ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #206 : เสนาบดีขุนนางยามออกศึก

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 412
      0
      15 เม.ย. 53

      เล่าถึงเจ้านายไปทัพครั้งศึกเจ้าอนุวงศ์แล้ว

                ตอนนี้เล่าถึงเสนาบดีขุนนางไปทัพ ซึ่งมีทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนบ้าง

                ในสมัยโบราณ ยามบ้านเมืองสงบข้าราชการทุกฝ่ายต่างก็ปฏิบัติราชการไปตามหน้าที่ แต่หากบ้านเมืองมีศึกไม่ว่าทหาร (บู๊) หรือพลเรือน (บุ๋น) ต้องออกรบเหมือนกันหมด

                ศึกครั้งนั้น เจ้าพระยาอัครมหาเสนา (สังข์) สมุหพระกลาโหม อายุท่านมากถึง ๗๑-๗๒ แล้ว จึงมิได้โปรดฯให้ออกไปทัพ คงออกศึกแต่เฉพาะเจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย) สมุหนายก (ตำแหน่งจักรี) ขณะนั้นอายุประมาณ ๖๒ แม้จะเข้าเขตชรา แต่ยังแข็งแรงและเป็นผู้เข้มแข็งชำนาญการศึก

                น่าเสียดายที่ เมื่อได้ชัยชนะแล้ว ท่านไปป่วยเป็นไข้ป่วงในค่ายเมืองฟันพร้าว ซึ่งในครั้งนั้นจดไว้ในจดหมายเหตุว่า ไพร่พลทหารไปล้มป่วยตายกันเสียมาก รวมทั้งเจ้าพระยาอภัยภูธร

                โปรดเกล้าฯให้ญาติพี่น้องรับศพกลับพระนคร

                ถึง พ.ศ.๒๓๗๑ ชนะศึกแล้ว แม้ว่าจะยังจับพระเจ้าอนุวงศ์ไม่ได้ จึงโปรดฯให้ทำพระเมรุถวายพระเพลิง สมเด็จกรมพระอมรินทรามาตย์ (สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีในรัชกาลที่ ๑) สมเด็จพระอัยยิกา ณ ทุ่งพระเมรุ ถวายพระเพลิงสมเด็จพระอัยยิกา และพระราชทานเพลิงพระบรมวงศ์ พระสัมพันธวงศ์ ซึ่งสิ้นพระชนม์และถึงอสัญกรรมไปก่อนหน้านั้น รอพระราชทานเพลิงอยู่ แล้วจึงโปรดฯให้ชักศพเจ้าพระยาอภัยภูธรเข้าเมรุพระราชทานเพลิง เสร็จแล้วจึงรื้อพระเมรุ ระหว่างกำลังรื้อพระเมรุ ฝนตกพรำๆเกิดอสุนีบาตลงมาที่เมรุแล้วไหม้เมรุจนหมด ทำให้ผู้คนราษฎรตื่นเต้นอื้ออึง

                เจ้าพระยาอภัยภูธร ท่านนี้ คงจำกันได้ว่าท่านเคยมีเรื่องมีราวกับเจ้าพระยามหาเสนา (สังข์) ซึ่งว่าที่จริงแล้วเหตุนั้นเกิดจากพวกทนายบ่าวไพร่ของทั้งสองฝ่ายมากกว่า แต่เรื่องก็ถึงเจ้าพระยามหาเสนา กราบบังคมทูลฟ้องร้องกล่าวโทษ โปรดฯให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงชำระความ ยังไม่ทันเรียบร้อยก็พอดีพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ รัชกาลที่ ๒ เสด็จสวรรคตเสียก่อน

                ครั้นขึ้นรัชกาลที่ ๓

                พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ มิได้ทรงชำระความต่อ หากแต่โปรดเกล้าฯพระราชทานเกียรติยศสูงสุดเป็นพิเศษทั้งสองท่าน โปรดฯให้ขึ้นเสลี่ยงงากั้นกลดเข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในพระบรมมหาราชวังทุกวัน (ขุนนางผู้ใหญ่แต่ก่อนที่มีอายุมากนั้น นั่งแคร่กัญญา คือแคร่ไม้ มีหลังคาที่เรียกกันว่า หลังคากันแซงเตย ลักษณะเป็นกระแชงสานด้วยเตย แคร่นั้นมีพนักหลังพิง คานหามทำด้วยไม้ไผ่ลำใหญ่ เรียกว่าไม้ลำมะลอก)

                การโปรดเกล้าฯ เพิ่มเกียรติยศแก่ทั้งสองฝ่ายโดยมิได้ทรงรื้อฟื้นเรื่องเก่า มิได้ทรงตัดสินเรื่องราว นับว่าเป็นพระปรีชาญาณ เมื่อทรงเห็นว่าเรื่องราวมิใช่เรื่องสำคัญอันอาจทำความเสียหายแก่บ้านเมือง เป็นเพียงเรื่องส่วนตัวอย่างที่ปัจจุบันเรียกว่า ‘เขม่น’ กันเท่านั้น จึงทรงถนอมน้ำใจเอาไว้ทำคุณประโยชน์แก่ชาติบ้านเมือง เรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นเสมอ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ มักทรงไกล่เกลี่ยเช่นเมื่อข้าราชการท่านหนึ่งแต่งกลอนว่าข้าราชการอีกท่านหนึ่งเขียนลงกระดาษข่อยมาปิดแถวท้องพระโรงด้วยซ้ำ เมื่อทรงทราบถึงพระกรรณ ก็ทรงพระสรวล ตรัสว่า เขาหยอกกันเล่น เมื่อเป็นดังนี้ฝ่ายที่กำลังจะกราบทูลฟ้องก็เลยต้องระงับไม่ฟ้อง เพราะพระเจ้าอยู่หัวท่านทรงเห็นว่าเป็นเพียงเรื่องหยอกล้อไร้สาระเสียแล้ว

                เสนาบดีท่านที่ ๒ ที่ออกศึกครั้งนั้น คือ เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ท่านผู้นี้ประวัติของท่านมีผู้แต่ง ผู้เขียนเล่าเอาไว้มาก เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป

                เมื่อโปรดฯให้เป็นแม่ทัพ ท่านเพิ่งดำรงตำแหน่งเจ้าพระยาพระคลังเสนาบดีกรมท่าเต็มที่ แต่อันที่จริงแล้ว ท่านก็เป็นว่าที่เจ้าพระยาพระคลัง มาแต่ปลายรัชกาลที่ ๒ แล้ว

                ผู้อ่านที่อ่านเรื่อง ‘บุญบรรพ์’ มาแต่บรรพแรกคงจำกันได้ว่า ท่านเป็นพระญาติสนิทของพระเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่รัชกาลที่ ๒ และรัชกาลที่ ๓

    รูปปั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชา
    (สิงห์) ที่เจ้ากรุงกัมพูชา
    (นักองค์ด้วง) โปรดให้สร้าง
    ที่เก๋งวัดโพธาราม
    เมืองอุคงมีชัย พ.ศ.๒๓๙๒
    ด้วยไปช่วยรบกับญวนจน
    เขมรตั้งตัวได้ว่าเป็นรูปปั้น
    ที่เหมือนตัวจริงที่สุด

                พูดกันอย่างภาษาสามัญ คือ ท่านเป็นลูกผู้น้องของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๒ เพราะแม่ของท่านเป็นน้องสาวแท้ๆของสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี นอกจากนั้นแม่ของท่านยังได้เคยอุ้มชูเลี้ยงดูพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ มาแต่ยังทรงพระเยาว์ จึงเป็นน้าที่สนิทกันมาก

                กับพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ นั้น ท่านจึงมีศักดิ์เป็นอา ทว่าท่านอ่อนกว่ารัชกาลที่ ๓ หนึ่งปี (เกิด พ.ศ.๒๓๓๑ รัชกาลที่ ๓ ทรงพระบรมราชสมภพ พ.ศ. ๒๓๓๐)

                ท่านจึงเคยเป็นเพื่อนเล่นมาแต่ยังเยาว์วัยด้วยกัน ครั้นโตเป็นหนุ่มก็ยังคุ้นเคยสนิทสนมกัน จนกระทั่งบวชก็บวชพร้อมกัน จำพรรษาอยู่วัดเดียวกัน คือวัดพลับ (วัดราชสิทธาราม) ขณะอยู่วัดยิ่งสนิทสนมกันมากขึ้น ครั้นถึงรัชกาลที่ ๒ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ ท่านยังเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ โปรดฯให้กำกับกรมท่า ก็ทำงานร่วมกันอีก ถึงรัชกาลที่ ๓ เจ้าพระยาพระคลังจึงเป็น ๑ ในจตุสดมภ์ ที่เป็นหลักของแผ่นดินจริงๆหลักหนึ่ง โดยเฉพาะในหน้าที่ของท่าน คือกรมท่าหรือต่างประเทศ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯนั้นไม่โปรดให้พวกฝรั่งที่เข้ามาขอทำสัญญาค้าขายบ้าง ขอเข้ามาทำสัญญาพันธไมตรีบ้าง เข้ามาถึงพระองค์ ด้วยทรงเห็นว่า หากเข้าถึงพระองค์ก็จะมาเอาโน่นเอานี่ หรือพาลหาเหตุต่างๆง่ายๆดังที่ทำกับชาติอื่นๆมาแล้ว จึงทรงเอื้อเฟื้ออยู่แต่ห่างๆ เจ้าพาระยาพระคลัง จึงเป็นเสนาบดีต่างประเทศคนแรกที่เปรียบได้กับรัฐมนตรีต่างประเทศของสมัยนี้ คือ ‘ออกหน้า’ และเป็นผู้เจรจาในพระนามของพระเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยาพระคลังเป็นผู้ ‘ออกหน้า’ ทว่า ‘นโยบาย’ เป็นของพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งบางเรื่องบางประการก็ทรงปรึกษาหารือกับเจ้านายและขุนนางสำคัญๆที่พอจะมี ‘หัวฝรั่ง’ ในเวลานั้น

                แม้จะเป็นเสนาบดีสายพลเรือน ยามศึกก็ต้องออกศึก แต่โดยนิสัยแล้วท่านเป็นคนใจอ่อน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ทรง ‘รู้จัก’ คนของพระองค์ท่านเป็นอย่างดี คงจะทรงทราบข้อนี้อยู่เมื่อครั้งโปรดฯให้ไปรบญวนใน พ.ศ.๒๓๗๖ จึงโปรดฯให้ไปด้วยกันกับเจ้าพระยาบดินทรเดชา เจ้าพระยาบดินทรเดชาเป็นแม่ทัพบก เจ้าพระยาพระคลังเป็นแม่ทัพเรือ

                ที่จริงโดยตำแหน่งแล้ว เจ้าพระยาบดินทรเดชาในขณะนั้นเป็น สมุหนายก (ที่จักรี) เจ้าพระยาพระคลังนั้นเป็นทั้งเสนาบดีกรมท่าและว่าที่สมุหพระกลาโหมด้วย

                ที่ ‘ว่า’ ทั้งสองตำแหน่งนั้น เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อเจ้าพระยามหาเสนา (น้อย) ถึงแก่อสัญกรรม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จะโปรดฯให้เจ้าพระยาพระคลังเลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาอัครมหาเสนา แต่ท่านไม่ยอมรับ อ้างว่าคนเป็นเจ้าพระยามหาเสนา มักอายุสั้นจึงโปรดฯให้เป็นเจ้าพระยาพระคลังอยู่ตามเดิม แต่ว่าทั้งกรมท่าและกลาโหม ในสมัยนั้นจึงเรียกกันว่า ‘เจ้าพระยาพระคลังว่าที่สมุหพระกลาโหม’

                ที่เจ้าพระยาพระคลังอ้างเช่นนั้น เพราะเมื่อเจ้าพระยาอัครมหาเสนา (สังข์) ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว โปรดฯให้เจ้าพระยายมราช (น้อย) เป็นเจ้าพระยาอัครมหาเสนาเป็นอยู่ประมาณ ๓ ปี ก็ถึงแก่อสัญกรรม

                ส่วนเจ้าพระยาอัครมหาเสนา (สังข์) นั้นเป็นสมุหพระกลาโหมเพียงแค่ ๕ ปี ถึงอสัญกรรม

                เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) จึงเห็นว่า ตำแหน่งเจ้าพระยามหาเสนา เป็นตำแหน่งที่มีอายุสั้น มาเป็นกันได้ไม่กี่ปีมักถึงแก่อสัญกรรมกันทั้งนั้น

                ตัวเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) นั้น มาถึงแก่พิราลัย เมื่ออายุ ๖๗ ปี ในรัชกาลที่ ๔  เมื่อเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ เรียกกันว่า ‘สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่’ ใช้ราชาศัพท์เสมอหม่อมเจ้า ถือศักดินา ๓๐,๐๐๐ พระราชทานเสลี่ยงงาและกลด และพระแสงประดับพลอยลงยาราชาวดี ซึ่งเป็นเครื่องสำหรับยศอย่างพระองค์เจ้าต่างกรม (คือพระองค์เจ้าที่ทรงกรม)

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×