืองกลันตัน  เดิมเป็นเมืองขึ้นของเมืองปัตตานี ต่อมาเป็นเมืองขึ้นของตรังกานู ถึงรัชกาลที่ ๒ เมืองกลันตันจึงขอเป็นเมืองประเทศราชขึ้นต่อกรุงเทพฯโดยตรง”

                ส่วนรัฐเปอลิส (ปลิศ) นั้น ทรงพระนิพนธ์ว่า “ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ โปรดฯให้จัดการปกครองไทรบุรี แบ่งเขตเป็น ๑๒ มุเกม (ทำนองอำเภอ) จัดเป็น ๔ เมือง คือเมืองไทรบุรี ๑ เมืองกะบังปะสู ๑ เมืองปลิศ ๑ เมืองสตูล ๑ ต่างไม่ขึ้นแก่กัน ให้ฟังบังคับบัญชา ตรงจากเมืองนครศรีธรรมราชทั้ง ๔ เมือง โปรดฯตั้งตวนกู ญาติวงศ์พระยาไทรบุรี (อับดุลลา) เป็นผู้ว่าราชการเมืองไทรบุรี เมืองกระบังปาสู และเมืองสตูล แต่เมืองเปอลิส (ปลิศ) นั้น ทรงตั้ง เสด ฮูเซน เป็นผู้ว่าราชการ (เสด หรือ เซด แปลว่าเจ้าชาย หมายถึงโอรสสุลต่าน แต่ไม่ทราบว่าวงศ์ใด)”

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×