ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #207 : เพลงกล่อมลูกจากโรงเลี้ยงเด็ก

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.15K
      1
      15 เม.ย. 53

    เล่าเรื่องหนักๆมาหลายตอนแล้ว หยุดพักเล่าเรื่องเบาๆกันเสียบ้าง

          มีเด็กรุ่นๆ ทั้งรุ่นใหญ่รุ่นเล็กถามกันมาหลายเรื่อง บางเรื่องก็เคยเล่ามาบ้างแล้ว แต่พวกเธอๆอาจยังไม่เคยอ่าน ด้วยโตไม่ทันสกุลไทยเล่มต้นๆ ทั้งยังหาผู้รวบรวมเป็นเล่มจริงๆจังๆไม่ได้

          เรื่องหนึ่งที่ถามกันมาคือ “โรงเลี้ยงเด็ก”

    สมเด็จเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ ๕ ประสูติแต่พระอัครชายาเธอ ๓ พระองค์
    จากซ้ายไปขวา
    ๑. สมเด็จเจ้าฟ้าเยาวมาลย์นฤมล กรมขุนสวรรคโลกลักษณวดี ในพระอัครชายาพระองค์ใหญ่
    ๒. สมเด็จเจ้าฟ้า มาลินีนพดารา กรมขุนศรีสัชนาลัย สุรกัญญา ในพระอัครชายาพระองค์เล็ก
    ๓. สมเด็จเจ้าฟ้า จันทราสรัทวาร กรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์ ในพระอัครชายาพระองค์กลาง
    ๔. สมเด็จเจ้าฟ้า นิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี ในพระอัครชายาพระองค์เล็ก
    ๕. สมเด็จเจ้าฟ้าชายยุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ในพระอัครชายาพระองค์เล็ก

          ชื่อโรงเลี้ยงเด็กเป็นที่ทราบกันแทบจะทั่วๆไปแล้วว่าคือตำบลสวนมะลิที่เคยตั้งโรงเลี้ยงเด็ก อันเกิดจากพระดำริของพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดดา ผู้เป็นพระอัครชายาเธอพระองค์เล็กในสามพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง

          พระประวัติพระวิมาดาเธอฯ ก็มีผู้เล่ากันมากแล้ว

          ในที่นี้จะเล่าเพียงเรื่องการตั้งโรงเลี้ยงเด็ก ซึ่งเกิดจากความโศกเศร้าที่พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ สมเด็จเจ้าฟ้านภาจรจำรัสศรีสิ้นพระชนม์เมื่อพระชันษาเพียง ๖ ขวบ เป็นเหตุให้พระวิมาดาเธอ ทรงพระดำริว่าแต่ลูกเจ้านายซึ่งทรงอยู่ในฐานะพรั่งพร้อมยังรักษาพระชนมชีพเอาไว้ไม่ได้ ก็แล้วลูกคนยากคนจนเล่าจะเป็นเช่นไร ทั้งเมื่อยังเยาว์และเมื่อโตขึ้นกับการเลี้ยงดูที่ไม่ดี พระวิมาดาเธอฯ จึงกราบถวายบังคมทูลว่าทรงพระดำริจะทรงตั้งโรงเลี้ยงเด็ก สำหรับเด็กยากจนที่ขาดพ่อแม่และผู้อุปการะ หรือผู้อุปการะไม่สามารถเลี้ยงดูได้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระราชศรัทธาโสมนัสยินดีด้วย

          โรงเลี้ยงเด็กจึงถือกำเนิดขึ้นแต่บัดนั้น (พ.ศ.๒๓๓๓) โดยทุนส่วนพระองค์ของพระวิมาดาเธอฯ ที่ดินตรงนั้นเติมเป็นสวนมะลิส่วนพระองค์ สำหรับใช้ในทางราชการ เมื่อสร้างโรงเลี้ยงเด็กจึงทรงขอซื้อที่ของนายภู่ซึ่งเป็นที่ติดต่อกันผืนใหญ่และที่ของผู้อื่นอีกบ้างตามราคาที่เจ้าของเสนอขายโรงเลี้ยงเด็กจึงเป็นที่ผืนใหญ่ยาว ๙ เส้น ๓ วา ตั้งแต่ริมถนนบำรุงเมืองยาวลงไปจดคลองมหานาค ต่อมาแม้เมื่อเลิกโรงเลี้ยงเด็กไปแล้ว แต่ชื่อโรงเลี้ยงเด็กก็ยังคงอยู่

          ครั้งแรกมีเด็กชาย ๗๔ เด็กหญิง ๓๔ รวม ๑๐๘ พอดี

          จะงดเว้นไม่เล่าเรื่องการเลี้ยงดูและเรื่องรายละเอียด จะเล่าแต่เฉพาะในเรื่องการร้องเล่นของเด็กๆ ซึ่งถือว่าเป็นการปลูกฝังจิตใจและวัฒนธรรมอันเนื่องมาจากธรรมชาติรอบตัว

          พระวิมาดาเธอฯ ทรงปรึกษาสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขณะนั้นยังมีพระอิสริยยศ พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงฯ ว่าจะให้เด็กร้องอะไรเล่นดี ด้วยสมัยโบราณแต่ละโรงเรียนมักมีเพลงให้เด็กร้อง มีดนตรีให้เด็กเล่น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ จึงทรงพระดำรินำเอาเพลงที่ร้องเล่นกันมาแต่โบราณเป็นเพลงกล่อมลูกบ้าง เพลงร้องเล่นของเด็กๆ โดยไม่มีความหมายบ้างมาดัดแปลงเป็นบทดอกสร้อยสุภาษิต โดยที่พระองค์ท่านทรงพระนิพนธ์เองบ้าง ให้บรรดาผู้ที่ถนัดทางนี้ ครูบ้าง กวีบ้าง ช่วยกันแต่ง

          ในบทร้องเล่นเก่าๆเหล่านี้มีอยู่มากมาย ล้วนแต่เป็นการร้องเล่นโดยสังเกตจากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัวอันเป็นวัฒนธรรมไทยมาแต่โบราณ ในที่นี้จะนำแต่บทที่กล่าวถึงพวกนกที่เห็นๆอยู่รอบตัว เช่น นกกระจาบ นกเอี้ยง นกกิ้งโครง นกกา นกเขา นกกาเหว่า ฯลฯ

          บทกล่อมสมัยเก่าก่อนโน้น เมื่อแม่กล่อมลูก มักจะขึ้นด้วย...เอย และลงท้ายด้วย...เอย เช่น

          นกกระจาบ ที่เห็นอยู่ตามทุ่งนา บทเก่าแม่กล่อมลูกว่า

          “ยกกระจาบหัวเหลืองเอย...คาบข้าวนาเมืองเสียย่อยยับ นาเมืองคนจนไม่มีคนจะช่วยขับ ยับแล้วเจ้านกกระจายเอย...”

          บทเดิมนั้นเปรยว่านกกระจาบขโมยคาบข้าวไป ทำให้เดือดร้อน แต่ดอกสร้อยสุภาษิตของโรงเลี้ยงเด็ก หยิบเอาธรรมชาติที่ดีๆของนกกระจาบมาสอนว่า

           “นกเอยนกกระจาบ           เห็นใบพงลงคาบค่อยเพียรขน
    มาสอดสอยด้วยจะงอยปากของตน  ราวกับคนช่างพินิจคิดทำรัง
    ช่างละเอียดเสียดสลับออกซับซ้อน   อยู่พักร้อนนอนร่มได้สมหวัง
    แม้นทำการหมั่นพินิจคิดระวัง           ให้ได้ดังนกกระจาบไม่หยาบเอย”

    สมเด็จเจ้าฟ้านภาจรจำรัสศรี ทรงแต่งพระองค์แฟนซี เมื่อพระชันษา ๕ ขวบ สิ้นพระชนม์ เมื่อพระชันษา ๖ ขวบ พระชนนีทรงบำเพ็ญพระกุศลประทานด้วยการตั้งโรงเลี้ยงเด็กที่พ่อแม่ไม่มีกำลังจะอุปการะเลี้ยงดู นับเป็นกำเนิดของสถานสงเคราะห์เด็กกำพร้าในประเทศไทย

          นกเขา แต่โบราณแม่กล่อมลูกว่า

          “นกเอ๋ยนกเขาเอย...ขันแต่เช้าจนเย็น เจ้าขันไปเถิด แม่จะฟังเสียงเล่น เสียงเย็นแต่เจ้าคนเดียวเอย...”

          ท่านมาดัดแปลงเป็นดอกสร้อยสุภาษิตสอนว่า

                            “นกเอ๋ยนกเขา     ขันแต่เช้าหลายหนไปจากเที่ยง
    สามเส้ากุกแกมแซมสำเนียง            เสนาะเสียงเพียงจะรีบงีบระงับ
    อันมารดารักบุตรสุดถนอม               สู้ขับกล่อมไกวเปลเห่ให้หลับ
    พระคุณท่านซาบซึมอย่าลืมลับ         หมั่นคำนับค่ำเช้านะเจ้าเอย”

          นกเอี้ยง เป็นบทร้องเล่นว่า 

          นกเอี้ยงเอ๋ย...มาเลี้ยงควายเฒ่า ควายกินข้าว นกเอี้ยงหัวโต” หมายถึงว่าเลี้ยงเขาให้กินข้าวแต่ตัวเองอดหัวโต ท่านก็ดัดแปลงเอามาสอนว่าเป็นการที่ผู้น้อยหมายพึ่งผู้ใหญ่ว่า

                            “นกเอยนกเอี้ยง  บ่ายเบี่ยงฝากกายกับควายทุ่ง
    จับหลังจิกกินริ้นยุง                        เฝ้าบำรุงรักษาอุตส่าห์ทำ
    ตัวน้อยหมายพึ่งซึ่งผู้ใหญ่               จึงอาศัยควายเฒ่าทุกเช้าค่ำ
    หนูน้อยร้อยชั่งจงฟังคำ                    ควรจำอย่างเยี่ยงนกเอี้ยงเอย”

          กาดำ บทเก่าว่า

          “กาเอ๋ยกา บินมาไวๆ จับต้นโพธิ์ โผมาต้นไทร จับต้นชิงเขาก็ยิงลงมา จับต้นข่าเขาด่าแม่ให้อีกาหน้าดำเขาจำหน้าได้เอย...”

          เฉพาะบทนี้เมื่อเด็กๆ หกสิบกว่าปีก่อนเคยร้องกล่อมตุ๊กตาผ้า นอนเปลผ้าถุงของแม่บ่อยๆ บทนี้ยาวและสนุกดีจึงชอบนัก ทั้งๆที่ต้นขิงต้นข่าเป็นต้นไม้เล็กๆเกินกว่าที่อีกาจะไปจับ แต่บทร้องมันมีลูกกระทุ้ง ร้องคล่องสนุกปากดี แต่เมื่อท่านดัดแปลงเป็นบทร้องดอกสร้อยสุภาษิต ท่านก็หาจุดดีๆของอีกามาสอน

                กาเอ๋ยกาดำ                     รู้จำรู้จักรักเพื่อน
    ได้เหยื่อเผื่อแผ่ไม่แชเชือน              รีบเตือนพวกพ้องร้องเรียกมา
    เกลื่อนกลุ้มรุมล้อมพร้อมพรัก          น่ารักน้ำใจกะไรหนา
    การเผื่อแผ่แน่ะพ่อหนูจงดูกา            มันโอบอารีรักดีนักเอย”

          นกดุเหว่า (กาเหว่า) บทร้องโบราณเกี่ยวกับนกกาเหว่า กล่าวถึงนกกาเหว่าว่าเป็นนกขี้โกง ไข่ออกมาแล้วก็ไม่ฟักเอง แอบเอาไปใส่รังกา โบราณจึงประฌามผู้หญิงที่ทิ้งลูกว่าเหมือนนกกาเหว่า คำร้องแต่โบราณว่าดังนี้

          “นกกาเหว่าเอย...ไข่ให้แม่กาฟัก แม่กากีหลงรักคิดว่าลูกในอุทร คาบเอาข้าวมาเผื่อ คาบเอาเหยื่อมาป้อน ปีกเจ้ายังอ่อน ยังท้อแท้เอย” เมื่อนำมาดัดแปลงว่าดังนี้

                “ดุเอยดุเหว่า                     ฝีปากเจ้าเหลือเอกวิเวกหวาน
    ผู้ใดฟังวังเวงบันเลงลาญ                  น่าสงสารน้ำเสียงเจ้าเกลี้ยงกลม
    เป็นมนุษย์สุดดีก็ที่ปาก                   ถึงจนยากพูดจริงทุกสิ่งสม
    ไม่หลอนหลอกปลอกปลิ้นด้วยลิ้นลม คนคงชมมิด่าว่ากาเหว่าเอย”

          ด่าว่าว่ากระไร

          ก็คือด่าว่านกกาเหว่าขี้โกงไข่ให้แม่กาฟักนั่นเอง

          อีกอย่างเสียงนกกาเหว่านั้นคนที่ชอบก็ว่าเพราะ คนที่ไม่ชอบก็รำคาญว่าเสียงมันดังแสบแก้วหู

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×