ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #2 : สมเด็จพระศรีสุลาลัย

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 2.2K
      10
      4 มิ.ย. 52

    เรื่องสมเด็จพระศรีสุลาลัยต่ออีกสักนิด ด้วยบังเอิญไปได้ฟังจากผู้ไปเยี่ยมชมวัดเฉลิมพระเกียรติฯ ซึ่งเป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพะนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯให้สร้างเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชชนนี ณ ที่ซึ่งเคยเป็นเคหะสถานของพระชนกแห่งสมเด็จพระศรีสุลาลัย

    เรื่องราวที่รับฟังมานั้น เป็นทำนองเรื่องเกร็ดเกี่ยวกับราชปฏิพัทธ์ คือวิทยากรผู้นำชมท่านเล่าว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า ได้เสด็จมาหรือเสด็จผ่านเคหะสถานตรงวัดเฉลิมพระเกียรตินี้ และได้ทอดพระเนตรเห็นสมเด็จพระศรีสุลาลัยเป็นครั้งแรก เมื่อสมเด็จพระศรีสุลาลัย ทรงลงว่ายน้ำเล่นแถวท่าหน้าบ้าน ขณะนั้นสมเด็จพระศรีสุลาลัยพระชนมายุเพียง ๑๒-๑๓ แล้วเลยโปรดตั้งแต่นั้นมา (วิทยากรท่านใช้คำสมัยใหม่ว่า ปิ๊ง)

    จะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ก็แล้วแต่ ทว่าก็ชวนให้คิดติดตามเรื่องราวนี้ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯนั้น พระชนมายุ สูงกว่าสมเด็จพระศรีสุลาลัย ๓ พรรษา (พระราชสมภพ พ.ศ.๒๓๑๐ ส่วนสมเด็จพระศรีสุลาลัยประสูติ พ.ศ.๒๓๑๓) หากทรงพบสมเด็จพระศรีสุลาลัยเมื่อสมเด็จฯ ทรงมีพระชนมายุ ๑๒-๑๓ ก็ในราว พ.ศ.๒๓๒๕-๒๖ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ คงจะทรงมีพระชนมพรรษา ประมาณ ๑๕-๑๖

    จะเสด็จมาหรือเสด็จผ่านในระยะนี้ เห็นจะเป็นไปได้ยาก เพราะ พ.ศ.๒๓๒๕ กำลังอยู่ในระยะเวลาที่กรุงธนบุรีเหยิง เว้นเสียแต่ว่าจะเสด็จมาก่อนหน้านี้หรือหลังจากนี้

    หากเสด็จมาก่อน สมเด็จพระศรีสุลาลัยก็คงจะมีพระชนมายุไม่ถึง ๑๒ คงจะแค่ ๑๑ พรรษากว่าๆ เท่านั้น และคงจะอยู่ในสมัยธนบุรี ผู้ใหญ่เคยสันนิษฐานกันว่า พระชนกของพระองค์ท่านคงจะเป็นเจ้าเมืองนนทบุรีตั้งแต่ครั้งกรุงธนบุรี และอาจจะเป็นขุนนางเก่าหนีมาจากอยุธยาเมื่อครั้งกรุงแตก มาตั้งบ้านเรือนอยู่ตรงวัดเฉลิมพระเกียรติดังกล่าว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงโปรดฯให้เป็นพระยานนทบุรีศรีมหาอุทยาน เจ้าเมืองนนทบุรี

    และสันนิษฐานกันต่อไปอีกว่า ครอบครัวพระยานนทบุรี เห็นจะนับถือคุ้นเคยไปมาหาสู่ครอบครัวเจ้าพระยาจักรีมาแต่ครั้งกรุงธนบุรี เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว จึงได้ถวายธิดาเพียงคนเดียว รับราชการในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ

    เรื่องเกร็ดราชปฏิพัทธ์ที่เล่ามาจึงค่อนข้างน่าเชื่อว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ คงจะทรงทอดพระเนตรเห็นสมเด็จพระศรีสุลาลัย ก่อนที่จะทรงดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้า

    เพราะเมื่อทรงดำรงพระอิสริยยศขนาดนั้นแล้ว หากเสด็จทางชลมารค คงต้องเสด็จเป็นกระบวนใหญ่ ซึ่งราษฎรชาวบ้านคงไม่กล้าออกมา อาบน้ำเล่นน้ำเป็นแน่

    หรือบางทีจะเสด็จเป็นการส่วนพระองค์ อย่างเงียบๆ ไม่เอิกเกริก จึงเพียงแต่ผ่านไปทอดพระเนตรเห็นเข้า

    พูดถึงกระบวนเสด็จพระราชดำเนินบางชลมารคในสมัยโน้น ส่วนมากแล้วรู้จักกันแต่กระบวนพยุหยาตรา เสด็จพระราชทานพระกฐินทางชลมารค ไม่สู้จะทราบกันว่ายังมีกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคอีกกระบวนหนึ่ง ซึ่งเป็นกระบวนพยุหยาตราใหญ่เช่นเดียวกับเสด็จพระราชทานพระกฐินคือการเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปรับบัวที่สามโคก

    ในจดหมายเหตุของท่านผู้ใหญ่ในสกุลบุนนาคได้จดบันทึกถึงเรื่องนี้ไว้ว่า

    อนึ่งในกาลก่อน ถึงกำหนดวันเดือน ๑๑ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ในหลวงเสด็จขึ้นไปรับบัวที่สามโคก เจ้านายแลขุนนางข้าราชการตามเสด็จขึ้นไปพร้อมกัน ในหลวงเสด็จเป็นกระบวนมีเรือดั้ง เรือกลอนดังเช่นเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานพระกฐิน เวลาบ่ายก็รับบัวจากสามโคกล่องกลับลงมาที่รับบัวนั้นจึงได้มีนามปรากฎว่าเมืองประทุมธานีได้เรียกมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ พูดเวลาค่ำมหาดเล็กและเจ้าพนักงานก็ตบแต่งปักเสียบขวด ตั้งเสร็จในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย รุ่งขึ้น ณ วัน ๑๔ ค่ำ มีเทศน์มหาชาติครบ ๑๓ กัณฑ์ สามเณรถวายเทศนา ๑๑ กัณฑ์ พระสงฆ์ถวายทศพรกับนครกัณฑ์ ๒ กัณฑ์ รวม ๑๓ กัณฑ์ ครั้นรุ่งขึ้น ๑๕ ค่ำ มีเทศนามหาชาติ อีก ๑๓ กัณฑ์ รุ่งขึ้นวันแรม (๑) ค่ำ พระสงฆ์ถวายเทศนาจัตุราริยสัจ ๔ กัณฑ์ เป็นธรรมเนียมมาแต่ปฐมรัฐกาล

    การเสด็จพระราชดำเนินรับบัวนี้ ในรัชกาลที่ ๑ เสด็จฯด้วยพระองค์เองทุกปี

    ถึงรัชกาลที่ ๒ เสด็จฯ ขึ้นไปรับบัวอยู่สองปี ก็โปรดฯให้กรมพระราชวังบวรฯเสด็จขึ้นไปรับแทนพระองค์

    กรมพระราชวังบวรฯให้รัชกาลที่ ๒ ทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราชร่วมพระครรโภทรในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ พระนามว่า สมเด็จพระบวรราชเจ้ากรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์

    อยู่มาปีหนึ่ง กรมพระราชวังบวรฯ ทรงพระประชวรจึงโปรดฯให้กรมขุนธิเบศก์บวร พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ แต่ยังเป็นกรมหมื่นเสด็จขึ้นไปรับบัวแทนพระองค์

    ในจดหมายเหตุบันทึกว่า กรมขุนธิเบศก์บวรได้มีหนังสือหลายฉบับ ถวายเจ้านายซึ่งทำราชการอยู่ในพระบรมมหาราชวังว่ากรมพระราชวังบวรฯ รับสั่งให้เจ้านายพระองค์นั้นๆ ตามเสด็จไปรับบัวให้พร้อมกัน เจ้านายฝ่ายพระบรมมหาราชวังได้ทรงทราบจดหมายอ้างรับสั่งกรมพระราชวังบวรฯ ดังนั้นก็รับสั่งให้ข้าในกรมจัดเรือที่นั่งแต่งไว้พร้อมเสร็จเพื่อตามเสด็จในเวลาเช้าทุกวัง

    แต่บังเอิญ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ แต่ยังเป็นจางวางมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ได้ทราบเรื่องราวจากที่พวกขุนนางในกรมพระราชวังบวรฯ ซุบซิบกันจึงรีบไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ แต่ยังเป็นพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ที่วังท่าพระในค่ำวันนั้น กราบทูลให้ทรงทราบ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงทรงมีรับสั่งให้ข้าในกรมรีบไปทูลเจ้านายที่เป็นน้องๆ ของท่าน และเจ้านายที่ทรงศักดิ์เป็นอาที่ชอบพอคุ้นเคยกันกับพระองค์ท่าน มิให้หลงกลไปตามเสด็จกรมขุนธิเบศร์บวร

    เรื่องนี้ปรากฏอยู่ในประวัติของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ หรือสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ แสดงว่า ท่านรักใคร่สนิทสนมนับถือในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯเป็นอย่างมาก ด้วยเป็นพระญาติสนิท หากเป็นครอบครัวสามัญชน ก็นับว่าท่านเป็นลูกผู้น้อง (ลูกของน้าสาวแท้ๆ คือเจ้าคุณนวล) ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ อายุก็ไล่เรี่ยกัน (พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงพระราชสมภพ พ.ศ.๒๓๓๐ สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่สมภพ พ.ศ.๒๓๓๑) เมื่อทรงผนวชและผนวชก็พร้อมกัน จำพรรษาวัดเดียวกันคือวัดพลับ จึงรักใคร่โปรดปรานกันมาก จนกระทั่งถึงสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ บุตรชายใหญ่ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ก็ทรงพระเมตตาโปรดปรานมาแต่ยังเยาว์วัย ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ท่านรับราชการเป็นมหาดเล็กใกล้ชิด จนกระทั่งได้เป็น จมื่นไวยวรนารถ หัวหมื่น และ พระยาศรีสุริยวงศ์จางวางมหาดเล็ก

    พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงพระเมตตาห่วงใยจมื่นไวยวรนารถ ของพระองค์มาก เพราะในระยะนั้น ท่านกำลังเป็นหนุ่มคะนองว่ากันว่ารูปงามมีฝีปากสักวาคมคายเป็น สมาชิก ผู้หนึ่งของสโมสรสักวาที่แพคุณพุ่ม (บุษบาท่าเรือ) พวกมิชชันนารี กล่าวถึงท่านว่า ท่าทางคัมขำ เฉียบแหลมพูดจาไพเราะ

    เมื่อเกิดเรื่องพระสุริยภักดิ์ (คุณชายสนิท บุตรชายใหญ่สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย) กับเจ้าจอมอิ่ม เป็นเหตุให้พระสุริยภักดีต้องพระราชอาญาประหาร อายุพระสุริยภักดีแก่กว่า สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เพียง ๔ ปี (พระสุริยภักดีต้องโทษประหาร อายุเพียง ๒๗ ปี)

    พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงทรงพระกรุณารงพระราชนิพนธ์พระราชทานเตือนสติจมื่นไวยวรนารถของพระองค์ท่านไว้ว่า

                     อย่าพิกลจริตให้ผิดผัน

                    เคร่าครองชีวันไว้ดีกว่า

                    ยังกำดัดสันทัดยุพานพา

                    ทั้งสักรวาก็ดีปรีชาชาญ

                    แล้วแหลมหลักในลักษณกลเลศ

                    รู้จบไตรเพททหารหาญ

                    คนรู้มากมักได้ยากทรมาน

                    สดับสารนึกน่าจะปรานี ฯลฯ

                    พระราชนิพนธ์นั้นยังทรงเตือนว่า

                     จะเสียตัวก็เพราะกลั้นรักรส

                    เป็นเบื้องบทเร้าราคราคี

    เห็นจะเป็นด้วยพระบรมราโชวาท ดังนี้กระมัง จึงทำให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เป็นขุนนางบุญหนักศักดิ์ใหญ่ที่ต่างไปจากผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่โดยทั่วไป เพราะท่านมีภรรยาแต่เพียงท่านผู้หญิงกลิ่น ธิดาหลวงแก้วอาญัติ (จาด) ผู้เป็นเครือญาติกับท่าน เพียงผู้เดียว และมีบุตรธิดาเพียง ๔ ท่าน คือ คุณชายวร (เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ผู้เป็นท่านบิดาของเจ้าคุณพระประยุรวงศ์) ๑ คุณหญิงกลาง ๑ คุณหญิงเล็ก ๑ คุณหญิงปิ๋ว ๑

    เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงพระประชวรหนักใกล้สวรรคต มีรับสั่งกับท่านว่า การภายหน้าก็เห็นแต่เอ็งที่จะรับราชการเป็นอธิบดีผู้ใหญ่ต่อไป แล้วมีพระราชปรารภอีกหลายองค์ ดังที่ทราบๆ กันอยู่ เจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เห็นจะโศกเศร้านักหนาจึงรับพระบรมราชโองการแล้วร้องไห้

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×