ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #216 : เมืองไทร

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 298
      0
      16 เม.ย. 53

      เล่าเรื่องเมืองไทรต่ออีกหน่อย เพราะมีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับไทยอยู่มาก

                เมื่อไทยได้เมืองไทรบุรีคืนแล้ว พระยาสงขลา และพระยาไทรบุรี (แสง) บุตรชายเจ้าพระยานครฯ (น้อย) ที่เป็นพระยาไทรบุรีแทนเจ้าพระยาไทร (ปะแงรัน) ซึ่งหนีไปอยู่กับอังกฤษที่เกาะหมากนั้น เห็นพ้องกันว่า จะกวาดต้อนผู้คนออกจากเมืองไทรบุรีให้หมด ทิ้งแผ่นดินให้ว่างเสียทีเดียว ไม่ให้ตั้งเป็นเมืองต่อไปอีก

    ต้นหมากทองคำ ซึ่งเจ้าของ
    ร้านเพชรพลอยเก่าแก่ใน
    เมืองปีนังทำขึ้นทูลเกล้าฯ
    ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้า
    อยู่หัวรัชกาลที่ ๖ เมื่อเสด็จฯ
    ประพาสประเทศมลายู
    พ.ศ.๒๔๖๗

                แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ไม่ทรงเห็นด้วย มีรับสั่งว่า หากทิ้งไว้ไม่เป็นบ้านเป็นเมือง มีแต่นายมุเกม (คล้ายนายอำเภอดูแลแต่ละมุเกม) ต่อไปข้างหน้าหากอังกฤษเข้ามาเป็นนายหน้าของพวกเจ้าพระยาไทรเข้ามาว่ากล่าวขอตั้งบ้านตั้งเมืองขึ้น จะว่ากระไร มิตกเป็นของอังกฤษหรือ ถ้าไม่ยอมให้ เขาก็จะเอาให้ได้ จะไปตีสู้รบกับเขาได้หรือ

                แต่ถ้าหากตั้งเมืองไทรบุรีเอาไว้เป็นของเราแล้ว แม้อังกฤษจะเข้ามาว่ากล่าว เราก็ตั้งเป็นบ้านเป็นเมืองมีเจ้าของของเขาอยู่แล้ว อังกฤษจะว่าอย่างไรก็ไม่ได้เต็มปากเต็มคำ

                ทรงยกตัวอย่างเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเมืองจันตประเทศ (เมืองชายแดน) เช่นกัน ว่าอยู่ห่างไกลไปมาไม่คุ้มค่า แต่เราตั้งของเราไว้อย่างนี้ เท่ากับเราเป็นเจ้าของ หาอาจกล้าคิดเข้ามาสวมรอยเอาไม่ (ทรงหมายถึงอังกฤษ ซึ่งได้พม่าไว้ส่วนหนึ่งแล้ว)

                ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงโปรดฯให้แยกพื้นที่เมืองไทรบุรีตามชุมชน ออกเป็น ๑๒ มุเกม จัดเป็น ๔ เมือง คือเมืองไทรบุรี ๑ เมืองกะบังปาสูง เมืองปลิศ ๑ เมืองสตูล ๑ ต่างไม่ขึ้นแก่กัน อยู่ในบังคับบัญชาโดยตรงของเมืองนครศรีธรรมราช โปรดฯให้เลือกสรรเชื้อสายเจ้าพระยาไทรบุรีแต่ก่อนมา ที่ราษฎรนับถือว่าราชการแต่ละเมือง

                อีก ๒ ปีต่อมา (พ.ศ.๒๓๘๔) เจ้าพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) ที่หนีไปอยู่เกาะหมากอาศัยอังกฤษอยู่ เกิดทะเลาะกันกับอังกฤษ ให้บุตรชาย ๒ คน ถือหนังสือเข้ามายังกรุงเทพฯ ขอให้เสนาบดีนำความขึ้นกราบบังคมทูลขอรับพระราชทานโทษที่ได้ล่วงพระราชอาญามาแต่หลัง จะขอเป็นข้าทูลละอองธุลีพระบาท รับราชการสนองพระเดชพระคุณต่อไป

                พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯก็โปรดเกล้าฯ พระราชทานอภัยโทษให้ ขณะนั้นพอดีตนกูอาสันเจ้าเมืองกะบังปาสูถึงแก่กรรม จึงโปรดฯให้ย้ายตนกูเมืองไทรบุรี มาเป็นเจ้าเมืองกะบังปาสู เพื่อให้เจ้าพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) กลับมาเป็นเจ้าเมืองไทรบุรีที่แบ่งใหม่ ถวายดอกไม้เงินทองขึ้นกับไทยดังเดิม

                ต้องเล่าต่ออีกสักนิดว่า ไปๆมาๆในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ไทยก็ต้องยกเมืองไทรบุรีให้แก่ อังกฤษอยู่ดี เพื่อแลกเปลี่ยนให้คนอังกฤษ และคนในบังคับอังกฤษ (คือคนต่างด้าวรวมทั้งคนไทยบางพวกที่โอนเข้าถือสัญชาติอังกฤษ) ต้องขึ้นศาลไทยเมื่อเกิดคดีความ

                สำหรับเจ้าพระยาไทร (ปะแงรัน) นั้น แม้จะ ‘เคยล่วงพระราชอาญา’ ในรัชกาลที่ ๓ แต่เมื่อครั้งต้นรัชกาลที่ ๒ (พ.ศ.๒๓๕๒) เมื่อคราวศึกถลาง เจ้าพระยาไทร (ปะแงรัน) ได้ยกกองทัพเมืองไทรไปช่วยรบพม่าและถึงปลายปี ก็ได้ยกกองทัพไปตีเมืองแประ (เประ) ได้เมืองแประเป็นเมืองขึ้นของเมืองไทรบุรี บังคับให้พระยาแประเป็นเมืองขึ้นของไทยด้วย

                เล่าถึงไทรบุรีเจ้าของเกาะหมากแล้ว น่าจะเล่าเรื่องเกาะหมากหรือที่ภาษามลายูเรียกว่า ปีนัง (ปีนังแปลว่าหมากนั่นเอง) เดิมทีเดียวเป็นเกาะเล็กๆ ของเมืองไทรบุรีจึงอยู่ในความคุ้มครองของไทยมาแต่โบราณกาลดังที่เล่าแล้ว

                เกาะหมากนี้ เอกสารฝรั่งเล่าไว้เพียงสั้นๆว่า “เมื่อประมาณ พ.ศ.๑๙๐๐ (ต้นสมัยกรุงศรีอยุธยา) เกาะหมากเป็นเกาะเปลี่ยว เป็นป่าเป็นดงอยู่กลางทะเล มีกัปตันชาวอังกฤษชื่อลังก๊าสเตอร์ (แลงคาสเตอร์?) เป็นคนแรกที่นำเรือเข้าไปอาศัยอยู่หลายวัน ภายหลังเกิดพากันป่วยล้มตายลงจึงพากันหนีจากเกาะ เรื่องของเกาะนี้จึงเงียบหายไปหลายร้อยปี จนกระทั่งถึงปลายสมัยกรุงธนบุรี ต้นรัตนโกสินทร์ เมื่ออังกฤษได้เมืองในสุมาตราเป็นท่าเรือแล้ว แต่เป็นท่าเรือที่ยังไม่ดีนัก ด้วยเมืองมะละกาที่ดีนั้นพวกวิลันดา (ฮอลันดา) ได้ไปเสียแล้ว

                จึงมีกัปตันผู้หนึ่ง ชื่อแฟรนซิสไลต์ คนไทยสมัยนั้นมักเรียกกันว่า ‘กะปิตันเหล็ก’

                กัปตันไลต์ผู้นี้ เดิมเป็นทหารเรืออังกฤษ ต่อมาจึงลาออกทำการค้าขายคุมเรือเดินไปมาอยู่ระหว่างเมืองท่าในอินเดียกับคาบสมุทรมลายู แล้วเข้าไปอยู่ในเมืองไทรบุรี ได้เป็นอยู่แทนของบริษัทอีสอินเดียนกำปะนี หรือบริษัทอินเดียตะวันออก กัปตันไลต์ได้เจรจากับพระยาไทรฯโดยบอกเข้าไปที่อินเดียว่าพระยาไทรฯจะยกดินแดนตอนฝั่งทะเลแต่ปากน้ำเคดะห์ลงมาจนหน้าเกาะหมากให้ ถ้าอังกฤษรับจะช่วยป้องกันไม่ให้พวกสลังงอและไทยเข้าไปรบกวนเอาเขตแดน แต่ครั้งนั้นกัปตันไลต์ทำไม่สำเร็จ ไม่เป็นที่พอใจของพระยาไทรฯ กัปตันไลต์จึงไปอยู่เมืองถลาง และอยู่นานถึง ๙ ปี แต่งงานกับผู้หญิงพุตะเกต (โปรตุเกศ) ครึ่งชาติไทย เมืองถลางสมัยนั้นพวกฝรั่งเรียกว่า ‘ยังซีลอน’ (Young Ceylon)  กัปตันไลต์ คิดจะยึดเมืองถลางแทนเกาะหมาก แต่ก็ไม่สำเร็จเพราะอังกฤษกำลังทำสงครามกับฝรั่งเศส จนกระทั่ง พ.ศ.๒๓๒๙ (ต้นกรุงรัตนโกสินทร์) การเช่าเกาะหมากจึงสำเร็จ แต่ก็เกิดเรื่องพระยาไทรฯ ไม่พอใจขอยกเลิกสัญญาและยกพวกไปขู่ กัปตันไลต์ยกพวกออกต่อสู้จนพระยาไทรฯแพ้ ยอมรับค่าเช่าปีละ ๖,๐๐๐ เหรียญ”

                ฝรั่งเล่าไว้ในเอกสารของฝรั่งดังนี้

                ที่ว่าพระยาไทรฯ (อัลดุลลา บิดาเจ้าพระยาไทรฯ ประแงรัน) ขอยกเลิกสัญญานั้นว่าเป็นเพราะเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เมื่อทรงได้เมืองตานีกลับมาแล้วก็มิได้ทรงทำอะไร โปรดฯให้คงเป็นประเทศราช อยู่ในความคุ้มครองของไทย ดังเดิมเหมือนสมัยสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา

                พระยาไทรฯ และพระยาตรังกานูจึงพากันเข้ามากรุงเทพฯ เข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ขอขึ้นต่อกรุงเทพฯ ทั้งสองเมือง

                และเมื่อเห็นว่า ไทยมิได้บีบคั้นอะไรเลย พระยาไทรฯ เกรงไปเอง จึงกลับเสียดายเกาะหมากขึ้นมาดังกล่าว ตามฝรั่งเล่าว่า พระยาไทรฯ ทำสัญญาแล้วไม่พอใจขอเลิกสัญญา แต่ที่ปรากฏในเอกสารทางด้านพระยาไทรฯว่า ยังไม่ทันทำสัญญา เพียงแต่กำลังเจรจาความสัญญากัน ระหว่างนั้นอังกฤษก็เข้ายึดเกาะหมากไว้ จึงได้ทวงคืน เมื่ออังกฤษไม่ยอมจึงเกิดสู้กัน จนต้องยอมให้เช่าปีละ ๖,๐๐๐ เหรียญ ดังกล่าว

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×