ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #203 : สรรพนามบุรุษที่ 1 "ดิฉัน" หรือ "ดีฉัน"

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 439
      0
      15 เม.ย. 53

        -ละครย้อนยุคหลายเรื่อง ผู้ชายเรียกตัวเองว่า ‘ดิฉัน’ หรือ ‘ดีฉัน’ ทำให้สงสัย เพราะปัจจุบันเคยได้ยินแต่ผู้หญิงพูด-

                สรรพนามบุรุษที่ ๑ ‘ดิฉัน’ หรือ ‘ดีฉัน’ (ในวรรณคดีบางทีก็ลากเสียงเป็น  ‘ดิฉาน’ นั้น เคยทราบจากท่านผู้ใหญ่ ซึ่งนับเป็นปราชญ์ทางภาษาว่า

                แรกเริ่มทีเดียวเป็นสรรพนามของคนทั่วไปใช้พูดกับพระสงฆ์ ผู้เป็นที่นับถืออย่างสูง มาจากคำว่า ‘ดิรัจฉาน’ คือยกย่องพระสงฆ์ว่าเป็นผู้ประเสริฐกว่าสัตว์ทั้งปวง (มนุษย์ก็นับว่าเป็นสัตว์เหมือนกัน แต่เป็นสัตว์ประเสริฐกว่าสัตว์ทั้งหลาย) ขณะเดียวกันผู้พูดก็ถ่อมตัวว่า ตนนั้นหากเปรียบกับพระสงฆ์ ก็ยังเป็นเพียงดิรัจฉาน จึงเรียกตัวเองว่า ‘ดิรัจฉาน’ ต่อมากร่อนไป เหลือแต่พยางค์ต้นกับท้าย กลายเป็น ‘ดิฉัน’

                เดิมใช้คำนี้ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง แต่ต่อมาใช้กันแต่ในหมู่พวกผู้ชาย ส่วนผู้หญิงนั้นในวรรณคดี และจดหมายเหตุ เห็นใช้ว่า ‘ฉัน’ บ้าง ‘อีฉัน’ บ้าง ไม่ทราบว่าเริ่มใช้กันมาตั้งแต่เมื่อใด

                คำว่า ‘อีฉัน’ นี้ หากสันนิษฐานแบบลากเข้าศัพท์ เห็นจะมาจากคำว่า อี + ฉัน กระมัง เพราะในสมัยก่อนผู้หญิงทั่วไปมักเรียกกันว่า อีนั่น อีนี่ เวลาพูดกับมูลนาย จะใช้ว่า ‘ฉัน’ ก็ดูไม่เป็นการนับถือยกย่อง จึงเลยเรียกตัวเองว่า ‘อี’ เสียก่อน จึงตามด้วย ‘ฉัน’

                นี่เป็นการสันนิษฐานโดยไม่จริงจังนัก ด้วยเหตุผลที่ออกจะข้างๆคูๆอยู่

                เมื่อผู้เล่ายังเด็ก ผู้ใหญ่ขนาดย่า ป้า อา เรียกตัวเองว่า ‘อีฉัน’ หรือ ‘อิฉัน’ กันทั้งนั้น ไม่เห็นเคยได้ยินเรียก ‘ดิฉัน’ จนกระทั่งเริ่มเป็นสาวในสมัยประชาธิปไตย จึงได้ยินผู้หญิงเรียกตัวเองว่า ‘ดิฉัน’ บางทีก็ ‘อะฮั้น’ บางทีพูดเร็วๆเป็น ‘เดี๊ยน’ บ้าง ‘ดั้น’ บ้าง ก็มี

                ส่วน ‘ดิฉัน’ ของผู้ชาย จากการพูดกับพระสงฆ์ ต่อมาเลยกลายเป็นสรรพนามบุรุษที่ ๑ ใช้สำหรับผู้มีอาวุโสน้อยพูดกับผู้มีอาวุโสมากกว่า แม้บ่าวพูดกับนาย บางทีก็ใช้ว่า ‘ดิฉัน’

                เช่นในวรรณคดี ‘ขุนช้างขุนแผน’ ตอนขุนช้างพาบริวารบ่าวไพร่ไปแอบดูนางพิมอาบน้ำที่ท่าน้ำกับพวกบ่าวไพร่ อ้ายโห้ง บอกนายว่า ติดใจบ่าวของนางพิมคนหนึ่งอยู่

                “อ้ายโห้งฟังนายสบายจิต
    ดีฉันคิดไว้แต่แรกลงมาถึง
    ความรักไม่ชั่วจนตัวตึง
    ค่าตัวชั่งหนึ่งอีคนนี้”

                เมื่อทองประศรีนำพลายงามไปหาขุนแผนที่ในคุก ขุนแผนสั่งสอนพลายงามว่าจะพาไปฝากพระหมื่นศรีให้ช่วยนำถวายตัว

                “พลายงามน้อยสร้อยเศร้ารับเจ้าคะ
    ดิฉันจะพากเพียรเรียนให้ได้”

                และเมื่อพลายงามรับปากพระพิจิตรนางบุษบา พ่อแม่ของนางศรีมาลาว่าจะไม่นอกใจ นั้นก็ว่า

                “ครานั้นจึงโฉมเจ้าพลายงาม
    คิดแล้วกล่าวความตามประสงค์
    ถ้าหากท่านผู้ใหญ่ได้ตกลง
    ที่ตรงดีฉันนั้นอย่าแคลง”

                นี่เป็นเรื่องในวรรณคดี แต่วรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผนนั้น เป็นเรื่องอันแสดงถึงชีวิตและสังคมชาวบ้านตลอดจนการพูดจาของชาวบ้านในยุคปลายอยุธยา และต้นรัตนโกสินทร์ เรื่องราวในยุคนั้นที่นำมาแต่งเป็นนิยายอิงพงศาวดารหลายเรื่องมักอาศัยความรู้อันได้มาจากวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผนนี่เอง

                ทีนี้ที่ท่านใช้สรรพนาม ‘ดิฉัน’ โดยปรากฏเป็นหลักฐานอยู่นั้น คือ

                เมื่อ พ.ศ.๒๓๗๖ เวลานั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชาเป็นสมุหนายก (ที่จักรี) เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ว่าที่สมุหพระกลาโหม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงมีพระบรมราชโองการให้ท่านทั้งสองยกทัพไปตีเขมรและญวน เจ้าพระยาบดินทรเดชา เป็นแม่ทัพบก เจ้าพระยาพระคลังเป็นแม่ทัพเรือ (เวลานั้นนักองจันทร์เจ้าแผ่นดินเขมรเข้าข้างญวน ส่วนน้องชายคือนักองอิ่ม นักองด้วง เข้าข้างไทย)

                แม่ทัพทั้งสองท่าน ต่างคนต่างยกไปรบกับญวน เขมร จนกระทั่งยกมาพบกันที่เมืองโจฎก (หรือโชฎก) ซึ่งเจ้าพระยาพระคลังตั้งทัพอยู่ ปรึกษากันว่าจะยกไปทางเรือด้วยกัน

                “เจ้าพระยาพระคลังเห็นชอบด้วย จึงเรียนเจ้าพระยาบดินทรเดชาว่า ครัวญวนจับไว้ได้มาก แต่ชายฉกรรจ์ถึง ๘๐ คนเศษ การข้างหน้ายังมีต่อไปอีกมากอยู่ จะจำไว้ที่เมืองโจฎกก็ไม่ไว้ใจ จะส่งเข้าไปกรุงเรือใหญ่ก็ไม่มี มีแต่เรือรบจะทำประการใดดี เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงว่า เจ้าคุณกลัวบาปอยู่ก็ไว้ธุระดิฉัน จึงเรียกพระสุรินทรามาตย์มาสั่งว่า อ้ายญวนผู้ชายฉกรรจ์มีอยู่เท่าไรให้แจกเหล้าไปสำเร็จโทษเสียให้หมด แต่ครอบครัวของมันนั้นให้กวาดส่งลงไปเมืองบันทายมาสให้สิ้น”

                เจ้าพระยาบดินทรฯ และเจ้าพระยาพระคลังนั้นว่าที่จริง ตำแหน่ง และเกียรติยศของท่านเสมอกัน เจ้าพระยาบดินทรฯ อายุสูงกว่า เจ้าพระยาพระคลัง ๑๑ ปี ด้วยซ้ำ ‘ดิฉัน’ ในที่นี้จึงเป็นการพูดอย่างคนเสมอกันค่อนข้างถ่อมตัวนิดๆ

                สรรพนาม ‘ดิฉัน’ ยังเป็นสรรพนามที่เจ้านายผู้ชายทรงใช้เรียกองค์เอง กับคนสามัญมีอาวุโสเป็นที่นับถือ

                เช่นเมื่อครั้ง รัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม (หลังสงคราม) ได้จัดการให้อัญเชิญพระศพสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งสิ้นพระชนม์ ณ เมืองบันดุง กลับสู่พระนครเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๑

                พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงศ์บริพัตร (ต่อมาทรงกรมเป็นกรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต) ได้ทรงมีลายพระหัตถ์ถึง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดังนี้

                “เรียก พณฯ ท่าน จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี

                ในเมื่อการอัญเชิญพระศพทูลกระหม่อมกลับมาจากชวานั้น ได้สำเร็จลงแล้วด้วยดี ในนามของบรรดาทายาทในราชตระกูลบริพัตร ดิฉันขอแสดงความขอบคุณอย่างยิ่งมายัง พณฯท่าน และคณะรัฐมนตรี ที่ได้ดำริและสั่งให้ดำเนินกิจการนั้นด้วยไมตรีจิตและกุศลเจตนา พระเกียรติยศซึ่งพระศพพ่อดิฉันได้รับอย่างสูงสมบูรณ์ทั้งภายในภายนอกประเทศนั้นเล่า ก็ย่อมเป็นที่ปลื้มใจและจับใจของวงศ์ญาติของดีฉัน และในข้อนี้ รัฐบาลย่อมมีส่วนใหญ่ที่ได้แสดงความจงใจและอำนวยผลเช่นกัน จึงขอขอบใจในกุศลนั้นมาในที่นี้ด้วย

                อนึ่งในฐานที่ พณฯท่าน เป็นผู้ใหญ่ในราชการขอ พณฯท่านได้กรุณาแจ้งต่อบรรดาผู้ที่อยู่ในบังคับบัญชาทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ซึ่งเป็นผู้มีส่วนอันแท้จริงในการอัญเชิญพระศพนั้น ให้ทราบว่า ดีฉันและเหล่าญาติวงศ์ขอขอบใจและพอใจเขาเป็นอันมากที่ได้อุตสาหะช่วยปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็งและรอบคอย

                ในส่วน พณฯท่านเองนั้น ดีฉันย่อมตระหนักและฝังใจในความกรุณาของ พณฯท่านในเรื่องนี้ จนยากที่จะบรรยายความรู้สึกในใจได้เหมาะสมปรารถนา ขออำนาจแห่งปีติ ซึ่งย่อมบังเกิดแก่ดิฉันและเหล่าทายาท ในเมื่อได้เห็นต้นสกุลของตนคืนสู่กรุงนั้น จะยังผลให้ พณฯท่านประสบลาภยศสุขสวัสดิ์และสรรเสริญเทอญ

                                                                                                                ขอพณฯท่านได้รับความเคารพอย่างสูง

                                                                                                                                    ดีฉัน

                                                                                                                         (ลงพระนาม) จุมภฏพงษ”

                เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. ๒๔๗๕ ‘ทูลกระหม่อมชาย’ จอมพล สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงเป็นเสนาบดีกลาโหมและมหาดไทย ท่านจึงถูก ‘เนรเทศ’ ให้เสด็จออกนอกประเทศ ทั้งยังโดนผู้ก่อการสำคัญเวลานั้นขอแกมบังคับให้ทรงยกวังบางขุนพรหม อันเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ (พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงซื้อที่ดินจากราษฎรแถบนั้น พระราชทานให้) ให้แก่รัฐบาล

                หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เจ้านายทุกพระองค์ทรงได้รับวังคืน เว้นแต่ สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต “สมเด็จวังบางขุนพรหม” พระองค์เดียวที่พระทายาทไม่ได้รับคืน โดยอ้างว่าทรง ‘เซ็น’ ประทานให้แก่รัฐบาลแล้ว และไม่ได้เสด็จกลับ หรือไม่ได้ทรงทวงถามมาตลอดระยะเวลา ๑๒ ปี ที่ประทับอยู่ ณ เมืองบันดุง จนสิ้นพระชนม์ จึงไม่อาจคืนให้ได้

    หมายเหตุ การที่ท่านไม่เสด็จกลับ และไม่ทรงข้องแวะกับรัฐบาลการเมืองอีกเลยตั้งแต่เสด็จออกนอกประเทศไปนั้น ก็เพราะท่านถือ ‘สัจจะ’ ที่ได้ออกพระโอษฐ์เอาไว้ว่า “จะไม่กลับมาเหยียบแผ่นดินไทย” คือ กรุงเทพฯ รัตนโกสินทร์ ที่บรรพบุรุษของท่านทรงสร้างสถาปนาขึ้นมา และในฐานะที่ท่านเป็นเจ้าจอมพลเป็นเสนาบดี แต่รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ (ในเวลานั้น) ไว้ไม่ได้ และท่านก็ทรงรักษา ‘สัจจะ’ จนตลอดพระชนมชีพ

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×